โอเค เบตง
โอเค เบตง (อังกฤษ: OK Baytong) เป็นภาพยนตร์ไทยที่ออกฉายในปี พ.ศ. 2546 กำกับโดยนนทรีย์ นิมิบุตร และอำนวยการสร้างโดยดวงกมล ลิ่มเจริญ เรื่องราวเกี่ยวกับชีวิตความเป็นอยู่ของชาวไทยพุทธ ที่ใช้ชีวิตอย่างสงบสุขอยู่ร่วมกับวัฒนธรรมชาวไทยมุสลิม ในอำเภอเบตง จังหวัดยะลา ท่ามกลางความรุนแรงที่เริ่มเกิดขึ้นพร้อมกับความไม่สงบในชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย
โอเค เบตง | |
---|---|
กำกับ | นนทรีย์ นิมิบุตร |
เขียนบท | นนทรีย์ นิมิบุตร เอก เอี่ยมชื่น ศิรภัค เผ่าบุญเกิด |
อำนวยการสร้าง | สมศักดิ์ เตชะรัตนประเสริฐ ดวงกมล ลิ่มเจริญ |
นักแสดงนำ | ภูวฤทธิ์ พุ่มพวง จีรนันท์ มะโนแจ่ม ด.ญ.สรัญญ่า เครื่องสาย อรรถพร ธีมากร สรวงสุดา ศรีธัญรัตน์ |
กำกับภาพ | ชาญกิจ ชำนิวิกัยพงศ์ |
ตัดต่อ | เป็นเอก รัตนเรือง หม่อมราชวงศ์ปัทมนัดดา ยุคล |
ดนตรีประกอบ | ชาติชาย พงษ์ประภาพันธ์ |
ผู้จัดจำหน่าย | สหมงคลฟิล์ม |
วันฉาย | 26 ธันวาคม พ.ศ. 2546 |
ความยาว | 105 นาที |
ประเทศ | ไทย |
ภาษา | ไทย |
ข้อมูลจาก IMDb | |
ข้อมูลจากสยามโซน |
เรื่องย่อ
แก้ธรรม (ภูวฤทธิ์) อยู่บวชอยู่ที่วัดป่า และศึกษาพระธรรมมาตั้งแต่อายุ 5 ขวบ หลังจากพ่อแม่เสียชีวิต วันหนึ่ง จันทร์ พี่สาวเพียงคนเดียวของธรรม เสียชีวิตอย่างกะทันหันเนื่องจากเหตุการณ์ระเบิดที่สถานีรถไฟ ธรรมต้องลาสิกขาบทออกมาเพื่อดูแล มารีอา (ด.ญ.สรัญญ่า) ลูกกำพร้าของพี่สาวที่เกิดจาก กาเซ็ม สามีชาวมุสลิม เขาต้องพบกับความยากลำบากในการปรับตัว จากเดิมที่ใช้ชีวิตทางธรรมอย่างเรียบง่ายเพื่อศึกษาพระพุทธศาสนา กลับต้องมาใช้ชีวิตทางโลก อยู่ท่ามกลางความแปลกใหม่ มีสิ่งยั่วยวนมากมาย โดยได้รับความช่วยเหลือจาก หลิน (จีรนันท์) หญิงสาวที่อาศัยอยู่ตรงข้ามร้านเสริมสวยของจันทร์ และ เฟิร์น (สรวงสุดา) นักร้องสาวคาเฟ่ เพื่อนสนิทของจันทร์
ธรรมต้องพบความสับสนครั้งใหญ่ในชีวิต เมื่อพบว่าตัวเองมีความรู้สึกดี ๆ กับ หลิน แต่แท้ที่จริงเธอเป็นคนรักของ ฟารุก (อรรถพร) มุสลิมหัวก้าวหน้า หนึ่งในผู้นำขบวนการแบ่งแยกดินแดน ซึ่งถูกทางการไทยกล่าวหาว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการระเบิดที่ทำให้พี่สาวของธรรมเสียชีวิต หลินตัดสินใจเปลี่ยนไปนับถือศาสนาอิสลาม เพื่ออยู่เคียงข้างชายที่เธอรัก ขณะเดียวกันธรรมก็ต้องแยกจากมารีอา เมื่อกาเซ็ม พ่อแท้ ๆ รับเธอไปอยู่ด้วยที่ประเทศมาเลเซีย
ด้วยความผิดหวังในความรัก ธรรมต้องตกอยู่ภายใต้อำนาจของอบายมุข แต่ที่สุดแล้วเขาก็ได้เรียนรู้ที่จะปรับตัว มีชีวิตอยู่อย่างมีสติ และดำเนินชีวิตต่อไปข้างหน้า
เพลงประกอบภาพยนตร์
แก้- เพลง มาทำไม ขับร้องโดย ธงไชย แมคอินไตย์ และจินตหรา พูนลาภ
- เพลง กราบเท้าย่าโม ขับร้องโดย สุนารี ราชสีมา
- เพลง I Love You โดย ชาติชาย พงษ์ประภาพันธ์
- เพลง โอเคอินเดีย โดย ชาติชาย พงษ์ประภาพันธ์ ขับร้องโดย Spices of India
- เพลง โดเรมี ขับร้องโดย พรชิตา ณ สงขลา
- เพลง เบตง คาเฟ่ โดย คงเดช จาตุรันต์รัศมี/ชาติชาย พงษ์ประภาพันธ์ ขับร้องโดย เนตรนภา หาญโรจนวุฒิ
- เพลง จงเป็นสุขเป็นสุขเถิด ขับร้องโดย จีรนันท์ มะโนแจ่ม
เกี่ยวกับภาพยนตร์
แก้- ภาพยนตร์ถ่ายทำที่อำเภอเบตง จังหวัดยะลา และจังหวัดสระบุรี
- ฉากระเบิดที่สถานีรถไฟ เกิดขึ้นภายหลังเหตุการณ์ระเบิดสถานีรถไฟชุมทางหาดใหญ่ เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2544
- ภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่มีโอกาสได้ฉายในโรงภาพยนตร์ที่อำเภอเบตง ซึ่งเป็นสถานที่ถ่ายทำ เพราะที่นั่นไม่มีโรงภาพยนตร์ โรงภาพยนตร์เพียงโรงเดียวที่นั่นปิดตัวไปตั้งแต่ พ.ศ. 2539 [1]
อ้างอิง
แก้- ↑ "(id=3921) "โอเค.เบตง" หนังไม่ฉายที่เบตง". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2006-05-03. สืบค้นเมื่อ 2008-01-28.
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- OK Baytong ที่อินเทอร์เน็ตมูวีเดตาเบส
- โอเค เบตง จากเว็บ CINEMASIA เก็บถาวร 2006-05-18 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- โอเค เบตง จาก พันทิป
- โอเคเบตง (2003) ที่สยามโซน