ข้ามไปเนื้อหา

ลิขสิทธิ์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Copyright)

ลิขสิทธิ์ เป็นทรัพย์สินทางปัญญาประเภทหนึ่งที่มอบสิทธิทางกฎหมายที่มอบให้ผู้สร้างสรรค์งานแต่เพียงผู้เดียวในการเผยแพร่ ทำซ้ำ หรือดัดแปลงงานที่สร้างสรรค์ โดยทั่วไปแล้ว งานที่ได้รับความคุ้มครองลิขสิทธิ์เป็นงานสร้างสรรค์ทางปัญญาทุกรูปแบบ เช่น งานเขียน งานดนตรี งานนาฏศิลป์ งานศิลปะ ภาพถ่าย ภาพยนตร์ โปรแกรมคอมพิวเตอร์ เป็นต้น[1] เจ้าของลิขสิทธิ์สามารถมอบสิทธิ์ให้แก่บุคคลอื่นได้ โดยอาจจะมอบสิทธิ์ทั้งหมดหรือเพียงบางส่วนก็ได้ เช่น สิทธิ์การตีพิมพ์ สิทธิ์การแปล สิทธิ์การดัดแปลง เป็นต้น[2]

ลิขสิทธิ์มีระยะเวลาจำกัด ระยะเวลาของลิขสิทธิ์โดยทั่วไปคือเริ่มตั้งแต่การสร้างสรรค์งาน และสิ้นสุด 50 ถึง 100 ปีหลังจากผู้สร้างสรรค์เสียชีวิต ขึ้นอยู่กับกฎหมายของแต่ละเขตอำนาจ ลิขสิทธิ์ถูกจำกัดโดยข้อจำกัดและข้อยกเว้นของกฎหมายลิขสิทธิ์ เช่น การใช้ลิขสิทธิ์ของผู้อื่นโดยชอบ

กฎหมายลิขสิทธิ์ในบางประเทศมีข้อกำหนดในการสถาปนาลิขสิทธิ์ เช่น การขึ้นทะเบียนงาน แต่ประเทศส่วนใหญ่ในปัจจุบันถือว่าการคุ้มครองลิขสิทธิ์เริ่มต้นขึ้นเมื่องานถูกสร้างโดยไม่จำเป็นต้องมีการจดทะเบียน โดยทั่วไป การบังคับใช้ลิขสิทธิ์เป็นการใช้กฎหมายแพ่ง แต่บางเขตอำนาจมีการใช้โทษทางอาญาด้วย

สนธิสัญญากรุงเบิร์น

[แก้]

สนธิสัญญากรุงเบิร์นเป็นสนธิสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองลิขสิทธิ์ระหว่างประเทศ โดยประเทศภาคีสมาชิกในสนธิสัญญานี้ จะมีการคุ้มครองลิขสิทธิ์เสมอเหมือนกัน เสมือนว่าทุกๆ ประเทศสมาชิกเป็นประเทศเดียวกัน เช่น กรณีมีการสร้างสรรค์งานเกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกา งานชิ้นนั้นก็จะได้รับการคุ้มครองในประเทศไทย ตามกฎหมายไทย ด้วยเช่นกัน เพราะทั้งสหรัฐอเมริกาและประเทศไทยต่างได้ลงนามในสนธิสัญญานี้

ลิขสิทธิ์ในประเทศไทย

[แก้]

การคุ้มครองลิขสิทธิ์ตามกฎหมายไทยจะกำหนดให้มีอายุการคุ้มครอง 50 ปี นับตั้งแต่ผู้สร้างสรรค์ผลงานเสียชีวิต กรณีเจ้าของเป็นนิติบุคคล จะเริ่มนับอายุตั้งแต่ผลงานถูกสร้างขึ้นมานับไปอีก 50 ปี หรือเริ่มนับเมื่อมีการโฆษณาเป็นครั้งแรก แล้วแต่ว่าอย่างไหนจะเกิดทีหลัง แต่การโฆษณาครั้งแรกนั้นจะต้องเกิดขึ้นภายใน 50 ปี นับตั้งแต่มีการสร้างสรรค์ผลงานนั้นขึ้นมา ถ้าพ้น 50 ปีไปแล้วโดยที่ยังไม่ได้มีการโฆษณา ถือว่าลิขสิทธิ์หมดอายุ โดยที่การโฆษณาในภายหลังจะไม่มีผลต่อการนับต่ออายุลิขสิทธิ์อีก การโฆษณานี้จะต้องเป็นการโฆษณาโดยความยินยอมของเจ้าของลิขสิทธิ์ด้วย จึงจะนับเป็นการโฆษณาครั้งแรกที่ให้เริ่มนับอายุลิขสิทธิ์ได้

ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 จะมีข้อยกเว้นในงานบางประเภทที่จะมีอายุการคุ้มครองลิขสิทธิ์ต่างออกไป ได้แก่ ศิลปประยุกต์ มีอายุคุ้มครอง 25 ปี งานบางชนิดที่สร้างสรรค์โดยบุคคลธรรมดาที่ไม่ใช่นิติบุคคล ก็จะมีข้อยกเว้นให้เริ่มนับอายุเช่นเดียวกับกรณีนิติบุคคล คือ เริ่มนับตั้งแต่ได้มีการสร้างงานขึ้น หรือตั้งแต่โฆษณาครั้งแรก (แทนที่จะนับตั้งแต่ผู้สร้างสรรค์เสียชีวิต) งานเหล่านั้น ได้แก่ ภาพถ่าย โสตทัศนวัสดุ ภาพยนตร์ สิ่งบันทึกเสียงหรืองานแพร่เสียงแพร่ภาพ งานที่ได้สร้างสรรค์ขึ้นโดยการจ้างหรือตามคำสั่ง รวมถึง ศิลปประยุกต์ งานที่ได้สร้างสรรค์ขึ้นโดยผู้สร้างสรรค์ใช้นามแฝงหรือไม่ปรากฏชื่อผู้สร้างสรรค์ และ ไม่รู้ตัวผู้สร้างสรรค์ ก็ให้เริ่มนับอายุลิขสิทธิ์ในลักษณะเดียวกับนิติบุคคล

กฎหมายลิขสิทธิ์ฉบับแรกของประเทศไทย คือ ประกาศหอพระสมุดวชิรญาณ ร.ศ. 111 (พ.ศ. 2435)[3] เป็นการคุ้มครองเพื่อมิให้ผู้ใดนำความต่าง ๆ ในหนังสือวชิรญาณวิเศษไปตีพิมพ์ เย็บเป็นเล่มหรือเป็นเรื่อง นอกจากได้รับอนุญาตจากกรรมสัมปาทิกสภา [4] แต่ไม่มีการกำหนดโทษสำหรับผู้ฝ่าฝืน[5]

กฎหมายฉบับอื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับลิขสิทธิ์ได้ประกาศใช้ตามลำดับ โดยยกเลิกฉบับก่อนหน้า ดังนี้ [5]

  1. พระราชบัญญัติกรรมสิทธิ์ผู้แต่งหนังสือ ร.ศ. 120 (พ.ศ. 2444)
  2. พระราชบัญญัติแก้ไขพระราชบัญญัติกรรมสิทธิ์ผู้แต่งหนังสือ พ.ศ. 2457
  3. พระราชบัญญัติคุ้มครองงานวรรณกรรมและศิลปกรรม พุทธศักราช 2474
  4. พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521
  5. พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537
  6. พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2558
  7. พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2558

ปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์

[แก้]

ในประเทศไทย พบสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ค่อนข้างแพร่หลาย ไม่ว่าจะเป็น ซีดีเพลง (มักเป็นซีดีรวมไฟล์เพลงประเภท MP3) วีซีดีและดีวีดีภาพยนตร์ ทั้งภาพยนตร์ไทยและต่างประเทศ รวมไปถึง ซอฟต์แวร์ เกม และโปรแกรมประยุกต์ต่าง ๆ โดยสถานที่ที่เคยมีปัญหาเรื่องการจำหน่ายสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์มาก ได้แก่ พันธุ์ทิพย์พลาซ่า, คลองถม, เซียร์ รังสิต, ตะวันนา เป็นต้น[6]

ในปี 2550 ประเทศไทยมีการละเมิดลิขสิทธิ์สูงสุดเป็นอันดับ 4 ในเอเชียแปซิฟิก[7] ส่งผลเสียต่อชื่อเสียงและอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งในประเทศและต่างประเทศ

อ้างอิง

[แก้]
  1. World Intellectual Property Organization (2008). WIPO intellectual property handbook: Policy, law and use (PDF). pp. 40–67. ISBN 978-92-805-1291-5. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2019-03-20. สืบค้นเมื่อ 2019-08-06.
  2. Ginsburg, Jane (2017). "Copyright". ใน Dreyfuss, Rochelle; Pila, Justine (บ.ก.). The Oxford handbook of intellectual property law. doi:10.1093/oxfordhb/9780198758457.013.23. ISBN 9780198758457.
  3. ประกาศหอพระสมุดวชิรญาณ,ราชกิจจานุเบกษา, สืบค้นวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2558
  4. สาขาวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช. "8.1.1 ความหมายของทรัพย์สินทางปัญญา". เอกสารการสอนชุดวิชากฎหมายธุรกิจ หน่วยที่ 8-15. ปรับปรุงครั้งที่ 1, พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, 2554. หน้า (8-6). ISBN 978-616-505-374-7
  5. 5.0 5.1 "ความเป็นมาของกฎหมายลิขสิทธิ์ในประเทศไทย". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-04-11. สืบค้นเมื่อ 2013-04-20.
  6. ไทยรัฐ, เจ้าข้าเอ๊ย! รัฐจะลุยละเมิดลิขสิทธิ์, 18 พฤศจิกายน 2551 เรียกดูเมื่อ 16 เมษายน พ.ศ. 2552
  7. สยามธุรกิจ, ‘บีเอสเอ’ผุดแคมเปญสายด่วน รณรงค์ลด ละ เลิก ซอฟต์แวร์เถื่อน, 29-31 สิงหาคม 2550 เรียกดูเมื่อ 16 เมษายน พ.ศ. 2552

ดูเพิ่ม

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]