ข้ามไปเนื้อหา

เครื่องปรับอากาศ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก ปรับอากาศ)

เครื่องปรับอากาศ หรือภาษาปากว่า แอร์ (อังกฤษ: Air conditioner, aircon) คือเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ใช้ปรับอุณหภูมิของอากาศในเคหสถาน เพื่อให้มนุษย์ได้อาศัยอยู่ในที่ที่ไม่ร้อนหรือไม่เย็นจนเกินไป หรือใช้รักษาภาวะอากาศให้คงที่เพื่อจุดประสงค์อื่น เคหสถานในเขตศูนย์สูตรหรือเขตร้อนชื้นมักมีการติดตั้งเครื่องปรับอากาศเพื่อลดอุณหภูมิให้เย็นลง ตรงข้ามกับในเขตอบอุ่นหรือเขตขั้วโลกใช้เพื่อเพิ่มอุณหภูมิให้สูงขึ้น (อาจเรียกว่า เครื่องทำความร้อน) เครื่องปรับอากาศมีทั้งแบบตั้งพื้น ติดผนัง และแขวนเพดาน ทำงานด้วยหลักการการถ่ายเทความร้อน กล่าวคือ เมื่อความร้อนถ่ายเทออกไปข้างนอก อากาศภายในห้องจะมีอุณหภูมิลดลง เป็นต้น และเครื่องปรับอากาศอาจมีความสามารถในการลดความชื้นหรือการฟอกอากาศให้บริสุทธิ์ด้วย

ขนาดเครื่องปรับอากาศ

[แก้]

ขนาดของเครื่องปรับอากาศ มีหน่วยเป็น บีทียู ต่อ ชั่วโมง (BTU/hr) (บีทียู เป็นหน่วยของความร้อน) เป็นค่าความสามารถในการลดพลังงานความร้อนของเครื่องปรับอากาศ โดยการลดพลังงานความร้อน 1 บีทียู จะทำให้น้ำบริสุทธิ์ที่หนัก 1 ปอนด์ (ประมาณ 453.6 มิลลิลิตร) เย็นลง 1 องศาฟาเรนไฮต์ (5/9 องศาเซลเซียส) การเลือกขนาดของเครื่องปรับอากาศนั้นต้องคำนึงถึงขนาดของเครื่องปรับอากาศและขนาดของ BTU ของเครื่องปรับอากาศควบคู่กันไปด้วย คำว่า BTU ย่อมาจาก British Thermal Unit ซึ่งหากเลือกขนาดของเครื่องปรับอากาศไม่พอดีจะส่งผลดังนี้

  • BTU ต่ำไป ส่งผลให้คอมเพรสเซอร์จะทำงานตลอดเวลา สิ้นเปลื้องพลังงานและอาจจะทำให้เครื่องปรับอากาศเสียเร็ว
  • BTU สูงไป ส่งผลทำให้คอมเพรสเซอร์จะทำงานตัดบ่อยไป ทำให้ประสิทธิ์ภาพในการทำงานลดน้อยลง ทำให้ความชื้นในห้องสูง เมื่ออยู่ในห้องนั้นจะรู้สึกไม่สบายตัว[1]
ขนาด BTU ขนาดห้องปกติ(ตารางเมตร) ขนาดห้องที่โดนแสงแดด(ตารางเมตร)
9,000 12-15 11-14
12,000 16-20 14-18
18,000 24-30 21-27
21,000 28-35 25-32
24,000 32-40 28-36
26,000 35-44 30-39
30,000 40-50 35-45
36,000 48-60 42-54
48,000 64-80 56-72
60,000 80-100 70-90

ประเภทเครื่องปรับอากาศ

[แก้]

ประเภทของเครื่องปรับอากาศภายในบ้านเรือน ถ้าแบ่งตามลักษณะตำแหน่งของแฟนคอยล์ ยุนิท (ตัวพัดลมที่เป่าความร้อนออกไปภายนอก) จะแบ่งได้ 2 ประเภท คือ

แบบชิ้นเดียว

[แก้]

หรือที่พวกเราคุ้นเคยในในชื่อ แอร์ฝังหน้าต่าง/ผนัง (window type) ตัวแฟนคอยล์ ยุนิตจะอยู่เป็นชิ้นเดียวกับตัวคอนเดนซิ่ง ยุนิต (ส่วนที่เป่าลมเย็นให้กับภายในห้อง) ข้อดีของเครื่องแบบนี้คือขนาดกะทัดรัด ติดตั้งง่ายเพราะไม่ต้องเดินท่อน้ำยาแอร์ แต่ข้อเสียคือ เสียงจะค่อนข้างดัง(โดยเฉพาะเมื่อมันเก่ามากๆ) แรงสั่นสะเทือนที่กระทำต่อตัวเครื่องและโครงสร้างของจุดที่ติดตั้งก็มีสูง และถ้าเครื่องมีขนาดขนาดใหญ่เกินไปจะมีปัญหาในการติดตั้ง เพราะบริเวณช่องหน้าต่าง/ผนังไม่สามารถรับน้ำหนักมากได้ ต้องทำโครงสร้างมาช่วยค้ำจุนเพิ่ม นอกจากนี้ภายในตัวเครื่องยังประกอบด้วยวงจรการทำความเย็นและวงจรการหมุนเวียนอากาศสมบูรณ์ในตัว ซึ่งวงจรการหมุนเวียนของอากาศจะถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ วงจรการหมุนเวียนของอากาศภายนอกห้องและวงจรหมุนเวียนของอากาศภายในห้อง โดยมีมอเตอร์ชนิด แกนพลาเป็นตัวขับเคลื่อนใบพัดให้เกิดการหมุนเวียนของอากาศ[2]

แบบแยกชิ้นส่วน

[แก้]

(อังกฤษ: split type) เป็นแบบที่เราเห็นกันได้ทั่วไปและนิยมมากที่สุด โดยตัวแฟนคอยล์ ยุนิตนั้นจะแยกไปติดตั้งภายนอกอาคารซึ่งจะแยกออกจากส่วนของตัวเครื่องระบายความร้อน โดยทั่วไปจะมีขนาดตั้งแต่ 1-50 ตัน ถ้าเป็นขนาด 1-3 ตัน มักจะไม่มีการต่อท่อลมไปจ่ายหลายๆ จุด แต่หากขนาดมากกว่านั้นอาจมีการต่อท่อลม ออกจากส่วนเป่าลมเพื่อไปจ่ายในหลายจุด ทำให้มีข้อดีคือเงียบ เพราะเครื่องระบายความร้อนจะโดนแยกออกไปวางไว้ที่อื่น แต่จะยุ่งยากในส่วนของการติดตั้งมากกว่าระบบติดหน้าต่าง เพราะต้องคำนึงถึง การเดินท่อระหว่างเครื่องที่แยกส่วน ท่อระบายน้ำจากที่เป่าลมเย็น ( Fan Coil ) ด้วย ทั้งยังมีรูปแบบให้เลือกค่อนข้างมาก ข้อเสียคือไม่สามารถมีท่อน้ำที่ยาวได้ เพราะอาจจะทำให้ความเย็นน้อยลง แต่หากจำเป็นที่จะต้องต่อท่อยาวก็จะต้องติดตั้งคอยล์ร้อนกับพัดลมเย็นให้อยู่ห่างกัน น้ำยาแอร์ปัจจุบันที่ใช้ในเครื่องปรับอากาศทั่วไปรวมถึงตู้เย็นและเครื่องปรับอากาศแบบส่วนกลางที่ใช้ในอาคารขนาดใหญ่ ในปัจจุบันมีชื่อเรียกทางเคมีว่า R-22 ส่วนน้ำยาแอร์สำหรับใช้ในรถยนต์มีชื่อเรียกทางเคมีว่า R-134A[3]

ค่า EER

[แก้]
  • ค่า EER ย่อมาจาก Energy Efficiency Rating เป็นค่าประสิทธิภาพของเครื่องปรับอากาศ โดยจะหาได้จาก ขนาดของเครื่องปรับอากาศ (บีทียู ต่อ ชั่วโมง) หารด้วย กำลังไฟฟ้าที่เครื่องปรับอากาศใช้ (วัตต์) เช่น เครื่องปรับอากาศ ขนาด 11,700 บีทียูต่อชั่วโมง ใช้ไฟฟ้า 1,000 วัตต์ จะมีค่า EER = 11,700 หาร 1,000 = 11.7 เป็นต้น
  • หากเครื่องปรับอากาศมีค่า EER สูง จะมีความสามารถสูงขึ้น สามารถทำงานดูดความร้อนได้ในอัตรา (BTU/hr) ที่สูงขึ้น โดยใช้พลังงาน (วัตต์)เท่าเดิม หรือดูดความร้อนในอัตราเท่าเดิมโดยใช้พลังงานน้อยลง นั่นหมายถึง ยิ่งมีค่า EER สูง ยิ่งประสิทธิภาพในการใช้พลังงานสูง
  • ค่า EER นี้ ถูกใช้เป็นเกณฑ์ในการตัดสินฉลากพลังงานด้วย โดยที่เครื่องปรับอากาศที่จะได้ฉลาดประหยัดไฟเบอร์ 5 ในประเทศไทย จะต้องมีค่า EER = 11.6 ขึ้นไป สำหรับเครื่องปรับอากาศขนาดไม่เกิน 27,296 บีทียู/ชั่วโมง และ 11.0 ขึ้นไป สำหรับเครื่องปรับอากาศขนาด มากกว่า 27,296 บีทียู/ชั่วโมง

ปัจจุบันได้เพิ่ม SEER สำหรับเครื่องปรับอากาศแบบอินเวอร์เตอร์

ระบบอินเวอร์เตอร์

[แก้]

ระบบอินเวอร์เตอร์ (Inverter) คือ ระบบที่นำเอาความรู้ทางด้านอิเลคทรอนิกส์ที่ควบคุมการทำงานด้วยคำสั่งจาก ไมโครคอมพิวเตอร์ที่สั่งงานโดยตรงจากรีโมทคอนโทรลและนำคำสั่งดังกล่าวมาใช้ ควบคุมการทำงานของระบบเครื่องปรับอากาศ ให้ทำงาน ปรับอุณหภูมิ ควบคุมความชื้น ควบคุมความเย็น ให้ทำงานได้โดยอัตโนมัติ โดยใช้คำสั่งจากไมโครคอมพิวเตอร์[4]

ในส่วนของเครื่องปรับอากาศรุ่นใหม่ นิยามคำว่าอินเวอร์เตอร์คือการพัฒนากระบวนการทำงานของเครื่องปรับอากาศให้ดียิ่งขึ้นหลักๆคือแรงลมเย็นที่ไม่ปล่อยของเสียทำลายสิ่งแวดล้อมเรียกว่าสารทำความเย็น R32 รวมถึงการปรับการทำงานของคอมเพรสเซอร์ให้ประหยัดไฟและทนทานกว่าเดิม คำว่า INVERTER จึงมีในเครื่องใช้ไฟฟ้าชนิดอื่นด้วยไม่ว่าจะเป็นเครื่องซักผ้าหรือตู้เย็นจึงมั่นใจได้ว่าเทคโนโลยีนี้จะช่วยยกระดับการใช้ชีวิตในบ้านได้อย่างแน่นอน

อ้างอิง

[แก้]
  1. http://www.samsung.com/th/support/skp/faq/518465
  2. http://www.air-mitsubishi.com/wall-aircondition.html
  3. www.tm.mahidol.ac.th/asset-management/sites/default/files/Air.pdf
  4. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-05-19. สืบค้นเมื่อ 2015-08-27.

ดูเพิ่ม

[แก้]