โตเกียวดิสนีย์รีสอร์ต

สวนสนุกและรีสอร์ตโดยบริษัทเดอะโอเรียนเต็ลแลนด์

โตเกียวดิสนีย์รีสอร์ต (อังกฤษ: Tokyo Disney Resort) เป็นสวนสนุกและสถานพักตากอากาศที่อูรายาซุ จังหวัดชิบะ ประเทศญี่ปุ่น เจ้าของและดำเนินการโดยบริษัทเดอะโอเรียนเต็ลแลนด์ ที่มีใบอนุญาตจากบริษัทเดอะวอลต์ดิสนีย์ เปิดบริการเมื่อวันที่ 15 เมษายน ค.ศ. 1983 มีสวนสนุก 2 แห่ง โรงแรมภายใต้กำกับการดูแลของดิสนีย์ 4 แห่ง โรงแรมภายใต้กำกับการดูแลโดยบุคคลภายนอก 6 แห่ง และศูนย์การค้า โตเกียวดิสนีย์แลนด์เป็นสวนสนุกของดิสนีย์แห่งแรกที่เปิดให้บริการนอกสหรัฐ

โตเกียวดิสนีย์รีสอร์ต
อุตสาหกรรมสวนสนุก และสถานพักตากอากาศ
ก่อตั้ง15 เมษายน 1983; 41 ปีก่อน (1983-04-15)
สำนักงานใหญ่อูรายาซุ จังหวัดชิบะ ประเทศญี่ปุ่น
บุคลากรหลักเคียวอิจิโร่ อูเอนิชิ (ประธาน)
เจ้าของเดอะโอเรียนเต็ลแลนด์ (เคเซกรุป)
ภายใต้การกำกับดูแลโดยบริษัทดิสนีย์พาร์ก, เอ็กซ์พีเรียนซ์แอนด์โปรดักส์ (เดอะวอลต์ดิสนีย์)
เว็บไซต์เว็บไซต์ทางการ

ประวัติ

แก้

เริ่มต้นแนวคิดเกี่ยวกับดิสนีย์แลนด์ในญี่ปุ่น

แก้

แนวคิดเกี่ยวกับดิสนีย์แลนด์ในญี่ปุ่นเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ช่วงปลายทศวรรษ 1950 เมื่อคุนิโซ มัตสึโอะ นักธุรกิจชาวญี่ปุ่นได้เข้าพบวอลต์ ดิสนีย์ พร้อมเสนอแนวคิดที่จะสร้างสวนสนุกดิสนีย์ในเมืองนาระ มีข่าวลือว่าวอลต์ ดิสนีย์ตกลงในเบื้องต้น แต่ภายหลังก็ได้ยกเลิกความคิดนี้ มัตสึโอะยังคงมุ่งมั่นที่จะเปิดสวนสนุกธีมดิสนีย์ และในปี 1961 เขาได้เปิดนาระดรีมแลนด์ ซึ่งเป็นสวนสนุกที่คล้ายกับดิสนีย์แลนด์มาก แต่ไม่มีตัวละครหรือทรัพย์สินทางปัญญาของดิสนีย์ สวนสนุกแห่งนี้เปิดดำเนินการจนถึงปี 2006 และในที่สุดก็ถูกทุบทิ้งในปี 2017

เริ่มต้นการนำดิสนีย์แลนด์มาสู่ญี่ปุ่น (1974 - 1980)

แก้

ในเดือนกุมภาพันธ์ 1974 บริษัทโอเรียนทัลแลนด์ (OLC) ได้ทำคำขออย่างเป็นทางการเกี่ยวกับความต้องการที่จะสร้างดิสนีย์แลนด์ในญี่ปุ่นให้ผู้บริหารของดิสนีย์เดินทางมายังญี่ปุ่นเพื่อสำรวจข้อมูล และในเดือนมิถุนายน ประธานบริษัทคาวาซากิของบริษัทโอเรียนทัลแลนด์ ก็ได้เดินทางไปยังบริษัทวอลต์ ดิสนีย์ ซึ่งได้พบกับประธานบริษัทของดิสนีย์ เพื่อย้ำถึงความต้องการของโอเรียนทัลแลนด์ในการนำดิสนีย์แลนด์มาสู่ญี่ปุ่นอีกครั้ง ซึ่งขณะนั้น ดอน เททัมกำลังดำรงตำแหน่งประธานกรรมการของบริษัทวอลต์ ดิสนีย์

ในเดือนกรกฎาคม 1974 บริษัท OLC ได้ส่งรายงานการศึกษาความเป็นไปได้ของโอเรียนทัลแลนด์ 1974 ให้กับบริษัทวอลต์ ดิสนีย์ ซึ่งมีการสรุปโครงการและความเหมาะสมของการใช้ที่ดินในเมืองอุรายาสุ ซึ่งได้เน้นย้ำว่า พื้นที่อุรายาสุในจังหวัดชิบะ ซึ่งอยู่ใกล้กับพื้นที่มหานครโตเกียว เป็นสถานที่ที่เหมาะสมสำหรับการก่อสร้างดิสนีย์แลนด์

ในวันที่ 4 ธันวาคม 1974 ที่โรงแรมอิมพีเรียล บริษัท OLC ได้นำเสนอข้อเสนอในการสร้างดิสนีย์แลนด์ที่พื้นที่อุรายาสุแก่ผู้บริหารของดิสนีย์ซึ่งได้เดินทางมายังญี่ปุ่น แสดงให้เห็นว่าพื้นที่ที่เสนอให้นั้นอยู่ในบริเวณโตเกียว ซึ่งเป็นศูนย์กลางของประเทศญี่ปุ่น และหลังจากการนำเสนอที่โรงแรมอิมพีเรียล ผู้บริหารของดิสนีย์ได้เดินทางไปสำรวจพื้นที่ในเมืองอุรายาสุ จนกระทั่งสองวันต่อมา ในวันที่ 6 ธันวาคม ดิสนีย์ได้แสดงความต้องการที่จะศึกษาความเป็นไปได้ในการสร้างสวนสนุกดิสนีย์แลนด์ร่วมกับโอเรียนทัลแลนด์ และต่อมาได้มีการทำข้อตกลงระหว่างทั้งสองบริษัท

หลังจากที่ลงนามในข้อตกลง บริษัท OLC ได้ทำการเริ่มศึกษาวิธีการสร้างและดำเนินการสวนสนุกในรูปแบบดิสนีย์แลนด์บนพื้นที่ที่กำลังพัฒนา งานในระยะที่หนึ่งเริ่มขึ้นในเดือนมกราคม 1975 โดยประมาณเก้าเดือนต่อมา บริษัทวอลต์ ดิสนีย์ได้สรุปงานระยะที่หนึ่งในเอกสาร “Oriental Disneyland Concept” ซึ่งระบุว่าพื้นที่ในเมืองอุรายาสุ จังหวัดชิบะ เหมาะสมอย่างยิ่งสำหรับการสร้างสวนสนุกในรูปแบบดิสนีย์แลนด์ และดิสนีย์ก็ยังได้จัดทำแผนพัฒนาพื้นที่ตามเอกสารดังกล่าว

บริษัท OLC ได้พบกับดิสนีย์หลายครั้งเพื่อเจรจาข้อตกลงในการเข้าสู่ระยะต่อไปของงาน ในเดือนมิถุนายน 1976 ได้บรรลุข้อตกลงเพื่อกำหนดงานสำหรับระยะที่สอง ในที่สุด โครงการ “Oriental Disneyland Project” ก็ได้เข้าสู่ขั้นตอนการออกแบบ โดยในเดือนมีนาคม 1977 ชื่อของสวนสนุกได้รับการตัดสินอย่างเป็นทางการให้เป็น “โตเกียวดิสนีย์แลนด์” หลังจากการพิจารณากันมานานกว่าหนึ่งปีเกี่ยวกับระยะที่สอง และในเดือนกันยายน 1977 ดิสนีย์ก็พร้อมที่จะนำเสนอแผนงานในระยะนี้ให้กับบริษัท OLC

ต่อมาในวันที่ 30 เมษายน 1979 ที่สำนักงานใหญ่ของบริษัทวอลต์ ดิสนีย์ในเมืองเบอร์แบงก์ รัฐแคลิฟอร์เนีย ประธานทาคาฮาชิแห่งโอเรียนทัลแลนด์ในขณะนั้น และประธานวอล์คเกอร์แห่งดิสนีย์ ได้ลงนามในข้อตกลง “Contract on Construction and Operations of Tokyo Disneyland” เกี่ยวกับการออกแบบ การก่อสร้าง และการดำเนินงานของสวนสนุกโตเกียวดิสนีย์แลนด์ โดยตลอดเวลาห้าปีนับตั้งแต่มีการลงนามในข้อตกลงพื้นฐานฉบับแรก ทั้งสองบริษัทได้ทำการเจรจาอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับสวนสนุกแห่งนี้ ซึ่งบริษัท OLC นั้นต้องเผชิญกับการหาทุนสำหรับการสร้างโตเกียวดิสนีย์แลนด์ที่มีจำนวนหลายแสนล้านเยน โดยเขาได้ขอความช่วยเหลือจากจังหวัดชิบะ โดยได้เสนอว่าธุรกิจโตเกียวดิสนีย์แลนด์จะเป็นเสาหลักสำคัญสำหรับการพัฒนาของรัฐบาลจังหวัด ทำมห้ในเดือนเมษายน 1979 รองผู้ว่าการจังหวัดชิบะในขณะนั้น ทาเคชิ นูมาตะ ได้ร่วมเดินทางไปกับบริษัท OLC ไปพบกับธนาคารอุตสาหกรรมแห่งญี่ปุ่นเพื่อขอความช่วยเหลือ นอกจากนี้ ยังได้มีการขอความช่วยเหลือจากสถาบันการเงินต่างๆ โดยสุดท้ายแล้วมี 22 สถาบันที่ได้ร่วมกันจัดตั้งกลุ่มการร่วมทุนในการให้กู้ยืมในเดือนสิงหาคม 1980 ซึ่งการจัดตั้งกลุ่มการร่วมทุนนี้ก็ถือเป็นก้าวที่สำคัญอย่างยิ่ง

การก่อสร้างและการเปิดโตเกียวดิสนีย์แลนด์ (1980 - 1983)

แก้

หลังจากการลงนามในข้อตกลงพื้นฐาน “Contract on Construction and Operations of Tokyo Disneyland” ในเดือนเมษายน 1979 บริษัท OLC ได้เริ่มส่งพนักงานฝึกหัดไปยังดิสนีย์แลนด์ในแคลิฟอร์เนียตั้งแต่เดือนมกราคม 1980 เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการดำเนินงานของโตเกียวดิสนีย์แลนด์ พนักงานฝึกหัดกลุ่มแรกประกอบด้วยพนักงานฝ่ายบริหาร 9 คน ซึ่งจะกลายเป็นบุคคลสำคัญในการดำเนินงานของสวนสนุก พวกเขาใช้เวลาประมาณหนึ่งปีในการเรียนรู้เกี่ยวกับรายละเอียดการดำเนินงานของสวนสนุก โดยมีพนักงานประมาณ 150 คนที่ถูกส่งไปดิสนีย์แลนด์เพื่อเข้ารับการฝึกอบรม

ตั้งแต่ปี 1980 โครงการโตเกียวดิสนีย์แลนด์ได้เข้าสู่ขั้นตอนการก่อสร้างสวนสนุก ในวันที่ 28 พฤศจิกายน 1980 แผนการก่อสร้างได้รับการอนุมัติจากจังหวัดชิบะ และในวันที่ 3 ธันวาคม ได้มีการจัดพิธีวางศิลาฤกษ์สำหรับโตเกียวดิสนีย์แลนด์ และในเดือนมกราคม 1981 การก่อสร้างโตเกียวดิสนีย์แลนด์ก็เริ่มขึ้น โดยระหว่างการก่อสร้าง ต้นทุนก็เพิ่มขึ้นมากเกินกว่างบประมาณที่คาดไว้ที่ 100 พันล้านเยน โดยในที่สุด ค่าใช้จ่ายทั้งหมดของโครงการโตเกียวดิสนีย์แลนด์ก็เพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 180 พันล้านเยน ซึ่งขณะที่การก่อสร้างสวนสนุกกำลังดำเนินไป ได้มีการเริ่มเตรียมอุปกรณ์ที่ต้องใช้ในการดำเนินงานจำนวนมาก ทั้งเครื่องแต่งกายของพนักงาน และวัสดุอื่นๆที่จำเป็นสำหรับการดำเนินงานของสวนสนุก ซึ่งการจ้างพนักงานนั้นเป็นเรื่องที่ยากที่สุดก่อนการเปิดโตเกียวดิสนีย์แลนด์ โดยในปี 1982 โดยได้มีการจัดตั้งศูนย์จัดหางานโตเกียวดิสนีย์แลนด์เพื่อจ้างพนักงานพาร์ทไทม์จำนวน 3,000 คน อย่างไรก็ตาม การจ้างพนักงานจำนวนมากนี้เป็นเรื่องที่ยาก เนื่องจากระบบขนส่งในพื้นที่ไมฮามะยังไม่พัฒนามากพอที่จะทำให้การเดินทางสะดวก การจ้างพนักงานจึงเริ่มเป็นไปตามเป้าหมายหลังจากเปิดสวนสนุกไปแล้ว 6 เดือน

หลังจากพิธีวางศิลาฤกษ์ 2 ปี 4 เดือน การก่อสร้างโตเกียวดิสนีย์แลนด์ก็เสร็จสิ้น ในเดือนมีนาคม 1983 พิธีฉลองการเสร็จสิ้นการก่อสร้างถูกจัดขึ้น และตั้งแต่เดือนมีนาคมถึงวันที่ 13 เมษายน ก็ได้มีการฝึกอบรมอย่างเข้มข้นสำหรับการดำเนินงานของสวนสนุก

ในที่สุดโตเกียวดิสนีย์แลนด์ก็เปิดตัวในวันที่ฝนตกของวันที่ 15 เมษายน 1983 ก่อนที่ประตูจะเปิด ประธานโอเรียนทัลแลนด์ในขณะนั้น มาซาโตโมะ ทาคาฮาชิ และประธานของบริษัทดิสนีย์ในขณะนั้น อี. คาร์ดอน วอล์คเกอร์ ได้ร่วมกันตัดริบบิ้นพร้อมกับมิกกี้เมาส์และตัวละครดิสนีย์อื่นๆ แขกประมาณ 3,000 คนที่รออยู่ก็ได้เข้าสู่สวนสนุก โดยนายทาคาฮาชิก็ได้ประกาศเปิดโตเกียวดิสนีย์แลนด์อย่างเป็นทางการ

สวนสนุก

แก้

โรงแรม

แก้

โรงแรมภายใต้การดูแลโดยดิสนีย์

แก้
  • ดิสนีย์แอมบาสซาเดอร์โฮเต็ล โรงแรมแห่งแรกที่เปิดให้บริการ ด้วยการออกแบบธีมอลังการศิลป์ เปิดบริการเมื่อปี ค.ศ. 2000
  • โตเกียวดิสนีย์ซีโฮเต็ลมิราคอสต้า เปิดให้บริการพร้อมกับโตเกียวดิสนีย์ซีพาร์ก โดยห้องพักหลายห้องสมารถเห็นวิวของ Mediterrean Harbour ได้
  • โตเกียวดิสนีย์แลนด์โฮเต็ล เปิดให้บริการเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม ค.ศ. 2008 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการเฉลิมฉลองครบรอบ 25 ปี โรงแรมมีลักษณะเช่นด้วยกับโรงแรมดิสนีย์แลนด์ในปารีสและฮ่องกงเป็นโรงแรมสไตล์วิคทอเรียและตั้งอยู่ติดกับทางเข้าของสวนสนุกโตเกียวดิสนีย์แลนด์
  • โตเกียวดิสนีย์เซเลเบรชันโฮเต็ล โรงแรมดิสนีย์แห่งใหม่ล่าสุด เปิดให้บริการในวันที่ 1 มิถุนายน 2016 โรงแรมแห่งนี้เป็นโรงแรมดิสนีย์แห่งเดียวที่ไม่ได้อยู่ในบริเวณรีสอร์ท มีบริการรถรับส่งฟรี 15 นาทีสำหรับผู้เข้าพัก
  • โตเกียวดิสนีย์ซีแฟนตาซีสปริงส์โฮเท็ล โรงแรมดิสนีย์ที่ตั้งอยู่ติดกับบริเวณ Magical Springs ของแฟนตาซีสปริงส์ ซึ่งเป็นท่าเรือที่แปดของโตเกียวดิสนีย์ซี

โรงแรมภายใต้การดูแลโดบบุคคลภายนอก

แก้
  • ซันรูทพลาซ่าโตเกียว
  • โตเกียวเบย์ไมฮามะโฮเต็ล
  • โตเกียวเบย์ไมฮามะโฮเต็ลคลับรีสอร์ต
  • ฮิลตันโตเกียวเบย์
  • โอกุระโตเกียวเบย์โฮเต็ล
  • เชอราตันแกรนด์โตเกียวเบย์โฮเต็ล

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้