คตินิยมเปลี่ยนแนว
คตินิยมเปลี่ยนแนว (อังกฤษ: deconstructivism) หรืออาจเรียกว่า การเปลี่ยนแนว (deconstruction) เป็นรูปแบบสถาปัตยกรรมที่พัฒนาจากสถาปัตยกรรมหลังสมัยใหม่ ที่เริ่มช่วงปลายคริสต์ทศวรรษ 1980 โดยมีเอกลักษณ์จากรูปแบบการแตกกระจาย, ความสนใจในการเปลี่ยนแปลงพื้นผิวของโครงสร้างหรือเปลือก, รูปร่างที่ไม่ใช่เส้นตรง ที่ทำให้เกิดการทำให้บิดเบี้ยวและความไม่เป็นระเบียบขององค์ประกอบทางสถาปัตยกรรม อย่างเช่นโครงสร้างและสิ่งห่อหุ้ม ภาพปรากฏของอาคารที่เห็นจะมีเอกลักษณ์ที่เร่งเร้าสิ่งที่คาดไม่ถึงและความยุ่งเหยิงที่ถูกควบคุม
เหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ของการเคลื่อนไหวของนักนิยมเปลี่ยนแนว อย่างเช่นงานการแข่งขันการออกแบบสถาปัตยกรรมที่ปาร์กเดอลาวีแล็ต (โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในผลงานการเข้าแข่งขันของฌาคส์ แดร์ริดา และปีเตอร์ ไอเซนมาน[1] และผลงานชนะเลิศของเบอร์นาร์ด ชูมี, งานนิทรรศการสถาปัตยกรรมตามคติเปลี่ยนแนวที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่ ในปี ค.ศ. 1988 ที่นิวยอร์ก จัดขึ้นโดยฟิลิป จอห์นสันและมาร์ก วิกลีย์ และงานเปิดของเวกซ์เนอร์เซนเตอร์ฟอร์ดิอาตส์ ในโคลัมบัส ออกแบบโดยปีเตอร์ ไอเซนมาน และงานนิทรรศการเดอะนิวยอร์กเอกซิบิชัน ที่มีผลงานของแฟรงก์ เกห์รี, แดเนียล ลิเบส์ไคนด์, แร็ม โกลฮาส, ปีเตอร์ ไอเซนมาน, ซาฮ่า ฮาดิด, Coop Himmelb(l)au และบอร์นาร์ด ชูมี
จุดเริ่มต้น มีสถาปนิกหลายท่านรู้จักรูปแบบคตินิยมเปลี่ยนแนว ได้รับอิทธิพลจากแนวความคิดของนักปรัชญาชาวฝรั่งเศสที่ชื่อ ฌัก แดรีดา โดยไอเซนมานได้พัฒนาความสัมพันธ์กับแดรีดา ถึงกระนั้นรูปแบบการออกแบบทางสถาปัตยกรรมของเขาก็พัฒนามานานก่อนที่จะมาเป็นนักนิยมเปลี่ยนแนว ผู้มีงานคตินิยมเปลี่ยนแนวหลายคนมักได้รับอิทธิพลจากการทดลองจากกฎเกณฑ์ทั่วไปและการทำรูปทรงเรขาคณิตให้ไม่สมดุลของสถาปัตยกรรมคตินิยมโครงสร้าง (รัสเซีย) นอกจากนี้ยังมีการอ้างอิงในการเคลื่อนไหวสถาปัตยกรรมคตินิยมเปลี่ยนแนว อย่างนวยุคนิยม/คตินิยมหลังนวยุค, บาศกนิยม, ลัทธิจุลนิยม และศิลปะร่วมสมัย
ความพยายามของสถาปัตยกรรมในคตินิยมเปลี่ยนแนว คือการพยายามนำสถาปัตยกรรมออกจากที่ผู้ออกแบบเรียกว่า กฎตายตัวของนวยุคนิยม อย่างเช่น "รูปทรงตามประโยชน์ใช้สอย", "สัจจะแห่งรูปทรง" และ "เนื้อแท้แห่งวัสดุ"
อ้างอิง
[แก้]- ↑ Jacques Derrida and Peter Eisenman, Chora L Works (New York: Monacelli Press, 1997)