บริติชมาลายา
บริติชมาลายา | |
---|---|
1826–1957 | |
ดินแดนภายใต้อธิปไตยของสหราชอาณาจักรในมาลายาและสิงคโปร์ 1888 | |
เดมะนิม | ชาวบริติช, ชาวมาลายา |
สมาชิก | |
การปกครอง | จักรวรรดิอังกฤษ |
• 1826–1830 | จอร์จที่ 4 |
• 1830–1837 | วิลเลียมที่ 4 |
• 1837–1901 | วิกตอเรีย |
• 1901–1910 | เอ็ดเวิร์ดที่ 7 |
• 1910–1936 | จอร์จที่ 5 |
• 1936–1936 | เอ็ดเวิร์ดที่ 8 |
• 1936–1941 | จอร์จที่ 6 |
• 1941–1945 | ช่วงว่างระหว่างรัชกาล |
• 1946–1952 | จอร์จที่ 6 |
• 1952–1957 | เอลิซาเบธที่ 2 |
สภานิติบัญญัติ | รัฐสภา |
• สภาสูง | สภาขุนนาง |
• สภาล่าง | สภาสามัญชน |
จักรวรรดิอังกฤษ | |
17 มีนาคม 1824 | |
27 พฤศจิกายน 1826 | |
20 มกราคม 1874 | |
8 ธันวาคม 1941 | |
12 กันยายน 1945 | |
1 เมษายน 1946 | |
1 กุมภาพันธ์ 1948 | |
18 มกราคม 1956 | |
31 กรกฎาคม 1957 | |
31 สิงหาคม 1957 | |
ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของ | มาเลเซีย สิงคโปร์ |
บริติชมาลายา (อังกฤษ: British Malaya /məˈleɪə/; มลายู: Tanah Melayu British) เป็นคำที่ใช้เรียกกลุ่มของรัฐบนคาบสมุทรมาเลย์และเกาะสิงคโปร์ที่อยู่ภายใต้การควบคุมของอังกฤษระหว่างพุทธศตวรรษที่ 23 – 25 ซึ่งต่างจากบริติชอินเดียซึ่งไม่รวมรัฐราชบุตรของอินเดีย บริติชมลายามักใช้กล่าวถึงรัฐมาเลย์ที่ถูกอังกฤษควบคุมโดยอ้อม เช่นเดียวกับอาณานิคมช่องแคบที่อังกฤษปกครองโดยตรง ก่อนการจัดตั้ง สหภาพมลายาใน พ.ศ. 2489 เขตการปกครองนี้ไม่ได้รวมกันเป็นเอกภาพ บริติชมลายาประกอบด้วยนิคมช่องแคบ สหพันธรัฐมลายู และรัฐนอกสหพันธรัฐมลายู ภายใต้การปกครองของอังกฤษ มลายาเป็นเขตการปกครองที่สร้างกำไรให้แก่จักรวรรดิ เพราะเป็นแหล่งผลิตดีบุกที่ใหญ่ที่สุดในโลกและเป็นแหล่งผลิตยางพารา ญี่ปุ่นปกครองมลายาทั้งหมดเป็นหน่วยปกครองเดียวกันระหว่างสงครามโลกครั้งที่สองแยกต่างหากจากสิงคโปร์[1]
สหภาพมลายาสลายตัวและถูกแทนที่ด้วยสหพันธรัฐมลายาใน พ.ศ. 2491 ได้รับเอกราชอย่างสมบูรณ์เมื่อ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2500 ต่อมา ในวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2506 สหพันธรัฐได้รวมซาบะฮ์ ซาราวัก และสิงคโปร์ กลายเป็นสหพันธรัฐที่ใหญ่ขึ้นเรียก มาเลเซีย
การเข้ามาเกี่ยวข้องในการเมืองมาเลย์ในช่วงเริ่มต้น
[แก้]อังกฤษเข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมืองมาเลย์ใน พ.ศ. 2314 โดยสหราชอาณาจักรพยายามเข้ามาจัดตั้งท่าเรือการค้าในปีนัง ซึ่งเดิมเป็นส่วนหนึ่งของเกอดะฮ์ อังกฤษยึดครองสิงคโปร์เป็นอาณานิคมใน พ.ศ. 2362
ปีนังและเกอดะฮ์
[แก้]ในราวพุทธศตวรรษที่ 23 อังกฤษเข้ามามีส่วนร่วมในการค้าในคาบสมุทรมาเลย์ ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2314 จอร์เดน ซูลิแวน และ เด ซูซา ซึ่งเป็นหุ้นส่วนทางการค้ากับอังกฤษ มีฐานที่มั่นในมัทราส อินเดีย ได้ส่งฟรานซิส ไลท์เข้าพบสุลต่านแห่งเกอดะฮ์ มูฮัมหมัด ยีวา ชาห์ ให้เปิดตลาดการค้า ไลท์ยังเป็นกัปตันของบริษัทอินเดียตะวันออก ในขณะนั้น สุลต่านเกอดะฮ์เผชิญกับแรงกดดันมากมาย สยามซึ่งทำสงครามกับพม่าและมองเกอดะฮ์เป็นรัฐบรรณาการ ในการเจรจาระหว่างสุลต่านและไลท์ สุลต่านอนุญาตให้อังกฤษเข้ามาสร้างท่าเรือได้ ถ้าอังกฤษตกลงจะปกป้องเกอดะฮ์จากอิทธิพลภายนอก แต่เมื่อรายงานไปยังอินเดีย อังกฤษปฏิเสธข้อเสนอนี้
อีก 2 ปีต่อมา สุลต่านมูฮัมหมัด ยีวาสิ้นพระชนม์ สุลต่านอับดุลลอห์ มะห์รุม ชาห์ สุลต่านองค์ใหม่เสนอจะยกเกาะปีนังให้กับไลท์แลกกับการนำกองทหารมาคุ้มครองเกอดะฮ์ ไลท์ได้เสนอไปยังบริษัทอินเดียตะวันออก บริษัทได้สั่งให้ไลท์เข้ามายึดปีนังแต่ไม่ยืนยันการให้ความช่วยเหลือทางทหารตามที่ร้องขอมาแต่แรก ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2331 ไลท์ได้เสนอการตัดสินใจของบริษัท สุลต่านรู้สึกผิดหวังจึงสั่งให้ไลท์ออกจากปีนัง แต่ไลท์ปฏิเสธ
การปฏิเสธของไลท์ทำให้สุลต่านส่งทหารไปยังไปรซึ่งเป็นชายหาดฝั่งตรงข้ามกับปีนัง อังกฤษได้ยกทัพมายังไปรและกดดันให้สุลต่านลงนามในข้อตกลง ทำให้อังกฤษได้สิทธิครอบครองปีนัง สุลต่านได้ค่าเช่ารายปี ปีละ 6,000 เปโซสเปน ในวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2334 ธงยูเนียนแจ๊กของอังกฤษชักขึ้นเหนือปีนังเป็นครั้งแรก ใน พ.ศ. 2343 เกอดะฮ์มอบไปรให้กับอังกฤษและสุลต่านได้ค่าเช่าเพิ่มขึ้น 4,000 เปโซต่อปี ไปรเปลี่ยนชื่อเป็นจังหวัดเวลเลสเลย์ ใน พ.ศ. 2364 สยามรุกรานเกอดะฮ์ ยึดครองอะลอร์สตาร์ และยึดไว้จนถึง พ.ศ. 2385
การขยายอำนาจของอังกฤษ
[แก้]ปัจจัยหลายอย่าง เช่น ความต้องการวัตถุดิบและความปลอดภัยผลักดันให้อังกฤษดำเนินการรุกรานมากขึ้นต่อรัฐมาเลย์ ระหว่างพุทธศตวรรษที่ 22 – 24 มะละกาอยู่ภายใต้การปกครองของดัตช์ ในสงครามนโปเลียนระหว่าง พ.ศ. 2354 – 2359 มะละกาอยู่ภายใต้การยึดครองของอังกฤษเช่นเดียวกับดินแดนอื่นของดัตช์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อป้องกันไม่ให้ฝรั่งเศสเข้ามาอ้างสิทธิ์ เมื่อสงครามสิ้นสุดลงใน พ.ศ. 2359 มะละกากลับมาอยู่ภายใต้การปกครองของดัตช์ ใน พ.ศ. 2367 อังกฤษและดัตช์ลงนามในข้อตกลงที่เรียกสนธิสัญญาแองโกล-ดัตช์ พ.ศ. 2367 ซึ่งเป็นการโอนมะละกาให้อังกฤษ สนธิสัญญานี้ยังแบ่งโลกมาเลย์เป็นสองฝั่ง และเป็นที่มาของการแบ่งแยกระหว่างมาเลเซียและอินโดนีเซียในปัจจุบัน
ยะโฮร์และสิงคโปร์
[แก้]สิงคโปร์สมัยใหม่ก่อตั้งโดยเซอร์สแตมฟอร์ด รัฟเฟิล ก่อนการจัดตั้งสิงคโปร์ รัฟเฟิลเป็นรองผู้ว่าการชวาระหว่าง พ.ศ. 2354 – 2359 ใน พ.ศ. 2361 เขาเห็นว่าอังกฤษต้องการสถานีการค้าแห่งใหม่เพื่อต่อสู้กับอิทธิพลทางการค้าของดัตช์ เขาได้เดินทางไปสิงคโปร์ ซึ่งเป็นเกาะอยู่ปลายสุดของแหลมมลายู เกาะนี้ปกครองโดยเตอเมิงกุง
สิงคโปร์อยู่ภายใต้การควบคุมของเติงกูอับดุลเราะห์มาน สุลต่านแห่งยะโฮร์-รีเยาโดยอยู่ภายใต้อิทธิพลของดัตช์และบูกิส สุลต่านไม่เคยทำความตกลงกับอังกฤษเกี่ยวกับสิงคโปร์ สุลต่านอับดุลเราะห์มานครองราชย์หลังจากสุลต่านองค์ก่อนที่เป็นพระบิดาสิ้นพระชนม์เมื่อ พ.ศ. 2355 และพี่ชายของพระองค์คือเติงกูฮุสเซนหรือเติงกูลงถูกตัดสิทธิ์เพราะเดินทางไปแต่งงานที่ปาหัง เติงกูฮุสเซนไม่พอใจและเตอเมิงกูที่สิงคโปร์นิยมเติงกูฮุสเซนมากกว่า
ในตอนแรก อังกฤษยอมรับสุลต่านอับดุลเราะห์มาน จนกระทั่ง พ.ศ. 2361 ฟาร์กวูฮารฺไปเยี่ยมเติงกูฮุสเซนที่เกาะเปอเญองัต ใกล้กับชายฝั่งบินตัน เมืองหลวงของรีเยา แผนการใหม่ได้ถูกร่างขึ้น และใน พ.ศ. 2362 รัฟเฟิลได้ติดต่อกับเติงกูฮุสเซน และทำข้อตกลงว่าอังกฤษจะยอมรับเติงกูฮุสเซนเป็นผู้ปกครองสิงคโปร์ถ้าเขาอนุญาตให้ตั้งสถานีการค้าที่นั่น และจะได้รับเงินรายปีจากอังกฤษ ได้ลงนามในสนธิสัญญาเมื่อ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2361 ด้วยความช่วยเหลือของเตอเมิงกุง เติงกูฮุสเซนได้เดินทางมาถึงสิงคโปร์และตั้งตัวเป็นสุลต่าน ดัตช์ไม่พอใจการกระทำของรัฟเฟิล อย่างไรก็ตาม หลังการลงนามในสนธิสัญญาแองโกล-ดัตช์ พ.ศ. 2367 สนธิสัญญานี้ได้แบ่งรัฐยะโฮร์เดิมออกเป็นสองส่วนคือยะโฮร์สมัยใหม่และรัฐสุลต่านรีเยา
นิคมช่องแคบ
[แก้]หลังจากที่อังกฤษได้สิงคโปร์มาตามสนธิสัญญาแองโกล-ดัตช์ พ.ศ. 2367 อังกฤษพยายามรวมศูนย์การบริหารปีนัง มะละกา และสิงคโปร์ ใน พ.ศ. 2369 ได้สร้างกรอบสำหรับนิคมช่องแคบโดยมีปีนังเป็นเมืองหลวง ต่อมาใน พ.ศ. 2375 ได้ย้ายเมืองหลวงไปสิงคโปร์ ต่อมา เกาะคริสต์มาส หมู่เกาะโคโคส ลาบวน และดินดิงในเปรักได้รวมเข้ามาในนิคมช่องแคบ แต่เดิม นิคมช่องแคบอยู่ภายใต้การควบคุมของบริษัทอินเดียตะวันออกที่กัลกัตตา จนบริษัทสลายตัวใน พ.ศ. 2401 และบริติชอินเดียจนถึง พ.ศ. 2410 แต่ต่อมา ได้เกิดความขัดแย้งในการบริหารงาน ใน พ.ศ. 2410 ได้เปลี่ยนมาขึ้นกับสำนักงานอาณานิคมในลอนดอนโดยตรง ซึ่งแสดงถึงความเป็นอิสระและอิทธิพลภายในจักรวรรดิอังกฤษ
ใน พ.ศ. 2489 หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 อาณานิคมได้สลายไป มะละกากับปีนังรวมเข้ากับสหภาพมลายา สิงคโปร์แยกออกมาเป็นอาณานิคมต่างหาก ต่อมา สหภาพมลายาถูกแทนที่ด้วยสหพันธรัฐมลายาใน พ.ศ. 2491 และใน พ.ศ. 2506 รวมกับบอร์เนียวเหนือ ซาราวัก และสิงคโปร์กลายเป็นมาเลเซีย
กลุ่มรัฐมาเลย์ทางเหนือและสยาม
[แก้]ในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 24 บริษัทอินเดียตะวันออกสนใจเฉพาะการค้ากับรัฐมาเลย์เท่านั้น อิทธิพลของสยามต่อรัฐมาเลย์ทางเหนือโดยเฉพาะเกอดะฮ์ กลันตัน ตรังกานูและปัตตานี ทำให้การค้าของบริษัทไม่ราบรื่น ใน พ.ศ. 2369 บริษัทได้ลงนามในสัญญาลับซึ่งเป็นที่รู้จักในทุกวันนี้ว่าสนธิสัญญาเบอร์นีกับสยาม รัฐมาเลย์ทั้งสี่รัฐไม่ได้ปรากฏในสัญญา อังกฤษยอมรับอธิปไตยของสยามเหนือรัฐเหล่านี้ สยามยอมรับอธิปไตยของอังกฤษเหนือปีนังและจังหวัดเวลเลสเลย์ และยอมให้บริษัทเข้ามาค้าขายในกลันตันและตรังกานูได้
อีก 83 ปีต่อมา มีสนธิสัญญาใหม่คือสนธิสัญญาอังกฤษ-สยาม พ.ศ. 2452 หรือสนธิสัญญากรุงเทพฯ สยามยกเลิกการอ้างสิทธิ์เหนือเกอดะฮ์ ปะลิส ตรังกานู และกลันตัน ในขณะที่ปัตตานียังอยู่ในเขตแดนของสยาม ปะลิสเคยเป็นส่วนหนึ่งของเกอดะฮ์ แต่สยามได้เข้าไปยึดครองและแยกออกจากเกอดะฮ์ สตูลซึ่งเคยเป็นดินแดนหนึ่งของเกอดะฮ์ ถูกผนวกเป็นส่วนหนึ่งของสยามในสนธิสัญญาเดียวกัน ปัตตานีต่อมาถูกแบ่งเป็น 3 จังหวัดคือ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส หลังจากที่รัชกาลที่ 5 ได้ตัดสินใจลงนามในสนธิสัญญานี้กับอังกฤษ ซึ่งเป็นเพราะการที่ฝรั่งเศสกดดันสยามทางตะวันออกมากขึ้น ทำให้สยามตัดสินใจร่วมมือกับอังกฤษ ข้อตกลงในสนธิสัญญานี้เป็นที่มาของแนวชายแดนไทย-มาเลเซียในปัจจุบัน
สุลต่านของมาเลย์ไม่ยอมรับข้อตกลงนี้ แต่อ่อนแอเกินกว่าจะต่อต้านอิทธิพลของอังกฤษ ในเกอดะฮ์ หลังการลงนามในสนธิสัญญา จอร์จ แมกซ์เวลได้เป็นที่ปรึกษาสุลต่านรัฐเกอดะฮ์ อังกฤษเข้าครอบงำทางด้านเศรษฐกิจ การวางแผนและการประหารชีวิต ได้สร้างทางรถไฟเพื่อเชื่อมเกอดะฮ์กับสยามเมื่อ พ.ศ. 2455 และเกิดการปฏิรูปที่ดินใน พ.ศ. 2457 ในปะลิสมีประสบการณ์ที่คล้ายคลึงกัน สุลต่านไม่ยอมรับสนธิสัญญา พ.ศ. 2452 แต่อังกฤษได้เข้ามาปกครองโดยพฤตินัย ใน พ.ศ. 2473 รายา เชด อัลวีจึงยอมรับตัวแทนของอังกฤษเป็นที่ปรึกษาในรัฐปะลิส
สนธิสัญญาปังโกร์และเปรัก
[แก้]เปรักเป็นรัฐที่อยู่ตามแนวชายฝั่งตะวันตกของมาเลเซีย ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 24 – 25 เป็นดินแดนที่อุดมไปด้วยดีบุก ยุโรปในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมต้องการดีบุกมาก อังกฤษและดัตช์เข้ามามีอิทธิพลในรัฐนี้ ใน พ.ศ. 2361 สยามได้สั่งให้เกอดะฮ์โจมตีเปรัก ด้วยสถานการณ์ที่ไม่มั่นคงในเปรัก ทำให้อังกฤษเข้ามาปกป้องเปรักใน พ.ศ. 2369
การทำเหมืองแร่ในเปรักทำให้ต้องการผู้ใช้แรงงานมากจึงนำแรงงานจีนจากปีนังเข้ามาทำงานในเปรัก ในทศวรรษ 2383 จำนวนชาวจีนในเปรักขยายตัวขึ้น มีผู้อพยพเข้ามาใหม่ที่ไม่ได้เป็นสมาชิกสมาคมลับของชาวจีนสองกลุ่มที่ใหญ่ที่สุดคือคี ฮิน และไฮ ซัน ทั้งสองกลุ่มพยายามเพิ่มอิทธิพลของตนในเปรักและมักปะทะกันบ่อยครั้ง และงะห์ อิบราฮิม มนตรีบาซาร์ไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายได้ ในขณะเดียวกัน มีข้อขัดแย้งเกิดขึ้นในราชวงศ์ของเปรัก สุลต่านอาลีสิ้นพระชนม์เมื่อ พ.ศ. 2414 และผู้ที่จะครองราชย์สมบัติต่อมาคือรายา อับดุลลอห์ แต่พระองค์ไม่ปรากฏตัวระหว่างพิธีศพของสุลต่าน ทำให้รายาอิสมาอีลขึ้นครองราชย์เป็นสุลต่านองค์ต่อไปของเปรัก รายาอับดุลลอห์เมื่อได้ทราบข่าวนี้ พระองค์ไม่ยอมรับและพยายามแสวงหาความช่วยเหลือทางการเมืองหลายช่องทางจากผู้ปกครองท้องถิ่นในเปรักและชาวอังกฤษที่พระองค์เคยทำธุรกิจด้วย ทำให้เกิดตัวแทนในการต่อสู้เพื่อราชบัลลังก์ ในกลุ่มของชาวอังกฤษนี้ มีพ่อค้าชาวอังกฤษ ดับบลิว เอช เอ็ม รีด รายายอมรับให้เขาเป็นที่ปรึกษาชาวอังกฤษ ถ้าอังกฤษช่วยให้ตนได้เป็นผู้ปกครองเปรัก
ผู้ปกครองนิคมช่องแคบในขณะนั้นคือ เซอร์ เฮนรี ออร์ดและเป็นเพื่อนกับงะห์ อิบราฮิมซึ่งมีความขัดแย้งกับรายาอับดุลลอห์มาก่อน ด้วยความช่วยเหลือของออร์ด งะห์ อิบราฮิมส่งทหารซีปอยจากอินเดียไปยับยั้งความพยายามของรายาอัลดุลลอห์ในการอ้างสิทธิ์ในราชบัลลังก์และควบคุมสมาคมลับของชาวจีน ใน พ.ศ. 2416 สำนักงานอาณานิคมในลอนดอนได้แต่งตั้งเซอร์ แอนดริว คลาร์กมาทำหน้าที่แทนออร์ด และคลาร์กได้วางรากฐานในการครอบครองมลายาของอังกฤษ เหตุเพราะลอนดอนกังวลว่านิคมช่องแคบจะต้องพึ่งพารัฐมาเลย์อื่นๆมากขึ้นทางด้านเศรษฐกิจ รวมทั้งเปรัก เมื่อคลากร์มาถึงสิงคโปร์ พ่อค้าชาวอังกฤษจำนวนมากรวมทั้งรีดมีความใกล้ชิดรัฐบาลมากขึ้น คลากร์ได้รับรู้ปัญหาของรายาอับดุลลอห์ คลากร์ใช้โอกาสนี้ในการเพิ่มอิทธิพลของอังกฤษ นำไปสู่การลงนามในสนธิสัญญาปังโกร์เมื่อ 20 มกราคม พ.ศ. 2416 คลากร์ยอมรับรายาอับดุลลอห์เป็นสุลต่านของเปรัก และ เจ ดับบลิว ดับบลิว เบิร์ชเป็นตัวแทนอังกฤษในเปรัก
สลังงอร์
[แก้]เช่นเดียวกับเปรัก สลังงอร์เป็นรัฐมาเลย์อีกรัฐหนึ่งที่ตั้งอยู่ในบริเวณที่มีเหมืองแร่จำนวนมาก มีเหมืองดีบุกฮูลูสลังงอร์อยู่ทางเหนือ ฮูลูกลังอยู่ตอนกลาง และลูกุตอยู่ทางใต้ใกล้เนอเกอรีเซิมบีลัน เมื่อราว พ.ศ. 2383 ภายใต้การนำของรายายูมาอัตจากรีเยา เหมืองแร่ดีบุกกลายเป็นการลงทุนขนาดใหญ่ ทำให้สุลต่านมูฮัมหมัดแห่งสลังงอร์ยกการบริหารลูกุตแก่รายายูมาอัตใน พ.ศ. 2389 ในทศวรรษ 2393 บริเวณดังกล่าวเต็มไปด้วยผู้ตั้งหลักแหล่งใหม่จากนิคมช่องแคบ มีคนงานชาวจีนไม่น้อยกว่า 20,000 คน รายายูมาอัตสิ้นพระชนม์เมื่อ พ.ศ. 2407 ทำให้เกิดสุญญากาศทางการเมือง ลูกุตถูกส่งคืนและถูกลืมไป
ฮูลูกลังได้เติบโตขึ้นมาแทนในฐานะแหล่งแร่ดีบุก ระหว่าง พ.ศ. 2392 – 2393 รายาอับดุลลอห์ บินรายา ยาอาฟาร์ ซึ่งเป็นญาติของรายายูมาอัต ได้รับการมอบหมายจากสุลต่านให้บริหารกลัง ความสำคัญทางเศรษฐกิจของลูกุตค่อยๆลดลง ในขณะที่ฮูลูกลังเพิ่มขึ้น ดึงดูดผู้ใช้แรงงานจำนวนมากมาที่นี่ โดยเฉพาะผู้อพยพจากจีนที่เคยทำงานที่ลูกุต ผู้ที่มีความสำคัญในการดึงดูดให้ชาวจีนเคลื่อนย้ายจากลูกุตไปยังฮูลูกลังคือซูตัน ปัวซาจากอัมปัง เขาค้าขายกับชาวเหมืองแร่ในฮูลูกลังด้วยสินค้าตั้งแต่ข้าวจนถึงฝิ่น และทำให้เริ่มมีการตั้งถิ่นฐานในราว พ.ศ. 2403 เพิ่มขึ้นที่กัวลาลัมเปอร์และกลัง กัปตันชาวจีนชื่อ ยับ อะห์ลอยเป็นผู้มีบทบาทในการสร้างกัวลาลัมเปอร์
ดังที่เกิดขึ้นในเปรัก การพัฒนาอย่างรวดเร็วดึงดูดการลงทุนจากบริติชในนิคมช่องแคบ เศรษฐกิจของสลังงอร์มีความสำคัญเพียงพอที่นิคมช่องแคบจะเห็นเป็นคู่แข่ง อังกฤษจึงต้องการเข้ามามีอิทธิพลในการเมืองของสลังงอร์ รวมทั้งการเกิดสงครามกลางเมื องที่เรียกสงครามกลังที่เริ่มเมื่อ พ.ศ. 2410 ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2416 เรือจากปีนังถูกโจมตีโดยโจรสลัดใกล้กัวลาลังกัตของสลังงอร์ โจรสลัดถูกจับใกล้ยูกราและถูกสั่งประหารชีวิต สุลต่านได้ขอความช่วยเหลือจากเซอร์แอนดริว คลากร์ แฟรงก์ สเวตเตนแฮมได้มาเป็นที่ปรึกษาของสุลต่าน หลังจากนั้นอีกราวปีนึง นักกฎหมายจากสิงคโปร์ เจ จี ดาวิดสัน ได้เป็นตัวแทนอังกฤษในสลังงอร์ สงครามกลางเมืองสิ้นสุดลงเมื่อ พ.ศ. 2417
ซูไงอูยง เนอเกอรีเซิมบีลัน
[แก้]เนอเกอรีเซิมบีลันเป็นอีกหนึ่งผู้ผลิตดีบุกในมลายา ใน พ.ศ. 2412 เกิดความขัดแย้งระหว่างเติงกูอันตะห์และเต็งกูอาหมัด ตุงกัลในการสืบทอดอำนาจปกครองเนอเกอรีเซิมบีลัน ทำให้สหพันธ์ถูกแบ่งแยกและทำลายความน่าเชื่อถือของเนอเกอรีเซิมบีลันในฐานะผู้ผลิตดีบุก
ซูไงอูยงเป็นรัฐหนึ่งภายในสหพันธ์ และเป็นพื้นที่ที่มีดีบุกมาก ปกครองโยดาโต๊ะกลานา เซ็นเดิง แต่มีผู้ปกครองอีกคนหนึ่งคือดาโต๊ะบันดาร์ กูลบ ตุงกิล ซึ่งเป็นผู้ที่มีอิทธิพลมากกว่าดาโต๊ะกลานา ดาโต๊ะบันดาร์ได้รับการสนับสนุนจากท้องถิ่นมากกว่า รวมทั้งจากผู้อพยพชาวจีนภายในเหมืองในซูไงอูยง การที่ดาโต๊ะกลานามีอำนาจจำกัดเขาจึงต้องพึ่งพาผู้ปกครองอีกคน คือ ซายิด อับดุลเราะห์มาน ผู้บังคับกองเรือหลวง ความสำคัญที่ตรึงเครียดนี้ก่อให้เกิดปัญหาในซูไงอูยง
ก่อน พ.ศ. 2416 หนึ่งปี ดาโต๊ะกลานามีอิทธิพลมากขึ้นในซูไงลิงกีและเริมเบาซึ่งเป็นอีกรัฐหนึ่งในสหพันธ์ เขาพยายามจะดึงซูไงลิงกีออกจากการควบคุมของซูไงอูยง เนอเกอรีเซิมบีลันในขณะนั้นมีพื้นที่ติดต่อกับมะละกาผ่านทางซูไงลิงกีและมีการค้ามหาศาลผ่านบริเวณซูไงลิงกีในแต่ละปี การครอบครองซูไงลิงกีจะทำให้ได้ภาษีจำนวนมาก หลังจากดาโต๊ะกลานาเสียชีวิตใน พ.ศ. 2416 ซายิด อับดุล้ราะห์มานเข้ายึดครองสถานที่นี้ ขึ้นดำรงตำแหน่งดาโต๊ะกลานาคนใหม่ การเสียชีวิตนี้ไม่ได้ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างดาโต๊ะกลานากับดาโต๊ะบันดาร์ดีขึ้น แต่กลับแย่ลง
เมื่อคลาร์กเข้ามาเป็นผู้บริหารนิคมช่องแคบ ดาโต๊ะกลานาได้เข้ามาพึ่งอังกฤษเพื่อให้เขาคงสถานะในซูไงลิงกีต่อไปได้ ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2417 เซอร์แอนดริว คลาร์กได้รับข้อเสนอของดาโต๊ะกลานาในการให้อังกฤษเข้าไปในซูไงอูยงและเนอเกอรีเซิมบีลัน คลาร์กยอมรับให้ดาโต๊ะกลานาเป็นผู้นำซูไงอูยง อังกฤษและดาโต๊ะกลานาลงนามในสนธิสัญญาให้ดาโต๊ะกลานาปกครองซูไงอูยง ปกป้องการค้า และป้องกันการต่อต้านอังกฤษที่นั่น ดาโต๊ะบันดาร์ไม่ได้รับเชิญให้ไปร่วมลงนาม ดาโต๊ะบันดาร์และผู้ปกครองท้องถิ่นไม่ยอมรับการเข้ามาสู่ซูไงอูยงของอังกฤษ ดาโต๊ะกลานาจึงไม่ได้รับความนิยม
อีกไม่นาน บริษัทของวิลเลียม เอ พิกเกอริง จากนิคมช่องแคบถูกส่งไปยังซูไงอูยง เพื่อประเมินสถานการณ์ อังกฤษได้ส่งทหารมาช่วยพิกเกอริงรบกับดาโต๊ะบันดาร์ สิ้นปี พ.ศ. 2417 ดาโต๊ะกลานาหนีไปเกอปายัง อังกฤษได้ให้ดาโต๊ะกลานาลี้ภัยไปยังสิงคโปร์ ในปีต่อมา อิทธิพลของอังกฤษเพิ่มขึ้นจนสามารถตั้งที่ปรึกษาและให้ดาโต๊ะกลานาเป็นรัฐบาลปกครองซูไงอูยงได้
ปาหัง
[แก้]อังกฤษเข้ามาเกี่ยวข้องกับการบริหารปาหังหลังจากสงครามกลางเมืองระหว่างผู้อ้างสิทธิ์ในราชบัลลังก์ 2 คน ระหว่าง พ.ศ. 2401 - 2404
การรวมศูนย์
[แก้]ในการบริหารรัฐมาเลย์และการปกป้องเหมืองแร่ดีบุกและยางพารา อังกฤษพยายามเข้ามาควบคุมการบริหารโดยจัดตั้งสหพันธรัฐระหว่างสี่รัฐคือ สลังงอร์ เปรัก เนอเกอรีเซิมบีลันและปาหัง เรียกว่าสหพันธรัฐมาเลย์ มีกัวลาลัมเปอร์เป็นศูนย์กลาง การบริหารในรูปสหพันธ์นี้ สุลต่านยังคงมีอยู่แต่มีอำนาจจำกัด ในฐานะเป็นตัวแทนวัฒนธรรมมาเลย์และอิสลาม การออกกฎหมายเป็นหน้าที่ของสภาสหพันธรัฐ แม้ว่าสุลต่านจะมีอำนาจน้อยกว่ารัฐนอกสหพันธรัฐมาเลย์ แต่สหพันธรัฐก็พอใจในการทำให้ทันสมัย การเป็นสหพันธรัฐมีข้อดีในด้านความร่วมมือทางการพัฒนาเศรษฐกิจ มีหลักฐานในยุคแรกที่ปาหังฟื้นตัวจากทุนจากสลังงอร์และเปรัก
ในทางตรงกันข้าม รัฐมาเลย์นอกสหพันธรัฐ รักษาสถานะกึ่งเอกราช มีอำนาจในการปกครองตนเองมากกว่า มีอังกฤษเป็นที่ปรึกษา ปะลิส ไทรบุรี กลันตัน ตรังกานู เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของมลายาหลังจากสนธิสัญญา พ.ศ. 2452 ยะโฮร์ที่เป็นเอกราชได้ส่งมอบสิงคโปร์ให้แก่อังกฤษในช่วงแรกก่อนจะถูกบีบให้ยอมรับอังกฤษเป็นที่ปรึกษาใน พ.ศ. 2457 ถือเป็นรัฐมาเลย์รัฐสุดท้ายที่สูญเสียเอกราช
ยุคนี้เป็นการรวมศูนย์อำนาจอย่างหลวม ๆ โดยยังคงมีสุลต่านแต่ไม่มีอำนาจในการปกครอง แต่ถือเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างรัฐที่เป็นสหพันธรัฐในอนาคตคือสหพันธรัฐมลายาและมาเลเซีย ซึ่งต่างจากประเทศอื่นในบริเวณเดียวกันที่มีการรวมศูนย์อย่างแน่นหนากว่า
การแยกตัวออกจากศูนย์กลาง
[แก้]สงครามโลกครั้งที่ 1 ไม่มีผลต่อมลายาโดยตรง นอกจากยุทธการปีนังที่เกิดการสู้รบระหว่างเยอรมันและรัสเซียที่จอร์จทาวน์ หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 นี้ อังกฤษใช้นโยบายแยกการรวมศูนย์ในมลายาเพื่อให้รัฐนอกสหพันธรัฐรวมเข้าในสหพันธรัฐ
การถดถอยทางเศรษฐกิจ
[แก้]ในช่วงทศวรรษ 2473 เป็นครั้งที่เศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก ทำให้มลายาได้รับผลกระทบไปด้วย
สงครามโลกครั้งที่ 2
[แก้]มลายาและสิงคโปร์อยู่ภายใต้การยึดครองของญี่ปุ่นระหว่าง พ.ศ. 2485 – 2488 ญี่ปุ่นได้ให้รางวัลแก่ประเทศไทยโดยมอบสี่รัฐมาลัยคืนให้ เมื่อสงครามโลกยุติลง มลายาและสิงคโปร์อยู่ภายใต้การปกครองของกองทัพอังกฤษ
สหภาพมลายาและมลายาอิสระ
[แก้]อังกฤษได้ประกาศจัดตั้งสหภาพมลายาเมื่อ 1 เมษายน พ.ศ. 2489 สิงคโปร์ไม่ได้รวมอยู่ในสหภาพแต่เป็นดินแดนอาณานิคมเอกเทศ สหภาพใหม่นี้ถูกต่อต้านจากชาวมาเลย์ท้องถิ่น โดยมีสาเหตุมาจากข้อกำหนดเรื่องพลเมืองที่หลวม และลดอำนาจของผู้ปกครองมาเลย์ หลังจากแรงกดดันอย่างหนัก สหภาพถูกแทนที่ด้วยสหพันธรัฐมลายาเมื่อ 31 มกราคม พ.ศ. 2491 สหพันธ์นี้ได้รับเอกราชเมื่อ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2500 ต่อมา ได้รวมเป็นสหพันธ์ที่ใหญ่ขึ้นเรียก มาเลเซีย เมื่อ 16 กันยายน พ.ศ. 2506 โดยรวมสิงคโปร์ ซาราวัก และบอร์เนียวเหนือ
อ้างอิง
[แก้]- หมายเหตุ
- ↑ Cheah Boon Kheng (1983). Red Star over Malaya: Resistance and Social Conflict during and after the Japanese Occupation, 1941-1946. Singapore University Press. p. 28. ISBN 9971695081.
- บรรณานุกรม
- Zainal Abidin bin Abdul Wahid; Khoo, Kay Kim; Muhd Yusof bin Ibrahim; Singh, D.S. Ranjit (1994). Kurikulum Bersepadu Sekolah Menengah Sejarah Tingkatan 2. Dewan Bahasa dan Pustaka. ISBN 983-62-1009-1
- Osborne, Milton (2000). Southeast Asia: An Introductory History. Allen & Unwin. ISBN 1-86508-390-9
- 1911 Encyclopædia Britannica. Malay States.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- Arkib Negara. Hari ini dalam sejarah. Penubuhan Majlis Persekutuan. Retrieved 15 December 2006.
- Twentieth Century Impressions of British Malaya: Its History, People, Commerce, Industries, and Resources edited by Arnold Wright, H. A. Cartwright
- Malaysia Design Archive | 1850 to 1943 : Modernization