พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน

พระราชฐานชั้นกลาง

พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน เป็นพระที่นั่งองค์ประธาน ของหมู่พระมหามณเฑียร มีความสำคัญเป็นพระราชพิธีมณฑล "พระราชพิธีขึ้นเฉลิมพระราชมณเฑียร" ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ประทับที่พระที่นั่งองค์นี้เป็นการถาวร รัชกาลต่อ ๆ มาประทับเป็นเวลาสั้น ๆ ตามกำหนดพระราชพิธี

พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน
ไฟล์:พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน.jpg
พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน
ข้อมูลทั่วไป
ประเภทพระที่นั่ง
เมืองหมู่พระที่นั่งภายใน พระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร
ประเทศไทย ไทย
เริ่มสร้างพ.ศ. 2325
ผู้สร้างพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
เป็นส่วนหนึ่งของพระมหามณเฑียร
เลขอ้างอิง0005574

ลักษณะพระที่นั่ง เป็นสถาปัตยกรรมไทย 3 หลังแฝด ชั้นเดียว ก่ออิฐปูน ยกฐานสูง เรียงจากทิศตะวันออกไปทิศตะวันตก องค์กลางใหญ่ องค์ขนาบสองข้างมีขนาดเท่ากัน แต่ละองค์มีพระทวารเชื่อม หลังคามุงกระเบื้องเคลือบสี ตกแต่ง ช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ ประดับกระจกสีทอง หน้าบันจำหลักไม้เป็นรูปสมเด็จพระอมรินทราราชในบุษบก พระทวารและพระบัญชรทำซุ้มบันแถลง เป็นลายนาคสามเศียรสองชั้น ประสมซุ้ม รูปไข่ลายดอกเบญจมาศ ระเบียงรอบมีชานตั้งเสานางเรียงรองรับชายคา

พระที่นั่งองค์ตะวันออก เป็นที่พระบรรทมของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ภายในกั้นด้วยพระฉากดาดทองบุตาด ด้านเหนือประดิษฐานพระแท่นบรรจถรณ์ ด้านใต้เป็นห้องทรงเครื่อง ตั้งพระแท่นราชอาสน์ทอดเครื่องสรงพระพักตร์ เครื่องพระสำอางค์ ทั้งสองส่วนกางกั้นด้วยพระนพปฎลมหาเศวตฉัตร พระที่นั่งองค์นี้เป็นที่สวรรคตของ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยและพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

ไฟล์:พระวิมานที่บรรทม.jpg
พระแท่นราชบรรจถรณ์

พระที่นั่งองค์กลาง เป็นโถงมีพระทวาร และอัฒจันทร์ลงไปมุขกระสันด้านเหนือ เป็นท้องพระโรงหน้า เชื่อมต่อกับพระที่นั่งไพศาลทักษิณ ทางลงสู่ท้องพระโรงหน้ามีเกยลา ซึ่งรัชกาลที่ 4 สร้างขึ้นสำหรับเสด็จออกแขกเมืองฝ่ายใน ด้านใต้เป็นอัฒจันทร์จากพระทวารไปท้องพระโรงใน ลักษณะเป็นห้องโถงยาว ขนาบด้วยพระปรัศว์ซ้ายขวา ที่รัชกาลที่ 6 ทรงยกขึ้นเป็นพระที่นั่งเทพสถานพิลาสและพระที่นั่งเทพอาสน์พิไล

พระที่นั่งองค์ตะวันตก เป็นโถง สำหรับทรงพระบำเพ็ญพระราชกุศลส่วนพระองค์ เมื่อปลายรัชกาลที่ 3 พระองค์ประชวร โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งพระแท่นบรรทมสำหรับประทับ และเสด็จสวรรคต ณ พระที่นั่งองค์นี้ ปัจจุบันเป็นที่ประดิษฐานเครื่องสิริราชกกุธภัณฑ์ และพระแสงนานาชนิด

พระที่นั่งใกล้เคียง

แก้

เดิมคือ เรือนพระปรัศว์ซ้ายและขวาที่ต่อกับท้องพระโรงหลังแห่ง พระที่นั่งจักรพรรดิพิมานสร้างขึ้นตั้งแต่รัชสมัย พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระปรัศว์ขวาอยู่ทางะวันออกของท้องพระโรงและพระปรัศว์ซ้ายอยู่ทางตะวันตกของท้องพระโรง พระที่นั่งทั้ง 2 ใช้เป็นที่ประทับของฝ่ายใน ต่อมา พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานนามพระที่นั่งทั้ง 2 องค์ โดย พระที่นั่งองค์ทิศตะวันออกพระราชทานนามว่า "พระที่นั่งเทพสถานพิลาศ" และพระที่นั่งองค์ทิศตะวันตกพระราชทานนามว่า "พระที่นั่งเทพอาสน์พิไล" ลักษณะสถาปัตยกรรมของพระที่นั่งเป็นสถาปัตยกรรมไทยเลียนแบบพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน ยกพื้นสูงกว่า 50 เซนติเมตร หลังคามุงกระเบื้องไม่เคลือบสี พระทวารและพระบัญชรไม่มีซุ้มเรือนแก้ว พระปรัศว์ทั้งสองมีกำแพงแก้วล้อมรอบ กำแพงด้านนอกมีหอน้อยเป็นศาลาเล็ก ๆ ในวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ได้มีพระประสูติกาล สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี พระราชธิดาพระองค์เดียวใน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ พระที่นั่งเทพสถานพิลาส นับเป็นพระหน่อเพียงพระองค์เดียวที่ประสูติในหมู่พระมหามณเฑียร

ดูเพิ่ม

แก้

อ้างอิง

แก้
  • สำนักพระราชวัง. พระบรมมหาราชวัง. กรุงเทพ : โรงพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช, พ.ศ. 2547. 331 หน้า. หน้า หน้าที่. ISBN 974-8274-98-5

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้

13°44′59″N 100°29′31″E / 13.749807°N 100.492067°E / 13.749807; 100.492067