ข้ามไปเนื้อหา

การพัดขึ้นฝั่ง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พายุเฮอร์ริเคนมารีอาสูญเสียคุณลักษณะทางโครงสร้างไป หลังจากที่พัดขึ้นฝั่งในปวยร์โตรีโก

การพัดขึ้นฝั่ง (อังกฤษ: Landfall) คือเหตุการณ์หนึ่งของพายุหรือนาคเล่นน้ำที่เคลื่อนที่ขึ้นบนแผ่นดิน ภายหลังจากที่อยู่ในพื้นน้ำมาก่อนหน้า

พายุหมุนเขตร้อน

[แก้]

พายุหมุนเขตร้อนจะถูกจัดว่าพัดขึ้นฝั่ง เมื่อศูนย์กลางของพายุเคลื่อนที่ผ่านชายฝั่ง และสำหรับในพายุหมุนเขตร้อนที่มีความรุนแรงจะนับเมื่อตาของพายุอยู่บนแผ่นดินแล้ว[1] เป็นจุดที่พายุหมุนเขตร้อนที่เจริญเต็มที่ เช่น พายุไต้ฝุ่นหรือพายุเฮอร์ริเคนสามารถสร้างความเสียหายได้มากที่สุด เนื่องจากด้านของระบบพายุที่สร้างความเสียหายได้มากจะอยู่บริเวณกำแพงตา ผลกระทบดังกล่าวรวมถึงจุดสูงสุดของเหตุการณ์น้ำขึ้นจากพายุ แกนของลมแรงที่เข้าเทียบฝั่ง และฝนตกอย่างหนักจนเกิดอุทกภัยด้วย สิ่งเหล่านี้เมื่อประกอบกับคลื่นสูง สามารถเป็นสาเหตุของการกร่อนอย่างมหาศาลของชายหาดได้ ในพื้นราบลุ่ม น้ำขึ้นจากพายุสามารถขังอยู่บนแผ่นดินได้เป็นเวลานาน และหากรวมเข้ากับสารเคมีที่มีปนเปื้อนอยู่แล้วในพื้นที่ ก็อาจเกิดเป็นมลพิษได้[ต้องการอ้างอิง] เมื่อพายุหมุนเขตร้อนพัดขึ้นฝั่ง ตาของพายุจะปิดลงเองเนื่องจากกระบวนการอ่อนกำลัง ซึ่งจะทำให้คลื่นที่ซัดฝั่งลดลง ความเร็วลมสูงสุดต่อเนื่องจะลดลงไปตามธรรมชาติจากการที่พายุหมุนเคลื่อนตัวอยู่บนแผ่นดิน เนื่องจากความแตกต่างของแรงเสียดทานระหว่างพื้นน้ำและแผ่นดิน โดยไม่เกี่ยวกับบรรยากาศ[2]

การพัดขึ้นฝั่ง แตกต่างกันอย่างชัดเจนกับ การโจมตีโดยตรง (direct hit) การโจมตีโดยตรง คือบริเวณที่แกนของลมแรง (หรือกำแพงตา) ขึ้นมาอยู่บนฝั่ง ขณะที่ศูนย์กลางของพายุอาจอยู่นอกฝั่งก็ได้ ผลกระทบของการโจมตีโดยตรงค่อนข้างคล้ายกับการพัดขึ้นฝั่ง โดยคำนี้จะใช้เมื่อรัศมีของลมแรงที่สุดในพายุหมุนเขตร้อนเคลื่อนตัวมาเทียบฝั่ง[3] ผลกระทบคือ คลื่นสูง ฝนตกอย่างหนักจนอาจก่อให้เกิดอุทกภัย น้ำทะเลยกตัวขึ้นตามแนวชายฝั่งพร้อมกับน้ำขึ้นจากพายุขนาดเล็ก ชายหาดถูกกัดกร่อน มีลมแรง และอาจมีพายุฝนฟ้าคะนองอย่างรุนแรง และทอร์นาโดตามแนวขอบ

ทอร์นาโดหรือนาคเล่นน้ำ

[แก้]

เมื่อนาคเล่นน้ำพัดขึ้นฝั่ง มันจะถูกจัดใหม่เป็นทอร์นาโด[4] ซึ่งต่อมาอาจสร้างความเสียหายต่อบริเวณในแผ่นดินรอบชายฝั่งได้ เมื่อนาคเล่นน้ำพัดขึ้นฝั่ง มันมักจะสลายตัวไปอย่างรวดเร็ว เนื่องจากแรงเสียดทานและปริมาณอากาศร้อนที่จะมาเติมภายในกรวยพายุลดลง[5]

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. National Hurricane Center (2009). Glossary of NHC Terms: Landfall. Retrieved on 2009-02-05.
  2. Sim Aberson and Chris Landsea (2008). Subject : C2) Doesn't the friction over land kill tropical cyclones? เก็บถาวร 2009-05-06 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน Retrieved on 2009-02-05.
  3. National Hurricane Center (2009). Glossary of NHC Terms: Direct Hit. Retrieved on 2009-02-05.
  4. Glossary of Meteorology (2009). Waterspout. เก็บถาวร 2011-06-06 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน Retrieved on 2009-02-05.
  5. Bruce B. Smith (2009). Waterspouts. Retrieved on 2009-02-05.