โบสถ์คริสต์

ศาสนสถานของศาสนาคริสต์

โบสถ์คริสต์[1] หมายถึง ศาสนสถานที่ใช้ประกอบพิธีกรรมในศาสนาคริสต์ แต่ชาวคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกในไทย เรียกว่า วัด หรือ อาสนวิหาร ไม่ใช่ โบสถ์[2]

อารามเอททัล
โบสถ์แบบฟื้นฟูคลาสสิกเซนต์นิโคโลที่เมืองมองทู โรโร ประเทศอิตาลี
มหาวิหารแฮรฟอร์ด, อังกฤษ
ด้านหน้ามหาวิหารปิซา, อิตาลี
โบสถ์น้อยที่ Malsch ประเทศเยอรมนี
แท่นบูชาภายในคูหาสวดมนต์ มหาวิหารอาเคิน ประเทศเยอรมนี
ภายในโบสถ์น้อยแม่พระในมหาวิหารกลอสเตอร์, อังกฤษ
อนุสาวรีย์พระตรีเอกภาพที่ประเทศสโลเวเนีย
หอล้างบาปที่ปิซา อิตาลี
สักการสถานริมทางในประเทศโปแลนด์

ประเภท

แก้

มหาวิหาร

แก้
ดูบทความหลักที่ มหาวิหาร

มหาวิหาร ภาษาอังกฤษว่า basilica มาจากคำว่า “Basiliké Stoà” ในภาษาละติน ที่แปลว่า “สิ่งก่อสร้างแบบมหาวิหาร” เดิมเป็นคำที่หมายถึงสิ่งก่อสร้างสาธารณะแบบสถาปัตยกรรมโรมันลักษณะหนึ่ง เช่นเดียวกับศาลของกรีซ ซึ่งมักจะตั้งอยู่ในเมืองโรมัน ในเมืองกรีซ มหาวิหารเริ่มปรากฏราว 2 ศตวรรษก่อนคริสต์ศักราช หลังจากจักรวรรดิโรมันหันมานับถือศาสนาคริสต์ ความหมายของคำก็ขยายไปคลุมโบสถ์ใหญ่และสำคัญที่ได้รับแต่งตั้งโดยพระสันตะปาปา ฉะนั้นในปัจจุบันคำว่า “มหาวิหาร” จึงมีความหมายทั้งทางสถาปัตยกรรมและศาสนา

อาสนวิหาร

แก้
ดูบทความหลักที่ อาสนวิหาร

อาสนวิหาร (อังกฤษ: Cathedral) คือ คริสต์ศาสนสถานอันเป็นทีตั้ง “คาเทดรา” (บัลลังก์ของมุขนายก) เป็นสถานที่ทางศาสนาที่ใช้ในการนมัสการพระเจ้า (โดยเฉพาะสำหรับคริสตจักรที่มีการจัดระเบียบองค์การแบบอิปิสโคปัล เช่น โรมันคาทอลิก ออร์ทอดอกซ์ แองกลิคัน และลูเทอแรน) ใช้เป็นศูนย์กลางของมุขมณฑล[3]

วัด

แก้

วัด เป็นคำที่บัญญัติใช้เรียกศาสนสถานของคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก และอีสเทิร์นออร์ทอดอกซ์ และมีบัญญัติทั้งกรมศาสนา(ไทย) และกรมที่ดิน(ไทย) เรียกศาสนสถานของโรมันคาทอลิกว่า "วัด"

โบสถ์

แก้

โบสถ์[4][5] เป็นคำที่ใช้เรียกคริสต์ศาสนสถานโดยรวม ๆ ทั้งหมด หรือคริสต์ศาสนสถานที่มิได้เป็นแบบใดแบบหนึ่งที่อธิบายในบทความนี้ เช่น โบสถ์ประจำเขตแพริช แต่ใช้กับศาสนสถานของนิกายโรมันคาทอลิกไม่ได้ เพราะนิกายโรมันคาทอลิกมีบัญญัติศัพท์เฉพาะว่า "วัด" ดังนั้น คำว่าโบสถ์ (Church) ที่เป็นที่นิยมในไทยนั้นเกิดจากมิชันนารีของนิกายโปรเตสแตนท์ และนิกายแบ๊บติสต์ ใช้ในการตั้งศาสนสถานของตน

โบสถ์น้อย

แก้
ดูบทความหลักที่ โบสถ์น้อย

โบสถ์น้อย หรือ วัดน้อย (ทับศัพท์ "ชาเปล") คือสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่มักจะมีขนาดเล็กแต่บางครั้งก็ใหญ่ ที่อาจจะสร้างเป็นอิสระจากสิ่งก่อสร้างอื่น ๆ หรือเป็นส่วนหนึ่งของอาคารที่ใหญ่กว่าเช่น โบสถ์ใหญ่ ๆ วัง วิทยาลัย โรงพยาบาล คุก หรือสุสาน บางครั้งชาเปลที่สร้างในมหาวิหารจะสร้างเพื่อจุดประสงค์อย่างใดอย่างหนึ่งเป็นพิเศษ เช่น “ชาเปลพระแม่มารี” ที่มักจะสร้างเป็นชาเปลที่อยู่ทางตะวันออกสุดของตัวโบสถ์ หรือ “โบสถ์ศีลศักดิ์สิทธิ์” ที่ตั้งติดกับตัวโบสถ์และใช้เป็นที่เก็บไวน์ และขนมปังที่ใช้ในพิธีศีลมหาสนิท ถ้าชาเปลมีขนาดค่อนข้างเล็กที่สร้างเป็นคูหาภายในทางด้านข้างหรือทางด้านหลังของมหาวิหารหรือโบสถ์ก็อาจจะเรียกว่า “คูหาสวดมนต์”

  • Chantry chapel ภาษาไทยใช้ ชาเปลสวดมนต์ หรือ ชาเปลแชนทรี ชาเปลสวดมนต์ เป็นศาสนสถานที่ที่ผู้สร้างจะเป็นผู้มีอันจะกินหรือเป็นบาทหลวงที่อุทิศเงินให้สร้างชาเปลส่วนตัว ชาเปลชนิดนี้ที่เป็นสมบัติของผู้สร้าง การสร้างจะสร้างในตัวมหาวิหารหรือโบสถ์ใหญ่ ๆ และใช้เป็นที่ที่ให้นักบวชมาสวดมนต์ให้ผู้สร้างหลังจากที่เสียชีวิตไปแล้ว ชาเปลลักษณะนี้มักจะสร้างในขณะที่ผู้อุทิศเงินยังมีชีวิตอยู่ จะเป็นห้องแคบ ๆ เล็ก ๆ ภายในบางทีจะเป็นที่ตั้งของอนุสรณ์ของผู้ตาย มีประตูทางเข้าทางหนึ่งออกทางหนึ่งเพื่อให้ผู้สวดมนต์เดินเข้าออก การสร้างก็พยายามให้ใกล้แท่นบูชาเอกที่สุดเท่าที่กำลังทรัพย์จะอำนวย “Chantry chapel” มาจากภาษาละตินว่า “Cantaria” ซึ่งแปลว่า “ใบอนุญาตให้สวดมนต์” ภาษาฝรั่งเศสเรียกว่า “chapellenie”
  • โบสถ์น้อยแม่พระ มักจะเป็นส่วนหนึ่งของมหาวิหารหรือโบสถ์ใหญ่ ๆ ที่ตั้งอยู่ทางตะวันออกสุดของตัวโบสถ์และอุทิศให้พระนางมารีย์พรหมจารี และมักจะเป็นชาเปลที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโบสถ์
  • Side chapel ภาษาไทยใช้ คูหาสวดมนต์. คูหาสวดมนต์ คือบริเวณภายในอาสนวิหารหรือโบสถ์ใหญ่ ๆ ที่อุทิศให้เป็นบริเวณแยกจากส่วนกลางซึ่งอาจจะใช้เป็นทำพิธีย่อยหรือสวดมนต์วิปัสนาเป็นการส่วนตัว ที่ตั้งอาจจะเป็นมุขยื่นออกไปจากสองข้างทางเดินข้าง หรือรอบมุขด้านตะวันออก หรือบางครั้งก็ยื่นออกไปจากแขนกางเขน
  • "โบสถ์น้อยริมทาง" คือเป็นศาสนสถานที่ใช้เป็นที่สักการะของคริสต์ศาสนิกชนที่มีขนาดเล็กและมักจะตั้งอยู่ในชนบท

อาราม

แก้

ภาษาไทยใช้เรียกว่า อาราม หมายถึงสถานที่ที่นักพรตหรือนักพรตหญิงมาอยู่ร่วมกันเป็นชุมชน และถือวินัยเดียวกัน สิ่งก่อสร้างมักจะประกอบอาคารสถานหลายอาคารที่จะมีโบสถ์ใหญ่เป็นหลัก นักพรตที่เป็นหัวหน้าเรียกว่าอธิการอาราม (หากเป็นเพศหญิงเรียกว่าอธิการิณีอาราม)

  • "แอบบีย์" มาจากภาษาละติน “abbatia” ซึ่งมาจากคำว่า “abba” ในภาษาซีเรียคที่แปลว่า “คุณพ่อ” เป็นอารามหรือคอนแวนต์ชนิดหนึ่งในนิกายโรมันคาทอลิก ที่ปกครองโดยอธิการอาราม หรืออธิการิณีอาราม (Abbess) ซึ่งเปรียบเหมือนพ่อแม่ผู้เป็นผู้นำทางความศรัทธาของชุมชนที่อยู่ใต้การนำสำนัก “แอบบีย์”
  • "คอนแวนต์" คืออารามของนักพรต นักพรตหญิง ภราดาฆราวาส หรือภคินี ในนิกายโรมันคาทอลิกและแองกลิคัน แต่ความหมายในปัจจุบันมักจะจำกัดว่าเป็นอารามของภคินีเท่านั้น ขณะที่คำว่า “monastery” ใช้สำหรับนักบวชผู้ชาย แต่ในประวัติศาสตร์สองคำนี้ใช้เปลี่ยนกันได้
  • "อาศรม" หรือ เฮอร์มิเทจ ในปัจจุบัน เฮอร์มิเทจ จะหมายถึงสถานที่อยู่ของนักบวชที่ใช้ชีวิตอย่างสันโดษ เฮอร์มิเทจมักจะใช้กับผู้ตั้งถิ่นฐานอยู่ด้วยกันอย่างสันโดษไกลจากตัวเมืองหรือหมู่บ้าน เฮอร์มิเทจเป็นคริสต์ศาสนสถานอย่างหนึ่งของอาราม
  • "มินสเตอร์" แต่เดิมเป็นคำที่ใช้เรียกอาราม หรือสาขาซึ่งปกครองโดยนักบวชนักพรตมิใช่บาทหลวง แต่ในปัจจุบันหมายถึงโบสถ์ที่เคยเป็นอารามมาก่อนหรือโบสถ์ใหญ่
  • อารามนักพรตหญิง คือสำนักชีทางคริสต์ศาสนาหรือคอนแวนต์ ที่ปกครองโดยอธิการิณี (Abbess) ซึ่งเปรียบเหมือนแม่ผู้เป็นผู้นำทางความศรัทธาของชุมชนที่อยู่ใต้การนำสำนัก “อาราม”
  • "ไพรออรี" เป็นอารามทางคริสต์ศาสนา ที่ปกครองโดย “ไพรเออร์” ซึ่งเป็นตำแหน่งต่ำกว่าอธิการอาราม (abbot)

โบสถ์แม่

แก้
ดูบทความหลักที่ โบสถ์แม่

โบสถ์แม่ อาจจะเป็นตำแหน่งที่แสดงลำดับความสำคัญของโบสถ์ เช่น “มหาวิหารนักบุญยอห์น ลาเตรัน” ซึ่งถือเป็นโบสถ์แม่ของคริสตจักรโรมันคาทอลิก หรืออาสนวิหารประจำมุขมณฑลก็ถือว่าเป็น “โบสถ์แม่” ของมุขมณฑลนั้น ๆ คำนี้มักจะใช้กับโบสถ์ในนิกายคาทอลิกหรือแองกลิคันและจะไม่ค่อยใช้กันในนิกายโปรเตสแตนต์ ยกเว้น “First Church of Christ” ที่ บอสตัน ในรัฐแมสซาชูเซตส์ที่มักจะเรียกกันว่า “โบสถ์แม่”

ออราทอรี

แก้

ออราทอรี คือห้องสวดมนต์เฉพาะส่วนภายในอารามนอกจากนั้นอาจจะเป็นสถานที่สักการะแบบกึ่งสาธารณะซึ่งสร้างโดยกลุ่มคนเช่นกลุ่มช่าง ออราทอรีจะเป็นสถานที่สักการะที่เป็นส่วนตัวมากกว่าโบสถ์โดยทั่วไป เพราะโบสถ์ใครจะเข้ามาสักการะก็ได้ แต่ออราทอรีผู้มีสิทธิใช้คือผู้สร้างเท่านั้น

ออสชัวรี

แก้

ออสชัวรี (อังกฤษ: Ossuary) โบสถ์บรรจุกระดูก หรือ ชาเปลบรรจุกระดูก โบสถ์บรรจุกระดูก เป็นสถานที่ที่ใช้เก็บกระดูก

อนุสาวรีย์ตรีเอกภาพและอนุสาวรีย์พระแม่มารีย์

แก้

ภาษาไทยใช้ อนุสาวรีย์ตรีเอกภาพ หรือ อนุสาวรีย์พระแม่มารีย์ อนุสาวรีย์ตรีเอกภาพ เป็นอนุสาวรีย์ทางศาสนาสร้างเพื่ออุทิศแก่พระนางมารีย์พรหมจารีหรือพระตรีเอกภาพเพื่อแสดงความขอบคุณที่แบล็กเดทหยุดลงหรือในกรณีอื่น ๆ การสร้างอนุสาวรีย์ตรีพระแม่มารีย์มีความนิยมกันระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 17 ถึง 18 และเป็นส่วนหนึ่งของสถาปัตยกรรมบาโรก ตัวอนุสาวรีย์มักตั้งอยู่กลางเมือง

สักการสถาน

แก้
ดูบทความหลักที่ ศาลเจ้า

สักการสถาน (อังกฤษ: shrine) มาจากภาษาละติน “scrinium” ซึ่งแปลว่า “กล่อง” หรือโต๊ะเขียนหนังสือ ในสมัยแรกหมายถึงกล่องที่ทำด้วยอัญมณีมีค่าเป็นที่เก็บ เรลิก หรือรูปเคารพต่าง ๆ ต่อมาความหมายก็ขยายเพิ่มโดยรวมถึงสถานที่ที่เป็นที่เก็บเรลิกหรือที่ฝังศพที่อุทิศให้กับวีรบุรุษ มรณสักขี นักบุญ หรือบุคคลที่เป็นที่นับถือ

หอล้างบาป

แก้
ดูบทความหลักที่ หอล้างบาป

หอล้างบาป เป็นอาคารที่สร้างเป็นอิสระจากสิ่งก่อสร้างอื่นโดยมีอ่างล้างบาปเป็นศูนย์กลาง หอศีลจุ่มอาจจะเป็นส่วนหนึ่งของโบสถ์หรืออาสนวิหารซึ่งมีแท่นบูชาและคูหาสวดมนต์ โบสถ์ในศาสนาคริสต์ยุคแรกจะเป็นสถานสำหรับเรียนรู้เรื่องศาสนาก่อนจะรับบัพติศมา และเป็นที่ทำพิธีบัพติศมาด้วย

อ้างอิง

แก้
  1. ราชบัณฑิตยสถาน, พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว, กรุงเทพฯ : ราชบัณฑิตยสถาน, 2556, หน้า 689
  2. "การบรรยายเรื่อง กฎหมาย วัดคาทอลิก ไม่ใช่โบสถ์ โดย คุณปอ (18 ธ.ค.63) - YouTube". www.youtube.com.
  3. New Standard Encyclopedia, 1992 by Standard Educational Corporation, Chicago, Illinois; page B-262c
  4. กรมการศาสนา, รายงานการศาสนา ประจำปี ๒๕๔๓, กรมการศาสนา, 2543, หน้า 195
  5. ราชบัณฑิตยสถาน, พจนานุกรมศัพท์ศาสนาสากล อังกฤษ-ไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน, ราชบัณฑิตยสถาน, 2548, หน้า 183, 236

ข้อมูลเพิ่มเติม

แก้

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้

สมุดภาพ

แก้