ฉีหฺวันกง
ฉีหวนกง (จีน: 齊桓公; พินอิน: Qí Huán Gōng, ฮกเกี้ยน: เจ๋ฮวนก๋ง ; มรณะ 643 ก่อน ค.ศ.) ชื่อตัว เสี่ยวไป๋ (จีน: 小白; พินอิน: Xiǎobái, ฮกเกี้ยน: เสียวแปะ) เป็นเจ้าผู้ปกครองรัฐฉีชั้นกง ตั้งแต่ 685-643 ปี ก่อน ค.ศ. มีชีวิตอยู่ท่ามกลางความวุ่นวายของจีนยุควสันตสารท ซึ่งบรรดารัฐสามนตราชภายใต้การปกครองของราชวงศ์โจวต่างรบราฆ่าฟันกันเพื่อแย่งชิงความเป็นใหญ่เหนือหัวเมืองอื่น ๆ ฉีหวนกงกับก่วนจ้ง ที่ปรึกษาคู่บารมี ได้ทำให้รัฐฉีกลายเป็นข้วอำนาจทางการเมืองที่ทรงพลังมากที่สุดของจีนในยุคนั้น และต่อมาฉีหวนกงก็ได้รับการยอมรับจากหัวเมืองส่วนใหญ่ของราชวงศ์โจวและจากราชสำนักโจวให้อยู่ในฐานะอธิราชแห่งยุค ภายใต้สถานะดังกล่าว เขาได้ปกป้องดินแดนของราชวงศ์โจวจากการรุกรานของบรรดาชนเผ่านอกด่าน และได้พยายามฟื้นฟูระเบียบการปกครองทั่วทั้งแผ่นดินราชวงศ์โจว อย่างไรก็ตาม แม้เขาจะอยู่ในตำแหน่งกงแห่งรัฐฉียาวนานร่วมสี่สิบปี แต่อำนาจของฉีหวนกงก็ได้เริ่มเสื่อมถอยลงทั้งจากปัญหาสุขภาพของตัวฉีหวนกงเองและความวุ่นวายทางการเมืองภายในรัฐฉี เมื่อฉีหวนกงถึงแก่อสัญกรรมในปี 643 ก่อน ค.ศ. รัฐฉีก็สูญเสียอำนาจนำต่อบรรดารัฐสามนตราชของราชวงศ์โจวอย่างสิ้นเชิง
ฉีหวนกง 斉桓公 | |
---|---|
ฉีกง (斉公) | |
ดำรงตำแหน่ง 685 ก่อน ค.ศ. – 643 ก่อน ค.ศ. | |
หัวหน้ารัฐบาล | ก่วน จ้ง กงซุน สีเผิง เป้า ชูหยา |
ก่อนหน้า | กงซุนอู๋จือ |
ถัดไป | กงจื่ออู๋กุ้ย |
ข้อมูลส่วนบุคคล | |
เกิด | 718 ก่อน ค.ศ. |
เสียชีวิต | 8 ตุลาคม 643 ก่อน ค.ศ. |
คู่สมรส |
|
บุตร | |
บุพการี |
|
ญาติ |
|
ปฐมวัยและการเถลิงอำนาจ
แก้ฉีหวนกงเป็นบุตรของฉีซีกง (ฮกเกี้ยน: เจ๋ฮูก๋ง) มีชื่อเดิมว่า กงจื่อเสี่ยวไป๋ (ฮกเกี้ยน: ก๋งจูเสียวแปะ) ได้ศึกษาเล่าเรียนอยู่กับอาจารย์เป้าชูหยา (ฮกเกี้ยน: เปาซกแหย) เขามิได้มีสิทธิในการสืบทอดตำแหน่งฉีกงโดยตรงเพราะเขายังมีพี่ชายที่มีสิทธิอยู่ก่อนหน้าถึง 2 คน คือ กงจื่อจูเอ๋อร์ (ในเลียดก๊กฉบับภาษาไทยเรียกว่า ก๋งจูหยี) พี่ชายคนโต และกงจื่อจิ่ว (ฮกเกี้ยน: ก๋งจูกิว) พี่ชายคนรอง เมื่อฉีซีกงถึงแก่อสัญกรรม กงจื่อจูเอ๋อร์ได้สืบทอดตำแหน่งฉีกงในนาม ฉีเซียงกง แต่สมัยการปกครองของเขานั้นเต็มไปด้วยความร้าวฉานภายในและเรื่องอื้อฉาวต่าง ๆ เป้าชูหยาตระหนักถึงสถานการณ์อันไม่สู้ดีดังกล่าวและเกรงว่าภยันตรายจะมาถึงตัวลูกศิษย์ จึงได้พากงจื่อเสี่ยวไป๋ลี้ภัยไปอยู่ที่รัฐจวี่[1]
ครั้นเมื่อฉีเซียงกงถูกสังหารเมื่อ 686 ปีก่อน ค.ศ. กงซุนอู๋จื่อ (ฮกเกี้ยน: ก๋งจูบอดี) ผู้เป็นญาติ ได้เข้ายึดอำนาจปกครองรัฐฉี แต่ก็ถูกลอบสังหารในอีกหนึ่งเดือนต่อมา ทำให้กงจื่อเสี่ยวไป๋ตัดสินใจเดินทางกลับรัฐฉีเพื่อช่วงชิงสิทธิในการขึ้นเป็นฉีกง เขาต้องทำศึกชิงบัลลังก์กับกงจื่อจิ่วผู้เป็นพี่ชายคนรอง ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากบรรดาขุนนางระดับสูงของรัฐฉี ก่วนจ้ง (ฮกเกี้ยน: กวนต๋ง) ผู้เป็นทั้งอาจารย์และที่ปรึกษาคนสนิท และหลู่จวงกง (ฮกเกี้ยน: ฬ่อจงก๋ง) เจ้าผู้ปกครองรัฐหลู่ (เมืองฬ่อ) ในครั้งนั้นเขาถูกก่วนจ้งลอบยิงธนูใส่หมายเอาชีวิต แต่โชคดีที่ลูกธนูไปถูกหัวเข็มขัด เขาจึงรอดตายมาได้ และได้รีบเดินทัพเข้ายึดอำนาจในเมืองหลวงหลินจือ สถาปนาตนเองขึ้นเป็นฉีกงได้สำเร็จก่อนที่ทัพของกงจื่อจิ่วจะมาถึงเมืองหลินจือเมื่อ 685 ปีก่อน ค.ศ. (ในภายหลังเอกสารทางประวัติศาสตร์ของจีนได้เรียกเป็นสมัญญานามว่า "ฉีหวนกง" โดยคำว่า "หวน" (จีน: 桓; พินอิน: Huán) มีความหมายว่า "เสาหลัก" หรือ "ผู้ทรงอำนาจ")
กองทัพของหลู่จวงกงซึ่งยกมาสนับสนุนกงจื่อจิ่วได้เข้าทำศึกต่อกองทัพของฉีหวนกงทันที แต่ก็ต้องปราชัยต่อกองทัพรัฐฉีในสมรภูมิเฉียนจื้อและต้องล่าทัพกลับไป ส่วนกงจื่อจิ่วกับก่วนจ้งต้องหนีไปพึ่งพิงหลู่จวงกง หลังจากนั้นกองทัพฉีภายใต้การนำของเป้าชูหยาจึงได้ยกทัพไปที่รัฐหลู่ และเสนอให้หลู่จวงกงส่งศีรษะของกงจื่อจิ่วกับก่วนจ้งเพื่อแลกกับการไม่เข้าตีเมืองหลวงของรัฐหลู่ หลู่จวงกงสั่งประหารกงจื่อจิ่วเพื่อรักษาเมืองไว้ แต่ให้จับเป็นก่วนจ้งส่งคืนฉีหวนกง เนื่องด้วยเห็นว่าก่วนจ้งเป็นผู้มีสติปัญญาหลักแหลม ไม่ควรจะตายเปล่าในศึกครั้งนี้[1]
ช่วงเรืองอำนาจ
แก้สั่งสมบารมี
แก้ถึงแม้อำนาจในตำแหน่งฉีกงจะมั่นคงแล้วก็ตาม แต่ฉีหวนกงก็ยังคาใจอยู่ว่าจะจัดการกับก่วนจ้งซึ่งเป็นผู้สนับสนุนพี่ชายที่เป็นคู่แข่งของตนอย่างไรดี เป้าชูหยาจึงเสนอให้ฉีหวนกงมอบตำแหน่งอัครมหาเสนาบดีที่สมุหนายกแก่ก่วนจ้ง และแนะนำให้ละทิ้งความแค้นส่วนตัวกับก่วนจ้งเสีย ด้วยมองเห็นว่าพรสวรรค์ของก่วนจ้งนั้นจะเป็นประโยชน์แก่บ้านเมืองอย่างยิ่ง ฉีหวนกงทำตามคำแนะนำดังกล่าว[1] และต่อมาก่วนจ้งก็ได้กลายเป็นที่ปรึกษาคนสำคัญและมากความสามารถที่สุดของฉีหวนกง ทั้งสองคนช่วยกันปรับปรุงโครงสร้างของรัฐบาลและสังคมรัฐฉี โดยการจัดสรรที่ดินแบ่งให้ราษฎรอยู่รวมกันเป็นสัดส่วนตามหมวดหมู่อาชีพ และนำหลักคุณธรรมนิยมมาใช้ในการพิจารณาความดีความชอบของผู้รับราชการ สิ่งนี้ทำให้รัฐฉีมีความเข้มแข็งขึ้น เพราะหลักการดังกล่าวเอื้ออำนวยให้รัฐฉี "สามารถเคลื่อนย้ายกำลังคนและทรัพยากรสำคัญต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งกว่ารัฐอื่น ๆ ในวัฒนธรรมราชวงศ์โจว ซึ่งเวลานั้นส่วนใหญ่ยังคงมีโครงสร้างรัฐอย่างหลวม ๆ" อนึ่งในเวลานั้นรัฐฉีก็เป็นหน่วยการเมืองที่ทรงพลังในสถานการณ์ด้านยุทธศาสตร์อันเป็นที่พึงประสงค์อยู่แล้ว การปฏิรูปการปกครองดังกล่าวจึงทำให้รัฐฉี "อยู่ในสถานะรัฐชั้นนำในโลกของราชวงศ์โจวอย่างที่ไม่มีรัฐใดเทียบเทียมได้"[2] ทั้งฉีหวนกงและก่วนจ้งต่างก็ทำงานร่วมกันเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่จะทำให้รัฐฉีได้เป็นใหญ่เหนือกว่าหัวเมืองทั้งปวงอันเป็นรัฐสามนตราชของราชวงศ์โจว และเมื่อเวลาผ่านไป ก็ยิ่งมีรัฐต่าง ๆ ยอมอ่อนน้อมส่งบรรณาการแสดงการยอมรับอำนาจของรัฐฉีมากขึ้นเรื่อย ๆ [3]
ขึ้นเป็นอธิราช
แก้ต่อมาฉีหวนกงได้เชิญเจ้าผู้ปกครองรัฐหลู่ (เมืองฬ่อ) รัฐซ่ง (เมืองซอง) รัฐเฉิน (เมืองติน) และรัฐเจิ้ง (เมืองเตง) เข้าร่วมการประชุมครั้งหนึ่งเมื่อ 667 ปีก่อน ค.ศ. ที่ประชุมดังกล่าวได้เลือกให้ฉีหวนกงขึ้นเป็นผู้นำบรรดารัฐสามนตรราชต่าง ๆ ครั้นเมื่อพระเจ้าโจวฮุ่ยหวาง (ฮกเกี้ยน: จิวอุยอ๋อง) ทรงทราบเรื่องดังกล่าวแล้ว จึงได้พระราชทานตำแหน่ง "เจ้าอธิราช" ให้แก่ฉีหวนกงเป็นคนแรก มีฐานะเจ้าเมืองชั้นเอกเป็นใหญ่ยิ่งกว่าหัวเมืองทั้งปวงที่อยู่ภายใต้อำนาจราชวงศ์โจว และมีอาญาสิทธิ์ในการเคลื่อนกองทหารในนามราชสำนักโจว ทั้งฉีกวนกงและก่วนจ้งล้วนมองว่าตำแหน่งเจ้าอธิราชมิใช่เป็นเพียงตำแหน่งทางการทหาร แต่ยังเป็นเครื่องมือที่ควรใช้เพื่อ "ฟื้นฟูอาญาสิทธิ์แห่งโอรสสวรรค์" หรือหากจะมองในแง่การปฏิบัติจริง ก็คือเป็นเครื่องมือฟื้นฟูความมั่นคงภายในดินแดนของราชวงศ์โจวภายใต้การนำของรัฐฉีนั่นเอง[4]
ด้วยเหตุฉะนี้ ฉีหวนกงจึงได้เข้าแทรกแซงในการต่าง ๆ อันเกี่ยวเนื่องด้วยบรรดารัฐสามนตราชภายใต้อำนาจของราชวงศ์โจว ทั้งในพระนามของพระเจ้าโจวฮุ่ยหวางและฐานะส่วนตัวซึ่งดำรงความเป็นเจ้าอธิราช การแทรกแซงดังกล่าวได้รวมไปถึงการยกทัพไปลงโทษรัฐเหว่ย (เมืองโอย) เมื่อ 671 ปีก่อน ค.ศ. เพราะรัฐเหว่ยได้ดูหมิ่นพระเกียรติของพระเจ้าโจวฮุ่ยหวาง เช่นเดียวกับการเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องในการช่วงชิงอำนาจภายในรัฐหลู่เพื่อสถาปนาอำนาจนำของรัฐฉีให้มีความมั่นคง[4] สิ่งหนึ่งที่เป็นข้อกังวลอย่างใหญ่หลวงของฉีหวนกงคือภัยคุกคามจากอำนาจภายนอก (ซึ่งถูกเรียกในเชิงลบว่า "ชนป่าเถื่อนสี่เผ่า") ที่มีต่อบรรดารัฐหัวเมืองของราชวงศ์โจว ซึ่งเขาได้ทำการเคลื่อนกำลังทหารเพื่อปรามปราม "ชนป่าเถื่อน" เหล่านั้นหลายครั้งตามคำขวัญ "ซุนหวางหรั่งอี๋" (尊王攘夷 หรือ 尊皇攘夷 zūnwáng rǎngyí) อันมีความหมายว่า "เทิดทูนจอมกษัตริย์ ขจัดคนเถื่อน" ข้อสำคัญอย่างยิ่ง คือ เขาได้ช่วยปกป้องรัฐเยียน (เมืองเอี๋ยน) รัฐซิ่ง และรัฐเหว่ย จากภัยคุกคามจากชนเผ่านอกด่านซึ่งไม่ได้ยอมรับอำนาจของราชวงศ์โจว และเขายังได้พยายามยับยั้งการขยายอำนาจของรัฐฉู่ (เมืองฌ้อ) ในดินแดนฝ่ายใต้ โดยเมื่อ 656 ปีก่อน ค.ศ. ฉีหวนกงได้นำทัพพันธมิตรแปดหัวเมืองทำการปราบปรามรัฐไช่ (เมืองชัว) ซึ่งเป็นรัฐบริวารของรัฐฉู่และประสบชัยชนะ กองทัพพันธมิตรได้รุกคืบเข้าคุกคามรัฐฉู่และบีบให้รัฐฉู่ทำสัญญาสงบศึก โดยรัฐฉู่ยอมหยุดขยายอำนาจขึ้นสู่ทิศเหนือ[5] และตกลงยอมเข้าร่วมประชุมภาคบังคับของบรรดารัฐสามนตราชต่าง ๆ ที่ตำบลเส้าหลิง การประชุมครั้งนี้ได้ถือเป็นแบบอย่างของการประชุมรัฐสามนตราชของราชวงศ์โจวในครั้งต่อ ๆ มา[6]
ในเวลาหลายปีหลังจากนั้น ฉีกวนกงได้จัดให้มีการประชุมรัฐสามนตราชเช่นนี้ขึ้นอีกหลายครั้งภายใต้การสนับสนุนของราชสำนักโจว ประเด็นการอภิปรายในที่ประชุมดังกล่าวมีตั้งแต่เรื่องการทหาร เรื่องเศรษฐกิจ ตลอดจนถึงกิจการทั่วไปที่เกี่ยวข้องกับการปกครองและข้อกฎหมาย โดยรวมแล้วเจ้าผู้ปกครองรัฐฉีได้จัดการให้เกิดเสถียรภาพต่อราชวงศ์โจวอันบอบบางและร้าวฉานได้ระดับหนึ่ง สวี โจวอฺวิ๋น (จีนตัวย่อ: 许倬云; จีนตัวเต็ม: 許倬雲; พินอิน: Xǔ Zhuōyún) นักประวัติศาสตร์ชาวจีน ได้สรุปว่า ฉีหวนกง "ใช้อำนาจนำในฐานะ "เจ้าอธิราช" เพื่อจัดระเบียบใหม่ในสังคมระหว่างรัฐต่าง ๆ เพื่อให้ยอมรับอำนาจความคุ้มครองด้วยฉันทามติมากกว่าการใช้อำนาจอาชญาสิทธิ์"[7]
การเสื่อมอำนาจและอสัญกรรม
แก้หลังจากอยู่ในตำแหน่งกงมายาวนานร่วม 40 ปี อำนาจของฉีหวนกงก็เริ่มเสื่อมถอย ความพยายามของเขาในการยับยั้งการขยายอำนาจของรัฐฉู่ประสบความล้มเหลว เนื่องจากรัฐฉู่ได้เปลี่ยนทิศทางการขยายอำนาจจากเดิมที่มุ่งมาทางทิศเหนือไปสู่ทิศตะวันออกแทน โดยรัฐฉู่สามารถยึดครองหรือรุกรานดินแดนของรัฐที่เป็นพันธมิตรกับรัฐฉีได้หลายแห่งตามแนวแม่น้ำหวยเหอ กองทัพพันธมิตรต่อต้านรัฐฉู่ครั้งสุดท้ายภายใต้การนำของฉีหวนกงล้มเหลวในการยับยั้งสถานการณ์รุกคืบดังกล่าว ทั้งยังต้องประสบความพ่ายแพ้ต่อรัฐฉู่ในสมรภูมิโหลวหลินเมื่อ 645 ปีก่อน ค.ศ.[8][9][10] ซ้ำร้ายอัครมหาเสนาบดีก่วนจ้งก็ถึงแก่กรรมในปีเดียวกันนั้น ทำให้ฉีกงต้องขาดที่ปรึกษาคนสำคัญในการบริหารงาน และด้วยสุขภาพที่ทรุดโทรมลง ทำให้ฉีหวนกงด้อยความสำคัญในสายตาของผู้นำรัฐอื่นลงไปเรื่อย ๆ แม้อำนาจการปกครองเหนือรัฐฉีของเขาก็เริ่มสั่นคลอน เมื่อกลุ่มการเมืองต่าง ๆ เริ่มจับขั้วเพื่อแย่งชิงอำนาจภายในรัฐ[11][12]
การจับกลุ่มทางการเมืองเกิดขึ้นระหว่างขุนนางระดับสูงกับบุตรชายของฉีหวนกงทั้งหกคน ซึ่งล้วนแต่เป็นบุตรที่เกิดจากอนุภรรยา ประกอบด้วย
- กงจื่ออู๋กุ้ย (ฮกเกี้ยน: ก๋งจูบอคุย)
- กงจื่อหยวน (ฮกเกี้ยน: ก๋งจูหงวน)
- กงจื่อจาว (ฮกเกี้ยน:ก๋งจูเจียว)
- กงจื่อพาน (ฮกเกี้ยน: ก๋งจูผวน)
- กงจื่อซางเหริน (ฮกเกี้ยน: ก๋งจูเซียนหยิน)
- กงจื่อยง (ฮกเกี้ยน: ก๋งจูหยง)
สาเหตุเป็นเพราะภรรยาเอกทั้งสามคนของฉีหวนกงล้วนไม่มีบุตรชาย ส่งผลให้บรรดาบุตรอนุภรรยาทั้งหกนั้นต่างก็มีสิทธิ์ที่จะได้สืบทอดตำแหน่งกงทั้งสิ้น ถึงแม้ฉีหวนกงจะตั้งให้กงจื่อจาวซึ่งเป็นบุตรคนที่สามขึ้นเป็นไท่จื่อ (บุตรผู้สืบทอดตำแหน่ง หรือรัชทายาท) และขอให้ซ่งเซียงกง (ฮกเกี้ยน: ซองเซียงก๋ง) แห่งรัฐซ่งช่วยรับรองว่าจะส่งเสริมให้ไท่จื่อจาวได้สืบทอดรัฐฉีต่อจากตนเองไว้แล้วก็ตาม แต่นั่นก็ไม่อาจห้ามมิให้กงจื่อทั้งห้าคนที่เหลือคิดวางแผนช่วงชิงอำนาจมาเป็นของตนเองได้เลย[13][11][10]
ข้อมูลในเอกสารกวนจื่อได้ระบุว่า ฉีหวนกงมีขุนนางคนสนิทผู้ทรงอิทธิพลในรัฐฉีถึง 4 คน ได้แก่ ถังอู่ โหราพฤฒาจารย์ประจำสำนักฉีกง, อี้หยา (易牙, ฮกเกี้ยน: เอ็ดแหย) หัวหน้าฝ่ายวิเสท (คนครัว), ซู่เตียว (豎刁, ฮกเกี้ยน: ซูเตียว) หัวหน้าขันที, และไค่ฟาง (開方, ฮกเกี้ยน: ไคหอง) หัวหน้ามหาดเล็กชาวรัฐเหว่ย ก่วนจ้งได้แนะนำฉีหวนกงไว้ก่อนจะเสียชีวิตไม่นานนักว่า คนเหล่านี้จะเป็นผู้ก่อความเดือดร้อนให้กับรัฐฉีในวันหน้า ควรขับไล่ทั้งสี่คนออกไปเสีย ฉีหวนกงทำตามคำสั่งเสียของก่วนจ้งได้ระยะหนึ่ง แต่เมื่อทนระลึกถึงผลงานการรับใช้ของขุนนางเหล่านั้นมิได้ เขาจึงเรียกตัวทั้งสี่คนกลับมาทำงานอีกครั้ง ขุนนางทั้งสี่จึงสมคบคิดกันวางแผนชิงอำนาจ โดยจับฉีหวนกงกักบริเวณและก่อกำแพงสูงใหญ่บังตำหนักของฉีหวนกงไว้ ปล่อยให้ฉีหวนกงอดอาหารในที่นั้นจนกว่าจะสิ้นชีวิต[14][15] แหล่งข้อมูลอื่นที่สำคัญเกี่ยวกับเหตุการณ์นี้ เช่น เอกสารจว่อจ้วน[10] และ ฉื่อจี้ ไม่ได้กล่าวถึงเหตุสังหารฉีหวนกงดังที่กล่าวมา[12]
ฉีหวนกงถึงแก่อสัญกรรมในที่สุดเมื่อ 643 ปีก่อน ค.ศ. หลังจากนั้นเมืองหลวงหลินจือก็ได้เกิดสถานการณ์รุนแรงขึ้นแทบจะทันที บุตรชายของฉีหวนกงทั้งหกภายใต้การสนับสนุนของขุนนางข้าราชการกลุ่มต่าง ๆ ได้จับอาวุธประหัตประหารกันเพื่อช่วงชิงสิทธิในการขึ้นเป็นฉีกง[10][16] ท่ามกลางเหตุวุ่นวายนี้ ศพของฉีหวนกงยังคงไม่ได้รับการกลบฝังตามธรรมเนียม และถูกทิ้งไว้อยู่ในห้องนอนที่ฉีหวนกงสิ้นชีวิตเป็นระยะเวลานานตั้งแต่ 7 วันถึงสามเดือน เมื่อถึงคราวนำศพของฉีหวนกงไปทำพิธีฝังในภายหลัง ร่างของเขาก็อยู่ในสภาพเน่าเปื่อยไปแล้ว[a] การที่บรรดาบุตรของฉีหวนกงต่อสู้แย่งชิงตำแหน่งผู้สืบทอดกันเอง ทำให้รัฐฉีอ่อนแอลงอย่างหนักและสูญเสียสถานะนำเหนือบรรดารัฐจีนโบราณ ถึงแม้กงจื่อจาว ซึ่งต่อมาได้เป็นฉีเซี่ยวกง (ฮกเกี้ยน: เจ๋เฮาก๋ง) จะพยายามฟื้นฟูความรุ่งเรืองที่สืบทอดมาจากบิดาขึ้นมาใหม่ก็ตาม แต่ก็ไม่สำเร็จ และจิ้นเหวินกง (ฮกเกี้ยน: จิ้นบุนก๋ง) แห่งรัฐจิ้นก็ได้กลายเป็นอธิราชคนใหม่แห่งยุคแทน[10][19]
ครอบครัว
แก้ภรรยา:
- เจ้าหญิงหวางจี (ฮกเกี้ยน: องกี) จากราชสกุลจีแห่งราชวงศ์โจว (王姬 姬姓)
- นางสวีอิง จากสกุลอิงแห่งรัฐสวี (徐嬴 嬴姓) (ฮกเกี้ยน: ฮอกี 徐姫)
- นางไช่จี (ฮกเกี้ยน: ชัวกี) จากสกุลจีแห่งรัฐไช่ (蔡姬 姬姓)
อนุภรรยา:
- นางเหว่ยกงจี จากสกุลจีแห่งรัฐเหว่ย (衛共姬 姬姓) มารดาของกงจื่ออู๋กุ้ย (ในเลียดก๊กฉบับภาษาไทยเรียกว่า นางเตียวฮวยกี)
- นางเส้าเหว่ยจี (ฮกเกี้ยน: เซียวฮวยกี) จากสกุลจีแห่งรัฐเหว่ย (少衛姬 姬姓) มารดาของกงจื่อหยวน
- นางเจิ้งจี (ฮกเกี้ยน: เตงกี) จากสกุลจีแห่งรัฐเจิ้ง (鄭姬 姬姓) มารดาของไท่จื่อจาว
- นางเก้ออิง (ฮกเกี้ยน: กัวเอ๋ง) จากสกุลอิงแห่งเมืองเก้อ (葛嬴 嬴姓) มารดาของกงจื่อพาน
- นางมี่จี (ฮกเกี้ยน: เจงกี) จากสกุลจีแห่งเมืองมี่ (密姬 姬姓) มารดาของกงจื่อซางเหริน
- นางซ่งฮวาจื่อ (ฮกเกี้ยน: ซองฮัวสี) จากสกุลจื่อแห่งรัฐซ่ง (宋華子 子姓) มารดาของกงจื่อยง
บุตร:
- กงจื่ออู๋กุ้ย (公子無虧, ฮกเกี้ยน: ก๋งจูบอคุย; มรณะ 642 BC) ครองตำแหน่งฉีกงเมื่อ 642 ก่อน ค.ศ.
- กงจื่อหยวน (公子元, ฮกเกี้ยน: ก๋งจูหงวน; มรณะ 599 BC) ครองตำแหน่งฉีกงเมื่อ 608–599 ก่อน ค.ศ. ในชื่อ ฉีฮุ่ยกง (ฮกเกี้ยน: เจ๋ฮุยก๋ง)
- กงจื่อจาว (公子昭, ฮกเกี้ยน: ก๋งจูเจียว; มรณะ 633 BC) ฉีหวนกงแต่งตั้งให้เป็นไท่จื่อจาว (太子昭) ครองตำแหน่งฉีกงเมื่อ 641–633 ก่อน ค.ศ. ในชื่อ ฉีเซี่ยวกง (ฮกเกี้ยน: เจ๋เฮาก๋ง)
- กงจื่อพาน (公子潘, ฮกเกี้ยน: ก๋งจูผวน; มรณะ 613 BC) ครองตำแหน่งฉีกงเมื่อ 632–613 ก่อน ค.ศ. ในชื่อ ฉีจาวกง (ฮกเกี้ยน: เจ๋เจี๋ยวก๋ง)
- กงจื่อซางเหริน (公子商人, ฮกเกี้ยน: ก๋งจูเซียนหยิน; มรณะ 609 BC) ครองตำแหน่งฉีกงเมื่อ612–609 ก่อน ค.ศ. ในชื่อ ฉีอี้กง (ฮกเกี้ยน: เจ๋อีก๋ง)
- กงจื่อยง (公子雍, ฮกเกี้ยน: ก๋งจูหยง)
- ได้รับดินแดนศักดินาเมืองกู้ (谷) เมื่อ 634 ก่อน ค.ศ.
- บุตรคนอื่น ๆ อีก 7 คน ซึ่งรับราชการเป็นราชครู (大夫 ต้าฝู) อยู่ที่รัฐฉู่
ธิดา:
- นางฉีเจียง (齊姜 ฮกเกี้ยน: เจ๋เกียง)
- สมรสกับจิ้นอู่กง (มรณะ 677 ก่อน ค.ศ.)
- สมรสกับ จิ้นเสี้ยนกง (มรณะ 651 ก่อน ค.ศ.) และมีบุตรธิดาด้วยกัน (ไท่จื่อเชินเชิง, นางมู่จี (ภรรยาของฉินมู่กง และมารดาของฉินคังกง) )
พงศาวลี
แก้ฉีเหวินกง (มรณะ 804 ก่อน ค.ศ.) | |||||||||||||||||||
ฉีเฉิงกง (มรณะ 795 ก่อน ค.ศ.) | |||||||||||||||||||
ฉีเฉียนจวงกง (มรณะ 731 ก่อน ค.ศ.) | |||||||||||||||||||
ฉีซีกง (มรณะ 698 ก่อน ค.ศ.) | |||||||||||||||||||
ฉีหวนกง (มรณะ 643 ก่อน ค.ศ.) | |||||||||||||||||||
นางเหว่ยจีแห่งรัฐเหว่ย | |||||||||||||||||||
อ้างอิง
แก้- ↑ 1.0 1.1 1.2 Zuo Qiuming. "Book 3. Duke Zhuang". Zuo Zhuan (ภาษาจีน และ อังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 10 October 2017.
- ↑ Cho-yun Hsu (1999), pp. 553, 554.
- ↑ Cho-yun Hsu (1999), pp. 553–555.
- ↑ 4.0 4.1 Cho-yun Hsu (1999), p. 555.
- ↑ Cook; Major (1999), p. 15.
- ↑ Cho-yun Hsu (1999), pp. 555, 556.
- ↑ Cho-yun Hsu (1999), pp. 556, 557.
- ↑ Cook; Major (1999), pp. 15, 16.
- ↑ Zuo Qiuming (2015), p. 98.
- ↑ 10.0 10.1 10.2 10.3 10.4 10.5 Zuo Qiuming. "Book 5. Duke Xi". Zuo Zhuan (ภาษาจีน และ อังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 27 August 2017.
- ↑ 11.0 11.1 Cho-yun Hsu (1999), p. 557.
- ↑ 12.0 12.1 Sima Qian (2006), pp. 80, 81.
- ↑ Sima Qian (2006), pp. 79–81.
- ↑ Rickett (2001), pp. 387, 388, 431, 432.
- ↑ Sima Qian (2006), p. 80.
- ↑ 16.0 16.1 Rickett (2001), p. 388.
- ↑ Rickett (2001), p. 432.
- ↑ 18.0 18.1 Sima Qian (2006), p. 81.
- ↑ Cho-yun Hsu (1999), p. 558.
หมายเหตุ
แก้- ↑ เอกสารกวนจื่อกล่าวอ้างว่าร่างของฉีหวนกงถูทิ้งไว้อย่างนั้นราว 7 วัน[16] หรือ 11 วัน[17] แต่ทั้งเอกสารจว่อจ้วนและฉื่อจี้รายงานไว้ว่า 67 วัน[18][10] ส่วนเอกสารหานเฟยจื่อบันทึกไว้ว่านานสามเดือน ไม่ว่าตัวเลขใดจะเป็นข้อมูลที่ถูกต้องก็ตาม นักประวัติศาสตร์ได้ตั้งข้อสังเกตไว้ว่าธรรมเนียมในการเตรียมพิธีฝังศพนั้นต้องดำเนินการในเวลากลางวัน อย่างไรก็ตาม ในกรณีของฉีหวนกงนั้น พิธีเตรียมการฝังศพได้มีขึ้นในตอนกลางคืน ซึ่ง "ชี้ชัดว่าเป็นสถานการณ์ที่ผิดปกติอย่างยิ่ง"[18]
บรรณานุกรม
แก้- Cho-yun Hsu (1999). "The Spring and Autumn Period". ใน Michael Loewe; Edward L. Shaughnessy (บ.ก.). The Cambridge History of ancient China – From the Origins of Civilization to 221 B.C. Cambridge: Cambridge University Press. pp. 545–586. ISBN 978-0521470308.
- Cook, Constance A.; Major, John S. (1999). Defining Chu: Image And Reality In Ancient China. Honolulu: University of Hawaii Press. ISBN 0-8248-2905-0.
- Rickett, W. Allyn (2001). Guanzi: Political, Economic, and Philosophical Essays from Early China. Boston: Cheng & Tsui Company. ISBN 0-88727-324-6.
- Sima Qian (2006). William H. Nienhauser, Jr. (บ.ก.). The Grand Scribe's Records: The Hereditary Houses of Pre-Han China, Part 1. Bloomington, Indiana: Indiana University Press. ISBN 0-253-34025-X.
- Zuo Qiuming (2015). Harry Miller (บ.ก.). The Gongyang Commentary on The Spring and Autumn Annals: A Full Translation. New York City: Palgrave Macmillan. ISBN 978-1137497635.