มหาวิทยาลัยกลาสโกว์
มหาวิทยาลัยกลาสโกว์ (อังกฤษ: The University of Glasgow ; ละติน: Universitatis Glasguensis) ก่อตั้งเมื่อปี ค.ศ. 1451 เป็นมหาวิทยาลัยที่ใหญ่ที่สุดในสามมหาวิทยาลัยในเมืองกลาสโกว์ สกอตแลนด์ สหราชอาณาจักร มีชื่อเสียงในด้านการสอนและการวิจัย และเป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยโบราณของสก็อตแลนด์ และเป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยที่ใหญ่และมีชื่อเสียงที่สุดในสหราชอาณาจักร
มหาวิทยาลัยกลาสโกว์ถูกก่อตั้งขึ้นอาณัติจากพระสันตปาปานิโคลัสที่ห้าโดยพระประสงค์ของพระเจ้าเจมส์ที่สอง เพื่อให้สก็อตแลนด์มีมหาวิทยาลัยสองแห่งเช่นเดียวกันกับอังกฤษที่มีออกซฟอร์ดและเคมบริดจ์ ซึ่งทำให้กลาสโกว์เป็นมหาวิทยาลัยที่เก่าแก่ที่สุดอันดับสี่ในสหราชอาณาจักร และยังเป็นมหาวิทยาลัยที่ได้รับเงินบริจาคมากเป็นอันดับสี่ในบริเทนรองจากออกซฟอร์ด เคมบริดจ์ และเอดินบะระ อีกด้วย มหาวิทยาลัยกลาสโกว์นั้นมีสัดส่วนนักเรียนต่างชาติค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับมหาวิทยาลัยอื่นๆ โดยประมาณครึ่งหนึ่งเป็นคนในกลาสโกว์เอง อีก 40% เป็นนักเรียนจากเมืองต่างๆภายใน UK มีเพียงประมาณ 13 เปอร์เซ็นต์ที่มาจากต่างชาติ
มหาวิทยาลัยกลาสโกว์นั้นได้รับการยกย่องว่าเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำของ UK มาหลายศตวรรษ เช่นเดียวกับเอดินเบอระและเซนต์แอนดรูส์ กลาสโกว์เป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกใน UK ที่ก่อตั้งภาควิชาวิศวกรรมศาสตร์ และ ปัจจุบันเป็นมหาวิทยาลัยนอกเขตลอนดอนที่มีคณะวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ใหญ่ที่สุดในสหราชอาณาจักร เมืองกลาสโกว์นั้นมีอัตราส่วนวิศวกรต่อประชากรสูงมากเป็นอันดับสามของโลก มหาวิทยาลัยกลาสโกว์ได้ให้กำเนิดนักวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียงระดับโลกเป็นจำนวนมาก อาทิ ลอร์ดเคลวิน – หนึ่งในผู้พัฒนากฎข้อสองของเทอร์โมไดนามิคส์ และภายหลังได้รับเกียรติให้นำชื่อไปให้เป็นหน่วยวัดอุณหภูมิเคลวิน เจมส์ วัตต์ – ผู้พัฒนากลจักรไอน้ำจนก่อให้เกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรมของสหราชอาณาจักร จอห์น โลกี แบรด – ผู้ประดิษฐ์โทรทัศน์ โจเซฟ ลิสเตอร์ – หนึ่งในผู้ริเริ่มการผ่าตัดแบบสมัยใหม่ และ โจเซฟ แบลค – นักเคมีที่มีผลงานมากมายรวมไปถึงการค้นพบก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ฯลฯ
มหาวิทยาลัยกลาสโกว์ยังมีชื่อเสียงทางด้านสังคมศาสตร์ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าด้านวิศวกรรมศาสตร์เลยแม้แต่น้อย กลาสโกว์นั้นถือได้ว่าเป็นจุดกำเนิดของยุคแสงสว่างอย่างแท้จริง ศาสตราจารย์ฟรานซิส ฮัทชิสัน แห่งมหาวิทยาลัยกลาสโกว์เป็นผู้ริเริ่มทฤษฎีอรรถประโยชน์ (Utilitarian principle) ซึ่งเป็นหนึ่งในทฤษฎีพื้นฐานภายใต้เศรษฐศาสตร์สำนักคลาสสิก (Classical Economics) อดัม สมิธ ศิษย์เก่าที่โด่งดังที่สุดของมหาวิทยาลัยกลาสโกว์นั้นได้ผสมผสานทฤษฎีนี้ผนวกกับแนวคิดของเดวิด ฮูม (นักปรัชญาชาวเอดินเบอระ) ก่อให้เกิดทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์สมัยใหม่ เศรษฐศาสตร์การเมือง และทฤษฎีการค้าเสรี ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของโลกอย่างมหาศาลมาจนถึงยุคปัจจุบัน [1]
คณะวิชา
แก้ปัจจุบันมหาวิทยาลัยกลาสโกว์มีทั้งหมด 9 คณะ ได้แก่
- ศิลปศาสตร์
- ชีววิทยาและวิทยาศาสตร์ชีวภาพ
- ครุศาสตร์ (ตั้งขึ้นหลังจากมหาวิทยาลัยรวมเข้ากับ St Andrews College of Education) ;
- วิศวกรรมศาสตร์
- สารสนเทศและคณิตศาสตร์
- นิติศาสตร์ บริหารธุรกิจ และสังคมศาสตร์
- แพทยศาสตร์ (รวม ทันตแพทยศาสตร์ และพยาบาลศาสตร์)
- วิทยาศาสตร์กายภาพ
- สัตวแพทยศาสตร์
นอกจากคณะวิศวกรรมศาสตร์และวิทยาศาสตร์แล้ว โรงเรียนสัตวแพทยศาสตร์เป็นคณะที่มีชื่อเสียงมากที่สุดที่หนึ่งของกลาสโกว์ มีศิษย์เก่าที่เป็นชื่อเสียงจำนวนมาก อาทิ และมีจุดเด่นตรงที่วุฒิของที่นี่ไม่เพียงจะได้รับการยอมรับในสหราชอาณาจักรเท่านั้น แต่ยังรวมถึงสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย แคนาดา นิวซีแลนด์ และอีกหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งมีน้อยสถาบันที่จะได้รับการยอมรับเช่นนี้
โรงเรียนแพทยศาสตร์ก็เป็นจุดเด่นที่สุดอย่างหนึ่งของกลาสโกว์ ได้รับการยอมรับมายาวนานว่าเป็นโรงเรียนอันดับต้นในสหราชอาณาจักร เมื่อ ค.ศ. 2004 โรงเรียนถูกจัดเป็นอันดับ 1 ในการจัดอันดับคณะแพทยศาสตร์ของมหาวิทยาลัยในสหราชอาณาจักร โดย ไทมส์ไฮเออร์เอดูเคชันซัปพลีเมนต์
ศิษย์เก่าชาวไทย
แก้- ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร อดีตเลขาธิการ สกอ. อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.)
อ้างอิง
แก้แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- มหาวิทยาลัยกลาสโกว์ เว็บไซต์อย่างเป็นทางการ
- Thai Student Society in Glasgow เก็บถาวร 2013-01-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน สมาคมนักเรียนในในกลาสโกว์