เจริญ พาทยโกศล เกิดเมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2419 เป็นบุตรนายชื่น นางแห รุ่งเจริญ เมื่ออายุได้ 10 ปี พี่สาวได้นำตัวเข้ามาฝึกหัดขับร้องและฟ้อนรำอยู่ในวังของพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสิงหนาทราชดุรงค์ฤทธิ์ หรือที่เรียกว่าวังบ้านหม้อ ได้หัดฟ้อนรำกับนางเลื่อน ส่วนทางดนตรีนั้นเป็นศิษย์หลวงเสนาะดุริยางค์ (ทองดี พงษ์ทองดี) ซึ่งเป็นนายวงปี่พาทย์ของวังบ้านหม้อ ขณะนั้น และเป็นศิษย์ทางร้องของเปรม ต่อมาได้เป็นภรรยาของเจ้าพระยาเทเวศรวงศ์วิวัฒน์ (ม.ร.ว.หลาน กุญชร) และมีบุตรี 2 คน เมื่อปลายรัชกาลที่ 5 มีบริษัทจากเบลเยียมเข้ามาบันทึกเสียงในเมืองไทย เจริญได้รับเลือกเป็นนักร้องต้นเสียงด้วย นับเป็นนักร้องรุ่นแรกที่ได้บันทึกลงจานเสียง

เมื่อราว พ.ศ. 2452 จึงได้ออกจากวังบ้านหม้อแล้วไปอยู่กับจางวางทั่ว พาทยโกศล แต่บุตรที่เกิดแต่จางวางทั่วนั้นเสียชีวิตตั้งแต่ยังเด็กทั้งหมด ในขณะเดียวกันเจริญก็ได้เลี้ยงดูนายเทวาประสิทธิ์ และคุณหญิงไพฑูรย์ กิตติวรรณ บุตรของจางวางทั่วตั้งแต่เล็ก ทั้งยังสอนวิชาดนตรีให้ด้วย เมื่อไปอยู่ที่บ้านจางวางทั่ว เจริญช่วยคุมวงปี่พาทย์และสอนร้องให้ศิษย์ และได้ถวายตัวเป็นข้าในวังสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต เป็นนักร้องประจำวงปี่พาทย์วังบางขุนพรหมและสอนร้องให้แก่นักร้องในกองแตรวงทหารเรือ เป็นกรรมการตัดสินการประกวดขับร้องในงานกาชาด นอกจากมีความสามารถในการร้องแล้วยังได้แต่งทางร้องไว้หลายเพลง เช่น เพลงแขกสาย อาถรรพ์

ต่อมาในปี พ.ศ. 2471 มีการอัดแผ่นเสียงอีก เจริญนอกจากจะเป็นนักร้องอัดแผ่นเสียงแล้ว ยังเป็นแม่กองอัดแผ่นเสียงให้กับบริษัทพาโลโฟนอีกด้วย โดยได้รับพระกรุณาจากสมเด็จเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิตให้ใช้ชื่อวงว่า วงพิณพาทย์วังบางขุนพรหม เจริญถึงแก่กรรมด้วยโรคชรา เมื่อ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2489 มีอายุได้ 79 ปี

อ้างอิง

แก้