อาณาจักรโคตรบูร

อาณาจักรโคตรบูร เป็นอาณาจักรโบราณที่มีความสัมพันธ์อย่างแนบแน่นกับยุคจันทะปุระ (ราวพุธศตวรรษที่ 1 - 10) และยุคซายฟอง (ราวพุธศตวรรษที่ 10 - 12) เริ่มมีพัฒนาการมาตั้งแต่สมัยก่อนพุทธกาลถึงพุทธศตวรรษที่ 11 - 15 หรือระหว่าง พ.ศ. 1000 - 1500 มีพื้นที่ครอบคลุมบริเวณสองฝั่งแม่น้ำโขง ตั้งแต่จังหวัดอุดรธานี จังหวัดหนองคาย จังหวัดบึงกาฬ จังหวัดนครพนม จังหวัดมุกดาหาร จังหวัดสกลนคร จังหวัดขอนแก่น จังหวัดหนองบัวลำภู จังหวัดอำนาจเจริญ จังหวัดอุบลราชธานีของประเทศไทย แขวงบอลิคำไซ แขวงคำม่วน แขวงสุวรรณเขต แขวงเวียงจันทน์ แขวงสาละวัน แขวงจำปาศักดิ์ แขวงอัตตะปือ แขวงเซกองของประเทศลาว

นักวิชาการบางกลุ่มเสนอว่า อาณาจักรโคตรบูรอาจแผ่อาณาเขตครอบคลุมไปถึงแขวงหลวงพระบางโดยอาศัยหลักฐานทางโบราณคดีประเภทหลักหินซึ่งปรากฏที่เวียงจันทน์-นครพนมด้วย นอกจากนี้อาณาจักรโคตรบูรยังแผ่อิทธิพลทางการเมืองและศิลปกรรมครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมดของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พื้นที่เกือบทั้งหมดของลาว พื้นที่รอยต่อของลาว-อีสานกับประเทศกัมพูชา ในภาคอีสานและลาวนั้นมีการค้นพบหลักฐานทางโบราณคดีเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ นักวิชาการลาวและอีสานเชื่อว่าชนชาติดั้งเดิมที่อาศัยอยู่ในอาณาจักรศรีโคตรบูรและสถาปนาอาณาจักรอาจเป็นชาวลาว ข่า ขอม ภูไท โย้ย จาม และชาติพันธุ์ดั้งเดิมอื่น ๆ ที่อาศัยอยู่ในลาวและภาคอีสานปัจจุบันนี้

จากการค้นพบใบเสมาและหลักหินโบราณหลายสิบแห่งที่กระจายอยู่ในจังหวัดนครพนม-แขวงคำม่วน และการค้นพบหลักหินและใบเสมาใต้พื้นดินจำนวนมากถึง 473 หลัก ที่กระจุกตัวอยู่บริเวณหอหลักเมืองเวียงจันทน์ ตลอดจนการค้นพบซากกำแพงหินยักษ์ซึ่งสร้างจากฝีมือมนุษย์ที่แขวงคำม่วน ได้ยืนยันถึงความเจริญรุ่งเรืองของอาณาจักรโคตรบูรอย่างมาก

ความเป็นมา ของอาณาจักรโคตรบูร หรือ ศรีโคตรบูร ที่มาของจังหวัดนครพนม นครพนมเป็นเมืองเก่าแก่ในประวัติศาสตร์ เป็นจังหวัดที่อยู่ไกลที่สุดในภาคอีสาน ดินแดนสองฝั่งแม่น้ำโขงแถบนี้ สมัยก่อนเคยเป็นอาณาจักรศรีโคตรบูร เป็นอาณาจักรที่เจริญรุ่งเรืองมากในดินแดนแถบลุ่มแม่น้ำโขง ในยุคนั้นมีอาณาจักรล้านช้าง สิบสองจุไทย เวียงจันทน์ จำปาศักดิ์ อยุธยาตอนต้น และอาณาจักรศรีโคตรบูร ซึ่งเป็นที่มาของจังหวัดนครพนม ในสมัยก่อนที่ประเทศไทยยังไม่ได้เสียดินแดนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงไปในสมัย สงครามฝรั่งเศส ดินแดนสองฝั่งแม่น้ำโขงแถบนี้ก่อนที่จะมาเป็นอาณาจักรศรีโคตรบูร เคยเป็นดินแดนของอาณาจักรฟูนาน ตามจดหมายกรีกกล่าวไว้ว่า อาณาจักรฟูนาน เป็นอาณาจักรที่มีอำนาจแผ่ออกไปกว้างขวางจนถึงแหลมมลายูและพม่า ในพุทธศตวรรษที่ 5-11 ต่อมาเป็นดินแดนของอาณาจักรเจนละ จนถึงพุทธศตวรรษที่ 14 จนกระทั่งต่อมาขอมได้มีอำนาจในแถบลุ่มแม่น้ำโขง จนถึงพุทธศตวรรษที่ 19 ขอมจึงได้เริ่มเสื่อมอำนาจลง ต่อมาพระเจ้าฟ้างุ้มได้รวบรวมหัวเมืองต่าง ๆ ในแถบลุ่มแม่น้ำโขงตั้งขึ้นเป็น "ราชอาณาจักรศรีสัตตนาคนหุตล้านช้าง" ตั้งแต่ปี พ.ศ. 1896 เป็นต้นมา

เมื่อ อาณาจักรศรีสัตตนาคนหุตล้านช้าง มีอำนาจเหนือบริเวณลุ่มแม่น้ำโขง "แคว้นศรีโคตรบูร" ก็เป็นเมืองลูกหลวงเมืองหนึ่งที่มีความเจริญรุ่งเรืองในแถบลุ่มแม่น้ำโขงตอน ใต้ของอาณาจักรล้านช้าง ตามตำนานได้กล่าวไว้ว่า ผู้ครองนครแคว้นศรีโคตรบูร มีนามว่า "พระยาศรีโคตรบอง" เป็นราชบุตรเขยของพระเจ้าล้านช้าง พญาศรีโคตรบองเป็นผู้ที่เข้มแข็งในการออกศึกสงคราม เป็นที่โปรดปราณของกษัตริย์ล้านช้าง จึงได้ให้ตั้งเมืองใหม่ขึ้นที่ริมฝั่งแม่น้ำโขงตอนใต้ จึงได้ขว้างกระบองประจำตัวขึ้นไปในอากาศเพื่อเสี่ยงทายหาที่ตั้งเมืองใหม่ กระบองได้ตกลงแถบบริเวณ "เซบั้งไฟ" ริมฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับอำเภอธาตุพนม แล้วตั้งเมืองใหม่ชื่อว่า "ศรีโคตรบูร" ขึ้นเป็นเมืองลูกหลวงของอาณาจักรล้านช้าง

ต่อมาเมื่อเจ้าผู้ครองเมืองศรีโคตรบูรสวรรคตลง ก็ได้เกิดอาเพศ และเภทภัยต่าง ๆ มากมาย จึงได้ย้ายเมืองศรีโคตรบูรไปตั้งอยู่ริมน้ำหินบูร ตรงข้ามกับอำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม ต่อมาบริเวณที่ตั้งเมืองที่ริมน้ำหินบูรได้ถูกน้ำเซาะตลิ่งโขงพังทลายลง ทุกวัน จึงได้ย้ายเมืองลงไปทางตอนใต้ฝั่งขวาของแม่น้ำโขงบริเวณที่เป็นดงไม้รวก ซึ่งในสมัยโบราณเชื่อว่ามีความอุดมสมบูรณ์ แล้วเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น "มรุกขนคร" ซึ่งหมายถึง ดงไม้รวก

ปี พ.ศ. 2330 พระบรมราชา เจ้าเมืองมรุกขนครได้เห็นว่าการที่เมืองมรุกขนครตั้งอยู่ที่บ้านธาตุน้อยศรี บุญเรือง ริมห้วยบังฮวกมาเป็นเวลาถึง 20 ปี แล้ว นั้น ถูกน้ำเซาะตลิ่งโขงพังและบ้านเรือนราษฎรเสียหาย จึงได้ย้ายเมืองขึ้นไปตั้งทางเหนือตามลำแม่น้ำโขงที่ บ้านหนองจันทร์ ห่างจากจังหวัดนครพนมไปทางใต้ ประมาณ 3 กิโลเมตร

ปี พ.ศ. 2337 ได้เกิดศึกพม่าทางเมืองเชียงใหม่ พระบรมราชาเจ้าผู้ครองเมืองมรุกขนครได้ไปออกศึกในครั้งนี้ด้วย ได้บริโภคผักหวานเบื่อจนถึงแก่อนิจกรรมที่เมืองเถิน ท้าวสุดตา ซึ่งเป็นพี่ชายของพระมเหสีของพระบรมราชา จึงได้นำเครื่องราชบรรณาการลงไปเฝ้า รัชกาลที่ 1 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ท้าวสุดตาเป็นผู้ครองเมืองมรุกขนคร และเปลี่ยนชื่อเมือง จาก "มรุกขนคร" เป็นเมือง "นครพนม" ขึ้นตรงกับกรุงเทพมหานคร ชื่อนครพนมนั้นมีข้อสันนิษฐานไว้ 2 ประการ คือ คำว่า "นคร" หมายถึง เมืองที่เคยเป็นเมืองลูกหลวงมาก่อน และเป็นเมืองที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ ส่วนคำว่า "พนม" ก็มาจาก พระธาตุพนม ปูชนียสถานที่อยู่คู่บ้านคู่เมืองมาช้านาน บางตำราก็ว่า เดิมสมัยประเทศไทยยังไม่เสียดินแดนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงไป สมัยสงครามฝรั่งเศส เมืองมรุกขนคร มีอาณาเขตกินไปถึงดินแดนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง คือ ประเทศลาว ซึ่งมีภูเขาสลับซับซ้อนมากมาย ไปจนถึงดินแดนของเวียดนาม เดิมที่อยู่ทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงตั้งอยู่บริเวณที่มีภูเขาสลับซับซ้อน จึงนำคำว่า "พนม" ซึ่งแปลว่าภูเขามาใช้ ส่วนคำว่า "นคร" เป็นการดำรงชื่อเมืองไว้ คือ เมืองมรุกขนคร จึงนำคำว่าพนม ซึ่งพนมแปลว่าภูเขามาต่อท้ายคำว่านคร เป็น "นครพนม" ซึ่งหมายถึงหมายถึง "เมืองแห่งภูเขา" นั่นเอง

ที่มาของชื่ออาณาจักร

แก้

คำว่า โคตรบูร อาจมาจากภาษาสันสกฤต คือคำว่า โคตะปุระ คำว่า โคตะ แปลว่า ตะวันออก ส่วนคำว่า ปุระ แปลว่า เมืองหรือนคร โคตะปุระจึงหมายถึงเมืองที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกหรือเมืองแห่งดวงอาทิตย์ นักวิชาการบางกลุ่มกลับเห็นว่าอาจมาจากคำว่า สีโคด (ศรีโคตะ) กับคำว่า ปุนยะ (ปุณยะ) รวมกัน นักวิชาการบางกลุ่มเห็นว่า คำว่า โคตร (อ่านว่า โคด-ตะ) อาจมาจากคำว่า โคตมะ อันเป็นพระนามของพระโคตมะพุทธเจ้าซึ่งปรากฏที่มาของนามเมืองนี้ในคัมภีร์อุรังคธาตุนิทาน ตอนพระพุทธเจ้าเสด็จมากล่าวคำวุฒิสวัสดีและรับบิณฑบาตแก่พระยาศรีโคตรบูร นักวิชาการบางกลุ่มเห็นว่า คำว่า โคตร อาจมาจากคำว่า โคตระ หรือ โคตรกระ (อ่านว่า โคด-กะ) อันมีที่มาเชื่อมโยงกับพระนามของกษัตริย์แห่งอาณาจักรที่ทรงมีตระบองขนาดใหญ่เป็นอาวุธ เป็นเหตุให้พระนามและอาณาจักรของพระองค์ถูกเรียกว่า โคตรบอง หรือ โคตรกระบอง เอกสารทางประวัติศาสตร์บางแห่งมีการเรียกชื่อเมืองต่างกันออกไป อาทิ เมืองตะบอง เมืองกะบอง เมืองตะบองขอน เมืองติโคตรบอง และ เมืองติโคตรบูร ส่วนคำว่า บูร นั้น ในเอกสารใบลานจำนวนมากนิยมเขียนทั้งคำว่า บุร บุน และ บอง ยกเว้นจารึกวัดโอกาส (ศรีบัวบาน) ในตัวเมืองจังหวัดนครพนมซึ่งจารึกในสมัยล้านช้างที่เขียนว่า บูร อย่างไรก็ตาม รูปอักขระของคำว่า บุร หรือ บูร ตามหลักการออกเสียงในอักษรธรรมลาว-อีสานโบราณนั้นสามารถอ่านได้ 8 แบบ คือ บุน บูน ปุน ปูน บุระ บูระ ปุระ และ ปูระ จึงทำให้เกิดข้อสันนิษฐานว่า คำว่า บูร เป็นสำเนียงลาวหรือสำเนียงท้องถิ่นที่มาจากการแผลงเสียงของคำว่า ปุระ ในภาษาสันสกฤต ส่วนเอกสารวิชาการบางแห่งที่เขียนคำว่า บูร เป็น บูรณ์ (โคตรบูรณ์) เกิดจากความคลาดเคลื่อนและความเข้าใจผิดของนักวิชาการ เนื่องจากในเอกสารโบราณและจารึกไม่ปรากฏคำว่า บูรณ์ อยู่เลย และคำว่า บูรณ์ นั้นมีความหมายแตกต่างจากคำว่า บูร หรือ ปุระ มาก

ความเห็นของนักวิชาการฝ่ายลาว

แก้

ยุคสมัยของอาณาจักรโคตรบูร

แก้

คำเพา พอนแก้ว นักประวัติศาสตร์ลาวเสนอให้อาณาจักรโคตรบูรจัดอยู่ในยุคประวัติศาสตร์ลาวสมัยกลาง หรือก่อนสมัยอาณาจักรล้านช้าง โดยเรียกชื่อว่า ยุคอ้ายลาวสมัยสีโคดตะบอง ส่วนคำว่า สีโคดตะบูน ให้ใช้เรียกเป็นชื่อเมืองแทน อาณาจักรโคตรบูรถูกจัดให้อยู่ในสมัยสีโคดตะบอง หรือ สมัยสริโคดตะปุระ ก่อน ค.ศ. ถึง ศตวรรษที่ 7 หลัง ค.ศ. ยุคอ้ายลาวสมัยสีโคดตะบองแบ่งออกเป็นสองช่วงใหญ่ คือ

1. ยุคฟูเลียว หรือยุคเมืองลาว

2. ยุคฝูนัน (ฟูนาน) หรือยุคเมืองใต้

คำเพา พอนแก้ว เห็นว่า สีโคดตะบองเป็นชื่อหนึ่งของมหาอาณาจักรในสมัยโบราณที่สำคัญที่สุดบนแหลมอินโดจีน โดยมีศูนย์กลางอยู่บริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำโขงตอนกลางของอาณาจักรลาวล้านช้างโบราณ นับตั้งแต่เมืองท่าแขกถึงเมืองร้อยเอ็ดและจากเมืองเวียงจันทน์ถึงเมืองสุวรรณเขต แต่อาณาเขตของอาณาจักรสามารถแผ่ไปถึงพื้นที่ของเขมร ไทย และส่วนบนสุดของคาบสมุทรมลายู อาณาจักรโคตรบูรมีพื้นที่หน้ากว้างประมาณ 600,000 ตารางกิโลเมตร เมืองร้างสีโคดตะบองตั้งอยู่ลึกเข้าไปในร่องน้ำเซบั้งไฟประมาณ 15 กิโลเมตร ปัจจุบันถูกปกคลุมด้วยป่าดงดิบและยังไม่ได้รับการบูรณะฟื้นฟูจากรัฐบาล บริเวณดังกล่าวถือเป็นศูนย์กลางแห่งแรกของอาณาจักรนี้ คำว่า สีโคดตะบอง เปลี่ยนรูปภาษามาจากคำในภาษาสันสกฤตว่า สริโคดตะปุระ แปลว่า เมืองตะวันออก ต่อมาจึงกลายเป็นคำว่า สีโคดตะบูน และ โคดตะบอง ตามลำดับ อาณาจักรดังกล่าวมีอำนาจเริ่มตั้งแต่ศตวรรษที่ 1 ก่อน ค.ศ. ถึงศตวรรษที่ 6 และปลาย ศตวรรษที่ 7

ชนชาติที่เป็นเจ้าของอาณาจักรโคตรบูร

แก้

หากถือตามคัมภีร์อุรังคธาตุซึ่งเป็นคัมภีร์ที่มีอิทธิพลต่อกลุ่มชนลุ่มน้ำโขงนั้น ถือว่าพวกนาก (นาค) หรือเผ่านากซึ่งหมายถึงชาติพันธุ์ลาวอาจเป็นเจ้าของอาณาจักรโคตรบูร พวกนากหรือลาวอพยพลงมาจากหนองแสหรือหนองกระแสแสนย่านในมณฑลยูนนานของจีนมาตั้งอาณาจักรนี้ หรือไม่เช่นนั้นเจ้าของอาณาจักรโคตรบูรอาจเป็นกลุ่มชนชาติที่ผสมระหว่างชนชาติอ้ายลาวที่ยังหลงเหลือตกค้างอยู่ในแหลมอินโดจีนกับพวกขอมชะวา (ชวา) ที่ยังเหลืออยู่ทางตอนเหนือของลาว ส่วนนักวิชาการสายอีสานบางกลุ่มเห็นว่าอาจเป็นชนชาติข่า แต่นักประวัติศาสตร์บางกลุ่มเห็นว่าชนชาติละว้าอาจเป็นเจ้าของอาณาจักรโคตรบูร แนวคิดหลังนี้ต่อมาไม่ได้รับการยอมรับเท่าที่ควร เนื่องจากชาวละว้าไม่ใช่ชนชาติดั้งเดิมของแผ่นดินแถบที่ราบลุ่มแม่น้ำโขง แต่หากพิจารณาตามพุทธลักษณะของพระพุทธรูปในสมัยสีโคดตะบองแล้วจะมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับลักษณะหน้าตาของชนชาติลาวในปัจจุบันมากกว่าชนชาติอื่น นักวิชาการบางกลุ่มเห็นว่าอาณาจักรโคตรบูรเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับอาณาจักรฟูนานที่ปรากฏในจดหมายเหตุของจีน และหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของอาณาจักรฟูนานส่วนมากได้มาจากจดหมายเหตุของจีน คำว่า ฟูนาน ตรงกับคำว่า พะนม (พนม) แปลว่า เมืองแห่งภูดอย แนวคิดดังกล่าวทำให้เกิดข้อสันนิษฐานทางประวัติศาสตร์ในช่วงปลาย พ.ศ. ๒๔๐๐ ถึง ต้น พ.ศ. ๒๕๐๐ ว่าศูนย์กลางพระพุทธศาสนาของอาณาจักรโคตรบูรอาจมีความเจริญรุ่งเรืองอยู่บริเวณธาตุพนมและแขวงคำม่วนของลาว

ความสัมพันธ์ระหว่างอาณาจักรโคตรบูรกับอาณาจักรฟูนาน

แก้

หลักฐานที่ทำให้นักวิชาการบางกลุ่มเข้าใจว่าอาณาจักรโคตรบูรมีความสัมพันธ์ และอาจเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับอาณาจักรฟูนานมีอยู่หลายประการ ดังนี้

ประการที่ 1 จดหมายเหตุจีนแห่งราชวงศ์เหลียงกล่าวว่า อาณาจักรฟูนานมีแม่น้ำสายใหญ่ไหลผ่านผ่าตรงกลางอาณาจักรจากทางทิศตะวันตก และแม่น้ำโขงหรือน้ำของบริเวณนครเวียงจันทน์-เมืองท่าแขก ก็มีลักษณะไหลผ่านผ่ากลางมาทางทิศตะวันตกของอาณาจักรโคตรบูรเช่นกัน

ประการที่ 2 บริเวณเมืองท่าแขกซึ่งเคยเป็นศูนย์กลางอาณาจักรโคตรบูรเต็มไปด้วยเทือกเขาหรือสายภูที่สูงชันสลับซับซ้อนจำนวนมาก และภูเขาดังกล่าวมีลักษณะเป็นป่าหินหรือเทือกเขาหินปูน (ลาวเรียก หินปูน) คล้ายคลึงกับลักษณะภูมิประเทศของอาณาจักรฟูนาน

ประการที่ 3 มีนักประวัติศาสตร์-ภูมิศาสตร์หลายคนเห็นว่า บริเวณปากแม่น้ำโขงในสมัย 3,000 ปีก่อนอาจตั้งอยู่บริเวณน้ำตกหลี่ผีในแขวงสีทันดอน (สี่พันดอน) ของลาว แต่เมื่อสภาพดินฟ้าอากาศเปลี่ยนแปลงปากแม่น้ำโขงจึงย้ายไปยังบริเวณกาตุยจังหน้าเมืองพนมเป็ญเมืองหลวงของกัมพูชาแล้วย้ายลงไปทางใต้อีกในสมัยต่อมา อันเนื่องมาจากสาเหตุที่น้ำทะเลได้เหือดแห้งลงจากยุคก่อน ปากแม่น้ำโขงบริเวณหลี่ผีของลาวจึงน่าจะเป็นที่ส่วนหนึ่งของอาณาจักรโคตรบูร-ฟูนาน

ประการที่ 4 หลักฐานทางโบราณวัตถุและโบราณคดี ตลอดจนรูปแบบสถาปัตยกรรมต่าง ๆ อาทิ พระธาตุพนม พระธาตุอิงฮัง เป็นต้น มีลักษณะทางศิลปกรรมที่สัมพันธ์กันกับกลุ่มศิลปะยุคอันทระซึ่งเป็นกลุ่มศิลปะยุคหลังของอินเดียใต้ในช่วงศตวรรษที่ 1-6 ลักษณะทางศิลปกรรมดังกล่าวเป็นลักษณะของศิลปะอาณาจักรฟูนานด้วย

ประการที่ 5 เรื่องราวของอาณาจักรโคตรบูรมีความเกี่ยวพันกันกับวิถีชีวิตของคนลาวทั้งสองฝั่งแม่น้ำโขง จนกลายเป็นตำนานหรือนิทานเรื่องพระยาสีโคดตะบองแรงช้างสาร นิทานดังกล่าวเล่าสืบต่อมาเป็นมุขปาฐะหลายยุคหลายสมัย และมีการจดบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรในลักษณะตำนานพระพุทธศาสนา วรรณกรรมชาดก และวรรณกรรมแฝงประวัติศาสตร์ด้วย ชาวลาวเชื่อว่าตำนานปรัมปราดังกล่าวมีความสัมพันธ์กับตำนานการสร้างปราสาทวัดภูที่แขวงจำปาศักดิ์ ในศตวรรษที่ 8 ซึ่งมีลักษณะทางศิลปกรรมแบบขอมมากกว่ากลุ่มพระธาตุพนมและพระธาตุอิงฮัง ตำนานยังกล่าวถึงเรื่องราวของพระยากำมะทาทรงเป็นผู้นำบุรุษสร้างปราสาทวัดภูเพื่อแข่งขันกับสตรีสร้างพระธาตุพนม ผลปรากฏว่าพระธาตุพนมสร้างเสร็จก่อนเป็นเหตุให้พระยากำมะทาทรงทุบพระอุระสิ้นพระชนม์ ลักษณะเนื้อหาดังกล่าวอาจสะท้อนความสัมพันธ์ทางวิทยาการของชนชาติลาวและชนชาติขอม ตลอดจนการแข่งขันอำนาจทางการเมืองของทั้งสองชนชาติในอาณาจักรโคตรบูร-ฟูนาน

ประการที่ 6 ชื่อเมืองท่าแขกอันมาจากคำว่า ท่าของแขกคน (ท่าน้ำโขง-แขกคน) ในปัจจุบันทำให้เกิดความเข้าใจโดยทั่วไปของชาวลาวสองฝั่งโขงว่า บริเวณดังกล่าวเคยเป็นเมืองท่าสำคัญและเป็นสถานที่พ่อค้าต่างชาติโดยเฉพาะแขกหรือชาวอินเดียเดินทางมาค้าขาย

ปัญหาด้านการศึกษา

แก้

ในราว 30 ปีมานี้มีนักวิชาการบางกลุ่มเคยเข้าใจผิดพลาดเกี่ยวกับอาณาจักรโคตรบูรหลายประเด็น นักวิชาการบางกลุ่มเคยเข้าใจว่ากลุ่มอารยธรรมของอาณาจักรโคตรบูรเป็นอันเดียวกันกับอารยธรรมของอาณาจักรทวารวดีและตกอยู่ภายใต้อิทธิพลทางศิลปกรรมของอาณาจักรทวารวดี แต่จากการตรวจสอบหลักฐานทางโบราณคดีและหลักฐานทางเอกสารโดยเฉพาะคัมภีร์ท้องถิ่นของอีสานและลาวกลับพบว่า อาณาจักรทวารวดีเคยตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของอาณาจักรสาเกตนครในแถบลุ่มน้ำชี-มูล ซึ่งอาณาจักรสาเกตนครเป็นอาณาจักรที่ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของอาณาจักรโคตรบูร ดังนั้นอารยธรรมในแถบอีสานตอนกลาง อีสานใต้ และแอ่งโคราชจึงน่าจะได้รับอิทธิพลจากอารยธรรมบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำโขงมากกว่าลุ่มน้ำเจ้าพระยา จากนั้นจึงพัฒนาไปเป็นอารยธรรมแถบรอยต่อของแอ่งโคราชกับลุ่มน้ำเจ้าพระยา และจากการตรวจสอบยุครอยต่อทางอารยธรรมของเมืองโบราณและแหล่งขุดค้นทางโบราณคดีสมัยอาณาจักรโคตรบูรทั่วภาคอีสานและลาว มักค้นพบอารยธรรมประเภทที่ยังไม่ได้รับอิทธิพลจากอินเดียสมัยราชวงศ์คุปตะและหลังคุปตะซ้อนอยู่ในตัวเมืองโบราณและรอบอาณาบริเวณเหล่านั้น ซึ่งได้แก่ หลักหินหรือหินตั้ง ฆ้องบั้ง กลองกบ ตั่งหินหรือหินสลักลายดาวหรือดวงตะวัน ไหดินเผาเขียนลายขด เป็นต้น จึงทำให้เชื่อแน่ว่าอาณาจักรโคตรบูรถือกำเนิดก่อนสมัยพุทธกาล โดยเชื่อมต่อกับอารยธรรมสมัยก่อนประวัติศาสตร์ด้วย อีกทั้งยังมีพัฒนาการการก่อกำเนิดก่อนอาณาจักรทวารวดีในแถบลุ่มน้ำเจ้าพระยาวราว 10-12 พุทธศตวรรษ อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีนักวิชาการคนใดออกมากล่าวชี้แจงและนำเสนอถึงความผิดพลาดด้านการศึกษาดังกล่าว

ศาสนาและลัทธิ

แก้

อาณาจักรโคตรบูรนับถือพระพุทธศาสนาซึ่งมีทั้งพระพุทธศาสนาแบบเถรวาท และพระพุทธศาสนาแบบมหายาน รวมไปถึงพระพุทธศาสนานิกายตันตระยานหรือวัชรญาน ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ศาสนาผีแถน-ผีบรรพบุรุษ และลัทธินับถือนาค มีการสร้างพระเจดีย์สำคัญเป็นสัญลักษณ์ของอาณาจักร คือ พระธาตุพนม ในอำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม นอกจากนี้ยังมีพระธาตุโพนจิกเวียงงัว พระธาตุหล้านองหรือพระธาตุกลางน้ำ ในจังหวัดหนองคาย พระธาตุนารายณ์เจงเวง พระธาตุภูเพ็ก พระธาตุดุม ในจังหวัดสกลนคร พระธาตุขามแก่น ในจังหวัดขอนแก่น พระธาตุยาคู ในจังหวัดกาฬสินธุ์ พระธาตุนาดูน ในจังหวัดมหาสารคาม พระธาตุหนองสามหมื่น ในจังหวัดชัยภูมิ พระธาตุศรีโคตรบอง พระธาตุตุ้มพะวัง ในแขวงคำม่วน พระธาตุอิงฮัง ในแขวงสุวรรณเขต พระธาตุหลวงหรือพระธาตุโลกะจุลามะนี ในแขวงเวียงจันทน์ พระธาตุกะเดาทึก พระธาตุหงทอง ในแขวงสาละวัน เป็นต้น อีกทั้งมีการสร้างรอยพระพุทธบาทกระจายอยู่หลายแห่ง อาทิ พระพุทธบาทบัวบก พระพุทธบาทบัวบาน ในจังหวัดอุดรธานี พระพุทธบาทเวินปลา ในอำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม พระพุทธบาทภูน้ำลอดเชียงชุมหรือพระธาตุเชิงชุม ในจังหวัดสกลนคร พระพุทธบาทโพนสัน ในเมืองท่าพระบาท แขวงบอลิคำไซ เป็นต้น นอกจากนี้ อาณาจักรศรีโคตรบูรยังมีการสร้างพระพุทธรูปที่สำคัญและเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตนไว้หลายแห่ง อาทิ กลุ่มพระพุทธรูปวังช้าง ในเมืองโพนโฮง แขวงเวียงจันทน์ พระพุทธรูปองค์ตื้อ บนภูพระในจังหวัดชัยภูมิ พระพุทธไสยาสน์ภูปอ บนพุทธสถานภูปอในจังหวัดกาฬสินธุ์ พระพุทธรูปมิ่งเมือง ในอำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม เป็นต้น ลักษณะทางศิลปกรรมดังกล่าวนี้มีความแตกต่างจากกลุ่มวัฒนธรรมแบบทวารวดีอย่างเห็นได้ชัด

ศูนย์กลางอาณาจักร

แก้

อาณาจักรโคตรบูรมีศูนย์กลางชื่อว่า เมืองศรีโคตบูร หรือ เมืองศรีโคตโม หรือ เมืองศรีโคตรบอง ในเอกสารพื้นเวียงจันทน์เรียกว่า เมืองสิทธิโคตรบูรหลวง ตั้งอยู่บริเวณตรงข้ามกับตัวอำเภอธาตุพนม ลึกเข้าไปจากปากน้ำเซบั้งไฟ เมืองเซบั้งไฟ แขวงคำม่วนต่อกับแขวงสุวรรณเขตไม่มากนัก ปัจจุบันค้นพบซากเมืองโบราณในบริเวณดังกล่าวมากกว่า 3 แห่ง อาทิ เมืองโบราณตุ้มพะวังฟ้าฮ่วน เมืองโบราณขามแทบ เป็นต้น อีกทั้งมีการค้นพบภาชนะเครื่องใช้ เครื่องทอง และแผ่นเงิน-แผ่นทองคำดุนลายจำนวนมาก ต่อมาอาณาจักรโคตรบูรย้ายศูนย์กลางมาที่ปากห้วยเซือมและปากห้วยบังฮวกตอนเหนือของพระธาตุพนมในอำเภอธาตุพนม โดยมีชื่อว่า เมืองมรุกขนคร หรือ เมืองลุกขานคร นักประวัติศาสตร์เชื่อตามคำภีร์อุรังคธาตุว่าเมืองมรุกขนครตั้งเมืองอยู่บริเวณดงต้นรวก (ลาวเรียกว่าไผ่ฮวก) และดงต้นรัง เดิมนักวิชาการบางกลุ่มสันนิษฐานว่าบริเวณดังกล่าวอาจมีสัตว์ตระกูลกวางและเก้งหรือฟานอาศัยอยู่จำนวนมาก ทำให้เกิดข้อสันนิษฐานว่า คำว่า มรุกขนคร อาจมาจากคำว่า มฤคนคร แต่จากการตรวจสอบชื่อเมืองในใบลานเรื่องอุรังคธาตุนิทาน ตำนานพระธาตุพนม สังกาดธาตุพนม และพื้นธาตุหัวอก จำนวน 16 ฉบับ พบว่าชื่อมรุกขนครเป็นคำบาลีสำเนียงลาวที่แผลงมาจากคำว่า รุกขนคร เอกสารบางฉบับเขียนว่า รุกขานคร ซึ่งหมายถึงเมืองที่ตั้งอยู่ท่ามกลางป่าไม้ พื้นที่ศูนย์กลางของอาณาจักรในยุคนี้มีการค้นพบใบเสมาบริเวณวัดหลักศิลามงคล ตำบลพระกลาง ใบเสมาบ้านดงยอ ตำบลนาถ่อน ใบเสมาและหินตั้งในตัวเมืองธาตุพนมกระจายอยู่จำนวนมาก ตลอดจนซากเมืองโบราณ ศาสนสถานโบราณ และหลักฐานทางโบราณคดีต่าง ๆ ซึ่งปะปนอยู่กับหลักฐานทางโบราณคดีสมัยขอมและสมัยล้านช้างที่บ้านดอนนางหงส์ท่า บ้านดงกลอง บ้านหนองสะโน บ้านนาแก บ้านนาถ่อนทุ่ง บ้านธาตุน้อยศรีบุญเรือง บ้านพระกลางทุ่ง และตำบลอุ่มเหม้า ในอำเภอธาตุพนม จากนั้นอาณาจักรโคตรบูรย้ายศูนย์กลางไปบริเวณปากห้วยสีมังตอนใต้เมืองท่าแขก ใกล้กับที่ตั้งของพระธาตุศรีโคตรบอง และบริเวณปากห้วยหินบูน เมืองหินบูน แขวงคำม่วน ตรงข้ามกับพระพุทธบาทเวินปลา บ้านเวินพระบาท ในอำเภอท่าอุเทน บนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง ซึ่งบริเวณใกล้เคียงยังปรากฏซากเมืองโบราณชื่อว่าเมืองอารันรัจจานาและเวียงสุลินอยู่ด้วย บริเวณดังกล่าวปรากฏหลักฐานทางโบราณคดีเป็นซากศาสนสถานจำนวน 13 แห่ง

อาณาจักรโคตรบูรมีศูนย์กลางชื่อว่า เมืองศรีโคตบูร หรือ เมืองศรีโคตโม หรือ เมืองศรีโคตรบอง ในเอกสารพื้นเวียงจันทน์เรียกว่า เมืองสิทธิโคตรบูรหลวง ตั้งอยู่บริเวณตรงข้ามกับตัวอำเภอธาตุพนม ลึกเข้าไปจากปากน้ำเซบั้งไฟ เมืองเซบั้งไฟ แขวงคำม่วนต่อกับแขวงสุวรรณเขตไม่มากนัก ปัจจุบันค้นพบซากเมืองโบราณในบริเวณดังกล่าวมากกว่า 3 แห่ง อาทิ เมืองโบราณตุ้มพะวังฟ้าฮ่วน เมืองโบราณขามแทบ เป็นต้น อีกทั้งมีการค้นพบภาชนะเครื่องใช้ เครื่องทอง และแผ่นเงิน-แผ่นทองคำดุนลายจำนวนมาก ต่อมาอาณาจักรโคตรบูรย้ายศูนย์กลางมาที่ปากห้วยเซือมและปากห้วยบังฮวกตอนเหนือของพระธาตุพนมในอำเภอธาตุพนม โดยมีชื่อว่า เมืองมรุกขนคร หรือ เมืองลุกขานคร นักประวัติศาสตร์เชื่อตามคำภีร์อุรังคธาตุว่าเมืองมรุกขนครตั้งเมืองอยู่บริเวณดงต้นรวก (ลาวเรียกว่าไผ่ฮวก) และดงต้นรัง เดิมนักวิชาการบางกลุ่มสันนิษฐานว่าบริเวณดังกล่าวอาจมีสัตว์ตระกูลกวางและเก้งหรือฟานอาศัยอยู่จำนวนมาก ทำให้เกิดข้อสันนิษฐานว่า คำว่า มรุกขนคร อาจมาจากคำว่า มฤคนคร แต่จากการตรวจสอบชื่อเมืองในใบลานเรื่องอุรังคธาตุนิทาน ตำนานพระธาตุพนม สังกาดธาตุพนม และพื้นธาตุหัวอก จำนวน 16 ฉบับ พบว่าชื่อมรุกขนครเป็นคำบาลีสำเนียงลาวที่แผลงมาจากคำว่า รุกขนคร เอกสารบางฉบับเขียนว่า รุกขานคร ซึ่งหมายถึงเมืองที่ตั้งอยู่ท่ามกลางป่าไม้ พื้นที่ศูนย์กลางของอาณาจักรในยุคนี้มีการค้นพบใบเสมาบริเวณวัดหลักศิลามงคล ตำบลพระกลาง ใบเสมาบ้านดงยอ ตำบลนาถ่อน ใบเสมาและหินตั้งในตัวเมืองธาตุพนมกระจายอยู่จำนวนมาก ตลอดจนซากเมืองโบราณ ศาสนสถานโบราณ และหลักฐานทางโบราณคดีต่าง ๆ ซึ่งปะปนอยู่กับหลักฐานทางโบราณคดีสมัยขอมและสมัยล้านช้างที่บ้านดอนนางหงส์ท่า บ้านดงกลอง บ้านหนองสะโน บ้านนาแก บ้านนาถ่อนทุ่ง บ้านธาตุน้อยศรีบุญเรือง บ้านพระกลางทุ่ง และตำบลอุ่มเหม้า ในอำเภอธาตุพนม จากนั้นอาณาจักรโคตรบูรย้ายศูนย์กลางไปบริเวณปากห้วยสีมังตอนใต้เมืองท่าแขก ใกล้กับที่ตั้งของพระธาตุศรีโคตรบอง และบริเวณปากห้วยหินบูน เมืองหินบูน แขวงคำม่วน ตรงข้ามกับพระพุทธบาทเวินปลา บ้านเวินพระบาท ในอำเภอท่าอุเทน บนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง ซึ่งบริเวณใกล้เคียงยังปรากฏซากเมืองโบราณชื่อว่าเมืองอารันรัจจานาและเวียงสุลินอยู่ด้วย บริเวณดังกล่าวปรากฏหลักฐานทางโบราณคดีเป็นซากศาสนสถานจำนวน 13 แห่ง

ประเภทของศิลปกรรมแบบศรีโคตรบูร

แก้

1. ศิลปะศรีโคตรบูรแบบลาวเดิมหรือแบบลาวแท้

2. ศิลปะศรีโคตรบูรแบบอิทธิพลศิลปะจาม

3. ศิลปะศรีโคตรบูรแบบอิทธิพลศิลปะขอม

4. ศิลปะศรีโคตรบูรแบบพิเศษหรือแบบผสมผสาน

5. ศิลปะศรีโคตรบูรแบบอิทธิพลศิลปะลาวล้านช้าง

6. ศิลปะศรีโคตรบูรแบบอิทธิพลศิลปะกลุ่มสาเกตนครและอีสานใต้

7. ศิลปะศรีโคตรบูรแบบอิทธิพลศิลปะทวาราวดีกลุ่มกุลุนทนคร

8. ศิลปะศรีโคตรบูรแบบอิทธิพลศิลปะทวาราวดีกลุ่มลุ่มน้ำเจ้าพระยา

อักษรและภาษา

แก้

มีหลักฐานทางโบราณคดีปรากฏชัดเจนว่าอาณาจักรโคตรบูรใช้อักษรปัลลวะ อักษรหลังปัลวะ และอักษรขอมโบราณในการจารึกหลักหิน หลักศิลา อิฐเผา และใบเสมา โดยใช้ทั้งภาษาสันสกฤต ภาษาบาลี ภาษาเขมร และภาษาลาวมอน (ไทยเรียก ภาษามอญโบราณ) การใช้อักษรและภาษาดังกล่าวปรากฏอยู่ทั่วไปในสองฝั่งแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นลักษณะร่วมกันกับกลุ่มเมืองโบราณต่าง ๆ ในแถบลุ่มน้ำมูลและน้ำชี จากนั้นพบว่าก่อนการล่มสลายของอาณาจักรหรือช่วงก่อนการสถาปนาอาณาจักรล้านช้างของสมเด็จพระเจ้าฟ้างุ้ม (ครองราชย์ พ.ศ. 1896-1915) อาณาจักรโคตรบูรได้มีการใช้อักษรธรรมลาวโบราณซึ่งมีลักษณะทางอักขระวิธีร่วมกันกับอักษรปัลลวะในการจารึกหลักศิลา อายุของจารึกปรากฏจุลศักราช 314 (พ.ศ. 1495) หรือราวปลายพุทธศตวรรษที่ 14 ก่อนสถาปนาอาณาจักรล้านช้างราว 4-5 พุทธศตวรรษ แต่อาจมีอายุน้อยกว่าการเข้ามาของอักษรปัลวะในแถบลุ่มน้ำโขง โดยจารึกดังกล่าวใช้ภาษาลาว-ปาลี อีกทั้งมีหลักฐานว่าอาณาจักรโคตรบูรได้มีการใช้อักษรลาวเดิมหรืออักษรลาวเก่าจารึกหลักศิลาในช่วงก่อนการล่มสลายของอาณาจักรไม่เกินสองร้อยปีซึ่งปรากฏในจารึกวัดร้างบ้านแร่ เมืองสกลนครด้วย การใช้อักษรลาวเดิมหรืออักษรลาวเก่านี้นักวิชาการบางกลุ่มสันนิษฐานว่า อาจพัฒนามาจากการใช้อักษรธรรมลาวโบราณที่ปรากฏในจารึกศิลาเลกรอบระเบียงวัดพระธาตุหลวงหรือจารึกจันทะปุระ เลขทะเบียน ທຫຼI/13 หรือไม่ก็พัฒนามาจากอักษรลาวเดิมที่ปรากฏในผนังถ้ำนางอั๋น เมืองจอมเพ็ด และจารึกวัดวิชุน เมืองหลวงพระบาง ซึ่งเป็นอักษรที่รับอิทธิพลโดยตรงจากชนชาติลาว การรับอักษรดังกล่าวจากชนชาติลาวซึ่งอพยพมาจากอาณาจักลาวเดิมที่ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของจีน อาจแสดงให้เห็นว่าอาณาจักรโคตรบูรกำลังเสื่อมอำนาจลง โดยกลุ่มอำนาจใหม่นั้นมาจากทางตอนเหนือของอาณาจักร แต่นักวิชาการบางกลุ่มกลับเห็นว่าการเสื่อมอำนาจของอาณาจักรอาจเริ่มจากกลุ่มอำนาจใหม่ทางตอนใต้คือกลุ่มอาณาจักรกัมพูชา

ยุคสมัยของอาณาจักร

แก้

อาณาจักรโคตรบูรยุคก่อนพุทธกาล

แก้

ในขอบข่ายอำนาจของอาณาจักรอ้ายลาวสมัยสีโคดตะบองได้เกิดความเคลื่อนไหวทางกลุ่มอำนาจของนครรัฐขึ้นลงอยู่ตลอดเวลา บางครั้งอาจมีการรวมตัวกันอย่างหลวม ๆ หรือมีการแยกอำนาจขาดจากกันอย่างนครรัฐแบบเบ็ดเสร็จ แต่บรรดาอาณาจักรที่มีความเข้มแข็งและสามารถดำรงเอกภาพอยู่ได้ของชนชาติลาวมาจนถึงสมัยก่อนสถาปนาอาณาจักรล้านช้างก็คือ อาณาจักรอ้ายลาวหนองแสและอาณาจักรโคตรบูร พื้นที่ครอบคลุมของอาณาจักรโคตรบูรทั้งในลุ่มแม่น้ำโขง-ชี-มูล ปรากฏซากเมืองโบราณมากกว่า 240 แห่ง บางเมืองได้รับการประเมินว่าสามารถบรรจุคนได้มากถึง 10,000-100,000 คน นักโบราณคดีเชื่อว่ากลุ่มเมืองเหล่านี้มีหลักฐานชี้ให้เห็นว่าถูกสร้างขึ้นก่อนที่อาณาจักรโคตรบูรจะได้รับอิทธิพลจากอารยธรรมอินเดียมากกว่า 1,000 ปี ซึ่งอารยธรรมอินเดียได้เข้าสู่อาณาจักรโคตรบูรในช่วงก่อนที่ศาสนาพุทธ-พราหมณ์จะขยายตัว แลเมืองเหล่านี้ถูกสร้างขึ้นในยุคก่อนศาสนาพราหมณ์จะขยายตัวเข้าสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีพัฒนาการมาจากยุคสัมฤทธิ์และยุคเหล็ก เนื่องจากบริเวณตัวเมืองและรอบตัวเมืองเหล่านี้ได้มีการค้นพบเครื่องมือเครื่องใช้ที่ทำจากเหล็กและสำริดหลายแห่ง โดยประเมินอายุว่าไม่น่าต่ำกว่า 2,500 ปี มาแล้ว บางเมืองยังมีการพบหลักฐานว่าถูกใช้เป็นพื้นที่ในการทำนาปลูกข้าวเหนียว โดยสร้างเป็นตารางสี่เหลี่ยมขนาดกว้างยาวเท่ากัน นักวิชการบางกลุ่มสันนิษฐานว่าอาจเป็นพื้นที่กรรมสิทธิ์ของผู้ปกครองนครรัฐ นอกจากนี้แต่ละเมืองยังค้นพบการสร้างกำแพงเวียงหลายรูปแบบ มีการสร้างประตูเวียง ป้อมปราการ และนอกกำแพงเวียงก็ยังมีการขุดคูน้ำล้อมรอบ หรือขยายกำแพงเวียงซ้อนกันมากกว่า 2 ชั้นด้วย หลายนครรัฐในเครือข่ายอำนาจอาณาจักรโคตรบูรยุคก่อนพุทธกาลได้ปรากฏชื่ออยู่ในตำนานโบราณหลายแห่งของลาวและอีสาน ดังนี้

เมืองตาเนน ในอำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด

เมืองสามแท (เมืองขามแทบ) ในบริเวณเซบั้งไฟ แขวงคำม่วน

เมืองฟ้าแดด ในจังหวัดกาฬสินธุ์

เมืองสูงยาง (เมืองสงยาง) ในจังหวัดกาฬสินธุ์

เมืองเชียงทอง ในแขวงหลวงพระบาง

เมืองพาน (เมืองสุวัณณภูมิ) ในจังหวัดอุดรธานี

เมืองบัวบาน (เมืองหล้าน้ำ) ในจังหวัดหนองคาย

เมืองลวง ในแขวงเวียงจันทน์

เมืองสีโคด ในเมืองพูวิน (หินบูน) แขวงคำม่วน

เมืองหนองหานหลวง ในจังหวัดสกลนคร

เมืองหนองหานน้อย ในจังหวัดอุดรธานี

เมืองพูกูด ในตอนเหนือแขวงเวียงจันทน์

เมืองสีแก้ว ในจังหวัดร้อยเอ็ด

เมืองเชียงเหียน ในจังหวัดมหาสารคาม

เมืองฮ้อยเอ็ด (เมืองสาเกด) ในจังหวัดร้อยเอ็ด

การเรืองอำนาจ

แก้

อาณาจักรโคตรบูรเรืองอำนาจมากในสมัย 5 รัชกาล คือ สมัยพระยาศรีโคตรบอง พระยานันทเสน พระยาสุมิตตะธัมมะวงศาเอกราชามรุกขนคร และพระยาสุบินราช (ราวก่อนพุทธศตวรรษ-พุทธศตวรรษที่ 8) เอกสารอุรังคธาตุบางสำนวนกล่าวว่ากษัตริย์แห่งศรีโคตรบูรปกครองอาณาจักรมาได้ ๕ พระองค์ บางสำนวนกล่าวว่า ๖ พระองค์ บางสำนวนกล่าวว่า ๗ พระองค์ จากนั้นอาณาจักรโคตรบูรจึงตกอยู่ในอิทธิพลของอาณาจักรเจนละ ส่วนพงศาวดารล้านช้างแสดงให้เห็นว่าหลังจากอาณาจักรโคตรบูรตกอยู่ในอำนาจขอมแล้วได้สืบกษัตริย์มาได้อีก ๘ พระองค์จึงถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรล้านช้าง โดยเฉพาะรัชกาลของพระยาสุมิตตะธัมมวงศาเอกะราชามรุกขนครนั้น ถือเป็นช่วงที่อาณาจักรสาเกตนครหรืออาณาจักรร้อยเอ็ดและอาณาจักรทวาราวดีหรืออาณาจักรกุลุนทนครเริ่มเสื่อมอำนาจลงจากการเมืองภายใน เป็นเหตุให้ชนชั้นสูงและประชาชนจากอาณาจักรทั้งสองแห่งตกอยู่ภายใต้อำนาจของอาณาจักรโคตรบูรซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองมรุกขนคร จากหลักฐานลายลักษณ์อักษรในคัมภีร์อุรังคธาตุมากกว่า 20 สำนวน แสดงให้เห็นว่า กลุ่มเมืองโบราณแถบลุ่มน้ำชี-น้ำมูล กลุ่มเมืองโบราณแถบแอ่งสกลนคร และกลุ่มเมืองโบราณแถบที่ราบเวียงจันทน์-หนองคาย ได้มีการอพยพผู้คนจำนวนมากเข้ามาอยู่ภายใต้การปกครองของอาณาจักรโคตรบูร และยังพบว่ากลุ่มเมืองโบราณแถบเทือกเขาดงพระยาเย็น คือ เมืองโบราณเสมา เมืองโบราณทวาราวดี-นครจันทึก เคยตกอยู่ภายใต้อำนาจทางการเมืองของอาณาจักรโคตรบูร นักวิชาการบางกลุ่มเห็นว่าอำนาจของอาณาจักรโคตรบูรแผ่เข้ามาถึงภาคกลางของไทยโดยเฉพาะที่จังหวัดพิจิตรนั้นมีหลักฐานทางความเชื่อเกี่ยวกับกษัตริย์แห่งศรีโคตรบูร ในพงศาวดารเหนือได้แสดงเรื่องราวความสัมพันธ์ทางเครือญาติระหว่างกษัตริย์แห่งศรีโคตรบูรกับกลุ่มเจ้าเมืองสุโขทัยในราชวงศ์พระร่วงและเจ้าเมืองอยุธยาตอนต้น ส่วนนักวิชาการสายอีสานบางกลุ่มเห็นว่าอาณาจักรโคตรบูรมีอำนาจแผ่ไปจนถึงคาบสมุทรมลายูและบางส่วนของประเทศพม่าทีเดียว

การล่มสลาย

แก้

อาณาจักรโคตรบูรเริ่มเสื่อมอำนาจลงในสมัยพระยานิรุฏฐราช อำนาจของอาณาจักรสิ้นสุดลงเมื่อถูกอาณาจักรล้านช้างของลาวซึ่งนำโดยสมเด็จพระเจ้าฟ้างุ้มแถลงหล้าธรณีมหาราชโจมตีและเกิดโรคระบาด พระองค์ได้ส่งนายทหารคนสำคัญมาเป็นเจ้าปกครองอาณาจักรโคตรบูร และมอบอำนาจให้เจ้าเมืองศรีโคตรบูรปกครองหัวเมืองลาวฝ่ายใต้ตั้งแต่ตอนใต้ของเวียงจันทน์ไปจนถึงดินแดนจำปาศักดิ์จรดแดนกัมพูชา จากนั้นพระมหากษัตริย์เวียงจันทน์มักจะส่งพระบรมวงศานุวงศ์ให้มาปกครองเมืองศรีโคตรบูรจนอาณาจักรโคตรบูรได้รับการสถาปนาขึ้นใหม่ในฐานะนครประเทศราชที่ชื่อว่า เมืองละครหรือเมืองนครบุรีราชธานีศรีโคตรบูรหลวง และตกอยู่ภายใต้การปกครองของราชอาณาจักรเวียงจันทน์หลังการสถาปนาราชวงศ์เวียงจันทน์ของสมเด็จพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชที่ 2 (พระไชยองค์เว้, ครองราชย์ พ.ศ. 2241-2273) จึงนับว่าพระมหากษัตริย์แห่งราชอาณาจักรลาวทั้ง 3 อาณาจักรในสมัยหลังรัชกาลสมเด็จพระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราชทุกพระองค์ได้สืบเชื้อสายจากเจ้าเมืองศรีโคตรบูรผ่านทางพระวรปิตาพระยาราชานคร (ครองราชย์ พ.ศ. 2139-2140) อีกด้วย

ลำดับกษัตริย์อาณาจักรโคตรบูร

แก้

สมัยเรืองอำนาจ (ก่อนพุทธศตวรรษถึงศตวรรษที่ 6)

แก้

1. พระยาศรีโคตรบูร หรือพระยาศรีโคตรบอง

2. พระยานันทเสนา หรือพระยานันทเสน ผู้ร่วมสร้างพระธาตุพนม

3. พระยานางเทวบุปผาเทวี รักษาราชการ

4. พระยามรุกขนคร ย้ายราชธานีจากเมืองศรีโคตรบูรไปเมืองมรุกขนคร

5. พระยาสุมิตตะธัมมะวงสา หรือพระยาสุมิตตะธัมมะวงสาเอกะราชามรุกขนคร

6. พระยาสุมินทราช หรือพระยาสุบินราช

7. พระยาทุฏฐคามนี

8. พระยานิรุทราช หรือพระยารุทธราช

สมัยอิทธิพลขอม (ก่อนพุทธศตวรรษที่ 19)

แก้

1. พระยากะบองที่ 1

2. พระยากะบองที่ 2

3. พระยากะบองที่ 3

4. พระยากะบองที่ 4

5. พระยากะบองที่ 5

6. พระยากะบองที่ 6

7. พระยากะบองที่ 7 หรือพระยานันทเสน หรือพระยาแปดบ่อ หรือพระยาสามคอ หรือพระยาสามล้าน

8. พระยากะบองที่ 8 พระอนุชาพระยานันทเสน

9. พระยากะบองที่ 9 หรือเจ้าโคตะ หรือเจ้าสีโคต พระราชโอรสพระเจ้ารามบัณฑิต ย้ายราชธานีไปเมืองเก่าท่าแขก

สมัยอาณาจักรล้านช้าง (ปลายพุทธศตวรรษที่ 18-22)

แก้

1. หมื่นกะบอง หรือบาเสียม ต่อมาได้เป็นเจ้าหัวเศิกปกครองหัวเมืองลาวตั้งแต่เมืองพระน้ำฮุ่งเชียงสาถึงแดนจาม

2. พระยาหมื่นบ้าน หรือท้าวลือชัย ต่อมาได้เป็นกษัตริย์หลวงพระบาง

3. ท้าวหมื่นหลวง

4. ท้าวก้อนคำ

5. พระยาแสนหลวงล้านช้าง

6. แสนนคร

7. พระยานคร เคยรักษาเมืองเชียงใหม่อยู่ระยะเวลาหนึ่ง

8. พระยานคร หรือแสนช้างถ่าว

9. พระยานคร ผู้ลอบปลงพระชนม์สมเด็จพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชที่ ๑ มหาราช

10. พระยานครน้อย

11. พระวรปิตาพระยาราชานคร ต่อมาได้เป็นกษัตริย์เวียงจันทน์

12. พระยามหานาม หรือพระเจ้าบัณฑิตโพธิศาลราช ต่อมาได้เป็นกษัตริย์เวียงจันทน์

13. เจ้าพระยาหลวงนครพิชิตราชธานีศรีโคตรบูรหลวง หรือเจ้าหน่อเมือง

14. เจ้านครวรกษัตริย์ขัติยราชวงศา

15. พระเจ้านันทราช หรือเจ้านัน ต่อมาได้เป็นกษัตริย์เวียงจันทน์

16. เจ้าโพธิสาลราชธานีศรีโคตรบูร หรือเจ้าโพธิสา

17. พระบรมราชาพรหมา

18. เจ้าวิชุลผลิตอากาศ ครองราชย์ 7 ปีถูกเนรเทศ

19. เจ้าพระยาเมืองแสน รักษาราชการ

สมัยอาณาจักรเวียงจันทน์ (พุทธศตวรรษที่ 22-23)

แก้

1. พระยาศรีโคตรบอง (ท้าวเชียงยาหรือท้าวสี) อดีตเจ้าเมืองเป็งจาน บางแห่งว่าอดีตเจ้าเมืองพระตะบอง

2. พระบรมราชา (เจ้าราชบุตรบุญน้อย)

3. พระยาขัติยวงศาราชบุตรามหาฤๅไชย ไตรทศฤๅเดชเชษฐบุรี ศรีโคตรบูรหลวง พระราชโอรสกษัตริย์เมืองระแหงในลาว

4. พระบรมราชา (เจ้าแอวก่านหรือท้าวเฮงก่วน)

5. พระนครานุรักษ์ (เจ้าคำสิงห์)

6. พระบรมราชา (เจ้ากู่แก้ว)

7. พระบรมราชา (เจ้าพรหมา)

8. พระบรมราชา (เจ้าศรีกุลวงษ์)

9. เจ้าศรีสุราช รักษาราชการ

10. เจ้าอินทร์ศรีเชียงใหม่ (ท้าวสุดตา)

11. พระบรมราชา (เจ้าพรหมา)

12. พระบรมราชา (ท้าวสุดตา)

13. พระบรมราชากิตติศัพท์เทพฤๅยศ ทศบุรีศรีโคตรบูรหลวง (เจ้ามังหรือท้าวศรีสุมังค์)

สมัยกษัตริย์ประเทศราชและหัวเมืองชั้นเอกของสยาม (หลังปลาย พ.ศ. 2300)

แก้

1. พระสุนทรราชวงศามหาขัตติยชาติ ประเทศราชชวาเวียงดำรงรักษ ภักดียศฦๅไกรศรีพิไชยสงคราม (เจ้าฝ่ายบุต) เดิมเป็นเจ้าผู้ครองเมืองยศสุนทร(จังหวัดยโสธร)

2. พระพนมนครานุรักษ์ ศรีสิทธิศักดิ์เทพฤๅยศบุรี ศรีโคตบูรหลวง หรือพระพนมนโรนุรักษาธิบดีสีโคตตบองหลวง (ท้าวจันโท)

3. พระยาพนมนครานุรักษ์ สิทธิศักดิ์เทพฤๅยศทศบุรี ศรีโคตบูรหลวง (เจ้าอรรคราช)

4. ท้าวจันทร์น้อย ปกครองอยู่ระยะเวลาหนึ่ง

5. พระยาพนมนครานุรักษ์ (ท้าวเลาคำ)

6. เจ้าราชวงษ์ (ท้าวคำ) รักษาราชการอยู่ระยะเวลาหนึ่งต่อมาเป็นพระยาประเทศธานีเจ้าเมืองสกลทวาปีองค์แรก

7. พระยาพนมนครานุรักษ์ (ท้าวบุญมาก)

8. พระยาพนมนครานุรักษ์ (ท้าวจันทร์ทองทิพย์) ต่อมาเป็นเจ้าเมืองท่าแขก

9. พระยาพนมนครานุรักษ์ (ท้าวยศวิชัย)

10. พระยาพนมนครานุรักษ์ (ท้าวกา) ต่อมาเป็นผู้ว่าราชการเมืองนครพนมท่านแรก

อ้างอิง

แก้