ทวิอักษร
ทวิอักษร (อังกฤษ: digraph, bigraph, digram) หมายถึงกลุ่มอักษรสองตัวที่เขียนขึ้นเพื่อแทนหน่วยเสียงเสียงเดียวที่แปลกออกไป หรือใช้แทนหน่วยเสียงอื่นที่ไม่ใช่ค่าปกติของอักษรสองตัวนั้นมาประกอบกันตามอักขรวิธี เมื่อภาษาใดภาษาหนึ่งไม่สามารถใช้อักษรตัวเดียวเพื่อแทนเสียงนั้นได้ แต่บางครั้งการรวมทวิอักษรก็มิได้ทำให้เสียงพิเศษไปจากเดิม ซึ่งอาจแสดงถึงธรรมเนียมในอดีตว่าคำศัพท์เหล่านั้นเคยออกเสียงแตกต่างกันมาก่อน หรือคงไว้เพื่อรูปศัพท์เดิมที่ยืมมาจากภาษาอื่น
ในอักขรวิธีของบางภาษา อย่างเช่น ch ในภาษาเซอร์เบีย (เมื่อเขียนด้วยอักษรละติน) หรือภาษาเช็ก ทวิอักษรจะถูกจัดว่าเป็นอักษรตัวเดียวกัน นั่นหมายความว่าทวิอักษรนั้นจะเป็นอักษรตัวหนึ่งในลำดับอักษรของภาษา และไม่สามารถแยกออกจากกันได้ ไม่ว่าจะเป็นการเรียงลำดับ การย่อ หรือการแบ่งคำ
ภาษาไทย
[แก้]ในภาษาไทยมีการใช้ทวิอักษรในรูปแบบของ อักษรควบไม่แท้ เช่น ทร ออกเสียง ซ เป็นต้น ส่วน อักษรควบแท้ และ อักษรนำ ไม่ถือว่าเป็นทวิอักษร เนื่องจากอักษรควบแท้และอักษรนำอ่านตามเสียงปกติของอักษรสองตัวนั้น เช่น คร ออกเสียง ค+ร หรือออกเสียงเป็นพยางค์ เช่น ขนม อ่าน ขะ-หนม เป็นต้น
อักษร ห ที่เติมหน้าพยัญชนะนาสิกและพยัญชนะเหลว ได้แก่ หง, หญ, (หณ), หน, หม, หย (และ อย), หร, หล, หว, (หฬ) ซึ่งอักษรเหล่านี้เป็นอักษรต่ำเดี่ยว จุดประสงค์เพื่อให้สามารถผันวรรณยุกต์ได้ครบทุกเสียง ซึ่งออกเสียงเป็นหน่วยเสียงเดิมไม่ใช่เสียงใหม่ จึงไม่นับเป็นทวิอักษรเช่นกัน
ภาษาอังกฤษ
[แก้]ในภาษาอังกฤษมีทวิอักษรหลายคู่ ทั้งพยัญชนะและสระ พอยกตัวอย่างได้ดังนี้
- ch มักใช้แทนเสียง /t͡ʃ/ หรือ /k/ ซึ่งมาจากภาษากรีก (chaos) หรือ /ʃ/ ซึ่งมาจากภาษาฝรั่งเศส (chef)
- ck ใช้แทนเสียง /k/
- gh ใช้แทนเสียง /g/ เมื่ออยู่ต้นคำ หรือเสียง /f/ หรือไม่มีเสียงเมื่ออยู่ภายในหรือท้ายคำ (enough, though) รวมไปถึงคำประสมที่เกิดจากคำเหล่านั้น
- ng ใช้แทนเสียง /ŋ/
- ph ใช้แทนเสียง /f/
- qu มักใช้แทนเสียง /kʷ/ หรือ /k/ ซึ่งโดยปกติแล้ว q จะต้องตามด้วย u
- rh ใช้แทนเสียง /ɹ/ ซึ่งมาจากภาษากรีก (rhotic)
- sc ปกติใช้แทนเสียง /s/ หรือ /ʃ/ เมื่อนำหน้า e และ i
- sh ใช้แทนเสียง /ʃ/
- th ใช้แทนเสียง /θ/ หรือ /ð/
- wh ใช้แทนเสียง /ʍ/ ในบางสำเนียง ส่วนสำเนียงอื่นใช้ /w/ หรือออกเสียง /h/ เมื่อนำหน้า o (who, whole) ดูที่ Wine–whine merger
- wr ใช้แทนเสียง /ɹ/ เดิมทีนั้นออกเสียงเป็น /ɹʷ/ แต่ได้สูญหายไปในสำเนียงส่วนใหญ่
ต่อไปนี้เป็นตัวอย่างทวิอักษรที่เป็นสระ
- ea มักใช้แทนเสียง /i:/, /ɛ/ หรือ /eɪ/
- ie มักใช้แทนเสียง /i:/ หรือ /aɪ/
- ai มักใช้แทนเสียง /ɛ/ หรือ /eɪ/
- ei มักใช้แทนเสียง /i:/ หรือ /aɪ/ ซึ่งหาได้ยากกว่า
- au มักใช้แทนเสียง /ɔ/
- eu มักใช้แทนเสียง /ju/
- ou มักใช้แทนเสียง /aʊ/ หรือ /u:/ ซึ่งหาได้ยากกว่า
- aw มักใช้แทนเสียง /ɔ/
- ew มักใช้แทนเสียง /ju/
- ow มักใช้แทนเสียง /oʊ/ หรือ /aʊ/
ดูเพิ่ม
[แก้]- สระประสมสองเสียง (diphthong)