การเลือกตั้งล่วงหน้า
การออกเสียงลงคะแนนล่วงหน้า[1] โดยทั่วไปเรียก การเลือกตั้งล่วงหน้า (อังกฤษ: early voting, advance polling, หรือ pre-poll voting) เป็นการออกเสียงลงคะแนนเพื่อความสะดวก ซึ่งเปิดให้ออกเสียงลงคะแนนในการเลือกตั้งก่อนวันเลือกตั้งจริง โดยการออกเสียงลงคะแนนด้วยตนเองที่หน่วยเลือกตั้ง หรือออกเสียงลงคะแนนทางไกล เช่น ผ่านไปรษณีย์ เป็นต้น เหตุผลทั่วไปในการจัดให้ออกเสียงลงคะแนนล่วงหน้า คือ เพื่อลดความแออัดในวันจริง เพื่อเพิ่มโอกาสในการมีส่วนร่วมออกเสียงลงคะแนน และเพื่อลดผลกระทบต่อบุคคลที่อาจไม่ว่างในวันจริง ในบางประเทศเปิดให้บุคคลทั่วไปออกเสียงลงคะแนนล่วงหน้าได้ แต่ในบางประเทศเปิดให้เฉพาะบุคคลบางกลุ่มเท่านั้น เช่น ผู้ที่คาดว่าจะต้องออกนอกประเทศหรือต้องเข้ารับการรักษาพยาบาลในวันจริง[2]
ในประเทศนิวซีแลนด์ การออกเสียงลงคะแนนล่วงหน้านั้นจะจัดขึ้น 12 วันก่อนวันเลือกตั้งจริง และสามารถออกเสียงลงคะแนนล่วงหน้าได้โดยไม่จำเป็นต้องมีเหตุผลใดก็ได้ จนกระทั่ง ค.ศ. 2008 จึงมีการกำหนดเงื่อนไข[3] ในการเลือกตั้งใน ค.ศ. 2011 มีผู้ออกเสียงลงคะแนนล่วงหน้า 334,600 คน คิดเป็น 14.7% ของผู้มีสิทธิออกเสียงลงคะแนนทั้งหมด[4] ต่อมาในการเลือกตั้งใน ค.ศ. 2017 ผู้ออกเสียงลงคะแนนล่วงหน้าเพิ่มขึ้นเป็น 48%[5] และในการเลือกตั้งใน ค.ศ. 2020 เพิ่มขึ้นเป็น 66.7%[6]
ในประเทศออสเตรเลีย เมื่อต้องมีการออกเสียงลงคะแนน ผู้มีสิทธิออกเสียงลงคะแนนจะสามารถออกเสียงลงคะแนนล่วงหน้าได้ด้วยสาเหตุหลายประการ เช่น การเดินทาง การตั้งครรภ์ การทำงาน รวมถึงเหตุผลทางศาสนาที่ทำให้ไม่อาจออกเสียงลงคะแนนในวันจริงได้[7] ในการเลือกตั้งใน ค.ศ. 2019 มีผู้ออกเสียงลงคะแนนล่วงหน้า 6.1 ล้านคน (ทั้งโดยการมาออกเสียงลงคะแนนด้วยตนเองและผ่านทางไปรษณีย์) คิดเป็น 40.7% ของผู้มีสิทธิออกเสียงลงคะแนนทั้งหมด ซึ่งเป็นจำนวนที่เพิ่มขึ้น 26.4% จากการเลือกตั้งใน ค.ศ. 2013 และ 13.7% จากการเลือกตั้งใน ค.ศ. 2007[8]
สำหรับประเทศไทย เปิดให้ผู้มีสิทธิออกเสียงลงคะแนนล่วงหน้าได้ ทั้งในและนอกเขตเลือกตั้งที่ตนสังกัด และนอกราชอาณาจักร โดยต้องลงทะเบียนก่อน[9] และมีสถิติว่า ในการเลือกตั้งใน พ.ศ. 2566 มีผู้ลงทะเบียนรวม 2,285,522 คน มาใช้สิทธิจริง 2,090,114 คน คิดเป็นราว 91% ของผู้ลงทะเบียน[10] ส่วนในการเลือกตั้งก่อนหน้า คือ การเลือกตั้งใน พ.ศ. 2562 นั้น มีผู้ลงทะเบียนรวม 2,713,720 คน มาใช้สิทธิจริง 2,364,587 คน คิดเป็นราว 87% ของผู้ลงทะเบียน[11] ผู้ลงทะเบียนแล้วไม่ใช้สิทธิ จะไม่สามารถใช้สิทธิในวันจริงได้อีก และจะเสียสิทธิบางประการในทางการเมืองด้วย (เว้นแต่ได้แจ้งเหตุตามที่กฎหมายกำหนด) เช่น สิทธิในการคัดค้านการเลือกตั้ง สิทธิในการสมัครรับเลือกตั้ง สิทธิในการดำรงตำแหน่งทางการเมือง ฯลฯ[12]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ ธิดารัตน์ อุ่นจันทร์ (n.d.). "พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561". รัฐสภาไทย. p. 18.
- ↑ Thomas Heinmaa, Special Voting Arrangements (SVAs) in Europe: In-Country Postal, Early, Mobile and Proxy Arrangements in Individual Countries, International Institute for Democracy and Electoral Assistance (October 19, 2020).
- ↑ "Advance voting starts on Monday". Electoral Commission (ภาษาอังกฤษ). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ September 23, 2017. สืบค้นเมื่อ September 24, 2017.
- ↑ Cheng, Derek (September 3, 2014). "In early to make your vote count – from today". The New Zealand Herald. สืบค้นเมื่อ September 18, 2014.
- ↑ "Advance voting statistics". Electoral Commission (ภาษาอังกฤษ). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ September 23, 2017. สืบค้นเมื่อ September 24, 2017.
- ↑ "2020 General Election advance voting statistics | Elections". elections.nz (ภาษาNew Zealand English). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 5 October 2020. สืบค้นเมื่อ 6 October 2020.
- ↑ "Voting". Australian Electoral Commission. Commonwealth Government. 2018. สืบค้นเมื่อ November 5, 2018.
- ↑ Lewis, Rosie (June 7, 2019). "MPs scrutinise early votes and Palmer's spree". The Australian. สืบค้นเมื่อ May 27, 2020.
- ↑ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดฉะเชิงเทรา (2023-03-27). "หนังสือที่ ลต (ฉช) 0002/323" (PDF). สำนักงานเขตพื้นที่การประถมศึกษา ฉะเชิงเทรา เขต 1.
- ↑ The Standard Team (2023-05-08). "เลือกตั้ง 2566 : กกต. รายงานยอดผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าในเขต 94.37% นอกเขต 91.37%". The Standard.
- ↑ "ย้อนทุกสถิติเลือกตั้ง ปี'62 ก่อนเข้าคูหากาบัตร 14 พ.ค.66". มติชน. 2023-03-26.
- ↑ "เลือกตั้ง 2566 : ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง 2566 ได้หรือไม่ หากไม่ไปจะถูกจำกัดสิทธิอะไรบ้าง". พีพีทีวีออนไลน์. 2023-04-26.