พระบาทสมเด็จพระสีสุวัตถิ์ มุนีวงศ์
สีสุวัตถิ์ มุนีวงศ์ | |||||
---|---|---|---|---|---|
พระมหากษัตริย์กัมพูชา | |||||
ครองราชย์ | 9 สิงหาคม 2470 – 24 เมษายน 2484 | ||||
ราชาภิเษก | 20 กรกฎาคม 2471 | ||||
ก่อนหน้า | พระบาทสมเด็จพระสีสุวัตถิ์ | ||||
ถัดไป | พระบาทสมเด็จพระนโรดม สีหนุ | ||||
พระราชสมภพ | 27 ธันวาคม พ.ศ. 2418 พระบรมราชวังจตุมุขสิริมงคล พนมเปญ กัมพูชา | ||||
สวรรคต | 24 เมษายน พ.ศ. 2484 (65 พรรษา) สถานีเขาปูกโค จังหวัดกำปอด กัมพูชา อินโดจีนของฝรั่งเศส | ||||
ฝังพระศพ | อุดง จังหวัดกันดาล ประเทศกัมพูชา | ||||
พระอัครมเหสี | นโรดม กานวิมาน นรลักข์เทวี (อภิเษก 2437; สิ้นพระชนม์ 2455) | ||||
พระราชบุตร | 7 พระองค์ | ||||
| |||||
ราชวงศ์ | ราชวงศ์วรมัน (สายราชสกุลสีสุวัตถิ์) | ||||
พระราชบิดา | พระบาทสมเด็จพระสีสุวัตถิ์ | ||||
พระราชมารดา | สมเด็จพระวรราชินี (วณ)[1] | ||||
ศาสนา | ศาสนาพุทธ |
พระบาทสมเด็จพระสีสุวัตถิ์ มุนีวงศ์ (เขมร: ព្រះបាទស៊ីសុវត្ថិ មុនីវង្ស) เอกสารไทยเรียก สมเด็จพระศรีสวัสดิ์มณีวงศ์[2] ทรงเป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 111 แห่งราชอาณาจักรกัมพูชา
พระบาทสมเด็จพระสีสุวัตถิ์ มุนีวงศ์ เป็นพระราชโอรสองค์รองของ พระบาทสมเด็จพระสีสุวัตถิ์ (นักองสีสุวัตถิ์) กษัตริย์แห่งกัมพูชาสมัยใหม่องค์ที่ 3 พระบาทสมเด็จพระสีสุวัตถิ์ มุนีวงศ์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์กษัตริย์แห่งกัมพูชาตั้งแต่วันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2470 จนกระทั่งเสด็จสวรรคตในปี พ.ศ. 2484 ในรัชสมัยของพระองค์ กัมพูชาเป็นรัฐในอารักขาของฝรั่งเศส พระองค์ถือเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์สุดท้ายที่สืบสายราชสกุลราชสกุลสีสุวัตถิ์
พระราชประวัติ
[แก้]บทความนี้ต้องการข้อความอธิบายความสำคัญที่กระชับ และสรุปเนื้อหาไว้ย่อหน้าแรกของบทความ |
เสด็จพระราชสมภพเมี่อวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2418 ที่พนมเปญ และเสด็จสวรรคตเมี่อวันที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2484 [3] พระบาทสมเด็จพระสีสุวัตถิ์ มุนีวงศ์ เป็นพระราชโอรสองค์รองของ พระบาทสมเด็จพระสีสุวัตถิ์ (นักองสีสุวัตถิ์)กษัตริย์แห่งกัมพูชารัชกาลที่ 110 พระองค์ประสูติแต่พระมารดาคือ นักแม่นางวณ ภายหลังมีพระนามว่า สมเด็จพระวรราชินี (วณ) พระมเหสีที่ได้มีประสูติกาลพระราชบุตรองค์ที่ห้าของพระบาทสมเด็จพระสีสุวัตถิ์ ในสมัยนั้นพระบาทสมเด็จพระนโรดม บรมรามเทวาวตาร พระปิตุลาของพระองค์ทรงปกครองอาณาจักรเขมรอุดง มีเมืองหลวงที่กรุงอุดงมีชัย พระนโรดมเป็นกษัตริย์หุ่นเชิดของอาณานิคมฝรั่งเศส ในปี พ.ศ. 2427 หลังจากที่ฝรั่งเศสพิชิตลาวและยึดครองเวียดนาม กัมพูชากลายเป็นอาณานิคมที่ฝรั่งเศสปกครองโดยตรง จากนั้นพระราชวงศ์ก็ย้ายที่ประทับจากอุดงมีชัยไปยังกรุงพนมเปญซึ่งเป็นราชธานีแห่งใหม่
พระองค์ทรงศึกษาที่โรงเรียนอาณานิคมและโรงเรียนทหารบกที่ซังแม็จซ็อง เมื่อจบการศึกษา ทรงได้รับยศเป็นร้อยตรีสังกัดกองทหารในฝรั่งเศส[4] เสด็จกลับกัมพูชาเมื่อ พ.ศ. 2452 ได้เป็นผู้บัญชาการทหาร ทรงขึ้นครองราชย์เมี่อพ.ศ. 2470
ผลงาน
[แก้]ผลงานด้านวรรณกรรมของพระองค์คือ เอกสหัสราตรี ทรงประพันธ์เป็นคำกาพย์ มีลักษณะคล้ายนิราศ เพื่อเล่าเรื่องราวที่เสด็จทอดพระเนตรเห็นในต่างประเทศ โดยเฉพาะในดินแดนอาหรับ[4]
พระชายา
[แก้]พระบาทสมเด็จพระสีสุวัตถิ์ มุนีวงศ์ โปรดและพอพระราชหฤทัยที่จะถูกห้อมล้อมด้วยพระชายาและพระสนมจำนวนมากมาย รวมถึงนางรำด้วย โดยพระองค์มีพระสนมที่เป็นนางรำชาวไทยหนึ่งพระองค์ คือ นางสาวแพน เรืองนนท์ ภายหลังถูกตั้งเป็นเจ้าจอมสีสุวัตถิ์ อำไพพงศ์ (Chao Chom Srivasti Amphaibongse) ต่อมาเธอได้ถูกออกจากราชสำนัก โดยทางกงสุลฝรั่งเศสในไทยได้ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 2 ความว่า "กษัตริย์สีสุวัตถิ์ มุนีวงศ์ แห่งกัมพูชา ทรงไม่พอพระพระทัยและปฏิเสธข้อมูลที่คลาดเคลื่อนและไร้สาระจากการให้สัมภาษณ์ของบิดาของนางสาวแพน จึงทรงบัญชาให้ส่งตัวนางสาวแพนกลับกรุงเทพโดยทันที" โดยนางสาวแพนได้กลับมาในวันรุ่งขึ้น และไม่มีโอกาสได้กลับไปยังราชสำนักกัมพูชาอีกเลย[5]
กรณีพิพาทอินโดจีนฝรั่งเศสและการสวรรคต
[แก้]หลังจากเกิดเหตุการณ์กรณีพิพาทอินโดจีนถือเป็นคราวที่กัมพูชาเสียดินแดนพระตะบอง, เสียมราฐ และศรีโสภณในปี ค.ศ. 1941 แม้ว่าฝรั่งเศสจะไม่ยอมคืนนครวัดให้แก่ไทยก็ตาม แต่ก็เทียบไม่ได้กับดินแดนขนาดใหญ่ที่สูญเสียไป[6] ด้วยเหตุนี้พระองค์ก็ทรงขัดเคืองและขมขื่นพระหฤทัยเป็นอันมาก ทรงปฏิเสธที่จะพบเจ้าหน้าที่ฝรั่งเศสและไม่รับสั่งภาษาฝรั่งเศสอีกเลย[7] เพราะทรงเห็นว่าฝรั่งเศสไม่สามารถปกป้องดินแดนของพระองค์ไว้ได้ จนกระทั่งทิวงคตในเดือนเมษายนปีเดียวกันนั้น มีนักประวัติศาสตร์ชาวกัมพูชาคนหนึ่งบันทึกเหตุการณ์นี้ไว้ว่า "โดยเจ็บพระทัยกับการแย่งชิงของสยามนี้ พระสุขภาพต้องทรุดโทรมอย่างรวดเร็ว แล้วพระบาทสีสุวัตถิ์มุนีวงศ์เสวยทิวงคต"[8]
แต่ธิบดี บัวคำศรี ให้ความเห็นว่า "ข้อที่ว่าการเสียดินแดนเป็นเหตุให้สมเด็จพระสีสุวัตถิ์ [มุนีวงศ์] ทรงตรมพระทัยถึงแก่สุรคุตนั้นจะจริงเท็จประการใดอาจไม่สำคัญเท่ากับการชี้ให้เห็นว่า ไม่เฉพาะแต่กษัตริย์เท่านั้น ชั้นแต่ไพร่ฟ้าพลเมืองก็ให้ความสำคัญต่อ "ดินแดน" ที่สูญเสียไปอย่างมาก"[9]
ปัญหารัชทายาท
[แก้]หลังจากพระบาทสมเด็จพระสีสุวัตถิ์ มุนีวงศ์ เสด็จสวรรคตเมื่อปี พ.ศ. 2484 ทางฝรั่งเศสได้คัดเลือกลำดับรัชทายาท 5 พระองค์ คือ สมเด็จกรมพระสีสุวัตถิ์ มุนีเรศ สมเด็จกรมพระนโรดม สุทธารส นักองเจ้านโรดม สุรามฤต พระองค์มจะ นโรดม นรินทเดช และหม่อมราชวงศ์นโรดม สีหนุ ตามลำดับ
องค์รัชทายาทลำดับแรก คือ กรมพระสีสุวัตถิ์ มุนีเรศ พระราชโอรส ไม่ได้เป็นกษัตริย์สืบต่อมา เนื่องจากวิชีฝรั่งเศส ซึ่งเป็นผู้ปกครองเขมรอยู่ในขณะนั้นคาดว่าพระองค์มีเริ่มมีแนวคิดต่อต้านเจ้าอาณานิคมตามพระราชบิดาในช่วงท้ายพระชนม์ชีพ จึงเป็นสาเหตุให้ฝรั่งเศสไม่มั่นใจในตัว กรมพระสีสุวัตถิ์ มุนีเรศ ที่เป็นพระราชโอรส ส่วนกรมพระนโรดม สุทธารสซึ่งเป็นรัชทายาทลำดับที่สอง พระองค์ทรงวางแผนประกาศเอกราชแต่ฝรั่งเศสทราบเสียก่อน พระองค์จึงถูกตัดสิทธิพระองค์ในการสืบราชสันตติวงศ์ ส่วนนักองเจ้านโรดม สุรามฤตและพระองค์เจ้านโรดม นรินทเดชก็ทรงถูกฝรั่งเศสข้ามลำดับ
ในที่สุดฝรั่งเศสจึงได้คัดเลือกให้ หม่อมราชวงศ์นโรดม สีหนุ ซึ่งเป็นพระนัดดาที่ประสูติจาก พระมหากษัตริยานีสีสุวัตถิ์มุนีวงศ์ กุสุมะนารีรัตน์สิริวัฒนา พระราชธิดาของพระองค์และเป็นเหลนของพระบาทสมเด็จพระนโรดม บรมรามเทวาวตาร ขึ้นครองราชย์แทน เนื่องจากฝรั่งเศสเห็นว่าบังคับบัญชาง่ายกว่า ทำให้การสืบราชสันตติวงศ์กลับไปยังสายของพระบาทสมเด็จพระนโรดม บรมรามเทวาวตาร หรือ นักองราชาวดีอีกครั้งหนึ่ง[10]
พระชายาและพระราชบุตร
[แก้]- สมเด็จพระอัคคมเหสี มหากษัตรี นโรดม กาญจนวิมาน นรลักขณเทวี (សម្តេចព្រះអគ្គមហេសី មហាក្សត្រី នរោត្តម កាញ្ចនវិមាន នរល័ក្ខណទេវី)
- สมเด็จพระเรียมสีสุวัตถิ์ ถาเวตรุงสี นารีวงส์ (សម្តេចព្រះរៀម ស៊ីសុវត្ថិ ថាវេតរុង្ស៊ី នារីវង្ស)
- สมเด็จพระมหากษัตริยานี สีสุวัตถิ์ กุสุมะ นารีรัตน์ สิริวัฒนา (សម្តេចព្រះមហាក្សត្រីយានី ស៊ីសុវត្ថិ កុសុមៈ នារីរត្នន៍ សិរីវឌ្ឍនា)
- สมเด็จกรมพระสีสุวัตถิ์ มุนีเร็ต (សម្តេចក្រុមព្រះ ស៊ីសុវត្ថិ មុនីរ៉េត)
- สมเด็จกรมหลวงสีสุวัตถิ์ มุนีพงส์ (សម្តេចក្រុមហ្លួង ស៊ីសុវត្ថិ មុនីពង្ស)
- หม่อมเจ้าหญิงสีสุวัตถิ์ สีสุดา (អ្នកអង្គម្ចាស់ក្សត្រីយ៏ ស៊ីសុវត្ថិ ស៊ីសុដា)
- พระองค์เจ้าหญิงสีสุวัตถิ์ สุดารังสี (ព្រះអង្គម្ចាស់ក្សត្រីយ៏ ស៊ីសុវត្ថិ សុដារង្សី)
- นักนางคึม หู (អ្នកម្នាង គឹម ហូ)
- พระองค์เจ้าสีสุวัตถิ์ มุนีชาติ (ព្រះអង្គម្ចាស់ ស៊ីសុវត្ថិ មុនីជាតិ)
- คุณพระนางสุวัตถิ์โฉมนรลักข์ (มาฆ) (ឃុនព្រះមែនាង សុវត្ថិឆោមនរលក្ខ័ មាឃ)
- พระองค์เจ้าสีสุวัตถิ์ กุสรักส์ (ព្រះអង្គម្ចាស់ ស៊ីសុវត្ថិ កុសរក្ស)
- คุณพระนางบุบผานรลักขบวร (เสาขน) (ឃុនព្រះម្នាង បុប្ផានរក្ខ័បវរ សៅខន)
- พระองค์เจ้าสีสุวัตถิ์ พงส์ดารัก (ព្រះអង្គម្ចាស់ ស៊ីសុវត្ថិ ពង្សដារ៉ាក់)
- คุณพระนางอนงคลักขณา (บาน เย็น) (ឃុនព្រះម្នាង អនង្គលក្ខិណា បាន យ៉េន)
- พระองค์เจ้าหญิงสีสุวัตถิ์ วงส์มุนี (ព្រះអង្គម្ចាស់ក្សត្រីយ៏ ស៊ីសុវត្ថិ វង្សមុនី)
- คุณพระนางบุบผานรลักข์ (ยิน ตาต) (ឃុនព្រះម្នាង បុប្ផានរល័ក្ខ យិន តាត)
- พระองค์เจ้าสีสุวัตถิ์ มุนีเกสร (ព្រះអង្គម្ចាស់ ស៊ីសុវត្ថិ មុនីកេសន)
- พระองค์เจ้าสีสุวัตถิ์ สามานวรพงส์ (ព្រះអង្គម្ចាស់ ស៊ីសុវត្ថិ សាមានវរពង្ស)
- พระองค์เจ้าสีสุวัตถิ์ วงส์ชีวันต์ (ព្រះអង្គម្ចាស់ ស៊ីសុវត្ថិ វង្សជីវន្ត័)
- สมเด็จสีสุวัตถิ์ ชีวันต์มุนีรักส์ (សម្តេច ស៊ីសុវត្ថិ ជីវន្ត័មុនីរក្ស)
- คุณพระนางเกสรมาลี (ณาต) (ឃុនព្រះម្នាង កេសរមាលី ណាត)
- พระองค์เจ้าสีสุวัตถิ์ พงสานมุนี (ព្រះអង្គម្ចាស់ក្សត្រីយ៏ ស៊ីសុវត្ថិ ពង្សានមុនី)
- พระองค์เจ้าสีสุวัตถิ์ มุนีลักขณา (ព្រះអង្គម្ចាស់ ស៊ីសុវត្ថិ មុនីលក្ខណា)
- คุณพระนางนารีเกสร (ยึง เตรียง) (ឃុនព្រះម្នាង នារីកេសរ យឹង ត្រយ៉ង់)
- พระองค์เจ้าหญิงสีสุวัตถิ์ รินทรมุนี (ព្រះអង្គម្ចាស់ក្សត្រីយ៏ ស៊ីសុវត្ថិ រិន្រ្ទមុនី)
- พระองค์เจ้าสีสุวัตถิ์ มุนีชีวัน (ព្រះអង្គម្ចាស់ ស៊ីសុវត្ថិ មុនីជីវ័ន្ត)
- คุณพระนางนารินทรเกตสร (อุล) (ឃុនព្រះម្នាង នារិន្រ្ទកេតសរ អុល)
- พระองค์เจ้าหญิงสีสุวัตถิ์ รัตน์มุนี (ព្រះអង្គម្ចាស់ក្សត្រីយ៏ ស៊ីសុវត្ថិ រត្នន៏មុនី)
- คุณพระนางบวรมาลี (พง) (អ្នកម្នាង បវរមាលី ពាង)
- พระองค์เจ้าหญิงสีสุวัตถิ์ สามันรักส์ (ព្រះអង្គម្ចាស់ក្សត្រីយ៏ ស៊ីសុវត្ថិ សាម៉ានរក្ស)
- คุณพระนางนารีบุบผา (ภาพ) (អ្នកម្នាង នារីបុប្ផា ភាព)
- พระองค์เจ้าหญิงสีสุวัตถิ์ สุภาพนารี (ព្រះអង្គម្ចាស់ក្សត្រីយ៏ ស៊ីសុវត្ថិ សុភាពនារី)
- นักนางกานีน (អ្នកម្នាង កានីន)
- พระองค์เจ้าหญิงสีสุวัตถิ์ พวงมุนี (ព្រះអង្គម្ចាស់ក្សត្រីយ៏ ស៊ីសុវត្ថិ ភួងមុនី)
- นักนางฉวีเกสร (สามู) (អ្នកម្នាង ឆវីកេសរ សាមូ)
- พระองค์เจ้าหญิงสีสุวัตถิ์ โลมาเกสร (ព្រះអង្គម្ចាស់ក្សត្រីយ៏ ស៊ីសុវត្ថិ លោមាកេសរ)
- หม่อมดวงมุนีรักส์ (อุส) (ម៉ម ឌួងមុនីរក្ស អុស)
- พระองค์เจ้าสีสุวัตถิ์ ดวงชีวิน (ព្រះអង្គម្ចាស់ ស៊ីសុវត្ថិ ឌួងជីវិន)
- พระองค์เจ้าหญิงสีสุวัตถิ์ นารีบูงา (ព្រះអង្គម្ចាស់ក្សត្រីយ៏ ស៊ីសុវត្ថិ នារីបូង៉ា)
อ้างอิง
[แก้]- ↑ กรมพระดำรงราชานุภาพ, พระเจ้าบรมวงศเธอ. ลัทธิธรรมเนียมต่าง ๆ ภาคที่ 21 เรื่องพิธีราชาภิเษกสมเด็จพระมณีวงศ พระเจ้ากรุงกัมพูชา สมเด็จพระเจ้าบรมวงศเธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงแปลถอดจากภาษาเขมร. พระนคร : โสภณพิพรรฒนากร, 2472, หน้า 1
- ↑ คุณหญิงกุลทรัพย์ เกษแม่นกิจ และสายไหม จบกลศึก (บรรณาธิการ) (2555). ราชาศัพท์ (PDF). กรุงเทพฯ: สำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี. p. 17.[ลิงก์เสีย]
- ↑ "HM King SISOWATH MONIVONG". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-05-18. สืบค้นเมื่อ 2008-04-08.
- ↑ 4.0 4.1 บัญญัติ สาลี. วรรณกรรมเขมรปัจจุบัน. มหาสารคาม. อภิชาตการพิมพ์. 2551
- ↑ กษัตริย์กัมพูชา นางละครสยาม และข่าวที่ถูกห้ามเขียน
- ↑ ธิบดี บัวคำศรี. "พงศาวดารกัมพูชาที่แปรชำระและที่นิพนธ์เป็นภาษาไทย ระหว่าง พ.ศ. 2339-2459 กับหน้าที่ที่มีต่อชนชั้นปกครองไทย" ใน โคลนไม่ติดล้อ คนไม่ติดกรอบ. กรุงเทพฯ:ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2545. หน้า 74-81
- ↑ David P. Chandler. "Cambodian Palace Chronicles (rajabongsavatar). 1927-1949 : Kingship and Historiography at the End of Colonial Era" in Facing the Cambodian Past : Selected Essays 1971-1994. 2nd edition. Chiang Mai: Silkworm Book. 1996. p 194
- ↑ ตรึง เงีย. ประวัติศาสตร์กัมพูชา ภาค 2, หน้า 190 (เขมร)
- ↑ ธิบดี บัวคำศรี. ชุด "อาเซียน" ในมิติประวัติศาสตร์ ประวัติศาสตร์กัมพูชา. กรุงเทพฯ:เมืองโบราณ. 2555, หน้า 47
- ↑ จุลลดา ภักดีภูมินทร์, ตำนานชื่อบ้านเมือง เก็บถาวร 2004-12-10 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, สกุลไทย, ฉบับที่ 2604, ปีที่ 50, ประจำวันอังคารที่ 14 กันยายน 2547
ก่อนหน้า | พระบาทสมเด็จพระสีสุวัตถิ์ มุนีวงศ์ | ถัดไป | ||
---|---|---|---|---|
พระบาทสมเด็จพระสีสุวัตถิ์ | พระมหากษัตริย์กัมพูชา (ราชสกุลสีสุวัตถิ์) (9 สิงหาคม พ.ศ. 2470 - 24 เมษายน พ.ศ. 2484) |
พระบาทสมเด็จพระนโรดม สีหนุ |