ข้ามไปเนื้อหา

ฉีหฺวันกง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ฉีหวนกง
斉桓公
ฉีกง (斉公)
ดำรงตำแหน่ง
685 ก่อน ค.ศ. – 643 ก่อน ค.ศ.
หัวหน้ารัฐบาลก่วน จ้ง
กงซุน สีเผิง
เป้า ชูหยา
ก่อนหน้ากงซุนอู๋จือ
ถัดไปกงจื่ออู๋กุ้ย
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด718 ก่อน ค.ศ.
เสียชีวิต8 ตุลาคม 643 ก่อน ค.ศ.
คู่สมรส
  • เจ้าหญิงหวางจี (王姫)
  • นางสวีอิง (徐姫)
  • นางไช่จี (蔡姫)
  • นางเหว่ยกงจี
  • นางเส้าเหว่ยจี (少衛姫)
  • นางเจิ้งจี (鄭姫)
  • นางเก้ออิง (葛嬴)
  • นางมี่จี (密姫)
  • นางซ่งฮวาจื่อ (宋華子)
บุตร
บุพการี
  • ฉีซีกง (斉釐公) (บิดา)
  • นางเหว่ยจี (มารดา)
ญาติ

ฉีหวนกง (จีน: 齊桓公; พินอิน: Qí Huán Gōng, ฮกเกี้ยน: เจ๋ฮวนก๋ง ; มรณะ 643 ก่อน ค.ศ.) ชื่อตัว เสี่ยวไป๋ (จีน: 小白; พินอิน: Xiǎobái, ฮกเกี้ยน: เสียวแปะ) เป็นเจ้าผู้ปกครองรัฐฉีชั้นกง ตั้งแต่ 685-643 ปี ก่อน ค.ศ. มีชีวิตอยู่ท่ามกลางความวุ่นวายของจีนยุควสันตสารท ซึ่งบรรดารัฐสามนตราชภายใต้การปกครองของราชวงศ์โจวต่างรบราฆ่าฟันกันเพื่อแย่งชิงความเป็นใหญ่เหนือหัวเมืองอื่น ๆ ฉีหวนกงกับก่วนจ้ง ที่ปรึกษาคู่บารมี ได้ทำให้รัฐฉีกลายเป็นข้วอำนาจทางการเมืองที่ทรงพลังมากที่สุดของจีนในยุคนั้น และต่อมาฉีหวนกงก็ได้รับการยอมรับจากหัวเมืองส่วนใหญ่ของราชวงศ์โจวและจากราชสำนักโจวให้อยู่ในฐานะอธิราชแห่งยุค ภายใต้สถานะดังกล่าว เขาได้ปกป้องดินแดนของราชวงศ์โจวจากการรุกรานของบรรดาชนเผ่านอกด่าน และได้พยายามฟื้นฟูระเบียบการปกครองทั่วทั้งแผ่นดินราชวงศ์โจว อย่างไรก็ตาม แม้เขาจะอยู่ในตำแหน่งกงแห่งรัฐฉียาวนานร่วมสี่สิบปี แต่อำนาจของฉีหวนกงก็ได้เริ่มเสื่อมถอยลงทั้งจากปัญหาสุขภาพของตัวฉีหวนกงเองและความวุ่นวายทางการเมืองภายในรัฐฉี เมื่อฉีหวนกงถึงแก่อสัญกรรมในปี 643 ก่อน ค.ศ. รัฐฉีก็สูญเสียอำนาจนำต่อบรรดารัฐสามนตราชของราชวงศ์โจวอย่างสิ้นเชิง

ปฐมวัยและการเถลิงอำนาจ

[แก้]

ฉีหวนกงเป็นบุตรของฉีซีกง (ฮกเกี้ยน: เจ๋ฮูก๋ง) มีชื่อเดิมว่า กงจื่อเสี่ยวไป๋ (ฮกเกี้ยน: ก๋งจูเสียวแปะ) ได้ศึกษาเล่าเรียนอยู่กับอาจารย์เป้าชูหยา (ฮกเกี้ยน: เปาซกแหย) เขามิได้มีสิทธิในการสืบทอดตำแหน่งฉีกงโดยตรงเพราะเขายังมีพี่ชายที่มีสิทธิอยู่ก่อนหน้าถึง 2 คน คือ กงจื่อจูเอ๋อร์ (ในเลียดก๊กฉบับภาษาไทยเรียกว่า ก๋งจูหยี) พี่ชายคนโต และกงจื่อจิ่ว (ฮกเกี้ยน: ก๋งจูกิว) พี่ชายคนรอง เมื่อฉีซีกงถึงแก่อสัญกรรม กงจื่อจูเอ๋อร์ได้สืบทอดตำแหน่งฉีกงในนาม ฉีเซียงกง แต่สมัยการปกครองของเขานั้นเต็มไปด้วยความร้าวฉานภายในและเรื่องอื้อฉาวต่าง ๆ เป้าชูหยาตระหนักถึงสถานการณ์อันไม่สู้ดีดังกล่าวและเกรงว่าภยันตรายจะมาถึงตัวลูกศิษย์ จึงได้พากงจื่อเสี่ยวไป๋ลี้ภัยไปอยู่ที่รัฐจวี่[1]

ครั้นเมื่อฉีเซียงกงถูกสังหารเมื่อ 686 ปีก่อน ค.ศ. กงซุนอู๋จื่อ (ฮกเกี้ยน: ก๋งจูบอดี) ผู้เป็นญาติ ได้เข้ายึดอำนาจปกครองรัฐฉี แต่ก็ถูกลอบสังหารในอีกหนึ่งเดือนต่อมา ทำให้กงจื่อเสี่ยวไป๋ตัดสินใจเดินทางกลับรัฐฉีเพื่อช่วงชิงสิทธิในการขึ้นเป็นฉีกง เขาต้องทำศึกชิงบัลลังก์กับกงจื่อจิ่วผู้เป็นพี่ชายคนรอง ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากบรรดาขุนนางระดับสูงของรัฐฉี ก่วนจ้ง (ฮกเกี้ยน: กวนต๋ง) ผู้เป็นทั้งอาจารย์และที่ปรึกษาคนสนิท และหลู่จวงกง (ฮกเกี้ยน: ฬ่อจงก๋ง) เจ้าผู้ปกครองรัฐหลู่ (เมืองฬ่อ) ในครั้งนั้นเขาถูกก่วนจ้งลอบยิงธนูใส่หมายเอาชีวิต แต่โชคดีที่ลูกธนูไปถูกหัวเข็มขัด เขาจึงรอดตายมาได้ และได้รีบเดินทัพเข้ายึดอำนาจในเมืองหลวงหลินจือ สถาปนาตนเองขึ้นเป็นฉีกงได้สำเร็จก่อนที่ทัพของกงจื่อจิ่วจะมาถึงเมืองหลินจือเมื่อ 685 ปีก่อน ค.ศ. (ในภายหลังเอกสารทางประวัติศาสตร์ของจีนได้เรียกเป็นสมัญญานามว่า "ฉีหวนกง" โดยคำว่า "หวน" (จีน: ; พินอิน: Huán) มีความหมายว่า "เสาหลัก" หรือ "ผู้ทรงอำนาจ")

กองทัพของหลู่จวงกงซึ่งยกมาสนับสนุนกงจื่อจิ่วได้เข้าทำศึกต่อกองทัพของฉีหวนกงทันที แต่ก็ต้องปราชัยต่อกองทัพรัฐฉีในสมรภูมิเฉียนจื้อและต้องล่าทัพกลับไป ส่วนกงจื่อจิ่วกับก่วนจ้งต้องหนีไปพึ่งพิงหลู่จวงกง หลังจากนั้นกองทัพฉีภายใต้การนำของเป้าชูหยาจึงได้ยกทัพไปที่รัฐหลู่ และเสนอให้หลู่จวงกงส่งศีรษะของกงจื่อจิ่วกับก่วนจ้งเพื่อแลกกับการไม่เข้าตีเมืองหลวงของรัฐหลู่ หลู่จวงกงสั่งประหารกงจื่อจิ่วเพื่อรักษาเมืองไว้ แต่ให้จับเป็นก่วนจ้งส่งคืนฉีหวนกง เนื่องด้วยเห็นว่าก่วนจ้งเป็นผู้มีสติปัญญาหลักแหลม ไม่ควรจะตายเปล่าในศึกครั้งนี้[1]

ช่วงเรืองอำนาจ

[แก้]

สั่งสมบารมี

[แก้]
ฉีหวนกงกับก่วนจ้ง

ถึงแม้อำนาจในตำแหน่งฉีกงจะมั่นคงแล้วก็ตาม แต่ฉีหวนกงก็ยังคาใจอยู่ว่าจะจัดการกับก่วนจ้งซึ่งเป็นผู้สนับสนุนพี่ชายที่เป็นคู่แข่งของตนอย่างไรดี เป้าชูหยาจึงเสนอให้ฉีหวนกงมอบตำแหน่งอัครมหาเสนาบดีที่สมุหนายกแก่ก่วนจ้ง และแนะนำให้ละทิ้งความแค้นส่วนตัวกับก่วนจ้งเสีย ด้วยมองเห็นว่าพรสวรรค์ของก่วนจ้งนั้นจะเป็นประโยชน์แก่บ้านเมืองอย่างยิ่ง ฉีหวนกงทำตามคำแนะนำดังกล่าว[1] และต่อมาก่วนจ้งก็ได้กลายเป็นที่ปรึกษาคนสำคัญและมากความสามารถที่สุดของฉีหวนกง ทั้งสองคนช่วยกันปรับปรุงโครงสร้างของรัฐบาลและสังคมรัฐฉี โดยการจัดสรรที่ดินแบ่งให้ราษฎรอยู่รวมกันเป็นสัดส่วนตามหมวดหมู่อาชีพ และนำหลักคุณธรรมนิยมมาใช้ในการพิจารณาความดีความชอบของผู้รับราชการ สิ่งนี้ทำให้รัฐฉีมีความเข้มแข็งขึ้น เพราะหลักการดังกล่าวเอื้ออำนวยให้รัฐฉี "สามารถเคลื่อนย้ายกำลังคนและทรัพยากรสำคัญต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งกว่ารัฐอื่น ๆ ในวัฒนธรรมราชวงศ์โจว ซึ่งเวลานั้นส่วนใหญ่ยังคงมีโครงสร้างรัฐอย่างหลวม ๆ" อนึ่งในเวลานั้นรัฐฉีก็เป็นหน่วยการเมืองที่ทรงพลังในสถานการณ์ด้านยุทธศาสตร์อันเป็นที่พึงประสงค์อยู่แล้ว การปฏิรูปการปกครองดังกล่าวจึงทำให้รัฐฉี "อยู่ในสถานะรัฐชั้นนำในโลกของราชวงศ์โจวอย่างที่ไม่มีรัฐใดเทียบเทียมได้"[2] ทั้งฉีหวนกงและก่วนจ้งต่างก็ทำงานร่วมกันเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่จะทำให้รัฐฉีได้เป็นใหญ่เหนือกว่าหัวเมืองทั้งปวงอันเป็นรัฐสามนตราชของราชวงศ์โจว และเมื่อเวลาผ่านไป ก็ยิ่งมีรัฐต่าง ๆ ยอมอ่อนน้อมส่งบรรณาการแสดงการยอมรับอำนาจของรัฐฉีมากขึ้นเรื่อย ๆ [3]

ขึ้นเป็นอธิราช

[แก้]

ต่อมาฉีหวนกงได้เชิญเจ้าผู้ปกครองรัฐหลู่ (เมืองฬ่อ) รัฐซ่ง (เมืองซอง) รัฐเฉิน (เมืองติน) และรัฐเจิ้ง (เมืองเตง) เข้าร่วมการประชุมครั้งหนึ่งเมื่อ 667 ปีก่อน ค.ศ. ที่ประชุมดังกล่าวได้เลือกให้ฉีหวนกงขึ้นเป็นผู้นำบรรดารัฐสามนตรราชต่าง ๆ ครั้นเมื่อพระเจ้าโจวฮุ่ยหวาง (ฮกเกี้ยน: จิวอุยอ๋อง) ทรงทราบเรื่องดังกล่าวแล้ว จึงได้พระราชทานตำแหน่ง "เจ้าอธิราช" ให้แก่ฉีหวนกงเป็นคนแรก มีฐานะเจ้าเมืองชั้นเอกเป็นใหญ่ยิ่งกว่าหัวเมืองทั้งปวงที่อยู่ภายใต้อำนาจราชวงศ์โจว และมีอาญาสิทธิ์ในการเคลื่อนกองทหารในนามราชสำนักโจว ทั้งฉีกวนกงและก่วนจ้งล้วนมองว่าตำแหน่งเจ้าอธิราชมิใช่เป็นเพียงตำแหน่งทางการทหาร แต่ยังเป็นเครื่องมือที่ควรใช้เพื่อ "ฟื้นฟูอาญาสิทธิ์แห่งโอรสสวรรค์" หรือหากจะมองในแง่การปฏิบัติจริง ก็คือเป็นเครื่องมือฟื้นฟูความมั่นคงภายในดินแดนของราชวงศ์โจวภายใต้การนำของรัฐฉีนั่นเอง[4]

ด้วยเหตุฉะนี้ ฉีหวนกงจึงได้เข้าแทรกแซงในการต่าง ๆ อันเกี่ยวเนื่องด้วยบรรดารัฐสามนตราชภายใต้อำนาจของราชวงศ์โจว ทั้งในพระนามของพระเจ้าโจวฮุ่ยหวางและฐานะส่วนตัวซึ่งดำรงความเป็นเจ้าอธิราช การแทรกแซงดังกล่าวได้รวมไปถึงการยกทัพไปลงโทษรัฐเหว่ย (เมืองโอย) เมื่อ 671 ปีก่อน ค.ศ. เพราะรัฐเหว่ยได้ดูหมิ่นพระเกียรติของพระเจ้าโจวฮุ่ยหวาง เช่นเดียวกับการเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องในการช่วงชิงอำนาจภายในรัฐหลู่เพื่อสถาปนาอำนาจนำของรัฐฉีให้มีความมั่นคง[4] สิ่งหนึ่งที่เป็นข้อกังวลอย่างใหญ่หลวงของฉีหวนกงคือภัยคุกคามจากอำนาจภายนอก (ซึ่งถูกเรียกในเชิงลบว่า "ชนป่าเถื่อนสี่เผ่า") ที่มีต่อบรรดารัฐหัวเมืองของราชวงศ์โจว ซึ่งเขาได้ทำการเคลื่อนกำลังทหารเพื่อปรามปราม "ชนป่าเถื่อน" เหล่านั้นหลายครั้งตามคำขวัญ "ซุนหวางหรั่งอี๋" (尊王攘夷 หรือ 尊皇攘夷 zūnwáng rǎngyí) อันมีความหมายว่า "เทิดทูนจอมกษัตริย์ ขจัดคนเถื่อน" ข้อสำคัญอย่างยิ่ง คือ เขาได้ช่วยปกป้องรัฐเยียน (เมืองเอี๋ยน) รัฐซิ่ง และรัฐเหว่ย จากภัยคุกคามจากชนเผ่านอกด่านซึ่งไม่ได้ยอมรับอำนาจของราชวงศ์โจว และเขายังได้พยายามยับยั้งการขยายอำนาจของรัฐฉู่ (เมืองฌ้อ) ในดินแดนฝ่ายใต้ โดยเมื่อ 656 ปีก่อน ค.ศ. ฉีหวนกงได้นำทัพพันธมิตรแปดหัวเมืองทำการปราบปรามรัฐไช่ (เมืองชัว) ซึ่งเป็นรัฐบริวารของรัฐฉู่และประสบชัยชนะ กองทัพพันธมิตรได้รุกคืบเข้าคุกคามรัฐฉู่และบีบให้รัฐฉู่ทำสัญญาสงบศึก โดยรัฐฉู่ยอมหยุดขยายอำนาจขึ้นสู่ทิศเหนือ[5] และตกลงยอมเข้าร่วมประชุมภาคบังคับของบรรดารัฐสามนตราชต่าง ๆ ที่ตำบลเส้าหลิง การประชุมครั้งนี้ได้ถือเป็นแบบอย่างของการประชุมรัฐสามนตราชของราชวงศ์โจวในครั้งต่อ ๆ มา[6]

ในเวลาหลายปีหลังจากนั้น ฉีกวนกงได้จัดให้มีการประชุมรัฐสามนตราชเช่นนี้ขึ้นอีกหลายครั้งภายใต้การสนับสนุนของราชสำนักโจว ประเด็นการอภิปรายในที่ประชุมดังกล่าวมีตั้งแต่เรื่องการทหาร เรื่องเศรษฐกิจ ตลอดจนถึงกิจการทั่วไปที่เกี่ยวข้องกับการปกครองและข้อกฎหมาย โดยรวมแล้วเจ้าผู้ปกครองรัฐฉีได้จัดการให้เกิดเสถียรภาพต่อราชวงศ์โจวอันบอบบางและร้าวฉานได้ระดับหนึ่ง สวี โจวอฺวิ๋น (จีนตัวย่อ: 许倬云; จีนตัวเต็ม: 許倬雲; พินอิน: Xǔ Zhuōyún) นักประวัติศาสตร์ชาวจีน ได้สรุปว่า ฉีหวนกง "ใช้อำนาจนำในฐานะ "เจ้าอธิราช" เพื่อจัดระเบียบใหม่ในสังคมระหว่างรัฐต่าง ๆ เพื่อให้ยอมรับอำนาจความคุ้มครองด้วยฉันทามติมากกว่าการใช้อำนาจอาชญาสิทธิ์"[7]

การเสื่อมอำนาจและอสัญกรรม

[แก้]
ภาพวาดเหตุการณ์ฉีหวนกงถูกขุนนางกักบริเวณและปล่อยให้อดอาหารจนกว่าจะสิ้นชีวิต จากวรรณกรรมเรื่องเลียดก๊ก (ประพันธ์ขึ้นในยุคราชวงศ์หมิง) อนึ่ง ในวรรณกรรมเรื่องนี้ได้กล่าวว่า มีอนุภรรยาคนหนึ่งได้เล็ดลอดเข้ามาหาฉีหวนกงก่อนที่เขาจะสิ้นชีวิตเล็กน้อย และนางได้ฆ่าตัวตายตามฉีหวนกงไปด้วย

หลังจากอยู่ในตำแหน่งกงมายาวนานร่วม 40 ปี อำนาจของฉีหวนกงก็เริ่มเสื่อมถอย ความพยายามของเขาในการยับยั้งการขยายอำนาจของรัฐฉู่ประสบความล้มเหลว เนื่องจากรัฐฉู่ได้เปลี่ยนทิศทางการขยายอำนาจจากเดิมที่มุ่งมาทางทิศเหนือไปสู่ทิศตะวันออกแทน โดยรัฐฉู่สามารถยึดครองหรือรุกรานดินแดนของรัฐที่เป็นพันธมิตรกับรัฐฉีได้หลายแห่งตามแนวแม่น้ำหวยเหอ กองทัพพันธมิตรต่อต้านรัฐฉู่ครั้งสุดท้ายภายใต้การนำของฉีหวนกงล้มเหลวในการยับยั้งสถานการณ์รุกคืบดังกล่าว ทั้งยังต้องประสบความพ่ายแพ้ต่อรัฐฉู่ในสมรภูมิโหลวหลินเมื่อ 645 ปีก่อน ค.ศ.[8][9][10] ซ้ำร้ายอัครมหาเสนาบดีก่วนจ้งก็ถึงแก่กรรมในปีเดียวกันนั้น ทำให้ฉีกงต้องขาดที่ปรึกษาคนสำคัญในการบริหารงาน และด้วยสุขภาพที่ทรุดโทรมลง ทำให้ฉีหวนกงด้อยความสำคัญในสายตาของผู้นำรัฐอื่นลงไปเรื่อย ๆ แม้อำนาจการปกครองเหนือรัฐฉีของเขาก็เริ่มสั่นคลอน เมื่อกลุ่มการเมืองต่าง ๆ เริ่มจับขั้วเพื่อแย่งชิงอำนาจภายในรัฐ[11][12]

การจับกลุ่มทางการเมืองเกิดขึ้นระหว่างขุนนางระดับสูงกับบุตรชายของฉีหวนกงทั้งหกคน ซึ่งล้วนแต่เป็นบุตรที่เกิดจากอนุภรรยา ประกอบด้วย

  • กงจื่ออู๋กุ้ย (ฮกเกี้ยน: ก๋งจูบอคุย)
  • กงจื่อหยวน (ฮกเกี้ยน: ก๋งจูหงวน)
  • กงจื่อจาว (ฮกเกี้ยน:ก๋งจูเจียว)
  • กงจื่อพาน (ฮกเกี้ยน: ก๋งจูผวน)
  • กงจื่อซางเหริน (ฮกเกี้ยน: ก๋งจูเซียนหยิน)
  • กงจื่อยง (ฮกเกี้ยน: ก๋งจูหยง)

สาเหตุเป็นเพราะภรรยาเอกทั้งสามคนของฉีหวนกงล้วนไม่มีบุตรชาย ส่งผลให้บรรดาบุตรอนุภรรยาทั้งหกนั้นต่างก็มีสิทธิ์ที่จะได้สืบทอดตำแหน่งกงทั้งสิ้น ถึงแม้ฉีหวนกงจะตั้งให้กงจื่อจาวซึ่งเป็นบุตรคนที่สามขึ้นเป็นไท่จื่อ (บุตรผู้สืบทอดตำแหน่ง หรือรัชทายาท) และขอให้ซ่งเซียงกง (ฮกเกี้ยน: ซองเซียงก๋ง) แห่งรัฐซ่งช่วยรับรองว่าจะส่งเสริมให้ไท่จื่อจาวได้สืบทอดรัฐฉีต่อจากตนเองไว้แล้วก็ตาม แต่นั่นก็ไม่อาจห้ามมิให้กงจื่อทั้งห้าคนที่เหลือคิดวางแผนช่วงชิงอำนาจมาเป็นของตนเองได้เลย[13][11][10]

ข้อมูลในเอกสารกวนจื่อได้ระบุว่า ฉีหวนกงมีขุนนางคนสนิทผู้ทรงอิทธิพลในรัฐฉีถึง 4 คน ได้แก่ ถังอู่ โหราพฤฒาจารย์ประจำสำนักฉีกง, อี้หยา (易牙, ฮกเกี้ยน: เอ็ดแหย) หัวหน้าฝ่ายวิเสท (คนครัว), ซู่เตียว (豎刁, ฮกเกี้ยน: ซูเตียว) หัวหน้าขันที, และไค่ฟาง (開方, ฮกเกี้ยน: ไคหอง) หัวหน้ามหาดเล็กชาวรัฐเหว่ย ก่วนจ้งได้แนะนำฉีหวนกงไว้ก่อนจะเสียชีวิตไม่นานนักว่า คนเหล่านี้จะเป็นผู้ก่อความเดือดร้อนให้กับรัฐฉีในวันหน้า ควรขับไล่ทั้งสี่คนออกไปเสีย ฉีหวนกงทำตามคำสั่งเสียของก่วนจ้งได้ระยะหนึ่ง แต่เมื่อทนระลึกถึงผลงานการรับใช้ของขุนนางเหล่านั้นมิได้ เขาจึงเรียกตัวทั้งสี่คนกลับมาทำงานอีกครั้ง ขุนนางทั้งสี่จึงสมคบคิดกันวางแผนชิงอำนาจ โดยจับฉีหวนกงกักบริเวณและก่อกำแพงสูงใหญ่บังตำหนักของฉีหวนกงไว้ ปล่อยให้ฉีหวนกงอดอาหารในที่นั้นจนกว่าจะสิ้นชีวิต[14][15] แหล่งข้อมูลอื่นที่สำคัญเกี่ยวกับเหตุการณ์นี้ เช่น เอกสารจว่อจ้วน[10] และ ฉื่อจี้ ไม่ได้กล่าวถึงเหตุสังหารฉีหวนกงดังที่กล่าวมา[12]

ฉีหวนกงถึงแก่อสัญกรรมในที่สุดเมื่อ 643 ปีก่อน ค.ศ. หลังจากนั้นเมืองหลวงหลินจือก็ได้เกิดสถานการณ์รุนแรงขึ้นแทบจะทันที บุตรชายของฉีหวนกงทั้งหกภายใต้การสนับสนุนของขุนนางข้าราชการกลุ่มต่าง ๆ ได้จับอาวุธประหัตประหารกันเพื่อช่วงชิงสิทธิในการขึ้นเป็นฉีกง[10][16] ท่ามกลางเหตุวุ่นวายนี้ ศพของฉีหวนกงยังคงไม่ได้รับการกลบฝังตามธรรมเนียม และถูกทิ้งไว้อยู่ในห้องนอนที่ฉีหวนกงสิ้นชีวิตเป็นระยะเวลานานตั้งแต่ 7 วันถึงสามเดือน เมื่อถึงคราวนำศพของฉีหวนกงไปทำพิธีฝังในภายหลัง ร่างของเขาก็อยู่ในสภาพเน่าเปื่อยไปแล้ว[a] การที่บรรดาบุตรของฉีหวนกงต่อสู้แย่งชิงตำแหน่งผู้สืบทอดกันเอง ทำให้รัฐฉีอ่อนแอลงอย่างหนักและสูญเสียสถานะนำเหนือบรรดารัฐจีนโบราณ ถึงแม้กงจื่อจาว ซึ่งต่อมาได้เป็นฉีเซี่ยวกง (ฮกเกี้ยน: เจ๋เฮาก๋ง) จะพยายามฟื้นฟูความรุ่งเรืองที่สืบทอดมาจากบิดาขึ้นมาใหม่ก็ตาม แต่ก็ไม่สำเร็จ และจิ้นเหวินกง (ฮกเกี้ยน: จิ้นบุนก๋ง) แห่งรัฐจิ้นก็ได้กลายเป็นอธิราชคนใหม่แห่งยุคแทน[10][19]

ครอบครัว

[แก้]

ภรรยา:

  • เจ้าหญิงหวางจี (ฮกเกี้ยน: องกี) จากราชสกุลจีแห่งราชวงศ์โจว (王姬 姬姓)
  • นางสวีอิง จากสกุลอิงแห่งรัฐสวี (徐嬴 嬴姓) (ฮกเกี้ยน: ฮอกี 徐姫)
  • นางไช่จี (ฮกเกี้ยน: ชัวกี) จากสกุลจีแห่งรัฐไช่ (蔡姬 姬姓)

อนุภรรยา:

  • นางเหว่ยกงจี จากสกุลจีแห่งรัฐเหว่ย (衛共姬 姬姓) มารดาของกงจื่ออู๋กุ้ย (ในเลียดก๊กฉบับภาษาไทยเรียกว่า นางเตียวฮวยกี)
  • นางเส้าเหว่ยจี (ฮกเกี้ยน: เซียวฮวยกี) จากสกุลจีแห่งรัฐเหว่ย (少衛姬 姬姓) มารดาของกงจื่อหยวน
  • นางเจิ้งจี (ฮกเกี้ยน: เตงกี) จากสกุลจีแห่งรัฐเจิ้ง (鄭姬 姬姓) มารดาของไท่จื่อจาว
  • นางเก้ออิง (ฮกเกี้ยน: กัวเอ๋ง) จากสกุลอิงแห่งเมืองเก้อ (葛嬴 嬴姓) มารดาของกงจื่อพาน
  • นางมี่จี (ฮกเกี้ยน: เจงกี) จากสกุลจีแห่งเมืองมี่ (密姬 姬姓) มารดาของกงจื่อซางเหริน
  • นางซ่งฮวาจื่อ (ฮกเกี้ยน: ซองฮัวสี) จากสกุลจื่อแห่งรัฐซ่ง (宋華子 子姓) มารดาของกงจื่อยง

บุตร:

  • กงจื่ออู๋กุ้ย (公子無虧, ฮกเกี้ยน: ก๋งจูบอคุย; มรณะ 642 BC) ครองตำแหน่งฉีกงเมื่อ 642 ก่อน ค.ศ.
  • กงจื่อหยวน (公子元, ฮกเกี้ยน: ก๋งจูหงวน; มรณะ 599 BC) ครองตำแหน่งฉีกงเมื่อ 608–599 ก่อน ค.ศ. ในชื่อ ฉีฮุ่ยกง (ฮกเกี้ยน: เจ๋ฮุยก๋ง)
  • กงจื่อจาว (公子昭, ฮกเกี้ยน: ก๋งจูเจียว; มรณะ 633 BC) ฉีหวนกงแต่งตั้งให้เป็นไท่จื่อจาว (太子昭) ครองตำแหน่งฉีกงเมื่อ 641–633 ก่อน ค.ศ. ในชื่อ ฉีเซี่ยวกง (ฮกเกี้ยน: เจ๋เฮาก๋ง)
  • กงจื่อพาน (公子潘, ฮกเกี้ยน: ก๋งจูผวน; มรณะ 613 BC) ครองตำแหน่งฉีกงเมื่อ 632–613 ก่อน ค.ศ. ในชื่อ ฉีจาวกง (ฮกเกี้ยน: เจ๋เจี๋ยวก๋ง)
  • กงจื่อซางเหริน (公子商人, ฮกเกี้ยน: ก๋งจูเซียนหยิน; มรณะ 609 BC) ครองตำแหน่งฉีกงเมื่อ612–609 ก่อน ค.ศ. ในชื่อ ฉีอี้กง (ฮกเกี้ยน: เจ๋อีก๋ง)
  • กงจื่อยง (公子雍, ฮกเกี้ยน: ก๋งจูหยง)
    • ได้รับดินแดนศักดินาเมืองกู้ () เมื่อ 634 ก่อน ค.ศ.
  • บุตรคนอื่น ๆ อีก 7 คน ซึ่งรับราชการเป็นราชครู (大夫 ต้าฝู) อยู่ที่รัฐฉู่

ธิดา:

พงศาวลี

[แก้]
ฉีเหวินกง (มรณะ 804 ก่อน ค.ศ.)
ฉีเฉิงกง (มรณะ 795 ก่อน ค.ศ.)
ฉีเฉียนจวงกง (มรณะ 731 ก่อน ค.ศ.)
ฉีซีกง (มรณะ 698 ก่อน ค.ศ.)
ฉีหวนกง (มรณะ 643 ก่อน ค.ศ.)
นางเหว่ยจีแห่งรัฐเหว่ย

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 1.2 Zuo Qiuming. "Book 3. Duke Zhuang". Zuo Zhuan (ภาษาจีน และ อังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 10 October 2017.
  2. Cho-yun Hsu (1999), pp. 553, 554.
  3. Cho-yun Hsu (1999), pp. 553–555.
  4. 4.0 4.1 Cho-yun Hsu (1999), p. 555.
  5. Cook; Major (1999), p. 15.
  6. Cho-yun Hsu (1999), pp. 555, 556.
  7. Cho-yun Hsu (1999), pp. 556, 557.
  8. Cook; Major (1999), pp. 15, 16.
  9. Zuo Qiuming (2015), p. 98.
  10. 10.0 10.1 10.2 10.3 10.4 10.5 Zuo Qiuming. "Book 5. Duke Xi". Zuo Zhuan (ภาษาจีน และ อังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 27 August 2017.
  11. 11.0 11.1 Cho-yun Hsu (1999), p. 557.
  12. 12.0 12.1 Sima Qian (2006), pp. 80, 81.
  13. Sima Qian (2006), pp. 79–81.
  14. Rickett (2001), pp. 387, 388, 431, 432.
  15. Sima Qian (2006), p. 80.
  16. 16.0 16.1 Rickett (2001), p. 388.
  17. Rickett (2001), p. 432.
  18. 18.0 18.1 Sima Qian (2006), p. 81.
  19. Cho-yun Hsu (1999), p. 558.

หมายเหตุ

[แก้]
  1. เอกสารกวนจื่อกล่าวอ้างว่าร่างของฉีหวนกงถูทิ้งไว้อย่างนั้นราว 7 วัน[16] หรือ 11 วัน[17] แต่ทั้งเอกสารจว่อจ้วนและฉื่อจี้รายงานไว้ว่า 67 วัน[18][10] ส่วนเอกสารหานเฟยจื่อบันทึกไว้ว่านานสามเดือน ไม่ว่าตัวเลขใดจะเป็นข้อมูลที่ถูกต้องก็ตาม นักประวัติศาสตร์ได้ตั้งข้อสังเกตไว้ว่าธรรมเนียมในการเตรียมพิธีฝังศพนั้นต้องดำเนินการในเวลากลางวัน อย่างไรก็ตาม ในกรณีของฉีหวนกงนั้น พิธีเตรียมการฝังศพได้มีขึ้นในตอนกลางคืน ซึ่ง "ชี้ชัดว่าเป็นสถานการณ์ที่ผิดปกติอย่างยิ่ง"[18]

บรรณานุกรม

[แก้]