ธงขาว
บทความนี้ไม่มีการอ้างอิงจากแหล่งที่มาใด |
ธงขาว (อังกฤษ: white flag) เป็นคำที่มาจากภาษาต่างประเทศ โดยทั่วไปเป็นที่เข้าใจว่าการยกธงขาวเป็นสัญลักษณ์ของการยอมแพ้ หรือการพักรบ หรือทั้งสองกรณี ในการสงคราม อย่างไรก็ดี ธงขาวยังมีความหมายอย่างอื่นอีกมากในประวัติศาสตร์และธรรมเนียมของแต่ละท้องถิ่น
เป็นที่รับรู้กันในสากลประเทศว่าธงขาวเป็นสัญลักษณ์ของการพักรบ การหยุดยิง และ/หรือการเจรจาในการณรงค์สงคราม การยกธงขาวยังถือเป็นสัญลักษณ์การขอยอมแพ้ เนื่องจากกองทหารฝ่ายที่เสียเปรียบจะใช้ธงขาวเป็นสัญลักษณ์ในการขอเจรจากับฝ่ายตรงข้ามอยู่เสมอ ความหมายของธงขาวคือ บุคคลผู้ที่ต้องการเจรจาด้วยนั้นล้วนปราศจากอาวุธ ไม่ว่าจะมาด้วยจุดประสงค์ใดในการเจรจาก็ตาม การกระทำอันตรายแก่ผู้ชูหรือแสดงธงขาวจึงถือเป็นสิ่งที่ห้ามปฏิบัติเป็นเด็ดขาด ทั้งนี้ ยังได้มีการรับรองการใช้ธงขาวไว้ในอนุสัญญาเจนีวาด้วย
การแสดงธงขาวพร่ำเพรื่อถือเป็นการขัดต่อจารีตทั่วไปในการณรงค์สงคราม และยังถือเป็นอาชญากรรมสงครามเหตุเพราะสับปลับ (อังกฤษ: perfidy) อีกด้วย ทั้งนี้ มีกรณีสับปลับเช่นว่าอยู่มากมาย เป็นต้นว่า การแสดงธงขาวเพื่อหลอกลวงฝ่ายตรงข้ามแล้วจึงโจมตี
การประกอบธงขาวโดยง่ายที่สุด กระทำได้โดยการผูกผ้าสีขาวกับยอดเสาในลักษณะธงประกอบเสาธงทั่วไปนั่นเอง
การใช้ธงขาวเป็นเครื่องหมายแห่งการยอมแพ้ ปรากฏขึ้นครั้งแรกในสมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันออกของจีน (พ.ศ. 568 ถึง พ.ศ. 763) ต่อมาใน พ.ศ. 652 กอร์เนลิอุส ตากิตุส (Cornelius Tacitus) นักประวัติศาสตร์ในสมัยจักรวรรดิโรมัน ได้เขียนบทความระบุว่าธงขาวเป็นสัญลักษณ์แห่งการยอมแพ้ โดยก่อนหน้านั้น ทหารโรมันจะแสดงการขอยอมแพ้ด้วยการชูโล่เหนือศีรษะ ธรรมเนียมการใช้ธงขาวเพื่อแสดงการยอมจำนนจึงแพร่หลายไปทั่วโลกนับตั้งแต่นั้นมา
สัญลักษณ์ของตระกูล ราชวงศ์ หรือประเทศ
[แก้]ราชวงศ์อูมายยัด
[แก้]ราชวงศ์อุมัยยะฮ์ (Umayyad dynasty) เป็นราชวงศ์ที่มีบทบาทในการปกครองโลกอิสลามในช่วง พ.ศ. 1204 – พ.ศ. 1293 ราชวงศ์นี้ได้ใช้ธงสีขาวเป็นเครื่องหมาย เพื่อระลึกถึงสงครามครั้งแรกของศาสดามุฮัมมัด ที่เมืองบาดร์ (Badr) และเพื่อแยกความแตกต่างจากฝ่ายราชวงศ์อับบาซียะฮ์ (Abbasids dynasty) ซึ่งใช้ธงสีดำเป็นสัญลักษณ์ ในปัจจุบันสีขาวได้นำมาใช้เป็นสีพันธมิตรอาหรับในโลกสมัยใหม่ก็ด้วยเหตุที่กล่าวมาข้างต้น
ตระกูลมินะโมะโตะ
[แก้]ระหว่างสงครามเก็มเป (ญี่ปุ่น: 源平合戦; โรมะจิ: Genpei kassen, เก็มเป คัสเซ็ง; พ.ศ. 1723 ถึง พ.ศ. 1728) ของญี่ปุ่น ธงขาวเป็นสัญลักษณ์ของตระกูลมินะโมะโตะ (ญี่ปุ่น: 源; โรมะจิ: Minamoto) ที่ต่อสู้กับตระกูลไทระ (ญี่ปุ่น: 平; โรมะจิ: Taira) ซึ่งใช้ธงแดงเป็นสัญลักษณ์ ธงขาวนี้ได้ใช้สืบมาจนกระทั่งโชกุนตระกูลโทะกุงะวะ (ญี่ปุ่น: 徳川; โรมะจิ: Tokugawa) สิ้นอำนาจการปกครองประเทศใน พ.ศ. 2411 ในปีนั้น ญี่ปุ่นก็ได้รับเอาแบบแผนการใช้ธงขาวเป็นสัญลักษณ์ของการยอมแพ้ตามอย่างสากลด้วย
ราชอาณาจักรฝรั่งเศส
[แก้]ในสมัยที่ฝรั่งเศสยังปกครองด้วยระบอบกษัตริย์ (ภาษาฝรั่งเศสเรียกยุคนี้ว่า "อองเซียง เรฌีม" - "Ancien Régime") นับตั้งแต่ช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 17 ฝรั่งเศสได้ใช้ธงสีขาวล้วนเป็นธงประจำราชวงศ์ ในบางครั้งอาจมีการเพิ่มลวดลายดอกลิลลี่ (เฟลอร์เดอลีส์ - fleur de lys) เพื่อเป็นเครื่องหมายการแสดงพระองค์ของพระมหากษัตริย์ หรือใช้เป็นธงเรือของภาคีอัศวินแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์ (ฝรั่งเศส: Ordre des Chevaliers du Saint-Esprit)
สีขาวยังใช้เป็นสัญลักษณ์ในการบัญชาการทางทหารของกองทัพราชอาณาจักรฝรั่งเศส โดยมีการผูกผืนผ้ายาวสีขาวไว้กับธงประจำกองทหารฝ่ายตน เพื่อใช้แยกแยะกองทัพฝรั่งเศสออกจากฝ่ายศัตรู และป้องกันการโจมตีฝ่ายเดียวกัน ในสงครามประกาศเอกราชสหรัฐอเมริกา กองทหารฝรั่งเศสที่เข้าร่วมรบก็ได้ใช้ธงสีขาวเป็นสัญลักษณ์ของกองทัพ ธรรมเนียมเหล่านี้ล้มเลิกไปในปี พ.ศ. 2373 จากเหตุการณ์การปฏิวัติเดือนกรกฎาคม
กองทัพเรือแห่งราชอาณาจักรฝรั่งเศสใช้ธงสีขาวเป็นธงราชนาวี ส่วนเรือพาณิชย์และเรือเอกชนนั้นต้องใช้ธงอย่างอื่นที่สื่อความหมายถึงฝรั่งเศส และจะใช้ธงขาวซึ่งเป็นธงราชนาวีมิได้
ภายหลังการปฏิวัติฝรั่งเศส ธงไตรรงค์ น้ำเงิน-ขาว-แดง ได้รับการยอมรับให้ใช้เป็นธงชาติฝรั่งเศสโดยรัฐบาลสาธารณรัฐ ธงสีขาวจึงเปลี่ยนฐานะไปเป็นสัญลักษณ์ของฝ่ายนิยมกษัตริย์ (royalist) ในฝรั่งเศสอย่างรวดเร็ว
เมื่อมีการฟื้นฟูราชวงศ์บูร์บงในปี พ.ศ. 2358 ธงสีขาวก็ได้กลับมาใช้เป็นธงชาติฝรั่งเศสอีกครั้ง จนถึง พ.ศ. 2373 ในขณะนั้นก็ถือว่าธงขาวเป็นสัญลักษณ์รำลึกถึงการปลงพระชนม์พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ด้วย
ปี พ.ศ. 2416 ความพยายามฟื้นฟูระบอบกษัตริย์ในฝรั่งเศสล้มเหลวลง เพราะเจ้าชายอองรี เคานท์แห่งชองบอรด์ (Henri, comte de Chambord) ปฏิเสธการยอมรับธงไตรรงค์ น้ำเงิน-ขาว-แดง พระองค์ได้เรียกร้องว่าถ้าจะให้พระองค์เถลิงราชย์เป็นกษัตริย์ฝรั่งเศสก็ต้องนำธงขาวกลับมาใช้เป็นธงชาติอีกครั้ง ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่หลายฝ่ายที่เจรจาจัดตั้งรัฐบาลของฝรั่งเศสหลังสิ้นสุดสมัยจักรพรรดินโปเลียนที่ 3 ยอมรับไม่ได้
อัฟกานิสถานสมัยฏอลิบาน
[แก้]เมื่อกลุ่มฏอลิบานอันเป็นองค์การอิสลามนิกายสุหนี่ได้เข้ายึดอำนาจการปกครองประเทศในกรุงคาบูล ประเทศอัฟกานิสถาน เมื่อ พ.ศ. 2539 และสถาปนาอัฟกานิสถานเป็นสาธารณรัฐอิสลามอัฟกานิสถาน กลุ่มฏอลิบานได้ใช้ธงสีขาวอันเป็นธงประจำองค์กรของตนเป็นธงชาติอัฟกานิสถาน ซึ่งธงนี้ไม่มีลวดลายใด ๆ เป็นแต่ผืนผ้าสีขาวเท่านั้น กลุ่มฏอลิบานแถลงว่าเป็นสัญลักษณ์ของความบริสุทธิ์แห่งศรัทธาและการปกครองของตน อย่างไรก็ดี ในปีถัดมา กลุ่มฏอลิบานได้ประกาศให้เพิ่มข้อความอักษรอาหรับที่เรียกว่าชะฮาดะฮ์ (อารบิก: ;الشهادة, aš-šahāda) เข้าไปบนธงขาวนั้นด้วย ข้อความนี้ถอดความหมายเป็นภาษาไทยได้ว่า "ข้าพเจ้านับถือว่า ไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกเหนือจากอัลลอหฺ และศาสดามุฮัมมัดคือศาสนทูตแห่งอัลลอหฺ"
สัญลักษณ์แห่งการไว้ทุกข์
[แก้]สำหรับในประเทศที่นับถือพุทธศาสนาและลัทธิขงจื๊อ สีขาวเป็นสัญลักษณ์แห่งความทุกข์ระทม หรือความโศกเศร้า การใช้ธงขาวจึงถือเป็นสัญลักษณ์ในการไว้ทุกข์ ทั้งนี้ ในศาสนิกชนอื่น ๆ จะใช้สีดำเป็นสัญลักษณ์เช่นว่า
สัญลักษณ์ในการแข่งรถ
[แก้]ในการแข่งรถยนต์ของสมาพันธ์ยานยนต์นานาชาติ (Fédération Internationale de l'Automobile หรือ FIA) ธงขาวใช้เป็นเครื่องหมายเตือนให้รถแข่งลดความเร็วลง ส่วนการแข่งรถรายการอื่น ธงขาวจะถูกแสดงที่จุดเริ่มต้นการแข่งขัน เพื่อบอกว่า ผู้นำการแข่งรถอันดับที่ 1 ได้พารถของเขามาถึงรอบสุดท้ายแล้ว
สัญลักษณ์ในนิยาย
[แก้]ในวรรณกรรมเรื่องลอร์ดออฟเดอะริงส์ของเจ. อาร์. อาร์. โทลคีน ธงขาวล้วนไม่มีลวดลายใด ๆ เป็นสัญลักษณ์ประจำตัวของเสนาบดีผู้พิทักษ์บัลลังก์กษัตริย์แห่งกอนดอร์ในมัชฌิมโลก