จักรพรรดินีมย็องซ็อง

จักรพรรดินีมย็องซ็อง หรือ พระราชินีมิน (เกาหลี명성황후, มย็องซ็องฮวังฮู; 19 ตุลาคม 1851 – 8 ตุลาคม 1895) เป็นพระอัครมเหสีของจักรพรรดิควางมูแห่งจักรวรรดิเกาหลี (พระเจ้าโกจง) พระจักรพรรดินีมย็องซ็องทรงมีบทบาทอย่างมากในการปกครองและปฏิรูปประเทศในช่วยปลายสมัยราชวงศ์โชซอน และเรื่องราวของพระนางยังคงเป็นประวัติศาสตร์หน้าสำคัญทั้งในด้านการต่อสู้ของวีรสตรีผู้รักชาติ และประวัติศาสตร์อันเป็นที่ถกเถียงในหมู่นักประวัติศาสตร์และนักอาชญวิทยาต่าง ๆ ที่ต่างพยายามค้นหาหลักฐานการสวรรคตที่แท้จริงของพระนาง ซึ่งทั้งฝ่ายเกาหลีเองหรือฝ่ายญี่ปุ่นปิดบังตลอดมา

จักรพรรดินีมย็องซ็อง
명성황후
จักรพรรดินีแห่งเกาหลี (สถาปนาหลังสวรรคต)
พระอัครมเหสีแห่งโชซ็อน
พระสาทิสลักษณ์ที่วาดขึ้นหลังสวรรคต (1898)
สมเด็จพระราชินีแห่งโชซอน
ระหว่าง1 พฤศจิกายน ค.ศ. 1873 – 1 กรกฎาคม ค.ศ. 1894 (12 ปี)
6 กรกฎาคม ค.ศ. 1894 – 10 ตุลาคม ค.ศ. 1895 (96 วัน)
ก่อนหน้าพระนางชอริน
ถัดไปจักรพรรดินีซุนมย็อง
พระราชสมภพ19 ตุลาคม ค.ศ. 1851
จังหวัดคย็องกี อาณาจักรโชซ็อน
สวรรคต8 ตุลาคม ค.ศ. 1895 (พระชนมายุ 43 พรรษา)
พระราชวังคย็องบก โซล อาณาจักรโชซ็อน
คู่อภิเษกจักรพรรดิโคจง
พระราชบุตรจักรพรรดิซุนจง
ราชวงศ์ราชวงศ์โชซ็อน
พระราชบิดามิน ชี-รก
พระราชมารดาอีแห่งฮันชัง

การก้าวขึ้นสู่อำนาจ

แก้

จักรพรรดินีมย็องซ็อง เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม ค.ศ. 1851 ที่เมืองยอจู (เกาหลี: 여주) จังหวัดคย็องกี[1]ในปัจจุบัน เป็นธิดาของมินชีรก (เกาหลี: 민치록 閔致祿) ขุนนางชั้นผู้น้อยคนหนึ่ง จากตระกูลมินแห่งยอฮึง (เกาหลี: 여흥민씨 驪興閔氏 ตระกูลเดียวกันกับพระมเหสีอินฮยอน) เนื่องจากกฎหมายที่ห้ามการบันทึกพระนามเดิมของพระมเหสีของราชวงศ์โชซอน ทำให้นักประวัติศาสตร์ไม่ทราบว่าพระจักรพรรดินีมย็องซ็องนั้นมีพระนามเดิมว่าอย่างไร (พระนามที่ปรากฏในภาพยนตร์และบทละครนั้นเป็นสิ่งที่ถูกแต่งขึ้น) ค.ศ. 1858 เมื่อพระชนมายุ 7 พรรษา ทั้งบิดาและมารดาของนางมินได้เสียชีวิตลง เป็นเหตุให้ทรงต้องกำพร้าบิดามารดาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ พระองค์จึงไปเป็นธิดาบุญธรรมของมินชีกู (เกาหลี: 민치구 閔致久) ผู้เป็นญาติห่างๆ

ค.ศ. 1866 เมื่อพระเจ้าโกจงมีพระชนมพรรษา 15 พรรษาถึงเวลาอภิเษกสมรส สมเด็จพระราชอัยยิกาจากตระกูลโจ (เกาหลี: 대왕대비조씨 大王大妃趙氏) ผู้สำเร็จราชการแทน และองค์ชายแทวอน ฮึงซอน (เกาหลี: 흥선대원군 興宣大院君) พระบิดาของพระเจ้าโกจงเป็นผู้คัดเลือกพระมเหสีองค์ใหม่ เนื่องจากพระมารดาของพระเจ้าโกจงคือ เจ้าหญิงยอฮึง (เกาหลี: 여흥부대부인 驪興府大夫人) นั้นเป็นธิดาของมินชีกู เจ้าหญิงยอฮึงจึงแนะนำบุตรสาวของมิชีรกซึ่งมินชีกูบิดาได้รับเลี้ยงไว้เป็นธิดาบุญธรรม ให้เป็นพระมเหสีของพระเจ้าโกจง ซึ่งเจ้าชายแทวอนฮึงซอนนั้นก็เห็นด้วยเนื่องจากว่าเป็นตระกูลของพระชายาของเจ้าชายแทวอนเอง ซึ่งเป็นตระกูลที่มีอิทธิพลและบทบาทในราชสำนักน้อย ไม่น่าจะเป็นภัยคุกคามต่อเจ้าชายแทวอนในอนาคต พิธีอภิเษกสมรสระหว่างพระเจ้าโกจงพระชนมพรรษา 15 พรรษา และพระมเหสีจากตระกูลมินพระชนมายุ 16 พรรษา มีขึ้นเมื่อค.ศ. 1866 ที่พระราชวังอึนฮยอน (เกาหลี: 운현궁) ในโซล

ทรงเป็นสตรีที่ฉลาดและใฝ่การศึกษามาตั้งแต่เด็ก พระนางจึงมีบทบาทในการถวายคำปรึกษางานด้านต่าง ๆ ให้แก่ พระเจ้าโกจง และยังสามารถบริหารกิจบ้านเมืองได้ด้วยพระองค์เอง เช่นเดียวกับพระเจ้าโกจงอีกด้วย นอกจากนี้ พระนางยังสนใจในเรื่องการต่างประเทศเป็นพิเศษ ทรงศึกษาความเจริญของสังคมในประเทศต่าง ๆ พระนางยังมักเรียกเหล่าเสนาบดีที่คุ้นเคยเข้าปรึกษาราชการและโปรดให้ผู้รอบรู้สรรพวิชาต่าง ๆ อย่างเป็นพิเศษคอยถวายคำปรึกษาในเรื่องต่าง ๆ เสมอ ด้วยพระจริยาวัตรเช่นนี้ พระนางจึงมักเป็นที่ติฉินนินทากันในหมู่ชนชั้นสูงว่า พระนางพยายามจะทำตัวเสมือนบุรุษที่ชอบเข้าไปก้าวก่ายงานกิจการบ้านเมืองจนเกินงาม และด้วยความปราดเปรื่องของพระนางนี้เองจึงกลายเป็นความหวาดระแวงของพวกขุนนางผู้พยายามกุมอำนาจในวัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มสกุลโจ และ เจ้าชายแทวอน พระบิดาของพระเจ้าโกจง ซึ่งมีอำนาจปกครองประเทศในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนอยู่ในขณะนั้น

การดำรงตำแหน่งพระมเหสี ของพระมเหสีมิน ทำให้ขุนนางตระกูลมินขึ้นมามีอำนาจในราชสำนัก ค.ศ. 1868 พระสนมควีอินตระกูลลี (เกาหลี: 귀인이씨 貴人李氏) ประสูติพระโอรสองค์แรกแด่พระเจ้าโคจงพระนามว่า เจ้าชายวานฮวา (เกาหลี: 완화군 完和君) ซึ่งเจ้าชายแทวอนประสงค์จะแต่งตั้งเจ้าชายวานฮวาเป็นเจ้าชายรัชทายาท ทำให้สถานะของพระมเหสีมินไม่มั่นคง เมื่อค.ศ. 1871 พระมเหสีมินประสูติพระโอรสองค์แรกของพระองค์เองแต่ทว่าสิ้นพระชนม์ลงเมื่อพระชนมายุเพียงสามวัน เจ้าชายแทวอนตำหนิพระมเหสีมินว่าทรงไม่อาจทำหน้าที่ของภรรยาที่ดีได้ ในขณะที่พระมเหสีมินตรัสโทษโสมของเจ้าชายแทวอนที่ประทานแก่พระโอรสว่าเป็นต้นเหตุการสิ้นพระชนม์ ในค.ศ. 1873 กลุ่มขุนนางตระกูลมินได้สนับสนุนให้ขุนนางชื่อว่า ชเวอิกฮยอน (เกาหลี: 최익현 崔益鉉) ถวายฏีกาตำหนิการปกครองของเจ้าชายแทวอนว่ามีการทุจริตฉ้อฉล และร้องขอให้พระเจ้าโคจงทรงปกครองประเทศด้วยพระองค์เองเนื่องจากมีพระชนมายุเกินยี่สิบชันษาแล้ว พระเจ้าโคจงจึงทรงประกาศว่าจะว่าราชการด้วยพระองค์เอง เป็นเหตุให้เจ้าชายแทวอนต้องทรงพ้นสภาพจากการเป็นผู้สำเร็จราชการแทนไปโดยปริยาย ค.ศ. 1874 พระมเหสีมินประสูติพระโอรสอีกองค์หนึ่ง พระนามว่าเจ้าชายลีชอก ซึ่งต่อมาภายหลังคือพระเจ้าซุนจง

ปกครองประเทศร่วมกับพระราชสวามี

แก้

เมื่อกำจัดเจ้าชายแทวอนผู้เป็นพระบิดาของพระสวามีคือพระเจ้าโคจงออกไปได้แล้ว พระมเหสีมินก็ทรงเข้ามามีบทบาทในการปกครองประเทศอย่างเต็มที่ โดยที่ไม่ทรงเกรงกลัวข้อจำกัดของสตรีตามหลักของลัทธิขงจื้อแต่ประการใด พระมเหสีมินทรงแนะนำและมีอิทธิพลต่อการตัดสินพระทัยของพระเจ้าโคจงอย่างมาก ในค.ศ. 1875 รัฐบาลสมัยเมจิของจักรวรรดิญี่ปุ่นนำเรือรบชื่อว่า อุงโย (ญี่ปุ่น: 雲揚โรมาจิUn'yō) เช้ามารุกรานเกาะคังฮวา อันเป็นดินแดนของอาณาจักรโชซอน เรียกร้องให้อาณาจักรโชซอนเปิดประเทศทำการติดต่อค้าขายกับญี่ปุ่น หลังจากที่มีนโยบายปิดประเทศมาหลายร้อยปีจนได้ฉายาว่า อาณาจักรฤๅษี (Hermit Kingdom) ในที่สุดอาณาจักรโชซอนก็ยอมเปิดประเทศทำการติดต่อกับญี่ปุ่นเป็นชาติแรก เกิดเป็นสนธิสัญญาคังฮวา (เกาหลี: 강화도 조약) ขึ้น โดยโชซอนต้องเปิดเมืองท่าสามแห่งได้แก่ ปูซาน อินชอน และวอนซานให้เรือญี่ปุ่นได้เข้ามาเทียบท่า สนธิสัญญาคังฮวาเป็นสนธิสัญญาที่ไม่เท่าเทียม โชซอนเสียสิทธิสภาพนอกอาณาเขตให้แก่ญี่ปุ่น และราชสำนักโชซอนจะต้องยินยอมให้ชาวญี่ปุ่นเข้ามาทำการสำรวจและต้าขายในเกาหลีโดยปราศจากการขัดขวาง

การเปิดประเทศทำให้ราชสำนักเกาหลี โดยเฉพาะพระมเหสีมิน ได้มีโอกาสรับรู้ถึงความเปลี่ยนแปลงของโลกภายนอก การคุกคามจากชาติตะวันตก และเทคโนโลที่ทันสมัย พระมเหสีมินทรงตระหนักว่าอาณาจักรโชซอนจะอยู่รอดได้ต้องมีการพัฒนาปฏิรูปประเทศให้ทันสมัยโดยการดูตัวอย่างจากญี่ปุ่น แต่ในทางการเมืองเนื่องจากทรงเห็นว่าญี่ปุ่นเป็นภัยคุกคามและอาณาจักรโชซอนเป็นประเทศราชของจักรวรรดิจีนมาช้านาน จึงทรงมีนโยบายสานความสัมพันธ์กับราชสำนักราชวงศ์ชิงอย่างแน่นแฟ้นเพื่อเป็นคานอำนาจกับอิทธิพลของญี่ปุ่นในเกาหลี การพัฒนาอย่างแรกคือการปรับปรุงกองกำลังทหารและกองทัพให้มีอาวุธที่ทันสมัย และได้รับการฝึกหัดอย่างตะวันตก โดยพระมเหสีมินทรงให้มินกยอมโฮ (เกาหลี: 민겸호 閔謙鎬) ผู้เป็นพระเชษฐาบุญธรรมเป็นแกนนำในการปรับปรุงกองกำลังทหาร และได้รับความช่วยเหลือจากญี่ปุ่นในการจัดตั้งกองกำลังพิเศษซึ่งติดอาวุธแบบใหม่ อย่างไรก็ตามสิ่งนี้สร้างความไม่พอใจแก่ทหารกลุ่มดั้งเดิมที่ไม่ได้รับการพัฒนา และเนื่องจากราชสำนักโชซอนมีนโยบายต่อทหารสองกลุ่มนี้อย่างไม่เท่าเทียม ทหารกลุ่มเก่าจึงก่อการกบฏขึ้นในค.ศ. 1882 เรียกว่า กบฏปีอีโม (เกาหลี: 임오군란) กองกำลังทหารกลุ่มเก่าเข้าบุกยึดพระราชวังคย็องบกเข้าทำการสังหารทหารกลุ่มใหม่ รวมทั้งมินกยอมโฮและชาวญี่ปุ่นจำนวนหนึ่ง เป็นเหตุให้พระเจ้าโคจงและพระมเหสีมินต้องเสด็จหลบหนีออกจากพระราชวังไปยังเมืองชองจู จังหวัดชุงช็องเหนือในปัจจุบัน กลุ่มทหารกบฏยกเจ้าชายแทวอนให้กลับขึ้นมามีอำนาจอีกครั้ง แต่ทว่าทางฝ่ายราชวงศ์ชิงได้เข้าช่วยเหลือพระมเหสีมินโดยการส่งกองทัพจำนวน 4,500 นำโดยหลี่หงจาง (จีน: 李鴻章 Lǐ Hóngzhāng) เข้ามายังโซลเพื่อทำการปราบกบฏลงได้สำเร็จ จับองค์เจ้าชายแทวอนกลับไปยังเมืองเทียนจิน พระมเหสีมินพร้อมพระสวามีจึงเสด็จนิวัติพระราชวังได้ในที่สุด

ในขณะนั้นขุนนางในราชสำนักโชซอนแบ่งออกเป็นสองฝ่าย ได้แก่ ฝ่ายซาแด อันเป็นขุนนางที่สนับสนุนนโยบายของพระมเหสีมิน คือ การยึดความสัมพันธ์กับจีนราชวงศ์ชิงเป็นหลัก และมีการพัฒนาประเทศอย่างค่อยเป็นค่อยไป ในขณะที่ฝ่ายก้าวหน้า ต้องการให้มีการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ต้องการให้เกาหลีมีสิทธิเสรีภาพเฉกเช่นเดียวกับชาติตะวันตก และเห็นว่าเกาหลีควรที่จะสร้างความสัมพันธ์กับญี่ปุ่นมากกว่า ในค.ศ. 1884 ขุนนางกลุ่มก้าวหน้าหรือกลุ่มแคฮวา (เกาหลี: 개화당) นำโดย คิมอ็กกยุน (เกาหลี: 김옥균) และพัคยองฮโย (เกาหลี: 박영효) นำกองกำลังเข้ายึดพระราชวังคยองบก เรียกว่า การยึดอำนาจปีคัปชิน (เกาหลี: 갑신정변) เข้าทำการสังหารขุนนางฝ่ายซาแดรวมทั้งมินแทโฮพระเชาฐา แต่ทว่าพระมเหสีมินทรงได้รับการสนับสนุนทางทหารจากราชวงศ์ชิงอยู่เดิม และทรงร้องขอให้ราชสำนักราชวงศ์ชิงเข้าช่วยเหลือ ราชวงศ์ชิงส่งหยวนซื่อไข่ (จีน: 袁世凱 Yuán Shìkǎi) นำกองทัพจีนจำนวน 1,500 คน เข้ามาทำการปราบกบฏได้สำเร็จเพียงสามวันหลังจากก่อการ

ในช่วงปลายราชวงศ์โชซอนการปกครองและสังคมของเกาหลีกำลังเสื่อมโทรม ลัทธิทงฮัก (เกาหลี: 동학) ได้ถือกำเนิดขึ้น อันเป็นลัทธิที่ต่อต้านการปกครองของราชสำนักโชซอน เรียกร้องเรื่องความเท่าเทียมในสังคมและสิทธิมนุษยชน และได้รับอิทธิพลจากคริสต์ศาสนา ลัทธิทงฮักเป็นที่แพร่หลายในหมู่ชาวบ้านในมณฑลคยองซังทางตอนใต้ ค.ศ. 1894 ชาวบ้านในมณฑลช็อลลาซึ่งไม่พอใจการปกครองของขุนนางท้องถิ่นและตระกูลมินได้ก่อการกบฏขึ้น เรียกว่า กบฏชาวบ้านทงฮัก (เกาหลี: 동학 농민 운동) นำโดย ช็อนบงจุน (เกาหลี: 전봉준) เข้ายึดอำนาจจัดตั้งการปกครองตนเอง สามารถเข้ายึดเมืองช็อนจูได้ และยกทัพบุกนครฮันซอง พระมเหสีมินจึงทรงขอความช่วยเหลือไปยังราชสำนักต้าชิงเพื่อขอความช่วยเหลืออีกครั้ง ฝ่ายต้าชิงจึงส่งหลี่หงจางนำทัพจีนจำนวนประมาณ 2,500 คน เข้ามาในเกาหลีเพื่อทำการปราบกบฏทงฮักลงได้เป็นผลสำเร็จ แต่เนื่องจากก่อนหน้านี้ในค.ศ. 1885 จักรวรรดิจีนและจักรวรรดิญี่ปุ่นได้บรรลุข้อตกลงเทียนจิน (Convention of Tienjin) ว่าแต่ละฝ่ายจะไม่ส่งกองกำลังทหารเข้าแทรกแซงการเมืองของเกาหลี เว้นแต่จะเป็นไปเพื่อพิทักษ์ทรัพส์สินและบุคคลของชาติตนเอง การที่จีนยกทัพเข้าปราบกบฏทงฮักนั้นจึงเป็นการละเมิดข้อตกลงเทียนจิน สร้างความไม่พอใจแก่ฝ่ายญี่ปุ่น จึงเกิดเป็นสงครามจีน–ญี่ปุ่นครั้งที่หนึ่ง (First Sino-Japanese War) ผลคือความพ่ายแพ้ของฝ่ายจีน นำไปสู่สนธิสัญญาชิโมะโนะเซะกิ (Treaty of Shimonoseki) ในค.ศ. 1895 ให้จักรวรรดิจีนราชวงศ์ชิงยุติบทบาททุกประการในเกาหลี โดยที่เกาหลีพ้นจากการเป็นประเทศราชของราชวงศ์ชิง

ชัยชนะของญี่ปุ่นในสงครามจีน–ญี่ปุ่นครั้งที่หนึ่งทำให้ญี่ปุ่นเข้ามามีบทบาทแทนที่จีนในเกาหลี ฝ่ายพระมเหสีมินเมื่อขาดการสนับสนุนจากจีน จึงทรงค้นหามหาอำนาจใหม่เพื่อคานอำนาจกับญี่ปุ่น นั่นคือจักรวรรดิรัสเซีย

นโยบายการพัฒนาประเทศ

แก้

หลังจากทำสนธิสัญญากังฮวาแล้ว ราชินีมินจึงคิดที่จะใช้วิกฤตให้เป็นโอกาสในการเรียนรู้ถึงพัฒนาการด้านต่าง ๆ ของญี่ปุ่นอย่างใกล้ชิด และรู้วิธีการที่ญี่ปุ่นปรับเปลี่ยนสังคมอย่างตะวันตกจากสังคมเดิมของเอเชียได้อย่างไร พระนางจึงได้ของความเห็นชอบจากพระเจ้าโกจงเพื่อที่จะส่งกลุ่มศึกษาวิจัยไปที่กรุงโตเกียว ในการศึกษาพัฒนาแบบก้าวกระโดดของญี่ปุ่น และได้มอบหมายให้ คิม กวางจิบ เป็นหัวหน้าทีมเดินทางไปญี่ปุ่น คณะทำงานของคิมกวางจิบชุดนี้เข้าไปทำการสำรวจและศึกษาเรื่องต่าง ๆ โดยได้รับความช่วยเหลือจากทูตจีนประจำกรุงโตเกียวชื่อ หวง ชุนเฉียน ซึ่งเป็นผู้แนะนำให้คิมฉวายรายงานต่อพระเจ้าโกจง และ พระจักรพรรดินีมย็องซ็อง ในสิ่งที่เกาหลีจะต้องปรับเปลี่ยนลู่ทางไปตามกระแสโลกตะวันตกอย่างที่ญี่ปุ่นได้กระทำ รวมทั้งการปรับปรุงโครงสร้างทางสังคมและระบบการปกครองของประเทศตามสภาวะโลกที่เปลี่ยนไปอีกด้วยซึ่งจีนได้กระทำวิธีเดียวกันนี้อยู่เช่นกัน แต่สิ่งที่น่าประหลาดใจที่ออกจากปากของที่ปรึกษาชาวจีนผู้นี้คือการมองโลกเชิงวิเคราะห์สถานการณ์ในอนาคต ที่ภาพต่าง ๆ ยังไม่ชัดเจนนัก เขามองว่าจีนกำลังสูญเสียอิทธิพลอย่างมาก และให้เลือกคบหากับญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกาให้แนบแน่น เพื่อเป็นการคานอำนาจของรัสเซียไว้ และให้เรียนรู้เทคโนโลยีต่าง ๆ จากยุโรปให้มากขึ้น และเพื่อเลี้ยงตัวเองให้อยู่รอดด้วยการถ่วงดุลอำนาจระหว่างชาติต่าง ๆ หวง ยังบอกอีกด้วยว่าเกาหลีมีขนาดประเทศที่เล็กและเป็นรัฐกันชนระหว่างจีนกับญี่ปุ่น จึงน่าจะถ่วงดุลอำนาจระหว่างฝ่ายได้ จึงน่าจะมีอนาคตกว่าถ้าเดินตามนโยบายที่เขาแนะนำ

เหตุการณ์ลอบปลงพระชนม์

แก้
 
ภาพวาดเหตุการณ์ลอบปลงพระชนม์พระมเหสีมินจากคำบอกเล่า ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ของฝรั่งเศส "Le Journal Illustré" ค.ศ. 1895
 
คนร้ายชาวญี่ปุ่นในคดีลอบปลงพระชนม์พระมเหสีมิน
 
ริ้วกระบวนในพระราชพิธีพระบรมศพของพระมเหสีมิน ค.ศ. 1897

ฝ่ายจักรวรรดิญี่ปุ่นได้เล็งเห็นแล้วว่า พระมเหสีมินทรงเป็นอุปสรรคที่สำคัญที่สุดในการแผ่ขยายอิทธิพลของญี่ปุ่นเข้าไปในเกาหลี ตราบใดที่พระมเหสีมินยังมีพระชนม์ชีพอยู่ญี่ปุ่นก็ไม่อาจเข้ายึดครองเกาหลีได้ มิอุระ โกโร (ญี่ปุ่น: 三浦梧楼โรมาจิMiura Gorō) เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำเกาหลีในขณะนั้น จึงวางแผนการลอบปลงพระชนม์พระมเหสีมิน โดยให้ชื่อปฏิบัติการนี้ว่า การปฏิบัติการฟอกซ์ฮันท์ (Operation Fox Hunt) ในวันที่ 8 ตุลาคม ค.ศ. 1895 มิอุระ โกโร ได้นำทหารผสมชาวญี่ปุ่นและเกาหลีเข้าบุกพระราชวังคยองบก ควบคุมองค์พระเจ้าโคจงและองค์ชายรัชทายาทเอาไว้ และเข้าปลงพระชนม์พระมเหสีมินที่ตำหนักอ๊กโฮรู (เกาหลี옥호루) แต่ไม่เคยมีใครทราบหรือเห็นเหตุการณ์การลอบปลงพระชนม์หรือมีการบันทึกไว้แต่อย่างใด

ในพ.ศ. 2509 มีการค้นพบเอกสารบันทึกของนายอิชิซุกะ เอย์โจ[2] (ญี่ปุ่น: 石塚英藏โรมาจิIshizuka Eijō) ผู้เป็นหนึ่งในผู้ก่อการลอบปลงพระชนม์พระมเหสีมิน โดยนายอิชิซุกะระบุว่าทูตมิอุระโกโรเป็นผู้วางแผนการณ์ โดยอาศัยความร่วมมือจากทหารญี่ปุ่นที่อารักขาพระราชวังคยองบกขณะนั้นในการเข้าถึงองค์พระมเหสี เมื่อทหารญี่ปุ่นบุกถึงองค์พระมเหสีแล้วจึงแทงพระมเหสีด้วยดาบหลายครั้งจนเสด็จสวรรคต จากนั้นปลดฉลองพระองค์ของพระมเหสีออกจนพระวรกายเปลือยเปล่า กระทำการลบหลู่พระเกียรติต่างๆ นำพระบรมศพไปแสดงให้แก่ข้าราชการชาวรัสเซียในพระราชวังได้เห็น จากนั้นจึงนำพระบรมศพไปยังป่าสนในพระราชวัง แล้วจึงจุดไฟเผาพระบรมศพของพระมเหสีมิน เมื่อเสร็จสิ้นแล้วจึงนำพระบรมอัฐิไปโปรยตามที่ต่างๆในพระราชวัง

ในพ.ศ. 2546 มีการค้นพบเอกสารบันทึกของสถาปนึกชาวรัสเซียชื่อว่า อะฟานาซี เซอเรอดิน-ซาบาติน (Afanasy Seredin-Sabatin) ผู้เห็นเหตุการณ์ลอบสังหารพระมเหสีมินโดยทหารญี่ปุ่น ในบริเวณพระตำหนักของพระมเหสีนั้นเต็มไปด้วยทหารญี่ปุ่นประมาณยี่สิบถึงยี่สิบห้าคน พวกเขาแต่งกายด้วยชุดประหลาดและมีดาบไว้ในครอบครองซึ่งดาบของทหารบางนายนั้นสามารถมองเห็นได้ชัด ในขณะที่ทหารญี่ปุ่นส่วนหนึ่งลาดตระเวณตรวจค้นทุกซอกมุมของพระราชวัง มีการทหารญี่ปุ่นกลุ่มหนึ่งบุกเข้าไปในพระตำหนักของพระมเหสีและเข้าจับสตรีที่อยู่ในที่นั่นไว้ ข้าพเจ้ายังคงสังเกตการณ์ต่อไป พวกทหารนำสิ่งของต่างๆออกมาจากพระตำหนัก ทหารญี่ปุ่นสองคนลากนางในคนหนึ่งออกมาด้วยการดึงผม และลากนางในคนนั้นลงบันใดมา นอกจากนั้นทหารญี่ปุ่นคนหนึ่งถามข้าพเจ้าเป็นภาษาอังกฤษซ้ำๆว่า "พระมเหสีอยู่ที่ไหน ชี้พระมเหสีเดี๋ยวนี้" ขณะที่ข้าพเจ้ากำลังเดินผ่านพระตำหนักใหญ่ ข้าพเจ้าสังเกตว่าพระตำหนักใหญ่นั้นถูกห้องล้อมด้วยทหารญี่ปุ่นและข้าราชการเกาหลี แต่ข้าพเจ้าไม่อาจทราบได้ว่าข้างในนั้นมีเหตุการณ์ใดเกิดขึ้น [3]

นักประวัติศาสตร์เกาหลีเรียกเหตุการณ์ลอบปลงพระชนม์พระมเหสีมินว่า เหตุการณ์ปีอึลมี (เกาหลี을미사변) หลังจากเหตุการณ์พระเจ้าโคจงและเจ้าชายรัชทายาทเสด็จลี้ภัยยังสถานกงสุลรัสเซียในโซล ทางฝ่ายรัฐบาลญี่ปุ่นมีการตั้งข้อกล่าวหาแก่ราชทูตมิอุระโกโรและผู้ร่วมก่อการทั้งหมด แต่ทว่าทั้งหมดพ้นข้อกล่าวหาเนื่องจากไม่มีหลักฐานยืนยันการกระทำความผิด ต่อมาค.ศ. 1897 พระเจ้าโคจงทรงสถาปนาจักรวรรดิเกาหลี (Korean Empire) และจัดพิธีพระบรมศพให้แก่พระมเหสีมินอย่างสมพระเกียรติ โดยใช้ขบวนแห่พระบรมศพประกอบไปด้วยทหารกว่า 5,000 นาย แม้ว่าพระบรมศพที่หลงเหลืออยู่นั้นจะประกอบไปด้วยเพียงพระดัชนีหนึ่งเท่านั้น หลังสวรรคตไปแล้วพระมเหสีมินได้รับพระนามว่า สมเด็จพระราชินีมย็องซ็อง และต่อมาเมื่อพระเจ้าโคจงทรงปราบดาภิเษกเป็นพระจักรพรรดิควางมู พระมเหสีมย็องซ็องจึงได้รับการเลื่อนขึ้นเป็น สมเด็จพระจักรพรรดินีมย็องซ็องในที่สุด

การจากไปของจักรพรรดินีมย็องซ็องเป็นช่วงที่พระนางมีพระชนมายุ 43 พรรษาเท่านั้น[4]

อ้างอิง

แก้
  1. Queen Min of Korea: Coming to Power http://www.gkn-la.net/history_resources/queen_min_tmsimbirtseva_1996.htm เก็บถาวร 2006-02-17 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  2. http://www.network54.com/Forum/371173/thread/1107606949/last-1107606949/Japanese+Raped+the+Last+Queen+of+Korea+Before+Burning+Her+Alive
  3. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-02-01. สืบค้นเมื่อ 2014-03-14.
  4. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2006-02-17. สืบค้นเมื่อ 2009-12-20.
  • Frederick Arthur Mackenzie, The Tragedy of Korea, (1st 1908, Reprinted 2006) ISBN 1-901903-09-5
  • Frederick Arthur Mackenzie, Korea's Fight for Freedom, (Revised 2006) ISBN 1-4280-1207-9 (See also Project Gutenberg.)
  • Isabella Bird, Korea and her Neighbours (1898, Reprinted 1987 ) ISBN 0-8048-1489-9
  • Martina Dechler, Culture and the State in Late Choson Korea (1999) ISBN 0-674-00774-3
  • Woo-Keun Han, The History of Korea (1996) ISBN 0824803345
  • James Bryant Lewis, Frontier Contact between Choson Korea and Tokugawa Japan (2003) ISBN 0-7007-1301-8
  • Andrew C. Nahm, Introduction to Korean History and Culture (1997) ISBN 0-930878-08-6
  • Andrew C. Nahm, A History of the Korean People: Tradition & Transformation (1996) ISBN 0930878566
  • Hongjong Yu, The Last Empress of the Lost Empire: A Comprehensive Study of Empress Myeongseong Hwanghu (2003)
  • Donald Keene Emperor of Japan: Meiji and His World, 1852-1912 Columbia University Press (2002) ISBN 023112340X
  • Andre Schmid, Korea Between Empires, 1895-1919, Columbia University Press (2002) ISBN 0231125380
  • Peter Duus, The Abacus and the Sword: The Japanese Penetration of Korea, 1895-1910, University of California Press (1998) ISBN 0520213610
  • Han, Young-woo, Empress Myeongseong and Korean Empire (명성황후와 대한제국)(2001). Hyohyeong Publishing ISBN 8986361574

ดูเพิ่ม

แก้

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้
ก่อนหน้า จักรพรรดินีมย็องซ็อง ถัดไป
สมเด็จพระราชินีชอริน   สมเด็จพระราชินีแห่งโชซอน
(20 มีนาคม ค.ศ. 1866 – 8 ตุลาคม ค.ศ. 1895)
  สมเด็จพระจักรพรรดินีซุนจ็อง