ข้ามไปเนื้อหา

สีสุวัตถิ์ สิริมตะ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
นักองค์ราชวงศ์ สีสุวัตถิ์ สิริมตะ
นายกรัฐมนตรีแห่งกัมพูชา
(นายกรัฐมนตรีแห่งสาธารณรัฐเขมร คนที่ 2)
ดำรงตำแหน่ง
11 มีนาคม ค.ศ. 1971 – 18 มีนาคม ค.ศ. 1972
ประธานาธิบดีเจง เฮง
ลอน นอล
ก่อนหน้าลอน นอล
ถัดไปเซิน หง็อก ถั่ญ
รองนายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา
ดำรงตำแหน่ง
14 สิงหาคม ค.ศ. 1969 – 11 มีนาคม ค.ศ. 1971
นายกรัฐมนตรีลอน นอล
เอกอัครราชทูตพระราชอาณาจักรกัมพูชาประจำประเทศจีน
ดำรงตำแหน่ง
1962–1964
ข้อมูลส่วนบุคคล
พรรคการเมืองพรรคเขมรสาธารณรัฐ
ยศที่ได้รับการแต่งตั้ง
รับใช้ พระราชอาณาจักรกัมพูชา (สมัยสังคมราษฏรนิยม)
สาธารณรัฐเขมร
สังกัดกองทัพพระราชอาณาจักรกัมพูชา
ประจำการ1949-1975
ยศ อุดมเสนีย์เอก (นายพลโท)
บังคับบัญชาChief of Staff of the Khmer National Armed Forces
นักองค์ราชวงศ์ สีสุวัตถิ์ สิริมตะ
นักองค์ราชวงศ์
ประสูติ22 มกราคม พ.ศ. 2457
พนมเปญ, กัมพูชา
(ในอารักขาของอินโดจีนฝรั่งเศส)
สิ้นพระชนม์21 เมษายน พ.ศ. 2518 (61 ปี)
พนมเปญ, กัมพูชา
พระชายานักองค์มจะ นโรดม เกศนารี
พระราชบุตรพระโอรส 3 องค์, พระธิดา 3 องค์
ราชวงศ์ราชวงศ์วรมัน
(สายราชสกุลสีสุวัตถิ์)
พระราชบิดานักองค์มจะ สีสุวัตถิ์ รัฏฐารี
พระราชมารดานักนาง เตรือง เยือม

พลโท นักองค์ราชวงศ์ (หม่อมราชวงศ์) สีสุวัตถิ์ สิริมตะ (เขมร: អ្នកឣង្គរាជវង្ស ស៊ីសុវត្ថិ សិរិមតះ; อักษรโรมัน: Sisowath Sirik Matak; 22 มกราคม พ.ศ. 2457 — 21 เมษายน พ.ศ. 2518) เป็นสมาชิกในราชวงศ์กัมพูชา สายราชสกุลสีสุวัตถิ์

นักองค์ราชวงศ์สีสุวัตถิ์ สิริมตะ เป็นที่จดจำจากการมีบทบาททางการเมืองในประเทศกัมพูชา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการร่วมมือกับนักการเมืองฝ่ายขวาในปี พ.ศ. 2513 เพื่อก่อการรัฐประหารต่อสมเด็จพระนโรดม สีหนุ ประมุขแห่งรัฐซึ่งเป็นลูกพี่ลูกน้องของพระองค์เอง และร่วมมือกับลอน นอล ในการสถาปนารัฐบาลสาธารณรัฐเขมร

บทบาทในการเมืองกัมพูชา

[แก้]

สิริมตะเกิดในพนมเปญและอยู่ในสายราชสกุลสีสุวัตถิ์ของราชวงศ์กัมพูชา เป็นพระราชนัดดาของพระบาทสมเด็จพระสีสุวัตถิ์ ในสมัยที่เป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส สิริมตะเป็นตัวเลือกหนึ่งในการสืบราชสมบัติต่อจากพระบาทสมเด็จพระสีสุวัตถิ์มุนีวงศ์ ซึ่งเสด็จสวรรคตใน พ.ศ. 2484 แต่ฝรั่งเศสเลือกสมเด็จพระนโรดม สีหนุขึ้นเป็นกษัตริย์ สิริมตะเป็นผู้ต่อต้านสมเด็จพระนโรดม สีหนุ ซึ่งสมเด็จพระนโรดม สีหนุได้กล่าวถึงเรื่องนี้ว่าสิริมตะเกลียดพระองค์ เพราะคิดว่าสมเด็จกรมพระสีสุวัตถิ์มุนีเรศจะเลือกเขาขึ้นเป็นกษัตริย์[1]

หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง สิริมตะมีบทบาทในการเมืองกัมพูชามากขึ้นในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของพรรคเขมรใหม่ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายขวา นำโดยลน นล พระองค์เข้าร่วมการเลือกตั้ง พ.ศ. 2490 แต่ไม่ได้รับเลือก[2] สมเด็จพระนโรดม สีหนุได้เป็นนายกรัฐมนตรีโดยพฤตินัยใน พ.ศ. 2495 และได้ให้สิริมตะเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในรัฐบาลเฉพาะกาล[3] จนกระทั่งได้รับเอกราชใน พ.ศ. 2497 พรรคเขมรใหม่ได้รวมเข้ากับพรรคสังคมราษฎร์นิยมในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2498

แม้ว่าจะให้ความร่วมมือกับฝ่ายขวาในพรรคสังคม แต่สิริมตะก็ยังมีความเห็นตรงข้ามกับสมเด็จพระนโรดม สีหนุ โดยเฉพาะในเรื่องกิจกรรมของเวียดนามเหนือตามแนวชายแดนกัมพูชา ในช่วงที่พรรคสังคมราษฎร์นิยมครองอำนาจ สมเด็จพระนโรดม สีหนุพยายามลดบทบาทของสิริมตะ โดยให้ไปเป็นทูตที่จีน ฟิลิปปินส์ และญี่ปุ่น

รัฐประหาร พ.ศ. 2513

[แก้]

อำนาจของสิริมตะเพิ่มขึ้นเมื่อลน นลได้เป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2512 สิริมตะต่อต้านนโยบายของสีหนุในการควบคุมการนำเข้า ส่งออก การธนาคาร รวมทั้งการผลิตยาและแอลกอฮอล์[4] สิริมตะยังเดินทางไปยังฮานอยเพื่อเจรจาให้เวียดนามเหนือถอนตัวไปจากกัมพูชา และเป็นผู้แสดงหลักฐานว่าสมเด็จพระนโรดม สีหนุยอมให้เวียดนามเหนือตั้งฐานที่มั่นเพื่อขนส่งอาวุธและเสบียงรวมทั้งใช้ท่าเรือของกัมพูชาเพื่อการนี้[5] ในวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2513 หลังจากสมเด็จพระนโรดม สีหนุเดินทางไปต่างประเทศ สิริมตะประกาศยกเลิกข้อตกลงทางการค้าของสมเด็จพระนโรดม สีหนุ ลน นลประกาศให้เวียดนามเหนือและเวียดกงถอนทหารออกจากกัมพูชาภายใน 15 มีนาคม แต่เวียดนามเหนือไม่ตอบสนอง[6] ในวันที่ 18 มีนาคม สิริมตะและลน นลจัดให้มีการลงมติในสมัชชาแห่งชาติเพื่อถอดถอนสมเด็จพระนโรดม สีหนุออกจากประมุขรัฐ ดำเนินนโยบายต่อต้านเวียดนาม สั่งปิดสถานทูตเวียดนามเหนือ สื่อต่างชาติต่างเห็นว่าสิริมตะเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในรัฐประหารครั้งนี้[7]

สมเด็จพระนโรดม สีหนุกล่าวว่าสิริมตะเป็นกำลังสำคัญที่อยูเบื้องหลังรัฐประหารเช่นกัน โดยมีซีไอเอและเซิง งอกทัญ ร่วมสนับสนุนด้วย และได้เสนอแผนการนี้ตั้งแต่ต้นปี พ.ศ. 2512 นอกจากนั้น โปรม ทส รัฐมนตรีคนหนึ่งในรัฐบาลของลน นล ได้เปิดเผยว่าในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2512 สิริมตะเคยกล่าวว่าสมเด็จพระนโรดม สีหนุควรถูกลอบสังหาร แต่ลน นลปฏิเสธแผนนี้[8]

เมื่อจัดตั้งสาธารณรัฐเขมรหลังรัฐประหารนั้น ในครั้งแรก สิริมตะวางแผนจะให้สมาชิกในสายราชสกุลสีสุวัตถิ์ โดยเฉพาะบุตรเขยคือ พระองค์มจะ สีสุวัตถิ์ ดวงชีวิน ขึ้นเป็นกษัตริย์[9] แต่ต่อมาเปลี่ยนเป็นการสถาปนาสาธารณรัฐแทน การปกครองของลน นลอยู่เบื้องหลังการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวเวียดนามในกัมพูชา และเชื่อว่าสิริมตะเกี่ยวข้องด้วย

ในรัฐบาลสาธารณรัฐเขมร

[แก้]

ในปีแรกของการก่อตั้งสาธารณรัฐ ซึ่งเป็นช่วงที่ลน นลสุขภาพไม่ดี สิริมตะมีบทบาทในรัฐบาลมาก ลน นลเป็นที่นิยมในหมู่นักศึกษาที่ต่อต้านพระนโรดม สีหนุในเขตเมือง สิริมตะเป็นที่นิยมของคนเมืองที่นิยมตะวันตก ส่วนในชนบทยังสนับสนุนสมเด็จพระนโรดม สีหนุ สิริมตะเองได้รับการสนับสนุนจากนักการเมืองไม่มากนัก และถูกจำกัดอำนาจโดยลน นล และลน นนใน พ.ศ. 2515 หลังจากที่จัดให้มีการต่อต้านสิริมตะขึ้นอย่างเป็นระบบ[10] ลน นลสั่งกักบริเวณสิริมตะไว้ในบ้าน แม้ว่าสหรัฐจะยังสนับสนุนสิริมตะอยู่ก็ตาม

ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2516 ลน นลถูกบังคับให้ปลดลน นนออกและจัดตั้งสภาการเมืองสูงสุดที่ประกอบด้วยลน นล สิริมตะ เจง เฮงและอิน ตัม[11] ซึ่งสิริมตะได้กล่าวว่าในความเห็นส่วนตัวของเขา นี่เป็นการเปิดทางให้สีหนุกลับมา

พนมเปญแตก

[แก้]

เขมรแดงเริ่มโจมตีพนมเปญตั้งแต่เดือนมกราคม พ.ศ. 2518 ในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2518 ลน นลลาออกจากประธานาธิบดีและได้ลี้ภัยไปฮาวาย เขมรแดงได้ประกาศรายชื่อบัญชีดำผู้ที่จะถูกสังหาร ซึ่งมีสิริมตะอยู่ด้วย.[12] กองกำลังเขมรแดงได้ล้อมเมืองไว้ ในวันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2518 จอห์น กุนเธอร์ ดีน (John Gunther Dean) เอกอัครราชทูตสหรัฐประจำสาธารณรัฐเขมรได้เสนอให้รัฐบาลสาธารณรัฐเขมรลี้ภัยไปสหรัฐ แต่สิริมตะ ลอง โบเรต และลน นน รวมทั้งคณะรัฐบาลของลน นลปฏิเสธ แม้ว่าโบเรตและสิริมตะจะมีชื่อในบัญชีดำของเขมรแดง

เมื่อพนมเปญแตก สิริมตะพยายามเข้าไปลี้ภัยในโรงแรม "เลอ พนม" ซึ่งกาชาดสากลพยายามกำหนดให้เป็นเขตปลอดภัย แต่เขาต้องกลับออกมาเมื่อกาชาดสากลรู้ว่าเขามีชื่อในบัญชีดำ เมื่อออกมาจากโรงแรม สิริมตะได้กล่าวกับผู้สื่อข่าวและแจกสำเนาจดหมายที่เขาเขียนถึงสถานทูต[13] สิริมตะขอลี้ภัยในสถานทูตฝรั่งเศส แต่เขาถูกทหารเขมรแดงมาตามจับตัวไป สถานทูตฝรั่งเศสกล่าวว่าสิริมตะถูกส่งมอบให้เขมรแดง และเชื่อว่าถูกประหารเมื่อ 21 เมษายน พ.ศ. 2518[14][15] แต่รายละเอียดจริง ๆ ไม่มีผู้ใดรู้ สมเด็จพระนโรดม สีหนุ กล่าวว่าพระองค์ได้รับรายงานว่าสิริมตะและโบเรตถูกประหารด้วยการยิงเป้าที่สนามกีฬากรุงพนมเปญเมื่อ 21 เมษายน แต่แหล่งข่าวอื่นกล่าวว่าถูกตัดศีรษะ[16] บางรายงานกล่าวว่า สิริมตะถูกยิงที่ท้อง และถูกปล่อยทิ้งไว้อย่างนั้นจนเสียชีวิตในอีกสามวันต่อมา[17]

สิริมตะเสกสมรสกับนักองค์มจะ นโรดม เกศนารี พระโอรสของพระองค์คือนักองค์ราชวงศ์ สีสุวัตถิ์ สิริรัฐ ได้เข้าร่วมกับพรรคฟุนซินเปก

วาทะ

[แก้]
  • "ข้าพเจ้าเข้าใจความรู้สึกของอเมริกาในการไม่ปรารถนาจะแทรกแซงกิจการภายในของพวกเรา แต่ถ้าสหรัฐอเมริกายังคงสนับสนุนระบอบการปกครองเช่นนี้ต่อไป เราก็จะพ่ายแฟ้ให้กับคอมมิวนิสต์ ท่านให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ที่ต้องการใช้ชีวิตเยี่ยงเสรีชนก็จริง แต่เมื่อท่านให้การสนับสนุนระบอบการปกครองที่ไม่ให้การสนับสนุนประชาชน ท่านก็ย่อมช่วยเหลือพวกคอมมิวนิสต์ไปด้วย[18]"
  • "มนุษย์เกิดมาต้องตาย ข้าพเจ้าจะไม่ย้ายไปไหน ข้าพเจ้าจะอยู่ที่นี่และเผชิญหน้ากับทุกสิ่งที่จะเกิดขึ้น ให้พวกเขาจับตัวข้าพเจ้าได้เลย ถ้าเขาฆ่าข้าพเจ้า แล้วไง? ข้าพเจ้าอยู่ก็เพื่อประเทศของข้าพเจ้าเอง[19]"
  • "ข้าพเจ้ามิสงสัยเลยว่า ท่านจะนำพาประเทศอันไร้ความสุขของพวกเราไปสู่ความหายนะเป็นแน่ เมื่อทุกสิ่งทุกอย่างจากดวงดาวของท่านหยุดลง มันจะจบลงด้วยความพินาศ และท้องฟ้าซึ่งถล่มลงมาใส่ท่านผู้เป็นแต่เพียงหุ่นไล่กาเก่า ๆ จะกลบฝังกัมพูชาพร้อมกับผู้เผด็จการของตนไปด้วย! ข้าพเจ้ามิอาจให้ชาติอันอัปลักษณ์ของท่านยืมชื่อของข้าพเจ้าต่อไปได้แล้ว: ข้าพเจ้าขอลาออก![20]"

อ้างอิง

[แก้]
  1. Norodom Sihanouk, My War with the CIA, Pantheon, 1972, p.27
  2. Dommen, A. The Indochinese experience of the French and the Americans, Indiana University Press, 2001, p.196
  3. Dommen, p.210
  4. Sihanouk, p.41
  5. David P. Chandler, A History of Cambodia, Westview Press, 2000, ISBN 0-8133-3511-6, p. 204.
  6. David P. Chandler, The Tragedy of Cambodian History: Politics, War, and Revolution Since 1945, Yale University Press, 1993 ISBN 0-300-05752-0, p. 195.
  7. The Man Behind the Symbol เก็บถาวร 2013-08-24 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, TIME, 17-05-71
  8. Kiernan, B. How Pol Pot came to power, Yale UP, 2004, p.301
  9. Sorpong Peou, Intervention & change in Cambodia, Palgrave Macmillan, p.49
  10. Kamm, pp.110-112
  11. Leifer, M. Selected Works on Southeast Asia, Institute of Southeast Asian Studies, 2005, p.420
  12. ผู้ทรยศ 7 คน ได้แก่ สิริมตะ, ลน นล, เซิง งอกทัญ, อิน ตัม, ลอง โบเรต, เจง เฮง และซ็อสแตน เฟร์นันเดซ ดูใน Karl D. Jackson, Cambodia, 1975-1978: Rendezvous with Death, Princeton University Press, 1992 ISBN 0-691-02541-X, p. 50.
  13. Peter H. Maguire, Facing death in Cambodia, Columbia University Press, 2005 ISBN 0-231-12052-4, p. 40.
  14. Jon Swain, River of Time. London: Heinemann, 1995, p. 156-57.
  15. François Bizot, The Gate. 1st American ed. New York: Knopf, 2003, p. 165-66.
  16. Maguire, p. 41.
  17. Kissinger, H. Ending the Vietnam War, Touchstone, 2003, p.530
  18. Kamm, p. 112.
  19. Kamm, p. 114.
  20. Hélène Cixous, The Terrible But Unfinished Story of Norodom Sihanouk, King of Cambodia, University of Nebraska Press, 1994, p. 144.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]