ข้ามไปเนื้อหา

กาเลวาลา

นี่คือบทความคุณภาพ คลิกเพื่อดูรายละเอียดเพิ่มเติม
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

กาเลวาลา
กาเลวาลา ฉบับพิมพ์ครั้งแรก ค.ศ. 1835
ผู้ประพันธ์เอเลียส เลินน์รูต
ชื่อเรื่องต้นฉบับKalevala
ประเทศฟินแลนด์
ภาษาฟินแลนด์
ประเภทมหากาพย์
วันที่พิมพ์ค.ศ. 1835

กาเลวาลา (ฟินแลนด์: Kalevala, Kalewala) เป็นบทกวีมหากาพย์ ซึ่งนักปรัชญาชาวฟินแลนด์ เอเลียส เลินน์รูต เรียบเรียงขึ้นจากลำนำพื้นบ้านในภาษาฟินแลนด์และภาษาคาเรเลียในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 บทกวีนี้ได้รับยกย่องให้เป็นมหากาพย์แห่งประเทศฟินแลนด์ และเป็นงานวรรณกรรมชิ้นสำคัญที่สุดของประวัติศาสตร์ฟินแลนด์[1] มีส่วนสำคัญในการกระตุ้นจิตวิญญาณของพลเมือง ทำให้ฟินแลนด์สามารถแยกตัวเป็นเอกราชจากรัสเซียได้สำเร็จในปี ค.ศ. 1917[2]

เนื้อเรื่องของ กาเลวาลา เล่าถึงตำนานการสร้างโลก การกำเนิดของเทพเจ้า และการต่อสู้ของวีรบุรุษแห่งกาเลวา เพื่อต่อต้านอำนาจชั่วร้าย คือฝ่ายศัตรูแห่งแผ่นดินโปห์โยลา ซึ่งได้ครอบครองของวิเศษชื่อ ซัมโป วีรบุรุษแห่งกาเลวาได้แก่ ไวแนเมยเนน อิลมาริเนน และเลมมินไกเนน เป็นผู้เดินทางไปทำสงครามช่วงชิง ซัมโป เพื่อทำลายแผ่นดินโปห์โยลา เนื้อหาส่วนใหญ่ของมหากาพย์เกี่ยวข้องกับชีวิตและการเดินทางของไวแนเมยเนน ซึ่งเป็นตัวละครเอกและเป็นบุตรแห่งเทพสายลม ในตอนท้ายของเรื่อง ไวแนเมยเนนเดินทางออกจากโลกนี้ไป แล้วบุตรแห่งมาเรียตตาจึงได้ขึ้นเป็นกษัตริย์แห่งคาเรเลีย เป็นสัญลักษณ์สื่อถึงการรับศาสนาคริสต์เข้ามาในประเทศ

กาเลวาลา มีอิทธิพลอย่างสูงต่อแนวคิดศิลปะ วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ของประเทศฟินแลนด์ ชื่อบุคคลและสถานที่ต่างๆ ในเรื่องนำไปใช้เป็นชื่ออาคารสถานที่และวันเทศกาลเฉลิมฉลองต่างๆ ทั้งที่เกี่ยวข้องและไม่เกี่ยวข้องกับ กาเลวาลา ทั้งยังส่งอิทธิพลต่อการสร้างผลงานทางดนตรี ภาพยนตร์ และภาพวาด รวมถึงส่งอิทธิพลต่อการสร้างสรรค์งานวรรณกรรมจำนวนมากทั้งในและนอกประเทศฟินแลนด์ วรรณกรรมชิ้นสำคัญที่ได้รับอิทธิพลจาก กาเลวาลา คือ เดอะลอร์ดออฟเดอะริงส์ และ ตำนานบุตรแห่งฮูริน ผลงานของนักเขียนชาวอังกฤษ เจ. อาร์. อาร์. โทลคีน

ภูมิหลังของเรื่อง

[แก้]

"กาเลวา" หรือ "กาเลฟ" (ฟินแลนด์: Kalev) เป็นชื่อกษัตริย์ดึกดำบรรพ์ของประชาชนที่อาศัยอยู่ในเขตประเทศฟินแลนด์ คาเรเลีย และเอสโตเนียในสมัยโบราณ ในตำนานปรัมปราของเอสโตเนีย เอ่ยถึงบุตรแห่งกาเลวาว่าเป็นโอรสกษัตริย์ ส่วนในตำนานฟินแลนด์กล่าวว่ากาเลวาและเหล่าบุตรเป็นยักษ์ที่สร้างปราสาทมากมาย อาศัยอยู่ในดินแดนต่างๆ ตลอดทั่วเขตประเทศฟินแลนด์ สิ่งมหัศจรรย์ทางธรรมชาติหลายอย่างที่ดูใหญ่โตมากๆ หรือดูแปลกประหลาด มักกล่าวกันว่าเป็นผลงานสร้างของบรรดาบุตรแห่งกาเลวา ตำนานเล่าต่อมาว่า เมื่อประชาชนหันไปนับถือศาสนาคริสต์ พวกเขาก็เริ่มเกลียดชังบุตรแห่งกาเลวาที่ยังทำตัวนอกรีต ไม่ยอมเข้ารีตในศาสนา ต่อมาไม่นานบุตรแห่งกาเลวาก็เดินทางจากไป ชาวคริสเตียนเดินทางบุกเบิกแผ่นดินไปเรื่อยๆ ทำให้บุตรแห่งกาเลวาต้องหนีไกลออกไปเรื่อยๆ สุดท้ายพวกเขาไปอาศัยอยู่บนเกาะแห่งหนึ่งและไม่ต้องการหนีต่อไปอีก พวกพระจึงสาปบุตรแห่งกาเลวา นอกจากพวกเขาจะยกหินก้อนใหญ่ออกมาล่องเป็นเรือหนีไปเสีย จากนั้นก็ไม่มีผู้ใดได้พบบุตรแห่งกาเลวาอีกเลย

จากงานค้นคว้าของ Kristfrid Ganander ซึ่งรวบรวมบทกวีพื้นบ้านของฟินแลนด์ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 18 เขาระบุว่า กาเลวา มีโอรส 12 องค์ ในจำนวนนี้รวมถึง ไวแนเมยเนน อิลมาริเอน และ ฮีสิ

วรรณกรรมมหากาพย์แห่งชาติของเอสโตเนียเรื่องหนึ่งมีชื่อว่า Kalevipoeg มีความหมายว่า "บุตรแห่งกาเลฟ" ชาวฟินแลนด์เรียกดาวซิริอุสว่า Kalevantähti ซึ่งหมายถึง "ดวงดาวแห่งกาเลวา" และยังเรียกกลุ่มดาวที่พาดเป็นเข็มขัดของโอไรออนว่า "ดาบของกาเลวา" ส่วนบทกวีมหากาพย์แห่งชาติฟินแลนด์เรื่อง กาเลวาลา ก็มีความหมายว่า "แผ่นดินแห่งกาเลวา"

"แผ่นดินแห่งกาเลวา" จึงเป็นเสมือนประวัติศาสตร์ร่วมกันของพลเมืองที่อาศัยอยู่ในเขตฟินแลนด์ คาเรเลีย และเอสโตเนีย เรื่องราวอันเป็นตำนานปรัมปราเหล่านั้นได้รับการเล่าขานสืบต่อกันมาผ่านบทลำนำพื้นบ้านกระจัดกระจายอยู่ทั่วไปตลอดทั่วทั้งแผ่นดินแถบนั้น

โครงเรื่อง

[แก้]

กาเลวาลา ประกอบด้วยบทกวีซึ่งมีความยาวทั้งสิ้น 22,795 บท แบ่งออกเป็นเนื้อหาทั้งสิ้น 50 ตอน หรือ 50 คันตอส (ภาษาฟินแลนด์เรียก รูโน) มีเนื้อเรื่องโดยย่อดังต่อไปนี้

"Aino-Taru" ภาพวาดเรื่องราวของไอโน โดย Akseli Gallen-Kallela ค.ศ. 1891

คันตอสที่ 1-10 : ว่าด้วยไวแนเมยเนน ตอนที่หนึ่ง บรรยายความถึงการสร้างโลก มนุษย์คนแรกของโลก การประจันหน้าระหว่าง ไวแนเมยเนน กับ โยวกาไฮเนน โยวกาไฮเนนสัญญายกน้องสาวให้แก่ไวแนเมยเนนเพื่อแลกกับชีวิตตัว ไอโน (น้องสาวของโยวกาไฮเนน) เดินไปสู่ทะเล โยวกาไฮเนนแก้แค้น ไวแนเมยเนนได้รับบาดเจ็บและลอยไปถึงดินแดนโปห์โยลา (แผ่นดินเหนือ) ไวแนเมยเนนพบกับแม่หญิงแห่งแดนเหนือ และตกลงมอบซัมโป ให้แก่มารดาของนางเป็นของขวัญวิวาห์ ไวแนเมยเนนหลอกให้นายช่างอิลมาริเนนไปยังโปห์โยลา เพื่อสร้างซัมโปขึ้นที่นั่น

คันตอสที่ 11-15 : ว่าด้วยเลมมินไกเนน ตอนที่หนึ่ง เลมมินไกเนนลักพาตัวแม่หญิงกุลลิกกิออกมาจากเกาะ ทั้งสองได้ให้คำสัตย์สาบานต่อกัน แต่นางกลับลืมเสีย เลมมินไกเนนเดินทางไปยังโปห์โยลา เพื่อขอวิวาห์กับแม่หญิงแห่งแดนเหนือ โดยต้องทำภารกิจให้สำเร็จคือ วิ่งให้ชนะกวางของปีศาจ จับม้าของปีศาจใส่บังเหียน และยิงหงส์แห่งแดนตัวเนลา (ดินแดนแห่งความตาย) คนเลี้ยงแกะคนหนึ่งสังหารเลมมินไกเนนแล้วโยนร่างเขาทิ้งในแม่น้ำแห่งตัวเนลา มารดาของเลมมินไกเนนปลุกเขาขึ้นมาจากความตาย

คันตอสที่ 16-18 : ว่าด้วยไวแนเมยเนน ตอนที่สอง ไวแนเมยเนนเดินทางไปยังตัวเนลา เพื่อพบกับอันเทโร ไวพูเนน เพื่อขอมนตราสำหรับสร้างเรือที่แล่นไปยังโปห์โยลาได้ อิลมาริเนนกับไวแนเมยเนนแข่งขันกันเพื่อแย่งชิงแม่หญิงแห่งแดนเหนือ

ภาพวาดการสร้าง ซัมโป โดย Akseli Gallen-Kallela

คันตอสที่ 19-25 : ว่าด้วยการวิวาห์ของอิลมาริเนน อิลมาริเนนสามารถบรรลุภารกิจที่ได้รับมอบหมาย โดยได้รับความช่วยเหลือจากแม่หญิงแห่งแดนเหนือ ได้แก่ ไถหว่านท้องทุ่งที่เต็มไปด้วยงูพิษ ปราบหมาป่าแห่งตัวเนลา และจับปลาไพค์ในแม่น้ำแห่งตัวเนลา อิลมาริเนนได้วิวาห์กับแม่หญิงแห่งแดนเหนือ เรื่องเล่าเกี่ยวกับกำเนิดของเหล้าเอล

คันตอสที่ 26-30 : ว่าด้วยเลมมินไกเนน ตอนที่สอง เลมมินไกเนนไม่พอใจที่ไม่ได้รับเชิญไปในงานวิวาห์ เขาเดินทางไปยังโปห์โยลา และชนะการต่อสู้แบบตัวต่อตัวกับเจ้าแห่งแผ่นดินเหนือ กองทัพแดนเหนือจึงฮือขึ้นหมายแก้แค้น มารดาของเขาจึงแนะนำให้รีบหนีไปลี้ภัยอยู่บนเกาะ เมื่อเขากลับมาบ้านก็พบว่าบ้านถูกเผาเป็นเถ้าถ่าน จึงย้อนกลับไปโปห์โยลา พร้อมกับเทียรา สหายของเขา เพื่อแก้แค้น แต่นายหญิงแห่งแดนเหนือเสกทะเลให้กลายเป็นน้ำแข็ง เลมมินไกเนนจึงต้องย้อนกลับบ้าน

คันตอสที่ 31-36 : ว่าด้วยกุลเลร์โว อุนทาโม สังหารกาเลร์โว พี่ชายของตน รวมถึงข้าทาสบริวารทั้งหมด เว้นแต่เพียงภริยาผู้กำลังตั้งครรภ์และให้กำเนิดกุลเลร์โว อุนทาโมมอบหมายงานให้กุลเลร์โวหลายอย่าง แล้วแกล้งทำลายให้พินาศ เขาขายกุลเลร์โวให้ไปเป็นทาสของอิลมาริเนน และถูกทรมานต่างๆ นานาโดยภริยาของอิลมาริเนน จึงโต้ตอบและทำให้นางสิ้นชีวิต กุลเลร์โวหนีออกมาแล้วพบกับครอบครัวของตนปลอดภัยอยู่ที่แลปแลนด์ กุลเลร์โวได้สตรีนางหนึ่งเป็นภริยา แล้วต่อมาจึงรู้ว่าหญิงนั้นเป็นน้องสาวของตน กุลเลร์โวทำลายอุนตาโมลา (ดินแดนของอุนทาโม) แต่เมื่อกลับมาบ้านพบว่าทุกคนถูกสังหารหมดสิ้น เขาจึงฆ่าตัวตาย

คันตอสที่ 37-38 : ว่าด้วยอิลมาริเนน ตอนที่สอง อิลมาริเนนสร้างภริยาของตนขึ้นใหม่จากทองคำและเงิน แต่พบว่านางเย็นชา จึงทิ้งนางไป อิลมาริเนนลักน้องสาวของแม่หญิงแห่งแดนเหนือมาจากโปห์โยลา แต่นางล้อเลียนเขา เขาจึงทิ้งนางไป อิลมาริเนนบอกกับไวแนเมยเนนถึงชีวิตอันยั่งยืนที่โปห์โยลา อันเนื่องมาจากอำนาจของซัมโป

คันตอสที่ 39-44 : สงครามแห่งซัมโป (ว่าด้วยไวแนเมยเนน ตอนที่สาม) ไวแนเมยเนน อิลมาริเนน และเลมมินไกเนน แล่นเรือไปเพื่อชิงซัมโป พวกเขาสังหารปลาไพค์ยักษ์ และนำกระดูกกรามของมันมาสร้างพิณกันเตเลขึ้นเป็นตัวแรก ไวแนเมยเนนร้องเพลงกล่อมคนในห้องโถงแห่งโปห์โยลาจนหลับ และชิงซัมโปไป นายหญิงแห่งแดนเหนือระดมทัพใหญ่ แปลงกายเป็นนกอินทรี เข้าสู้เพื่อชิงซัมโปคืน ซัมโปร่วงลงไปในทะเล

คันตอสที่ 45-49 : โลวฮิแก้แค้นต่อกาเลวาลา นายหญิงแห่งแดนเหนือส่งโรคระบาดเข้ามาคร่าชีวิตพลเมืองแห่งกาเลวา และส่งหมีเข้ามาสังหารสัตว์เลี้ยง นางเก็บซ่อนดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ และขโมยไฟไปจากกาเลวา ไวแนเมยเนนกับอิลมาริเนนนำไฟกลับคืนมา ไวแนเมยเนนบังคับให้นายหญิงนำดวงอาทิตย์และดวงจันทร์กลับมาคืนบนฟากฟ้า

คันตอสที่ 50 : ว่าด้วยมาเรียตตา มาเรียตตาตั้งครรภ์จากการกินผลเบอร์รี่ และให้กำเนิดบุตรชายคนหนึ่ง เนื้อความช่วงนี้มีความหมายเป็นนัยถึงพระแม่มารีและพระเยซูคริสต์ ไวแนเมยเนนออกคำสั่งให้สังหารเด็กชาย เด็กชายว่ากล่าวตำหนิไวแนเมยเนนว่าต้องได้รับพิพากษาโทษ ต่อมาเด็กชายนี้ได้เป็นกษัตริย์แห่งคาเรเลีย ไวแนเมยเนนล่องเรือจากไป

รายชื่อคันตอสทั้งหมด

[แก้]

ตัวละคร

[แก้]
"Sammon puolustus" ภาพวาดสงครามชิงซัมโป โดย Akseli Gallen-Kallela ค.ศ. 1895
  • ไวแนเมยเนน (ฟินแลนด์: Väinämöinen) เป็นตัวละครหลักใน กาเลวาลา มีลักษณะเป็นเทพวีรบุรุษ มีอำนาจวิเศษในบทเพลงและดนตรี เขาเป็นบุตรของอิลมาตาร์ เทพมารดาแห่งสายลม และเป็นผู้ให้กำเนิดพิภพ การเดินทางของเขาส่วนมากเป็นการเดินทางอันศักดิ์สิทธิ์ ครั้งที่สำคัญคือคราวที่เขาเดินทางไปยัง ตัวเนลา ดินแดนแห่งความตาย เพื่อเสาะหามนตราแห่งการสร้างเรือไปยังโปห์โยลาจากยักษ์ใต้ดิน ชื่อ อันเทโร ไวพูเนน ไวแนเมยเนนเล่นเครื่องดนตรีเป็นพิณกันเตเล ซึ่งเป็นเครื่องสายชนิดหนึ่งของชาวฟินแลนด์ พิณกันเตเลคันหนึ่งของเขาสร้างขึ้นจากกระดูกกรามของปลาไพค์ยักษ์ การเดินทางหาคู่ของไวแนเมยเนนเป็นหัวใจหลักของเนื้อเรื่องเกือบทั้งหมด แต่เขาไม่สามารถมีภริยาดังใจหวัง ตัวอย่างเช่น ไอโน น้องสาวของโยวกาไฮเนน ยอมจมน้ำตายแต่ไม่ยอมแต่งงานกับเขา ไวแนเมยเนนได้ร่วมเป็นหนึ่งในคณะผู้ลัก ซัมโป เครื่องสีวิเศษของประชาชนแห่งโปห์โยลา
  • อิลมาริเนน (ฟินแลนด์: Ilmarinen) เป็นนายช่างผู้มีฝีมือสูงอย่างวิเศษ (เทียบได้กับ เวย์แลนด์ ในตำนานเยอรมัน หรือ ไดดะลัส ในตำนานกรีก) เขาเป็นผู้สร้างโดมแห่งห้วงหาว สร้าง ซัมโป และของวิเศษอื่นๆ อิลมาริเนนได้วิวาห์กับแม่หญิงแห่งแดนเหนือหลังจากทำศึกช่วงชิงกับไวแนเมยเนน ต่อมาเขาได้ร่วมเป็นหนึ่งในคณะผู้ลัก ซัมโป เครื่องสีวิเศษของประชาชนแห่งโปห์โยลา
  • โลวฮิ (ฟินแลนด์: Louhi) แม่มดแห่งแดนเหนือ หรือนายหญิงแห่งโปห์โยลา เป็นผู้วิเศษและผู้นำกลุ่มชนที่เป็นศัตรูกับประชาชนแห่งกาเลวา นางเป็นผู้ขโมยดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ลงมาจากฟากฟ้า และขโมยไฟไปจากประชาชนแห่งกาเลวา นางปกครองแผ่นดินโปห์โยลาเพียงลำพังหลังจากเลมมินไกเนนสังหารสามีของนาง นางเป็นมารดาของแม่หญิงแห่งแดนเหนือ ผู้ซึ่งนางสัญญาจะยกให้แก่อิลมาริเนนแลกกับการที่เขาสร้าง ซัมโป ให้แก่นาง
  • โยวกาไฮเนน (ฟินแลนด์: Joukahainen) เป็นพี่ชายของนางไอโน เขาเป็นคู่แข่งของไวแนเมยเนน เมื่อเขาแพ้การแข่งขันขับลำนำจึงต้องยกน้องสาวให้แก่ไวแนเมยเนน ทำให้ไอโนตัดสินใจฆ่าตัวตาย โยวกาไฮเนนคิดแก้แค้นไวแนเมยเนนโดยการยิงด้วยธนู แต่ไม่สำเร็จ ทว่าผลจากการนี้ทำให้ไวแนเมยเนนต้องสัญญาต่อโลวฮิว่าจะสร้าง ซัมโป ให้เป็นการตอบแทนที่ช่วยชีวิตเขาไว้
  • กุลเลร์โว (ฟินแลนด์: Kullervo) เป็นตัวละครแห่งความรันทดผู้ทำลายชีวิตของตัวเอง เขาถูกขายไปเป็นทาสของอิลมาริเนน ซึ่งยกเขาต่อไปเป็นทาสของภรรยา เนื่องจากนางทารุณโหดร้ายต่อกุลเลร์โว จึงถูกเขาสังหาร ความผิดพลาดหลายๆ อย่างที่เกิดขึ้นในชีวิตของกุลเลร์โวโดยมากเป็นผลมาจากนิสัยอันแปลกแยกและสถานะของเขาเอง ในเบื้องปลายเขาต้องปลิดชีวิตตัวเองหลังจากพบว่า ภรรยาสุดที่รักที่แท้เป็นน้องสาวของเขาเอง
  • เลมมินไกเนน (ฟินแลนด์: Lemminkäinen) เป็นตัวละครที่มีหน้าตาหล่อเหลา แต่เย่อหยิ่งอย่างร้ายกาจ เขาเสียชีวิตระหว่างภารกิจในการช่วงชิงแม่หญิงแห่งแดนเหนือ แต่มารดาของเขานำเขากลับมาจากแม่น้ำแห่งความตายที่ไหลผ่านตัวเนลา แล้วชุบชีวิตเขาขึ้นมาใหม่ ทำนองเดียวกันกับตำนานของเทพโอซีริส เลมมินไกเนนเป็นสมาชิกคนที่สามของคณะผู้ลัก ซัมโป ของวิเศษแห่งโปห์โยลา
  • บุตรแห่งมาเรียตตา (ฟินแลนด์: Marjatta) ปรากฏในคันตอสสุดท้ายของเรื่อง ตัวละครนี้เป็นสัญลักษณ์แฝงคติ (Allegory) สื่อถึงการที่ศาสนาคริสต์แผ่เข้าไปในประเทศฟินแลนด์ ตามท้องเรื่อง แม่หญิงมาเรียตตากินผลเบอร์รี่เข้าไป (คำว่า Maria เพี้ยนเป็น Marja ในภาษาฟินแลนด์แปลว่า เบอร์รี่) จากนั้นจึงให้กำเนิดบุตรชายคนหนึ่ง เนื่องจากเด็กชายนี้เกิดโดยไม่มีพ่อ ไวแนเมยเนนจึงสั่งประหารชีวิต เมื่อนั้นเด็กน้อยจึงเริ่มพูด และขอให้เทพอุคโค เจ้าแห่งท้องฟ้า เป็นผู้ตัดสิน หลังจากที่เด็กชายได้รับทราบเรื่องราวแต่หนหลังของไวแนเมยเนน ตลอดจนความผิดบาปทั้งปวงของเขาแล้ว เทพอุคโคจึงตั้งให้เด็กชายผู้นั้นขึ้นเป็นกษัตริย์แห่งคาเรเลีย ในตอนจบเรื่อง ไวแนเมยเนนเดินทางออกจากโลกนี้ไป แต่ได้ทิ้งพิณคันเตเลไว้ให้เป็นมรดกแก่ชาวฟินน์ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของบทกวีและศิลปศาสตร์

ประวัติการเรียบเรียง การแปลและการตีพิมพ์

[แก้]
สองพี่น้อง Poavila และ Triihvo Jamanen กำลังขับลำนำพื้นบ้านฟินแลนด์ ที่หมู่บ้าน Uhtua ในปี ค.ศ. 1894 ปัจจุบันคือสาธารณรัฐคาเรเลีย

บทกวีพื้นบ้านของฟินแลนด์

[แก้]

บทกวีพื้นบ้านของฟินแลนด์เริ่มมีการจดบันทึกไว้ตั้งแต่ช่วงคริสต์ทศวรรษ 1670 และมีการเก็บบันทึกไว้อย่างกระจัดกระจายตลอดช่วงทศวรรษต่อๆ มา จนกระทั่งถึงคริสต์ศตวรรษที่ 19 จึงเริ่มมีการรวบรวมและจัดเก็บให้เป็นระบบมากขึ้น บทกวีที่รวบรวมได้ในช่วงนี้มีมากกว่าสองล้านบท ในจำนวนนี้ 1.25 ล้านบทได้มีการเผยแพร่ ส่วนที่เหลือได้แต่เก็บเอาไว้ในสมาคมวรรณกรรมแห่งฟินแลนด์ ในเอสโตเนีย ในสาธารณรัฐคาเรเลีย และในบางส่วนของรัสเซีย

เอเลียส เลินน์รูต กับนักวิชาการยุคเดียวกันหลายคน (เช่น เอ. เจ. โซเจริน และ ดี.อี.ดี.ยูโรเปอุส)[3] ต่างรวบรวมบทกวีไว้จากแหล่งต่างๆ ที่กระจัดกระจายอยู่ในหมู่ชาวบ้านท้องถิ่นตลอดทั่วดินแดนคาเรเลียและอิงเกรีย พวกเขาจดบันทึกชื่อและอายุของผู้ขับลำนำ สถานที่ที่มีการขับลำนำเหล่านั้น รวมทั้งวันที่เก็บข้อมูล เลินน์รูตออกเก็บข้อมูลภาคสนามถึง 7 ครั้งตลอดช่วงระยะเวลา 9 ปี โดยเริ่มการสำรวจครั้งแรกตั้งแต่ ค.ศ. 1828[3] ในระหว่างการออกเก็บข้อมูลครั้งที่ 4 ในเดือนกันยายน ค.ศ. 1833 เมื่อเขารับฟังเรื่องราวของบทกวีและการแสดงบทลำนำ รวมถึงความเห็นต่อเรื่องราวเหล่านั้นที่แปลมาในภาษาที่เขาเข้าใจได้แล้ว เขาก็บังเกิดความคิดขึ้นว่า บทกวีมากมายเหล่านั้นน่าจะเล่าถึงเรื่องราวต่อเนื่องบางอย่างซึ่งเป็นเรื่องที่กว้างใหญ่กว่านั้น

ชาวบ้านขับร้องบทกวีด้วยลำนำตัวโน้ตห้าเสียง (Pentachord) บางครั้งก็ใช้เครื่องดนตรี กันเตเล (Kantele) มาช่วย จังหวะการร้องเปลี่ยนแปลงไปบ้าง แต่ท่วงทำนองจะประกอบด้วยกลุ่มตัวโน้ต สอง หรือสี่ บรรทัด แต่ละบรรทัดมี 5 บีท บางครั้งบทลำนำก็แตกต่างกันมาก แต่บางครั้งกลับสามารถร้องประสานกันได้เหมาะเจาะจากผู้ขับลำนำที่เข้าใจประเพณี ทั้งที่บทกวีเหล่านี้กระจัดกระจายอยู่ในพื้นที่กว้างใหญ่ไพศาลและมีวัฒนธรรมที่แตกต่างกันมากในแต่ละกลุ่มชุมชน แต่มันกลับสามารถร้องด้วยท่วงทำนองเดียวกัน หรือเรียกเฉพาะเจาะจงได้ว่าเป็นฉันทลักษณ์แบบ archaic trochaic tetrametre นอกจากนี้ยังมีคุณลักษณะของการสัมผัสอักษร (alliteration) การสะท้อนรูปประโยค (parallelism) รวมถึงลักษณะการเล่นคำสลับที่ (chiasmus) ซึ่งคล้ายคลึงกันอีกด้วย

แต่วันเวลาซึ่งสร้างสรรค์บทกวีมุขปาฐะเหล่านี้เกิดขึ้นเมื่อใดไม่แน่ชัด บทกวีช่วงที่เก่าแก่ที่สุด คือส่วนที่กล่าวถึงการสร้างโลก น่าจะเกิดขึ้นตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ขณะที่เนื้อหาในช่วงหลังที่กล่าวถึงการเผยแพร่ศาสนาคริสต์ น่าจะเกิดขึ้นในช่วงยุคเหล็ก

นักขับลำนำกาเลวาลาจำนวนมากที่เลินน์รูตได้ไปพบ มีคนสำคัญที่ควรเอ่ยถึงไว้ดังนี้

  • Arhippa Perttunen (ค.ศ. 1769–1840)
  • Matro
  • Ontrei Malinen (ค.ศ. 1780–1855)
  • Vaassila Kieleväinen
  • Soava Trohkimainen

การเรียบเรียงงานของเลินน์รูต

[แก้]

เลินน์รูตนำบทกวีทั้งหมดมาจัดลำดับใหม่ให้ปะติดปะต่อเรื่องราวกันได้ เขานำบทกวีบางชุดมารวมเข้าด้วยกัน จัดหมู่ตัวละคร และตัดบทกวีบางบททิ้งไปที่ดูไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อเรื่อง เพื่อพยายามเรียบเรียงให้ออกมาเป็นโครงเรื่องที่มีเหตุผล เขายังตั้งชื่อบางชื่อขึ้นใหม่เพื่อใช้แทนตัวละครบางตัวให้เป็นชื่อเดียวกันตลอดทั้งเรื่อง ในกาเลวาลาฉบับเรียบเรียงใหม่นี้ ประเมินได้ว่า หนึ่งในสามเป็นเนื้อหาเดิมที่เขาได้มาจากนักขับลำนำ ประมาณ 50% เป็นส่วนที่เลินน์รูตปรับแต่งเล็กน้อย 14% เป็นบทกวีที่เขาเขียนขึ้นใหม่โดยอ้างอิงตามกวีหลายบทที่มีความคล้ายคลึงกัน และอีก 3% เป็นส่วนที่เขาคิดแต่งขึ้นเอง แต่ส่วนที่เป็นผลงานสำคัญของเลินน์รูตคือการที่เขาเรียบเรียงจัดลำดับบทกวีเหล่านั้นเข้าด้วยกันจนกลายเป็นมหากาพย์

ปกหนังสือ กาเลวาลา มหากาพย์แห่งฟินแลนด์ โดย จอห์น มาร์ติน ครอว์ฟอร์ด ค.ศ. 1888

การตีพิมพ์

[แก้]

ผลงานเรียบเรียงฉบับแรกของเลินน์รูต คือ Kalewala, taikka Wanhoja Karjalan Runoja Suomen Kansan muinoisista ajoista (กาเลวาลา, บทกวีโบราณแห่งคาเรเลีย ว่าด้วยปุราณยุคของชาวฟินแลนด์) หรือที่รู้จักกันทั่วไปว่า กาเลวาลาฉบับเก่า ตีพิมพ์ออกมาเป็นสองเล่ม ในปี ค.ศ. 1835-1836 กาเลวาลาฉบับเก่าประกอบด้วยบทกวี 32 ชุด จำนวน 12,078 บท[4]

เลินน์รูตเรียบเรียงข้อมูลใหม่เพิ่มเติมอีก และได้จัดทำเป็นเอดิชันที่สอง ใช้ชื่อว่า Kalevala ตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1849 กาเลวาลาฉบับใหม่นี้ประกอบด้วยบทกวี 50 ชุด และเป็นฉบับมาตรฐานที่ใช้ในการศึกษามหากาพย์กาเลวาลาในปัจจุบัน[4]

การแปล

[แก้]

กาเลวาลาได้แปลเป็นภาษาอังกฤษครบทั้งชุดรวม 5 ครั้ง และแบบบางส่วนอีกหลายครั้ง ครั้งแรกสุดแปลโดย จอห์น มาร์ติน ครอว์ฟอร์ด (ค.ศ. 1888)[5] ต่อมาแปลโดย วิลเลียม ฟอร์เซล เคอร์บี (ค.ศ. 1907) และครั้งล่าสุดโดย เยโน ไฟรเบิร์ก (ค.ศ. 1989) นอกจากนี้ เอ็ดเวิร์ด เทย์เลอร์ เฟลชเชอร์ ชาวแคนาดา ได้แปลบางส่วนของกาเลวาลาในปี ค.ศ. 1869 และนำเสนอต่อสมาคมวรรณกรรมและประวัติศาสตร์แห่งควิเบค เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 1869

ปี ค.ศ. 1963 ฟรานซิส เพียโบดี มากูน จูเนียร์ ได้แปลมหากาพย์ชุดนี้เป็นร้อยแก้ว โดยพยายามรักษาความหมายของเรื่องไว้ให้ได้มากที่สุด ในภาคผนวกของฉบับแปลครั้งนี้มีหมายเหตุจำนวนมากที่อธิบายถึงข้อมูลทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของบทกวีนั้น แสดงข้อเปรียบเทียบระหว่าง กาเลวาลาฉบับเก่า กับ ฉบับที่แพร่หลายในปัจจุบัน และดัชนีคำศัพท์อธิบายถึงชื่อเฉพาะต่างๆ ที่ปรากฏในบทกวี

ปัจจุบัน กาเลวาลา ได้แปลเป็นภาษาต่างๆ แล้ว 52 ภาษา[6] และบางส่วนของเนื้อเรื่องมีการแปลออกไปแล้วกว่า 60 ภาษา

อิทธิพลของกาเลวาลา

[แก้]
รูปปั้น 'ไวแนเมยเนน' โดย โรเบิร์ต สไตเจลล์ สร้างขึ้นในปี ค.ศ. 1870 ที่กรุงเฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์
อาคารโปห์โยลา ในกรุงเฮลซิงกิ

มาร์คู เนียมิเนน (Marku Nieminen) ผู้อำนวยการสถาบันกาเลวาลาแห่งฟินแลนด์ หรือ จูมินเกโก กล่าวถึงอิทธิพลของ กาเลวาลา ว่า "หากมิใช่เพราะกาเลวาลา ฟินแลนด์คงไม่มีทางได้รับเอกราช และคงไม่มีภาษาเป็นของตัวเอง เราคงต้องใช้ภาษารัสเซียหรือภาษาสวีดิชแทน"[7] ราวต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 ฟินแลนด์ยังตกอยู่ใต้การปกครองของรัสเซีย โดยที่ซาร์แห่งรัสเซีย ดำรงตำแหน่งแกรนด์ดยุคแห่งฟินแลนด์ด้วย แต่หลังจากที่รัสเซียเปลี่ยนแปลงการปกครองไปสู่ระบอบคอมมิวนิสต์ ตามมาด้วยความยุ่งเหยิงระหว่างสงครามโลกครั้งที่หนึ่งซึ่งชาวฟินแลนด์ต้องส่งทหารไปร่วมรบในบอลติกด้วย ฟินแลนด์เริ่มตื่นตัวและพยายามประกาศตัวเป็นเอกราช[8] มีความเคลื่อนไหวทางวัฒนธรรมครั้งใหญ่ในฟินแลนด์ในคริสต์ศตวรรษที่ 19 นักวิชาการ นักปรัชญา กวีและนักประพันธ์หลายคนต่างมีบทบาทสำคัญ เช่น เจ. แอล. รูนเบิร์ก นักกวี; เจ. วี. สเนลล์แมน รัฐบุรุษและนักปรัชญา ผู้ชูประเด็นความเป็นเอกลักษณ์ของภาษาฟินแลนด์ รวมถึงนักภาษาศาสตร์ เอเลียส เลินน์รูต ผู้เรียบเรียงงานมหากาพย์ กาเลวาลา[9] โดยที่ กาเลวาลา เป็นงานที่ได้รับเกียรติว่าไม่เพียงเป็นตำนานของชนท้องถิ่นแถบนั้น แต่เป็น "สัญลักษณ์" และได้รับยกย่องให้เป็น "มหากาพย์แห่งชาติ" ของฟินแลนด์[10] กาเลวาลา จึงมีอิทธิพลต่อวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ของประเทศฟินแลนด์มาก ปรากฏผลงานสืบเนื่องอยู่มากมายในฟินแลนด์ ตั้งแต่ดนตรีไปจนถึงงานศิลปะ นอกจากนี้ยังส่งผลต่อวัฒนธรรมอื่นๆ นอกประเทศฟินแลนด์ด้วยเช่นกัน มากน้อยแตกต่างกันไป

ในประเทศฟินแลนด์มีงานเฉลิมฉลอง "วันกาเลวาลา" ในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ของทุกปี อันเป็นวันครบรอบการตีพิมพ์ผลงานของเอเลียส เลินน์รูต เป็นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1835[11]

ชื่ออื่นๆ ในตำนาน กาเลวาลา ยังใช้เป็นชื่อวันเทศกาลเฉลิมฉลองต่างๆ ในฟินแลนด์ แม้จะไม่มีความเกี่ยวข้องกับตัววรรณกรรมโดยตรงก็ตาม รวมถึงนำไปใช้ตั้งชื่อสถานที่ต่างๆ ด้วย เช่น อาคารโปห์โยลา (Pohjola House) ในกรุงเฮลซิงกิ ซึ่งสร้างขึ้นในปี ค.ศ. 1901 ด้านหน้ามีป้ายสลักชื่อทั้ง "โปห์โยลา" และ "คุลแลร์โว" ปัจจุบันเป็นที่ทำการของบริษัทประกันภัยแห่งหนึ่ง ยังมีธนาคารแห่งหนึ่งในฟินแลนด์ชื่อว่า ธนาคารซัมโป ซึ่งนำชื่อมาจากของวิเศษในเรื่อง กาเลวาลา นั่นเอง

ภาพวาด

[แก้]
ภาพวาด ไวแนเมยเนน โดย โรเบิร์ต วิลเฮล์ม เอคแมน

ศิลปินหลายคนสร้างผลงานที่ได้รับแรงบันดาลใจจาก กาเลวาลา ผู้ที่โดดเด่นเป็นพิเศษได้แก่ Akseli Gallen-Kallela ศิลปินชาวฟินแลนด์ซึ่งมีชีวิตอยู่ในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 ซึ่งได้วาดภาพมากมายเกี่ยวกับวรรณกรรม กาเลวาลา ผลงานของเขาถือเป็นงานเอกลักษณ์สำคัญของความเป็นประเทศฟินแลนด์[12][13]

ศิลปินชาวฟินแลนด์ในยุคจินตนิยมอีกคนหนึ่งที่นิยมวาดภาพประกอบวรรณกรรมเรื่อง กาเลวาลา คือ โรเบิร์ต วิลเฮล์ม เอคแมน ปรากฏภาพวาดเก่าแก่ภาพหนึ่งในปี ค.ศ. 1886 เป็นภาพไวแนเมยเนนกำลังเล่นพิณกันเตเล

Aarno Karimo เป็นศิลปินชาวฟินแลนด์อีกคนหนึ่งที่วาดภาพประกอบอันสวยงาม ชื่อ Kuva Kalevala (ตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ Pellervo-Seura ในปี ค.ศ. 1953) แต่เขาเสียชีวิตก่อนจะสร้างงานสำเร็จ ฮิวโก โอตาวา สานงานของเขาต่อโดยใช้แบบสเก็ตช์ดั้งเดิมของเขาเป็นแนวทาง

ปี ค.ศ. 1989 งานแปล กาเลวาลา เป็นภาษาอังกฤษแบบครบชุดครั้งที่สี่ ตีพิมพ์พร้อมกับภาพวาดประกอบอันงดงามของ Björn Landström

ดนตรี

[แก้]

ดนตรี นับเป็นสาขาที่ได้รับอิทธิพลจาก กาเลวาลา มากที่สุด เนื่องจากโดยพื้นฐานของ กาเลวาลา เป็นบทเพลงลำนำพื้นบ้านมาก่อน จากประวัติศาสตร์อันยาวนานของกาเลวาลา จึงมีบทเพลงพื้นบ้านและบทกวีอยู่หลายบทที่เชื่อว่าได้รับแรงบันดาลใจจากกาเลวาลา

บทเพลงที่มีชื่อเสียงมากที่สุดว่าได้รับอิทธิพลจาก กาเลวาลา มาโดยตรง คืองานของนักแต่งเพลงคลาสสิกชื่อ ฌอง ซิบิเลียส (Jean Sibelius)[12] ผลงานอันโด่งดังของเขาจำนวน 12 ชุดมีพื้นฐานมาจาก กาเลวาลา รวมถึงเพลง กุลเลร์โว ซึ่งเป็นเพลงซิมโฟนีที่เขาแต่งขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1892 ซึ่งเป็นปีเดียวกันกับที่เขาเดินทางไปยังคาเรเลียด้วย[13] นอกจากนี้ยังมีเพลงโอเปราร่วมสมัยอีกสามเพลงแต่งโดย Einojuhani Rautavaara ได้แก่เพลง Sammon ryöstö, Marjatta และ Thomas

นอกเหนือจากงานเพลงคลาสสิก ยังมีวงดนตรีโปรเกรสซิฟร็อกของฟินแลนด์ในยุคคริสต์ทศวรรษ 1970 วงหนึ่งชื่อ "กาเลวาลา" ได้สร้างงานเพลงรวม 3 อัลบั้ม ปัจจุบันไม่สามารถหาซื้อซีดีได้แล้ว แต่มีชุดรวมเนื้อเพลงออกวางจำหน่ายในปี ค.ศ. 2004[14]

วงดนตรีเมทัลอีกวงหนึ่งของฟินแลนด์ชื่อ อะมอร์ฟิส (Amorphis) มีงานเพลงซึ่งใช้คอนเซปต์จากเรื่องกาเลวาลา โดยใช้บทแปลจากต้นฉบับดั้งเดิมมาใช้เป็นเนื้อเพลง[15] วงนี้เป็นที่รู้จักกันว่านิยมใช้เรื่อง กาเลวาลา ในการประพันธ์เพลง อัลบั้มของพวกเขาได้แก่ Tales from the Thousand Lakes, Elegy, Eclipse และ Silent Waters นอกจากนี้ยังมีวงดนตรีโฟล์กเมทัลชื่อ Ensiferum ได้แต่งเพลงหลายเพลง เช่น "Old Man" และ "Little Dreamer" ซึ่งเกี่ยวกับเรื่อง กาเลวาลา เช่นกัน อัลบั้มของพวกเขาในปี 2006 ชื่อ Dragonheads เพลงที่สาม มีชื่อว่า "Kalevala Melody" เป็นการนำเนื้อหาจากตอน "Vaka vanha Väinämöinen" มาบรรเลงเป็นดนตรี

วรรณกรรมอื่น

[แก้]
"กุลเลร์โว" ของ Akseli Gallen-Kallela ตัวละครที่มีอิทธิพลต่อวรรณกรรมต่างๆ มากมาย

นอกจาก กาเลวาลา จะแปลไปเป็นภาษาต่างๆ มากกว่า 52 ภาษาแล้ว ยังมีการนำไปดัดแปลง หรือเล่าใหม่ หรือเสริมแต่งในรูปแบบต่างๆ อีกมากมาย

ตัวอย่างผลงานที่ได้รับแรงบันดาลใจจากกาเลวาลา ที่สำคัญที่สุด คือผลงานของ เจ. อาร์. อาร์. โทลคีน ซึ่งเขายอมรับว่า กาเลวาลา เป็นหนึ่งในแหล่งข้อมูลที่สำคัญยิ่งของเขาในการสร้างงานเขียน[16] ซึ่งต่อมาได้ตีพิมพ์ในชื่อ ซิลมาริลลิออน ตัวอย่างอิทธิพลของผลงาน เช่น เรื่องราวโศกนาฏกรรมของกุลเลร์โว ได้เป็นพื้นฐานในการสร้างตัวละคร ทูริน ทูรัมบาร์ ใน นาร์น อิ ฅีน ฮูริน หรือ ตำนานบุตรแห่งฮูริน (รวมไปถึงเรื่องของดาบพูดได้ ที่วีรบุรุษผู้อาภัพใช้ในการปลิดชีพตัวเอง) นอกจากนี้ยังมีอิทธิพลจากตัวละครอื่นในกาเลวาลา เช่น ลักษณะของ ไวแนเมยเนน ที่เป็นต้นแบบส่วนหนึ่งในการสร้างตัวละครพ่อมด ในเรื่อง เดอะลอร์ดออฟเดอะริงส์

บทแปลมหากาพย์ในภาษาเยอรมัน ได้เป็นแรงบันดาลใจต่อบทกวีของ ลองเฟลโลว์ ในปี ค.ศ. 1855 บทลำนำแห่งไฮยาวาธา ประพันธ์ขึ้นด้วยฉันทลักษณ์เดียวกัน (คือ trochaic tetrameter)[17] ทั้งยังส่งผลต่อนักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษ เอียน วัตสัน ในการเขียน หนังสือแห่งมานา ทั้งสองเล่ม คือเรื่อง Lucky's Harvest และ The Fallen Moon[18]

มหากาพย์แห่งชาติเอสโตเนีย เรื่อง Kalevipoeg (เรียบเรียงโดย ฟรีดดริค ไรน์โฮลด์ ครูทซวาลด์ พิมพ์ครั้งแรกในปี ค.ศ. 1853) ก็ได้รับการเอ่ยถึงบ่อยครั้งว่าได้รับอิทธิพลอย่างมากจาก กาเลวาลา เนื่องจากปรากฏชื่อของ ไวแนเมยเนน และ อิลมาริเนน ในบทกวีเหล่านั้นด้วย และเนื้อเรื่องชีวิตของ Kalevipoeg (บุตรชายของกาเลฟ) ก็มีความคล้ายคลึงกับชีวิตของ กุลเลร์โว อย่างมาก[19]

หนังสือที่มีชื่อเสียงอีกเล่มหนึ่ง คือหนังสือเด็กเรื่อง Koirien Kalevala (The Canine Kalevala) เขียนเรื่องและวาดภาพประกอบโดย เมารี คุนนัส (แปลเป็นภาษาอังกฤษโดย ทิม สเตฟฟา)[20] หนังสือเล่มนี้ส่งอิทธิพลต่อนักวาดการ์ตูนชาวอเมริกัน คีโน ดอน โรซา ในการสร้างบทละครผจญภัยตอนหนึ่งของ โดนัลด์ ดั๊ก ชื่อ "ภารกิจกาเลวาลา" (The Quest for Kalevala)[21]

กวีและนักเขียนบทละครชาวฟินแลนด์ผู้มีชื่อเสียง ซึ่งเคยได้รับรางวัล Neustadt Prize คือ ปาโว ฮาวิกโก (Paavo Haavikko) เป็นอีกผู้หนึ่งที่เป็นที่รู้จักกันดีว่า ได้แรงบันดาลใจมาจาก กาเลวาลา ไม่น้อย[22]

เอมิล เพตาจา (ค.ศ. 1915 - 2000) เป็นนักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์และแฟนตาซีชาวอเมริกัน ซึ่งมีเชื้อสายฟินแลนด์ ได้สร้างผลงานมากมายที่ได้รับแรงบันดาลใจจาก กาเลวาลา ในหนังสือทุกเล่มที่อยู่ในชุด "โอตาวาซีรีส์" คือ Saga of Lost Earth's (สำนักพิมพ์เอซบุ๊คส์, 1966) , Star Mill (สำนักพิมพ์เอซบุ๊คส์, 1966) , The Stolen Sun (สำนักพิมพ์เอซบุ๊คส์, 1967) , และ Tramontane (สำนักพิมพ์เอซบุ๊คส์, 1967) มีตัวละครซึ่งเป็นผู้สืบเชื้อสายชาวโลก เป็นหนึ่งในสี่วีรบุรุษจากเรื่อง กาเลวาลา ที่จุติมาเกิดใหม่ และเริ่มการผจญภัยบน โอตาวา ดาวเคราะห์อันเป็นจุดกำเนิดของตำนานแห่งกาเลวาลา นอกจากนี้ยังมีผลงานอื่นที่มิได้อยู่ในซีรีส์นี้ แต่ก็มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับกาเลวาลา คือเรื่อง The Time Twister (สำนักพิมพ์เดลล์, 1968)[23]

เรื่องของกุลเลร์โว ยังเป็นแรงบันดาลใจสำคัญต่อนักเขียนนิยายแฟนตาซีชาวอังกฤษ ไมเคิล มัวร์ค็อค ในนวนิยายแฟนตาซีแนวดาบและเวทมนตร์ ว่าด้วยวีรบุรุษต่อต้านสังคมที่ชื่อ เอลริค แห่งเมลนิโบน[24]

ภาพยนตร์

[แก้]

ปี ค.ศ. 1959 มีการสร้างภาพยนตร์ร่วมทุนระหว่างฟินแลนด์กับโซเวียต เรื่อง Sampo (หรือ วันที่โลกเป็นน้ำแข็ง) ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจมาจากเรื่องราวของ แซมโป ใน กาเลวาลา[25]

ต่อมาในปี ค.ศ. 2006 ภาพยนตร์ร่วมทุนระหว่างฟินแลนด์กับจีน เรื่อง Jadesoturi (หรือ นักรบหยก) ออกฉายเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม ค.ศ. 2006 โดยใช้ กาเลวาลา มาเป็นโครงเรื่อง ภาพยนตร์ถ่ายทำทั้งในฟินแลนด์และประเทศจีน[26]

อ้างอิง

[แก้]
  1. Anneli Asplund, Kalevala – The Finnish National Epic เก็บถาวร 2005-11-20 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จากเว็บ Virtual Finland, ตุลาคม ค.ศ. 2000
  2. "Kalevala, Beyond the Movie". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-02-23. สืบค้นเมื่อ 2008-02-26.
  3. 3.0 3.1 Poetry collecting in Viena
  4. 4.0 4.1 Joe Brady, Elias Lönnrot เก็บถาวร 2008-12-30 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เมษายน ค.ศ. 2002
  5. Professor Michael Branch, Kalevala: from myth to symbol เก็บถาวร 2008-05-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, มีนาคม ค.ศ. 2000
  6. Tatjana Lesjak, Jelka Ovaska - Slovenian with Heart in Finland เก็บถาวร 2006-10-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จากเว็บ Slovenia News
  7. "สารคดีชุด "Kalevala : Beyond the Movie"". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-02-23. สืบค้นเมื่อ 2008-02-26.
  8. ออสโม โจโรเนน. "True Stories of The Finnish War of Independence" เก็บข้อมูลเมื่อ 2008-10-13
  9. "ประวัติศาสตร์ฟินแลนด์" เก็บถาวร 2008-12-08 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จากเว็บ world66.com เก็บข้อมูลเมื่อ 2008-10-13
  10. ศจ. ไมเคิล บรานช์, คณะยุโรปตะวันออกและสโลวานิกศึกษา มหาวิทยาลัยลอนดอน. "Kalevala: from myth to symbol" เก็บถาวร 2008-05-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จากเว็บ VirtualFinland.com เก็บข้อมูลเมื่อ 2008-10-13
  11. "Finland Calendar Almanac". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-11-13. สืบค้นเมื่อ 2008-02-26.
  12. 12.0 12.1 "Kalevalan päivä - The Kalevala Day". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-04-30. สืบค้นเมื่อ 2008-06-12.
  13. 13.0 13.1 Anneli Asplund, Kalevala – National Romanticism and the Golden Age of Finnish art เก็บถาวร 2007-01-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, ตุลาคม ค.ศ. 2000
  14. วงดนตรี "กาเลวาลา" แห่งยุคทศวรรษ 1970
  15. Tales From the Thousand Lakes amorphis.net
  16. ไบรอัน แฮนด์เวิร์ค (1 มีนาคม 2004) Lord of the Rings Inspired by an Ancient Epic. National Geographic News
  17. Liisa Berg. "Song of Hiawatha, Kalevala's Cousin?" เก็บถาวร 2008-10-12 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เก็บข้อมูลเมื่อ 2008-10-13
  18. "นิยายวิทยาศาสตร์ที่ได้รับอิทธิพลจากกาเลวาลา". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-10-16. สืบค้นเมื่อ 2008-10-13.
  19. Kalevipoeg จาก สารานุกรมบริเทนนิกาออนไลน์
  20. "The Canine Kalevala". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2006-12-23. สืบค้นเมื่อ 2008-10-13.
  21. Jukka Heiskanen. "Don Rosa and The Quest for Kalevala" เก็บข้อมูลเมื่อ 2008-10-13
  22. Pekka Tarkka. "ชีวประวัติ Paavo Haavikko" เก็บถาวร 2007-04-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จากเว็บไซต์ VirtualFinland.com เก็บข้อมูลเมื่อ 2008-10-13
  23. ชีวประวัติ เอมิล เพตาจา เก็บถาวร 2005-12-24 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จากเว็บไซต์สมาคมนักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์และแฟนตาซีแห่งสหรัฐอเมริกา
  24. Kullervo เก็บถาวร 2008-08-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน กับตัวละครในนิยายที่ได้รับแรงบันดาลใจจากกุลเลร์โว
  25. "The Day the Earth Froze" หรือ "Sampo" ข้อมูลภาพยนตร์จากเว็บ kiddiematinee.com เก็บข้อมูลเมื่อ 2008-10-13
  26. Jadesoturi Review เก็บถาวร 2006-11-13 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน บทวิจารณ์ภาพยนตร์จากเว็บ nodium.com เก็บข้อมูลเมื่อ 2008-10-13

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]