พรรคประชาชน (พ.ศ. 2567)
พรรคประชาชน (อังกฤษ: People's Party; ชื่อย่อ: ปชน.[1]) เป็นพรรคการเมืองไทยที่ก่อตั้งพรรคเมื่อปี พ.ศ. 2555 ในชื่อ พรรคถิ่นกาขาว และเปลี่ยนชื่อพรรคเป็น พรรคถิ่นกาขาวชาววิไล เมื่อปี พ.ศ. 2561 ก่อนเปลี่ยนชื่อเป็นชื่อปัจจุบันเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2567 เพื่อรองรับอดีตสมาชิกจากพรรคก้าวไกลที่ถูกยุบจากคดียุบพรรคการเมือง พ.ศ. 2567 ในทางพฤตินัยแล้ว พรรคประชาชนจึงเป็นพรรคการเมืองที่มีวิวัฒนาการมาจากพรรคอนาคตใหม่มาเป็นลำดับที่ 3 ปัจจุบันมีณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ เป็นหัวหน้าพรรค และศรายุทธิ์ ใจหลัก เป็นเลขาธิการพรรค
พรรคประชาชน | |
---|---|
หัวหน้า | ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ |
รองหัวหน้า | |
เลขาธิการ | ศรายุทธิ์ ใจหลัก |
รองเลขาธิการ | |
เหรัญญิก | ชุติมา คชพันธ์ |
นายทะเบียนสมาชิก | ณัฐวุฒิ บัวประทุม |
โฆษก | พริษฐ์ วัชรสินธุ |
กรรมการบริหาร | |
คติพจน์ | โดยประชาชน เพื่อประชาชน สร้างประเทศไทยที่อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน |
ก่อตั้ง | พรรคถิ่นกาขาว 7 สิงหาคม พ.ศ. 2555 พรรคถิ่นกาขาวชาววิไล 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561 พรรคประชาชน 9 สิงหาคม พ.ศ. 2567 |
ก่อนหน้า | พรรคก้าวไกล (โดยพฤตินัย) พรรคถิ่นกาขาวชาววิไล (โดยนิตินัย) |
ที่ทำการ | 167 อาคารอนาคตใหม่ ชั้น 4 ซอยรามคำแหง 42 แขวงหัวหมาก เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร |
สถาบันนโยบาย | ศูนย์นโยบายเพื่ออนาคต |
สมาชิกภาพ (ปี 2567) | 92,476 คน |
อุดมการณ์ | |
จุดยืน | กลางซ้าย |
สี | สีส้ม |
สภาผู้แทนราษฎร | 143 / 495
|
สภากรุงเทพมหานคร | 11 / 50
|
เว็บไซต์ | |
peoplespartythailand.org | |
การเมืองไทย รายชื่อพรรคการเมือง การเลือกตั้ง |
ประวัติ
พรรคถิ่นกาขาว
พรรคนี้ก่อตั้งขึ้นในชื่อ พรรคถิ่นกาขาว เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2555 เป็นลำดับที่ 9/2555 โดยมี วิบูลย์ แสงกาญจนวนิช และ อำไพ กาฬพันธ์ เป็นหัวหน้าพรรคและเลขาธิการพรรคคนแรกตามลำดับ โดยนโยบายสำคัญของพรรคถิ่นกาขาวคือ การบัญญัติให้ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และการตั้งกระทรวงพระพุทธศาสนาและวัฒนธรรมโดยการแปรสภาพจากกระทรวงวัฒนธรรม
ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2557 พรรคถิ่นกาขาวส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อจำนวน 4 คน แต่การเลือกตั้งครั้งนั้นถูกระบุให้เป็นโมฆะ[2]
ต่อมาในวันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2559 วิบูลย์ซึ่งเป็นหัวหน้าพรรคเสียชีวิตลง ทำให้คณะกรรมการบริหารพรรคที่เหลือพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ
พรรคถิ่นกาขาวชาววิไล
ต่อมาเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561 พรรคถิ่นกาขาวได้จัดการประชุมใหญ่สามัญครั้งที่ 1/2561 เพื่อเปลี่ยนแปลงข้อบังคับพรรคด้วยการร่างข้อบังคับขึ้นใหม่ทั้งฉบับ ตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงชื่อพรรคเป็น พรรคถิ่นกาขาวชาววิไล และเปลี่ยนแปลงตราสัญลักษณ์ของพรรค รวมถึงมีการเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ จำนวนทั้งหมด 25 คน ซึ่งที่ประชุมมีมติเลือก ชุมชฎาธาร หาญณรงค์ อดีตรองหัวหน้าพรรคถิ่นกาขาว เป็นหัวหน้าพรรคถิ่นกาขาวชาววิไล และ จุฑามาศ ปลอดดี เป็นเลขาธิการพรรค[3]
ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2566 พรรคถิ่นกาขาวชาววิไลส่งผู้สมัครลงสมัครรับเลือกตั้งเฉพาะแบบบัญชีรายชื่อ จำนวนทั้งหมด 13 คน โดยในครั้งนี้ พรรคได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนพอสมควร เนื่องจาก ลลิตา สิริพัชรนันท์ หัวหน้าพรรคในขณะนั้น ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า พรรคถิ่นกาขาวชาววิไลต้องการ สส. ทั้งหมดจากพุทธศาสนิกชน ซึ่งมีจำนวน 95% ของชาวไทยทั้งหมด[4] อย่างไรก็ตาม การเลือกตั้งครั้งนี้ พรรคถิ่นกาขาวชาววิไลได้รับคะแนนเสียงรวมเพียง 5,561 คะแนนเท่านั้น ส่งผลให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อได้คะแนนไม่เพียงพอที่จะได้รับการเลือกตั้ง
ต่อมาในปี พ.ศ. 2567 หลังจากมีกระแสข่าวว่าพรรคถิ่นกาขาวชาววิไลจะเป็นพรรคสำรองของพรรคก้าวไกลหากถูกศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้ยุบพรรค นายตุลย์ ตินตะโมระ หัวหน้าพรรคถิ่นกาขาวชาววิไล ได้ทำหนังสือลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม และคณะกรรมการบริหารพรรคได้รับทราบหนังสือลาออกเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม ส่งผลให้คณะกรรมการบริหารพรรคชุดเดิมพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะในวันดังกล่าว[5]
พรรคประชาชน
ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้ยุบพรรคก้าวไกลจากคดียุบพรรคการเมือง พ.ศ. 2567 เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม ในวันรุ่งขึ้น (8 สิงหาคม) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากอดีตพรรคก้าวไกลที่ยังเหลืออยู่ในขณะนั้นทั้ง 143 คน ได้ย้ายมาสมัครสมาชิกพรรคถิ่นกาขาวชาววิไลตามการคาดการณ์ของสื่อมวลชน[6] อย่างไรก็ตาม ตำแหน่งหัวหน้าพรรคนั้นสื่อมวลชนคาดการณ์ไว้เบื้องต้นว่าเป็นศิริกัญญา ตันสกุล อดีตรองหัวหน้าพรรคก้าวไกลฝ่ายนโยบาย[7][8] แต่ต่อมามีผู้เสนอชื่อ ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ อดีตรองเลขาธิการพรรคก้าวไกลฝ่ายพัฒนาระบบข้อมูลและดิจิทัล ขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคแทน ทีมแกนนำยุทธศาสตร์จึงประชุมกันเป็นการเร่งด่วน ก่อนมีมติให้เสนอชื่อณัฐพงษ์ จากนั้นมีการประชุมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้มีการลงมติเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่ระหว่างศิริกัญญากับณัฐพงษ์ และที่ประชุมมีมติให้เลือกณัฐพงษ์เป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่[9] พร้อมกันนั้น ยังได้มีการหารือเปลี่ยนชื่อพรรคไปในคราวเดียวกัน[10]
ต่อมาเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม มีการประชุมใหญ่วิสามัญครั้งที่ 1/2567 ของพรรคถิ่นกาขาวชาววิไลที่อาคารไทยซัมมิท ซึ่งเป็นที่ทำการของพรรคอนาคตใหม่ในอดีต เพื่อเปลี่ยนแปลงข้อบังคับพรรคด้วยการร่างข้อบังคับขึ้นใหม่ทั้งฉบับ โดยเปลี่ยนชื่อพรรคเป็น พรรคประชาชน ซึ่งถือเป็นการใช้ชื่อพรรคนี้เป็นครั้งที่ 5 ต่อจาก พ.ศ. 2490, พ.ศ. 2499, พ.ศ. 2531 และ พ.ศ. 2541[11] นอกจากนี้ยังมีการเปลี่ยนแปลงตราสัญลักษณ์ รวมทั้งที่ทำการพรรค โดยเปลี่ยนมาใช้อาคารอนาคตใหม่ ซึ่งเป็นอดีตที่ทำการพรรคก้าวไกล เป็นที่ทำการของพรรคประชาชน และเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ โดยปรับลงเหลือจำนวน 5 คน ซึ่งเป็นจำนวนขั้นต่ำสุดที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 กำหนด โดยนอกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคข้างต้นแล้ว ยังมีอีก 4 ตำแหน่ง คือ ศรายุทธิ์ ใจหลัก ผู้อำนวยการพรรคอนาคตใหม่และพรรคก้าวไกลในอดีต และเพื่อนสนิทของธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และชัยธวัช ตุลาธน เป็นเลขาธิการพรรค[12], ชุติมา คชพันธ์ เป็นเหรัญญิกพรรค, ณัฐวุฒิ บัวประทุม อดีตรองหัวหน้าพรรคก้าวไกลฝ่ายกฎหมาย เป็นนายทะเบียนสมาชิกพรรค และ พิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ อดีตรองหัวหน้าพรรคก้าวไกลฝ่ายกิจการสภา เป็นกรรมการบริหารพรรค[13] ขณะที่ตำแหน่งอื่น ๆ ที่ไม่ได้อยู่ในกรรมการบริหารพรรค เป็นตำแหน่งเดิมจากที่เคยดำรงตำแหน่งในพรรคก้าวไกลทั้งหมด ประกอบด้วย ศิริกัญญา ตันสกุล เป็นรองหัวหน้าพรรค[14] และ พริษฐ์ วัชรสินธุ เป็นโฆษกพรรค
หลังการประชุมดังกล่าว ณัฐพงษ์กล่าวว่าพรรคจะสานต่อนโยบายของพรรคอนาคตใหม่และก้าวไกล ซึ่งรวมถึงการเสนอแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ในลักษณะที่รัดกุมมากขึ้น อีกทั้งยังตั้งเป้าหมายชนะการเลือกตั้งทั่วไปและเป็นรัฐบาลพรรคเดียวภายในปี พ.ศ. 2570[15] เขายังกล่าวว่าจะหารือภายในพรรคเกี่ยวกับการเสนอชื่อผู้สมควรดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในการเลือกตั้งครั้งถัดไป ที่อาจเสนอมากกว่า 1 คนด้วย[16] อนึ่ง ในคืนวันเปิดตัวพรรค มียอดผู้สมัครสมาชิกมากกว่า 20,000 คน และเงินบริจาคมากกว่า 10 ล้านบาท[17][18]
ต่อมาเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม พรรคประชาชนได้จัดกิจกรรมรับสมัครสมาชิกพรรคแบบออฟไลน์เป็นครั้งแรกทั่วประเทศ โดยมีจุดหลักที่ลานหน้าอาคารสเตเดียม วัน โดยในวันดังกล่าวพรรคประชาชนได้รับยอดเงินบริจาครวมมากกว่า 20 ล้านบาท[19] วันเดียวกัน ณัฐพงษ์ได้ประกาศผู้สมัครรับเลือกตั้งในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพิษณุโลก เขต 1 แทนตำแหน่งที่ว่างของปดิพัทธ์ สันติภาดา[20] ที่ถูกตัดสิทธิเป็นเวลา 10 ปี[21][22] ในวันที่ 15 กันยายน คือ ณฐชนน ชนะบูรณาศักดิ์[23][24] และประกาศผู้สมัครรับเลือกตั้งในการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดราชบุรี ในวันที่ 1 กันยายน[25] คือ ชัยรัตน์ ศักดิ์อิสระพงศ์[26]
ต่อมาเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม พรรคประชาชนออกแถลงการณ์แสดงความไม่เห็นด้วยกับศาลรัฐธรรมนูญในการวินิจฉัยถอดถอนเศรษฐา ทวีสิน ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีด้วยข้อหาขาดความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง[27] สองวันถัดมา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรวาระพิเศษ เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีแทนเศรษฐา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสังกัดพรรคประชาชนลงมติไม่เห็นชอบให้แพทองธาร ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี เป็นเสียงเดียวกันทั้ง 143 คน[28]
ต่อมาเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ประกาศรับรองการเปลี่ยนชื่อพรรคถิ่นกาขาวชาววิไลเป็นพรรคประชาชน รวมถึงการเปลี่ยนแปลงนโยบาย ข้อบังคับ และกรรมการบริหารพรรคดังกล่าวตั้งแต่เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม โดยมีผลย้อนหลังตั้งแต่วันประชุมใหญ่คือวันที่ 9 สิงหาคม นอกจากนี้ยังชี้แจงถึงคำร้องเรียนเรื่องโลโก้พรรคไว้ว่า รายละเอียดและความหมายที่พรรคต้องการสื่อแตกต่างกับโลโก้ของพรรคที่ถูกยุบไป (พรรคอนาคตใหม่ และ พรรคก้าวไกล) แม้จะมีภาพรวมเป็นสามเหลี่ยมคว่ำสีส้มเหมือนกับสองพรรคดังกล่าวก็ตาม[29] และประกาศนายทะเบียนพรรคได้เผยแพร่ในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 17 กันยายน[5]
ต่อมาเมื่อวันที่ 21 และ 22 กันยายน พรรคประชาชนได้จัดสัมมนาพรรคและประชุมลับเป็นการภายใน โดยมีวาระสำคัญเป็นการจัดกระบวนทัพในการต่อสู้ทางการเมืองใหม่ของพรรค โดยปรับโครงสร้างพรรคจากเดิมที่กรรมการบริหารพรรคทำหน้าที่ดูแลพื้นที่ตามภาค เนื่องจากมีการลดทอนตำแหน่งกรรมการบริหารพรรคจาก 10 คน เหลือ 5 คน ซึ่งเป็นจำนวนขั้นต่ำสุดที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองกำหนด เพื่อลดช่องว่างหากเกิดอุบัติเหตุทางการเมือง[30] โดยเมื่อวันที่ 22 กันยายน พรรคประชาชนได้แต่งตั้งรองหัวหน้าพรรคจำนวน 7 คน และเลือกตั้งรองเลขาธิการพรรคอีกจำนวน 12 คน[31]
ต่อมาวันที่ 30 ตุลาคม ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้มีการลงมติเห็นชอบร่าง "พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 25) พ.ศ. ...." หรือร่างกฎหมายไม่ตีเด็ก ซึ่งพรรคประชาชนเป็นผู้เสนอในวาระที่ 2 และ 3 ซึ่งนับได้ว่าเป็นครั้งแรกที่ร่างกฎหมายของพรรคประชาชนผ่านมติของสภาผู้แทนราษฎรโดยไม่มีร่างกฎหมายของพรรคอื่นมาประกบ[32]
ต่อมาวันที่ 4 พฤศจิกายน พริษฐ์ วัชรสินธุ โฆษกพรรคประชาชน ได้แถลงข่าวความคืบหน้าการทำงานในสภาและการผลักดันกฎหมายโดยพรรคประชาชน โดยเขาได้ระบุว่าในสมัยแรกไม่มีการพิจารณากฎหมายสักฉบับ สมัยที่สองมีการพิจารณา 14 ฉบับโดยมี 3 ฉบับผ่านมาได้ เช่น กฎหมายสมรสเท่าเทียม ส่วนปีที่สองของสมัยที่หนึ่ง มีกฎหมายที่สภาเห็นชอบผ่านทั้ง 3 วาระ 11 ฉบับ เช่น ชุดกฎหมายเกี่ยวกับอุดมศึกษา กฎหมายไม่ตีเด็ก และกฎหมายยกเลิกคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เกี่ยวกับชายแดนใต้ เป็นต้น ซึ่งสิ่งที่พรรคประชาชนในสภาได้พยายามทำที่ผ่านมาคือการวางบทบาทใหม่ของฝ่ายค้าน ในส่วนของบทบาทเชิงรับที่ประชาชนคาดหวังให้ฝ่ายค้านทำอยู่แล้วในการตรวจสอบรัฐบาล จากพรรคก้าวไกลสู่พรรคประชาชน ยังคงทำงานอย่างเต็มที่เหมือนในสภาผู้แทนราษฎรชุดที่ 25 ไม่มีการอ่อนข้อ มีความเข้มข้นเท่าเดิม ทั้งการอภิปรายทั่วไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152 การอภิปราย พระราชบัญญัติงบประมาณประจำปี กระทู้สดทุกสัปดาห์ กลไกกรรมาธิการสามัญทั้ง 35 คณะ ในส่วนบทบาทฝ่ายค้านเชิงรุก พรรคพยายามวางบทบาทในการนำทางและเสนอแนะรัฐบาลในสิ่งที่ยังไม่ได้ทำแต่เห็นว่าควรจะทำ กลไกที่สำคัญและทำให้ข้อเสนอมีความเป็นรูปธรรมมากขึ้นคือการยื่นร่างแก้ไขกฎหมาย เป็นการฉายภาพพิมพ์เขียวประเทศไทยในแบบของพรรคประชาชน โดยคนจำนวนมากตั้งคำถามว่าพรรคประชาชนเป็นฝ่ายค้าน เสนอกฎหมายไปจะได้อะไร ซึ่งทางพรรคเห็นว่าการเสนอกฎหมายของพรรคมี 3 วัตถุประสงค์ คือ
- legislative change การแก้กฎหมายให้สำเร็จจริงๆ ร่างกฎหมายหลายร่างที่พรรคประชาชนเสนอไปนั้นสอดคล้องกับ 300 นโยบายที่นำเสนอประชาชนไปเมื่อตอนเลือกตั้ง ถ้าประสบความสำเร็จในการผลักดันก็เหมือนการทำตามสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชนแม้ไม่ได้เป็นรัฐบาล
- Agenda setting การกำหนดวาระของรัฐบาล การที่พรรคประชาชนได้ยื่นร่างกฎหมายเข้าไปทำให้รัฐบาลต้องมาคุยและขบคิดหาทางออกในประเด็นที่มีความสำคัญ พิจารณาว่าต้องได้รับการแก้ไขอย่างไร และแม้รัฐบาลจะไม่ได้มีข้อเสนอที่ตรงกับพรรคประชาชน แต่ถ้ารัฐบาลยื่นร่างกฎหมายเข้ามาประกบและแก้ไขปัญหาได้บางส่วน ก็เป็นความสำเร็จในการสร้างการเปลี่ยนแปลงเช่นกัน
- Winning hearts and minds การทำงานเชิงความคิดกับสังคม แม้ร่างกฎหมายที่เสนอไปไม่ผ่านความเห็นชอบในสภาชุดนี้ แต่การใช้พื้นที่สภาเพื่ออธิบายกับสังคมว่าทำไมการแก้กฎหมายดังกล่าวเป็นประโยชน์ ทำให้ประชาชนเข้าใจการเปลี่ยนแปลงที่พรรคประชาชนพยายามนำเสนอมากขึ้น
เมื่อย้อนในสถิตใน 1 ปีครึ่งที่ผ่านมา จะเห็นว่าพรรคประชาชนได้เสนอร่างกฎหมายรวม 84 ฉบับ โดยมี 25 ฉบับที่ถึงห้องประชุมสภาและมีการลงมติ (อย่างน้อยในวาระที่ 1) แล้ว และ 59 ฉบับที่สภาฯ ยังไม่เคยมีการลงมติทางใดทางหนึ่ง โดยทั้งหมดยังแบ่งออกได้เป็น
- ร่างกฎหมายที่ผ่านการเห็นชอบทั้ง 3 วาระแล้ว 5 ร่าง เช่น กฎหมายสมรสเท่าเทียม ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 22 มกราคม 2568, กฎหมายไม่ตีเด็ก ซึ่งเป็นการเสนอโดยพรรคฝ่ายค้านและผ่านความเห็นชอบของสภามาได้โดยไม่มีกฎหมายจากคณะรัฐมนตรีหรือพรรครัฐบาลมาประกบ
- ร่างกฎหมายที่สภาลงมติรับหลักการในวาระที่ 1 ไปแล้ว อยู่ในชั้นกรรมาธิการวิสามัญ 11 ร่าง แต่ละร่างอาจมีเนื้อหาบางส่วนแตกต่างกันบ้าง พรรคต้องพยายามผลักดันต่อในชั้น กมธ. เช่น พระราชบัญญัติอากาศสะอาด ที่สภารับหลักการรวมกัน 7 ฉบับ, พระราชบัญญัติการขนส่งทางราง ที่มีการรับหลักการไปทั้งหมด 3 ฉบับ
- ร่างกฎหมายที่สภาลงมติไม่รับหลักการเป็นผลให้ตกไป 9 ร่าง แต่มีหลายร่างที่พรรคประชาชนยังเห็นว่าประสบความสำเร็จในการกระตุ้นความสนใจของรัฐบาลหรือสังคม เช่น สุราก้าวหน้า ที่สภาลงมติไม่เห็นชอบร่างของพรรคประชาชนในวาระที่ 1 แต่อย่างน้อยทำให้มีร่างประกบจากพรรครัฐบาลสองฉบับที่ผ่านความเห็นชอบวาระ 1 ไปได้ หรือ พระราชบัญญัติการขนส่งทางบกที่เสนอกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นในการกำหนดเส้นทางรถเมล์-อัตราค่าโดยสาร ซึ่งแม้ไม่ผ่านสภาแต่ก็สร้างความตื่นตัวในสังคมระดับหนึ่ง ให้เห็นถึงความจำเป็นในการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นเรื่องขนส่งสาธารณะมากขึ้น
- ร่างกฎหมายที่อยู่ระหว่างเข้าคิวในระเบียบวาระการประชุม 41 ฉบับ รวมถึงร่างกฎหมายที่คณะรัฐมนตรีมีการดึงไปศึกษา 60 วัน และส่งกลับมาที่สภาฯ (เช่น พระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม, พระราชบัญญัติล้มละลาย) และร่างที่คาดว่าจะถูกพิจารณาไม่นานหลังสภาฯกลับมาเปิดสมัยประชุม (เช่น พระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า, พระราชบัญญัตินิรโทษกรรม)
- ร่างกฎหมายที่มีการตีความว่าเป็นร่างการเงิน ถูกส่งไปที่นายกรัฐมนตรีแล้วแต่ยังไม่มีการตัดสินใจว่าจะรับรองหรือไม่ 11 ฉบับ ซึ่งพรรคประชาชนหวังว่าก่อนเปิดสมัยประชุมสภากลับมานายกรัฐมนตรีจะตัดสินใจได้ว่าจะรับรองร่างดังกล่าวหรือไม่
- ร่างกฎหมายที่มีการตีความว่าเป็นร่างการเงินที่นายกรัฐมนตรีในรัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน ได้ตัดสินใจไม่รับรองและตกไปแล้ว 7 ฉบับ เช่น พระราชบัญญัติแผนและขั้นตอนกระจายอำนาจ, พระราชบัญญัติถนน, พระราชบัญญัติยกเลิกบังคับเกณฑ์ทหาร ซึ่งพรรคประชาชนกำลังพิจารณาว่าเมื่อมีการเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรีแล้ว ควรจะลองยื่นร่างเหล่านี้สู่การพิจารณาอีกครั้งหรือไม่
พริษฐ์ยังกล่าวอีกว่าข้อสังเกตสำคัญคือแม้หลายคนมักเชื่อว่าพรรคประชาชนเสนอกฎหมายอะไรไปก็ตกอยู่ดี แต่จากสถิติแล้วร่างกฎหมายของพรรคประชาชนที่สภาลงมติเห็นชอบมีถึง 16 ร่าง ขณะที่มี 9 ร่างที่สภาไม่เห็นชอบ ซึ่งเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ว่ากฎหมายที่พรรคประชาชนเสนอเข้าไปไม่แน่เสมอไปว่าจะถูกปัดตก และการเสนอกฎหมายของพรรคประชาชนยังมีความสำคัญในการสร้างความเปลี่ยนแปลงแม้วันนี้พรรคจะเป็นแค่ฝ่ายค้าน[33]
บุคลากร
หัวหน้าพรรค
ลำดับที่ | รูปภาพ | ชื่อ | เริ่มดำรงตำแหน่ง | สิ้นสุดวาระ | หมายเหตุ | |
---|---|---|---|---|---|---|
พรรคถิ่นกาขาว | ||||||
1 | วิบูลย์ แสงกาญจนวนิช | 7 สิงหาคม พ.ศ. 2555 | 5 สิงหาคม พ.ศ. 2559 | เสียชีวิต | ||
พรรคถิ่นกาขาวชาววิไล | ||||||
1 | ชุมชฎาธาร หาญณรงค์ | 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561 | 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 | เสียชีวิต | ||
2 | จุฑามาศ ปลอดดี | 28 มิถุนายน พ.ศ. 2563 | 15 มีนาคม พ.ศ. 2566 | ลาออก | ||
3 | ลลิตา สิริพัชรนันท์ | 19 มีนาคม พ.ศ. 2566 | 5 เมษายน พ.ศ. 2567 | |||
4 | ตุลย์ ตินตะโมระ | 5 เมษายน พ.ศ. 2567 | 8 สิงหาคม พ.ศ. 2567 | |||
พรรคประชาชน | ||||||
1 | ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ | 9 สิงหาคม พ.ศ. 2567 | ปัจจุบัน |
เลขาธิการพรรค
ลำดับที่ | รูปภาพ | ชื่อ | เริ่มดำรงตำแหน่ง | สิ้นสุดวาระ | หมายเหตุ | |
---|---|---|---|---|---|---|
พรรคถิ่นกาขาว | ||||||
1 | อำไพ กาฬพันธ์ | 7 สิงหาคม พ.ศ. 2555 | 5 สิงหาคม พ.ศ. 2559 | หัวหน้าพรรคเสียชีวิต | ||
พรรคถิ่นกาขาวชาววิไล | ||||||
1 | จุฑามาศ ปลอดดี | 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561 | 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 | หัวหน้าพรรคเสียชีวิต | ||
2 | ชัยอนันต์ มานะกุล | 28 มิถุนายน พ.ศ. 2563 | 15 มีนาคม พ.ศ. 2566 | หัวหน้าพรรคลาออก | ||
3 | รองรักษ์ บุญศิริ | 19 มีนาคม พ.ศ. 2566 | 5 เมษายน พ.ศ. 2567 | |||
4 | กฤติน นิธิเบญญากร | 5 เมษายน พ.ศ. 2567 | 8 สิงหาคม พ.ศ. 2567 | |||
พรรคประชาชน | ||||||
1 | ศรายุทธิ์ ใจหลัก | 9 สิงหาคม พ.ศ. 2567 | ปัจจุบัน |
กรรมการบริหารพรรคชุดปัจจุบัน
ลำดับที่ | ชื่อ | ตำแหน่ง[13] |
---|---|---|
1 | ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ | หัวหน้าพรรค |
2 | ศรายุทธิ์ ใจหลัก | เลขาธิการพรรค |
3 | ชุติมา คชพันธ์ | เหรัญญิกพรรค |
4 | ณัฐวุฒิ บัวประทุม | นายทะเบียนสมาชิกพรรค |
5 | พิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ | กรรมการบริหารพรรค |
บุคลากรพรรคในตำแหน่งอื่น ๆ ที่ไม่ใช่กรรมการบริหารพรรค
ลำดับที่ | ชื่อ | ตำแหน่ง | ฝ่าย/สัดส่วน | |
---|---|---|---|---|
1 | ศิริกัญญา ตันสกุล | รองหัวหน้าพรรค | นโยบาย | |
2 | ปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล | กิจการสภา | ||
3 | วิโรจน์ ลักขณาอดิศร | กิจการพิเศษ | ||
4 | รังสิมันต์ โรม | กิจการทั่วไป | ||
5 | ชัยวัฒน์ สถาวรวิจิตร | ต่างประเทศ | ||
6 | พลตำรวจตรีสุพิศาล ภักดีนฤนาถ | กิจการภายนอก | ||
7 | นายแพทย์วาโย อัศวรุ่งเรือง | กฎหมาย | ||
8 | ปิยรัฐ จงเทพ | รองเลขาธิการพรรค | ภูมิภาค | กรุงเทพฯ และปริมณฑล |
9 | เจษฎา เอี่ยมปุ่น | ภาคกลาง | ||
10 | พงศธร ศรเพชรนรินทร์ | ภาคตะวันออก | ||
11 | วิจักษณ์ พฤกษ์สุริยา | ภาคใต้ | ||
12 | วิสา บุญนัดดา | ภาคเหนือตอนบน | ||
13 | คริษฐ์ ปานเนียม | ภาคเหนือตอนล่าง | ||
14 | วีรนันท์ ฮวดศรี | ภาคอีสานตอนบน | ||
15 | พนา ใจตรง | ภาคอีสานตอนล่าง | ||
16 | ณธนภัทร ฤทธิ์เนติกุล | กลุ่มประเด็น | เครือข่ายชาติพันธุ์ | |
17 | เซีย จำปาทอง | เครือข่ายแรงงาน | ||
18 | ลลิตา สิริพัชรนันท์ | สำนักงาน | ||
19 | พีรัช สงเคราะห์ | |||
20 | พริษฐ์ วัชรสินธุ | โฆษกพรรค |
การเลือกตั้ง
การเลือกตั้งทั่วไป
พรรคประชาชนมีบทบาทในการเลือกตั้งระดับประเทศครั้งแรกในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพิษณุโลก เขต 1 แทนตำแหน่งที่ว่าง พ.ศ. 2567 โดยทางพรรคมีผู้สมัครที่ประสงค์จะลงสมัคร คือ ณฐชนน ชนะบูรณาศักดิ์ เดิมเป็นอดีตผู้ช่วย สส. ของปดิพัทธ์ สันติภาดา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเจ้าของพื้นที่เดิมที่พ้นจากตำแหน่งเนื่องจากถูกตัดสิทธิ์ โดยก่อนหน้านี้ณฐชนนได้สังกัดพรรคถิ่นกาขาวชาววิไล (ชื่อเดิมของพรรคประชาชน) ไว้ก่อนล่วงหน้าแล้ว เพื่อรองรับการเลือกตั้งซ่อมในครั้งนี้ให้เป็นไปตามระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด[34]
ผลการเลือกตั้งทั่วไป
การเลือกตั้ง | จำนวนที่นั่ง | คะแนนเสียงทั้งหมด | สัดส่วนคะแนนเสียง | ที่นั่งเปลี่ยน | สถานภาพพรรค | ผู้นำเลือกตั้ง |
---|---|---|---|---|---|---|
พรรคถิ่นกาขาว | ||||||
2557 | การเลือกตั้งเป็นโมฆะ | วิบูลย์ แสงกาญจนวนิช | ||||
พรรคถิ่นกาขาวชาววิไล | ||||||
2562 | 0 / 500
|
6,799 | ไม่ได้รับเลือกตั้ง | ชุมชฎาธาร หาญณรงค์ | ||
2566 | 0 / 500
|
5,561 | ไม่ได้รับเลือกตั้ง | ลลิตา สิริพัชรนันท์ | ||
พรรคประชาชน |
เลือกตั้งซ่อม
เขตเลือกตั้ง | วันเลือกตั้ง | ผู้สมัครรับเลือกตั้ง | คะแนนเสียงทั้งหมด | สัดส่วนคะแนนเสียง | ผลการเลือกตั้ง |
---|---|---|---|---|---|
พิษณุโลก เขต 1 | 15 กันยายน พ.ศ. 2567 | ณฐชนน ชนะบูรณาศักดิ์ | 30,640 | พ่ายแพ้ |
การเลือกตั้งท้องถิ่น
การเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด
จังหวัด | นาม | อาชีพ หรือตำแหน่งต่าง ๆ | วันที่ | ผลการเลือกตั้ง |
---|---|---|---|---|
ราชบุรี | ชัยรัตน์ ศักดิ์อิสระพงศ์[a] | นักธุรกิจ | 1 กันยายน 2567 | พ่ายแพ้ |
อุดรธานี | คณิศร ขุริรัง[a] | ประธานสภาทนายความจังหวัดอุดรธานี 2 สมัย | 24 พฤศจิกายน 2567 | |
อุบลราชธานี | สิทธิพล เลาหะวนิช | อดีตรองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุบลราชธานี | 22 ธันวาคม 2567 | |
เชียงใหม่ | พันธุ์อาจ ชัยรัตน์[a] | อดีตผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) | ||
ตราด | ชลธี นุ่มหนู[a] | นายกสมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนไทยภาคตะวันออก | ||
นนทบุรี | เลิศมงคล วราเวณุชย์ | นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์นนทบุรี | ||
พังงา | สุทธิโชค ทองชุมนุม | อดีตผู้สมัครนายก อบจ.พังงา คณะก้าวหน้า | ||
ภูเก็ต | นายแพทย์ เลอศักดิ์ ลีนะนิธิกุล[a] | อดีตรองผู้อำนวยการโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต | ||
มุกดาหาร | สุพจน์ สุอริยพงษ์ | ทนายความ และอดีตผู้สมัครนายก อบจ.มุกดาหาร คณะก้าวหน้า | ||
ลำพูน | วีระเดช ภู่พิสิฐ[a] | อดีตหัวหน้าสำนักงานพรรคก้าวไกล ลำพูน | ||
สงขลา | นิรันดร์ จินดานาค | อดีตพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน | ||
สมุทรปราการ | นพดล สมยานนทนากุล | สัตวแพทย์ | ||
สมุทรสงคราม | นันทิยา ลิขิตอำนวยชัย | ประธานสมาชิกภาพสโมสรโรตารีสมุทรสงคราม | ||
สุราษฎร์ธานี | นายแพทย์ จิรชาติ เรืองวัชรินทร์ | นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสุราษฎร์ธานี |
นอกจากนี้ พรรคประชาชนก็ได้ประกาศผู้สมัคร ส.อบจ. ในนามพรรคแล้ว มีจังหวัดลำพูน, อุดรธานี, ภูเก็ต, ฉะเชิงเทรา, ระยอง[35], ชลบุรี, ตราด, ตาก เป็นต้น โดยเฉพาะจังหวัดลำพูนนั้น มีการเปิดตัวทั้งผู้สมัครนายก อบจ. และผู้สมัคร ส.อบจ. ตั้งแต่ยุคพรรคก้าวไกล[36]
กิจกรรมอื่น ๆ ของพรรค
นักสืบทุนเทา
ธุรกิจสีเทาหรือธุรกิจต่างชาติที่ผิดกฎหมายในประเทศไทย เป็นปัญหาที่รุนแรงมากในปัจจุบัน สินค้าต่างชาติที่ราคาถูกมากแต่ไม่มีคุณภาพ ไม่เพียงกระทบต่อความปลอดภัยของผู้บริโภค แต่ยังส่งผลต่อความอยู่รอดของผู้ประกอบการรายย่อยและเศรษฐกิจไทยโดยรวม จึงเป็นที่มาของแคมเปญ “นักสืบทุนเทา” ที่เปิดตัวในวันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2567 โดย สิทธิพล วิบูลย์ธนากุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจ ร่วมกับ รักชนก ศรีนอก สส.กรุงเทพ เขต 28 พรรคประชาชน และ ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ ที่ปรึกษาและนายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย (THECA) ลงพื้นที่ร้านค้าบริเวณถนนบรรทัดทอง เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ สาธิตการเป็นนักสืบทุนเทา ร้องเรียนธุรกิจผิดกฎหมายของชาวต่างชาติ[37]
แคมเปญนักสืบทุนเทานี้ เป็นความร่วมมือระหว่างคณะกรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจ สภาผู้แทนราษฎร กับภาคเอกชนอย่างสมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย เชื่อว่าจะเป็นช่องทางหนึ่งให้ประชาชนแจ้งปัญหาสินค้าต่างชาติผิดกฎหมายที่พบเห็นได้โดยสะดวก และข้อมูลทั้งหมดจะรวบรวมส่งไปยังหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องให้เร่งแก้ไข โดยพรรคประชาชนหวังให้แคมเปญนี้เป็นอีกหมุดหมายของการแก้ไขปัญหาธุรกิจสีเทาหรือธุรกิจที่ผิดกฎหมายในประเทศไทยอย่างจริงจัง และเชิญชวนให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมแจ้งข้อมูลและติดตามการแก้ไขปัญหา นอกจากจะช่วยให้กรรมาธิการเห็นประเภทของปัญหาและระดับความเสียหาย ประชาชนทุกคนยังสามารถเสนอแนะมาตรการเพื่อเป็นประโยชน์กับภาครัฐในบทบาทฝ่ายค้าน หรือในอนาคต หากพรรคประชาชนได้รับความไว้วางใจจากประชาชนให้เป็นรัฐบาล จะสามารถออกแบบนโยบายที่ตอบโจทย์การแก้ไขปัญหาระยะยาวได้ ซึ่งโดยช่องทางร้องเรียนจะใช้ไลน์แอด Traffy Fondue (ทราฟฟี่ฟองดูว์) ที่ประชาชนคุ้นเคยอยู่แล้ว กดเมนู “นักสืบทุนเทา” ซึ่งแบ่งประเภทธุรกิจต่างชาติที่ผิดกฎหมายออกเป็น 6 หมวดหมู่ให้ประชาชนแจ้งปัญหา ได้แก่
- ไม่มี อย.
- ไม่มี มอก.
- สินค้าละเมิดลิขสิทธิ์
- จ่ายเงินเข้าบัญชีต่างชาติ
- คิด VAT แต่ไม่ออกใบกำกับภาษี และ
- ปัญหาธุรกิจของชาวต่างชาติ เช่น การถือหุ้นโดยนอมินี ฯลฯ
เท้งทั่วไทย
ส่วนนี้รอเพิ่มเติมข้อมูล คุณสามารถช่วยเพิ่มข้อมูลส่วนนี้ได้ (ตุลาคม 2024) |
ข้อวิจารณ์
"พรรคประชาชนพม่า"
เมื่อวันที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2567 ในระหว่างการประชุมร่วมกันของรัฐสภา เพื่อให้คณะรัฐมนตรีไทย คณะที่ 64 นำโดย แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เข้าแถลงนโยบายก่อนเริ่มต้นการบริหารรัฐกิจ มีช่วงหนึ่งที่ธิษะณา ชุณหะวัณ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานครของพรรคประชาชน อภิปรายในมุมที่เห็นอกเห็นใจชาวพม่าว่าอยากให้มีการรับรองอย่างเป็นระบบเท่าเทียมกับคนไทย ทำให้มีการบิดเบือนประเด็นให้เข้าใจว่าพรรคประชาชนต้องการจะให้ชาวพม่ามีสิทธิเท่าเทียมกับคนไทยทุกประการ จนเกิดความเข้าใจผิด และเกิดกระแสความไม่พอใจขึ้น ผ่านการแสดงความคิดเห็นพร้อมติดแฮชแท็ก #พรรคประชาชนพม่า จนได้รับความนิยมในเอ็กซ์[38] ในเวลาต่อมา พริษฐ์ วัชรสินธุ โฆษกพรรค ชี้แจงว่า พรรคประชาชนต้องการดึงแรงงานพม่าให้กลับมาขึ้นทะเบียนเป็นแรงงานในประเทศไทยอย่างถูกต้อง เพื่อป้องกันแรงงานผิดกฎหมายในอนาคต[39] ต่อมาในวันที่ 25 ตุลาคม 2567 ได้มีการพาดพิงพรรคประชาชน brn โจมตีว่าเป็นส่วนหนึ่งกับ กลุ่มผู้ก่อการความไม่สงบในชายแดนใต้ กระท้่ง พรรณิการ์ วานิช คณะก้าวหน้าเตรียมฟ้องแก่บุคคลกล่าวหาเช่นนั้น[40]
เชิงอรรถ
ดูเพิ่ม
อ้างอิง
- ↑ Nilloung, Nutcha (2024-08-28). ""ณัฐวุฒิ" แจง "พรรคประชาชน" ใช้ชื่อย่อ "ปชน."". INN News.
- ↑ "ประกาศนายทะเบียนพรรคการเมือง เรื่อง รายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ (พรรคถิ่นกาขาว)" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา.
{{cite journal}}
: Cite journal ต้องการ|journal=
(help) - ↑ "ประวัติ 'พรรคถิ่นกาขาวชาววิไล' แว่วข่าวลือ สส. ก้าวไกลจะย้ายไปหลังถูกยุบพรรค". The Thaiger. 7 สิงหาคม 2024. สืบค้นเมื่อ 7 สิงหาคม 2024.
{{cite news}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์) - ↑ "พรรคถิ่นกาขาวฯ หวังได้เสียงชาวพุทธไทย 95% ดึงคนรุ่นใหม่กลับสู่พระพุทธศาสนา". มติชน. 4 เมษายน 2023. สืบค้นเมื่อ 9 สิงหาคม 2024.
- ↑ 5.0 5.1 "ประกาศนายทะเบียนพรรคการเมือง เรื่อง เปลี่ยนแปลงข้อบังคับพรรคและคณะกรรมการบริหารพรรคประชาชน (เดิมชื่อพรรคถิ่นกาขาวชาววิไล)" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 141 (88 ง): 51–100. 17 กันยายน 2024. สืบค้นเมื่อ 19 กันยายน 2024.
- ↑ "สุพิศาล รับ ณัฐพงศ์ นั่งหัวหน้าพรรค ส่วน ติ่ง สราวุธ เลขาธิการพรรค จับตา จุลพงษ์ อยู่เกษ ย้ายตามหรือไม่". อมรินทร์ทีวี. 9 สิงหาคม 2024. สืบค้นเมื่อ 9 สิงหาคม 2024.
{{cite news}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์) - ↑ "เปิดประวัติ "ถิ่นกาขาวชาววิไล" สะพัด เป็นพรรคชั่วคราวหาก "ก้าวไกล" ถูกยุบ". ไทยรัฐ. 2 สิงหาคม 2024. สืบค้นเมื่อ 2 สิงหาคม 2024.
{{cite news}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์) - ↑ "โหมแรงไฟ "ไหม ศิริกัญญา" เทกโอเวอร์ "ถิ่นกาขาว" กลัวหนอนมากกว่างูเห่า". คมชัดลึก. 2 สิงหาคม 2024. สืบค้นเมื่อ 2 สิงหาคม 2024.
{{cite news}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์) - ↑ "เปิดตัว 'เท้ง' หัวหน้าพรรคคนใหม่ หลัง 'ก้าวไกล' ถูกยุบ เคาะชื่อพรรคใหม่ได้แล้ว". ข่าวสด. 8 สิงหาคม 2024. สืบค้นเมื่อ 9 สิงหาคม 2024.
{{cite news}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์) - ↑ "พลิกโผ 'เท้ง ณัฐพงษ์' นั่งหัวหน้าพรรคส้มคนใหม่ เคาะชื่อพรรค "ประชาชน"". ผู้จัดการออนไลน์. 8 สิงหาคม 2024. สืบค้นเมื่อ 9 สิงหาคม 2024.
{{cite news}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์) - ↑ "รังใหม่ก้าวไกล "พรรคประชาชน" พรรคเก่าในร่างใหม่". เดอะ เบทเทอร์. 9 สิงหาคม 2024. สืบค้นเมื่อ 9 สิงหาคม 2024.
{{cite news}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์) - ↑ "เคาะชื่อ "ศรายุทธิ์ ใจหลัก" เป็นเลขาธิการพรรคส้มใหม่ "พรรคประชาชน"". ไทยรัฐ. 9 สิงหาคม 2024. สืบค้นเมื่อ 9 สิงหาคม 2024.
{{cite news}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์) - ↑ 13.0 13.1 "เคาะแล้ว 5 กก.บห. พรรคประชาชน 'ณัฐพงษ์' นั่งหัวหน้าพรรค ศรายุทธิ์ นั่งเลขาฯ ตามโผ". มติชน. 9 สิงหาคม 2024. สืบค้นเมื่อ 9 สิงหาคม 2024.
{{cite news}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์) - ↑ "'ศรายุทธิ์' เพื่อนซี้ 'ธนาธร' นั่งเลขาธิการพรรคใหม่ค่ายส้ม 'ศิริกัญญา' รั้งตำแหน่งเดิม". ไทยโพสต์. 9 สิงหาคม 2024. สืบค้นเมื่อ 9 สิงหาคม 2024.
- ↑ ""ณัฐพงษ์" กร้าวนำทัพพรรคประชาชน ชนะเลือกตั้งปี 70 เป็นรัฐบาลพรรคเดียว". Thai PBS.
- ↑ https://www.matichon.co.th/politics/news_4728806 ‘เท้ง’ หน.พรรคประชาชน ตั้งเป้ารัฐบาลพรรคเดียว ยันลุยหาช่องแก้ ม.112 ยอดบริจาควันแรกทะลุ 12 ล้าน
- ↑ "ส่องยอดเงินบริจาค "พรรคประชาชน" พุ่งทะลุเกิน 10 ล้านบาทแล้ว". www.thairath.co.th. 2024-08-09.
- ↑ "9 ชั่วโมงยอดบริจาค 'พรรคประชาชน' ทะลุ 10 ล้าน สมัครสมาชิกเกิน 2 หมื่นคน". bangkokbiznews. 2024-08-09.
- ↑ "ยอดบริจาค พรรคประชาชน ทะลุ 20 ล้านใน 32 ชั่วโมง แจงยิบเอาเงินไปใช้อะไรบ้าง". มติชน. 10 สิงหาคม 2024. สืบค้นเมื่อ 16 สิงหาคม 2024.
{{cite news}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์) - ↑ พรรคประชาชน ได้ตัวลงเลือกตั้งซ่อมพิษณุโลกแล้ว รอเคาะชื่อชิงรองประธานสภา
- ↑ "ปักหมุดเลือกตั้งใหม่! พิษณุโลก หลัง "หมออ๋อง" ถูกตัดสิทธิ ปมยุบพรรคก้าวไกล". พีพีทีวี. 2024-08-07.
{{cite web}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์) - ↑ "'เท้ง'ประกาศท้าชิง'เลือกตั้งซ่อมพิษณุโลก-รองปธ.สภาคนที่1' เตรียมเดินสายล่าสมาชิก". https://www.naewna.com.
{{cite web}}
: แหล่งข้อมูลอื่นใน
(help)|website=
- ↑ https://www.matichon.co.th/politics/news_4729454 ชัดแล้ว! ประชาชน ส่ง โฟล์ค ณฐชนน ลงเลือกตั้งซ่อม ส.ส.พิษณุโลก จ่อเปิดตัว 12 ส.ค...
- ↑ "'ประชาชน' ส่ง 'โฟล์ค ณฐชนน' ลงแทน 'หมออ๋อง' มั่นใจชนะ สส.พิษณุโลก". bangkokbiznews. 2024-08-09.
- ↑ "'ณัฐพงษ์' นำทัพ สส.ประชาชน ช่วย 'ชัยรัตน์' หาเสียงชิงนายก อบจ.ราชบุรี". bangkokbiznews. 2024-08-10.
- ↑ https://www.matichon.co.th/politics/news_4730095 เท้ง’ นำทีมช่วยผู้สมัครนายก อบจ.ราชบุรี หาเสียง หลังได้เป็นหัวหน้าพรรคประชาชน...
- ↑ "พรรคประชาชน ไม่เห็นด้วยศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัย "เศรษฐา ทวีสิน" พ้นนายกฯ". พีพีทีวี. 14 สิงหาคม 2024. สืบค้นเมื่อ 17 สิงหาคม 2024.
{{cite news}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์) - ↑ ""ณัฐพงษ์" ย้ำ พรรคประชาชน ลงมติ ไม่เห็นชอบ "แพทองธาร" นั่งนายกฯ คนที่ 31". ไทยรัฐ. 16 สิงหาคม 2024. สืบค้นเมื่อ 16 สิงหาคม 2024.
{{cite news}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์) - ↑ กกต.รับรอง ‘พรรคประชาชน’ แล้ว ส่งเรื่องประกาศราชกิจจาฯ แจงปมโลโก้คล้ายก้าวไกล
- ↑ "จับตา ปชน.ตั้ง 10 'ดาวเด่น' นั่งรองหัวหน้า - ชิง 12 รองเลขาฯ สส.ล็อบบี้กันวุ่น". bangkokbiznews. 2024-09-21.
- ↑ "เปิดชื่อ 7 ขุนพลรองหัวหน้าพรรคประชาชน พร้อม 12 รองเลขาฯ ใน 3 สัดส่วน". ไทยรัฐ. 22 กันยายน 2024. สืบค้นเมื่อ 23 กันยายน 2024.
{{cite news}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์) - ↑ "มติสภาผ่านร่างกฎหมายไม่ตีเด็ก ย้ำ การเฆี่ยนตีไม่ส่งเสริมเลี้ยงลูกเชิงบวก". ไทยรัฐ. 30 ตุลาคม 2024. สืบค้นเมื่อ 1 พฤศจิกายน 2024.
{{cite news}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์) - ↑ "พริษฐ์แถลงผลงานเสนอกฎหมายของพรรคประชาชนตลอด 1 ปี จ่อเดินสายรณรงค์กฎหมาย 7 ชุด ทั่วประเทศ". thestandard. 4 พฤศจิกายน 2024. สืบค้นเมื่อ 4 พฤศจิกายน 2024.
{{cite news}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์) - ↑ "'ประชาชน' ส่ง 'โฟล์ค ณฐชนน' ลงแทน 'หมออ๋อง' มั่นใจชนะ สส.พิษณุโลก". bangkokbiznews. 2024-08-09.
- ↑ "ศึกเลือกตั้งนายก อบจ.ระยอง เริ่มแล้ว ทีม 'เรารักระยอง' ติดป้ายหาเสียงพรึบ". matichon.co.th.
- ↑ ก้าวไกลของประชาชน - Move Forward (2024-07-19), ก้าวแรก อบจ. ก้าวต่อเปลี่ยนประเทศ 📣 เปิดตัว อบจ.ลำพูนก้าวไกล!!!, สืบค้นเมื่อ 2024-09-29
- ↑ "'พรรคประชาชน' คิกออฟแคมเปญ 'นักสืบทุนเทา' | ประชาไท Prachatai.com". prachatai.com. 2024-10-21.
- ↑ "ดรามา! "สส.แก้วตา" จี้ไทยรับรองชาวเมียนมาหนีสงคราม แฮชแท็กพรรคประชาชนพม่า". พีพีทีวี. 18 กันยายน 2024. สืบค้นเมื่อ 19 กันยายน 2024.
- ↑ ""พริษฐ์" แจงดราม่า #พรรคประชาชนพม่า ต้องคุยปัญหาตรงไปตรงมา". เนชั่นทีวี. 18 กันยายน 2024. สืบค้นเมื่อ 19 กันยายน 2024.
- ↑ Thailand, BECi Corporation Ltd. "'พรรคประชาชน' จ่อฟ้องคนบิดเบือน กล่าวหาเป็นพวก BRN". CH3Plus.com.