แคลนนาด (วิชวลโนเวล)

แคลนนาด (ญี่ปุ่น: クラナドโรมาจิKuranado; อังกฤษ: Clannad) เป็นชื่อเกมประเภทวิชวลโนเวล (visual novel) ซึ่งบริษัทคีย์ (Key) ผลิตขึ้นและเผยแพร่ตั้งแต่วันที่ 28 เมษายน 2547 สำหรับเล่นบนคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลซึ่งใช้ระบบปฏิบัติการของวินโดวส์ ต่อมาจึงพัฒนาให้เล่นกับเพลย์สเตชัน 2, เพลย์สเตชันแบบพกพา, เอกซ์บอกซ์ 360 และเพลย์สเตชัน 3 ได้ด้วย เกมนี้เป็นผลงานลำดับที่สามของคีย์ถัดจาก แอร์ (Air) และ แคนอน (Kanon) ตามลำดับ แต่ต่างกันตรงที่เกมทั้งสองนั้นเมื่อแรกประกอบไปด้วยเนื้อหาลามกอนาจารมุ่งเร้ากำหนัดเป็นสำคัญ ต่อภายหลังจึงทำฉบับที่ปราศจากสื่อดังกล่าววางจำหน่ายในตลาดผู้เยาว์ ขณะที่เกมนี้ไม่มีเนื้อหาทำนองเช่นว่ามาแต่ต้น และได้รับการจัดประเภทว่าเหมาะสมสำหรับทุกเพศทุกวัย อย่างไรก็ดี ภายหลังได้ออกตอนพิเศษของเกมนี้โดยมีเนื้อหาเร้ากามารมณ์ ชื่อ โทะโมะโยะอาฟเตอร์: อิตส์อะวันเดอร์ฟูลไลฟ์ (Tomoyo After: It's a Wonderful Life)

แคลนนาด
หน้าปกที่มีนางเอก นางิซะ ฟุรุกาวะ
ผู้พัฒนาคีย์
ผู้จัดจำหน่าย
กำกับจุง มาเอดะ
ศิลปินอิตารุ ฮิโนอุเอะ
เขียนบท
แต่งเพลง
เครื่องเล่นไมโครซอฟท์ วินโดวส์, เพลย์สเตชัน 2, โฟมา, ซอฟต์แบงก์ 3จี, เพลย์สเตชัน พอร์เทเบิล, เอกซ์บอกซ์ 360, เพลย์สเตชัน 3, แอนดรอยด์, เพลย์สเตชัน วิตา, เพลย์สเตชัน 4, นินเท็นโด สวิตช์
วางจำหน่ายแคลนนาด
28 เมษายน 2004
  • วินโดวส์
    • JP: 28 เมษายน 2004
    • JP: 29 กุมภาพันธ์ 2008
    • JP: 28 พฤษภาคม 2010
    • ทั่วโลก: 23 พฤศจิกายน 2015
    เพลย์สเตชัน 2
    • JP: 23 กุมภาพันธ์ 2006
    โฟมา
    • JP: 26 พฤศจิกายน 2007
    ซอฟต์แบงก์ 3จี
    • JP: 16 มกราคม 2008
    เพลย์สเตชัน พอร์เทเบิล
    • JP: 29 พฤษภาคม 2008
    เอกซ์บอกซ์ 360
    • JP: 28 สิงหาคม 2008
    เพลย์สเตชัน 3
    • JP: 21 เมษายน 2011
    แอนดรอยด์
    • JP: 18 กันยายน 2012
    เพลย์สเตชัน วิตา
    • JP: 14 สิงหาคม 2014
    เพลย์สเตชัน 4
    • ทั่วโลก: 14 มิถุนายน 2018
    นินเท็นโด สวิตช์
    • ทั่วโลก: 4 กรกฎาคม 2019
แคลนนาด เรื่องราวเสริม
มกราคม 2008
  • โฟมา, ซอฟต์แบงก์ 3จี
    • JP: มกราคม 2008
    เอกซ์บอกซ์ 360
    • JP: 28 สิงหาคม 2008[a]
    เพลย์สเตชัน พอร์เทเบิล
    • JP: 3 มิถุนายน 2010 (vol. 1)
    • JP: 15 กรกฎาคม 2010 (vol. 2)
    เพลย์สเตชัน 3
    • JP: 6 กรกฎาคม 2011[b]
    แอนดรอยด์
    • JP: 30 พฤศจิกายน 2011 (vol. 1)
    • JP: 11 เมษายน 2012 (vol. 2)
    วินโดวส์
    • ทั่วโลก: 2 มิถุนายน 2016
    นินเท็นโด สวิตช์
    • ทั่วโลก: 20 พฤษภาคม 2021
แนววิชวลโนเวล
รูปแบบผู้เล่นเดี่ยว

เกมนี้ว่าด้วยชายหนุ่มคนหนึ่งซึ่งต้องพบปะกับผู้คนมากหน้าหลายตาตั้งแต่เรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายไปจนถึงเติบใหญ่ทำมาหาเลี้ยงชีพ และต้องช่วยเหลือคนเหล่านั้นแก้ไขปัญหาเป็นรายไป เนื้อหาแบ่งเป็นสององก์ต่อเนื่องกัน องก์แรกเรียก "ชีวิตวัยเรียน" (School Life) และองก์ที่สองเรียก "เรื่องราวให้หลัง" (After Story)

แรกจำหน่าย ฉบับเล่นบนคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลนั้นขายดีเป็นอันดับหนึ่งในประเทศญี่ปุ่น ในเวลาต่อมาก็ติดอันดับเกมห้าสิบเกมที่ขายดีที่สุดในประเทศอีกหลายครั้ง เกมนี้ได้รับการดัดแปลงเป็นสื่ออื่น ๆ อีกจำนวนมาก ได้แก่ มังงะสี่ชุด ชุดแรกลงพิมพ์เป็นตอน ๆ ในนิตยสาร คอมิกรัช (Comic Rush) ชุดสองลง คอมิกดิจิ + (Comi Digi +) ชุดสามลง เด็งเงะกิจีส์แมกาซีน (Dengeki G's Magazine) และชุดสี่ลง แดรก็อนเอจเพียวร์ (Dragon Age Pure) นอกจากนี้ ยังมีประชุมการ์ตูน ไลท์โนเวล สมุดภาพ ละครเสียง และอัลบัมเพลงอีกหลายชุด ต่อมาบริษัทโทเอแอนิเมชัน (Toei Animation) ดัดแปลงเป็นอนิเมะโรง เข้าฉาย ณ วันที่ 15 กันยายน 2550 เป็นวันแรก และบริษัทเกียวโตแอนิเมชัน (Kyoto Animation) ดัดแปลงเป็นอนิเมะโทรทัศน์จำนวนสองฤดูกาล สี่สิบเจ็ดตอน กับโอวีเอ (original video animation) อีกสองตอน เผยแพร่ในระหว่างปี 2550 ถึง 2553 ซึ่งได้รับความนิยมเป็นอันมากทั้งในประเทศและต่างประเทศ

การเล่นเกม

แก้

เกมนี้มีเนื้อหาแนวตลกและวีรคติ ผู้เล่นจะได้เล่นเป็นตัวพระของเรื่องแล้วดำเนินปฏิสัมพันธ์กับตัวละครอื่น ๆ แต่ไม่มากนัก เพราะจำต้องใช้เวลาส่วนใหญ่อ่านข้อความบนหน้าซึ่งพรรณนาเนื้อเรื่องและบทสนทนา

เนื้อเรื่องนั้นมีอยู่หกแบบต่างกัน[1] ตอนจบจะเป็นไปอย่างไรนั้นขึ้นอยู่กับการดำเนินบทบาทและการตัดสินใจของผู้เล่น เมื่อเริ่มเล่นเกม ผู้เล่นจะได้อยู่ในองก์ชีวิตวัยเรียนก่อน ประกอบด้วยฉากต่าง ๆ ที่มีตัวนางห้าตัวเป็นหัวใจ และฉากย่อยอื่น ๆ เมื่อสำเร็จภารกิจในแต่ละฉากแล้ว ผู้เล่นจะได้รับลูกไฟหนึ่งดวง สะสมครบแปดดวงเมื่อไร ก็จะได้รุดหน้าไปสู่องก์เรื่องราวให้หลัง ในองก์นี้ลูกไฟที่เคยอันตรธานไปในองก์แรกนั้นจะปรากฏใหม่ด้วย[1] หากผู้เล่นต้องการทราบตอนจบที่แท้จริง ก็จำจะต้องรวบรวมลูกไฟให้ครบสิบสามดวง[2]

ลูกไฟที่กล่าวถึงนี้ จำเดิมหมายให้เป็นวัตถุที่ให้ผู้เล่นไว้ใช้ประโยชน์ในเกม แต่เพราะเล็งเห็นว่า ยิ่งผู้เล่นได้ลูกไฟเพิ่ม เนื้อหาของเกมก็ยิ่งสับสนและซับซ้อนขึ้น จึงนำลูกไฟออกจากเนื้อเรื่องหลัก แล้วให้ปรากฏแต่น้อยครั้งแทน[2]

เรื่อง

แก้

ชื่อเรื่อง

แก้

จุง มะเอะดะ (Jun Maeda) เขียนเกมนี้ให้มีเนื้อเรื่องเกี่ยวกับคุณค่าของครอบครัว และตั้งนามให้ว่า แคลนนาด เพราะสำคัญว่า คำ "แคลนนาด" (Clannad) เป็นภาษาไอริช มีความหมายว่า ครอบครัว (clan) แต่แท้จริงแล้ว คำ "แคลนนาด" ไม่มีความหมายในภาษาไอริช[3] ส่วนชื่อวงดนตรีแคลนนาดของชาวไอริชนั้น ย่อมาจากวลีในภาษาไอริชว่า "Clann As Dobhar" แปลว่า ครอบครัวชาวเมืองกวีดอร์[4]

ฉากและแก่นเรื่อง

แก้

เนื้อเรื่องของเกมว่าด้วยชีวิตตั้งแต่เด็กจนโตของชายหนุ่มคนหนึ่งชื่อ โทะโมะยะ โอะกะซะกิ (Tomoya Okazaki) แบ่งเป็นสององก์ องก์แรกเรียก "ชีวิตวัยเรียน" ดำเนิน ณ โรงเรียนมัธยมศึกษาประจำจังหวัดแห่งหนึ่งในประเทศญี่ปุ่น กับร้านขนมปังของครอบครัวฟุรุกะวะ (Furukawa) และหอพักของโยเฮ ซุโนะฮะระ (Yōhei Sunohara) เพื่อนของโทะโมะยะ เป็นหลัก ส่วนองก์ที่สองเรียก "เรื่องราวให้หลัง" ว่าด้วยโทะโมะยะในอีกเจ็ดปีต่อมาหลังจากสำเร็จการศึกษาแล้ว ดำเนินเรื่องในเมืองเดียวกันและต่อเนื่องกันกับองก์แรก ตลอดทั้งสององก์นี้จะปรากฏภพภูมิที่เรียก "โลกมายา" (Illusionary World) สลับขึ้นมาเป็นระยะ ๆ เป็นโลกที่ไร้สรรพชีวิต ยกเสียแต่เด็กหญิงคนหนึ่ง ซึ่งต่อมาได้นำขยะมาประกอบขึ้นเป็นหุ่นยนต์ตัวหนึ่งสำหรับเป็นเพื่อนเล่น[1]

เกมนี้มุ่งหมายแสดงคุณธรรมเกี่ยวกับครอบครัว ในบรรดาตัวละครหลักทั้งหก อันได้แก่ โทะโมะยะ, นะงิซะ ฟุรุกะวะ (Nagisa Furukawa), เคียว ฟุจิบะยะชิ (Kyō Fujibayashi), โคะโตะมิ อิชิโนะเซะ (Kotomi Ichinose), โทะโมะโยะ ซะกะงะมิ (Tomoyo Sakagami) และฟูโกะ อิบุกิ (Fūko Ibuki) นั้น โทะโมะยะ นะงิซะ กับโคะโตะมิสามคนไม่มีพี่น้อง แต่บิดามารดาเป็นเหตุเป็นปัจจัยซึ่งส่งผลต่อชีวิตของเขาเหล่านั้นเป็นอันมาก ชีวิตของนะงิซะนั้นมะเอะดะว่าเขียนขึ้นเพื่อประมวลภาพของสิ่งที่เขาเรียก "ครอบครัวอันสมบูรณ์"[2] โดยประสงค์ให้แสดงถึงความตระหนักรู้ซึ่งจิตสำนึก ในฉากเกี่ยวกับนะงิซะ ยังปรากฏ "ครอบครัวใหญ่ของเหล่าดังโงะ" (だんご大家族) อันเป็นกลุ่มตัวละครสำหรับเด็กและเป็นที่ชื่นชอบของนะงิซะ บ่อยครั้ง เพื่อเน้นย้ำภาพครอบครัวที่อยู่พร้อมหน้าพร้อมตากันอบอุ่น[1] มะเอะดะยังว่า ชีวิตของโทะโมะยะกับนะงิซะนั้นเขียนไปในทางให้สื่อความหมายของคำว่า "เติบโตเป็นผู้ใหญ่" เมื่อจบเรื่อง[2] ส่วนตัวละครอื่น ๆ ญาติพี่น้องมีอิทธิพลต่อชีวิตอย่างสมบูรณ์แบบ สำหรับฟูโกะได้แก่พี่สาว เคียวได้แก่น้องสาว และโทะโมะโยะได้แก่สมาชิกทั้งปวงของครอบครัวเธอ[1]

ใช่แต่ชื่อเกมเป็นภาษาไอริชเท่านั้น "แม็กเมล" (Mag Mell) อันเป็นถ้อยคำภาษาไอริชมีความหมายว่า "ดินแดนแห่งความสุข" และเป็นคติธรรมเกี่ยวเนื่องกับเทพปกรณัมไอริชนั้น ยังนำมาใช้เป็นชื่อเพลงเปิดเกม[5] ซึ่งต่อมาอยู่ในอัลบัม มะบิโนะงิ (Mabinogi) ร่วมกับเพลงอื่น ๆ ที่ใช้ประกอบเกม เพื่อให้เป็นประมวลร้อยแก้วจากเอกสารตัวเขียนภาษาเวลช์ซึ่งเป็นภาษาในกลุ่มเคลติกเช่นเดียวกับภาษาไอริชด้วย[6][7][8]

ตัวละคร

แก้

โทะโมะยะ ตัวพระของเรื่องนั้น เมื่อเรียนไม่รักเรียน การเรียนอยู่ระดับปานกลาง มักไม่อยู่ในร่องในรอยและฝ่าฝืนกฎระเบียบ ครูบาอาจารย์เรียกไปอบรมสั่งสอนเป็นนิจ จนคนทั้งปวงเรียกขานเขาว่า นักเลงหัวไม้ ทั้งนี้ เขามีปัญหาครอบครัว ถึงขนาดเบื่อหน่ายชีวิตและเมืองที่อยู่อาศัย จนไม่นำพาการร่ำเรียนและขาดความกระตือรือร้นในการดำรงชีพ กระนั้น เขามีหน้าตาและบุคลิกภาพดี จึงเป็นที่ต้องใจของหญิงสาวทั่วกัน ทั้งเขายังมีน้ำใจงาม รักใคร่เพื่อนฝูง เสียสละ กับทั้งเอาใจใส่และช่วยเหลือผู้อื่นเสมอโดยไม่ปรารถนาสิ่งตอบแทน[1]

ต้นเรื่อง โทะโมะยะพบนะงิซะซึ่งเป็นตัวนางตัวหลัก นะงิซะมักพูดกระอ้อมกระแอ้มอยู่ในลำคอ ขาดความมั่นใจในตนเองถึงขนาดที่คอยพึ่งพาคนรอบข้างเสมอ และเจ็บป่วยกระเสาะกระแสะ ต่อมา โทะโมะยะจึงได้รู้จักกับตัวนางตัวอื่น ๆ ตามลำดับ โดยเขาได้พบเคียว หญิงสาวฝีปากจัดจ้านและมีโทสะเป็นเจ้าเรือน แต่ฝีมือปรุงอาหารไม่เป็นสองและมีน้ำใจรักใคร่ดูแลเรียว ฟุจิบะยะชิ (Ryō Fujibayashi) น้องสาวฝาแฝด เป็นอันมาก[1] ครั้นแล้ว ก็ได้พบโคะโตะมิ หญิงสาวสติปัญญาดี จัดเจนศิลปวิทยาเกือบทุกแขนง แต่ไม่รู้จะเข้าหาผู้อื่นด้วยประการใด จึงอยู่โดดเดี่ยวเรื่อยมา และโทะโมะโยะ หญิงสาวอารมณ์ร้อนและเก่งการกีฬา ซึ่งย้ายมาโรงเรียนของโทะโมะยะกลางคัน[1] กับฟูโกะ หญิงสาวรูปร่างเล็กที่เมื่อยินดีในเรื่องใด ๆ ก็มักเข้าสู่ภาวะเคลิ้มสุข (euphoria) ดื่มด่ำใจอยู่ไม่รับรู้ความเป็นไปรอบข้างโดยสิ้นเชิง และมักอยู่ลำพังคอยแกะสลักไม้เป็นรูปปลาดาวไว้เป็นของขวัญเชิญให้ผู้อื่นมางานสมรสของพี่สาว ซึ่งภายหลังปรากฏว่าเธอเป็นวิญญาณที่ยังรักใคร่ผูกพันอยู่กับพี่สาว แต่เนื่องจากเจ้าตัวยังไม่ถึงแก่ความตาย เมื่อผู้คนมางานสมรสของพี่สาวสมมาดปรารถนาแล้ว วิญญาณนั้นก็คืนเข้าร่างไป[1] รวมเป็นตัวนางทั้งห้าด้วยกัน

สำหรับโทะโมะโยะนั้น ต่อมายังได้ปรากฏใน โทะโมะโยะอาฟเตอร์: อิตส์อะวันเดอร์ฟูลไลฟ์ ผลงานเกมชิ้นห้าของบริษัทคีย์ ซึ่งมีเนื้อหาลามกอนาจาร และดำเนินเนื้อเรื่องอีกแบบแผนหนึ่งแตกแขนงออกไปว่า โทะโมะโยะเป็นคู่รักของโทะโมะยะ แต่จำใจเลิกรากัน เพราะโทะโมะยะไม่ต้องการให้โทะโมะโยะซึ่งเป็นประธานกรรมการนักเรียนมีมลทินว่าคบหากับนักเรียนไม่เรียบร้อยเช่นตน กระนั้น เพราะยังรักกันอยู่มิเสื่อมคลาย ที่สุดก็ครองคู่กันใหม่[9]

เนื้อเรื่อง

แก้

โทะโมะยะเป็นนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย มารดาถึงแก่ความตายตั้งแต่เขายังเยาว์ บิดาจึงเลี้ยงดูเขาจนเติบใหญ่ แต่ด้วยตรอมใจในมรณกรรมของภริยา จึงติดสุรายาเมาและการพนันขันต่อ ซึ่งทำให้โทะโมะยะไม่พอใจเป็นอันมากและทะเลาะเบาะแว้งกับบิดาเป็นอาจิณ ขณะวิวาทกันครั้งหนึ่ง บิดาตบโทะโมะยะกระเด็นไปกระแทกหน้าต่าง ทำให้ไหล่ของโทะโมะยะเคลื่อน บิดาเห็นเข้าก็เสียใจ ยิ่งกินเหล้าเมายาหนักขึ้นอีก แม้จะหันมาดูแลเอาใจใส่โทะโมะยะมากขึ้นก็ตาม โทะมะโยะจึงเลี่ยงไม่เข้าบ้านเสมอ และความสัมพันธ์ระหว่างเขากับบิดาจึงเป็นประหนึ่งคนอื่นคนไกล นอกจากนี้ ไหล่ที่เคลื่อนทำให้เขาไม่อาจเล่นกีฬาได้ดังเดิม โทะโมะยะจึงไม่อาจเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ กับเพื่อนได้ นับแต่บัดนั้น เขาก็เริ่มเกกมะเหรกเกเร ต่อมาได้พบโยเฮ นักเรียนแตกแถวที่เพิ่งถูกขับออกจากชมรมกีฬา จึงได้สนิทชิดเชื้อกัน

องก์ชีวิตวัยเรียนอันเป็นองก์แรกนั้น ตั้งต้น ณ วันจันทร์ที่ 14 เมษายน 2546 ซึ่งเป็นวันเปิดภาคการศึกษา[1] วันนั้น โทะโมะยะได้พบนะงิซะโดยบังเอิญ นะงิซะกลับมาเรียนชั้นเดิมอีกหลังจากปีก่อนต้องพักไปเพราะป่วยหนักต่อเนื่องกันยาวนาน แต่พบว่าเพื่อน ๆ สำเร็จการศึกษาไปสิ้นแล้ว ทั้งไม่รู้จะเข้าหาใคร จึงต้องทำกิจกรรมต่าง ๆ กับตัวเองเสมอมา โทะโมะยะพบว่า เธอต้องการเข้าร่วมชมรมการแสดง แต่ชมรมถูกยุบเลิกไปแล้ว เหตุว่าสมาชิกเดิมได้จบการศึกษาไปและไม่มีสมาชิกใหม่ โทะโมะยะจึงช่วยเธอตั้งชมรมนั้นอีกครั้ง ระหว่างนั้น โทะโมะยะได้พบปะรู้จักและช่วยเหลือคนอื่น ๆ อีกมากหน้าหลายตา กับทั้งได้รักกันกับนะงิซะ

ส่วนองก์เรื่องราวให้หลังอันเป็นองก์ที่สองนั้น ว่าด้วยชีวิตของโทะโมะยะหลังจากสำเร็จการศึกษา สมรสกับนะงิซะ และอาศัยอยู่ด้วยกันฉันสามีภริยาแล้ว โทะโมะยะต้องประเชิญความลำบากกายและใจนานัปการ โดยเฉพาะความเจ็บป่วยของนะงิซะซึ่งกำเริบขึ้นเมื่อเธอคลอดอุชิโอะ (Ushio) บุตรของคนทั้งสอง และยังให้เธอถึงแก่ความตาย โทะโมะยะหมดอาลัยตายอยาก ใช้ชีวิตไปวัน ๆ ติดสุรายาเมาเสมอบิดาเขา และละทิ้งอุชิโอะหาแยแสไม่ บิดามารดาของนะงิซะจึงเป็นธุระอุ้มชูเลี้ยงดูหลานแทน ห้าปีต่อมา โทะโมะยะได้พบกับย่า ย่าเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับความทุกข์ระทมที่บิดาประสบมาในอดีตกับน้ำพักน้ำแรงที่บิดาเสียสละเพื่อเลี้ยงดูเขา โทะโมะยะฟังแล้วก็ได้สติและกลับไปเลี้ยงดูอุชิโอะโดยสุดความรักและความสามารถที่ผู้ชายในฐานะบิดาจะมีได้ ทว่า อุชิโอะมีร่างกายไม่แข็งแรงเสมือนมารดา ไม่ช้าก็ตายจากเขาไปอีกคน โทะโมะยะตกอยู่ในความโทมนัสอย่างหาที่สุดมิได้ มิรู้ที่จะดำเนินชีวิตต่อไปเช่นไร และหมดสติล้มลงถึงแก่ความตาย

ทั้งนี้ ในระหว่างเรื่องที่ผ่านมานั้น โทะโมะยะมักฝันถึงโลกมายา อันเป็นภพภูมิหนึ่งที่หมดสิ้นแล้วซึ่งสรรพชีวิต มีแต่เด็กหญิงคนหนึ่งอาศัยอยู่ตัวคนเดียว เธอมีความสามารถสร้างสรรค์สิ่งใหม่ขึ้นจากขยะมูลฝอยโสโครกต่าง ๆ และต่อมา เธอได้นำขยะมาสร้างเป็นหุ่นยนต์ตัวเล็กตัวหนึ่งเพื่อให้เป็นเพื่อน โทะโมะยะจึงมาเกิดในโลกนี้เป็นหุ่นยนต์ตัวนั้น โทะโมะยะในสภาพหุ่นยนต์มีความรู้สึกนึกคิดและเคลื่อนไหวได้ แต่มิอาจพูดจาได้เพราะเด็กหญิงมิได้สร้างปากให้ เพื่อให้วันเวลาในโลกนี้ไม่น่าเบื่อหน่าย เด็กหญิงและโทะโมะยะได้ช่วยกันประกอบขยะขึ้นเป็นสิ่งอื่น ๆ อีกเรื่อย ๆ แต่ปรากฏว่า สิ่งเหล่านั้นล้วนไม่มีชีวิตเพราะขาดไร้วิญญาณ เวลานั้นเอง โทะโมะยะหวนรำลึกถึงโลกที่เขาจากมาได้ จึงชวนเด็กหญิงสร้างเรือใบลำใหญ่จะได้พากันไปยังโลกนั้นละทิ้งดินแดนอันเงียบเหงานี้ไว้เบื้องหลัง

กระนั้น ฤดูหนาวมาเยือน เด็กหญิงจมอยู่ในกองหิมะจนมิอาจเคลื่อนไหวร่างกายได้อีกต่อไป เนื้อเรื่องบัดนี้เผยว่า เด็กหญิงคืออุชิโอะที่ตายแล้วมากลับชาติมาเกิด และด้วยเข้าใจว่าตนกำลังจะสิ้นใจเพราะความหนาวเหน็บ เด็กหญิงจึงบอกแก่โทะโมะยะว่า เขาอาจกลับไปยังโลกนั้นเพื่อแก้ไขอกุศลกรรมที่เขาเคยทำไว้กับเธอได้ ถ้าเขาสามารถรวบรวมลูกไฟอันเป็นสัญลักษณ์ของความปีติสุขให้ได้มาก ตลอดเนื้อเรื่องที่เป็นคนนั้น โทะโมะยะได้ช่วยเหลือผู้คนจำนวนมาก และเมื่อช่วยเหลือใครได้คนหนึ่งก็จะบังเกิดลูกไฟขึ้นดวงหนึ่งในโลกมายานี้ เพราะฉะนั้น ลูกไฟที่เขาสั่งสมไว้เสมอมาจึงมีเป็นอันมาก เมื่อเด็กหญิงสั่งเสียเสร็จ ลูกไฟทั้งปวงก็ประชุมรุมกันเป็นแสงเจิดจ้าปรากฏแก่สายตาของโทะโมะยะ และโลกมายานั้นก็ทำลายลง โทะโมะยะสะดุ้งตื่นขึ้นพบว่า นะงิซะกำลังคลอดอุชิโอะ ทั้งมารดาและทารกปลอดภัยและมีสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์ดี ซึ่งหมายความว่า โทะโมะยะสามารถกลับไปใช้ชีวิตใหม่ให้ดีตามคำของเด็กหญิงนั้น กับทั้งเด็กหญิงก็ได้กลับไปเกิดเป็นอุชิโอะอีกครั้ง

การผลิต

แก้

หัวหน้าผู้อำนวยการผลิตเกมนี้ คือ ทะกะฮิโระ บะบะ (Takahiro Baba) ประธานบริษัทวิชวลอาตส์ (Visual Art's) ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตผลงานให้แก่คีย์[1] โดยเริ่มโครงการทันทีที่ผลิตเกม แอร์ แล้วเสร็จ[2]

คณะผู้ผลิตเกม แคลนนาด นี้ ประกอบด้วย จุง มะเอะดะ, ไค (Kai) และยูอิชิ ซุซุโมะโตะ (Yūichi Suzumoto) สามคนร่วมกันวางโครงเรื่องและเขียนบรรดาฉากหลักของเรื่อง, โทยะ โอะกะโนะ (Tōya Okano) ช่วยเขียนเรื่อง, อิตะรุ ฮิโนะอุเอะ (Itaru Hinoue) กำกับฝ่ายศิลป์และออกแบบตัวละคร[10] ขณะที่เหล่าจิตรกรซึ่งใช้นามแฝงว่า มิราเคิล มิกิปง (Miracle Mikipon), โมะชิซุเกะ (Mochisuke), นะ-งะ (Na-Ga) กับไชเนอรี (Shinory) สี่คนปฏิบัติงานด้านคอมพิวเตอร์กราฟิกส์ และโทะริโนะ (Torino) สร้างสรรค์ศิลปะในฉากหลัง[1] ส่วนเพลงประกอบนั้น มะเอะดะร่วมประพันธ์กับชินจิ โอริโตะ (Shinji Orito) และมะโงะเมะ โทะโงะชิ (Magome Togoshi)[10]

ในการผลิตเกม แอร์ มะเอะดะว่า ตนรู้สึกสามารถเขียนเนื้อเรื่องได้ดังใจปรารถนา แต่ภายหลังพบว่าผู้เล่นเข้าใจและมีอารมณ์ร่วมน้อย ในการผลิตเกม แคลนนาด เขาจึงว่า ตนมีหน้าที่กระทำให้ผู้เล่นรับรู้เข้าใจเนื้อหาให้ได้มากที่สุดโดยทั่วกัน[2] เมื่อเริ่มวางโครงการนั้น มะเอะดะไม่ประสงค์จะเขียนเนื้อหาทำนอง แอร์ ที่ดำเนินไปโดยแวดล้อมตัวละครหลักแต่เพียงตัวเดียว คือ มิซุซุ คะมิโอะ (Misuzu Kamio) ทว่า เขาต้องการให้เรื่องสื่อถึงความสัมพันธ์ระหว่าง "คนกับเมือง" และความสัมพันธ์ของ "มวลมนุษย์"[2] เขาว่า เมื่อลงมือเขียนไปหลายฉากแล้ว ก็ให้รู้สึกว่าช่างเหลือความสามารถของเขาเสียจริง และพรรณนาว่า กระบวนการเขียนเรื่อง แคลนนาด นั้นเป็นประหนึ่ง "กำแพงที่ให้ข้ามอีกทีก็ทำไม่ได้แล้ว"[11] นอกจากนี้ แม้เขารู้สึกพร้อมเต็มกำลังมาแต่ต้น แต่เมื่อเขียนเรื่อยไป ๆ เรื่องกลับพัฒนาไปถึงขนาดที่เขามิอาจคาดหมายได้ ฝ่ายซุซุโมะโตะว่า เนื้อเรื่องเพิ่มจากที่วางโครงกันไว้เป็นสองเท่า เขายังว่า เรื่องเพิ่มเพราะโครงสร้างฉากพื้นฐานมีความยืดยาวขึ้น ซึ่งก็ยังให้ฉากย่อยต่าง ๆ มีรายละเอียดมากขึ้นตามไปด้วย[2]

ในระหว่างดำเนินโครงการนั้น คณะผู้เขียนโต้แย้งกันว่า เนื้อเรื่องและรายละเอียดเกี่ยวกับตัวละครนะงิซะมีมากเกินไป และการที่เนื้อเรื่องเพ่งไปที่นะงิซะแต่ผู้เดียวนั้น เกลือกจะทำให้ แคลนนาด คล้ายคลึงกับ แอร์ เอาได้[2] มะเอะดะเห็นว่า การที่ แอร์ มุ่งเนื้อหาไปที่มิซุซุเป็นหลักนั้น ทำให้ตัวละครอื่น ๆ ถูกลดบทบาทลง นับเป็นข้อด้อยของ แอร์ และเป็นกังวลว่า ในองก์เรื่องราวให้หลังของ แคลนนาด ซึ่งดำเนินเรื่องราวของนะงิซะสืบต่อจากองก์ชีวิตวัยเรียน จะบดบังเนื้อเรื่องโดยรวมของเกม อันจะนำไปสู่จุดด้อยอย่างเดียวกัน มะอะเดะจึงพยายามมิให้เป็นเช่นนั้น โดยเขียนให้ครึ่งแรกขององก์เรื่องราวให้หลังมีความสนุกสนานเพลิดเพลินและน่าสลดใจอยู่ในยามเดียวกัน[2] นอกจากนี้ บะบะเสนอให้ฉากของตัวละครอื่น ๆ มีความคล้ายคลึงกันมากขึ้น แต่ข้อเสนอนี้ไม่ต้องด้วยความคิดของมะเอะดะซึ่งเห็นว่า ผู้เล่นย่อมไม่ประเมินคุณค่าเกมต่ำลงเพราะฉากทั้งหลายมีความแตกต่างกันอย่างยิ่ง และตอนจบที่กำหนดกันไว้แต่เดิมนั้นชอบแล้ว[2]

ยูโต โทะโนะกะวะ (Yūto Tonokawa) นักเขียนในสังกัดบริษัทวิชวลอาตส์ ว่า แคลนนาด เป็นผลงานที่ยาวมากเป็นอันดับสองของบริษัทคีย์ โดยสั้นกว่าเกม ลิตเติลบัสเตอส์! เอ็กสตาซี (Little Busters! Ecstasy) ซึ่งเผยแพร่ในปี 2551 ไปสี่พันคำ[12]

การเผยแพร่

แก้

ในปี 2544 บริษัทคีย์ว่าจะจำหน่ายเกมนี้ในปี 2545[13] กระนั้น ก็ได้เลื่อนหลายครั้ง กระทั่งสามารถจำหน่ายดีวีดีฉบับจำกัดสำหรับเล่นบนคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลซึ่งใช้ระบบปฏิบัติการวินโดวส์ได้ตั้งแต่วันที่ 28 เมษายน 2547[14][15] ในกล่องดีวีดีดังกล่าว นอกจากตัวดีวีดีเองแล้ว ยังแถมอัลบัมเพลงประกอบฉบับเรียบเรียงเสียงใหม่ชื่อ มะบิโนะงิ มาด้วย[15] ต่อมาวันที่ 6 สิงหาคม 2547 จึงจำหน่ายเกมฉบับปรกติ[14]

ในฉบับจำกัดและฉบับปรกติดังกล่าว มิได้ทำเสียงพูดให้แก่ตัวละคร ภายหลังจึงจัดพากย์ ยกเว้นตัวละครโทะโมะยะที่ยังคงไร้เสียงพูดอยู่ กับทั้งเพิ่มคอมพิวเตอร์กราฟิกส์ใหม่เข้าไปหนึ่งรายการ และปรับปรุงให้รองรับระบบปฏิบัติการวินโดวส์วิสตาได้ แล้วจัดจำหน่ายตั้งแต่วันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2545 โดยให้ชื่อฉบับนี้ว่า แคลนนาดฟูลวอยซ์ (Clannad Full Voice)[14][16] ต่อมาวันที่ 31 กรกฎาคม 2546 ได้ผลิตฉบับใหม่นี้จำหน่ายอีกครั้ง แต่เปลี่ยนใช้ชื่อ แคลนนาด เฉย ๆ โดยรวมอยู่กับเกมอื่นของบริษัทคีย์อีกห้าเกมในกล่องชุดเรียก "คีย์เท็นธ์เมโมเรียลบ็อกซ์" (Key 10th Memorial Box)[17] ครั้นวันที่ 28 พฤษภาคม 2550 จึงจำหน่ายฉบับดังกล่าวซึ่งปรับปรุงให้เข้ากับวินโดวส์ 7 และให้ชื่อว่า แคลนนาดเมโมเรียลอีดิชัน (Clannad Memorial Edition)[14][18]

บริษัทอินเทอร์แชนเนล (Interchannel) จำหน่ายเกมนี้สำหรับเล่นกับเพลย์สเตชัน 2 ตั้งแต่วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2549[19] ต่อมาวันที่ 30 กรกฎาคม 2552 จึงผลิตจำหน่ายซ้ำอีก โดยบรรจุรวมอยู่กับเกม แคนอน และ แอร์ ในกล่องชุดเรียก "คีย์ 3-พาร์ตเวิร์กพรีเมียมบ็อกซ์" (Key 3-Part Work Premium Box)[20][21][22] ฝ่ายบริษัทโพรโตไทป์ (Prototype) ได้เริ่มจำหน่ายฉบับใช้เล่นกับเอกซ์บอกซ์ 360 เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2545[23] และฉบับใช้เล่นกับเพลย์สเตชัน 3 เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2544[24]

บริษัทเอ็นทีทีโดโคโม (NTT DoCoMo) ได้พัฒนาให้เล่นได้บนโทรศัพท์มือถือซึ่งใช้บริการอิสระในการเข้าถึงสื่อประสมบนโทรศัพท์มือถือ (Freedom of Mobile Multimedia Access) หรือโฟมา (FOMA) แล้วส่งให้บริษัทโพรโตไทป์จัดจำหน่ายผ่านบริษัทวิชวลอาตส์มอตโต (Visual Art's Motto) ในเครือบริษัทวิชวลอาตส์ ตั้งแต่ปลายปี 2550 ครั้นแล้ว จึงจำหน่ายฉบับเล่นบนโทรศัพท์มือถือระบบซอฟต์แบงก์ 3จี (SoftBank 3G) ตั้งแต่เดือนมกราคม 2551[25] และฉบับเล่นกับเครื่องเพลย์สเตชันแบบพกพา ตั้งแต่วันที่ 29 พฤษภาคม 2551 ซึ่งเพิ่มส่วนเสริมจากฉบับ แคลนนาดฟูลวอยซ์ เข้าไปด้วย[26][27] ทั้งนี้ ฉบับที่ใช้เล่นกับเครื่องเพลย์สเตชันแบบพกพาและเอกซ์บอกซ์ 360 ฉบับจำกัดนั้น แถมซีดีละครสั้นห้าเรื่องไม่ต่อเนื่องกัน โดยซีดีละครที่มาในฉบับเล่นกับเครื่องเพลย์สเตชันแบบพกพานั้นแตกต่างจากที่มาในฉบับเล่นกับเอกซ์บอกซ์ 360[23][26]

งานดัดแปลง

แก้

หนังสือ

แก้

วันที่ 15 เมษายน 2547 สำนักพิมพ์ซอฟต์แบงก์ครีเอทีฟ (SoftBank Creative) ได้ตีพิมพ์หนังสือขนาดเท่านิตยสารสามสิบเก้าหน้าชื่อ พรี-แคลนนาด (pre-Clannad) เผยแพร่ ประกอบด้วยภาพจากเกม คำอธิบายสั้น ๆ เกี่ยวกับตัวละคร ภาพร่างในการผลิตเกม และภาพวาดเค้าโครงความคิด[3]

ต่อมาวันที่ 12 ตุลาคม 2547 สำนักพิมพ์เอ็นเทอร์เบรน (Enterbrain) ตีพิมพ์หนังสือภาพสำหรับผู้นิยม แคลนนาด เผยแพร่ ประกอบด้วยคำอธิบายเรื่องราวโดยพิสดาร ภาพจากคอมพิวเตอร์กราฟิกส์ โน้ตเพลงเปิดและปิดเกม บทสัมภาษณ์คณะผู้สร้างสรรค์ แล้วปิดเล่มด้วยภาพวาดตัวละครฉบับต้นอันเป็นผลงานของจิตรกรหลายคน บทเสริมเกมจำนวนสามบทเรียก ออฟฟิเชียลอนาเธอร์สตอรี (Official Another Story) และภาพร่างในการผลิตเกม รวมทั้งสิ้นหนึ่งร้อยหกสิบหน้า[2]

ระหว่างเดือนกันยายน 2547 ถึงเดือนตุลาคม 2548 สำนักพิมพ์แอสกีมีเดียเวิกส์ (ASCII Media Works) ได้ลงเรื่องสั้นเสริมเรื่องหลักของเกมพร้อมภาพประกอบจำนวนสิบสี่เรื่องเป็นตอน ๆ ในนิตยสาร เด็งเงะกิจีส์แมกาซีน เรียกรวมกันว่า ออฟฟิเชียลอนาเธอร์สตอรีแคลนนาด: ฮิกะริมิมะโมะรุซะกะมิชิเดะ (Official Another Story Clannad 光見守る坂道で; "แคลนนาดอีกเรื่องหนึ่งซึ่งเป็นทางการ: บนหนทางเลียบเนินเขาซึ่งมีแสงสว่างสาดส่องเหนือเรา") ในบรรดาเรื่องสั้นทั้งสิบสี่นี้ สิบสามเรื่องเป็นบทปรกติ และอีกหนึ่งเป็นบทแถม ทุกเรื่องมีกลุ่มเจ้าหน้าที่เขียนบทของบริษัทคีย์เป็นผู้เขียน และจิตรกรซึ่งใช้นามแฝงว่า โกท็อป (GotoP) เป็นผู้วาดภาพประกอบ ต่อมาได้พิมพ์รวมเล่มพร้อมแต่งเรื่องเพิ่มอีกสองเรื่องใส่เข้าไปด้วย เป็นหนังสือหนึ่งร้อยสามหน้า และจำหน่ายตั้งแต่วันที่ 25 พฤศจิกายน 2548[28][29][30] นอกจากนี้ บริษัทโพรโตไทป์ยังจำหน่ายซ้ำผ่านทางบริษัทวิชวลอาตส์มอตโตซึ่งหนังสือดังกล่าวฉบับอ่านทางโทรศัพท์มือถือระบบซอฟต์แบงก์ 3จี และโฟมา โดยเริ่มจำหน่ายสัปดาห์ละบทตั้งแต่เดือนมกราคม 2548 แต่ระบบโฟมาจะได้อ่านก่อนซอฟต์แบงก์ 3จีเป็นเวลาสามสัปดาห์ ต่อมา บริษัทโพรโตไทป์ได้จำหน่ายหนังสือนี้ฉบับอ่านด้วยเครื่องเพลย์สเตชันแบบพกพา โดยทำเป็นสองเล่มใหญ่ แต่ละเล่มมีเนื้อหาแปดบท และมีภาพประกอบของจิตรกรโกท็อป เล่มแรกเผยแพร่ตั้งแต่วันที่ 3 กรกฎาคม 2553 เล่มหลังตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคม ปีเดียวกัน[31][32][33] บริษัทโพรโตไทป์เรียกฉบับที่อ่านบนเครื่องมือดิจิทัลเหล่านี้ว่า นิยายเสียงซึ่งอาศัยการมอง (visual sound novel)[34] อนึ่ง นิยายทั้งนี้ยังได้รับการผลิตเป็นฉบับอ่านบนอุปกรณ์แอนดรอยด์ โดยเริ่มจำหน่ายตั้งแต่วันที่ 30 พฤศจิกายน 2554[35][36]

นักเขียนหลายคนยังช่วยกันแต่งประชุมนิยายประจำตัวละครของเกมนี้ และสำนักพิมพ์จีฟ (Jive) รวมเป็นสองเล่มแล้วพิมพ์เผยแพร่ เล่มแรกจำหน่ายในเดือนกันยายน 2547 เล่มหลังในเดือนธันวาคม ปีเดียวกัน[37][38]

สำนักพิมพ์ฮาร์เวสต์ (Harvest) พิมพ์ประชุมชุดเรื่องสั้นเกี่ยวกับเกมนี้เผยแพร่จำนวนสามเล่ม ตั้งนามว่า แคลนนาด. (くらなど。) เล่มแรกรวมเอาเรื่องสั้นซึ่งฮิโระ อะกิซุกิ (Hiro Akizuki) กับมุสึกิ มิซะกิ (Mutsuki Misaki) สองคนเขียนด้วยกัน และจำหน่ายในเดือนพฤศจิกายน 2552 ส่วนเล่มสามนั้นจำหน่ายในเดือนตุลาคม 2553[39][40] อนึ่ง ยังพิมพ์ประชุมชุดเรื่องสั้นทำนองเดียวกันอีกชุดเผยแพร่ มีจำนวนสามเล่ม เรียกรวมกันว่า แคลนนาดเอสเอสเอส (Clannad SSS) เล่มแรกเป็นชุดนิยายชื่อ แคลนนาดมิสเทอรีไฟล์ (Clannad Mystery File) จำหน่ายในเดือนสิงหาคม 2554 กับทั้งยังพิมพ์นิยายอีกเล่มหนึ่งเรียก แคลนนาด: เมจิกอาวร์ (Clannad: Magic Hour) จำหน่ายในเดือนธันวาคม ปีนั้นเอง[41]

มังงะ

แก้

มีมังงะสี่ชุดดัดแปลงมาจากเกมนี้ ชุดแรกนั้นเป็นผลงานของจุริ มิซะกิ (Juri Misaki) เรียก แคลนนาดออฟฟิเชียลคอมิก (Clannad Official Comic) ลงพิมพ์เป็นตอน ๆ ในนิตยสาร คอมิกรัช ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2548 ถึงเดือนเมษายน ปีถัดมา[42][43] ต่อมา สำนักพิมพ์จีฟรวมมังงะเหล่านั้นเป็นมังงะจบในเล่มจำนวนแปดชุด ชุดละหลายเล่ม เผยแพร่ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2548 ถึงเดือนมีนาคม 2552[44][45]

มังงะชุดที่สองเป็นผลงานของริโนะ ฟุจี (Rino Fujii) ดัดแปลงจากหนังสือเรื่อง ออฟฟิเชียลอนาเธอร์สตอรีแคลนนาด: ฮิกะริมิมะโมะรุซะกะมิชิเดะ และใช้ชื่อเดียวกัน บริษัทเฟล็กซ์คอมิกซ์ (Flex Comix) นำลงพิมพ์เป็นตอน ๆ ในนิตยสาร คอมิกดิจิ + ฉบับวันที่ 21 มิถุนายน 2550 ถึงวันที่ 21 สิงหาคม 2551 ฉบับละสิบเอ็ดบท[46][47] ต่อมา สำนักพิมพ์บร็อกโคลี (Broccoli) รวมเป็นมังงะจบในเล่มจำนวนสองชุด ชุดแรกจำหน่ายเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2551 มีทั้งแบบจำกัดและแบบปรกติ แบบจำกัดนั้นแถมสมุดจดหนึ่งเล่มสีดำมีตราโรงเรียนของโทะโมะยะอยู่บนปก[48] และเพื่อเฉลิมฉลองยอดขายมังงะชุดแรกดังกล่าว ได้จัดการประชุมโดยมีจิตรกรฟุจีมาร่วมแจกลายมือชื่อ ณ ร้านเกเมอส์ (Gamers) เมืองนะโงะยะ วันที่ 2 มีนาคม 2551 ด้วย[49] ส่วนชุดที่สองนั้นจำหน่ายเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2552 มีทั้งแบบจำกัดและแบบปรกติดุจกัน[50]

ชุดที่สามเป็นผลงานของชา (Shaa) สำนักพิมพ์แอสกีมีเดียเวิกส์นำลงพิมพ์เป็นตอน ๆ ในนิตยสาร เด็งเงะกิจีส์แมกาซีน ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2550 ถึงเดือนกรกฎาคม 2552[51] แล้วย้ายไปลงนิตยสาร เด็งเงะกิจีส์เฟสติวัล! คอมิก (Dengeki G's Festival! Comic) อันเป็นนิตยสารพี่น้องกัน ตั้งแต่ฉบับที่แปด ประจำวันที่ 26 ตุลาคม 2552[52] ต่อมา สำนักพิมพ์เด็งเงะกิคอมิกส์ (Dengeki Comics) ในเครือแอสกีมีเดียเวิกส์ รวมเป็นมังงะจบในเล่มจำนวนสามชุด ชุดแรกจำหน่ายตั้งแต่วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2552[53] ชุดที่สามจำหน่ายเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2553[54]

ส่วนชุดที่สี่นั้นมีชื่อว่า แคลนนาด: โทะโมะโยะเดียเรสต์ (Clannad: Tomoyo Dearest) เป็นผลงานของยุกิโกะ ซุมิโยะชิ (Yukiko Sumiyoshi) ดัดแปลงมาจากเกม โทะโมะโยะอาฟเตอร์: อิตส์อะวันเดอร์ฟูลไลฟ์ และสำนักพิมพ์ฟุจิมิโชะโบ (Fujimi Shobō) นำลงพิมพ์ในนิตยสาร แดรก็อนเอจเพียวร์ ตั้งแต่ฉบับวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2551 ถึงวันที่ 20 สิงหาคม ปีเดียวกัน[55][56][57] ต่อมาจึงรวมเป็นหนึ่งเล่มจบจำหน่ายตั้งแต่วันที่ 9 ตุลาคม 2551[58]

อนึ่ง ยังมีประชุมมังงะจำนวนสี่ชุด แต่ละชุดเป็นผลงานของจิตรกรราว ๆ ยี่สิบคน[59] ชุดแรกใช้ชื่อว่า แคลนนาด ประกอบด้วยมังงะทั้งหมดห้าเล่ม สำนักพิมพ์ทวินฮาร์ตคอมิกส์ (Twin Heart Comics) ในเครือสำนักพิมพ์โอโซะระ (Ohzora) พิมพ์เผยแพร่ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2547 ถึงเดือนกรกฎาคม ปีถัดมา[60][61] ชุดที่สองมีเล่มเดียวเรียก แคลนนาดคอมิกแอนทอโลจี: อนาเธอร์ซิมโฟนี (Clannad Comic Anthology: Another Symphony) สำนักพิมพ์จีฟพิมพ์จำหน่ายเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2548[62] ชุดที่สามประกอบด้วยมังงะสองเล่ม และเล่มพิเศษอีกหนึ่งเล่ม สำนักพิมพ์อิจินชะ (Ichijinsha) พิมพ์เล่มแรกจำหน่ายเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2547 เล่มสองวันที่ 24 เดือนถัดมา และเล่มพิเศษวันที่ 25 ธันวาคม 2550[63][64][65] ส่วนชุดที่สี่เป็นประชุมมังงะสี่ช่อง ประกอบด้วยมังงะทั้งหมดสี่เล่ม เรียกรวมกันว่า มะจิ-คยูยงโกะมะแคลนนาด (Magi-Cu 4-koma Clannad) สำนักพิมพ์เอ็มซีคอมิกส์ (MC Comics) ในเครือสำนักพิมพ์เอ็นเทอร์เบรน พิมพ์เผยแพร่ตั้งแต่วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2551 ถึงวันที่ 26 สิงหาคม 2552[59]

ซีดีละคร

แก้

เกมนี้ได้รับการดัดแปลงเป็นละครเสียงและทำเป็นซีดีจำหน่ายจำนวนสองชุด ซีดีละครชุดแรกเป็นผลงานการผลิตของบริษัมฟรอนเทียร์เวิกส์ ประกอบด้วยซีดีทั้งหมดห้าแผ่นว่าด้วยตัวนางทั้งห้าเป็นรายแผ่นไป แผ่นแรกทำเป็นฉบับจำกัดและแถมละครพิเศษหนึ่งตอน จำหน่ายในประเทศญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2550 ส่วนแผ่นที่สองถึงห้านั้นจำหน่ายตั้งแต่วันที่ 25 พฤษภาคม 2550 ถึงวันที่ 24 สิงหาคม 2550 เดือนละแผ่น[66]

ส่วนซีดีละครชุดที่สองนั้น บริษัทโพรโตไทป์ผลิต ประกอบด้วยซีดีทั้งหมดสี่แผ่น แผ่นแรกจำหน่ายเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2550 แผ่นที่สองจำหน่ายในเดือนสิงหาคม 2550 แผ่นที่สามจำหน่ายในเดือนถัดมา และแผ่นสุดท้ายจำหน่ายเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2550[67] แต่ละแผ่นเป็นละครซึ่งอิงหนังสือ ออฟฟิเชียลอนาเธอร์สตอรีแคลนนาด: ฮิกะริมิมะโมะรุซะกะมิชิเดะ และจิตรกรโกท็อปซึ่งวาดภาพประกอบหนังสือนั้นได้วาดภาพปกซีดีด้วย[67]

ละครเสียงทั้งนี้เปิดให้ดาวน์โลดพร้อมบทและภาพผ่านระบบเอกซ์บอกซ์ไลฟ์ (Xbox Live) กับร้านเพลย์สเตชัน เมื่อเล่นเกม แคลนนาด ด้วยเครื่องเอกซ์บอกซ์ 360 หรือเพลย์สเตชัน 3 แล้วแต่กรณี ด้วย[23][24]

อนิเมะโรง

แก้

บริษัทโทเอแอนิเมชันซึ่งเคยนำเกม แคนอน กับ แอร์ มาทำเป็นอนิเมะโรงแล้ว ได้ประกาศเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2543 ณ เทศกาลอนิเมะโตเกียว (Tokyo Anime Fair) ว่า จะนำเกม แคลนนาด มาทำเช่นกัน[68][69] โอะซะมุ เดะซะกิ (Osamu Dezaki) ซึ่งกำกับ แอร์ ได้กำกับ แคลนนาด ด้วย ส่วนมะโกะโตะ นะกะมุระ (Makoto Nakamura) เขียนบท มีเนื้อหาค่อนไปทางตัวละครนะงิซะ เป็นเหตุให้ตัวละครอื่น ๆ ถูกตัดทิ้งหรือลดทอนบทบาทลงเสียมาก อนิเมะนี้เข้าฉายในโรงภาพยนตร์ตั้งแต่วันที่ 15 กันยายน 2550 และทำเป็นดีวีดีสามฉบับ คือ ฉบับสะสม ฉบับพิเศษ และฉบับปรกติ จำหน่ายตั้งแต่วันที่ 7 มีนาคม ปีถัดมา[70] บริษัทเซ็นไตฟิล์มเวิกส์ (Sentai Filmworks) ได้รับอนุญาตให้นำอนิเมะนี้เผยแพร่ในทวีปอเมริกาเหนือ โดยจัดพากย์และบรรยายภาษาอังกฤษ แล้วจำหน่ายตั้งแต่เดือนมีนาคม 2554[71]

อนิเมะชุด

แก้

การผลิตและเนื้อหา

แก้

บริษัทเกียวโตแอนิเมชันซึ่งเคยนำเกม แคนอน และ แอร์ มาดัดแปลงเป็นอนิเมะฉายทางโทรทัศน์แล้ว ได้นำเกม แคลนนาด มาทำดุจกัน ฝ่ายทะสึยะ อิชิฮะระ (Tatsuya Ishihara) ซึ่งกำกับอนิเมะทั้งสอง รับหน้าที่กำกับอนิเมะนี้ด้วย[72]

อนิเมะชุดนี้ประกอบด้วยสองฤดูกาล ฤดูกาลแรกเรียก แคลนนาด มีเนื้อหาตามองก์ชีวิตวัยเรียนของเกม มียี่สิบสี่ตอน เป็นตอนปรกติยี่สิบสามตอน อีกหนึ่งเป็นตอนพิเศษเรียก อนาเธอร์เวิลด์: โทะโมะโยะแชปเตอร์ (Another World: Tomoyo Chapter) มีเนื้อหาอีกรูปแบบหนึ่งแตกแขนงไปจากเนื้อเรื่องหลัก โดยว่าด้วยความรักระหว่างโทะโมะยะกับโทะโมะยะตามเกม โทะโมะโยะอาฟเตอร์: อิตส์อะวันเดอร์ฟูลไลฟ์ แต่ไม่มีฉากลามกอนาจาร ส่วนฤดูกาลที่สองเรียก แคลนนาดอาฟเตอร์สตอรี (Clannad After Story) อิงองก์เรื่องราวให้หลังของเกม มียี่สิบห้าตอน เป็นตอนปรกติยี่สิบสี่ตอน อีกหนึ่งเป็นตอนพิเศษเรียก อนาเธอร์เวิลด์: เคียวแชปเตอร์ (Another World: Kyou Chapter) มีเนื้อหาว่าด้วยความรักระหว่างโทะโมะยะกับเคียว ทำนองเดียวกับตอนพิเศษในฤดูกาลแรก[72]

เพลง "แม็กเมล" (メグメル; Mag Mell; "ดินแดนแห่งความสุข") ซึ่งวงยูโฟเนียส (Eufonius) ร้องเป็นเพลงเปิดเกมนั้น ได้รับการเรียบเรียงเสียงใหม่เรียกชื่อว่า "'แม็กเมล' –คุกคูลมิกซ์-" ('Mag Mell' -cockool mix-) และเรียบเรียงอีกทีเรียก "'แม็กเมล' ~คุกคูลมิกซ์ 2007~" ('Mag Mell' ~cockool mix 2007~) ฉบับหลังนี้ใช้เป็นเพลงเปิดอนิเมะฤดูกาลแรก ส่วนเพลง "นะงิซะ" () ซึ่งเป็นเพลงบรรเลงประจำฉากของตัวละครนะงิซะในเกมนั้น นำมาใส่เนื้อให้ชาตา (Chata) ร้องเป็นเพลงปิดอนิเมะฤดูกาลแรก เรียก "ดังโงะไดกะโซะกุ" (だんご大家族; "ครอบครัวใหญ่ของเหล่าดังโงะ") ขณะที่เพลง "โอะนะจิทะกะมิเอะ" (同じ高みへ; "ไปสู่ความสูงระดับเดียวกัน") อันเป็นเพลงบรรเลงประกอบเกมนั้น ได้รับการนำมาใส่เนื้อให้ลีอา (Lia) ร้องเป็นเพลงเปิดอนิเมะฤดูกาลที่สอง เรียกนามว่า "โทะกิโอะคิซะมุอุตะ" (時を刻む唄; "บทเพลงเพื่อยังให้เวลาล่วงไป") ส่วนเพลงปิดชื่อเพลง "ทอร์ช" (Torch; "แสง") แต่งขึ้นใหม่ และลีอาร้องเช่นกัน บรรดาบทเพลงอื่นที่ใช้ประกอบอนิเมะทั้งสองฤดูกาลนั้นเป็นเพลงประกอบเกมและเคยอยู่ในอัลบัมเพลงประกอบเกมซึ่งจำหน่ายไปก่อนหน้าแล้วทั้งสิ้น

การเผยแพร่

แก้

วันที่ 15 มีนาคม 2550 หลังจากสถานีโทรทัศน์บีเอสไอฉายตอนจบของอนิเมะ แคนอน แล้ว ก็ได้ฉายตัวอย่างอนิเมะ แคลนนาด ความยาวสามสิบวินาทีต่อท้ายเพื่อโฆษณาประชาสัมพันธ์ ต่อมา บริษัทเกียวโตแอนิเมชันประกาศ ณ เทศกาลอนิเมะเฟียสตา (Anime Festa) อันTBSจัดขึ้นเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2550 ว่า อนิเมะฤดูกาลแรกจะออกอากาศจำนวนยี่สิบสามตอนตั้งแต่วันที่ 4 ตุลาคม 2550 จนถึงวันที่ 27 มีนาคม ปีถัดมา ส่วนตอนที่ยี่สิบสี่จะจำหน่ายในท้องตลาดแต่ประการเดียว[72] ครั้นออกอากาศแล้วสิ้นแล้ว เกียวโตแอนิเมชันได้เปิดให้ส่งไปรษณียบัตรชิงโชคเข้ามาชมตอนที่ยี่สิบสี่ โดยคัดเอาเพียงสี่ร้อยคนและจัดให้ชมเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2551 ต่อมา บริษัทโพนีแคนยอน (Pony Canyon) ได้ผลิตอนิเมะทั้งยี่สิบสี่ตอนเป็นดีวีดีจำนวนแปดแผ่น แต่ละแผ่นมีสามตอน แผ่นแรกจำหน่ายเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2550 แผ่นที่สุดท้ายจำหน่ายเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2551[72] ลุวันที่ 30 เมษายน 2553 จึงทำเป็นบลูเรย์จำหน่าย[73]

ในวันที่ฉายตอนที่ยี่สิบสามของฤดูกาลแรกจบ ได้ฉายโฆษณาฤดูกาลที่สองความยาวสิบห้านาทีแนบท้าย ครั้นแล้ว ฤดูกาลที่สองจึงออกอากาศตั้งแต่วันที่ 3 ตุลาคม 2551 ถึงวันที่ 26 มีนาคม 2552[74][75] โดยจัดให้บุคคลจำนวนหนึ่งซึ่งชนะการชิงโชคเข้าชมตอนที่ยี่สิบห้าเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2552 เช่นเคย[76] แล้วจึงทำเป็นดีวีดีแปดแผ่น แผ่นแรกวางแผงเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2551 แผ่นสุดท้ายเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2552 และทำเป็นบลูเรย์มีบทบรรยายภาษาอังกฤษจำหน่ายในประเทศญี่ปุ่นตั้งแต่วันที่ 20 เมษายน 2554[77]

ในทวีปอเมริกาเหนือ บริษัทเซ็นไตฟิล์มเวิกส์ได้รับอนุญาตให้นำอนิเมะฤดูกาลเผยแพร่ โดยให้บริษัทเอดีวีฟิมส์ (ADV Films) ผลิตจำหน่ายเป็นดีวีดีแบ่งขายใส่กล่องเป็นชุดรวมทั้งหมดสองชุด ชุดหนึ่งมีความยาวครึ่งฤดูกาล พากย์ภาษาญี่ปุ่น บรรยายภาษาอังกฤษ มิได้จัดพากย์ภาษาอังกฤษ[78] กล่องชุดแรกเผยแพร่เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2552[79] ชุดที่สองวันที่ 5 พฤษภาคม ปีนั้นเอง[80] ส่วนฤดูกาลที่สองนั้น เซ็นไตฟิล์มเวิกส์ได้รับอนุญาตเช่นกัน โดยให้บริษัทเซ็กชัน23 ฟิมส์ (Section23 Films) ผลิตเผยแพร่เป็นกล่องชุดดีวีดีสองชุดทำนองเดียวกัน ชุดแรกเผยแพร่เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2552 ชุดที่สองวันที่ 8 ธันวาคม ปีเดียวกัน[81] ต่อมา เซ็นไตฟิลมส์เวิกส์ให้บริษัทเซราฟีมดิจิทัล (Seraphim Digital) จัดพากย์ภาษาอังกฤษ แล้วแถลงเปิดงานพากย์นี้ผ่านเครือข่ายอนิเมะ (Anime Network) เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2553 ก่อนทำเป็นกล่องชุดดีวีดีหนึ่งกล่องจำหน่ายตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน 2553[82][83][84] ครั้นแล้วจึงจัดพากย์ภาษาอังกฤษให้แก่ฤดูกาลที่สอง แล้วจำหน่ายเป็นกล่องชุดดีวีดีตั้งแต่วันที่ 19 เมษายน 2554[85] ภายหลังจึงผลิตเป็นบลูเรย์จำหน่ายเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2554[86]

รายการวิทยุทางอินเทอร์เน็ต

แก้

เพื่อโฆษณาอนิเมะฤดูกาลแรก บริษัทเกียวโตแอนิเมชันได้จัดรายการวิทยุทางอินเทอร์เน็ตจำนวนห้าสิบสองตอน เรียก นะงิซะโทะซะนะเอะโนะโอะมะเอะนิเรนโบว์ (渚と早苗のおまえにレインボー; "สายรุ่งอันทอลำอยู่เบื้องหน้านะงิซะและซะนะเอะ") ออกอากาศทุกวันศุกร์ ตั้งแต่วันศุกร์ที่ 5 ตุลาคม 2550 ถึงวันศุกร์ที่ 3 ตุลาคม ปีถัดมา[87] รายการวิทยุนี้ อนเซ็ง (Onsen) กับแอนิเมตทีวี (Animate TV) ร่วมกันผลิต และไม นะกะฮะระ (Mai Nakahara) ซึ่งพากย์เป็นนะงิซะ กับคิกุโกะ อิโนะอุเอะ (Kikuko Inoue) ซึ่งพากย์เป็นซะนะเอะ สองคนร่วมกันเป็นพิธีกร[87] นอกจากนี้ นักพากย์คนอื่น ๆ ยังเป็นแขกร่วมรายการเป็นครั้งเป็นคราว เป็นต้นว่า ยุอิชิ นะกะมุระ (Yuichi Nakamura) ซึ่งพากย์เป็นโทะโมะยะ, เรียว ฮิโระฮะชิ (Ryō Hirohashi) ซึ่งพากย์เป็นเคียว, อะเกะมิ คันดะ (Akemi Kanda) ซึ่งพากย์เป็นเรียว, ไดซุเกะ ซะกะงุชิ (Daisuke Sakaguchi) ซึ่งพากย์เป็นโยเฮ และอะสึกุโกะ เอะโนะโมะโตะ ซึ่งพากย์เป็นยุกิเนะ มิยะซะวะ (Yukine Miyazawa)[87]

ส่วนอนิเมะฤดูกาลที่สองนั้น ก็ได้จัดรายการวิทยุทางอินเทอร์เน็ตโฆษณาเช่นเดียวกัน รายการนี้เรียก นะงิซะโทะซะนะเอะโทะอิกิโอะโนะโอะมะเอะนิไฮเปอร์เรนโบว์ (渚と早苗と秋生のおまえにハイパーレインボー; "สายรุ่งอันทอลำอยู่มากมายเบื้องหน้านะงิซะ กับซะนะเอะ และอะกิโอะ") ประกอบด้วยตอนทั้งสิ้นยี่สิบหกตอน ออกอากาศทุกวันศุกร์ ระหว่างวันศุกร์ที่ 10 ตุลาคม 2551 ถึงวันศุกร์ที่ 10 เมษายน 2552[87] ผู้ผลิตและผู้ดำเนินรายการยังคงเดิม แต่ได้เรียวตะโร โอะกิอะยุ (Ryōtarō Okiayu) ซึ่งพากย์เป็นอะกิโอะ มาร่วมเป็นพิธีกรเพิ่ม[87]

สิบสามตอนแรกจากรายการวิทยุฤดูกาลที่หนึ่งได้รับการบรรจุลงซีดีสองแผ่นจำหน่ายพร้อมกันเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2551[88] ต่อภายหลังจึงบรรจุอีกยี่สิบหกตอนถัดมาลงซีดีสองแผ่นจำหน่ายเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2551[89] สิบสามตอนที่เหลือนั้นเผยแพร่เป็นซีดีสองชุด ชุดแรกจำหน่ายเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2551[90] ชุดหลังอันเป็นชุดสุดท้ายเริ่มจำหน่ายตั้งแต่วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2552[91] ขณะที่รายการวิทยุฤดูกาลที่สองนั้น บรรจุลงซีดีสองแผ่นจำหน่ายต่างเวลากัน แผ่นแรกขายตั้งแต่วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2552[92] แผ่นที่สองวันที่ 29 พฤษภาคม ปีเดียวกัน[93]

เพลง

แก้

เกมนี้ใช้เพลงประกอบหลักอยู่สี่เพลง เป็นเพลงเปิดหนึ่ง เพลงปิดสอง กับเพลงแทรกหนึ่ง เพลงเปิดคือ "แม็กเมล" วงยูโฟเนียสร้อง เพลงปิดทั้งสองได้แก่ "-คะเงะฟุตะสึ-" (-影二つ-; "สองเงา") ปิดองก์ชีวิตวัยเรียน กับ "ชีซะนะเทะโนะฮิระ" ปิดองก์เรื่องราวให้หลัง ริยะจากวงยูโฟเนียสร้องทั้งสองเพลง และเพลงแทรกคือ "อะนะ" (Ana) ลีอาร้อง

ตัวละครหกตัวมีเพลงประกอบฉากประจำตัว ได้แก่ นะงิซะมีเพลง "นะงิซะ", เคียวมีเพลง "โซะเระวะคะเซะโนะโยนิ" (それは風のように; "เป็นดังสายลม"), โคะโตะมิมีเพลง "เอตูดปูร์เลเปอตีซูแปร์ก็อด" (Étude Pour les Petites Supercordes; "เรียนรู้เครื่องสายเครื่องน้อย"), โทะโมะโยะมีเพลง "คะนะโจะโนะฮงกิ" (彼女の本気; "การตัดสินใจของเธอ"), ฟูโกะมีเพลง "เฮอร์รี, สตาร์ฟิช" (は〜りぃすたーふぃしゅ; Hurry, Starfish; "เร็วเข้าเจ้าปลาดาว") และยุกิเนะ มิยะซะวะ (Yukine Miyazawa) มีเพลง "ชิเรียวชิสึโนะโอะชะกะอิ" (資料室のお茶会; "เลี้ยงน้ำชาในห้องอ้างอิง")

สำหรับเพลงประกอบเกมนั้น บริษัทคีย์ซาวด์เลเบล (Key Sounds Label) ในเครือบริษัทคีย์ เริ่มจำหน่ายอัลบัมเพลงประจำตัวละครเรียก "โซะระระโด" (Sorarado) เมื่อเดือนธันวาคม 2546, ในเดือนเมษายน 2547 จำหน่ายอัลบัมเพลงเรียบเรียงเสียงใหม่เรียก "มะบะโนะงิ" (Mabinogi) โดยแถมไปกับเกม, ในเดือนสิงหาคม ปีนั้น จำหน่ายอัลบัมเพลงดั้งเดิมประกอบเกม ประกอบด้วยซีดีเพลงสามแผ่น เพลงห้าสิบหกเพลง, ในเดือนธันวาคม ปีเดียวกัน จำหน่ายอัลบัมเรียก "โซะระระโดะแอปเพนด์" (Sorarado Append) กับอัลบัมเพลงเรียบเรียงเสียงใหม่เรียก "-เมเมนโต-" (-Memento-) ประกอบด้วยซีดีเพลงสองแผ่น ครั้นเดือนธันวาคม ปีถัดมา จึงจำหน่ายอัลบัม "เปียโนโนะโมะริ" (Piano no Mori) ประกอบด้วยเพลงห้าเพลงจากเกม แคลนนาด กับอีกห้าเพลงจากเกม โทะโมะโยะอาฟเตอร์: อิตส์อะวันเดอร์ฟูลไลฟ์ ซึ่งเรียบเรียงใหม่และบรรเลงด้วยเปียโน[94]

เพลงประกอบอนิเมะโรงนั้น บริษัทฟรอนเทียร์เวิกส์อำนวยการผลิต และในเดือนกรกฎาคม 2550 จำหน่ายแมกซีซิงเกิลของวงยูโฟเนียสชื่อ "แม็กเมล (ฉบับฟรีเควนซี⇒อี)" (Mag Mell (frequency⇒e Ver.)), ลุเดือนสิงหาคม ปีนั้น จำหน่ายอัลบัมเพลงประจำตัวละครชื่อ "ยะกุโซะกุ" (Yakusoku) และในเดือนพฤศจิกายน ปีเดียวกัน จึงจำหน่ายอัลบัมเพลงดั้งเดิมประกอบอนิเมะ[95]

ส่วนเพลงประกอบอนิเมะโทรทัศน์นั้น บริษัทคีย์ซาวด์เลเบลเริ่มจำหน่ายซิงเกลชื่อ "แม็กเมล/ดังโงะไดกะโซะกุ" (Mag Mell / Dango Daikazoku) ในเดือนธันวาคม 2550 ประกอบด้วยเพลงเปิดเพลงปิดอนิเมะฤดูกาลแรก กับเพลง "โชโจะโนะเก็นโซ" (少女の幻想; "นิมิตของเด็กหญิง") ซึ่งเคยอยู่ในอัลบัม "โซะระระโดะ" และนำมาเรียบเรียงเสียงใหม่[94] ต่อมาในเดือนพฤศจิกายน 2552 จำหน่ายซิงเกิลชุดที่สองชื่อ "โทะกิโอะคิซะมุอุตะ/ทอร์ช" (Toki o Kizamu Uta / Torch) ประกอบด้วยเพลงเปิดและเพลงปิดอนิเมะฤดูกาลที่สอง ครั้นเดือนธันวาคม ปีนั้น จึงจำหน่ายอัลบัมชื่อ "'โทะกิโอะคิซะมุอุตะ/ทอร์ช' เปียโนอาร์เรนจ์ดิสก์" ('Toki o Kizamu Uta / Torch' Piano Arrange Disc) ประกอบด้วยเพลงจากซิงเกิลก่อนหน้าซึ่งเรียบเรียงใหม่และบรรเลงด้วยเปียโน[96]

การตอบรับ

แก้

การตอบรับเชิงวิพากษ์

แก้

เกม

แก้

นิตยสาร เด็งเงะกิจีส์แมกาซีน ฉบับเดือนตุลาคม 2550 รายงานอันดับเกมสาวน้อยที่ดีที่สุดห้าสิบเกมตามผลการสำรวจความคิดเห็นของสาธารณชน ในบรรดาเกมที่เปิดให้ลงคะแนนทั้งหมดสองร้อยสี่สิบเก้าเกมนั้น เกม แคลนนาด ได้คะแนนสนับสนุนหนึ่งร้อยสิบสี่เสียง จัดอยู่ในอันดับหนึ่ง ส่วนอันดับสองนั้นเป็นของเกม เฟต/สเตย์ไนต์ (Fate/stay night) ซึ่งมีผู้ลงคะแนนให้เจ็ดสิบแปดคน[97]

นิตยสาร ฟุมิสึ (Famitsu) จัดให้นักวิจารณ์สี่คนประเมินเกมนี้ฉบับเล่นกับเครื่องเพลย์สเตชัน 2 โดยให้แต่ละคนมีคะแนนสิบคะแนน ปรากฏว่า นักวิจารณ์ทั้งสี่ให้คะแนนเจ็ด เจ็ด หก และหกตามลำดับ รวมเป็นยี่สิบหกคะแนนจากคะแนนเต็มสี่สิบ[98] ต่อมาในปี 2554 นิตยสารดังกล่าวจัดให้ประชาชนลงคะแนนว่าเกมใดเรียกน้ำตามากที่สุด ผลปรากฏว่า เกม แคลนนาด อยู่ในอันดับสี่[99]

อนิเมะ

แก้

อนิเมะชุดซึ่งบริษัทเกียวโตแอนิเมชันดัดแปลงมาจากเกมนี้นั้นได้รับคำชื่นชูเป็นอันมาก อนิเมะฤดูกาลแรกได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ทางบวกจนถึงกึ่งบวกกึ่งลบคละกันไป ส่วนฤดูกาลที่สองได้รับการวิจารณ์เชิงแซ่ซ้องเป็นวงกว้าง ในการนี้ เว็บไซต์เด็มอนิเมะรีวิวส์ (THEM Anime Reviews) ให้คะแนนทั้งสองฤดูกาลสี่จากห้า โดยทิม โจนส์ (Tim Jones) นักวิจารณ์จากเว็บไซต์นี้ ว่า อนิเมะฤดูกาลแรกเป็น "งานภาพยนตร์อันดัดแปลงงานของคีย์ได้สมจริงสมจังและเที่ยงตรงมากที่สุด ณ ขณะนี้"[100] ส่วนสติก ฮอกเซ็ต (Stig Høgset) จากเว็บไซต์เดียวกัน ว่า ฤดูกาลที่สองนั้น "จะยังให้รวดร้าวไปกับโศกนาฏกรรมและละครอย่างยิ่ง ซึ่งเป็นไปได้มากว่าจะนำพาให้ใจคุณสลาย นับเป็นจุดที่กาลเวลาเริ่มผันผ่านไปโดยแท้ อันช่วยให้เศษเสี้ยวอารมณ์ในรายการนี้มีน้ำหนักสมจริงขึ้นพอดู"[101]

เธรอน มาร์ติน (Theron Martin) จากเครือข่ายข่าวอนิเมะ (Anime News Network) ให้คะแนนบีบวกแก่ฤดูกาลแรก เขาไม่ชอบใจที่มีการใช้โมะเอะเป็นองค์ประกอบอย่างกว้างขวาง กระนั้น ก็มองว่า จะเป็นสื่อบันเทิงอันดึงดูดใจ "ฐานผู้นิยมชมชอบซึ่งมักแสวงหาความสำราญในสิ่งประเภทนี้" ได้[102] ส่วนฤดูกาลที่สองนั้น เขาให้คะแนนดีขึ้นมาหน่อย โดยให้เอลบ และชื่นชมว่า ครึ่งหลังของฤดูกาลนี้เป็น "ส่วนของ แคลนนาด ที่เขียนได้ดีที่สุด...[เพราะ] สร้างและสำแดงเสน่ห์ทางอารมณ์ได้อย่างทรงประสิทธิภาพ ช่วยเสริมส่งแก่นเรื่องหลักของรายการชุดนี้ (เป็นต้นว่า ความสำคัญของครอบครัว) และไปสู่ความเป็นที่สุดได้อย่างเห็นประจักษ์" เขาลงความเห็นว่า "มีแต่พวกชอบหยามโลกเท่านั้นที่จะไม่ยอมหลั่งน้ำตาแม้แต่หยดเดียวเมื่อถึงฉากบางฉาก"[103]

ฝ่ายท็อด ดักลัส จูเนียร์ (Todd Douglass Jr.) วิจารณ์ฤดูกาลที่สองไว้ในเว็บไซต์ดีวีดีทอล์ก (DVD Talk) ว่า "วิถีอารมณ์อัน แคลนนาด นำพาคุณไปสู่นั้นช่างน่าเกรงขามนัก เป็นเสน่ห์ เป็นความน่ารัก ชวนหัว น่าพิศวง และสะเทือนใจในเวลาเดียวกัน มีรายการไม่กี่รายการที่มีค่าน่าจดจำและไม่กี่รายการที่ยืดยาวแต่ดีเด่นได้ถึงเพียงนี้" เขาสรุปว่า เรื่องราวที่ดำเนินไปนั้น "ถึงใจ" และ "เตือนใจในหลาย ๆ ทาง" กับทั้ง "น้อยรายการนักที่ขึ้นสู่ระดับบนได้อย่างที่รายการนี้ทำ" แล้วเขาก็จัดระดับฤดูกาลนี้ว่า "ควรชมดูอย่างยิ่งยวด"[104]

การขาย

แก้

เกม

แก้

เกมนี้ฉบับจำกัดสำหรับเล่นบนวินโดวส์นั้น ตั้งแต่จำหน่ายเป็นต้นมา ได้รับการจัดว่าขายดีเป็นอันดับหนึ่งถึงสองครั้งตามการจัดอันดับเกมสาวน้อยทั้งปวงที่ขายอยู่ทั่วประเทศญี่ปุ่น[105] แต่ครั้นจัดอันดับเป็นครั้งสาม กลับปรากฏว่า ความนิยมเสื่อมลง โดยขายดีเป็นอันดับสี่สิบหกในห้าสิบ[106] เมื่อจัดอันดับเป็นครั้งสุดท้ายในช่วงสองสัปดาห์แรกของเดือนมิถุนายน 2547 ยอดขายกระเตื้องขึ้นเป็นอันดับสี่สิบในห้าสิบ[107]

ส่วนฉบับปรกติสำหรับเล่นบนวินโดวส์นั้น แรกเผยแพร่ ขายดีเป็นอันดับยี่สิบหก[108] ในการจัดอันดับสองครั้งถัดมา ขายดีเป็นอันดับสามสิบเจ็ดและสี่สิบเอ็ดตามลำดับ[109] ในการนี้ เว็บไซต์แอมะซอน (Amazon) ภาษาญี่ปุ่นให้ข้อมูลข่าวสารว่า ในปี 2547 ฉบับนี้ขายได้ทั้งหมดหนึ่งแสนห้าร้อยหกสิบชุด[110]

ฉบับ แคลนนาดฟูลวอยซ์ นั้น ได้รับการจัดเข้าในอันดับเกมสำหรับคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลที่ทำยอดขายได้มากที่สุดทั่วประเทศญี่ปุ่นสองครั้ง คือ ประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2551 กับมีนาคม 2551 การจัดอันดับครั้งแรกเผยว่า ขายดีเป็นอันดับเจ็ด ก่อนจะลดลงมาเป็นอันดับยี่สิบในครั้งหลัง[111][112]

ฉบับเล่นกับเครื่องบังคับนั้น ตั้งแต่วันที่ 18 เมษายน 2554 สืบมา ขายได้มากกว่าหนึ่งแสนหนึ่งหมื่นสามพันชุด[113][114] ในจำนวนนี้ ฉบับเล่นกับเครื่องเพลย์สเตชันขายได้เจ็ดพันสี่ร้อยหกสิบหกชุดในระหว่างวันที่ 18 ถึง 24 เมษายน 2554[115] ขณะที่สองฉบับแรกของเกมนี้รุ่น ฮิกะริมิมะโมะรุซะกะมิชิเดะ สำหรับเล่นกับเครื่องเพลย์สเตชันแบบพกพานั้น เมื่อสิ้นปี 2553 ขายได้สองหมื่นแปดพันเก้าร้อยแปดสิบสี่ชุด[114]

อนิเมะ

แก้

ดีวีดีอนิเมะชุดซึ่งบริษัทเกียวโตแอนิเมชันผลิตนั้นมียอดจำหน่ายดีมาโดยตลอด สำหรับอนิเมะฤดูกาลแรกนั้น เมื่อจำหน่ายได้หนึ่งสัปดาห์ ดีวีดีแบบจำกัดชุดที่หนึ่งขายดีเป็นอันดับสาม[116] ชุดที่สองถึงที่ห้าขายดีเป็นอันดับหนึ่ง[117][118][119][120] ชุดที่หกขายดีเป็นอันดับสี่[121] และชุดที่เจ็ดกับที่แปดขายดีเป็นอันดับหนึ่ง[122][123] โดยเฉพาะชุดที่สามยังขายดีเป็นอันดับหกต่อเนื่องเป็นเวลาหนึ่งปีตั้งแต่เดือนธันวาคม 2550 ถึงเดือนพฤศจิกายน 2551 ด้วย[124] ขณะที่ฉบับกล่องชุดบลูเรย์นั้นขายดีเป็นอันดับสามในสัปดาห์[125] แต่เพียงสัปดาห์ถัดมา ความนิยมก็ตกต่ำลง กลายเป็นขายดีเป็นอันดับสิบสาม[126]

ส่วนอนิเมะฤดูกาลที่สองนั้น เมื่อจำหน่ายได้หนึ่งสัปดาห์ ดีวีดีแบบจำกัดชุดแรกขายดีเป็นอันดับสอง ยอดขายอยู่ที่หนึ่งหมื่นเจ็ดพันห้าร้อยยี่สิบเอ็ดหน่วย[127] ชุดที่สองถึงที่สี่ขายดีเป็นอันดับสี่ แต่ละชุดขายได้หนึ่งหมื่นหกพันหน่วย[128][129][130] ชุดที่ห้าถึงที่เจ็ดขายดีเป็นอันดับหนึ่ง แต่ละชุดขายได้หนึ่งหมื่นสี่พันหน่วย[131][132][133][134][135] ในสัปดาห์ถัดมา ชุดที่หกขายได้มากเป็นอันดับหก[136] และชุดที่แปดได้อันดับห้า[137]

สำหรับดีวีดีอนิเมะโรงที่บริษัทโทเอแอนิเมชันผลิตนั้น เมื่อจำหน่ายได้หนึ่งสัปดาห์ ปรากฏว่าขายได้มากเป็นอันดับสาม ครั้นขึ้นสัปดาห์ใหม่ ยอดขายก็ถดถอยลงทันที โดยขายได้มากเป็นอันดับสิบ[138][139]

การตกทอด

แก้

ในระหว่างวันที่ 26 มีนาคม ถึง 26 มิถุนายน 2551 บริษัทเกมเมเนียดิจิทัลเอนเตอร์เทนเมนต์ (Gamania Digital Entertainment) ซึ่งเป็นบริษัทผลิตเกมของสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้จัดให้เกม ไฮเท็นออนไลน์ (Hiten Online) กับเกม โฮลีบีสต์ออนไลน์ (Holy Beast Online) อันเป็นเกมเล่นสวมบทบาท มีฉากจาก แคลนนาด[140] โดยผู้เล่มเกมทั้งสองสามารถเลือกสวมเครื่องแต่งกายที่คล้ายเครื่องแบบฤดูหนาวของนักเรียนใน แคลนนาด กับเลือกเลี้ยงหมูป่าโบตั๋น (Botan) สัตว์เลี้ยงของเคียวได้ด้วย[141] นอกจากนี้ ผู้เล่นที่ตัวละครของตนมีระดับสูงกว่ายี่สิบแล้วสามารถเข้าร่วมเล่นสลากพนัน และผู้ชนะห้าร้อยคนจะได้รับรางวัลเป็นสินค้าเกี่ยวเนื่องกับ แคลนนาด เป็นต้นว่า แฟ้มเอกสาร บัตรเติมเงินอินเทอร์เน็ต ผ้าซับกายหลังเล่นกีฬา พรมผนัง ตลอดจนสิ่งอื่น ๆ บรรดาที่ใช้ระหว่างเล่นเกม[142]

สำนักพิมพ์แอสกีมีเดียเวิกส์ร่วมกับบริษัทวริดจ์ (Vridge) ผลิตเกมแบบวิชวลโนเวลสำหรับเล่นกับเครื่องเพลย์สเตชัน 2 เรียก โนะงิซะกะฮะรุกะโนะฮิมิสึ: คอสเพลย์ฮะจิเมะมะชิตะ (乃木坂春香の秘密 こすぷれ、はじめました♥; "ความลับของฮะรุกะ โนะงิซะกะ: การแต่งคอสเพลย์เริ่มขึ้นแล้ว") จำหน่ายตั้งแต่เดือนกันยายน 2551 มีเนื้อหาอ้างอิงไลท์โนเวลชุด โนะงิซะกะฮะรุกะโนะฮิมิสึ (Nogizaka Haruka no Himitsu) โดยจัดให้ตัวละครจากไลท์โนเวลดังกล่าวแต่งคอสเพลย์เป็นตัวละครต่าง ๆ จากไลท์โนเวลยอดนิยมห้าเรื่องของสำนักพิมพ์แอสกีมีเดียเวิกส์ ในจำนวนนี้รวมตัวนางสามตัวจาก แคลนนาด ด้วย กล่าวคือ ฮะรุกะ โนะงิซะกะ จะได้แต่งเป็นโคะโตะมิ, มิกะ โนะงิซะกะ (Mika Nogizaka) เป็นนะงิซะแต่มีผมยาว และชีนะ อะมะมิยะ (Shiina Amamiya) เป็นโทะโมะโยะ[143] อนึ่ง เมื่อพาตัวละครหญิงตัวใดจากไลท์โนเวล โนะงิซะกะฮะรุกะโนะฮิมิสึ ออกไปทอดน่องท่องเที่ยวตามสถานที่ต่าง ๆ ในฉากระหว่างแต่งคอสเพลย์เป็นตัวละครอื่นแล้ว ผู้เล่นจะได้ทัศนาคอมพิวเตอร์กราฟิกส์พิเศษที่เกี่ยวข้องเป็นการเฉพาะ เช่น เมื่อให้มิกะแต่งเป็นนะงิซะ ก็จะได้ชมภาพมิกะกระทำกิริยาดังนะงิซะ มีบริโภคขนมดังโงะเป็นอาทิ[143] และเสียงพากย์ก็จะเปลี่ยนไปเป็นเสียงของผู้พากย์ตัวละครอื่นนั้น ๆ แทนด้วย[144]

อนึ่ง บริษัทเฮดล็อก (Headlock) ยังพัฒนา ไอสเปซ (Ai Sp@ce) อันเป็นชุมชนออนไลน์สามมิติที่เรียกโลกเสมือนขึ้น เริ่มให้บริการตั้งแต่เดือนตุลาคม 2551 สมาชิกสามารถมีปฏิสัมพันธ์กับตัวนางจากเกมสาวน้อยต่าง ๆ เป็นต้นว่า เกม ชัฟเฟิล! (Shuffle!), ดะคาโปะ II (Da Capo II) และ แคลนนาด[145][146] ในโลกเสมือนนี้มีเกาะต่าง ๆ ซึ่งสร้างเป็นที่หย่อนใจโดยอ้างอิงเกมข้างต้น และเชื่อมต่อกับเกาะกลางเรียก "อะกิฮะบะระ" (Akihabara) อันจำลองจากย่านอะกิฮะบะระในกรุงโตเกียว อีกทีเพื่อลดทอนช่องว่างระหว่างเกมต่าง ๆ ในการนี้ ผู้เล่นชอบที่จะสร้างอวตารได้ตามใจเพื่อใช้แทนตัวในขณะเล่นเกม ทั้งชอบที่จะเลือกสันนิวาสกับตัวนางในเกมใด ๆ ก็ได้ ตัวนางเช่นว่านี้เรียก "ตุ๊กตาแสดง" (character doll)[147] ผู้เล่นกับตัวนางที่เขาเลือกจะได้พำนักอยู่บนเกาะตามเกมของตัวนางนั้น บนเกาะมีบ้าน เครื่องเรือน และเสื้อผ้าอาภรณ์ให้เลือกซื้อ ฝ่ายตัวนางนั้นยังมีความสามารถพัฒนาบุคลิกภาพของตนให้รับกับผู้เล่นแต่ละคนได้เป็นการเฉพาะด้วย[145]

หมายเหตุ

แก้
  1. Released as downloadable content via Xbox Live.
  2. Released as downloadable content on the PlayStation Store.

อ้างอิง

แก้
  1. 1.00 1.01 1.02 1.03 1.04 1.05 1.06 1.07 1.08 1.09 1.10 1.11 Key. Clannad (Windows) (ภาษาญี่ปุ่น). Visual Art's.
  2. 2.00 2.01 2.02 2.03 2.04 2.05 2.06 2.07 2.08 2.09 2.10 2.11 Clannad Visual Fan Book. Enterbrain. 2004. ISBN 978-4-757720-25-1.
  3. 3.0 3.1 pre-Clannad (ภาษาญี่ปุ่น). SoftBank Creative. April 15, 2004. ISBN 4-7973-2723-5.
  4. "FAQ [alt.music.enya] Frequently Asked Questions (Monthly Posting)". Faqs.org. สืบค้นเมื่อ 2012-03-22.
  5. MacKillop, James (2004). Dictionary of Celtic Mythology. Oxford University Press. ISBN 0-19-860967-1.
  6. "Clannad PC limited edition official listing" (ภาษาญี่ปุ่น). Visual Art's. สืบค้นเมื่อ June 6, 2009.
  7. Guest, Lady Charlotte (1997). The Mabinogion. Dover Publications. ISBN 0-486-29541-9.
  8. Davies, Cennard (2006). The Welsh Language (illustrated ed.). Y Lolfa. p. 11. ISBN 978-0-8624-3866-1.
  9. "Tomoyo After official character bios" (ภาษาญี่ปุ่น). Key. สืบค้นเมื่อ May 29, 2009.
  10. 10.0 10.1 "Clannad staff information" (ภาษาญี่ปุ่น). ErogameScape. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-05-13. สืบค้นเมื่อ June 8, 2007.
  11. "Jun Maeda comments on Clannad's popularity" (ภาษาญี่ปุ่น). ASCII Media Works. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-10-11. สืบค้นเมื่อ October 25, 2008.
  12. Yūto Tonokawa (June 26, 2008). "Little Busters EX Development Journal" (ภาษาญี่ปุ่น). Key. สืบค้นเมื่อ August 16, 2008.
  13. "Clannad introduction website" (ภาษาญี่ปุ่น). Key. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2001-12-13. สืบค้นเมื่อ November 22, 2008.
  14. 14.0 14.1 14.2 14.3 "Clannad's official visual novel website" (ภาษาญี่ปุ่น). Key. สืบค้นเมื่อ January 30, 2008.
  15. 15.0 15.1 "Clannad 初回限定版" [Clannad limited edition] (ภาษาญี่ปุ่น). Visual Art's. สืบค้นเมื่อ February 10, 2012.[ลิงก์เสีย]
  16. "Clannad Full Voice" (ภาษาญี่ปุ่น). Visual Art's. สืบค้นเมื่อ February 10, 2012.[ลิงก์เสีย]
  17. "Key 10th Memorial Box official website" (ภาษาญี่ปุ่น). Key. สืบค้นเมื่อ April 6, 2009.
  18. "Keyの過去五作品がメモリアルエディションで発売です!" [Key's Previous Five Titles Get Memorial Editions!] (ภาษาญี่ปุ่น). Key. April 7, 2010. สืบค้นเมื่อ April 8, 2010.
  19. "Clannad" (ภาษาญี่ปุ่น). Interchannel. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-02-26. สืบค้นเมื่อ February 10, 2012.
  20. "Clannad ベスト版発売決定!" [Clannad Best Edition to be Sold!] (ภาษาญี่ปุ่น). GungHo Works. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-05-24. สืบค้นเมื่อ February 10, 2012.
  21. "Clannad ベスト版 (通常版)" [Clanand Best edition (regular edition)] (ภาษาญี่ปุ่น). Amazon.co.jp. สืบค้นเมื่อ February 10, 2012.
  22. "key3部作プレミアムBOX" [Key 3-part Work Premium BOX] (ภาษาญี่ปุ่น). GungHo Works. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-07-16. สืบค้นเมื่อ February 10, 2012.
  23. 23.0 23.1 23.2 "Clannad Xbox 360 release official website" (ภาษาญี่ปุ่น). Prototype. สืบค้นเมื่อ July 24, 2008.
  24. 24.0 24.1 "Clannad" (ภาษาญี่ปุ่น). Prototype. สืบค้นเมื่อ November 10, 2010.
  25. "softbank版「CLANNAD」配信中です" [Softbank Edition of Clannad Currently in Distribution] (ภาษาญี่ปุ่น). Key. January 25, 2008. สืบค้นเมื่อ January 25, 2008.
  26. 26.0 26.1 "Clannad PSP release official website" (ภาษาญี่ปุ่น). Prototype. สืบค้นเมื่อ April 28, 2008.
  27. "Sequel of Kanon and Air, the Heart-Warming Visual Novel Clannad to be Sold on the PSP!" (ภาษาญี่ปุ่น). ASCII Media Works. March 7, 2008. สืบค้นเมื่อ March 8, 2008.
  28. "Official Another Story Clannad: Hikari Mimamoru Sakamichi de product listing" (ภาษาญี่ปุ่น). Amazon.co.jp. ASIN 4840232504. {{cite web}}: |url= ไม่มีหรือว่างเปล่า (help)
  29. Dengeki G's Magazine (ภาษาญี่ปุ่น). ASCII Media Works (September 2004). {{cite journal}}: |title= ไม่มีหรือว่างเปล่า (help)
  30. Dengeki G's Magazine (ภาษาญี่ปุ่น). ASCII Media Works (October 2005). {{cite journal}}: |title= ไม่มีหรือว่างเปล่า (help)
  31. "Clannad Cell Phone Novel Hikari Mimamoru Sakamichi de Information!" (ภาษาญี่ปุ่น). Key. March 12, 2008. สืบค้นเมื่อ March 12, 2008.
  32. "Key's official blog entry on the re-release of the short story collection via cell phones" (ภาษาญี่ปุ่น). Key. January 25, 2008. สืบค้นเมื่อ January 25, 2008.
  33. "CLANNAD 光見守る坂道で" [Clannad: Hikari Mimamoru Sakamichi de] (ภาษาญี่ปุ่น). Prototype. สืบค้นเมื่อ January 25, 2012.
  34. "ファン待望のスピンオフストーリー「CLANNAD -クラナド- 光見守る坂道で 上巻/下巻」" [The Fan's Long Awaited Spin-off Story Clannad: Hikari Mimamoru Sakamichi de in Two Volumes] (ภาษาญี่ปุ่น). Famitsu. April 3, 2010. สืบค้นเมื่อ April 6, 2010.
  35. "Clannad 光見守る坂道で 上巻" [Clannad: Hikari Mimamoru Sakamichi de volume 1] (ภาษาญี่ปุ่น). Android Market. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-12-18. สืบค้นเมื่อ February 10, 2012.
  36. "Clannad 光見守る坂道で 上巻 Android版" [Clannad: Hikari Mimamoru Sakamichi de volume 1 Android edition] (ภาษาญี่ปุ่น). Visual Art's. สืบค้นเมื่อ February 10, 2012.[ลิงก์เสีย]
  37. "Clannad Anthology Novel volume 1 official listing" (ภาษาญี่ปุ่น). Jive. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-09-16. สืบค้นเมื่อ June 6, 2009.
  38. "'Clannad Anthology Novel volume 2 official listing" (ภาษาญี่ปุ่น). Jive. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-02-09. สืบค้นเมื่อ June 6, 2009.
  39. "Clannad. volume 1 listing" (ภาษาญี่ปุ่น). Amazon.co.jp. ASIN 4434124196. {{cite web}}: |url= ไม่มีหรือว่างเปล่า (help)
  40. "Clannad. volume 3 listing" (ภาษาญี่ปุ่น). Amazon.co.jp. ASIN 4434136119. {{cite web}}: |url= ไม่มีหรือว่างเปล่า (help)
  41. "Clannad Magic Hour" (ภาษาญี่ปุ่น). Amazon.co.jp. ASIN 4434144170. {{cite web}}: |url= ไม่มีหรือว่างเปล่า (help)
  42. "Clannad Official Comic". Comic Rush (ภาษาญี่ปุ่น). No. May 2005. Jive.
  43. "Clannad Official Comic". Comic Rush (ภาษาญี่ปุ่น). No. April 2009. Jive.
  44. "Clannad Official Comic volume 1 official listing" (ภาษาญี่ปุ่น). Jive. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-05-01. สืบค้นเมื่อ June 6, 2009.
  45. "Clannad Official Comic volume 8 official listing" (ภาษาญี่ปุ่น). Jive. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-04-22. สืบค้นเมื่อ June 6, 2009.
  46. "Hikari Mimamoru Sakamichi de". Comi Digi + (ภาษาญี่ปุ่น). Vol. 8. Flex Comix. June 21, 2007.
  47. "Hikari Mimamoru Sakamichi de". Comi Digi + (ภาษาญี่ปุ่น). Vol. 15. Flex Comix. August 21, 2008.
  48. "Official listing for volume 1 of the second Clannad manga" (ภาษาญี่ปุ่น). Broccoli. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-02-08. สืบค้นเมื่อ February 16, 2008.
  49. "Official announcement of the autograph session for the first volume of the second Clannad manga" (ภาษาญี่ปุ่น). Broccoli. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-02-08. สืบค้นเมื่อ February 16, 2008.
  50. "Official Another Story Clannad: Hikari Mimamoru Sakamichi de manga volume 2 listing" (ภาษาญี่ปุ่น). Amazon.co.jp. ASIN 4797352124. {{cite web}}: |url= ไม่มีหรือว่างเปล่า (help)
  51. "Shaa". Dengeki G's Magazine (ภาษาญี่ปุ่น). No. August 2007. ASCII Media Works.
  52. "Dengeki G's Festival! Comic Volume 8" (ภาษาญี่ปุ่น). Mangaoh. สืบค้นเมื่อ October 25, 2009.
  53. "Clannad 1 (Dengeki Comics)" (ภาษาญี่ปุ่น). Amazon.co.jp. ASIN 484024216. {{cite web}}: |url= ไม่มีหรือว่างเปล่า (help)
  54. "Clannad 3 (Dengeki Comics)" (ภาษาญี่ปุ่น). Amazon.co.jp. ASIN 4048701428. {{cite web}}: |url= ไม่มีหรือว่างเปล่า (help)
  55. "Tomoyo Dearest". Dragon Age Pure (ภาษาญี่ปุ่น). Vol. 9. Fujimi Shobo. 2008-02-20.
  56. "Tomoyo Dearest". Dragon Age Pure (ภาษาญี่ปุ่น). Vol. 12. Fujimi Shobo. 2008-08-20.
  57. "New Clannad, Da Capo, Jinno Manga to Launch in Japan". Anime News Network. February 5, 2008. สืบค้นเมื่อ February 17, 2008.
  58. "Clannad: Tomoyo Dearest manga volume listing" (ภาษาญี่ปุ่น). Kadokawa Shoten. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-05-21. สืบค้นเมื่อ June 6, 2009.
  59. 59.0 59.1 "MC Comics previous publications list" (ภาษาญี่ปุ่น). Enterbrain. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-01-05. สืบค้นเมื่อ October 26, 2009.
  60. "Clannad manga anthology volume 1 by Ohzora" (ภาษาญี่ปุ่น). Amazon.co.jp. ASIN 4776713071. {{cite web}}: |url= ไม่มีหรือว่างเปล่า (help)
  61. "Clannad manga anthology volume 5 by Ohzora" (ภาษาญี่ปุ่น). Amazon.co.jp. ASIN 477671597. {{cite web}}: |url= ไม่มีหรือว่างเปล่า (help)
  62. "Clannad Comic Anthology: Another Symphony product listing" (ภาษาญี่ปุ่น). Amazon.co.jp. ASIN 486176078. {{cite web}}: |url= ไม่มีหรือว่างเปล่า (help)
  63. "Clannad Comic Anthology volume 1 (ID Comics DNA Media Comics)" (ภาษาญี่ปุ่น). Amazon.co.jp. ASIN 4758001898. {{cite web}}: |url= ไม่มีหรือว่างเปล่า (help)
  64. "Clannad Comic Anthology volume 2 (ID Comics DNA Media Comics)" (ภาษาญี่ปุ่น). Amazon.co.jp. ASIN 4758001944. {{cite web}}: |url= ไม่มีหรือว่างเปล่า (help)
  65. "Clannad Comic Anthology Tokubetsu Hen (ID Comics DNA Media Comics)" (ภาษาญี่ปุ่น). Amazon.co.jp. ASIN 4758004196. {{cite web}}: |url= ไม่มีหรือว่างเปล่า (help)
  66. "Clannad drama CDs published by Frontier Works" (ภาษาญี่ปุ่น). Animate. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-03-18. สืบค้นเมื่อ March 16, 2007.
  67. 67.0 67.1 "Prototype's official Clannad drama CD website" (ภาษาญี่ปุ่น). Prototype. สืบค้นเมื่อ July 29, 2007.
  68. "Tokyo Anime Fair: New Kanon and Movies". Anime News Network. March 25, 2006. สืบค้นเมื่อ July 22, 2007.
  69. "Clannad film staff and cast" (ภาษาญี่ปุ่น). Toei Animation. สืบค้นเมื่อ May 29, 2008.
  70. "DVD information at the Clannad film's official website" (ภาษาญี่ปุ่น). Toei Animation. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-10-03. สืบค้นเมื่อ February 4, 2012.
  71. "Sentai Filmworks Adds Clannad Anime Film with Dub, Sub". Anime News Network. November 13, 2010. สืบค้นเมื่อ November 14, 2010.
  72. 72.0 72.1 72.2 72.3 "Clannad anime news at the official Clannad anime website" (ภาษาญี่ปุ่น). Kyoto Animation. สืบค้นเมื่อ October 9, 2007.
  73. "Clannad Blu-ray Box" (ภาษาญี่ปุ่น). Amazon.co.jp. สืบค้นเมื่อ March 15, 2010.
  74. "Clannad After Story TV Sequel to be Announced". Anime News Network. March 27, 2008. สืบค้นเมื่อ March 27, 2008.
  75. "Kuroshitsuji Anime Confirmed to Premiere This Fall". Anime News Network. July 11, 2008. สืบค้นเมื่อ July 15, 2008.
  76. "Clannad After Story's Last DVD to Include Kyou Arc". Anime News Network. April 12, 2009. สืบค้นเมื่อ April 12, 2009.
  77. "Clannad After Story (English Subtitles) Blu-ray Box (Limited Release) (Blu-ray)". CD Japan. สืบค้นเมื่อ December 30, 2010.
  78. "ADV Films to Distribute Anime for Sentai Filmworks". Anime News Network. October 20, 2008. สืบค้นเมื่อ November 8, 2008.
  79. "Half-Season Princess Resurrection, Clannad Sets Slated". Anime News Network. January 12, 2009. สืบค้นเมื่อ January 13, 2009.
  80. "Clannad: Collection 2". Amazon.com. สืบค้นเมื่อ June 7, 2009.
  81. "Sentai Filmworks Adds Clannad After Story, Ghost Hound, He is My Master". Anime News Network. July 28, 2009. สืบค้นเมื่อ July 28, 2009.
  82. "Clannad, Blue Drop, Ghost Hound, Tears to Tiara Get Dubs". Anime News Network. March 15, 2010. สืบค้นเมื่อ March 16, 2010.
  83. "Section23 Films Licenses Papillion Rose, La Corda D'oro". Anime News Network. March 19, 2010. สืบค้นเมื่อ December 3, 2010.
  84. "Anime Network to Premiere Clannad English Dub this March". Anime Network. March 17, 2010. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-03-23. สืบค้นเมื่อ April 3, 2012.
  85. "Section23 Films Announces April Slate". Anime News Network. January 17, 2011. สืบค้นเมื่อ January 17, 2011.
  86. "Sentai Filmworks Adds Ro-Kyu-Bu, Loups-Garous, ef". Anime News Network. July 3, 2011. สืบค้นเมื่อ July 3, 2011.
  87. 87.0 87.1 87.2 87.3 87.4 "Clannad radio show official website" (ภาษาญี่ปุ่น). Animate. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-06-24. สืบค้นเมื่อ June 6, 2009.
  88. "Nagisa to Sanae no Omae ni Rainbow Radio CD vol. 2 listing" (ภาษาญี่ปุ่น). Amazon.co.jp. สืบค้นเมื่อ June 6, 2009.
  89. "Nagisa to Sanae no Omae ni Rainbow Radio CD vol. 3 listing" (ภาษาญี่ปุ่น). Amazon.co.jp. สืบค้นเมื่อ June 6, 2009.
  90. "Nagisa to Sanae no Omae ni Rainbow CD Volume 4 to be Sold!" (ภาษาญี่ปุ่น). Onsen. January 23, 2009. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-01-29. สืบค้นเมื่อ June 6, 2009.
  91. "Clannad Radio CD Gets Cover Art, and Also a Hyper Sale Decision!" (ภาษาญี่ปุ่น). Onsen. January 23, 2009. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-03-03. สืบค้นเมื่อ June 6, 2009.
  92. "(Guest Information Addition)Nagisa to Sanae to Akio no Omae ni Hyper Rainbow Second CD volume to be Sold!" (ภาษาญี่ปุ่น). Onsen. May 1, 2009. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-09-21. สืบค้นเมื่อ June 6, 2009.
  93. 94.0 94.1 "Key Sounds Label's discography" (ภาษาญี่ปุ่น). Key Sounds Label. สืบค้นเมื่อ April 25, 2008.
  94. "Clannad Film Soundtrack listing" (ภาษาญี่ปุ่น). Amazon.co.jp. สืบค้นเมื่อ June 6, 2009.
  95. ""Toki o Kizamu Uta / Torch" Piano Arrange Disc album listing". VGMdb. สืบค้นเมื่อ June 6, 2009.
  96. "Dengeki G's Magazine top fifty bishōjo games" (ภาษาญี่ปุ่น). ASCII Media Works. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-10-11. สืบค้นเมื่อ January 3, 2011.
  97. Anoop Gantayat (March 1, 2006). "Now Playing in Japan". IGN. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-03-04. สืบค้นเมื่อ November 10, 2009.
  98. Romano, Sal (December 29, 2011). "Famitsu's top 20 list of tear-inducing games". สืบค้นเมื่อ February 24, 2012.
  99. Tim Jones. "Clannad". THEM Anime Reviews. สืบค้นเมื่อ January 19, 2010.
  100. Stig Høgset. "Clannad ~After Story~". THEM Anime Reviews. สืบค้นเมื่อ February 2, 2010.
  101. Theron Martin (June 19, 2009). "Review: Clannad Sub.DVD - Collection 2". Anime News Network. สืบค้นเมื่อ February 13, 2010.
  102. Theron Martin (December 16, 2009). "Review: Clannad After Story Sub.DVD 2 - Collection 2". Anime News Network. สืบค้นเมื่อ January 19, 2010.
  103. Todd Douglass Jr. (December 8, 2009). "Clannad: After Story - Collection 2". DVD Talk. สืบค้นเมื่อ January 19, 2010.
  104. "PC News ranking for bishōjo games; Clannad ranks 1 twice" (ภาษาญี่ปุ่น). Peakspub. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2005-12-27. สืบค้นเมื่อ January 27, 2012.
  105. "PC News ranking for bishōjo games; Clannad ranks 1 and 46" (ภาษาญี่ปุ่น). Peakspub. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2005-12-27. สืบค้นเมื่อ March 13, 2007.
  106. "PC News ranking for bishōjo games; Clannad ranks 40" (ภาษาญี่ปุ่น). Peakspub. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2004-08-10. สืบค้นเมื่อ March 13, 2007.
  107. "PC News ranking for bishōjo games; Clannad ranks 16" (ภาษาญี่ปุ่น). Peakspub. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2005-12-27. สืบค้นเมื่อ March 13, 2007.
  108. "PC News ranking for bishōjo games; Clannad ranks 37 and 41" (ภาษาญี่ปุ่น). Peakspub. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2005-12-27. สืบค้นเมื่อ March 13, 2007.
  109. "売上ランキング (2004年 Hゲーム)" [Sales Ranking (2004 H-games)]. Wiki-Mania Store (ภาษาญี่ปุ่น). Amazon.co.jp. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-06-29. สืบค้นเมื่อ February 10, 2012.
  110. "セールスランキング" [Sales Ranking] (ภาษาญี่ปุ่น). PCpress. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-04-18. สืบค้นเมื่อ December 31, 2010.
  111. "セールスランキング" [Sales Ranking] (ภาษาญี่ปุ่น). PCpress. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-05-25. สืบค้นเมื่อ December 31, 2010.
  112. "Clannad (PS2) (based on Famitsu data)". Garaph. สืบค้นเมื่อ March 16, 2012.
  113. 114.0 114.1 "Prototype (based on Famitsu data)". Garaph. สืบค้นเมื่อ March 16, 2012.
  114. Rose, Mike (April 28, 2011). "Pokemon Typing Game Tops Japanese Sales Chart". Gamasutra. สืบค้นเมื่อ January 29, 2012.
  115. "Japanese Animation DVD Ranking, December 19–25". Anime News Network. December 27, 2007. สืบค้นเมื่อ April 12, 2008.
  116. "Japanese Animation DVD Ranking, January 16–22". Anime News Network. January 27, 2008. สืบค้นเมื่อ April 12, 2008.
  117. "Japanese Animation DVD Ranking, February 20–26". Anime News Network. February 29, 2008. สืบค้นเมื่อ April 12, 2008.
  118. "Japanese Animation DVD Ranking, March 19–25". Anime News Network. April 11, 2008. สืบค้นเมื่อ April 12, 2008.
  119. "Japanese Animation DVD Ranking, April 16–22". Anime News Network. April 26, 2008. สืบค้นเมื่อ April 27, 2008.
  120. "Japanese Animation DVD Ranking, May 21–27". Anime News Network. June 1, 2008. สืบค้นเมื่อ June 2, 2008.
  121. "Japanese Animation DVD Ranking, June 18–25". Anime News Network. June 30, 2008. สืบค้นเมื่อ July 14, 2008.
  122. "Japanese Animation DVD Ranking, July 17–23". Anime News Network. July 29, 2008. สืบค้นเมื่อ July 29, 2008.
  123. "Amazon Japan Posts 2008's Top-10 DVDs, CDs, Toys". Anime News Network. December 3, 2008. สืบค้นเมื่อ December 3, 2008.
  124. "Japan's Animation Blu-ray Disc Ranking, April 26-May 2". Anime News Network. May 9, 2010. สืบค้นเมื่อ May 9, 2010.
  125. "Japan's Animation Blu-ray Disc Ranking, May 3–9". Anime News Network. May 13, 2010. สืบค้นเมื่อ May 14, 2010.
  126. "Japanese Animation DVD Ranking, December 3–9". Anime News Network. December 9, 2008. สืบค้นเมื่อ December 9, 2008.
  127. "Japanese Animation DVD Ranking, January 6–12". Anime News Network. January 13, 2009. สืบค้นเมื่อ January 13, 2009.
  128. "Japanese Animation DVD Ranking, February 3–9". Anime News Network. February 10, 2009. สืบค้นเมื่อ February 10, 2009.
  129. "Japanese Animation DVD Ranking, March 3–9". Anime News Network. March 10, 2009. สืบค้นเมื่อ March 10, 2009.
  130. "Japanese Animation DVD Ranking, March 31-April 6". Anime News Network. April 7, 2009. สืบค้นเมื่อ April 8, 2009.
  131. "Japanese Animation DVD Ranking, May 4–10". Anime News Network. May 12, 2009. สืบค้นเมื่อ May 13, 2009.
  132. "Japanese Animation DVD Ranking, June 1–7". Anime News Network. June 10, 2009. สืบค้นเมื่อ June 10, 2009.
  133. "Japanese Animation DVD Ranking, June 29-July 5". Anime News Network. July 7, 2009. สืบค้นเมื่อ July 7, 2009.
  134. "Japanese Animation DVD Ranking, May 11–17". Anime News Network. May 19, 2009. สืบค้นเมื่อ May 20, 2009.
  135. "Japanese Animation DVD Ranking, June 8–14". Anime News Network. June 16, 2009. สืบค้นเมื่อ June 17, 2009.
  136. "Japanese Animation DVD Ranking, July 6–12". Anime News Network. July 14, 2009. สืบค้นเมื่อ July 15, 2009.
  137. "Japanese Animation DVD Ranking, March 5–11". Anime News Network. March 16, 2008. สืบค้นเมื่อ April 12, 2008.
  138. "Japanese Animation DVD Ranking, March 12–18". Anime News Network. March 20, 2008. สืบค้นเมื่อ April 12, 2008.
  139. "Clannad Join Forces with Hiten, Holy Beast MMORPGs". Anime News Network. March 27, 2008. สืบค้นเมื่อ March 27, 2008.
  140. "Gamania × Clannad Collaboration Plan, School Uniforms to Appear in Hiten Online, Holy Beast" (ภาษาญี่ปุ่น). 4gamer.net. March 26, 2008. สืบค้นเมื่อ March 27, 2008.
  141. "Information on the Clannad collaboration project" (ภาษาญี่ปุ่น). Gamania. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-03-31. สืบค้นเมื่อ March 27, 2008.
  142. 143.0 143.1 "Other Works' Costumes Appearing in Nogizaka Haruka no Himitsu! Kotomi's Costume Can Also be Worn" (ภาษาญี่ปุ่น). ASCII Media Works. September 2, 2008. สืบค้นเมื่อ September 18, 2008.
  143. "Nogizaka Haruka no Himitsu—Cosplaying up Clannad's Long Steep Slope" (ภาษาญี่ปุ่น). ASCII Media Works. September 11, 2008. สืบค้นเมื่อ September 18, 2008.
  144. 145.0 145.1 "Clannad, Shuffle, D.C. II to Launch 3D Virtual World". Anime News Network. April 8, 2008. สืบค้นเมื่อ April 8, 2008.
  145. "Ai Sp@ce official website" (ภาษาญี่ปุ่น). Ai Sp@ce. สืบค้นเมื่อ June 3, 2009.
  146. "Clannad, Shuffle!, D.C. II to Reappear in a 3D World" (ภาษาญี่ปุ่น). IT Media. April 8, 2008. สืบค้นเมื่อ April 8, 2008.

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้