ข้ามไปเนื้อหา

พระเจ้าสตีเฟนแห่งอังกฤษ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Stephen, King of England)
พระเจ้าสตีเฟน
พระมหากษัตริย์อังกฤษ
ครองราชย์22 ธันวาคม ค.ศ. 1135 – 25 ตุลาคม ค.ศ. 1154
ราชาภิเษก26 ธันวาคม ค.ศ. 1135
ก่อนหน้าพระเจ้าเฮนรีที่ 1 แห่งอังกฤษ
ถัดไปพระเจ้าเฮนรีที่ 2 แห่งอังกฤษ
ผู้อ้างสิทธิจักรพรรดินีมาทิลดา
( ค.ศ. 1141 – 1148 )
พระราชสมภพราว ค.ศ. 1096
สวรรคต25 ตุลาคม ค.ศ. 1154 ~(56 ปี)
พระมเหสีมาทิลดาแห่งบูลอญ สมเด็จพระราชินีแห่งอังกฤษ
พระราชบุตร7 พระองค์
ราชวงศ์นอร์มัน
พระราชบิดาสตีเฟนที่ 2 เคานต์แห่งบลัว
พระราชมารดาอเดลาแห่งนอร์ม็องดี
เหตุการณ์สำคัญ
  • เกิดดิแอนะคีซึ่งเป็นสงครามกลางเมืองอ้างสิทธิ์ในราชบัลลังก์อังกฤษ

พระเจ้าสตีเฟน[1]แห่งอังกฤษ หรือ สตีเฟนแห่งบลัว (อังกฤษ: Stephen of England; Stephen of Blois) (ราว ค.ศ. 109625 ตุลาคม ค.ศ. 1154) เป็นกษัตริย์แห่งอังกฤษ พระองค์เป็นกษัตริย์องค์ที่ 4 และองค์สุดท้ายของราชวงศ์นอร์มัน ตั้งแต่วันที่ 22 ธันวาคม ค.ศ. 1135 จนสวรรคตในปี ค.ศ. 1154 พระองค์เป็นเคานต์แห่งบูลอญตั้งแต่ ค.ศ. 1125 ถึง ค.ศ. 1147 และดยุคแห่งนอร์มังดีตั้งแต่ ค.ศ. 1135 ถึง ค.ศ. 1144 รัชสมัยของพระองค์มีเหตุการณ์สำคัญคือดิแอนะคีซึ่งเป็นสงครามกลางเมืองระหว่างพระองค์กับพระราชภาติยะ (ลูกพี่ลูกน้อง) และคู่แข่งของพระองค์คือจักรพรรดินีมาทิลดาซึ่งมีพระราชโอรสคือพระเจ้าเฮนรีที่ 2 ที่ได้สืบราชบัลลังก์อังกฤษต่อจากพระเจ้าสตีเฟน

วัยเยาว์

[แก้]
ตอนเหนือของฝรั่งเศสในช่วงที่พระเจ้าสตีเฟนเสด็จพระราชสมภพ

เอเตียงหรือสตีเฟนแห่งบลัวส์เสด็จพระราชสมภพเมื่อราวปี ค.ศ. 1097 ในบลัว ประเทศฝรั่งเศส โดยทรงเป็นพระนัดดาของพระเจ้าวิลเลียมผู้พิชิต พระบิดาของพระองค์คือเอเตียง-อ็องรี เคานต์แห่งบลัวส์ซึ่งถูกสังหารในสมรภูมิรัมลาระหว่างทำสงครามครูเสดเมื่อสตีเฟนยังเยาว์วัย ส่วนพระมารดาของพระองค์คืออาเดลาแห่งนอร์ม็องดี พระธิดาของพระเจ้าวิลเลียมผู้พิชิต พระนางได้ส่งสตีเฟนซึ่งเป็นบุตรชายคนที่สามมายังอังกฤษเพื่อเสี่ยงโชคในราชสำนักของพระเจ้าเฮนรีที่ 1 ผู้เป็นพระมาตุลา สตีเฟนขึ้นมีหน้ามีตาในราชสำนักของพระเจ้าเฮนรี ด้วยความเป็นคนสุภาพ, มีมารยาท และหล่อเหลาทำให้พระองค์เป็นที่โปรดปรานของพระเจ้าเฮนรีที่แต่งตั้งให้พระองค์เป็นอัศวินหลังทำสมรภูมิแต็งเชอเบรย์ ทรงได้รับพระราชทานเคานตีมอร์แตงตอนพระชนมายุ 18 พรรษา

หลายปีต่อมาทรงสมรสกับแมธีลด์แห่งบูลอญทำให้ได้รับดินแดนอันกว้างใหญ่ไพศาลมาจากชายา โดยแมธีลด์เป็นธิดาของยูซตาสที่ 3 เคานต์แห่งบูลอญกับแมรีแห่งสกอตแลนด์ซึ่งเป็นพระธิดาของพระเจ้ามัลคอล์มที่ 3 แห่งสกอตแลนด์กับนักบุญมาร์กาเร็ตซึ่งเป็นชาวแองโกลแซ็กซัน ทรงเป็นลูกพี่ลูกน้องชั้นที่หนึ่งของพระราชบุตรของพระเจ้าเฮนรีที่ 1 ที่เกิดจากมาทิลดา (หรืออีดิธ) แห่งสกอตแลนด์ซึ่งเป็นพี่น้องกับแมรีแห่งสกอตแลนด์ ทั้งคู่มีพระโอรสธิดาด้วยกันสามคน คือ

  1. เบาด์วิน (ประสูติ ค.ศ. 1126)
  2. อูสตาช (หรือยูซตาส) ที่ 4 เคานต์แห่งบูลอญ (ประสูติ ค.ศ. 1132) สมรสกับกงสต็องแห่งตูลูส พระธิดาคนเดียวของพระเจ้าหลุยส์ที่ 6 แห่งฝรั่งเศสกับอาเดอแลดแห่งซาวอย พระเหสีคนที่สอง
  3. กีโยม (หรือวิลเลียม) แห่งบลัวส์ (ประสูติ ค.ศ. 1134) เคานต์แห่งมอร์แตง, บูลอญ และเอิร์ลแห่งเซอร์รีย์ สมรสกับอิซาเบล เดอ วอเรน สืบทอดตำแหน่งเคานต์แห่งบูลอญต่อจากพระเชษฐา
  4. มารี (หรือแมรี) แห่งบูลอญ (ประสูติ ค.ศ. 1136) สืบทอดตำแหน่งเคานเตสแห่งบูลอญต่อจากพระเชษฐา พระองค์ถูกลักพาตัวและบังคับให้สมรสกับมาตีเยอแห่งอาลซัส

การราชาภิเษกและการครองราชย์

[แก้]
ภาพพิธีราชาภิเษกของพระเจ้าสตีเฟน วาดโดยมาตีเยอชาวปารีส คริสต์ศตวรรษที่ 13

ในปี ค.ศ. 1120 สตีเฟนรอดชีวิตจากเหตุอับปางของเรือขาวนอกชายฝั่งนอร์ม็องดี ขณะที่วิลเลียมอาเดลิน พระโอรสของพระเจ้าเฮนรีที่ 1 ได้สิ้นพระชนม์ในหายนะครั้งดังกล่าว การสิ้นพระชนม์ของวิลเลียมก่อให้เกิดข้อกังขาในลำดับการสืบราชบัลลังก์ของอังกฤษ จักรพรรดินีมาทิลดา พระราชบุตรตามกฎหมายเพียงคนเดียวที่ยังมีชีวิตอยู่ของพระเจ้าเฮนรีที่ 1 ได้รับการประกาศชื่อเป็นทายาทของพระบิดาซึ่งได้ให้บารอนของพระองค์สาบานและปฏิญาณว่าจะจงรักภักดีต่อพระนาง สตีเฟนเป็นหนึ่งในบารอนกลุ่มดังกล่าว

ทว่าเมื่อพระเจ้าเฮนรีที่ 1 สิ้นพระชนม์ในปี ค.ศ. 1135 สตีเฟนอาศัยช่วงที่มาทิลดาอยู่ในฝรั่งเศสข้ามช่องแคบอังกฤษมาแสดงสิทธิ์ในบัลลังก์ อันแสดงถึงความไม่ยอมรับในตัวมาทิลดา เหล่าบารอนเองก็ไม่เห็นด้วยกับความคิดที่จะให้ผู้หญิงปกครองพวกตนจึงยอมรับสตีเฟนเป็นกษัตริย์ พิธีราชาภิเษกของสตีเฟนถูกจัดขึ้นในวันที่ 22 ธันวาคม ค.ศ. 1135 โดยแมธีลด์แห่งบูลอญ ชายาซึ่งเป็นผู้สนับสนุนคนสำคัญของพระองค์ได้รับการสวมมงกุฎเป็นพระราชินีในปีต่อมา

แม้จะเป็นพระมาตุลาของพระมเหสีของพระเจ้าสตีเฟนเช่นกันแต่พระเจ้าดาวิดที่ 1 แห่งสกอตแลนด์ได้สนับสนุนการอ้างสิทธิ์ของจักรพรรดินีมาทิลดา พระธิดาของอีดิธแห่งสกอตแลนด์ พระขนิษฐาซึ่งสมรสกับพระเจ้าเฮนรีที่ 1 พระเจ้าดาวิดบุกตอนเหนือของอังกฤษสองครั้งในปี ค.ศ. 1138 แต่ถูกกองทัพของพระเจ้าสตีเฟนขับไล่ไปได้ทั้งสองครั้ง ในปี ค.ศ. 1136 พระเจ้าดาวิดเก็บคัมเบอร์แลนด์ไว้ได้ ปีต่อมาทรงบรรลุสนธิสัญญาพักรบชั่วคราวกับพระเจ้าสตีเฟนหลังสู้รบกันเป็นเวลาสั้นๆ เดือนธันวาคมเมื่อสนธิสัญญาพักรบสิ้นสุดลงพระเจ้าดาวิดขอพื้นที่ทั้งหมดของนอร์ทัมเบอร์แลนด์แต่พระเจ้าสตีเฟนไม่ให้ ในฤดูร้อนของปี ค.ศ. 1138 ทรงบุกอังกฤษเป็นครั้งที่สาม กองทัพของพระเจ้าดาวิดถูกกองทัพอังกฤษนำโดยกีโยม เคานต์แห่งอูแมลปราบที่สมรภูมิซึ่งสู้รบกันในวันที่ 22 สิงหาคม ค.ศ. 1138 ที่คาวตันมัวร์ใกล้กับนอร์แธเลอร์ตันในยอร์กเชอร์

ภาโรเบิร์ตแห่งกลอสเตอร์ในโถงจัดพิธีเลี้ยง ปราสาทคาร์ดิฟฟ์ ประเทศเวลส์

ในช่วงปีแรกของการเป็นกษัตริย์ พระเจ้าสตีเฟนสามารถรักษาเสถียรภาพไว้ได้ ทรงประความสำเร็จในการปกป้องดินแดนในอังกฤษและฝรั่งเศสของตนจากการรุกรานของพระเจ้าดาวิดที่ 1 แห่งสกอตแลนด์และจูฟเฟรย์แห่งอ็องฌู ทว่าในปี ค.ศ. 1139 พระเจ้าสตีเฟนเผชิญกับความท้าทายทางทหารครั้งใหญ่จากจักรพรรดินีมาทิลดา (ซึ่งได้รับยศจักรพรรดินีมาจากการสมรสกับจักพรรดิไฮน์ริชที่ 5 แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์) ที่เฝ้าดูการทรยศหักหลังของสตีเฟนอย่างโกรธจัด ในตอนที่พระบิดาสิ้นพระชนม์ พระนางกำลังตั้งครรภ์กีโยม (หรือวิลเลียม) บุตรชายคนที่สาม จึงตอบโต้พระเจ้าสตีเฟนได้อย่างล่าช้า แต่สุดท้ายในปี ค.ศ. 1139 จักรพรรดินีมาทิลดาก็ได้นำทัพเข้าโจมตีอังกฤษเพื่อท้าชิงมงกุฎกับพระเจ้าสตีเฟนโดยมีโรเบิร์ตแห่งกลอสเตอร์ พระอนุชาต่างมารดาให้การสนับสนุน ยุคแห่งความขัดแย้งระหว่างจักรพรรดินีกับพระเจ้าสตีเฟนถูกเรียกว่า "ยุคแห่งอนาธิปไตย" ที่ประเทศแตกออกเป็นเสี่ยงๆ ด้วยสงครามกลางเมือง

ภาพเหมือนจักรพรรดินีมาทิลดาในเอกสาร "ประวัติศาสตร์อังกฤษ" โดยคณะนักบวชของอาสนวิหารนักบุญออลบัน คริสต์ศตวรรษที่ 15

สุดท้ายพระเจ้าสตีเฟนก็เสียนอร์ม็องดีให้แก่จูฟเฟรย์ เคานต์แห่งอ็องฌู สวามีของจักรพรรดินีมาทิลดา เดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1141 พระองค์ถูกโรเบิร์ตแห่งกลอสเตอร์จับกุมที่สมรภูมิลิงคอล์น ทรงถูกล่ามโซ่จองจำโดยมาทิลดาที่แสนยินดีปรีดา ผู้สนับสนุนหลายคนได้ทอดทิ้งพระเจ้าสตีเฟน มาทิลดาได้รับการยอมรับเป็นพระราชินีแต่กลับถูกต่อต้านอย่างรุนแรงจากชาวเมืองลอนดอนเนื่องจากทรงหยิ่งผยองและทะนงตน พระนางถูกขับไล่ออกจากเมืองโดยฝูงชนที่โกรธเกรี้ยว

วงล้อแห่งโชคชะตาที่พลิกไปพลิกมาพลิกผันอีกครั้งเมื่อกองทัพของแมธีลด์ พระราชินีของพระเจ้าสตีเฟนสามารถจับกุมตัวโรเบิร์ตได้ในการแตกพ่ายที่วินเชสเตอร์ ภายหลังเขาได้รับการปล่อยตัวเพื่อแลกกับการปล่อยตัวพระเจ้าสตีเฟน ทว่าความขัดแย้งไม่ได้สิ้นสุดลง ตัวมาทิลดาเองเกือบถูกจับกุมตัวได้ขณะถูกพระเจ้าสตีเฟนปิดล้อมที่ออกซฟอร์ด แต่พระนางสามารถหนีข้ามแม่น้ำที่จับตัวเป็นน้ำแข็งโดยอำพรางตัวอยู่ใต้เสื้อคลุมสีขาว ความขัดแย้งสิ้นสุดลงในปี ค.ศ. 1148 เมื่อจักรพรรดินีมาทิลดายอมรามือจากการต่อสู้และไปจากอังกฤษ

อาณาจักรที่ตกอยู่ในความชุลมุนวุ่นวายและบัลลังก์ที่อยู่ในอันตรายทำให้พระเจ้าสตีเฟนต้องสร้างความแข็งแกร่งให้แก่สถานะของตนโดยหันไปพึ่งพาศาสนจักร พระองค์ร้องขอให้สมเด็จพระสันตะปาปายูจีนที่ 3 สวมมงกุฎให้อูสตาช พระโอรสคนโตเพื่อเป็นการการันตีว่าจะได้สืบทอดตำแหน่งของพระบิดา แต่สมเด็จพระสันตะปาปาไม่รับฟังคำร้องขอของพระเจ้าสตีเฟน

สนธิสัญญาวอลลิงฟอร์ด

[แก้]

ในปี ค.ศ. 1153 พระเจ้าสตีเฟนเผชิญกับการโจมตีอีกครั้งโดยครั้งนี้ผู้นำคือเฮนรี ฟิตซ์เอ็มเพรส (เฮนรี บุตรแห่งจัรพรรดินี) พระโอรสของจักรพรรดินีมาทิลดา ฟิตซ์เอ็มเพรสได้บุกอังกฤษและสร้างสัมพันธไมตรีกับลอร์ดประจำท้องถิ่นเพื่อให้สนับสนุนการอ้างสิทธิ์ในบัลลังก์ของตน หลังอูสตาช พระโอรสของพระองค์สิ้นพระชนม์ พระเจ้าสตีเฟนตัดสินใจเจรจาสันติภาพ ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1153 สนธิสัญญาวอลลิงฟอร์ดหรือสนธิสัญญาวินเชสเตอร์ได้บรรลุข้อตกลงอันเป็นการยุติสงครามที่ยาวนานถึง 15 ปี ตามเงื่อนไขในสนธิสัญญาพระเจ้าสตีเฟนจะได้ครองบัลลังก์ไปจนกว่าจะสิ้นพระชนม์ หลังการสิ้นพระชนม์ เฮนรี ฟิตซ์เอ็มเพรสจะได้สืบทอดบัลลังก์ต่อ เดือนต่อมาศาสนจักรได้รับรองสนธิสัญญาโดยผู้ที่ทำผิดข้อตกลงจะถูกตัดขาดจากศาสนา เดือนมกราคมปีต่อมาเหล่าบารอนอังกฤษได้เข้าถวายบังคมต่อเฮนรีที่ออกซฟอร์ดโดยที่ยังคงจงรักภักดีต่อพระเจ้าสตีเฟน

การสวรรคต

[แก้]

พระเจ้าสตีเฟนฉลองชัยในตอนเหนือของอังกฤษแต่มีเวลาดื่มด่ำกับสิ่งที่เกิดขึ้นไม่นาน ในเดือนตุลาคมพระองค์ล้มป่วยที่โดเวอร์ด้วยโรคลำไส้และอาการตกเลือดภายใน เมื่อใกล้จะสวรรคต ราล์ฟ พระสหายในโบสถ์ตรีเอกนุภาพที่อัล์ดเกตถูกเรียกตัวมาโดเวอร์เพื่อเข้าพบพระองค์ในช่วงสุดท้ายชีวิต อาร์ชบิชอปเธโอบอลด์แห่งแคนเทอร์บรีน่าจะอยู่ที่นั่นด้วยเช่นกัน เขาได้ส่งสาส์นข้ามช่องแคบไปหาเฮนรีและได้บริหารบ้านเมืองชั่วคราวหลังพระเจ้าสตีเฟนสวรรคตด้วยอาการตกเลือดในสมองด้วยวัย 51 พรรษาที่โดเวอร์ในวันที่ 25 ตุลาคม ค.ศ. 1154 พระบรมศพของกษัตริย์ถูกนำไปที่โบสถ์กลูว์นีในฟาเวอร์ชัมที่พระองค์เป็นผู้ก่อตั้งและถูกฝังที่บริเวณร้องเพลงสวด อาร์ชบิชอปเธโอบอลด์รีบเดินทางไปลอนดอนซึ่งลอร์ดจากทั่วทั้งประเทศได้มารวมตัวกันเพื่อเข้าเฝ้ากษัตริย์คนใหม่ที่ออกเดินทางมาจากนอร์ม็องดีในเดือนธันวาคมและเข้ารับการสวมมงกุฎเป็นพระเจ้าเฮนรีที่ 2 แห่งอังกฤษ ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์แพลนทาเจเนตที่วิหารเวสต์มินสเตอร์ในวันที่ 19 ธันวาคม

พงศาวดารแองโกลแซ็กซันได้กล่าวถึงความทุกข์ทนของประชาชนทั่วไปในช่วง 19 ปีแห่งการครองราชย์ของพระเจ้าสตีเฟนไว้ว่า

"สิบเก้าปีอันยาวนานที่พระเจ้าสตีเฟนเป็นกษัตริย์ ดินแดนต่างๆ ตกอยู่ในเงื้อมมือของความหายนะและความมืดมิด ผู้คนต่างพูดกันไปทั่วว่าพระคริสต์และนักบุญของพระองค์ได้หลับใหล"

อ้างอิง

[แก้]
  1. ราชบัณฑิตยสถาน, สารานุกรมประเทศในทวีปยุโรป ฉบับราชบัณฑิตยสถาน, ราชบัณฑิตยสถาน, 2550, หน้า 243

ดูเพิ่ม

[แก้]
ก่อนหน้า พระเจ้าสตีเฟนแห่งอังกฤษ ถัดไป
พระเจ้าเฮนรีที่ 1
พระมหากษัตริย์อังกฤษ
(ราชวงศ์นอร์มัน)

(ค.ศ. 1135ค.ศ. 1154)
พระเจ้าเฮนรีที่ 2
อ้างสิทธิ์โดยจักรพรรดินีมาทิลดา