หมีควาย
หมีควาย ช่วงเวลาที่มีชีวิตอยู่: สมัยไพลโอซีนตอนต้น–ปัจจุบัน | |
---|---|
สถานะการอนุรักษ์ | |
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
อาณาจักร: | Animalia |
ไฟลัม: | Chordata |
ชั้น: | Mammalia |
อันดับ: | Carnivora |
วงศ์: | Ursidae |
สกุล: | Ursus |
สปีชีส์: | U. thibetanus |
ชื่อทวินาม | |
Ursus thibetanus (Cuvier, 1823) | |
การกระจายพันธุ์ของหมีควาย (สีน้ำตาล – ที่อยู่ปัจจุบัน, สีดำ – สูญพันธุ์, สีเทาเข้ม – สถานะไม่แน่นอน) | |
ชื่อพ้อง | |
|
หมีควาย หรือ หมีดำเอเชีย (อังกฤษ: Asian black bear, Asiatic black bear; ชื่อวิทยาศาสตร์: Ursus thibetanus) จัดเป็นหมี 1 ใน 2 ชนิดที่พบได้ในประเทศไทย (อีกหนึ่งคือ หมีหมา (H. malayanus))
ลักษณะ
[แก้]หมีควายมีลำตัวอ้วนใหญ่ หัวมีขนาดใหญ่ ตาเล็กและหูกลม ขาอ้วนล่ำและหนา หางสั้น มีนิ้วเท้ายาวทั้งหมดห้านิ้ว กรงเล็บสั้น ขนตามลำตัวหยาบมีสีดำ มีลักษณะเด่นคือ ขนบริเวณหน้าอกเป็นรูปตัว V มีสีขาว ตัวผู้มีขนาดใหญ่กว่าตัวเมียเล็กน้อย
ขนาดเมื่อโตเต็มที่ ความยาวลำตัวและหัว 120–150 เซนติเมตร ความยาวหาง 6.5–10 เซนติเมตร น้ำหนักประมาณ 150–160 กิโลกรัม และอาจหนักได้ถึง 200 กิโลกรัม มีลักษณะคล้ายกับหมีดำ (U. americanus) ที่พบในทวีปอเมริกาเหนือ[2]
หมีควายมีสัณฐานวิทยาคล้ายกับหมีในยุคก่อนประวัติศาสตร์บางส่วน นักวิทยาศาสตร์บางคนเชื่อว่าอาจจะเป็นบรรพบุรุษของหมีชนิดต่าง ๆ ในยุคปัจจุบัน ยกเว้นหมีแพนด้า (Ailuropoda melanoleuca) และหมีแว่น (Tremarctos ornatus)[3]
แหล่งอาศัย
[แก้]หมีควาย มีการกระจายพันธุ์ที่ค่อนข้างกว้างขวางพบตั้งแต่ ภาคตะวันออกของปากีสถาน, ภาคเหนือของอินเดีย, ทิเบต, เนปาล, สิกขิม, ภูฐาน, พม่า, ไทย, ลาว, เวียดนาม, จีน, ไต้หวัน, คาบสมุทรเกาหลี, ญี่ปุ่น และภาคตะวันออกเฉียงใต้ของรัสเซีย มักเลือกอาศัยอยู่ในป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์และมีอากาศเย็น เช่น ป่าบนภูเขาหินปูน
แบ่งจำแนกออกได้เป็นชนิดย่อยต่าง ๆ ได้ 7 ชนิด คือ
- U. t. formosanus Swinhoe, 1864 พบในเกาะไต้หวัน–ไม่มีขนหนาตรงลำคอเหมือนชนิดอื่น
- U. t. gedrosianus Blanford, 1877 พบในบาลูชิสถานตอนใต้–มีขนาดเล็ก มีขนสั้น [4]
- U. t. japonicus Schlegel, 1857 พบในญี่ปุ่น–สูญพันธุ์ไปแล้วที่คีวชู
- U. t. laniger Pocock, 1932 พบตามเทือกเขาหิมาลัย, แคชเมียร์ และสิกขิม–แตกต่างจากชนิด U. t. thibetanus ตรงที่ขนยาวกว่า แต่มีรอยสีขาวที่หน้าอกเล็ก[5] [6]
- U. t. mupinensis Heude, 1901 พบตามเทือกเขาหิมาลัยและอินโดจีน–มีขนสีอ่อน ลักษณะคล้ายกับชนิด U. t. laniger
- U. t. thibetanus Cuvier, 1823 พบในอัสสัม, เนปาล, พม่า, ไทย และอันนัม–มีขนสั้น[5]
- U. t. ussuricus Heude, 1901 พบในไซบีเรียใต้, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่น และคาบสมุทรเกาหลี–เป็นชนิดที่มีขนาดใหญ่ที่สุด[4]
พฤติกรรม
[แก้]หมีควายกินอาหารได้หลากหลาย เช่น เนื้อสัตว์, ผลไม้, ใบไม้, หน่อไม้, ซากสัตว์, แมลง, รังผึ้ง และตัวอ่อนของผึ้ง บางครั้งอาจเข้ามากินในพื้นที่เกษตรกรรม มักออกหากินในเวลากลางคืน ปีนต้นไม้ไม่เก่ง แต่ชอบฉีกเปลือกไม้เพื่อหาแมลงใต้เปลือกไม้ หรือใช้แสดงเป็นสัญลักษณ์บอกถึงอาณาเขตของตัว ตามปรกติมักอาศัยและหากินตามลำพัง แต่ในฤดูผสมพันธุ์หรือมีลูกอ่อน อาจหากินเป็นคู่หรือเป็นกลุ่มเล็ก ๆ ใช้เวลาตั้งท้องนาน 7–8 เดือน ออกลูกครั้งละไม่เกิน 2 ตัว ตามโพรงไม้หรือในถ้ำที่ปลอดภัย หมีควายเป็นสัตว์ที่สายตาไม่ค่อยดี จึงค่อนข้างดุร้าย เมื่อตกใจหรือสงสัยจะยืนด้วยขาหลัง ต่อสู้กับศัตรูโดยการตะปบด้วยขาหน้าและกัดด้วยฟันอย่างรุนแรง นอกจากนี้แล้วยังมีพฤติกรรมที่แปลก คือ ชอบขดตัวกลมแล้วกลิ้งลงมาจากเนินเขา สันนิษฐานว่าเป็นการเล่นสนุก[7]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ Garshelis, D.L. & Steinmetz, R. (2008). [www.iucnredlist.org/apps/redlist/details/22824 Ursus thibetanus]. In: IUCN 2008. IUCN Red List of Threatened Species. Downloaded on 27 January 2009. Listed as Vulnerable (VU A1cd v2.3)
- ↑ Macdonald, D. (1984). The Encyclopedia of Mammals: 1. London: Allen & Unwin. p. 446. ISBN 0-04-500028-X.
- ↑ Montgomery, S. (2002). Search for the golden moon bear: science and adventure in Southeast Asia. Simon & Schuster. ISBN 978-0-7432-0584-9. สืบค้นเมื่อ 26 September 2011.
- ↑ 4.0 4.1 Baluchistan black bear Ursus thibetanus (G. Cuvier, 1823)
- ↑ 5.0 5.1 Pocock, R. I. (1941). The Fauna of British India, including Ceylon and Burma. Mammalia. Volume 2. Taylor and Francis, London.
- ↑ Bears Of The World. "Himalayan Black Bear". Bears Of The World. สืบค้นเมื่อ 20 March 2015.
- ↑ ชุติอร กาญวัฒนกิจ. สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในประเทศไทยและภูมิภาคอินโดจีน. กรุงเทพฯ : กองทุนสัตว์ป่าโลก สำนักงานประเทศไทย, 2543. 256 หน้า. หน้า 60-61. ISBN 974-87081-5-2
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Ursus thibetanus ที่วิกิสปีชีส์