กะโหลกบางตายช้า กะโหลกหนาตายก่อน
กะโหลกบางตายช้า กะโหลกหนาตายก่อน | |
---|---|
กำกับ | มานพ อุดมเดช |
เขียนบท | มานพ อุดมเดช |
อำนวยการสร้าง | ธวัทชัย โรจนะโชติกุล (บริษัท ที เค อาร์ กรุ๊ป)[1] |
นักแสดงนำ | สุรศักดิ์ วงษ์ไทย อังคณา ทิมดี ขจรศักดิ์ รัตนนิสสัย มานพ อัศวเทพ |
กำกับภาพ | สุทัศน์ อินทรานุปกรณ์ |
ตัดต่อ | สุรพงษ์ พินิจค้า |
ดนตรีประกอบ | จำรัส เศวตาภรณ์ |
ผู้จัดจำหน่าย | เครือเอเพ็กซ์ |
วันฉาย | พ.ศ. 2534 |
ความยาว | 118 นาที |
ประเทศ | ไทย |
ภาษา | ไทย |
ข้อมูลจาก IMDb | |
ข้อมูลจากฐานข้อมูลภาพยนตร์ไทย |
กะโหลกบางตายช้า กะโหลกหนาตายก่อน ภาพยนตร์ไทย กำกับโดย มานพ อุดมเดช ฉายในปี พ.ศ. 2534 โดย บริษัท ที เค อาร์ กรุ๊ป ความยาว 118 นาที นำแสดงโดย สุรศักดิ์ วงษ์ไทย, อังคณา ทิมดี, ขจรศักดิ์ รัตนนิสสัย, มานพ อัศวเทพ เป็นภาพยนตร์ไทยเรื่องแรกที่เป็นภาพยนตร์ในแนวฟิล์มนัวร์ (Film Noir) โดยได้รับแรงบันดาลใจมาจากเรื่อง The Postman Always Rings Twice
เนื้อเรื่องย่อ
[แก้]เรื่องราวเกิดขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2526 โดย สลัก (สุรศักดิ์) กับ ตวง (ขจรศักดิ์) ซึ่งเป็นเพื่อนกันได้ทำงานที่บริษัทเซฟ และทั้งคู่ก็ได้ร่วมกันงัดตู้เซฟของบริษัท แต่ถูกจับได้และติดคุก ต่อมาสลักหลบหนีออกมาได้ และถูกตำรวจตามล่า จึงหนีไปกบดานอยู่ที่ อำเภอเบตง โดยทำงานอยู่ในปั๊มน้ำมันห่างไกลแห่งหนึ่งที่มีบุญเพ็ง (มานพ) เป็นเจ้าของปั๊ม บุญเพ็งเป็นคนจิตใจดีมีธรรมะธรรมโม แต่บุญเพ็งมีภรรยาแสนสวยอายุคราวลูกชื่อ ชนาง (อังคณา) สลักโกหกว่าตนชื่อ จรัล แต่จรัลทำงานได้เป็นอย่างดีจนเป็นที่วางใจของบุญเพ็ง ทุกวันบุญเพ็งจะเก็บเงินไว้ในเซฟประจำ โดยที่ชนางไม่สามารถเปิดได้และไม่รู้ว่ามีอะไรอยู่ข้างใน แต่เชื่อว่าต้องมีเงินจำนวนมากอยู่ในนั้น เมื่อชนางรู้ว่าแท้ที่จริงแล้วจรัลเป็นนักโทษที่หนีจากคดีงัดตู้เซฟชื่อ สลัก จึงเสนอให้สลักเปิดเซฟ และจะแบ่งเงินส่วนหนึ่งให้ แต่สลักปฏิเสธตลอดมา
ต่อมา ชนางได้ฆ่าบุญเพ็งตาย โดยที่สลักรู้เห็นด้วย ทั้งคู่ปิดปากเรื่องนี้เงียบและฝังศพของบุญเพ็งไว้ที่ปั๊ม จากนั้นก็พยายามจะเปิดเซฟ แต่ก็ไม่สามารถเปิดได้ วันหนึ่ง ตวงก็ได้ออกจากคุกมาและได้พบกับสลักและชนางที่ปั๊ม ตวงได้เข้าทำงานที่ปั๊มด้วย โดยที่ไม่รู้เรื่องที่เกิดขึ้นทั้งหมด แต่ท้ายที่สุดความลับก็ไม่อาจจะปิดมิดได้ ก่อนที่ทั้งสามคนจะหักหลังและฆ่ากันเองในที่สุด
ผลสำเร็จ
[แก้]"กะโหลกบางตายช้า กะโหลกหนาตายก่อน" มีชื่อภาษาอังกฤษว่า "The Dumb Die Fast, The Smart Die Slow" เมื่อออกฉายทำรายได้ไม่มากนัก แม้จะมีเสียงวิจารณ์ในแง่ดี แต่ก็มีหลายเสียงที่วิจารณ์ในแง่ลบด้วยเช่นกัน อาจเป็นเพราะในยุคนั้นผู้คนยังไม่คุ้นชินกับภาพยนตร์ในแนวนี้ก็เป็นได้[2]
ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้ถูกผลิตออกจำหน่ายเป็นวีซีดี โดยบริษัท โรส วิดีโอ ในปี พ.ศ. 2544
รางวัล
[แก้]รางวัลพระราชทานพระสุรัสวดี ประจำปี พ.ศ. 2534
- ถ่ายภาพยอดเยี่ยม - สุทัศน์ อินทรานุปกรณ์
รางวัลชมรมวิจารณ์บันเทิง ประจำปี พ.ศ. 2534
- กำกับภาพยอดเยี่ยม - สุทัศน์ อินทรานุปกรณ์
- ลำดับภาพยอดเยี่ยม - สุรพงษ์ พินิจค้า
รางวัลภาพยนตร์แห่งชาติ สุพรรณหงส์ ประจำปี พ.ศ. 2534
- ผู้แสดงนำชายยอดเยี่ยม - สุรศักดิ์ วงษ์ไทย
- บันทึกเสียงยอดเยี่ยม - ชาย คงศีลวัต [3]
ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าประกวดในงานประกวดภาพยนตร์เอเชีย-แปซิฟิก ครั้งที่ 36 พ.ศ. 2534 ที่กรุงไทเป ไต้หวัน ได้รับรางวัลพิเศษ ภาพยนตร์ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ (Special Award for Stylistic Integrity) [4]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-01-19. สืบค้นเมื่อ 2009-12-09.
- ↑ ภาพยนตร์ : ความสัมพันธ์กับประวัติศาสตร์และบริบทศึกษากรณี ฟิล์ม นัวร์ (Film Noir) โดย กฤษดา เกิดดี : วารสารนิเทศศาสตร์ปริทัศน์ ปีที่ 3 ฉบับที่ 1 (มกราคม 2541) โดย คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต
- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-01-03. สืบค้นเมื่อ 2009-12-09.
- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-10-09. สืบค้นเมื่อ 2007-07-09.