ข้ามไปเนื้อหา

การบุกลงใต้ของจูกัดเหลียง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
การบุกลงใต้ของจูกัดเหลียง
ส่วนหนึ่งของ สงครามในยุคสามก๊ก

ประจักษทัศน์ไม้ในหอหฺวาซีโหลว นครปั๋วโจฺว มณฑลอานฮุย แสดงภาพเหตุการณ์ที่จูกัดเหลียงทำศึกกับชนเผ่าลำมัน
วันที่ฤดูใบไม้ผลิ - ฤดูใบไม้ร่วม ค.ศ. 225
สถานที่
ภูมิภาคหนานจง (ครอบคลุมพื้นที่ของมณฑลยูนนาน มณฑลกุ้ยโจว และมณฑลเสฉวนในปัจจุบัน) ประเทศจีน
ผล จ๊กก๊กชนะ
คู่สงคราม
จ๊กก๊ก กบฏในจ๊กก๊ก,
ลำมัน
ผู้บังคับบัญชาและผู้นำ
จูกัดเหลียง
ม้าตง
ลิอิ๋น
ยงคี 
จูโพ
โกเตง โทษประหารชีวิต
เบ้งเฮ็ก Surrendered
การบุกลงใต้ของจูกัดเหลียง
อักษรจีนตัวเต็ม諸葛亮南征
อักษรจีนตัวย่อ诸葛亮南征
สงครามสยบหนานจง
อักษรจีนตัวเต็ม南中平定戰
อักษรจีนตัวย่อ南中平定战
การบุกลงใต้ของจูกัดเหลียง

การบุกลงใต้ของจูกัดเหลียง (จีน: 諸葛亮南征) หรือ สงครามสยบหนานจง (จีน: 南中平定战) เป็นการทัพที่เกิดขึ้นในปี ค.ศ. 225 ในช่วงต้นยุคสามก๊ก (ค.ศ. 220-280) ของจีน นำการทัพโดยจูกัดเหลียง อัครมหาเสนาบดีแห่งรัฐจ๊กก๊กรบด้วยกองกำลังที่ต่อต้านจ๊กก๊กในภูมิภาคหนานจง (ครอบคลุมพื้นที่ของมณฑลยูนนาน มณฑลกุ้ยโจว และมณฑลเสฉวนในปัจจุบัน) การทัพมีมูลเหตุมาจากการก่อกบฏของผู้ปกครองท้องถิ่นในภูมิภาคหนานจงและการบุกรุกของชนเผ่าลำมัน (南蠻 หนานหมาน; แปลว่า "อนารยชนแดนใต้")

ภูมิหลัง

[แก้]

ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 222[1] เล่าปี่จักรพรรดิผู้สถาปนารัฐจ๊กก๊กพ่ายแพ้ในยุทธการที่อิเหลงต่อรัฐง่อก๊กที่เป็นรัฐพันธมิตรที่กลายเป็นรัฐอริ เล่าปี่สวรรคตที่เป๊กเต้เสีย (白帝城 ไป๋ตี้เฉิง; ปัจจุบันคืออำเภอเฟิ่งเจี๋ย นครเฉิงตู) ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 223[2]

กบฏยงคี

[แก้]

ยงคี (雍闓 ยง ข่าย) สืบเชื้อสายจากยง ฉื่อ (雍齒) เป็นผู้นำชนเผ่าในภูมิภาคหนานจง ได้ยินข่าวการสวรรคตของเล่าปี่จึงเริ่มก่อกบฏต่อต้านการปกครองของจ๊กก๊ก ยงคีสังหารเจิ้ง อ๋าง (正昂) เจ้าเมืองเกียมเหลง (建寧郡 เจี้ยนหนิงจฺวิ้น; ปัจจุบันอยู่บริเวณนครฉฺวี่จิ้ง มณฑลยูนนาน) ที่จ๊กก๊กแต่งตั้ง และจับตัวเตียวอี้ (張裔 จาง อี้) เจ้าเมืองเกียมเหลงคนใหม่เป็นตัวประกัน ลิเงียมขุนพลจ๊กก๊กเขียนจดหมายถึงยงคีทั้งหมด 6 ฉบับเพื่อห้ามไม่ให้ยงคีก่อกบฏ แต่ยงคีตอบกลับด้วยความหยิ่งยโสว่า "ข้าได้ยินว่าฟ้าไม่อาจมีตะวันสองดวง ดินไม่อาจมีเจ้าผู้ปกครองสองคน บัดนี้แผ่นดินถูกแบ่งออกเป็นสาม ระบบปฏิทินมีอยู่สามระบบ ผู้อยู่ห่างไกลจึงสับสน ไม่รู้ว่าควรจะภักดีกับใคร"[3]

ด้วยการเชิญชวนของชื่อ เซี่ย (士燮) และขุนพลง่อก๊กเปาจิด ยงคีจึงตกลงที่จะภักดีต่อง่อก๊ก แล้วส่งตัวเตียวอี้ไปเป็นเชลยของซุนกวนผู้ปกครอง่อก๊กเพื่อแสดงความจริงใจ ซุนกวนจึงตั้งให้ยงคีเป็นเจ้าเมืองเองเฉียง (永昌郡 หย่งชางจฺวิ้น; ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนทางตะวันตกของมณฑลยูนนานในปัจจุบัน) ซึ่งเวลานั้นรักษาโดยขุนนางของจ๊กก๊กคือลิคี (呂凱 ลฺหลี่ ข่าย) และอ้องค้าง (王伉 หวาง ค่าง) เมื่อยงคีเดินทางเพื่ออ้างสิทธิ์ควบคุมเมืองเองเฉียง ลิคีและอ้องค้างปฏิเสธที่จะยอมรับความชอบธรรมของยงคี ทั้งคู่นำข้าราชการและราษฎรในท้องถิ่นต่อต้านยงคีและป้องกันไม่ให้ยงคีเข้าเมืองเองเฉียง ยงคีจึงเขียนจดหมายเข้าไปในเมืองเองเฉียงหลายครั้ง พยายามโน้มน้าวว่าตนเป็นเจ้าเมืองอย่างถูกต้อง แต่ลิคีหักล้างคำกล่าวอ้างของยงคี และสามารถควบคุมเมืองเองเฉียงได้อย่างมั่นคงเพราะผู้คนในเมืองเองเฉียงต่างยกย่องและไว้ใจลิคีเป็นอย่างสูง[4]

กบฏโกเตงและจูโพ

[แก้]

ประมาณปี ค.ศ. 223 ขณะที่จ๊กก๊กยังคงโศกเศร้ากับการสวรรคตของเล่าปี่ จูกัดเหลียงอัครมหาเสนาบดีและผู้สำเร็จราชการแห่งจ๊กก๊กตัดสินใจให้ความสำคัญกับนโยบายภายในรัฐเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงและสะสมทรัพยากรก่อนที่จะใช้กำลังทหารเพื่อปราบปรามการจลาจลในภูมิภาคหนานจง ในขณะเดียวกันยังได้ส่งเตงจี๋และตันจิ๋นเป็นทูตเดินทางไปง่อก๊กเข้าพบซุนกวนและเจรจาโน้มน้าวให้สงบศึกกับจ๊กก๊ก และสร้างความเป็นพันธมิตรระหว่างจ๊กก๊กและง่อก๊กขึ้นใหม่เพื่อต้านวุยก๊กอันเป็นรัฐอริร่วม[2]

ขณะนั้น โกเตง (高定 เกา ติ้ง; หรือ 高定元 เกา ติ้งยฺเหวียน) ผู้นำชนเผ่าโสฺ่ว (叟族 โสฺ่วจู๋) ในเมืองอวดจุ้น (越巂郡 เยฺว่ซีจฺวิ้น/เยฺว่สุ่ยจฺวิ้น; อยู่บริเวณนครซีชาง มณฑลเสฉวนในปัจจุบัน) ได้ยินเรื่องการก่อกบฏของยงคีและตัดสินใจเข้าร่วม จึงสังหารเจียว หฺวาง (焦璜) เจ้าเมืองอวดจุ้นที่ราชสำนักจ๊กก๊กแต่งตั้ง ในระหว่างที่จูกัดเหลียงวางแผนสำหรับการทัพปราบกบฏ ก็ได้แต่งตั้งกง ลู่ (龔祿) เป็นเจ้าเมืองอวดจุ้นคนใหม่และส่งกง ลู่ไปเตรียมการล่วงหน้า แต่สุดท้ายกง ลู่ก็ถูกโกเตงสังหาร[2]

ในช่วงเวลาเดียวกันนั้น จูกัดเหลียงยังส่งขุนนางชื่อฉาง ฝาง (常房; หรืออีกชื่อคือ 常颀 ฉาง ฉี) ขุนนางผู้ช่วยมณฑลเอ๊กจิ๋ว (益州从事 อี้โจฺวฉงชื่อ) ไปตรวจการที่เมืองโคกุ้น (牂柯郡 จางเคอจฺวิ้น; ปัจจุบันอยู่บริเวณนครกุ้ยหยางหรือฝูเฉฺวียน มณฑลกุ้ยโจว) เมื่อฉาง ฝางมาถึงเมืองโคกุ้นได้สั่งให้ควบคุมตัวเจ้าหน้าที่ระดับล่างทั้งหมดเพื่อทำการไต่สวน ฉาง ฝางสงสัยว่าจูโพ (朱褒 จู เปา) เจ้าเมือง (太守 ไท่โฉฺ่ว) ของเมืองโคกุ้นที่ราชสำนักจ๊กก๊กแต่งตั้งคิดร่วมกับกบฏจึงให้ประหารชีวิตเหล่าเสมียนของเมืองโคกุ้น จูโพทราบเรื่องก็โกรธ ประกอบกับได้ยินเรื่องการก่อกบฏในเมืองเกียมเหลงและอวดจุ้นที่อยู่ใกล้เคียงจึงสังหารฉาง ฝางและเข้าร่วมกับกลุ่มกบฏ[2]

การมีส่วนร่วมของเบ้งเฮ็กและชนเผ่าลำมัน

[แก้]

หลังจากยงคีล้มเหลวในการยึดเมืองเองเฉียงจากลิคีและอ้องค้าง ยงคีจึงหันไปขอความช่วยเหลือจากชนเผ่าลำมัน (南蠻 หนานหมาน) แต่ชนเผ่าลำมันไม่เต็มใจที่จะเชื่อฟังยงคี ยงคีจึงขอช่วยเหลือจากเบ้งเฮ็กผู้นำท้องถิ่นที่มีอิทธิพลและมีชื่อเสียงในหมู่ชนเผ่าลำมัน เบ้งเฮ็กจึงอ้างกับชนเผ่าลำมันว่าราชสำนักจ๊กก๊กเรียกเก็บส่วยจากชนเผ่าลำมันอย่างไร้เหตุผล และยุยงให้ชนเผ่าลำมันก่อกบฏต่อต้านการปกครองของจ๊กก๊กได้สำเร็จ[2]

สยบหนานจง

[แก้]

ในฤดูใบไม้ผลิ ค.ศ. 225 หลังจ๊กก๊กฟื้นฟูความเป็นพันธมิตรกับง่อก๊กอีกครั้งเพื่อต้านวุยก๊กรัฐอริร่วม จูกัดเหลียงอัครมหาเสนาบดีแห่งจ๊กก๊กจึงนำทัพหลวงจ๊กก๊กด้วยตนเองในการยกทัพลงใต้เพื่อสยบภูมิภาคหนานจงและปราบกบฏ อองเลี้ยนหัวหน้าเลขานุการของจูกัดเหลียงพยายามทัดทานการเข้าร่วมในการทัพ แต่จูกัดเหลียงยืนกรานจะนำทัพด้วยตนเองเพราะกังวลว่าขุนพลของจ๊กก๊กอาจไม่มีความสามารถเพียงพอที่จะจัดการกับกบฏได้เอง[5]

ม้าเจ๊กผู้ช่วยคนสนิทของจูกัดเหลียงแนะนำว่าควรให้ความสำคัญกับการสงครามจิตวิทยา (เช่นการเอาชนะใจผู้คนในหนานจง) มากกว่าการสงครามตามขนบ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดกบฏขึ้นซ้ำอีก จูกัดเหลียงยอมรับคำแนะนำของม้าเจ๊ก[6]

เล่าเสี้ยนจักรพรรดิแห่งจ๊กก๊กมอบขวานพิธีการให้กับจูกัดเหลียงและจัดพิธีอย่างยิ่งใหญ่ในการส่งจูกัดเหลียงออกรบ โดยให้ผู้เข้าพิธีถือร่มที่ทำจากขนนกเดินขนาบหน้าและหลังของจูกัดเหลียง มีคณะทหารราชองครักษ์หน่วยหู่เปิน (虎賁) 60 นายคุ้มกัน และมีการตีกลองเป่าเขาสัตว์[7]

ทัพจ๊กก๊กยกไปตามเส้นทางน้ำจากอำเภออานช่าง (安上縣 อานช่างเซี่ยน; ปัจจุบันคืออำเภอผิงชาน มณฑลเสฉวน) ไปยังเมืองอวดจุ้น และเข้าภูมิภาคหนานจง โกเตงและยงคีตอบโต้ด้วยการสร้างป้อมปราการหลายแห่งในอำเภอเหมาหนิว (旄牛; ปัจจุบันคืออำเภอฮ่านยฺเหวียน มณฑลเสฉวน) ติ้งเจ๋อ (定筰; ปัจจุบันคืออำเภอเหยียนยฺเหวียน มณฑลเสฉวน) และเปย์ฉุ่ย (卑水; ปัจจุบันอยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของอำเภอเจาเจฺว๋ มณฑลเสฉวน) จูกัดเหลียงจึงนำทัพจ๊กก๊กไปยังอำเภอเปย์ฉุ่ย จูกัดเหลียงคาดการณ์ว่ากลุ่มกบฏจะมาร่วมตัวกันจึงจะสามารถปราบได้ทั้งหมดในยุทธการครั้งเดียว ในช่วงเวลานั้น ผู้ใต้บังคับบัญชาของโกเตงได้สังหารยงคี[8] จูกัดเหลียงจึงใช้โอกาสนี้โจมตีและเอาชนะโกเตงได้ ต่อมาโกเตงถูกจับตัวได้และถูกประหารชีวิตด้วยการตัดศีรษะตามคำสั่งของจูกัดเหลียง

จากนั้นจูกัดเหลียงจึงสั่งให้ม้าตงนำกองกำลังไปทางตะวันออกเฉียงใต้จากอำเภอปั๋วเต้า (僰道縣 ปั๋วเต้าเซี่ยน; ปัจจุบันคือนครอี๋ปิน มณฑลเสฉวน) เพื่อโจมตีเมืองโคกุ้น และให้ลิอิ๋นนำกองกำลังไปทางตะวันตกเฉียงใต้จากอำเภอผิงอี๋ (平夷縣 ผิงอี๋เซี่ยน; ปัจจุบันอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของนครปี้เจี๋ย มณฑลกุ้ยโจว) เพื่อโจมตีเมืองเกียมเหลง เมื่อลิอิ๋นมาถึงคุนหมิงก็ขาดการติดต่อกับจูกัดเหลียงและถูกกบฏที่มีจำนวนพลมากกว่าสองเท่าล้อมไว้ ลิอิ๋นจึงลวงพวกกบฏว่าตนต้องการเข้าร่วมกับกลุ่มกบฏ กลุ่มกบฏหลงเชื่อจึงลดการป้องกันลง ลิอิ๋นจึงใช้โอกาสนี้โต้กลับและเคลื่อนกำลังลงใต้ไปยังผานเจียง (槃江) สมทบกับม้าตงที่เพิ่งเอาชนะกองกำลังกบฏของจูโพและยึดเมืองโคกุ้นคืนมาได้ กองกำลังของม้าตงและลิอิ๋นกลับไปสมทบกับทัพหลักของจูกัดเหลียง[9] และเตรียมตัวจะโจมตีเบ้งเฮ็กที่รวบรวมกองกำลังกบฏที่เหลือมาอยู่ใต้การบัญชาการของตน[10]

จูกัดเหลียงรู้ว่าเบ้งเฮ็กเป็นที่นิยมและเคารพในหมู่คนท้องถิ่นในภูมิภาคหนานจง จึงต้องการให้เบ้งเฮ็กยังมีชีวิตอยู่ หลังจากเบ้งเฮ็กถูกจับ จูกัดเหลียงพาเบ้งเฮ็กชมรอบค่ายของจ๊กก๊กและถามเบ้งเฮ็กว่าคิดอย่างไร เบ้งเฮ็กตอบว่า "ก่อนหน้านี้ข้าไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับกองทัพของท่าน จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ข้าพ่ายแพ้ บัดนี้ท่านพาข้าชมรอบค่ายของท่าน ข้าจึงรู้สภาพการณ์ในกองทัพของท่านและจะสามารถเอาชนะท่านได้อย่างง่ายดาย" จูกัดเหลียงหัวเราะและปล่อยตัวเบ้งเฮ็กเพื่อให้เบ้งเฮ็กกลับมาทำศึกกับตนใหม่ เบ้งเฮ็กถูกจับและปล่อยซ้ำแล้วซ้ำเล่าทั้งหมด 7 ครั้ง ในการถูกจับครั้งที่ 7 เบ้งเฮ็กยอมจำนนและบอกว่าจูกัดเหลียงว่า "ท่านคือพลานุภาพแห่งฟ้า ชาวใต้จะไม่ก่อกบฏอีกต่อไป" จูกัดเหลียงจึงนำทัพไปทางทะเลสาบเตียนฉืออย่างมีชัย[11][12]

ผลสืบเนื่อง

[แก้]

หลังการสยบสี่เมืองอันได้แก่ เกียมเหลง (建寧 เจี้ยนหนิง หรือที่เรียกว่าเอ๊กจิ๋ว 益州 อี้โจฺว) เองเฉียง (永昌 หย่งชาง) โคกุ้น (牂柯 จางเคอ) และอวดจุ้น (越巂 เยฺว่ซี/เยฺว่สุ่ย) จูกัดเหลียงได้ปฏิรูปเขตการปกครองโดยจัดตั้งเมืองอีก 2 เมือง ได้แก่ ยฺหวินหนาน (雲南) และซิงกู่ (興古) เพื่อปรับปรุงคุณภาพของการปกครองส่วนท้องถิ่นในภูมิภาคหนานจง จูกัดเหลียงต้องการให้คนในท้องถิ่นปกครองตนเองแทนการแต่งตั้งคนนอกมาปกครอง จูกัดเหลียงชี้ให้เห็นถึงปัญหาของการให้คนนอกท้องถิ่นรับผิดชอบปกครอง ว่าผู้คนในภูมิภาคหนานจงเพิ่งสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักในการสู้รบและอาจยังเก็บงำความรู้แค้นต่อราชสำนักจ๊กก๊ก หากให้คนนอกท้องถิ่นมาปกครอง อาจทำให้พวกเขารู้สึกขุ่นเคืองมากขึ้นและเลือกที่จะก่อกบฏขึ้นอีกครั้ง หากจะตั้งคนนอกท้องถิ่นมาปกครอง ราชสำนักจ๊กก๊กก็ต้องตั้งกองกำลังประจำการในพื้นที่เพื่อคุ้มครอง[13][14]

ก่อนจะถอนทัพจ๊กก๊กทั้งหมดออกจากภูมิภาคหนานจง จูกัดเหลียงบอกกับเบ้งเฮ็กและผู้นำท้องถิ่นคนอื่น ๆ ว่าเพียงต้องการให้พวกเขาส่งบรรณาการมายังราชสำนักจ๊กก๊กในรูปของทองคำ เงิน วัว ม้าศึก เป็นต้น จูกัดเหลียงแต่งตั้งขุนนางที่มีพื้นเพจากภูมิภาคหนานจงอย่างลิอิ๋น (จากเมืองเกียมเหลง) และลิคี (จากเมืองเองเฉียง) ให้เป็นเจ้าเมือง เจ้าเมืองเหล่านี้แตกต่างจากเจ้าเมืองคนก่อน ๆ ในแง่ที่เดิมทำหน้าที่เพียงเป็นตัวแทนของราชสำนักจ๊กก๊กในภูมิภาคเท่านั้น คนในท้องถิ่นจะถูกปกครองโดยผู้นำท้องถิ่นและหัวหน้าเผ่าตามลำดับขั้น[15]

ชนเผ่าเกี๋ยง (羌 เชียง) มากกว่าหมื่นครอบครัวพร้อมด้วยชนเผ่าที่แข็งแกร่งจากภูมิภาคหนานจงย้ายถิ่นฐานลึกเข้าไปในภูมิภาคจ๊กและจัดระเบียบใหม่เป็น 5 กลุ่ม เนื่องจากไม่มีศัตรูใด ๆ ที่ต่อต้านกลุ่มชนเผ่าเหล่านี้ได้จึงถูกขนานนามว่าเป็น "กองทัพบิน" (飛軍 เฟย์จฺวิน) ชนเผ่าที่เหลือถูกแบ่งตามตระกูลใหญ่ในภูมิภาคหนานจง ได้แก่ตระกูลเจียง (焦) ยง (雍) โหลว (婁) ชฺว่าน (爨) เมิ่ง (孟) เลี่ยง (量) เหมา (毛) และหลี่ (李) นอกจากนี้ชนเผ่าเหล่านี้ยังอยู่ใต้การบัญชาการของ "ห้าแม่ทัพ" (五部 อู่ปู้) หรือเรียกอีกอย่างว่า "ห้าจื่อ" (五子 อู๋จื่อ) ผู้คนในภูมิภาคหนานจงเรียกพวกเขาเหล่านี้ว่า "สี่ตระกูลห้าจื่อ" (四姓五子 ซื่อซิ่งอู๋จื่อ)[16]

เนื่องจากชนเผ่าจำนวนมากไม่ต้องการรับใช้ตระกูลใหญ่เหล่านี้ นายอำเภอท้องถิ่นจึงผลักดันนโยบายการค้ากับชนเผ่าเหล่านี้้ด้วยทองคำและผ้าไหม และยังส่งเสริมการค้ากระตุ้นให้ชนเผ่าเหล่านี้พัฒนาตนเองในฐานะกลุ่มตระกูลโดยมีหลายคนที่มีตำแหน่งสำคัญของตระกูล นโยบายนี้กระตุ้นให้ชนเผ่ารวบรวมทรัพยากรที่หายากและนำมาอยู่ภายใต้การควบคุมของราชสำนักฮั่นกระทั่งกลายเป็นทรัพย์สินของชาวฮั่นในที่สุด [17]

หลังการทัพ จูกัดเหลียงคัดเลือกบุคคลที่มีความสามารถหลายคนในหมู่ผู้นำชนเผ่ามารับราชการ เช่น เหียบสิบ (爨習 ชฺว่าน สี) แห่งเมืองเกียมเหลง, เมิ่ง เหยี่ยน (孟琰) แห่งเมืองจูถี (朱提) และเบ้งเฮ็กผู้กลายมาเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของเมิ่ง เหยียน ตำแหน่งสูงสุดของเหียนสิบคือขุนพลบัญชาทัพ (領軍將軍 หลิ่งจฺวินเจียงจฺวิน) ตำแหน่งสูงสุดของเมิ่ง เหยี่ยนคือขุนพลสนับสนุนราชวงศ์ฮั่น (輔漢將軍 ฝู่ฮั่นเจียงจฺวิน) ส่วนเบ้งเฮ็กมีตำแหน่งสูงสุดเป็นผู้ช่วยขุนนางตรวจสอบ (御史中丞 ยฺหวี่ฉื่อจงเฉิง)[18]

ทรัพยากรจำนวนมากถูกนำไปจากหนานจงเช่นทองคำ เงิน ชาด และเครื่องเคลือบ ในขณะที่วัวสำหรับไถนาและม้าศึกถูกนำมาใช้เพื่อสนับสนุนกองทัพและรัฐ นอกจากนี้ผู้บังคับกองทหารมักคัดเลือกทหารใหม่จากหมู่ของคนในท้องถิ่น[19]

ผู้คนในภูมิภาคหนานจงไม่กบฏต่อต้านการปกครองของจ๊กก๊กอีกตลอดช่วงเวลาที่จูกัดเหลียงยังมีชีวิตอยู่[20] หนังสือประวัติศาสตร์ระบุว่ายังคงมีการก่อกบฏอยู่บ้างเป็นครั้งคราวในภูมิภาคนี้ แต่กบฏก็ถูกปราบลงโดยระดับของผู้ปกครองส่วนท้องถิ่นที่แต่งตั้งโดยจูกัดเหลียงต่างจากก่อนหน้านี้[21] นอกจากนี้การบุกลงใต้ของจูกัดเหลียงก็ถือว่าให้ผลสำเร็จโดยส่วนมาก เนื่องจากมีบันทึกว่าผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่นให้ความร่วมมือกับจ๊กก๊กในการควบคุมพื้นที่ให้มีเสถียรภาพและช่วยจัดหาเสบียงและกำลังคนจำนวนมากให้กับจ๊กก๊ก[22]

ในนิยายสามก๊ก

[แก้]

แม้ว่าบันทึกประวัติศาสตร์ระบุว่าจูกัดเหลียงจับและปล่อยเบ้งเฮ็กทั้งหมด 7 ครั้งตลอดการทัพ แต่ไม่มีรายละเอียดใด ๆ ของการจับและปล่อยแต่ละครั้ง ในนวนิยายอิงประวัติศาสตร์เรื่องสามก๊กในศตวรรษที่ 14 ซึ่งเล่าเรีื่องเหตุการณ์ก่อนและระหว่างยุคสามก๊ก ได้ใช้เนื้อเรื่องยาวถึงประมาณ 4 ตอนครึ่ง (ตอนที่ 87 ถึงตอนที่ 91[a]) ในการเพิ่มเติ่มรายละเอียดในแต่ละยุทธการของการจับและปล่อยเบ้งเฮ็ก 7 ครั้ง และยังเพิ่มเติมตัวละครสมมติจำนวนมากที่เกี่ยวข้องกับเบ้งเฮ็ก เช่น จกหยง (ภรรยาของเบ้งเฮ็ก) เบ้งฮิว (น้องชายของเบ้งเฮ็ก) และหัวหน้าเผ่าลำมันคนอื่น ๆ เช่น บกลกไต้อ๋อง และโต้สู้ไต้อ๋อง นอกจากนี้ในนวนิยาย ขุนพลจ๊กก๊กอันได้แก่ เตียวจูล่ง อุยเอี๋ยน และม้าต้ายก็มีส่วนร่วมในการทัพอย่างมาก แม้ว่าตามประวัติศาสตร์จริงแล้วไม่มีการระบุถึงการมีส่วนร่วมของขุนพลเหล่านี้

  1. ยุทธการครั้งที่ 1: เตียวจูล่งนำกองกำลังเข้าโจมตีเบ้งเฮ็กจนแตกพ่าย อุยเอี๋ยนจับตัวเบ้งเฮ็กและนำไปพบจูกัดเหลียง เบ้งเฮ็กบ่นว่าตนถูกจับเพราะเล่ห์กล จูกัดเหลียงจึงปล่อยตัวเบ้งเฮ็กให้กลับมาทำศึกใหม่[23]
  2. ยุทธการครั้งที่ 2: เบ้งเฮ็กสร้างแนวป้องกันตลอดริมแม่น้ำและร้องท้าให้ทัพจ๊กก๊กยกมาโจมตี ม้าต้ายนำกองกำลังไปตัดทางลำเลียงเสบียงและสังหารเงียมเตียงผู้ใต้บังคับบัญชาของเบ้งเฮ็กที่รักษาแนวป้องกันของแม่น้ำ ห้วยหลำและสุนาผู้ใต้บังคับบัญชาสองคนของเบ้งเฮ็กทรยศนายจับตัวเบ้งเฮ็กไปส่งให้จูกัดเหลียง เบ้งเฮ็กบ่นว่าตนไม่มีโอกาสได้ต่อสู้อย่างยุติธรรม จูกัดเหลียงจึงพาเบ้งเฮ็กไปชมรอบค่ายจ๊กก๊กและปล่อยตัวไป[24]
  3. ยุทธการครั้งที่ 3: เบ้งฮิวน้องชายของเบ้งเฮ็กแสร้งทำเป็นสวามิภักดิ์ต่อจูกัดเหลียงหวังทำให้จูกัดเหลียงตายใจเพื่อตนจะได้ร่วมมือกับเบ้งเฮ็กจับตัวจูกัดเหลียง แต่จูกัดเหลียงรู้ทันกลอุบายแสร้งทำเป็นหลงกล จากนั้นจึงซ้อนกลจับตัวทั้งเบ้งเฮ็กและเบ้งฮิวได้สำเร็จ แล้วปล่อยทั้งคู่กลับไป[24]
  4. ยุทธการครั้งที่ 4: เมื่อเบ้งเฮ็กได้ข่าวว่ากองทัพจ๊กก๊กกำลังเตรียมการจะล่าถอย จึงรวบรวมกองกำลังทั้งหมดเข้าโจมตีค่ายจ๊กก๊ก เบ้งเฮ็กตกลงในหลุมพรางภายในค่ายและถูกจับตัวอีกครั้ง จูกัดเหลียงก็ให้ปล่อยตัวไปอีก[24]
  5. ยุทธการครั้งที่ 5: เบ้งเฮ็กได้บทเรียนจากการพ่ายแพ้ในครั้งก่อน ๆ จึงเน้นการตั้งรับมากขึ้น เบ้งเฮ็กลวงให้ทัพจ๊กก๊กยกเข้าไปในบริเวณหนองน้ำพิษโดยรอบถ้ำของโต้สู้ไต้อ๋องผู้เป็นพันธมิตร แต่จูกัดเหลียงสามารถหลีกเลี่ยงอันตรายจากหนองน้ำพิษไปด้วยความช่วยเหลือจากเบ้งเจียดพี่ชายของเบ้งเฮ็กที่ไม่ได้เข้าร่วมในการก่อกบฏของเบ้งเฮ็กต่อจ๊กก๊ก ต่อมาเอียวหองพันธมิตรคนหนึ่งของเบ้งเฮ็กทรยศเบ้งเฮ็กจับตัวไปส่งให้จูกัดเหลียง จูกัดเหลียงปล่อยตัวเบ้งเฮ็กไปเหมือนครั้งก่อน ๆ[25]
  6. ยุทธการครั้งที่ 6: จกหยงภรรยาของเบ้งเฮ็กเข้าร่วมในการรบและจับตัวม้าตงและเตียวหงีขุนพลของจ๊กก๊กได้ ภายหลังจกหยงถูกจับกุมโดยทหารของม้าต้าย จูกัดเหลียงให้ปล่อยตัวจกหยงเพื่อแลกกับม้าตงและเตียวหงี เบ้งเฮ็กหันไปขอความช่วยเหลือจากบกลกไต้อ๋องที่เป็นพันธมิตร บกลกไต้อ๋องมีความสามารถในการควบคุมสัตว์ป่ามาใช้ในการรบ แต่กองทัพจ๊กก๊กเตรียมการรับมือโดยใช้อุปกรณ์พ่นไฟทำให้สัตว์ป่าตื่นกลัวหนีไป บกลกไต้อ๋องถูกสังหารในที่รบและเบ้งเฮ็กถูกจับอีกครั้ง จูกัดเหลียงก็ให้ปล่อยตัวเบ้งเฮ็กไปอีก[25]
  7. ยุทธการครั้งที่ 7: เบ้งเฮ็กหันไปขอความช่วยเหลือจากลุดตัดกุดผู้เป็นอีกหนึ่งพันธมิตร ทหารของลุดตัดกุดสวมชุดเกราะชนิดพิเศษที่ทำจากหวายชุบน้ำมันสามารถป้องกันคมดาบและเกาทัณฑ์ให้ฟันแทงไม่เข้า จูกัดเหลียงจึงคิดแผนให้อุยเอี๋ยนรบล่อลุดตัดกุดและทหารเข้าไปติดกับในหุบเขาที่มีการวางกับดักระเบิดและติดไฟไว้ ชุดเกราะกวายติดไฟอย่างง่ายดาย ลุดตัดกุดและทหารจึงถูกเผาจนพินาศในหุบเขานั้น เบ้งเฮ็กถูกจับตัวอีกครั้งหนึ่ง ครั้งนี้เบ้งเฮ็กรู้สึกละอายใจและตัดสินใจสวามิภักดิ์ต่อจูกัดเหลียง สาบานว่าจะภักดีต่อจ๊กก๊กไปตลอดชีวิต[25]

ในวัฒนธรรมประชานิยม

[แก้]

ตำนานที่โด่งดังเล่าเรื่องที่จูกัดเหลียงคิดค้นหมั่นโถวซึ่งเป็นขนมแป้งนึ่งชนิดหนึ่งในระหว่างการทัพนี้ อาจเป็นเพราะชื่อหมั่นโถวหรือหมานโถว (馒头; 饅頭; mántóu) พ้องเสียงกับคำว่า หมานโถว (蛮头; 蠻頭; mántóu) ที่มีความหมายว่า "ศีรษะอนารยชน" เรื่องราวเล่าว่าระหว่างยกทัพกลับหลังการทัพ จูกัดเหลียงและทัพจ๊กก๊กมาถึงแม่น้ำที่ไหลเชี่ยวกรากข้ามได้ยาก คนท้องถิ่นแจ้งว่าจะต้องสังเวยชาย 49 คนและโยนศีรษะลงในแม่น้ำเพื่อทำให้วิญญาณในแม่น้ำสงบลงและยอมให้ข้ามแม่น้ำได้ แต่จูกัดเหลียงไม่ต้องการให้เกิดการนองเลือดอีก จึงสั่งให้ทำขนมแป้งนึ่งที่มีรูปร่างคล้ายศีรษะมนุษย์ มีรูปร่างกลมและฐานแบน แล้วโยนลงไปในแม่น้ำ หลังจากข้ามแม่น้ำได้สำเร็จ จูกัดเหลียงตั้งชื่อขนมแป้งนึ่งนี้ว่าว่าหมานโถว (蠻頭) ที่แปลว่า "ศีรษะอนารยชน" ซึ่งพัฒนามาเป็นหมั่นโถว (饅頭 หมานโถว) ในปัจจุบัน

หมายเหตุ

[แก้]
  1. ในสามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) คือตั้งแต่ตอนที่ 67 ถึงตอนที่ 69[23][24][25]

อ้างอิง

[แก้]
  1. Sima (1084), vol. 69.
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 Sima (1084), vol. 70.
  3. (都護李嚴與闓書六紙,解喻利害,闓但答一紙曰:「蓋聞天無二日,土無二王,今天下鼎立,正朔有三,是以遠人惶惑,不知所歸也。」其桀慢如此。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 43.
  4. (... 而郡太守改易,凱與府丞蜀郡王伉帥厲吏民,閉境拒闓。闓數移檄永昌,稱說云云。凱荅檄曰:「天降喪亂, ... 惟將軍察焉。」凱威恩內著,為郡中所信,故能全其節。) จดหมายเหตุสากก๊ก เล่มที่ 43.
  5. (時南方諸郡不賔,諸葛亮將自征之,連諫以為「此不毛之地,疫癘之鄉,不宜以一國之望,冒險而行」。亮慮諸將才不及己,意欲必往,而連言輒懇至,故停留者乆之。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 41.
  6. (漢諸葛亮率衆討雍闓,參軍馬謖送之數十里。亮曰:「雖共謀之歷年,今可更惠良規。」謖曰:「南中恃其險遠,不服久矣;雖今日破之,明日復反耳。今公方傾國北伐以事強賊,彼知官勢內虛,其叛亦速。若殄盡遺類以除後患,旣非仁者之情,且又不可倉卒也。夫用兵之道,攻心為上,攻城為下,心戰為上,兵戰為下,願公服其心而已。」亮納其言。) จือจื้อทงเจี้ยน เล่มที่ 70.
  7. (詔賜亮金鈇鉞一具,曲蓋一,前後羽葆鼓吹各一部,虎賁六十人。事在亮集。) อรรถาธิบายจากจูเก่อเลี่ยงจี๋ในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 35.
  8. (及丞相亮南征討闓,旣發在道,而闓已為高定部曲所殺。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 43.
  9. (先主薨,高定恣睢於越嶲,雍闓跋扈於建寧,朱襃反叛於䍧牱。丞相亮南征,先由越嶲,而恢案道向建寧。諸縣大相糾合,圍恢軍於昆明。時恢衆少敵倍,又未得亮聲息,紿謂南人曰:「官軍糧盡,欲規退還,吾中間乆斥鄉里,乃今得旋,不能復北,欲還與汝等同計謀,故以誠相告。」南人信之,故圍守怠緩。於是恢出擊,大破之,追犇逐北,南至槃江,東接䍧牱,與亮聲勢相連。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 43.
  10. (漢諸葛亮至南中,所在戰捷。亮由越巂入,斬雍闓及高定。使庲降督益州李恢由益州入,門下督巴西馬忠由牂柯入,擊破諸縣,復與亮合。) จือจื้อทงเจี้ยน เล่มที่ 70.
  11. (漢晉春秋曰:亮至南中,所在戰捷。聞孟獲者,為夷、漢所服,募生致之。旣得,使觀於營陣之間,曰:「此軍何如?」獲對曰:「向者不知虛實,故敗。今蒙賜觀看營陣,若祇如此,即定易勝耳。」亮笑,縱使更戰,七縱七禽,而亮猶遣獲。獲止不去,曰:「公,天威也,南人不復反矣。」遂至滇池。) อรรถาธิบายจากฮั่นจิ้นชุนชิวในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 35.
  12. (孟獲收闓餘衆以拒亮。獲素為夷、漢所服,亮募生致之,旣得,使觀於營陳之間,問曰:「此軍何如?」獲曰:「向者不知虛實,故敗。今蒙賜觀營陳,若祇如此,卽定易勝耳。」亮笑,縱使更戰。七縱七禽而亮猶遣獲,獲止不去,曰:「公,天威也,南人不復反矣!」亮遂至滇池。) จือจื้อทงเจี้ยน เล่มที่ 70.
  13. (南中平,皆即其渠率而用之。或以諫亮,亮曰:「若留外人,則當留兵,兵留則無所食,一不易也;加夷新傷破,父兄死喪,留外人而無兵者,必成禍患,二不易也;又夷累有廢殺之罪,自嫌釁重,若留外人,終不相信,三不易也;今吾欲使不留兵,不運糧,而綱紀粗定,夷、漢粗安故耳。」) อรรถาธิบายจากฮั่นจิ้นชุนชิวในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 35.
  14. (益州、永昌、牂柯、越巂四郡皆平,亮卽其渠率而用之。或以諫亮,亮曰:「若留外人,則當留兵,兵留則無所食,一不易也;加夷新傷破,父兄死喪,留外人而無兵者,必成禍患,二不易也;又,夷累有廢殺之罪,自嫌釁重,若留外人,終不相信,三不易也。今吾欲使不留兵,不運糧,而綱紀粗定,夷、漢粗安故耳。」) จือจื้อทงเจี้ยน เล่มที่ 70.
  15. (亮於是悉收其俊傑孟獲等以為官屬,出其金、銀、丹、漆、耕牛、戰馬以給軍國之用。) จือจื้อทงเจี้ยน เล่มที่ 70.
  16. (移南中勁卒、青羌萬餘家於蜀,為五部,所當無前,軍號為飛軍。分其羸弱配大姓焦、雍、婁、爨、孟、量、毛、李為部曲,置五部都尉,號五子。故南人言四姓五子也。) หฺวาหยางกั๋วจื้อ เล่มที่ 4.
  17. (以夷多剛很,不賓大姓富豪;乃勸令出金帛,聘策惡夷為家部曲,得多者奕世襲官。於是夷人貪貨物,以漸服屬於漢,成夷漢部曲。) หฺวาหยางกั๋วจื้อ เล่มที่ 4.
  18. (亮收其俊傑建寧爨習,朱提孟琰及獲為官屬,習官至領軍,琰,輔漢將軍,獲,御史中丞。) หฺวาหยางกั๋วจื้อ เล่มที่ 4.
  19. (出其金、銀、丹、漆,耕牛、戰馬,給軍國之用,都督常用重人。) หฺวาหยางกั๋วจื้อ เล่มที่ 4.
  20. (自是終亮之世,夷不復反。) จือจื้อทงเจี้ยน เล่มที่ 70.
  21. จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 43.
  22. หฺวาหยางกั๋วจื้อ เล่มที่ 4.
  23. 23.0 23.1 "สามก๊ก ตอนที่ ๖๗". วัชรญาณ. สืบค้นเมื่อ July 24, 2023.
  24. 24.0 24.1 24.2 24.3 "สามก๊ก ตอนที่ ๖๘". วัชรญาณ. สืบค้นเมื่อ July 24, 2023.
  25. 25.0 25.1 25.2 25.3 "สามก๊ก ตอนที่ ๖๙". วัชรญาณ. สืบค้นเมื่อ July 24, 2023.

บรรณานุกรม

[แก้]