คอนสตันติน ซีออลคอฟสกี
คอนสตันติน ซีออลคอฟสกี | |
---|---|
เกิด | 17 กันยายน ค.ศ. 1857 |
เสียชีวิต | 19 กันยายน ค.ศ. 1935 |
สัญชาติ | ชาวรัสเซีย |
อาชีพ | นักทฤษฎีการสำรวจอวกาศ |
มีชื่อเสียงจาก | บิดาแห่งวิทยาการจรวดและการสำรวจอวกาศ |
คอนสตันติน เอดูอาร์โดวิช ซีออลคอฟสกี (หรือ ไซออลคอฟสกี) (อังกฤษ: Konstantin Eduardovich Tsiolkovsky; รัสเซีย: Константи́н Эдуа́рдович Циолко́вский; โปแลนด์: Konstanty Ciołkowski; 17 กันยายน ค.ศ. 1857 - 19 กันยายน ค.ศ. 1935) เป็นนักวิทยาศาสตร์ในยุคจักรวรรดิรัสเซีย และนักวิทยาศาสตร์ด้านจรวดของสหภาพโซเวียตและเป็นผู้บุกเบิกศาสตร์ด้านวิศวกรรมอวกาศและการสำรวจอวกาศ และเป็นแรงบันดาลใจในการผลักดันโครงการสำรวจอวกาศของสหภาพโซเวียตในเวลาต่อมา
ซีออลคอฟสกีได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในสามของบิดาแห่งวิทยาการจรวดและการสำรวจอวกาศร่วมกับแฮร์มัน โอแบร์ธและโรเบิร์ต ก็อดเดิร์ด แม้ทั้งสามคนนี้จะไม่เคยทำงานร่วมกันเลยก็ตาม
ชีวประวัติโดยสังเขป
[แก้]ซีออลคอฟสกีอาศัยอยู่ในบ้านต้นไม้บริเวณชานเมืองคาลูกา (Kaluga) ห่างจากกรุงมอสโกไปทางตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ 200 กิโลเมตร ตอนอายุ 9 ขวบ เขาก็ป่วยเป็นโรคไข้ดำแดง จนเขากลายเป็นคนที่มีปัญหาด้านการได้ยินในสภาพคนที่ใกล้หูหนวก และด้วยสภาพนี้เขาจึงไม่ได้เข้าเรียนในระดับประถมศึกษา เพราะปัญหาการได้ยิน จึงต้องศึกษาด้วยตนเองตั้งแต่วัยเยาว์
การล้มเหลวในการเข้าศึกษาซีออลคอฟสกีก็ได้ใช้เวลา 3 ปี ในการศึกษาด้วยตนเองอยู่ในหอสมุด ซึ่งเขาก็ได้รู้จักกัยนักจักรวาลวิทยาอย่างนีโคไล เฟียโดลอฟที่ทำงานอยู่ที่นั่นด้วย
ภายหลังจากนั้นซีออลคอฟสกี้ก็มีความเชื่อว่า การตั้งอาณานิคมในอวกาศจะนำพาความสมบูรณ์แบบให้กับมวลมนุษยชาติ ความเป็นนิรันดร์และไร้ความกังวลด้านการคงอยู่ของเผ่าพันธุ์มนุษย์
ด้วยแรงบันดาลใจจากนิยายวิทยาศาสตร์ด้านการผจญภัยในอวกาศของจูลส์ เวิร์น ทำให้ซีออลคอฟสกีคิดค้นทฤษฎีมากมายเกี่ยวกับการเดินทางในอวกาศและระบบขับเคลื่อนด้วยไอพ่นของจรวด เขาได้รับยกย่องเป็นหนึ่งในบิดาแห่งวิทยาการจรวดและการสำรวจอวกาศ เป็นคนแรกในโลกที่คิดเรื่องลิฟต์อวกาศ ซึ่งต่อมาเป็นแรงบันดาลใจให้แก่การสร้างหอไอเฟลในกรุงปารีสเมื่อปี ค.ศ. 1895
ในช่วงปลายของชีวิต เขาทำงานเป็นครูสอนคณิตศาสตร์ในโรงเรียนมัธยมศึกษาทั้งที่ใกล้จะหูหนวก จนกระทั่งเกษียณอายุเมื่อปี ค.ศ. 1920 หลังจากกลางคริสต์ทศวรรษ 1920 ไปแล้ว ความสำคัญของผลงานของเขาจึงค่อยเป็นที่ยอมรับ และซีออลคอฟสกีก็ได้รับความยกย่องนับแต่นั้น หลังจากเขาเสียชีวิตเมื่อวันที่ 19 กันยายน ค.ศ. 1935 ที่เมืองคาลูกา ก็มีการจัดพิธีฝังศพอย่างสมเกียรติเป็นพิธีแห่งรัฐ
โดยที่หน้าป้ายหลุมศพของเขามีคำจารึกที่แสดงถึงความทะเยอทะยานของมนุษย์ไว้ว่า "มนุษย์ จะไม่อาศัยอยู่แต่บนโลกนี้ตลอดไป ความเย้ายวนใจจากแสงอาทิตย์และอากาศ จะชักจูงให้มนุษย์ฝ่าบรรยากาศออกไปได้ถึงห้วงอวกาศและเอาชนะจักรวาลได้ในที่สุด"
การบรรลุผลเกี่ยวกับงานด้านวิทยาศาสตร์
[แก้]ในช่วงที่ซีออลคอฟสกีมีชีวิตอยู่ เขาได้ตีพิมพ์ผลงานมากถึง 88 ผลงานที่เกี่ยวกับการท่องอวกาศและหมวดอื่นๆที่เกี่ยวข้องกัน เช่น ระบบสเตียริงทรัสเตอร์, มัลติสเตจบูสเตอร์, สถานีอวกาศ, ระบบแอร์ล็อกสำหรับการออกนอกยานอวกาศที่อยู่ในสภาวะสุญญากาศ, และระบบวงจรชีวภาพแบบปิดทีให้อาหารและออกซิเจนสำหรับอาณานิคมในอวกาศ
ซีออลคอฟสกีได้ทำการศึกษาอย่างเป็นระบบเกี่ยวกับทฤษฎีกลไกการเคลื่อนที่ของระบบไอพ่น ตลอดจนการใช้จรวดขับดันเปิดหนทางสู่การสำรวจอวกาศ ซึ่งในปี ค.ศ. 1896 ไซออลคอฟสกี้ได้อธิบายทฤษฎีกลไกการเคลื่อนที่ของระบบไอพ่นเป็นสมการที่เรียกว่า "สมการการบิน", ที่แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่าง:
- ความเร็วของจรวดในทุกๆชั่วขณะ (speed of a rocket at any moment)
- พลังงานขับดัน (specific impulse fuel)
- มวลของจรวดในเวลาตั้งต้นและเวลาสิ้นสุด (mass of the rocket in the initial and final time)
งานที่สำคัญที่สุดของเขาคือ The Exploration of Cosmic Space by Means of Reaction Devices (Russian: Исследование мировых пространств реактивными приборами) ได้ถูกตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1903 ซึ่งซีออลคอฟสกีได้ทำการคำนวณด้วยสมการซีออลคอฟสกี ได้ข้อสรุปว่าความเร็วในการโคจรรอบโลกขั้นต่ำคือ 8,000 m/s (5 ไมล์ ต่อวินาที) นั้นสามารถทำได้ด้วย จรวดหลายระดับ (Multistage rocket) ที่บรรจุออกซิเจนเหลว และ ไฮโดรเจนเหลว
การเชิดชูเกียรติ
[แก้]ซีออลคอฟสกี ถือเป็นบุคคลสำคัญของสหภาพโซเวียต โดยเขาได้รับเกียรติจากสหภาพโซเวียตด้วยการทำเหรียญเงิน 1 รูเบิลให้มีรูปและชื่อของเขา
อนุสรณ์
[แก้]- สมการพื้นฐานของการขับเคลื่อนด้วยไอพ่น ชื่อ "สมการจรวดของซีออลคอฟสกี" ตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติแก่เขา
- รัฐพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์การสำรวจจักรวาลในเมืองคาลูกา รัสเซีย ชื่อ พิพิธภัณฑ์คอนสแตนติน อี. ซีออลคอฟสกี ตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติแก่เขา
- แอ่งซีออลคอฟสกี บนด้านไกลของดวงจันทร์ ตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติแก่เขา ขณะที่ดาวเคราะห์น้อย 1590 Tsiolkovskaja ตั้งชื่อตามภรรยาของเขา[1][2]
- ยานอวกาศในละครโทรทัศน์เรื่อง สตาร์เทรค ชื่อ К. Э. Циолковский (เค. อี. ซีออลคอฟสกี) ตั้งชื่อตามชื่อของเขา ปรากฏในตอน "The Naked Now"
- สถานีอวกาศซีออลคอฟสกี 1 ปรากฏในเรื่องสั้น Hinterlands ของ วิลเลียม กิบสัน
อ้างอิง
[แก้]- ↑ The Life of Konstantin Eduardovitch Tsiolkovsky เก็บถาวร 2008-06-24 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, Konstantin E. Tsiolkovsky State Museum of the History of Cosmonautics, เก็บข้อมูลเมื่อ 22 กันยายน 2008
- ↑ Konstantin E. Tsiolkovsky Scientific Biography เก็บถาวร 2008-09-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, Konstantin E. Tsiolkovsky State Museum of the History of Cosmonautics, เก็บข้อมูลเมื่อ 22 กันยายน 2008
ดูเพิ่ม
[แก้]แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- รายงานวิชาการเรื่อง ผลกระทบของซีออลคอฟสกีต่อคริสต์ศตวรรษที่ 21 (อังกฤษ)
- ซีออลคอฟสกี จาก russianspaceweb.com (รัสเซีย)
- [1][ลิงก์เสีย] จาก myfirstbrain.com (ไทย)