เจ้าพระยาพระคลัง (หน)
เจ้าพระยาพระคลัง (พ.ศ. 2290 – พ.ศ. 2348) นามเดิมว่า หน เป็นเสนาบดีกรมคลังในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และเป็นเป็นกวีคนสำคัญคนหนึ่งในสมัยต้นรัตนโกสินทร์
เจ้าพระยาพระคลัง (หน) | |
---|---|
เสนาบดีกรมคลัง | |
ดำรงตำแหน่ง พ.ศ. 2325 – พ.ศ. 2348 | |
กษัตริย์ | พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช |
ก่อนหน้า | พระยาพระคลัง (สน) |
ถัดไป | พระยาพระคลัง (กุน รัตนกุล) |
ข้อมูลส่วนบุคคล | |
เกิด | หน พ.ศ.2290 |
เสียชีวิต | พ.ศ. 2348 พระนคร ประเทศสยาม |
ศาสนา | พุทธ |
บุตร | เจ้าจอมมารดานิ่ม ในรัชกาลที่ 2 เจ้าจอมพุ่ม ในรัชกาลที่ 2 |
บุพการี |
|
ประวัติ
แก้เจ้าพระยาพระคลัง (หน) เป็นบุตรของเจ้าพระยาสุรบดินทร์สุรินทร์ฦๅไชย (บุญมี)[1] เจ้าเมืองกำแพงเพชรในสมัยกรุงธนบุรี ซึ่งเป็นต้นสกุล"บุญ-หลง" มารดาคือท่านผู้หญิงเจริญ เกิดเมื่อใดไม่ปรากฏ เข้าใจว่าเกิดในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ราวปี พ.ศ. 2290[2]: 14 เจ้าพระยาสุรบดินทร์ฯ (บุญมี) นั้น เป็นบุตรของพระยาเพชรบุรี (เรือง)[1] เจ้าเมืองเพชรบุรีในช่วงการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง ซึ่งมีเชื้อสายจีน[1] พระยาเพชรบุรี (เรือง) เป็นพระญาติของกรมพระเทพามาตย์ (นกเอี้ยง)[1] พระราชมารดาในสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ในพ.ศ. 2309 สมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์มีพระราชโองการให้พระยาตาก (สิน) และพระยาเพชรบุรี (เรือง) ยกออกไปตั้งที่วัดใหญ่ชัยมงคลเพื่อสกัดทัพเรือพม่า พระยาเพชรบุรี (เรือง) ถูกพม่าล้อมและถูกสังหารถึงแก่กรรมในที่รบ นอกจากนี้ พระยาเพชรบุรี (เรือง) ยังมีบุตรอีกคนคือเจ้าพระยาพิชัยราชา[1] ซึ่งเป็นพี่น้องของเจ้าพระยาสุรบดินทร์ฯ (บุญมี) และเป็นแม่ทัพผู้มีบทบาทสำคัญในสมัยธนบุรี
เจ้าพระยาพระคลัง (หน) ปรากฏรับราชการครั้งแรกในสมัยธนบุรีเป็นหลวงสรวิชิต[3] นายด่านเมืองอุทัยธานี ในพ.ศ. 2318 สงครามอะแซหวุ่นกี้ สมเด็จพระเจ้าตากสินมีพระราชโองการตั้งกองคอยรักษาเส้นทางเสบียงที่นครสวรรค์โดยมีหลวงสรวิชิต (หน) เป็นกองหน้า[4] ในเหตุการณ์กบฏพระยาสรรค์เมื่อสิ้นสุดยุคกรุงธนบุรี สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกยกทัพออกไปตีเมืองกัมพูชา ได้มอบหมายให้พระสุริยอภัย (ทองอิน ต่อมาคือสมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์) ยกทัพจากนครราชสีมาเข้ามาระงับเหตุที่ธนบุรี หลวงสรวิชิต (หน) ได้ช่วยเหลือพระสุริยอภัย และได้ส่งหนังสือออกไปแจ้งข่าวเหตุการณ์ในธนบุรีแก่สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกที่ด่านพระจารึก[1] เมื่อสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกยกทัพกลับมายังธนบุรีหลวงสรวิชิต (หน) เดินทางออกไปรับสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกที่ทุ่งแสนแสบ[4]
พ.ศ. 2325 เมื่อสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกเสด็จขึ้นครองราชสมบัติเป็นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงแต่งตั้งพระยาพิพัฒโกษา (สน) เป็นพระยาพระคลัง และทรงแต่งตั้งหลวงสรวิชิต (หน) เป็นพระยาพิพัฒโกษา ปลัดทูลฉลองกรมคลัง ดังปรากฏในคำปรึกษาตั้งข้าราชการว่า;
หลวงสรวิชิตจงรักภักดี สัตย์ซื่อ หมายได้เป็นข้าใต้ละอองพระบาทมาช้านาน แล้วก็ได้โดยเสด็จพระราชดำเนินการพระราชสงครามมาแต่ก่อน และครั้งนี้ได้ทำราชการด้วยสมเด็จพระเจ้าหลานเธอ กรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์ จนสำเร็จราชการ แล้วได้แต่งคนเอากิจราชการหนักเบาในเมืองธนบุรีออกไปแจ้งใต้ละอองธุลีพระบาทฉบับหนึ่งถึงด่านพระจารึกนั้น มีความชอบ ขอพระราชทานเอาหลวงสรวิชิตให้เป็นพระยาพิพัฒโกษา
ต่อมาในปีเดียวกัน[4] พระยาพระคลัง (สน) เดินทางออกไปส่งสำเภาหลวงที่สมุทรปราการ กราบทูลขอบายศรีศีรษะสุกร พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯรับสั่งว่าพระยาพระคลัง (สน) นั้นเลอะเลือน[3] จึงมีพระราชโองการให้ถอดพระยาพระคลัง (สน) ออกจากตำแหน่งลงเป็นพระยาศรีอัครราช ช่วยราชการกรมท่า แล้วทรงแต่งตั้งพระยาพิพัฒโกษา (หน) ขึ้นเป็นพระยาพระคลัง เสนาบดีกรมคลัง ลำดับที่สองแห่งกรุงรัตนโกสินทร์
ในพ.ศ. 2328 สงครามเก้าทัพ พระยาพระคลัง (หน) และพระยาอุไทยธรรม (บุนนาค) ได้ติดตามพระเจ้าหลานเธอ กรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์ เสด็จยกทัพไปตั้งรับพม่าทางด้านเหนือ[5] พระยาพระคลัง (หน) ยกทัพไปตั้งที่ชัยนาท เพื่อรับทัพพม่าที่มาทางเมืองระแหง (ตาก) ต่อมาพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯมีพระราชโองการให้พระเจ้าหลานเธอ กรมหลวงเทพหริรักษ์ พร้อมทั้งพระยาพระคลัง (หน) เสด็จยกทัพไปตั้งรับพม่าที่กำแพงเพชร กรมหลวงเทพหริรักษ์มีพระบัญชาให้พระยาพระคลัง (หน) ยกเป็นทัพหน้าไปรบกับพม่าที่เมืองตาก แต่ทัพพม่าที่ตากนั้นล่าถอยกลับไปก่อน[5]
พ.ศ. 2330 สงครามตีเมืองทวาย พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเสด็จยกทัพไปตีเมืองทวายทางด่านวังปอ เมืองกลิอ่อง พระยาพระคลัง (หน) เป็นเกียกกายทัพ[5]
ต่อมาในช่วงปลายรัชกาลที่ 1 พระยาพระคลัง (หน) ได้เลื่อนขึ้นเป็นเจ้าพระยาพระคลัง เจ้าพระยาพระคลัง (หน) ถึงแก่อสัญกรรมในรัชกาลที่ 1 เมื่อปีฉลู พ.ศ. 2348[3] ซึ่งในปีเดียวกันนั้นมีเจ้าพระยากรุงรัตนโกสินทร์ถึงแก่อสัญกรรมสามคนคือ เจ้าพระยารัตนาพิพิธ (สน) เจ้าพระยาอรรคมหาเสนา (บุนนาค) และเจ้าพระยาพระคลัง (หน)[3]
เจ้าพระยาพระคลัง (หน) มีบุตรมาก แต่ไม่ได้รับราชการ[3] บุตรชายที่ปรากฏได้แก่ นายเกตและนายพัด ซึ่งเป็นกวีและครูพิณพาทย์ ธิดาที่ปรากฏได้แก่ เจ้าจอมมารดานิ่มในรัชกาลที่ 2 (พระมารดาในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศร) และเจ้าจอมพุ่มในรัชกาลที่ 2
เจ้าพระยาพระคลัง (หน) มีพี่ชายชื่อ ชิด เป็นที่หลวงสรวิชิต ต่อมาเป็น พระสุวรรณภักดี มีเหลนชื่อพระหมายมั่นราชกิจสุรฤทธิฤๅไชย (ชุ่ม) เป็นต้นสกุล หมายมั่น[6] สืบลงมาทางพระศรีราชอักษร์ (แช่ม) บุตร และพระยาพิทักษนคราธำรง (มั่น) พอกรุงแตกย้ายไปอยู่อุบลราชธานี และมีน้องชายชื่อ หลง ต่อมาเป็น พระยาพิไชยบุรินทรา ต่อมาได้เป็น เจ้าพระยาพลเทพ (หลง) รับราชการในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นต้นสกุล"บุญ-หลง"
ผลงาน
แก้ประพันธ์ในสมัยธนบุรี
แก้- ลิลิตเพชรมงกุฎ
- อิเหนาคำฉันท์ (พ.ศ. 2322, หลวงสรวิชิต)[7]
ประพันธ์ในสมัยรัตนโกสินทร์
แก้- ราชาธิราช (งานแปล, พ.ศ. 2328)
- สามก๊ก (งานแปล, พ.ศ. 2408)
- กากีคำกลอน หรือ กากีกลอนสุภาพ
- ร่ายยาวมหาชาติกัณฑ์กุมารและกัณฑ์มัทรี
- ลิลิตพยุหยาตราเพชรพวง
- โคลงสุภาษิต
- กลอนและร่ายจารึกเรื่องสร้างภูเขาทองที่วัดราชคฤห์
- ลิลิตศรีวิชัยชาดก
- สมบัติอมรินทร์คำกลอน
ยศและบรรดาศักดิ์
แก้- บรรดาศักดิ์
ตำแหน่งราชการ
แก้อ้างอิง
แก้- เชิงอรรถ
- ↑ 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 1.5 นิธิ เอียวศรีวงศ์. การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี. กรุงเทพฯ; มติชน, พ.ศ. 2550.
- ↑ 2.0 2.1 ศานติ ภักดีคำ. (2563). "จารึกเจ้าพระยาพระคลัง (หน) พบใหม่?:จารึกรอยพระพุทธบาทจำลอง ณ ภูเขาวัดราชคฤห์", ศิลปวัฒนธรรม, 42(1). (พฤศจิกายน 2563).
- ↑ 3.0 3.1 3.2 3.3 3.4 3.5 พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสมมตอมรพันธุ์. เรื่องตั้งเจ้าพระยาในกรุงรัตนโกสินทร์. กรุงเทพ : กรมศิลปากร, 2545.
- ↑ 4.0 4.1 4.2 พระราชพงษาวดารกรุงเก่า (ฉบับหมอบรัดเล).
- ↑ 5.0 5.1 5.2 ทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค), เจ้าพระยา. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑. พิมพ์ครั้งที่ ๖. กรุงเทพฯ, กองวรรณคดีและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร ๒๕๓๑.
- ↑ อาลักษณาโวหาร. (2022, 5 พฤษภาคม). พระยาเพชรบุรีวีรบุรุษที่ถูกลืม. สืบค้นเมื่อ 23 กันยายน 2023.
- ↑ "อิเหนาคำฉันท์ : วรรณคดีไทยสมัยธนบุรี". Baanjomyut.com. สืบค้นเมื่อ 16 เมษายน 2563.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ 8.0 8.1 8.2 8.3 8.4 8.5 8.6 พลาดิศัย สิทธิธัญกิจ. (2544). สมเด็จพระปฐมบรมชนกนาถ. กรุงเทพฯ: บันทึกสยาม. 126 หน้า. ISBN 974-862-989-9