ศาลรัฐธรรมนูญ (ประเทศไทย)
บทความนี้ได้รับแจ้งให้ปรับปรุงหลายข้อ กรุณาช่วยปรับปรุงบทความ หรืออภิปรายปัญหาที่หน้าอภิปราย
|
ราชอาณาจักรไทย ศาลรัฐธรรมนูญ | |
---|---|
Constitutional Court | |
ตราสัญลักษณ์ศาลรัฐธรรมนูญ | |
สถาปนา | 11 ตุลาคม พ.ศ. 2540 (27 ปี 31 วัน) |
อำนาจศาล | ประเทศไทย |
ที่ตั้ง | ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 (อาคารราชบุรีดิเรกฤทธิ์) เลขที่ 120 หมู่ 3 ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร ณ อาคารบ้านเจ้าพระยารัตนาธิเบศร์ เลขที่ 326 ถนนจักรเพชร แขวงวังบูรพาภิรมย์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร |
ที่มา | รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 |
จำนวนตุลาการ | 9 คน |
งบประมาณต่อปี | 174,491,700 บาท (พ.ศ. 2566)[1] |
เว็บไซต์ | ConstitutionalCourt.or.th |
ประธานศาลรัฐธรรมนูญ | |
ปัจจุบัน | นครินทร์ เมฆไตรรัตน์[2] |
ตั้งแต่ | 19 มีนาคม พ.ศ 2567 |
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของชุดบทความว่าด้วย |
การเมืองไทย |
---|
สถานีย่อยประเทศไทย |
ศาลรัฐธรรมนูญ (ย่อ: ศร.) เป็นองค์กรตุลาการที่จัดตั้งขึ้นครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 แทนคณะตุลาการรัฐธรรมนูญที่ยุบเลิกไป และมีบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญ[3]
หน้าที่หลักของศาลรัฐธรรมนูญคือ การพิจารณาทบทวนโดยศาล โดยวินิจฉัยว่ากฎหมายใดขัดต่อรัฐธรรมนูญก็เป็นอันตกไป อย่างไรก็ตาม บทบาทของศาลฯ ในประวัติศาสตร์ร่วมสมัยมีตั้งแต่การประกาศว่าการเลือกตั้งไม่ชอบด้วยกฎหมาย การยุบพรรคการเมือง และการตัดสินให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพ้นจากตำแหน่ง
นุรักษ์ มาประณีต อดีตประธานศาลรัฐธรรมนูญ เคยทำหน้าที่ภายใต้คณะรัฐประหารถึง 2 คณะ อยู่ในตำแหน่งรวม 13 ปี รับเงินเดือนรวมอย่างน้อย 20 ล้านบาท เคยตัดสินยุบพรรคอย่างน้อย 29 พรรค ได้รับการแต่งตั้งเป็นองคมนตรีในปี พ.ศ. 2563[4]
องค์ประกอบของศาลรัฐธรรมนูญ
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ได้กำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญประกอบด้วยประธานศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญรวม 15 คน[5] ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภาจากบุคคลต่อไปนี้
- ผู้พิพากษาศาลฎีกา ซึ่งได้รับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา โดยวิธีลงคะแนนลับ จำนวน 5 คน
- ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ซึ่งได้รับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุดโดยวิธีการลงคะแนนลับ จำนวน 2 คน
- ผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์ ซึ่งได้รับเลือกจากวุฒิสภา โดยการสรรหาและจัดทำบัญชีรายชื่อของคณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จำนวน 5 คน
- ผู้ทรงคุณวุฒิสาขารัฐศาสตร์ ซึ่งได้รับเลือกจากวุฒิสภา โดยการสรรหาและจัดทำบัญชีรายชื่อของคณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จำนวน 3 คน
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 กำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญประกอบด้วยประธานศาลรัฐธรรมนูญคนหนึ่งกับและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอีก 8 คน[5] ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภาจากบุคคลต่อไปนี้
- ผู้พิพากษาในศาลฎีกาซึ่งดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาศาลฎีกา ซึ่งได้รับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาโดยวิธีลงคะแนนลับ จำนวน 3 คน
- ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดซึ่งได้รับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดโดยวิธีลงคะแนนลับ จำนวน 2 คน
- ผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์ซึ่งมีความรู้ความเชี่ยวชาญทางด้านนิติศาสตร์อย่างแท้จริงและได้รับเลือกตามมาตรา 206 ของรัฐธรรมนูญ จำนวน 2 คน
- ผู้ทรงคุณวุฒิสาขารัฐศาสตร์ รัฐประศาสนศาสตร์ หรือสังคมศาสตร์อื่น ซึ่งมีความรู้ความเชี่ยวชาญทางด้านการบริหารราชการแผ่นดินอย่างแท้จริงและได้รับเลือกตามมาตรา 206 ของรัฐธรรมนูญ จำนวน 2 คน
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 200 กำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญประกอบด้วยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 9 คน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งจากบุคคล ดังต่อไปนี้[6]
- ผู้พิพากษาในศาลฎีกาซึ่งดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาหัวหน้าขณะในศาลฎีกามาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี ซึ่งได้รับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา จำนวน 3 คน
- ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดซึ่งดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าตุลาการศาลปกครองสูงสุดมาแล้ว ไม่น้อยกว่า 5 ปี ซึ่งได้รับคัดเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดโดยวิธีลงคะแนนลับ จำนวน 2 คน
- ผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์ ซึ่งได้รับสรรหาจากผู้ดำรงตำแหน่งหรือเคยดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ของมหาวิทยาลัยในประเทศไทยมาแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปี และยังมีผลงานทางวิชาการเป็นที่ประจักษ์ จำนวน 1 คน
- ผู้ทรงคุณวุฒิสาขารัฐศาสตร์หรือรัฐประศาสนศาสตร์ ซึ่งได้รับสรรหาจากผู้ดำรงตำแหน่งหรือเคยดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ของมหาวิทยาลัยในประเทศไทยมาแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปี และยังมีผลงานทางวิชาการเป็นที่ประจักษ์ จำนวน 1 คน
- ผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งได้รับการสรรหาจากผู้รับหรือเคยรับราชการ ในตําแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดี หรือหัวหน้าส่วนราชการที่เทียบเท่า หรือตําแหน่งไม่ต่ำกว่ารองอัยการสูงสุดมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี จํานวน 2 คน
อำนาจและหน้าที่[7]
หน้าที่และอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ คือการเป็นองค์กรที่พิทักษ์ความเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ ด้วยการทำหน้าที่ควบคุมความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เมื่อมีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายหรือเรื่องการกระทำ การปฏิบัติตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญขึ้น และเป็นคดีเข้าสู่ศาลรัฐธรรมนูญ โดยนำบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญมาใช้บังคับกับข้อเท็จจริงในแต่ละกรณี ซึ่งคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีผลผูกพันกับทุกองค์กร
การพิจารณาวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของร่างกฎหมายหรือกฎหมาย การตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของร่างกฎหมายก่อนมีการประกาศใช้ เช่น ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ร่างพระราชบัญญัติ ร่างข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ร่างข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา และร่างข้อบังคับการประชุมรัฐสภา และการวินิจฉัยว่าร่างพระราชบัญญัติมีหลักการอย่างเดียวกันหรือคล้ายกันกับหลักการของร่างพระราชบัญญัติที่ต้องยับยั้งไว้หรือไม่ รวมทั้งตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของเงื่อนไขการตราพระราชกำหนด ว่าเป็นไปตามเงื่อนไขเพื่อประโยชน์ในการรักษาความปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะหรือไม่ และตรวจสอบกฎหมายที่มีผลใช้บังคับแล้ว ในกรณีที่ศาลยุติธรรม ศาลปกครอง หรือศาลทหาร หรือคู่ความในคดี เห็นว่ากฎหมายที่ศาลจะใช้บังคับแก่คดีขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ หรือในกรณีที่ผู้ตรวจการแผ่นดินเห็นว่ากฎหมายมีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญได้เสนอเรื่องพร้อมความเห็นเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยได้
การพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา รัฐสภา คณะรัฐมนตรี หรือองค์กรอิสระ ซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ได้บัญญัติให้ศาลรัฐธรรมนูญมีหน้าที่และอำนาจในการพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา รัฐสภา คณะรัฐมนตรี หรือองค์กรอิสระ โดยไม่จำเป็นต้องเกิดความขัดแย้งเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ระหว่างองค์กร
การคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ซึ่งรัฐธรรมนูญยังให้สิทธิแก่ประชาชนในการยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญ ในกรณีที่ผู้ถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญคุ้มครองไว้ โดยขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยว่าการกระทำนั้นขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้ขยายวัตถุแห่งคดีให้ประชาชนสามารถยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญจากเดิมที่ตรวจสอบเฉพาะ "บทบัญญัติแห่งกฎหมาย" ให้สามารถตรวจสอบ “การกระทำ” ซึ่งละเมิดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนว่าขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญได้อีกด้วย รวมทั้งการวินิจฉัยกรณีที่บุคคลหรือชุมชน ซึ่งได้รับประโยชน์โดยตรงจากการทำหน้าที่ของรัฐตามรัฐธรรมนูญ หมวด 5 หน้าที่ของรัฐ และได้รับความเสียหายจากการไม่ปฏิบัติหน้าที่ หรือการปฏิบัติหน้าที่ไม่ถูกต้องครบถ้วนหรือล่าช้าเกินสมควรของหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง สามารถยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยได้
การพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ระบอบการปกครอง และความมั่นคงแห่งรัฐ รวมถึงการวินิจฉัยหนังสือสัญญาที่ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา ได้แก่ การพิจารณาวินิจฉัยว่าร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม แก้ไขเปลี่ยนแปลงการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ หรือการแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นสำคัญที่รัฐธรรมนูญบัญญัติให้ต้องมีการออกเสียงประชามติ โดยมิได้จัดให้มีการออกเสียงประชามติหรือไม่ การวินิจฉัยว่าบุคคลใดกระทำการโดยใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือไม่ การพิจารณาว่าหนังสือสัญญาระหว่างประเทศไทยกับนานาประเทศ หรือกับองค์การระหว่างประเทศต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาหรือไม่
การพิจารณาว่า ในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี มีการกระทำใดที่มีผลต่อการใช้งบประมาณรายจ่าย ในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม และร่างพระราชบัญญัติโอนงบประมาณรายจ่ายของสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา หรือคณะกรรมาธิการมีการเสนอ การแปรญัตติ หรือการกระทำด้วยประการใด ๆ ที่มีผลให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือกรรมาธิการมีส่วนหรือไม่ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมในการใช้งบประมาณรายจ่าย
การวินิจฉัยการสิ้นสุดสมาชิกภาพหรือคุณสมบัติ ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภา และการวินิจฉัยความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงหรือไม่ เพื่อให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ
หน้าที่และอำนาจที่บัญญัติไว้ในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมายอื่น ได้แก่ หน้าที่และอำนาจตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 ได้แก่ การพิจารณาวินิจฉัยคำร้องคัดค้านมติของคณะกรรมการการเลือกตั้งที่ไม่รับจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมือง การวินิจฉัยคำร้องคัดค้านมติให้เพิกถอนข้อบังคับพรรคการเมือง การวินิจฉัยคำร้องคัดค้านคำสั่งคณะกรรมการการเลือกตั้งที่ให้คณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองพ้นจากตำแหน่ง การวินิจฉัยคำร้องคัดค้านประกาศของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ที่ให้พรรคการเมืองสิ้นสภาพการเป็นพรรคการเมือง การวินิจฉัยขอให้ยุบพรรคการเมือง และการวินิจฉัยกรณีพรรคการเมืองไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของคณะกรรมการการเลือกตั้งเกี่ยวกับการดำเนินการในเรื่องที่บัญญัติไว้ในบทเฉพาะกาล การพิจารณาวินิจฉัยว่า มติคณะรัฐมนตรีหรือการดำเนินการของคณะรัฐมนตรี ว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามพระราชบัญญัติการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2560 หรือไม่
การพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญเป็นระบบไต่สวน ศาลมีอำนาจไต่สวนหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพิ่มเติมได้ ซึ่งแตกต่างจากวิธีพิจารณาที่ใช้ในคดีทั่วไปของศาลยุติธรรม
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง
ในปี 2560 สภานิติบัญญัติแห่งชาติให้ความเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ โดยมีการกำหนดโทษ "วิจารณ์คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ" ที่กระทำด้วยความไม่สุจริต และใช้ถ้อยคำหรือความหมายที่หยาบคาย เสียดสี อาฆาตมาดร้าย เป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล โดยให้ศาลมีอำนาจตั้งแต่การตักเตือน การไล่ออกจากบริเวณศาล ไปจนถึงการลงโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ[8]
คำวินิจฉัยที่สำคัญ
วันที่ | คำสั่ง/คำวินิจฉัย/มติ |
---|---|
30 พฤษภาคม 2550 (17 ปี 165 วัน) |
ยุบพรรคไทยรักไทยและ 3 พรรคเล็กจากคดีจ้างลงเลือกตั้ง[9] |
9 กันยายน 2551 (16 ปี 63 วัน) |
วินิจฉัยให้ สมัคร สุนทรเวช พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเนื่องจากเป็นลูกจ้างเอกชน[10] |
2 ธันวาคม 2551 (15 ปี 345 วัน) |
ยุบพรรคพลังประชาชน ซึ่งมีผลให้สมชาย วงศ์สวัสดิ์ในฐานะหัวหน้าพรรค ถูกตัดสิทธิทางการเมืองและพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามไปด้วย[11] |
29 พฤศจิกายน 2553 (13 ปี 348 วัน) |
ไม่ยุบพรรคประชาธิปัตย์[11] |
13 กรกฎาคม 2555 (12 ปี 121 วัน) |
ยับยั้งการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ของรัฐสภา 2555–2557[12] |
24 มกราคม 2557 (10 ปี 292 วัน) |
วินิจฉัยให้สามารถเลื่อนการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นการทั่วไปได้[13] |
24 มีนาคม 2557 (10 ปี 232 วัน) |
การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร วันที่ 2 ก.พ. 2557 ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ |
7 พฤษภาคม 2557 (10 ปี 188 วัน) |
วินิจฉัยให้ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี[14] |
7 มีนาคม 2562 (5 ปี 249 วัน) |
ยุบพรรคไทยรักษาชาติ เพิกถอนสิทธิกรรมการบริหารพรรคเป็นเวลา 10 ปี[15] |
18 กันยายน 2562 (5 ปี 54 วัน) |
วินิจฉัยว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาไม่เข้าข่ายลักษณะต้องห้ามเป็นนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ เพราะไม่ใช่ "เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ"[16] |
20 พฤศจิกายน 2562 (4 ปี 357 วัน) |
มติให้ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ พ้นจากสมาชิกสภาพสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร โดยเห็นว่ายังเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทด้านสื่อมวลชนที่ยังไม่แจ้งยกเลิกกิจการ แม้ว่าจะยุติการผลิตสิ่งพิมพ์และจ้างพนักงานไปแล้ว[17] |
21 มกราคม 2563 (4 ปี 295 วัน) |
ยกคำร้อง คดีพรรคอนาคตใหม่ ล้มล้างการปกครอง หรือที่พรรคอนาคตใหม่เรียกว่า คดีอิลลูมินาติ[18] |
21 กุมภาพันธ์ 2563 (4 ปี 264 วัน) |
ยุบพรรคอนาคตใหม่ เพิกถอนสิทธิกรรมการบริหารพรรคเป็นเวลา 10 ปี[19] |
2 ธันวาคม 2563 (3 ปี 345 วัน) |
วินิจฉัยว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาที่ยังอาศัยอยู่ในบ้านพักประจำตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกทั้งที่พ้นตำแหน่งไปแล้วไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ[20] |
10 พฤศจิกายน 2564 (3 ปี 1 วัน) |
ข้อเรียกร้องการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ของแกนนำกลุ่มราษฎรในการประท้วงในประเทศไทย พ.ศ. 2563–2564 เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง โดยมีข้อความส่วนหนึ่งระบุว่าอำนาจการปกครองประเทศแต่โบราณเป็นของพระมหากษัตริย์มาโดยตลอด[21] ด้านเดอะการ์เดียนวิจารณ์ว่าเป็น "รัฐประหารโดยตุลาการ"[22] |
17 พฤศจิกายน 2564 (2 ปี 360 วัน) |
วินิจฉัยว่าประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เกี่ยวกับสมรสซึ่งให้จดทะเบียนเฉพาะชายและหญิงเท่านั้นไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญส่วนที่คุ้มครองสิทธิ เสรีภาพและความเสมอภาค และแนะนำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรากฎหมายต่อไป โดยความเห็นส่วนตัวของตุลาการระบุว่า เพื่อป้องกันการเข้าถึงสวัสดิการของรัฐโดยมิชอบ ทำลายสถาบันครอบครัวและกฎธรรมชาติ เป็นต้น[23] |
30 กันยายน 2565 (2 ปี 42 วัน) |
ศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้ประยุทธ์ จันทร์โอชายุติปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2565 หลังรับคำร้องเรื่องรัฐธรรมนูญห้ามบุคคลดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีรวมเกิน 8 ปี และให้ประยุทธ์ส่งคำชี้แจงภายใน 15 วัน[24] ก่อนในวันที่ 30 กันยายน 2565 มีคำวินิจฉัย 6 ต่อ 3 ให้เริ่มนับวาระการดำรงตำแหน่งตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี 2560 มีผลใช้บังคับ[25][26] |
19 กรกฎาคม 2566 (1 ปี 115 วัน) |
ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ นาย พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หยุดปฏิบัติหน้าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญ เนื่องจากคดีถือครองหุ้นสื่อ สถานีโทรทัศน์ ITV มาตรา 82 วรรคสอง ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก (7 ต่อ 2) เห็นว่า ข้อเท็จจริง ตามคำร้องและเอกสารประกอบคำร้องปรากฎเหตุอันควรสงสัยว่ามีกรณีตามที่ถูกร้อง |
24 มกราคม 2567 (0 ปี 292 วัน) |
ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ นาย พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ไม่มีความผิดคดีถือครองหุ้นสื่อ สถานีโทรทัศน์ ITV และกลับมาปฏิบัติหน้าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญได้เหมือนเดิม ทั้งนี้ ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก (8 ต่อ 1) |
7 สิงหาคม 2567 (0 ปี 96 วัน) |
ยุบพรรคก้าวไกล เพิกถอนสิทธิกรรมการบริหารพรรคเป็นเวลา 10 ปี |
14 สิงหาคม 2567 (0 ปี 89 วัน) |
ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ นาย เศรษฐา ทวีสิน พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เนื่องจากไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ กรณีแต่งตั้ง นาย พิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรี ทั้งที่รู้ว่าขาดคุณสมบัติ ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก (5 ต่อ 4) |
ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2549
ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุด พ.ศ. 2549 ได้สิ้นสภาพไปพร้อมกับศาลรัฐธรรมนูญ ภายหลังการรัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2549 ตามประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 3 ลงวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2549 และได้บัญญัติขึ้นตามมาตรา 35 ของ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2549 ให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญปฏิบัติหน้าที่แทน
คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550
คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560
อ้างอิง
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา. พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566. เล่ม 139 ตอนที่ 57ก หน้า 139. วันที่ 19 กันยายน 2565.
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา.ประกาศแต่งตั้งประธานศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ. เล่ม 141 ตอนพิเศษ 83ง หน้า 1 วันที่ 22 มีนาคม 2567.
- ↑ "ชวนรู้ "ศาลรัฐธรรมนูญ" คืออะไร มีหน้าที่ตรวจสอบ-วินิจฉัยอะไรบ้าง?". กรุงเทพธุรกิจ. 11 พฤศจิกายน 2021.
- ↑ เปิด 5 เรื่องเด่น นุรักษ์ มาประณีต อดีตประธานศาลรัฐธรรมนูญ องคมนตรีคนล่าสุด
- ↑ 5.0 5.1 สถาบันรัฐธรรมนูญศึกษา (มกราคม–เมษายน 2008). "เปรียบเทียบองค์ประกอบ ที่มา และอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 กับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540" (PDF). วารสาร ศาลรัฐธรรมนูญ. กรุงเทพฯ: สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ. 10 (28). ISSN 1513-1246.
- ↑ สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ. (2561). ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับศาลรัฐธรรมนูญ (PDF). กรุงเทพฯ: สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ. ISBN 978-616-8033-26-5.
- ↑ หน้าที่และอำนาจของ “ศาลรัฐธรรมนูญ”. ศาลรัฐธรรมนูญ. 10 ตุลาคม 2563. สืบค้นเมื่อ 8 เมษายน 2566.
- ↑ "วิจารณ์ศาล รธน.ระวังคุก! สนช. ผ่านกฎหมายลูกแล้ว". BBC News ไทย. 23 พฤศจิกายน 2017. สืบค้นเมื่อ 9 สิงหาคม 2022.
- ↑ "30 พฤษภาคม 2550 - ศาลตัดสินยุบพรรคไทยรักไทย". THE STANDARD. 29 พฤษภาคม 2019.
- ↑ มติชนสุดสัปดาห์ (23 ธันวาคม 2016). "ย้อนอ่านคำพิพากษาศาลรธน. ผลัก"สมัคร"ตกเก้าอี้นายกฯ ว่าด้วยปม"ลูกจ้าง-ค่าตอบแทน"". มติชนสุดสัปดาห์.
- ↑ 11.0 11.1 "ย้อนอดีตอาถรรพ์ 2 ธ.ค. 'นายกรัฐมนตรี' ตกเก้าอี้". กรุงเทพธุรกิจ. 1 ธันวาคม 2020.
- ↑ "ศาลรัฐธรรมนูญกับสภาวะวิกฤติทางการเมือง (2549-2562)". ประชาไท. 14 กุมภาพันธ์ 2019.
- ↑ "8:0เลื่อนเลือกตั้งได้". กรุงเทพธุรกิจ. 25 มกราคม 2014.
- ↑ "ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัย ยิ่งลักษณ์พ้นนายกรัฐมนตรี". sanook.com. 7 พฤษภาคม 2014.
- ↑ "มติเอกฉันท์ศาล รธน. สั่งยุบพรรคไทยรักษาชาติ "เซาะกร่อนบ่อนทำลาย" สถาบันฯ". BBC News ไทย. 7 มีนาคม 2019. สืบค้นเมื่อ 11 พฤศจิกายน 2021.
- ↑ "ศาลรัฐธรรมนูญชี้ หัวหน้า คสช. "ไม่เป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ"". BBC ไทย. 18 กันยายน 2019. สืบค้นเมื่อ 8 ธันวาคม 2021.
- ↑ "อนาคตต่อไป ของ อนาคตใหม่ หลัง ศาล รธน. สั่ง ธนาธร พ้นสภาพ ส.ส." BBC News ไทย. 20 พฤศจิกายน 2019. สืบค้นเมื่อ 11 พฤศจิกายน 2021.
- ↑ "ศาลรธน.ยกคำร้อง อนาคตใหม่ ล้มล้างการปกครอง คดีอิลลูมินาติ". มติชนออนไลน์. 21 มกราคม 2020.
- ↑ "อนาคตใหม่ : มติศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคอนาคตใหม่ ตัดสิทธิ กก.บห. 10 ปี". BBC News ไทย. 21 กุมภาพันธ์ 2020. สืบค้นเมื่อ 11 พฤศจิกายน 2021.
- ↑ "สรุปคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ กับ "ข้อต่อสู้หลัก" ที่ทำ พล.อ. ประยุทธ์ พ้นผิด "คดีพักบ้านหลวง"". BBC News ไทย. 2 ธันวาคม 2020.
- ↑ "คำวินิจฉัยฉบับเต็ม! ศาลรัฐธรรมนูญ คดีประวัติศาตร์ กับ มติ 8:1 'ล้มล้างการปกครอง'". ข่าวสด. 11 พฤศจิกายน 2021. สืบค้นเมื่อ 3 ธันวาคม 2021.
- ↑ "Thai court rules calls for curbs on monarchy are 'abuse of freedoms'". the Guardian (ภาษาอังกฤษ). 10 พฤศจิกายน 2021.
- ↑ "เปิดเหตุผล ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ ตุลาการศาลรธน. ปมจำกัดสมรสแค่ชายหญิงไม่ขัดรธน". มติชนออนไลน์. 3 ธันวาคม 2021. สืบค้นเมื่อ 3 ธันวาคม 2021.
- ↑ "ด่วน! ศาลรธน.รับคำร้องปม 8 ปี นายกฯ สั่ง"บิ๊กตู่"หยุดปฏิบัติหน้าที่". ฐานเศรษฐกิจ. 24 สิงหาคม 2022. สืบค้นเมื่อ 24 สิงหาคม 2022.
- ↑ "บิ๊กตู่ พ้นบ่วง! มติ 6 : 3 ศาลรัฐธรรมนูญ ให้คัมแบ๊กทำเนียบ ชี้เป็นนายกฯมาไม่ถึง 8 ปี". มติชนออนไลน์. 30 กันยายน 2022.
- ↑ "มติศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมาก ชี้ "ประยุทธ์" เป็นนายกฯยังไม่ครบ 8 ปี". Thai PBS. 30 กันยายน 2022.
แหล่งข้อมูลอื่น
- ภาพถ่ายทางอากาศของ สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ
- สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ เก็บถาวร 15 มีนาคม 2011 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน