โอวาทปาติโมกข์
โอวาทปาฏิโมกข์ เป็นหลักคำสอนสำคัญของพระพุทธศาสนา เป็น "ปาติโมกข์" ที่พระพุทธองค์ทรงแสดงตลอดปฐมโพธิกาล คือ 20 พรรษาแรก เฉพาะครั้งแรกในวันเพ็ญเดือนมาฆะ (เดือน 3) หลังจากตรัสรู้แล้ว 9 เดือน เป็นการแสดงปาติโมกข์ที่ประกอบด้วยองค์ 4 เรียกว่า จาตุรงคสันนิบาต ซึ่งมีเพียงครั้งเดียวในพระศาสนาของพระพุทธเจ้าองค์หนึ่งๆ โอวาทปาฏิโมกข์นั้นถ้าเปรียบในสมัยนี้คงเปรียบได้กับการกำหนดพันธกิจขององค์กรต่างๆ จึงอาจกล่าวได้ว่าเป็นการกำหนดพันธกิจให้กับพระสงฆ์สาวกทั้งปวงหรือจะเรียกว่าเป็นการประกาศตั้งศาสนา(แนวทางการปฏิบัติ)ก็ได้
(อรรถกถาแสดงไว้ว่า พระพุทธเจ้าทรงแสดง "โอวาทปาติโมกข์" นี้ ด้วยพระองค์เอง ท่ามกลางที่ประชุมสงฆ์ตลอด 20 พรรษาแรก
ในภายหลังพระภิกษุสงฆ์มีจำนวนมากขึ้น พระพุทธองค์จึงทรงบัญญัติพระวินัยเพื่อใช้ในการปกครองสงฆ์ ต่อมาจึงทรงกำหนดให้แสดงภิกขุปาฏิโมกข์แทนโอวาทปาฏิโมกข์
ในครั้งสุดท้ายที่พระพุทธองค์ทรงแสดงปาฏิโมกข์ ที่วัดบุพพาราม ได้เกิดมีภิกษุผู้ทุศีล เข้าร่วมประชุม พระพุทธเจ้าทรงประกาศให้ออกจากที่ประชุม ภิกษุผู้ทุศีลไม่ยอมออกจากที่ประชุม พระโมคคัลลานเถระจึงบังคับพระทุศีลให้ออกจากที่ประชุม หลังจากนั้นจึงทรงบัญญัติให้พระสงฆ์แสดง ปาฏิโมกข์กันเอง โดยพระพุทธองค์ไม่ทรงเข้าร่วมอีกต่อไป
บทโอวาทปาติโมกข์
แก้สัพพะปาปัสสะ อะกะระณัง, การไม่ทำบาปทั้งปวง อาการทั้งปวง,
กุสะลัสสูปะสัมปะทา, การทำกุศลให้ถึงพร้อม,
สะจิตตะปะริโยทะปะนัง, การชำระจิตของตนให้ขาวรอบ,
เอตัง พุทธานะสาสะนัง, ธรรม ๓ อย่างนี้ เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย,
ขันตี ปะระมัง ตะโป ตีติกขา, ขันติ คือความอดกลั้น เป็นธรรมเครื่องเผากิเลสอย่างยิ่ง,
นิพพานัง ปะระมัง วะทันติ พุทธา, ผู้รู้ทั้งหลาย กล่าวพระนิพพานว่าเป็นธรรมอันยิ่ง,
นะ หิ ปัพพะชิโต ปะรูปะฆาตี, ผู้กำจัดสัตว์อื่นไม่ชื่อว่าเป็นบรรพชิตเลย,
สะมะโณ โหติ ปะรัง วิเหฐะยันโต, ผู้ทำลายสัตว์อื่นให้ลำบากอยู่ ไม่ชื่อว่าเป็นสมณะเลย,
อะนูปะวาโท อะนูปะฆาโต, การไม่พูดร้าย, การไม่ทำร้าย,
ปาติโมกเข จะ สังวะโร, การสำรวมในปาติโมกข์,
มัตตัญญุตา จะ ภัตตัสมิง, ความเป็นผู้รู้ประมาณในการบริโภค,
ปันตัญจะ สะยะนาสะนัง, การนอน การนั่ง ในที่อันสงัด,
อะธิจิตเต จะ อาโยโค, ความหมั่นประกอบในการทำจิตให้ยิ่ง,
เอตัง พุทธานะสาสะนัง, ธรรม ๖ อย่างนี้ เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย,
ความหมายของโอวาทปาติโมกข์
แก้โอวาทปาติโมกข์มักถูกกล่าวถึงในแง่หลักธรรม 3 อย่างเพียงเรื่องเดียวว่าเป็น(หัวใจของพระพุทธศาสนา) อย่างไรก็ตามพระพุทธพจน์ 3 คาถากึ่ง อาจสรุปใจความได้เป็นสามส่วน[1] คือ หลักการ 3 อุดมการณ์ 4 และวิธีการ 6 ดังนี้
พระพุทธพจน์คาถาแรก
แก้ทรงกล่าวถึง "หลักการอันเป็นหัวใจสำคัญเพื่อเข้าถึงจุดมุ่งหมายของพระพุทธศาสนาแก่พุทธบริษัททั้งปวงโดยย่อ" หรือ หลักการ 3 กล่าวกันว่าเป็นการสรุปรวบยอดหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาอันเป็นแนวทางที่พุทธบริษัทพึงปฏิบัติ ได้แก่
- การไม่ทำชั่วทั้งปวง
- การทำความดีให้ถึงพร้อม
- การทำจิตใจให้บริสุทธิ์
พระพุทธพจน์คาถาที่สอง
แก้ทรงกล่าวถึงอุดมการณ์อันสูงสุดของพระภิกษุและบรรพชิตในพระพุทธศาสนานี้ อันมีลักษณะที่แตกต่างจากศาสนาอื่น อันอาจเรียกได้ว่า อุดมการณ์ 4 ของพระพุทธศาสนา ได้แก่ ขันติ นิพพาน อหิงสา สันติ
- ความอดทนอดกลั้นเป็นสิ่งที่นักบวชในศาสนานี้พึงยึดถือและเป็นสิ่งที่ต้องใช้เมื่อประสบกับสิ่งที่ไม่ชอบใจทุกอย่างที่ต้องเจอในชีวิตนักบวช เช่น ประสงค์ร้อนได้เย็น ประสงค์เย็นได้ร้อน
- การมุ่งให้ถึงพระนิพพานเป็นเป้าหมายหลักของผู้ออกบวช มิใช่สิ่งอื่นนอกจากพระนิพพาน
- พระภิกษุและบรรพชิตในพระธรรมวินัยนี้( เช่นภิกษุณี สามเณร สามเณรี สิกขมานา )ไม่พึงทำผู้อื่นให้ลำบากด้วยการเบียดเบียนทำความทุกข์กายหรือทุกข์ทางใจไม่ว่าจะในกรณีใดๆ
- พึงเป็นผู้มีจิตใจสงบจากอกุศลวิตกทั้งหลายมีความโลภ โกรธ หลง เป็นต้น
พระพุทธพจน์คาถาที่สาม
แก้หมายถึง วิธีการที่ธรรมทูตผู้เผยแผ่พระพุทธศาสนาถือเป็นกลยุทธ พระภิกษุที่ออกเผยแผ่พระพุทธศาสนาซึ่งมีเป็นจำนวนมากให้ใช้วิธีการเหมือนกันเพื่อจะได้เป็นไปในแนวทางเดียวกันและถูกต้องเป็นธรรม ได้แก่ วิธีการ 6
- การไม่กล่าวร้าย ( เผยแผ่ศาสนาด้วยการไม่กล่าวร้ายโจมตีดูถูกความเชื่อผู้อื่น )
- การไม่ทำร้าย ( เผยแผ่ศาสนาด้วยการไม่ใช้กำลังบังคับข่มขู่ด้วยวิธีการต่างๆ )
- ความสำรวมในพระปาฏิโมกข์ ( รักษาความประพฤติให้น่าเลื่อมใส )
- ความเป็นผู้รู้จักประมาณในการบริโภค ( เสพปัจจัยสี่อย่างรู้ประมาณพอเพียง )
- นั่งนอนในที่อันสงัด ( สันโดษไม่คลุกคลีด้วยหมู่คณะ )
- ความเพียรในอธิจิต ( พัฒนาจิตใจให้ยิ่งด้วยสมถะและวิปัสสนาเสมอ )
สรุป หลักการ 3 คือ ทำอะไร , อุดมการณ์ 4 คือ เพื่ออะไร , วิธีการ 6 คือ ทำอย่างไร ,
ดูเพิ่ม
แก้- วันมาฆบูชา วันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์