ข้ามไปเนื้อหา

วิกฤตการเงิน ค.ศ. 1907

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ฝูงชนที่รวมตัวกันบนวอลล์สตรีต ในระหว่างความตื่นตระหนกในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1907 ด้านขวามือของรูปคือเฟดเดอรัลฮอล ซึ่งมีรูปปั้นของจอร์จ วอชิงตันอยู่ด้านหน้า

วิกฤตการเงินปี 1907 (อังกฤษ: Panic of 1907) เป็นวิกฤตการณ์ทางการเงินที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกา เมื่อตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์กปิดที่ 50% ของมูลค่าสูงสุดในปีก่อนหน้า เกิดความตื่นตระหนกขึ้นทั่วไปเหมือนช่วงเศรษฐกิจถดถอย ผู้คนพากันถอนเงินออกจากธนาคารและบริษัททรัสต์ ความตื่นตระหนกในปี 1907 นี้ต่อมาขยายวงออกไปทั่วประเทศ เมื่อธนาคารท้องถิ่นและธนาคารรัฐหลายแห่ง รวมถึงธุรกิจต่างๆ พากันล้มละลาย สาเหตุหลักที่ผู้คนถอนเงินออกนั้น ได้แก่การที่สภาพคล่องในตลาดหดตัวลงเพราะธนาคารหลายแห่งในนิวยอร์ก และการที่ผู้ฝากเงินสูญเสียความมั่นใจ ซึ่งสถานการณ์ยิ่งแย่ลงเมื่อมีการพนันในตลาดมืดเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย[1]

วิกฤตครั้งนี้เริ่มต้นขึ้นด้วยการพยายามจะควบคุมราคาหุ้นของยูไนเต็ด คอปเปอร์ ในเดือนตุลาคม 1907 ซึ่งสุดท้ายล้มเหลว เมื่อความพยายามนี้ล้มเหลว ธนาคารซึ่งให้ยืมเงินเพื่อดำเนินแผนควบคุมราคาหุ้นนี้ก็ถูกผู้ฝากเงินแห่ถอนเงินออกเป็นจำนวนมาก ภายหลังธนาคารและบริษัททรัสต์ในเครือก็ถูกถอนเงินออกด้วยเช่นกัน จนทำให้ในสัปดาห์ต่อมานิกเกอร์บอกเกอร์ทรัสต์ ซึ่งเป็นบริษัททรัสต์ที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของนิวยอร์กล้ม ความล้มเหลวของนิกเกอร์บอกเกอร์ทำให้ความหวาดกลัวกระจายไปทั่วบริษัททรัสต์ในนิวยอร์กเพราะธนาคารท้องถิ่นต่าง ๆ พากันถอนเงินสำรองออกจากธนาคารในนิวยอร์ก ความตื่นตระหนกกระจายต่อไปทั่วประเทศเมื่อคนจำนวนมากพากันถอนเงินฝากออกจากธนาคารในท้องถิ่นของตนด้วย

ความตระหนกครั้งนี้อาจทวีความรุนแรงขึ้นถ้าไม่ได้ เจ. พี. มอร์แกน ยื่นมือเข้าช่วยเหลือ เขาใช้เงินส่วนตัวจำนวนมากเข้าอุ้มระบบธนาคาร และเกลี้ยกล่อมให้นายธนาคารอื่น ๆ ในนิวยอร์กให้ทำเช่นเดียวกัน เพราะในขณะนั้น สหรัฐอเมริกาไม่มีธนาคารกลางที่จะอัดฉีดสภาพคล่องกลับเข้าไปในระบบ ในเดือนพฤศจิกายน การแพร่ระบาดทางการเงินส่วนใหญ่สงบลงแล้ว แต่ก็ยังเกิดวิกฤตขึ้นอีกกับบริษัทหลักทรัพย์ขนาดใหญ่ทำการกู้เงินจำนวนมากโดยใช้หุ้นของเทนเนสซีโคล, ไอออน แอนด์ เรลโรด (Tennessee Coal, Iron and Railroad Company) หรือทีซีแอนด์ไอ เป็นหลักค้ำประกัน และมีผลให้ราคาหุ้นทีซีแอนด์ไอหมิ่นเหม่จะดิ่งฮวบ แต่แล้วหุ้นของทีซีแอนด์ไอก็รอดมาได้เพราะถูกซื้อกิจการโดยยู. เอส. สตีล คอร์เปอเรชั่น ของมอร์แกน ซึ่งเป็นการซื้อที่ผ่านการยอมรับจากประธานาธิบดีธีโอดอร์ รูสเวลต์ ผู้ต่อต้านการผูกขาด ในปีต่อมา เนลสัน ดับบลิว. อัลดริช สมาชิกวุฒิสภาก่อตั้งและเป็นประธานคณะกรรมการตรวจสอบวิกฤตและยื่นเสนอวิธีแก้ปัญหาในอนาคต ซึ่งนำไปสู่การก่อตั้งระบบธนาคารกลาง

สถานการณ์ทางเศรษฐกิจ

แผ่นดินไหวในซานฟรานซิสโก 1906ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา และทำให้ระบบธนาคารแห่งชาติอ่อนแอลงไปยิ่งกว่าเดิม

หลังจากที่ประธานาธิบดีแอนดรูว์ แจ็กสันปล่อยให้สิทธิของธนาคารที่สองแห่งสหรัฐอเมริกาหมดอายุลงใน 1836 สหรัฐอเมริกาไม่มีหน่วยงานใดที่ทำหน้าที่ของธนาคารกลาง และปริมาณเงินหมุนเวียนในนิวยอร์กมีความผันผวนตามฤดูทางการเกษตรประจำปี ในฤดูใบไม้ร่วง เงินจะไหลออกจากเมืองเพื่อไปซื้อสินค้าการเกษตร และดอกเบี้ยก็ถูกปรับสูงขึ้นเพื่อดึงเงินกลับมา นักลงทุนต่างชาติมักส่งเงินมายังนิวยอร์กเพื่อทำกำไรจากอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่า[2] ตั้งแต่เดือนมกราคม 1906 ดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์ที่อยู่ที่ระดับสูงถึง 103 จุดก็เริ่มค่อย ๆ ปรับฐาน ซึ่งใช้เวลาตลอดทั้งปี ในเดือนเมษายนเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในซานฟรานซิสโกซึ่งทำลายซานฟรานซิสโกทั้งเมืองทำให้เศรษฐกิจผันผวน และมีเงินจำนวนมากไหลออกจากนิวยอร์กไปซานฟรานซิสโกเพื่อช่วยในการสร้างเมืองใหม่.[3][4] แรงตึงเครียดต่อปริมาณเงินหมุนเวียนเกิดขึ้นอีกในปลายปี 1906 เมื่อธนาคารแห่งอังกฤษขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพื่อตอบสนองต่อการที่บริษัทประกันอังกฤษจ่ายเงินจำนวนมากให้กับผู้ถือกรมธรรม์สหรัฐฯ และทำให้เงินคงค้างอยู่ในลอนดอนมากกว่าที่คาดไว้[5] ในเดือนกรกฎาคม 1906 ราคาหุ้นตกลงร้อยละ 18 เมื่อเทียบกับจุดสูงสุดในเดือนมกราคม ในเดือนกันยายน หุ้นจึงฟื้นตัวประมาณครึ่งหนึ่งของส่วนที่หายไป

ธีโอดอร์ รูสเวลต์ สั่งให้หมียักษ์สองตัว “คณะกรรมการพาณิชย์ทางหลวงระหว่างรัฐ” และ “ศาลรัฐบาลกลาง” โจมตีวอลล์สตรีท (Puck, 8 พฤษภาคม 1907)

พระราชบัญญัติเฮปเบิร์นซึ่งมอบอำนาจแก่คณะกรรมการพาณิชย์ทางหลวงระหว่างรัฐ (Interstate Commerce Commission, ICC) ให้มีอำนาจในการกำหนดเพดานราคาอัตราค่าบริการรถไฟนั้นเริ่มมีผลบังคับใช้ในปี 1906[6] ซึ่งส่งผลให้หลักทรัพย์ในกลุ่มรถไฟลดราคาลง[7] ระหว่างเดือนกันยายน 1906 และมีนาคม 1907 ตลาดหลักทรัพย์ปรับตัวลดลงร้อยละ 7.7 ของมูลค่าตลาด[8] ระหว่างวันที่ 9 และ 26 มีนาคม ดัชนีลดลงอีกร้อยละ 9.8[9] (การที่หุ้นปรับตัวลงอย่างมากในเดือนมีนาคมนี้บางครั้งถูกเรียกว่า “ความตระหนกของเศรษฐี”)[10] เศรษฐกิจยังคงมีความผันผวนตลอดหน้าร้อน มีเหตุการณ์หลายอย่างที่สร้างความตกใจขึ้นในระบบ เช่นหุ้นของยูเนียนแปซิฟิก ซึ่งเป็นหุ้นที่ถูกใช้เป็นหลักค้ำประกันมากที่สุดตัวหนึ่ง ลดค่าลงถึง 50 จุด, ในเดือนมิถุนายนการเสนอขายพันธบัตรของนครนิวยอร์กล้มเหลว, ในเดือนกรกฎาคมตลาดทองแดงล้มลง, ในเดือนสิงหาคมสแตนดาร์ดออยคัมพานีถูกปรับเป็นจำนวน 29 ล้านเหรียญสหรัฐเพราะฝ่าฝืนกฎหมายห้ามผูกขาด[11] ในช่วงเก้าเดือนแรกของปี 1907 หุ้นลดค่าลงถึงร้อยละ 24.4[12]

วันที่ 27 กรกฎาคม หนังสือพิมพ์ เดอะคอมเมอเชียลแอนด์ไฟแนนเชียลโครนิเคิล กล่าวว่า “ตลาดยังคงไม่มั่นคง... ทันทีที่สัญญาณเปล่านี้ปรากฏชัด เหตุการณ์เช่นการที่ทองรั่วไหลไปยังปารีสก็ส่งผลให้เกิดความสั่นคลอนไปทั่วตลาด และผลประโยชน์และความหวังก็มลายหายไป”[13] มีการแห่ถอนเงินเกิดขึ้นหลายแห่งนอกสหรัฐอเมริกาในปี 1907 เช่น ในอียิปต์ในเดือนเมษายนและพฤษภาคม, ในญี่ปุ่นในเดือนพฤษภาคมและมิถุนายน, ในแฮมเบิร์กและชิลีในต้นเดือนตุลาคม[14] ฤดูใบไม้ร่วงมักเป็นช่วงเวลาที่ระบบธนาคารอ่อนแอ เมื่อรวมกับความผันผวนในตลาดหลักทรัพย์แล้ว แรงช็อคเพียงเล็กน้อยก็ทำให้เกิดผลกระทบที่รุนแรงตามมาได้[15]

ความตื่นตระหนก

ควบคุมหุ้นทองแดง

ความตื่นตระหนกในปี 1907 นี้เริ่มต้นจากแผนการของเอฟ. ออกุสตุส ไฮนส์ที่จะควบคุมหุ้นของยูไนเต็ดคอปเปอร์คัมพานีเพื่อปั่นราคาในตลาด ไฮนส์เป็นเศรษฐีผู้ประสบความสำเร็จในธุรกิจทองแดงในบัตต์ รัฐมอนแทนา ในปี 1906 เขาย้ายมาที่นิวยอร์กและเริ่มสนิทกับชาลส์ ดับบลิว มอส นายธนาคารผู้มีชื่อเสียงในด้านลบ มอสเคยประสบความสำเร็จในการกำไรจากการคุมราคาน้ำแข็งของนิวยอร์ก และมีอำนาจในธนาคารหลายแห่งร่วมกับไฮนซ์ ทั้งคู่มีตำแหน่งในธนาคารแห่งชาติ 6 แห่ง ธนาคารแห่งรัฐ 10 แห่ง บริษัททรัสต์ 5 รัฐ และบริษัทประกัน 4 แห่ง เป็นอย่างน้อย[16]

ความตื่นตระหนกเริ่มต้นขึ้นที่ฟุตบาทนอกตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์กซึ่งเป็นสถานที่ซื้อขายหุ้นที่คึกคัก ภายหลังตลาดบนฟุตบาทแห่งนี้ได้กลายเป็นตลาดหลักทรัพย์อเมริกัน

ออตโต ซึ่งเป็นพี่น้องของออกุสตุส วางแผนที่จะควบคุมราคาหุ้นยูไนเต็ดคอปเปอร์ เพราะเชื่อว่าครอบครัวไฮนส์มีหุ้นส่วนใหญ่ของบริษัทอยู่ในครอบครอง และเขายังเชื่ออีกว่าหุ้นของครอบครัวไฮนส์จำนวนมากถูกยืมและขายชอร์ตโดยนักเก็งกำไรซึ่งคาดหวังว่าราคาหุ้นจะตกลง และพวกเขาจะได้ซื้อหุ้นคืนในราคาที่ถูกลงเพื่อทำกำไรจากส่วนต่าง ออตโตเสนอที่จะบีบสถานะชอร์ต โดยที่พวกไฮนส์จะกว้านซื้อหุ้นที่เหลืออยู่ให้มากที่สุด แล้วบีบบังคับให้ผู้ยืมหุ้นคืนหุ้นที่ยืมไป การกว้านซื้อหุ้นจะทำให้ราคาดีดตัวสูงขึ้น และเมื่อผู้ยืมหุ้นไม่สามารถหาหุ้นมาคืนจากแหล่งอื่นได้ พวกเขาก็ต้องกลับมาหาพวกไฮนส์ ซึ่งสามารถตั้งราคาได้ตามใจชอบ [17]

ออตโต, ออกุสตุส และชาลส์ มอส พบกับชาลส์ ที. บาร์นีย์ ประธานของนิกเกอร์บอกเกอร์ทรัสต์ ซึ่งเป็นทรัสต์ที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของเมือง เพื่อหาเงินทุนในการดำเนินตามแผน บาร์นีย์เคยสนับสนุนเงินในแผนของมอสครั้งก่อน มอสเตือนออตโตว่าเขาต้องใช้เงินมากกว่าเขาที่มีอยู่อีกมหาศาลเพื่อบีบสถานะชอร์ต และบาร์นีย์ปฏิเสธที่จะสนับสนุนเรื่องเงิน[18] แต่อย่างไรก็ดี ออตโตก็พยายามจะควบคุมตลาดต่อไป วันจันทร์ที่ 14 ตุลาคม เขาเริ่มกว้านซื้อหุ้นของยูไนเต็ดคอปเปอร์ จนทำให้ราคาพุ่งขึ้นจาก 39 ดอลล่าร์ต่อหุ้นเป็น 52 ดอลล่าร์ต่อหุ้นภายในวันเดียว ในวันอังคาร เขาเรียกหุ้นที่ถูกยืมไปกลับคืนจากผู้ยืมหุ้นเพื่อขายชอร์ต ราคาหุ้นพุ่งขึ้นต่อจนเกือบ 59 ดอลล่าร์ แต่ผู้ยืมหุ้นสามารถหาหุ้นยูไนเต็ดคอปเปอร์ได้จากแหล่งอื่นที่ไม่ใช่จากพวกไฮนส์ ออตโตอ่านตลาดผิด และราคาของหุ้นยูไนเต็ดคอปเปอร์ก็ดิ่งเหว[19]

หุ้นปิดที่ราคา 30 ดอลล่าร์ในวันอังคาร และตกลงไปถึง 10 ดอลล่าร์ในวันพุธ ออตโต ไฮนส์ล้มละลาย หุ้นของยูไนเต็ดคอปเปอร์ถูกซื้อขายกันนอกตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก ในตลาดกลางแจ้ง “บนฟุตบาท” (ซึ่งตลาดบนฟุตบาทนี้ภายหลังกลายเป็นตลาดหลักทรัพย์อเมริกัน) หลังจากที่ตลาดล้มลง เดอะวอลล์สตรีทเจอร์นัลรายงานว่า “ไม่เคยมีเหตุการณ์ที่วุ่นวายขนาดนี้มาก่อนบนฟุตบาท ผู้เชี่ยวชาญที่เก่าแก่ที่สุดในตลาดนอกก็กล่าวอย่างเดียวกัน”[20]

ความตระหนกกระจายตัว

ความผิดพลาดในการควบคุมตลาดของออตโตทำให้เขาไม่สามารถที่จะชำระหนี้สินได้ และทำให้กรอสแอนด์กลีเบิร์ก บริษัทนายหน้าของเขาล้มละลาย วันพฤหัสบดีที่ 17 ตุลาคม ตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์กยกเลิกสิทธิพิเศษในการซื้อขายของออตโต เมื่อยูไนเต็ดคอปเปอร์ล้ม ธนาคารออมทรัพย์แห่งบัตต์ รัฐมอนแทนา (ซึ่งเอฟ. ออกุสตุส ไฮนส์ เป็นเจ้าของ) ก็ประกาศล้มละลาย ธนาคารมอนแทนาถือหุ้นยูไนเต็ดคอปเปอร์เป็นหลักค้ำประกันในการปล่อยกู้ และเป็นธนาคารตัวแทนของธนาคารเมอร์แคนทีลในนิวยอร์ก ซึ่งมีเอฟ. ออกุสตุส ไฮนส์ เป็นประธานในขณะนั้น

ความเกี่ยวข้องของเอฟ. ออกุสตุส ไฮนส์กับความพยายามควบคุมตลาดและการล้มละลายของธนาคารออมทรัพย์แห่งรัฐนั้นเป็นเรื่องที่คณะกรรมการของธนาคารเมอร์แคนทีลไม่สามารถรับได้ แต่แม้ว่าพวกเขาจะบังคับให้ออกุสตุสลาออกก่อนเที่ยง[21] มันก็สายเกินไปแล้ว เมื่อข่าวตลาดล้มแพร่กระจายออกไป ผู้ฝากเงินรีบแห่กันมาถอนเงินออกจากธนาคารแห่งชาติเมอร์แคนทีล ธนาคารเมอร์แคนทีลมีเงินพอที่จะทนการถอนเงินได้หลายวัน แต่ผู้ฝากเงินเริ่มถอนเงินออกจากธนาคารของชาลส์ ดับบลิว. มอส ซึ่งสมรู้ร่วมคิดกับพวกไฮนส์ ผู้คนพอนเงินออกจากธนาคารแห่งชาตินอร์ทอเมริกา และเดอะนิวอัมสเตอร์ดัมเนชันแนล สำนักหักบัญชีแห่งนิวยอร์กบังคับให้มอสและไฮนส์ลาออกออกจากตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับธนาคารทั้งหมดเพราะกลัวว่าชื่อเสียงที่แปดเปื้อนของทั้งสองจะส่งผลกระทบต่อระบบธนาคาร[22] ในสุดสัปดาห์หลังจากที่การควบคุมตลาดล้มเหลวยังไม่เกิดความตื่นตระหนกต่อระบบ เงินถูกถอนออกจากธนาคารที่เกี่ยวข้องกับพวกไฮนส์เพื่อเอาไปฝากไว้ที่ธนาคารอื่นในเมืองเท่านั้น[23]

ลุกลามไปถึงทรัสต์

ช่วงต้นคริสต์ศตวรรษ 1900 บริษัททรัสต์กำลังเฟื่องฟู ในทศวรรษก่อนปี 1907 สินทรัพย์ของบริษัททรัสต์เพิ่มขึ้นร้อยละ 244 ซึ่งในช่วงเดียวกันสินทรัพย์ของธนาคารแห่งชาติเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 97 และของธนาคารแห่งรัฐในนิวยอร์กเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 82[24] เหล่าผู้นำทรัสต์ที่กำลังเฟื่องฟูกลายเป็นสมาชิกสำคัญของกลุ่มทางการเงินและสังคมของนิวยอร์ก และหนึ่งในนั้นคือชาลส์ ที. บาร์นีย์ เขาเป็นที่เคารพนับถือมากที่สุดคนหนึ่ง และเป็นน้องเขยของวิลเลียม คอลลินส์ วิทนีย์ ซึ่งเป็นนักการเงินชื่อดัง บาร์นีย์เป็นประธานของนิกเกอร์บอกเกอร์ทรัสต์ ซึ่งเป็นทรัสต์ที่ใหญ่เป็นอันดับสามในนิวยอร์ก[25]

สำนักงานใหญ่ของนิกเกอร์บอกเกอร์ทรัสต์ ซึ่งอยู่หัวมุมถนนหมายเลขห้าและถนนหมายเลข 34

เนื่องจากบาร์นีย์มีความเกี่ยวข้องกับชาลส์ ดับบลิว. มอส และเอฟ. ออกุสตุส ไฮนส์ ในวันจันทร์ที่ 21 ตุลาคม คณะกรรมการนิกเกอร์บอกเกอร์จึงขอให้บาร์นีย์ลาออก (ผู้ฝากเงินอาจเริ่มถอนเงินออกจากนิกเกอร์บอกเกอร์ตั้งแต่วันที่ 18 ตุลาคม จึงทำให้เกิดความกังวลนี้ขึ้น)[26]

ในวันเดียวกันนั้นเอง ธนาคารพาณิชย์แห่งชาติ (เมืองแคนซัส)ประกาศว่าจะไม่ทำหน้าที่หักบัญชีให้นิกเกอร์บอกเกอร์ ในวันที่ 22 ตุลาคม นิกเกอร์บอกเกอร์ต้องเผชิญหน้ากับการถูกแห่ถอนเงิน ฝูงชนก่อตัวขึ้นตั้งแต่ธนาคารเปิด เดอะนิวยอร์กไทมส์รายงานว่า “ทันทีที่ผู้ถอนเงินเดินออกไปหนึ่งคน อีกสิบกว่าคนก็เข้ามาขอถอนเงิน (ตำรวจ)ถูกขอให้ส่งคนมาดูแลความเรียบร้อย[27] ภายในเวลาสามชั่วโมงนิกเกอร์บอกเกอร์ถูกถอนเงินไป 8 ล้านเหรียญสหรัฐ หลังจากนั้นไม่นานในตอนบ่ายบริษัทก็ต้องหยุดให้บริการ[28]

เมื่อข่าวกระจายออกไป ธนาคารและทรัสต์อื่น ๆ จึงเริ่มกลัวที่จะปล่อยเงินให้ยืม อัตราดอกเบี้ยเงินกู้สำหรับโบรกเกอร์ที่ตลาดหลักทรัพย์พุ่งสูงขึ้น ทำให้โบรกเกอร์ไม่สามารถยืมเงินได้ และทำให้ราคาหุ้นตกลงไปอยู่ระดับต่ำอย่างที่ไม่เคยปรากฏตั้งแต่เดือนธันวาคม 1900[29] ความตระหนกลุกลามไปยังทรัสต์ขนาดใหญ่อีกสองแห่ง (บริษัททรัสต์แห่งอเมริกาและลินคอนทรัสต์) อย่างรวดเร็ว จนถึงวันที่ 24 ตุลาคม มีสถาบันทางการเงินหลายแห่งโดนผลกระทบเป็นลูกโซ่ อันได้แก่ Twelfth Ward Bank, Empire City Savings Bank, Hamilton Bank of New York, First National Bank of Brooklyn, International Trust Company of New York, Williamsburg Trust Company of Brooklyn, Borough Bank of Brooklyn, Jenkins Trust Company of Brooklyn และ Union Trust Company of Providence[30]

เจ. พี. มอร์แกน ยื่นมือช่วย

ขณะที่ความโกลาหลเริ่มทำให้ความน่าเชื่อถือของธนาคารในนิวยอร์กสั่นคลอน เจ. พี. มอร์แกน ซึ่งเป็นนายธนาคารที่มีชื่อเสียงที่สุดและประธานเจ.พี. มอร์แกน แอนด์ โค อยู่ระหว่างการเดินทางไปริชมอนด์ รัฐเวอร์จิเนีย มอร์แกนไม่ได้เป็นเพียงนายธนาคารที่ร่ำรวยและมีเครือข่ายกว้างขวางที่สุดเท่านั้น แต่ยังเคยมีประสบการณ์รับมือกับวิกฤต โดยช่วยกระทรวงการคลังสหรัฐอเมริกาในช่วงวิกฤต ค.ศ. 1893 เมื่อได้ข่าวปัญหาในครั้งนี้ เขาจึงกลับมาที่วอลล์สตรีทในคืนวันเสาร์ที่ 19 ตุลาคม เช้าวันรุ่งขึ้นห้องสมุดของเขาบนถนนแมดิสันและถนนหมายเลข 36 ก็กลายเป็นที่รวมตัวของประธานธนาคารและประธานบริษัททรัสต์ในนิวยอร์กเพื่อมาแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร (และขอความช่วยเหลือเพื่อเอาตัวรอดจาก) วิกฤตที่กำลังก่อตัวขึ้น[31][32]

เจ.พี. มอร์แกน นายธนาคารผู้มีอำนาจในนิวยอร์ก ผู้เคยช่วยเหลือกระทรวงการคลังสหรัฐอเมริกาในช่วงวิกฤต ค.ศ. 1893

มอร์แกนและพรรคพวกตรวจสอบบัญชีของบริษัทนิกเกอร์บอกเกอร์ทรัสต์ แต่ตัดสินใจว่าบริษัทไม่สามารถชดใช้หนี้ได้ จึงไม่ได้แทรกแซงเพื่อหยุดการแห่ถอนเงิน แต่อย่างไรก็ตาม ความล้มเหลวของนิกเกอร์บอกเกอร์ทรัสต์ทำให้ผู้คนพากันแห่ถอนเงินจากบริษัททรัสต์ที่ยังมีความมั่นคง มอร์แกนจึงต้องเริ่มปฏิบัติการช่วยเหลือ ตอนบ่ายวันอังคารที่ 22 ตุลาคม ประธานบริษัททรัสต์แห่งอเมริกาขอความช่วยเหลือจากมอร์แกน ในเย็นวันนั้น มอร์แกนประชุมกับ จอร์จ เอฟ. เบเคอร์ ประธานของธนาคารแห่งชาติที่หนึ่ง, เจมส์ สติลแมน ประธานของธนาคารซิตี้แห่งชาตินิวยอร์ก (ซึ่งภายหลังกลายเป็นซิตี้แบงก์) และจอร์จ บี. คอร์เทลยู รัฐมนตรีกระทรวงการคลังสหรัฐอเมริกา คอร์เทลยูกล่าวว่าเขาพร้อมที่จะย้ายเงินรัฐบาลไปยังธนาคารเพื่อช่วยเหลือเรื่องเงินฝาก หลังจากการตรวจสอบข้ามคืนพบว่าบริษัททรัสต์แห่งอเมริกามีความมั่นคง ในบ่ายวันพุธ มอร์แกนประกาศว่า "นี่จะเป็นที่ที่หยุดปัญหา"[33]

เมื่อคนเริ่มแห่ถอนเงินจากบริษัททรัสต์แห่งอเมริกา มอร์แกนก็ร่วมมือกับสติลแมนและเบเคอร์เพิ่มสภาพคล่องให้กับบริษัทเพื่อให้มีเงินจ่ายผู้ฝากเงิน บริษัทรอดพ้นจากการปิดกิจการ แต่มอร์แกนรู้ว่าต้องเตรียมเงินอีกเพื่อให้ธนาคารสามารถอยู่รอดในวันต่อ ๆ ไป ในคืนนั้น เขารวบรวมประธานของบริษัททรัสต์อื่น ๆ และยื้อตัวพวกเขาไว้ในการประชุมถึงเที่ยงคืนจนกระทั่งพวกเขายินยอมให้ยืมเงิน 8.25 ล้านดอลล่าร์ให้บริษัททรัสต์แห่งอเมริกาสามารถเปิดได้อีกวัน[34]

อ้างอิง

  1. Yale M. Braunstein, "The Role of Information Failures in the Financial Meltdown", School of Information, UC Berkeley, Summer 2009
  2. Tallman & Moen 1990, pp. 3–4
  3. Odell & Weidenmier 2004
  4. Paul Saffo, ABC News (April 17, 2008)
  5. Tallman & Moen 1990, p. 4
  6. Noyes 1909, pp. 361–2
  7. Edwards 1907, p. 66
  8. วัดจากดัชนีของหุ้นที่จดทะเบียนทั้งหมด อ้างอิงจาก Bruner & Carr 2007, p. 19
  9. Bruner & Carr 2007, p. 20
  10. Kindleberger & Aliber 2005, p. 102
  11. Kindleberger & Aliber 2005, p. 102
  12. Bruner & Carr 2007, p. 32
  13. Bruner & Carr 2007, p. 31
  14. Noyes 1909, pp. 361–2
  15. Tallman & Moen 1990, p. 4
  16. Bruner & Carr 2007, pp. 38–40
  17. Bruner & Carr 2007, pp. 43–44
  18. Bruner & Carr 2007, p. 45
  19. Bruner & Carr 2007, pp. 47–48
  20. Bruner & Carr 2007, p. 49
  21. Bruner & Carr 2007, pp. 51–55
  22. Bruner & Carr 2007, pp. 61–62
  23. Tallman & Moen 1990, p. 7
  24. Moen & Tallman 1992, p. 612
  25. Bruner & Carr 2007, p. 68
  26. Tallman & Moen 1990, p. 7
  27. Bruner & Carr 2007, p. 79
  28. Tallman & Moen 1990, p. 7
  29. Bruner & Carr 2007, p. 85
  30. Bruner & Carr 2007, p. 101
  31. Bruner & Carr 2007, pp. 83–86
  32. Chernow 1990, p. 123
  33. Bruner & Carr 2007, pp. 87–88
  34. Bruner & Carr 2007, p. 93

แม่แบบ:Link FA แม่แบบ:Link FA แม่แบบ:Link FA แม่แบบ:Link FA แม่แบบ:Link GA