แองกลิคันคอมมิวเนียน
แองกลิคันคอมมิวเนียน[1] (อังกฤษ: Anglican Communion) เป็นองค์การระหว่างประเทศของคริสตจักรระดับชาติและระดับภูมิภาคที่ถือนิกายแองกลิคัน มีการร่วมสมานฉันท์กับคริสตจักรแห่งอังกฤษในฐานะเป็นคริสตจักรแม่ในคอมมิวเนียน[2] มีอาร์ชบิชอปแห่งแคนเทอร์เบอรีเป็นประธานไพรเมต[3]
ก่อตั้ง | ค.ศ. 1867 |
---|---|
สถานะตามกฎหมาย | องค์การทางศาสนาคริสต์ระหว่างประเทศ |
สํานักงานใหญ่ | กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ |
ประธาน | อาร์ชบิชอปแห่งแคนเทอร์เบอรี |
เว็บไซต์ | http://www.anglicancommunion.org/ |
การร่วมสมานฉันท์ในที่นี้หมายถึงมีข้อตกลงร่วมกันในการกำหนดหลักความเชื่อ และชาวแองกลิคันทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในพิธีมหาสนิทศักดิ์สิทธิ์ในคริสตจักรใด ๆ ในคอมมิวเนียนได้
สมาชิกของแองกลิคันคอมมิวเนียนในปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 85 ล้านคนทั่วโลก[4] นับว่าเป็นนิกายในศาสนาคริสต์ที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสามรองจากคริสตจักรโรมันคาทอลิกและคริสตจักรอีสเทิร์นออร์ทอดอกซ์ และแม้จะอยู่ในแองกลิคันคอมมิวเนียนด้วยกันก็ไม่ใช่ทุกคริสตจักรในคอมมิวเนียนนี้ที่ใช้ชื่อแองกลิคัน เช่น คริสตจักรแห่งไอร์แลนด์ คริสตจักรสกอตติชอีปิสโคปัล คริสตจักรอีปิสโคปัล (สหรัฐ) เป็นต้น บางคริสตจักรก็เรียกตนเองว่าแองกลิคันเพราะถือว่าสืบสายมาจากคริสตจักรในอังกฤษ เช่น คริสตจักรแองกลิคันแห่งแคนาดา แต่ละคริสตจักรมีสิทธิ์กำหนดหลักความเชื่อ แนวพิธีกรรม และกระบวนการทางนิติบัญญัติเป็นของตนเอง แต่โดยมากจะถือตามคริสตจักรแห่งอังกฤษ ทุกคริสตจักรมีการจัดระเบียบองค์การแบบอิปิสโคปัล มีไพรเมตเป็นประมุข
อาร์ชบิชอปแห่งแคนเทอร์เบอรีเป็นประมุขทางศาสนาของคริสตจักรแห่งอังกฤษ แต่ไม่มีอำนาจหน้าที่ในคริสตจักรอื่น ๆ คงเป็นที่ยอมรับเฉพาะในฐานะประมุขเชิงสัญลักษณ์ของแองกลิคันคอมมิวเนียนทั่วโลก ในบรรดาไพรเมตในนิกายแองกลิคันจึงถือว่าอาร์ชบิชอปแห่งแคนเทอร์เบอรีเป็น บุคคลอันดับหนึ่งในบรรดาผู้ที่เท่าเทียมกัน (Primus inter pares)
ชาวแองกลิคันถือว่าแองกลิคันคอมมิวเนียนเป็นคริสตจักรที่เป็นหนึ่งเดียว ศักดิ์สิทธิ์ สากล และสืบมาจากอัครทูต มีทั้งความเป็นคาทอลิกและโปรเตสแตนต์ ศาสนิกชนบางคนจึงถือว่าแองกลิคันเป็นนิกายคาทอลิกที่ไม่ยอมรับพระสันตะปาปา หรือเป็นนิกายโปรเตสแตนต์แบบหนึ่งแม้จะไม่มีนักเทววิทยาโดดเด่นอย่างคริสตจักรอื่น เช่น มาร์ติน ลูเทอร์ จอห์น น็อกซ์ ฌ็อง กาลแว็ง ฮุลดริช ซวิงลี หรือจอห์น เวสลีย์[5]
สำนักงานแองกลิคันคอมมิวเนียนมีเลขาธิการคือศาสนาจารย์ โยสิอาห์ อิโดวู-เฟียรอนเป็นหัวหน้า[6]
อ้างอิง
แก้- ↑ ราชบัณฑิตยสถาน, พจนานุกรมศัพท์ศาสนาสากล อังกฤษ-ไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน, พิมพ์ครั้งที่ 3, ราชบัณฑิตยสถาน, 2552, หน้า 43
- ↑ "St Francis of Assisi Episcopal Church History". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-12-24. สืบค้นเมื่อ 2012-05-30.
- ↑ "The Archbishop of Canterbury is the Focus for Unity". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-03-10. สืบค้นเมื่อ 2012-05-30.
- ↑ Kurian, George Thomas; Lamport, Mark A. (2015). Encyclopedia of Christian Education (ภาษาอังกฤษ). Rowman & Littlefield. p. 50. ISBN 978-0-8108-8493-9.
With a membership currently estimated at over 85 million members worldwide, the Anglican Communion is the third largest Christian communion in the world, after the Roman Catholic Church and the Eastern Orthodox churches.
- ↑ Avis, Paul (1988). "What is 'Anglicanism'?". ใน S. Sykes and J. Booty (eds) (บ.ก.). The Study of Anglicanism. London: SPCK. pp. 417–19.
{{cite book}}
:|editor=
มีชื่อเรียกทั่วไป (help) - ↑ "The Secretary General". Anglican Communion. สืบค้นเมื่อ 19 April 2021.