แคว้นปกครองตนเองของประเทศสเปน
แคว้นปกครองตนเอง | |
---|---|
หมวดหมู่ | รัฐเดี่ยว |
ที่ตั้ง | สเปน |
ก่อตั้งโดย | รัฐธรรมนูญสเปน พ.ศ. 2521 |
ก่อตั้ง | พ.ศ. 2521–2526 |
จำนวน | 17 แคว้น 2 นครปกครองตนเอง |
ประชากร | แคว้นปกครองตนเอง : 321,171 คน (ลาริโอฆา) – 8,415,490 คน (อันดาลูซิอา) นครปกครองตนเอง : 81,323 คน (เมลียา), 83,517 คน (เซวตา) |
พื้นที่ | แคว้นปกครองตนเอง : 94,224 ตร.กม. (กัสติยาและเลออน) – 4,992 ตร.กม. (หมู่เกาะแบลีแอริก) นครปกครองตนเอง : 12.3 ตร.กม. (เมลียา), 18.5 ตร.กม. (เซวตา) |
การปกครอง | ฝ่ายบริหารแคว้นปกครองตนเอง |
หน่วยการปกครอง | จังหวัด เทศบาล |
ในประเทศสเปน แคว้นปกครองตนเอง หรือ ประชาคมปกครองตนเอง (สเปน: comunidad autónoma; กาตาลา: comunitat autònoma; กาลิเซีย: comunidade autónoma; บาสก์: autonomia erkidegoa) เป็นเขตทางการเมืองและการปกครองในระดับบนสุดที่ได้รับการจัดตั้งโดยอาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญสเปน พ.ศ. 2521 โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อรับประกันความเป็นอิสระในการปกครองตนเอง (อย่างมีข้อจำกัด) ของชาติทางประวัติศาสตร์และภูมิภาคต่าง ๆ ที่ประกอบกันเป็นสเปน[1][2][3]
สเปนมิใช่สหพันธรัฐ แต่เป็นเอกรัฐ[1] ที่มีการกระจายอำนาจสูง[4][5] ในขณะที่อำนาจอธิปไตยเป็นของรัฐชาติสเปนโดยรวม โดยมีสถาบันส่วนกลางของรัฐบาลเป็นผู้ใช้อำนาจแทนนั้น รัฐชาติสเปนก็ได้คลายอำนาจสู่แคว้นต่าง ๆ ในระดับที่ต่างกันตามภูมิหลังของแต่ละแคว้นเช่นกัน แคว้นเหล่านั้นจะใช้สิทธิ์ในการปกครองตนเองภายในขอบเขตที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญสเปนและธรรมนูญการปกครองตนเอง[a] ของแคว้นตามลำดับ[1] นักวิชาการบางคนเรียกระบบที่เป็นผลจากการกระจายอำนาจดังกล่าวว่าเป็นระบบสหพันธรัฐในทางปฏิบัติ-เอกรัฐเพียงในนาม หรือ "สหพันธรัฐที่ปราศจากระบอบสหพันธรัฐ"[6] ปัจจุบันในสเปนมีแคว้นปกครองตนเอง 17 แคว้น และนครปกครองตนเอง 2 นครซึ่งมีชื่อเรียกรวมกันว่า "หน่วยการปกครองตนเอง"[b] นครปกครองตนเองมีสิทธิ์ที่จะขอเปลี่ยนแปลงฐานะเป็นแคว้นปกครองตนเอง แต่นครทั้งสองยังไม่ได้ใช้สิทธิ์นี้ เค้าโครงการบริหารดินแดนซึ่งเป็นเอกลักษณ์เช่นนี้มีชื่อเรียกว่า "รัฐแห่งหน่วยการปกครองตนเอง"[c]
แคว้นปกครองตนเองต่าง ๆ จะได้รับการบริหารในทิศทางที่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญสเปนร่วมกับธรรมนูญการปกครองตนเองซึ่งเป็นกฎหมายจัดระเบียบองค์การเฉพาะในแคว้นแต่ละแคว้น กฎหมายเหล่านี้เป็นตัวกำหนดอำนาจหน้าที่ทั้งหมดที่แคว้นเหล่านั้นจะมีได้ เนื่องจากการคลายอำนาจสู่แคว้นต่าง ๆ ถูกกำหนดให้มีลักษณะที่ไม่เท่าเทียมกันโดยธรรมชาติ[7] ขอบเขตอำนาจและหน้าที่ของแต่ละแคว้นจึงอยู่ในระดับที่แตกต่างกันไป เช่น ทุกแคว้นมีอำนาจจัดการด้านการศึกษาเป็นของตนเอง แต่บางแคว้นมีอำนาจจัดการด้านการเงินสาธารณะเพิ่มเติม หน่วยงานตำรวจของบางแคว้นมีบทบาทหน้าที่มากกว่าหน่วยงานตำรวจส่วนกลาง เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ทุกแคว้นล้วนมีโครงสร้างสภานิติบัญญัติในรูปแบบเดียวกัน[1]
การนำระบบแคว้นและนครปกครองตนเองมาใช้ส่งผลให้สเปนเปลี่ยนจากการเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการรวมอำนาจปกครองสูงที่สุดมาเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการกระจายอำนาจปกครองสูงที่สุดในบรรดาประเทศสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (โออีซีดี) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สเปนเป็นประเทศที่อัตราความเติบโตของรายได้และผลประกอบการของหน่วยงานที่ได้รับมอบอำนาจ (คือแคว้นปกครองตนเองต่าง ๆ) สูงที่สุด โดยเป็นผู้นำในการจัดอันดับดังกล่าวในยุโรปเมื่อถึงปี พ.ศ. 2558 และเป็นประเทศที่มีอัตราการกระจายภาษีสูงที่สุดเป็นอันดับที่ 5 ในบรรดาประเทศสมาชิกโออีซีดี (รองจากแคนาดา สวิตเซอร์แลนด์ สหรัฐอเมริกา และออสเตรีย)[8][9] นอกจากนี้ สเปนยังได้รับการกล่าวอ้างว่าเป็นประเทศ "ที่น่าทึ่งจากขอบเขต [อันกว้างขวาง] ของอำนาจที่ได้รับการถ่ายโอนโดยสันติในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา" และเป็น "ประเทศที่มีการกระจายอำนาจสูงเป็นพิเศษ" อีกด้วย ในแง่บุคลากร เมื่อถึงปี พ.ศ. 2553 ข้าราชการพลเรือนจำนวนเกือบ 1,350,000 คน หรือร้อยละ 50.3 จากข้าราชการพลเรือนทั้งหมดในสเปนเป็นลูกจ้างของแคว้นปกครองตนเองต่าง ๆ[10] ร้อยละ 23.6 เป็นลูกจ้างของสภาเมืองและสภาจังหวัดต่าง ๆ ส่วนลูกจ้างที่ทำงานให้กับหน่วยงานบริหารส่วนกลาง (รวมทั้งหน่วยงานของตำรวจและทหาร) มีเพียงร้อยละ 22.2 ของข้าราชการพลเรือนทั้งหมด[11]
ในขณะเดียวกัน ชาตินิยมชายขอบ (peripheral nationalism) โดยเฉพาะในแคว้นกาตาลุญญา แคว้นกาลิเซีย และแคว้นประเทศบาสก์ยังคงมีบทบาทสำคัญในการเมืองสเปน นักชาตินิยมชายขอบบางคนมองว่าความแตกต่างระหว่างสถานะ "ชาติทางประวัติศาสตร์"[d] ที่เคยใช้นิยามแคว้นเหล่านั้นโดยเฉพาะ กับสถานะ "ภูมิภาค"[e] ที่เคยใช้นิยามแคว้นอื่นทั่วไปนั้นกำลังเลือนหายในทางปฏิบัติ[12] เนื่องจากเมื่อเวลาผ่านไป แคว้นทั้งหมดก็ได้รับการถ่ายโอนอำนาจหน้าที่เกือบจะในระดับเดียวกัน และแคว้นอื่น ๆ บางแคว้น (เช่น แคว้นบาเลนเซีย แคว้นอันดาลูซิอา) ก็ได้เลือกระบุตนเองว่าเป็น "ชาติทางประวัติศาสตร์" เช่นกัน ที่จริงแล้วก็ยังมีการถกเถียงอยู่ว่าการสถาปนาระบบรัฐแห่งหน่วยการปกครองตนเองในสเปนนั้นได้นำไปสู่การสร้าง "เอกลักษณ์ใหม่ในระดับภูมิภาค"[13][14] และ "ประชาคมที่ถูกประดิษฐ์ขึ้น"[14] หรือไม่ ด้วยเหตุเหล่านี้ หลายคนในกาลิเซีย ประเทศบาสก์ และกาตาลุญญาจึงเริ่มมองว่าแคว้นของพวกเขาเป็น "ชาติ"[f] มิใช่เพียงชาติทางประวัติศาสตร์อย่างแคว้นอื่น ๆ และมองว่าสเปนเป็น "รัฐพหุชาติ" หรือ "ชาติที่ประกอบด้วยหลายชาติ" ดังนั้นจึงเรียกร้องให้รัฐบาลสเปนกระจายอำนาจสู่แคว้นของตนเองมากขึ้นหรือให้แคว้นของตนเองแยกตัวเป็นเอกราช
รายชื่อ
[แก้]ดูเพิ่ม
[แก้]คำแปลศัพท์เฉพาะ
[แก้]- ↑ "ธรรมนูญการปกครองตนเอง" (สเปน: Estatutos de Autonomía; กาตาลา: Estatuts d'Autonomia; กาลิเซีย: Estatutos de Autonomía; บาสก์: Autonomia Estatutuen)
- ↑ "หน่วยการปกครองตนเอง" (สเปน: autonomías; กาตาลา: autonomies; กาลิเซีย: autonomías; บาสก์: autonomien)
- ↑ "รัฐแห่งหน่วยการปกครองตนเอง" (สเปน: Estado de las Autonomías; กาตาลา: Estat de les Autonomies; กาลิเซีย: Estado das Autonomías; บาสก์: Autonomien Estatuaren หรือ สเปน: Estado Autonómico; กาตาลา: Estat Autonòmic; กาลิเซีย: Estado Autonómico; บาสก์: Autonomia Estatuko หรือ Estatuaren)
- ↑ "ชาติทางประวัติศาสตร์" (สเปน: nacionalidad histórica; กาตาลา: nacionalitat històrica; กาลิเซีย: nacionalidade histórica; บาสก์: nazionalitate historiko)
- ↑ "ภูมิภาค" (สเปน: región; กาตาลา: regió; กาลิเซีย: rexión; บาสก์: eskualde)
- ↑ "ชาติ" (สเปน: nación; กาตาลา: nació; กาลิเซีย: nación; บาสก์: nazio)
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 1.2 1.3 "Organización territorial. El Estado de las Autonomías" (PDF). Recursos Educativos. Instituto Nacional de Tecnologías Educativas y de Formación del Profesorado. Ministerio de Eduación, Cultura y Deporte. สืบค้นเมื่อ 19 October 2012.
- ↑ Article 2. Cortes Generales (Spanish Parliament) (1978). "Título Preliminar". Spanish Constitution of 1978. สืบค้นเมื่อ 29 September 2012.
- ↑ Article 143. Cortes Generales (Spanish Parliament) (1978). "Título VIII. De la Organización Territorial del Estado". Spanish Constitution of 1978. สืบค้นเมื่อ 29 September 2012.
- ↑ Bacigalupo Sagesse, Mariano (June 2005). "Sinópsis artículo 145". Constitución española (con sinópsis). Congress of the Deputies. สืบค้นเมื่อ 28 January 2012.
- ↑ Ruíz-Huerta Carbonell, Jesús; Herrero Alcalde, Ana (2008). Bosch, Núria; Durán, José María (บ.ก.). Fiscal Equalization in Spain. Fiscal Federalism and Political Decentralization: Lessons from Spain, Germany and Canada. Edward Elgar Publisher Limited. ISBN 9781847204677. สืบค้นเมื่อ 15 October 2012.
- ↑ The Federal Option and Constitutional Management of Diversity in Spain Xavier Arbós Marín, page 375; included in 'The Ways of Federalism in Western Countries and the Horizons of Territorial Autonomy in Spain' (volume 2), edited by Alberto López-Eguren and Leire Escajedo San Epifanio; edited by Springer ISBN 978-3-642-27716-0, ISBN 978-3-642-27717-7(eBook)
- ↑ Börzel, Tanja A (2002). States and Regions in the European Union. University Press, Cambridge. pp. 93–151. ISBN 0521008603. สืบค้นเมื่อ 20 October 2012.
- ↑ Ramon Marimon (23 March 2017). "Cataluña: Por una descentralización creíble". El País. สืบค้นเมื่อ 24 March 2017.
- ↑ Fiscal Federalism 2016: Making Decentralization Work. OCDE.
- ↑ [1] เก็บถาวร กันยายน 4, 2011 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ↑ "Que al funcionario le cunda más | Edición impresa | EL PAÍS". Elpais.com. 2011-07-30. สืบค้นเมื่อ 2012-04-30.
- ↑ Keatings, Michael (2007). "Federalism and the Balance of power in European States" (PDF). Support for Improvement in Governance and Management. Organisation for Economic Co-operation and Development, Inc. สืบค้นเมื่อ 28 January 2012.
- ↑ Smith, Andy; Heywood, Paul (August 2000). "Regional Government in France and Spain" (PDF). University College London. สืบค้นเมื่อ 20 October 2012.
- ↑ 14.0 14.1 Junco, José Álvarez (3 October 2012). "El sueño ilustrado y el Estado-nación". El País. สืบค้นเมื่อ 23 October 2012.