หม่อมเจ้ามารศีสุขุมพันธุ์ บริพัตร

ศาสตราจารย์ ดร.หม่อมเจ้ามารศีสุขุมพันธุ์ บริพัตร (25 สิงหาคม พ.ศ. 2473 – 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2556) เป็นจิตรกรชาวไทยซึ่งทรงได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในแวดวงศิลปะ เนื่องจากผลงานของพระองค์สะท้อนถึงความหลากหลายของตัวงานและเอกภาพทางจิตวิญญาณ [1] [2] [3] [4]

หม่อมเจ้ามารศีสุขุมพันธุ์ บริพัตร
ประสูติ25 สิงหาคม พ.ศ. 2473
จังหวัดพระนคร ประเทศสยาม
สิ้นชีพตักษัย8 กรกฎาคม พ.ศ. 2556 (82 ปี)
แอนู ประเทศฝรั่งเศส
สวามีจาคส์ บัวร์สคเวต
ราชสกุลบริพัตร
ราชวงศ์จักรี
พระบิดาพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนครสวรรค์ศักดิพินิต
พระมารดาหม่อมราชวงศ์พันธุ์ทิพย์ บริพัตร
ลายพระอภิไธย

พระประวัติ

แก้

หม่อมเจ้ามารศีสุขุมพันธุ์ มีพระนามลำลองว่า ท่านหญิงติ๋ง เป็นพระธิดาองค์เดียวในพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนครสวรรค์ศักดิพินิต กับหม่อมราชวงศ์พันธุ์ทิพย์ บริพัตร (ราชสกุลเดิม เทวกุล) ประสูติเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2473[5]วังบางขุนพรหม (ปัจจุบันเป็นที่ทำการธนาคารแห่งประเทศไทย) เป็นพระนัดดาในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต และเป็นพระราชปนัดดาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

การศึกษา

แก้

ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองพ.ศ. 2475 หม่อมเจ้ามารศีสุขุมพันธุ์ซึ่งเพิ่งประสูติได้ไม่นาน มีชันษา 1 ปี [6] ได้ตามเสด็จพระประยูรญาติไปประทับที่เกาะชวา ประเทศอินโดนีเซียและต่อไปยังประเทศอังกฤษ ได้มีโอกาสเข้าศึกษาที่ประเทศอังกฤษ ก่อนเสด็จนิวัติประเทศไทยและเข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนมาแตร์เดอีวิทยาลัย ชั้นประถมปีที่ 4 ในพ.ศ. 2483 ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง โรงเรียนมาแตร์เดอีวิทยาลัยต้องย้ายสถานศึกษาไปที่อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ หม่อมเจ้ามารศีสุขุมพันธุ์และครอบครัวจึงอพยพไปประทับยังพระตำหนักส่วนพระองค์ของพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนครสวรรค์ศักดิพินิต ที่บ้านบ่อจืด ตำบลหนองแก อำเภอหัวหิน และทรงขับจักรยานไปโรงเรียนซึ่งอยู่บริเวณวังไกลกังวลทุกวัน จนกระทั่งสงครามสิ้นสุดลงจึงเสด็จกลับพระนคร และทรงศึกษาต่อที่โรงเรียนมาแตร์เดอีวิทยาลัยจนจบชั้นมัธยมปีที่ 6 จึงเสด็จไปทรงศึกษาต่อที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ประเทศฝรั่งเศส และประเทศสเปน ทรงได้รับปริญญา Docteur 's Lettres สาขาวรรณคดี จากมหาวิทยาลัยปารีส ในพ.ศ. 2497 และปริญญาเอก สาขาประวัติศาสตร์ศิลปะ จากมหาวิทยาลัยอิสระแห่งมาดริด ประเทศสเปน ในพ.ศ. 2502 ขณะชันษา 28 ปี [7] นับเป็นเจ้านายฝ่ายใน(เจ้านายสตรี)องค์แรกในราชวงศ์จักรีที่ทรงสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาดุษฎีบัณฑิต

ชีวิตส่วนองค์

แก้

หม่อมเจ้ามารศีสุขุมพันธุ์เสกสมรสกับศาสตราจารย์จาคส์ บัวร์สคเวต (Jacques Bousquet) ชาวฝรั่งเศส ซึ่งเคยไปทำงานประจำ ณ องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) กรุงมาดริด ประเทศสเปน อยู่ระยะหนึ่ง แต่ไม่มีโอรส-ธิดาด้วยกัน และเมื่อได้จัดแสดงนิทรรศการศิลปะในฝรั่งเศสอย่างต่อเนื่อง จึงทรงย้ายไปประทับ ณ กรุงปารีส ต่อมาได้เสด็จไปทรงแสดงภาพตาม พิพิธภัณฑ์และหอศิลป์ต่าง ๆ ทางตอนใต้ของประเทศฝรั่งเศส และได้พบเมืองเล็ก ๆ ชื่อ Annot ซึ่งอยู่ในภูเขาบริเวณ Alpes de Haute Provence ทางตะวันออกเฉียงเหนือของเมืองนิส ก็ทรงตกหลุมรักในเสน่ห์ของเมือง Annot และทรงตัดสินใจซื้อที่ดินบนเนินเขานั้นสร้างสตูดิโอและประทับอยู่ถาวรตั้งแต่พ.ศ. 2513 [8]

การทรงงาน

แก้

หม่อมเจ้ามารศีสุขุมพันธุ์ทรงสอนวิชาศิลปะโลกตะวันออกไกลในคณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยอิสระแห่งมาดริด และเมื่อเสด็จกลับมาประทับในประเทศไทย ได้เป็นอาจารย์พิเศษสอนวิชาประวัติศาสตร์ศิลปกรรมตะวันตกที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อยู่ระยะหนึ่ง [9]

แม้หม่อมเจ้ามารศีสุขุมพันธุ์จะทรง 'มีแวว' ในด้านศิลปะมาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ แต่ก็มิได้เข้าสู่วงการศิลปะอย่างจริงจัง จนกระทั่งชันษาราว 30 ปี จึงทรงเริ่มศึกษาด้วยองค์เองจากงานศิลปะของบรรดาศิลปินต่าง ๆ เช่น ทรงรับคำแนะนำในหลักการวาดภาพจิตรกรรมสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยา และเทคนิคการใช้สีจากเพื่อนศิลปิน Andr Poujet และอีกหลายท่าน กระทั่งทรงสร้างสรรค์งานศิลปะขององค์เองและเข้าร่วมกลุ่มศิลปินในประเทศฝรั่งเศสจัดแสดงภาพในนิทรรศการ 'Salon Comparaisons' ณ 'Muse de l’ Art Moderne' ในกรุงปารีสหลายครั้ง ตั้งแต่พ.ศ. 2507 - พ.ศ. 2515 และร่วมกับศิลปินกลุ่ม 'l’ Art Fantastique' ในนิทรรศการ 'Figuratif de l’ Imaginaire Surreal' ซึ่งเป็นงานศิลปะที่แสดงอารมณ์ ความนึกคิด และจินตนาการในลักษณะที่ท่านโปรด ในประเทศไทยได้จัดแสดงที่หอศิลป์พีระศรีขณะสร้างเสร็จใหม่ ๆ ในกรุงเทพมหานคร

ผลงานด้านจิตรกรรม

แก้

ผลงานจิตรกรรมฝีหัตถ์ของหม่อมเจ้ามารศีสุขุมพันธุ์ สะท้อนถึงความหลากหลายของตัวงานและเอกภาพทางจิตวิญญาณ ผลงานฝีหัตถ์ของหม่อมเจ้ามารศีสุขุมพันธุ์มีความหลากหลายตามช่วงเวลา [10] จิตรกรรมชิ้นแรก ๆ ช่วงคริสต์ทศวรรษ 1960 ทรงใช้สีเอกรงค์ขาว-ดำเป็นหลักและมุ่งเน้นที่ตัววัตถุคล้ายกับภาพเขียนหมึกจีน ได้แก่ ภาพทดลองวาดลักษณะผิว ลักษณะรูปทรงโขดหิน ผลึกหินชนิดต่างๆ จากนั้นจึงจัดวางฉากประกอบโขดหินพร้อมทั้งจัดแสง เช่นเดียวกับหินในฉากหลังของภาพวาดของเลโอนาร์โด ดา วินชี

ครั้นต่อมาช่วงคริสต์ทศวรรษ 1970 จึงถึงคราวที่โขดหินที่จัดแสงเงาไว้นี้ต้องกลายเป็นฉากประกอบเพื่อให้รับกับบุคคลที่เป็นแบบ ขณะเดียวกันก็เหมือนว่าฝีหัตถ์ในการวาดภาพดอกไม้ได้พัฒนายิ่งขึ้นและเน้นการเล่นสีหลากหลายแทบเป็นหลัก จนเหมือนไม่สนทัยกับความตื้นลึก องค์ประกอบภาพและเงาไปชั่วคราว จากนั้นผลงานของหม่อมเจ้ามารศีสุขุมพันธุ์จึงเริ่มเบ่งบาน ทั้งขนาดภาพและองค์ประกอบภาพที่ใหญ่และซับซ้อนยิ่งขึ้น ใช้สีหลากหลายกว่าเดิม การมุ่งจับเนื้อหาอันจำกัด ไม่หลากหลายแต่นำมาแปรผันไปต่าง ๆ กอปรกับตัวละครและคุณลักษณะเชิงสัญลักษณ์ ได้เปิดทางให้หม่อมเจ้ามารศีสุขุมพันธุ์ทรงค้นพบกฎเกณฑ์เบื้องต้นในการจัดองค์ประกอบภาพขนาดใหญ่

ต่อมาในค.ศ. 1980 - ค.ศ. 2003 เป็นช่วงผลงานสำคัญที่เปี่ยมด้วยความหลากหลาย ทั้งขนาดภาพ เนื้อหาและองค์ประกอบภาพ ภาพฝีหัตถ์ขนาดเล็กมีเนื้อหาเกี่ยวกับสัตว์หรือดอกไม้ เช่น ช้าง แมว ลูกสุนัข ดอกไม้และช่อดอกไม้ ในขณะที่ภาพขนาดกลางมีเนื้อหาผสม เช่น นกแก้วที่ประกอบด้วยดอกไม้ (มีอย่างน้อยห้าภาพ) มนุษย์ซึ่งอยู่โดดเดี่ยวท่ามกลางดอกไม้ การประจันหน้าระหว่างมนุษย์กับสัตว์ (ซึ่งมักจะเป็นม้ายูนิคอร์น) และแมวหลายคู่ท่ามกลางอาคารสถานที่หรือธรรมชาติ ส่วนภาพขนาดใหญ่ (ผลงานชิ้นเอก) นั้น ทรงจัดวางสัตว์กลุ่มย่อย ๆ ดอกไม้ ต้นไม้ อาคารและมนุษย์ ให้อยู่ท่ามกลางสถาปัตยกรรมอันวิจิตรและมีน้ำหนักสมดุลอย่างยิ่ง เอกภาพเป็นแนวคิดหลักในผลงานของหม่อมเจ้ามารศีสุขุมพันธุ์ ด้านหนึ่งคือเอกภาพในการใช้เทคนิค เช่น เทคนิคการวาดภาพด้วยสีน้ำมันบนผืนผ้าใบ อันเป็นการแสดงออกที่ซับซ้อนและทรงพลังยิ่งขึ้นกว่าเดิม อีกด้านหนึ่งคือเอกภาพของเนื้อหา เช่น สัตว์ต่าง ๆ ดอกไม้และมนุษย์ ที่มักจะโดดออกมาจากทิวทัศน์อันซับซ้อนมากน้อยตามความสำคัญและขนาดของภาพ [11]

น่าเสียดายอย่างยิ่งที่ตั้งแต่หม่อมเจ้ามารศีสุขุมพันธุ์ประชวรลงในพ.ศ. 2547 ทำให้ท่านไม่สามารถวาดภาพได้เหมือนเดิม โดยก่อนประชวรได้ปรารภว่ามีประสงค์จะรวบรวมผลงานทั้งหมดของท่านไว้ด้วยกัน โดยจะสร้างเป็นแกลเลอรีที่เชิงเขาบริเวณตำหนักของท่านที่ Annot เพื่อให้ผู้ที่สนใจได้มาเยี่ยมชม และเป็นแหล่งส่งเสริมการศึกษาด้านศิลปะต่อไป เมื่อประชวรจึงมีประสงค์ให้หม่อมราชวงศ์ชิษณุสรร สวัสดิวัตน์ ภราดรผู้เป็นลูกพี่ลูกน้องของท่านทางพระบิดา ที่ได้ถวายการดูแลท่านอยู่ จัดตั้งมูลนิธิหม่อมเจ้ามารศีสุขุมพันธุ์ บริพัตร[12] เพื่อดำเนินการต่อไปตามที่ท่านประสงค์ โดยเริ่มจัดแสดงนิทรรศการครั้งแรกในประเทศไทยในปี พ.ศ. 2553 [13] ซึ่งได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในการเสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานเปิดนิทรรศการดังกล่าว[14] ซึ่งทางมูลนิธิยังคงจัดแสดงต่อมาจนถึงปัจจุบันเป็นครั้งคราวในโอกาสที่เหมาะสม [15] [16] [17] [18]

ภายหลังสิ้นชีพิตักษัย ในปี พ.ศ. 2559 กระทรวงวัฒนธรรมได้ประกาศยกย่องเชิดชูพระเกียรติ หม่อมเจ้าหญิงมารศีสุขุมพันธุ์ บริพัตร เป็น "บูรพศิลปิน สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ สาขาทัศนศิลป์" โดยมีการเชิดชูเกียรติศิลปินผู้ล่วงลับ ซึ่งมีคุณูปการต่องานด้านศิลปวัฒนธรรมของชาติอันเป็นที่ประจักษ์ต่อสังคม ควรค่าแก่การเคารพยกย่องซึ่งอนุชนรุ่นต่อมาได้พัฒนาและสืบทอดให้เจริญก้าวหน้ามาจนปัจจุบัน ซึ่งในโอกาสดังกล่าวสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า โปรดกระหม่อมพระราชทานชื่อสำหรับศิลปินผู้ล่วงลับว่า “บูรพศิลปิน”

ปลายชนม์ชีพ

แก้

หม่อมเจ้ามารศีสุขุมพันธุ์เริ่มประชวรด้วยพระโรคอัมพาตครึ่งซีกราวปี พ.ศ. 2547[19] ก่อนจะถึงชีพิตักษัยด้วยพระอาการสงบ ในตำหนัก Vellara เมือง Annot ทางตอนใต้ของประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2556 สิริชันษา 82 ปี[20] ในการนี้สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง โปรดให้ผู้แทนพระองค์เชิญช่อดอกไม้ส่วนพระองค์มาพระราชทานยังพิธีศพที่พระประยูรญาติได้จัดขึ้น จากนั้นได้ถวายเพลิงศพอย่างเรียบง่าย ณ สุสาน Crématorium de Nice-Côte d’Azur แห่งเมือง Colomars ใกล้กับเมืองนิส ประเทศฝรั่งเศสในวันที่ 11 กรกฎาคมของปีเดียวกัน [21] ก่อนจะอัญเชิญอัฐิและอังคารนิวัติสู่ประเทศไทย โดยพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้อัญเชิญอัฐิและอังคารส่วนหนึ่งไปบรรจุไว้ที่อนุสาวรีย์สุขุมาลย์นฤมิตร ในสุสานหลวง วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร [22] และอีกส่วนหนึ่งพระประยูรญาติได้อัญเชิญไปลอย ณ ทะเลจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ [23] อันเป็นจังหวัดซึ่งบ้านบ่อจืด พระตำหนักส่วนพระองค์ในอดีตของ พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนครสวรรค์ศักดิพินิต ตั้งอยู่ [24] ซึ่งท่านหญิงเคยประทับและทรงใช้ชีวิตที่นั่นเมื่อครั้งยังทรงพระเยาว์ ทรงผูกพันและถือว่าสถานที่ดังกล่าวเปรียบเหมือนบ้านหลังสุดท้ายของท่านในประเทศไทยก่อนจะทรงย้ายไปประทับยังประเทศฝรั่งเศสถาวรตลอดชนม์ชีพ

ทั้งนี้ หม่อมเจ้ามารศีสุขุมพันธุ์นับเป็นหม่อมเจ้าเพียงองค์เดียวของราชสกุลบริพัตร เนื่องจากพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนครสวรรค์ศักดิพินิต พระบิดาของท่านหญิงเป็นพระโอรสพระองค์เดียวในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ที่ดำรงพระอิสริยยศ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า ซึ่งในพระบรมราชโองการสถาปนาพระอิสริยยศดังกล่าว ได้ระบุไว้ว่า หากมีพระบุตรให้พระบุตรเป็นหม่อมเจ้า [25]

พงศาวลี

แก้

อ้างอิง

แก้
  1. https://www.timeout.com/bangkok/th/news/เรียนรู้สุนทรียศาสตร์ของความงดงามและความอัปลักษณ์-จากปลายพู่กันของหม่อมเจ้ามารศีสุขุมพันธุ์-บริพัตร-110218
  2. https://www.naewna.com/lady/369467
  3. http://exhibition.contestwar.com/node/2184
  4. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-10-17. สืบค้นเมื่อ 2019-10-17.
  5. ศุภวัฒย์ เกษมศรี, พลตรี หม่อมราชวงศ์, และรัชนี ทรัพย์วิจิตร. พระอนุวงศ์ชั้นหม่อมเจ้าในพระราชวงศ์จักรี. ffffff : สำนักพิมพ์บรรณกิจ, พิมพ์ครั้งที่ 3 พ.ศ. 2549. 360 หน้า. หน้า หน้าที่. ISBN 974-221-818-8
  6. https://www.academia.edu/13227966/สิ_งที_ข_าพเจ_าพบเห_น_โดย_หม_อมเจ_าพูนพิศมัย_ดิศกุล
  7. https://www.allthaievent.com/event/21393/
  8. http://www.hiclasssociety.com/?p=76484
  9. https://www.marsifoundation.org/%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%95%E0%B8%B4/
  10. https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/819369
  11. https://th.readme.me/p/21672
  12. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศนายทะเบียนมูลนิธิ เรื่องจดทะเบียนจัดตั้ง "มูลนิธิหม่อมเจ้ามารศีสุขุมพันธุ์ บริพัตร", ตอนที่ 69, เล่ม 126, วันที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2552, หน้า 69-70
  13. https://www.posttoday.com/life/11037
  14. https://mgronline.com/celebonline/detail/9530000032816
  15. https://adaymagazine.com/marsi-exhibition-1/
  16. https://www.thaipost.net/main/detail/21882
  17. https://www.matichon.co.th/lifestyle/news_1230749
  18. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-10-18. สืบค้นเมื่อ 2019-10-18.
  19. {{https://www.thairath.co.th/content/65208}}
  20. {{https://tastythailand.com/thailands-princess-marsi-dies-in-france-talented-artist-was-82-years-old/}}
  21. {{https://m.facebook.com/media/set/?set=a.579017302162653.1073741829.230843956979991&type=3 }}
  22. {{http://oknation.nationtv.tv/blog/SW19/2013/07/16/entry-1}}
  23. {{https://www.facebook.com/348308848270/posts/10156510662153271?sfns=mo}}
  24. {{http://topicstock.pantip.com/library/topicstock/2010/02/K8897323/K8897323.html}}
  25. ราชกิจจานุเบกษา,พระบรมราชโองการ ประกาศ ยกพระวรวงษ์เธอ เป็นพระเจ้าวรวงษ์เธอ, เล่ม ๒๗, ตอน ก, ๘ มกราคม พ.ศ. ๒๔๕๓, หน้า ๙๙