สมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาในฝรั่งเศส

สมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาฝรั่งเศส (อังกฤษ: French Renaissance) หมายถึงการเคลื่อนไหวทางวัฒนธรรมและศิลปะ ระหว่างปลายคริสต์ศตวรรษที่ 15 จนถึง ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 17 ที่เป็นส่วนหนึ่งของสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาของยุโรป ที่นักประวัติศาสตร์เชื่อกันว่าเริ่มต้นขึ้นในอิตาลีในคริสต์ศตวรรษที่ 14 สมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาของฝรั่งเศสตามปกติแล้วถือว่าเริ่มขึ้น ตั้งแต่การรุกรานของฝรั่งเศสเข้าไปในอิตาลีในปี ค.ศ. 1494 ในรัชสมัยของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 8 จนกระทั่งเมื่อพระเจ้าอองรีที่ 4 เสด็จสวรรคตในปี ค.ศ. 1610 ช่วงที่ว่านี้ไม่รวมการพัฒนาทางเทคโนโลยี, ศิลปะ และวรรณกรรมที่เกี่ยวข้องกับสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาอิตาลีที่เข้ามาในฝรั่งเศสก่อนหน้านั้น (เช่นโดยทางสำนักดยุคแห่งเบอร์กันดี หรือโดยทางราชสำนักพระสันตะปาปาอาวินยอง) กาฬโรคที่ระบาดในยุโรปในคริสต์ศตวรรษที่ 14 และสงครามร้อยปีทำให้สถานภาพทางการเมืองและทางเศรษฐกิจของฝรั่งเศสอยู่ในสภาพที่อ่อนแอมาจนกระทั่งมาถึงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 15 ซึ่งทำให้เป็นอุปสรรคต่อการการรับอิทธิพลต่างๆ ของสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาได้อย่างเต็มที่

รัชสมัยของพระเจ้าฟรองซัวส์ที่ 1 (ระหว่าง ค.ศ. 1515 ถึง ค.ศ. 1547) และพระราชโอรสพระเจ้าอองรีที่ 2 (ระหว่าง ค.ศ. 1547 ถึง ค.ศ. 1559) โดยทั่วไปถือว่าเป็นจุดสุดยอดของสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาของฝรั่งเศส หลังจากการเสด็จสวรรคตของพระเจ้าอองรีที่ 2 จากอุบัติเหตุในการประลองทวนบนหลังม้าแล้ว ฝรั่งเศสก็ปกครองโดยพระอัครมเหสีหม้ายแคทเธอรีน เดอ เมดิชิ และพระราชโอรสพระเจ้าฟรองซัวส์ที่ 2, พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 9 และต่อมา พระเจ้าอองรีที่ 3 แม้ว่าในช่วงนั้นขบวนการทางฟื้นฟูศิลปวิทยายังคงดำเนินต่อไป แต่ในขณะเดียวกันสงครามศาสนาของฝรั่งเศสระหว่างอูเกอโนต์และโรมันคาทอลิกก็ผลาญประเทศไปด้วยในขณะเดียวกัน

สิ่งสำคัญที่เกิดขึ้นในสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาของฝรั่งเศสก็รวมทั้งการเริ่มการปกครองระบอบอัตตาธิปไตย, การเผยแพร่ลัทธิมนุษยนิยม; การเริ่มต้นยุคแห่งการสำรวจโลกใหม่ (เช่นโดยจิโอวานนิ ดา แวร์รัซซาโน (Giovanni da Verrazzano) และ ฌาคส์ คาร์ติเยร์ ); การนำเข้า (จากอิตาลี, เบอร์กันดี และอื่นๆ) และการพัฒนาทางเทคนิคและศิลปะในสาขาการพิมพ์, สถาปัตยกรรม, ประติมากรรม, จิตรกรรม, ดนตรี, วิทยาศาสตร์, และ วรรณกรรม และการสร้างกฎเกณฑ์อันซับซ้อนเกี่ยวกับพฤติกรรมในสังคม

ศิลปะในสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาของฝรั่งเศส

แก้

ยุคทอง

แก้
 
"พระแม่มารีและพระบุตร" โดย ฌอง โฟเคท์ ราว ค.ศ. 1452-1455

ในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 15 การรุกรานของฝรั่งเศสเข้าไปในอิตาลี และการที่ฝรั่งเศสอยู่ไม่ไกล จากสำนักดยุคแห่งเบอร์กันดีอันรุ่งเรืองนัก (ที่เกี่ยวข้องกับฟลานเดอร์ส) ทำให้ฝรั่งเศสได้มีโอกาสประสบกับสินค้า, จิตรกรรม และ วิญญาณของการสร้างสรรค์สมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาตอนเหนือ และ สมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาอิตาลี และความเปลี่ยนแปลงทางด้านศิลปะในระยะแรกในฝรั่งเศสก็มักจะมาจากจิตรกรอิตาลีและเฟล็มมิชเช่นฌอง คลูเอต์ (Jean Clouet) และบุตรชายฟรองซัวส์ คลูเอต์ (François Clouet) และจิตรกรอิตาลีรอซโซ ฟิโอเรนติโน, (Rosso Fiorentino), ฟรันเชสโก ปรีมาติชโช (Francesco Primaticcio) และ นิโคโล เดลาบาเต (Niccolò dell'Abbate) ของตระกูลการเขียนที่เรียกกันอย่างไม่เป็นทางการว่าตระกูลการเขียนฟงแตงโบลที่เริ่มขึ้นใน ค.ศ. 1531) เลโอนาร์โด ดา วินชีเองก็ได้รับเชิญมาพักในฝรั่งเศสโดยพระเจ้าฟรองซัวส์ที่ 1 แต่นอกไปจากภาพเขียนที่นำติดตัวมาแล้ว ดา วินชีก็มิได้สร้างงานที่เป็นชิ้นเป็นอันให้แก่ราชสำนักฝรั่งเศสแต่อย่างใด

ศิลปะในยุคนี้ที่เริ่มตั้งแต่รัชสมัยของพระเจ้าฟรองซัวส์ที่ 1 จนถึงรัชสมัยของพระเจ้าอองรีที่ 4 เป็นศิลปะที่มีอิทธิพลจากขบวนการพัฒนาจักษุศิลป์และประติมากรรมของอิตาลีตอนปลายเป็นอันมาก ในช่วงที่เรียกว่าแมนเนอริสม์ (ที่เกี่ยวข้องกับงานของไมเคิล แอนเจโล และ พาร์มิจานิโน และผู้อื่น) ที่เห็นได้ลักษณะของตัวแบบที่มีสัดส่วนที่ยาวและสง่าขึ้น และการเพิ่มการใช้วาทศาสตร์ทางจักษุ (visual rhetoric) หรือการสื่อความหมายทางตาที่รวมทั้งการใช้อุปมานิทัศน์ และ ตำนานเทพ

ในช่วงนี้ก็มีศิลปินหลายคนที่มีความสามารถที่รวมทั้งจิตรกรฌอง โฟเคท์แห่งตูร์ ผู้มีชื่อเสียงในการเขียนภาพสำหรับหนังสือวิจิตรได้อย่างงดงาม และประติมากรฌอง กูฌง (Jean Goujon) และ แชร์แมง ปิลง (Germain Pilon)

แต่สิ่งที่แสดงให้เห็นถึงความรุ่งเรืองของสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาของฝรั่งเศสก็ได้แก่การสร้างวังแห่งลุ่มแม่น้ำลัวร์ ที่มิได้มีลักษณะเป็นมิได้ป็นการสร้างปราสาทเพื่อการป้องกันข้าศึกอีกต่อไป แต่เป็นการสร้างสำหรับเป็นที่อยู่อาศัยเพื่อความสำราญของผู้เป็นเจ้าของ โดยใช้ภูมิทัศน์อันน่าชมของบริเวณลุ่มแม่น้ำลัวร์เป็นฉากหลังในการแสดงความสามารถทางสถาปัตยกรรม

ปราสาทลูฟร์เก่าในปารีสก็ได้รับการก่อสร้างใหม่ภายใต้การนำของปิแยร์ เลส์โคต์ (Pierre Lescot) ที่กลายมาเป็นลักษณะหลักของสถาปัตยกรรมของ "château" หรือ พระราชวังของสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาของฝรั่งเศสที่สร้างต่อมา ทางตะวันตกของลูฟร์แคทเธอรีน เดอ เมดิชิก็ทรงสร้างพระราชวังที่ Tuileries ที่ประกอบด้วยสวนภูมิทัศน์ขนาดใหญ่ และ ถ้ำตกแต่ง (grotto)

แต่สงครามศาสนาของฝรั่งเศสซึ่งเป็นสงครามกลางเมืองที่เนิ่นนานถึงสามสิบปีเป็นสิ่งที่ถ่วงและหมางความเจริญทางการสร้างงานศิลปะออกไปจากวงของการสร้างเพื่อศาสนาและการโฆษณาชวนเชื่อทางการเมือง

ปลายแมนเนอริสม์และต้นบาโรก

แก้

การขึ้นครองราชย์ของพระเจ้าอองรีที่ 4 นำมาสู่การพัฒนาเมืองขนานใหญ่ในปารีสปารีสที่รวมทั้งการสร้างสะพานปงต์นูฟ (Pont Neuf), จตุรัสโวสหรือ "Place Royale" (จตุรัสหลวง), จตุรัสโดแฟง และการต่อเติมพระราชวังลูฟร์

นอกจากนั้นแล้วพระเจ้าอองรีที่ 4 ก็ทรงเชิญศิลปินเช่น ทูส์แซงต์ ดูบรุยล์ (Toussaint Dubreuil) , มาร์แตง เฟรมิเนต์ (Martin Fréminet) และ อองบรัวส์ ดูบัวส์ (Ambroise Dubois) ให้มาสร้างพระราชวังฟงแตงโบล ที่เรียกว่าตระกูลการเขียนฟงแตงโบลที่สอง

มารี เดอ เมดิชิสมเด็จพระราชินีในพระเจ้าอองรีที่ 4 ทรงเชิญจิตรกรเฟล็มมิชปีเตอร์ พอล รูเบนส์มายังฝรั่งเศสเพื่อเขียน "ภาพชุดพระราชินีมารี เดอ เมดิชิ" ซึ่งเป็นภาพขนาดใหญ่จำนวนยี่สิบสี่ภาพที่บรรยายชีวประวัติของพระองค์ เพื่อใช้ตกแต่งพระราชวังลักเซมเบิร์กในกรุงปารีส จิตรกรเฟล็มมิชอีกคนหนึ่งที่ได้มาทำงานในราชสำนักคือฟรันส์ โพร์บัสผู้เยาว์ (Frans Pourbus the younger)

นอกราชอาณาจักรฝรั่งเศสในขณะนั้น เช่นใน[[อาณาจักรดยุคแห่งลอร์แรน ]]ก็จะเป็นงานของปลายสมัยแมนเนอริสม์ที่แตกต่างออกไปเช่นที่พบในงานของฌาคส์ เบลลัญจ์ (Jacques Bellange), โคลด เดอรูเอต์ (Claude Deruet) และ ฌาคส์ คาลโลต์ (Jacques Callot) ศิลปินลอร์แรนขณะนั้นไม่มีการติดต่อกับศิลปินฝรั่งเศสซึ่งทำให้การพัฒนาแตกต่างออกไปที่มีลักษณะที่แรงกว่าของฝรั่งเศส และมักจะออกไปทางยั่วยวนอารมณ์ (erotic mannerism) ที่รวมทั้งการเขียนภาพที่เป็นยามกลางคืน หรือ การฝันร้าย นอกจากนั้นก็เป็นช่างผู้มีฝีมือในทางงานแกะ

วรรณกรรมของสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาของฝรั่งเศส

แก้

ดนตรีของสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาของฝรั่งเศส

แก้
 
จิลส์ แบงชัวส์ขวา และ กิโยม ดูเฟย์ซ้าย

อาณาจักรดยุคแห่งเบอร์กันดีซึ่งเป็นภูมิภาคที่พูดภาษาฝรั่งเศสที่ติดกับทางทางตะวันออกฝรั่งเศสเป็นศูนย์กลางทางการดนตรีของยุโรปในตอนต้นและตอนกลางของคริสต์ศตวรรษที่ 15 นักดนตรีผู้มีชื่อเสียงหลายคนของยุโรปถ้าไม่มาจากเบอร์กันดีก็เดินทางไปศึกษาจากคีตกวีที่นั่น นอกจากนั้นก็ยังมีการแลกเปลี่ยนทางการดนตรีระหว่างสำนักเบอร์กันดีและราชสำนักฝรั่งเศสและสถาบันศาสนากันอย่างสม่ำเสมอในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 15 ดนตรีตระกูลเบอร์กันดีเป็นบ่อเกิดของดนตรีแบบ ดนตรีหลายเสียง (polyphony) ของดนตรีตระกูลฝรั่งเศส-เฟล็มมิชที่มีอิทธิพลต่อดนตรีของยุโรปมาจนถึงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 15 ลักษณะของดนตรีของฝรั่งเศสในช่วงนี้เป็นลักษณะที่บ่งถึงเอกลักษณ์ดนตรีของราชสำนัก และดนตรีของสถาบันคริสเตียนสำคัญๆ ส่วนใหญ่แล้วคีตกวีฝรั่งเศสจะไม่นิยมลักษณะที่ราบเรีย บ (sombre) ของดนตรีตระกูลฝรั่งเศส-เฟล็มมิช และ พยายามสร้างความชัดเจนในด้านโครงสร้างของดนตรี และในดนตรีที่ไม่เกี่ยวกับศาสนาเช่นเพลงขับ ก็จะสร้างความเบา, การทำให้ร้องได้ง่าย (singability) และ การทำให้เป็นที่นิยมกันโดยทั่วไป กิโยม ดูเฟย์ (Guillaume Dufay) และ จิลส์ แบงชัวส์ (Gilles Binchois) เป็นตัวอย่างของนักดนตรีคนสำคัญสองคนของตระกูลเบอร์กันดีของสมัยต้นสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยา

คีตกวีผู้มีชื่อเสียงไปทั่วยุโรป ฌอชแคง เดส์ เปรซ์ (Josquin Des Prez) เป็นนักดนตรีประจำราชสำนักของพระเจ้าหลุยส์ที่ 12อยู่ชั่วระยะหนึ่ง และอาจจะเป็นผู้เขียนงานชิ้นสำคัญๆ บางชิ้นขึ้นที่นั่น (เช่นงาน เพลงสดุดี 129, De profundis ที่อาจจะเขียนสำหรับงานพระบรมศพของพระเจ้าหลุยส์ในปี ค.ศ. 1515) พระเจ้าฟรองซัวส์ที่ 1 ผู้เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ฝรั่งเศสทรงให้ความสำคัญในการสร้างดนตรีอันหรูหราเป็นสิ่งแรก และทรงนำนักดนตรีติดตามพระองค์ไปในโอกาสที่ทรงไปพบปะกับสมเด็จพระเจ้าเฮนรีที่ 8 แห่งอังกฤษในการพบปะที่ทุ่งภูษาทอง ในปี ค.ศ. 1520 เพื่อเป็นการอวดโอ้ถึงความสามารถของการดนตรีของราชสำนักฝรั่งเศส ที่คาดกันว่าจัดโดยฌอง มูตอง (Jean Mouton) คีตกวีผู้มีชื่อเสียงที่สุดในการเขียนโมเต็ตของต้นคริสต์ศตวรรษที่ 16

แต่งานดนตรีที่สำคัญของฝรั่งเศสในสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาคือการเขียนงานประเภทที่เรียกว่า "เพลงขับ"*[1] (chanson) ซึ่งเป็นฆราวัสดนตรี (secular music) แบบดนตรีหลายเสียง ที่กลายมาเป็นดนตรีที่เป็นที่นิยมกันเป็นอย่างมากในคริสต์ศตวรรษที่ 16 รวมทั้งโดยทั่วไปในยุโรป เพลงขับในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 16 มักจะเปิดขึ้นด้วย จังหวะแด็คทิล (ยาว, สั้น-สั้น) และ contrapuntal ที่ต่อมานำไปใช้ในอิตาลีโดยคันโซนา ที่เป็นต้นตอของโซนาตา ตามปกติแล้วเพลงขับจะมีเสียงร้องสามถึงสี่เสียงโดยไม่มีเครื่องดนตรีประกอบแต่เวอร์ชันที่นิยมกันมักจะเขียนให้มีดนตรีประกอบ คีตกวีคนสำคัญที่มีชื่อของฝรั่งเศสในการเขียนเพลงขับก็ได้แก่โคลแดง เดอ แซร์มิซี (Claudin de Sermisy) และ เคลมงต์ ฌาเนอแคง (Clément Janequin) Le guerre โดยฌาเนอแคงเขียนขึ้นในโอกาสการฉลองชัยชนะของฝรั่งเศสในยุทธการมาริญญาโน ในปี ค.ศ. 1515 ที่เลียนเสียงปืนใหญ่, เสียงครางของผู้บาดเจ็บ และเสียงสัญญาณรุกและถอยจากทรัมเป็ต การพัฒนาของเพลงขับต่อมาเป็นลักษณะที่เรียกว่า musique mesurée ที่เห็นได้จากงานของโคลด เลอ เฌอเนอ (Claude Le Jeune): ในแบบเพลงขับที่มาจากการพัฒนาโดยกลุ่มกวีที่เรียกว่า Pléiade ภายใต้การนำของฌอง-อองตวน เดอ บาอีฟ (Jean-Antoine de Baïf) ซึ่งเป็นท่วงทำนองจังหวะของดนตรีที่สะท้อนการเน้นจังหวะของบทร้องโดยตรง ในการพยายามสร้างผลทางวาทศาสตร์ของดนตรีของกรีกโบราณ เมื่อมาถึงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 16 เพลงขับก็มาแทนที่ด้วย เพลงขับแอร์เดอคูร์ (air de cour) ซึ่งเป็นประเภทเพลงร้องที่นิยมกันในฝรั่งเศสเมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 17

สงครามศาสนามีผลอย่างลึกซึ้งต่อการดนตรีของฝรั่งเศส อิทธิพลของนิกายคาลวินทำให้ดนตรีทางศาสนาของโปรเตสแตนต์มีลักษณะที่แตกต่างจากโมเต็ตละตินอันหรูหราซับซ้อนของโรมันคาทอลิกเป็นอันมาก คีตกวีทั้งโปรเตสแตนต์และโรมันคาทอลิกต่างก็เขียนเพลงขับที่เรียกว่า "เพลงขับเพื่อศาสนา" (chanson spirituelle) ที่คล้ายกับฆราวัสดนตรีแต่เนื้อเพลงเป็นบทสอนทางจริยธรรมแทนที่

ตัวอย่างเช่นงานของคีตกวีโปรเตสแตนต์โคลด กูดิเมล (Claude Goudimel) ผู้มีชื่อเสียงในการเขียนเพลงสดุดีที่มีแรงบันดาลใจจากนิกายคาลวิน ผู้ถูกลอบสังหารในลิยงระหว่างเหตุการณ์การสังหารหมู่วันเซนต์บาโทโลมิว แต่ก็ไม่ใช่คีตกวีโปรเตสแตนต์เท่านั้นที่ถูกสังหารในระหว่างความขัดแย้งทางศาสนาในปี ค.ศ. 1581 คีตกวีโรมันคาทอลิกอองทวน แบร์ทรองด์ (Antoine de Bertrand) ผู้มีความสามารถและเขียนงานเพลงขับไว้เป็นจำนวนมากก็ถูกสังหารโดยหมู่ชนโปรเตสแตนต์ในตูลูส

อ้างอิง

แก้
  1. Dobbins, Frank. "Chanson." In The Oxford Companion to Music, edited by Alison Latham. Oxford Music Online.

ดูเพิ่ม

แก้

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้
  • Blunt, Anthony. Art and Architecture in France 1500-1700. {{cite book}}: ไม่รู้จักพารามิเตอร์ |ide= ถูกละเว้น (help)
  • Chastel, André. French Art Vol II: The Renaissance. ISBN 2-08-013583-X.
  • Chastel, André. French Art Vol III: The Ancient Régime. ISBN 2-08-013617-8.