พระนันทาเถรี
พระนันทาเถรี | |
---|---|
พระพุทธเจ้า (กลาง) และนันทา (ขวา) | |
ข้อมูลทั่วไป | |
พระนามอื่น |
|
เอตทัคคะ | ผู้ยินดีในฌาน |
ฐานะเดิม | |
ชาวเมือง | กบิลพัสดุ์ |
พระบิดา | พระเจ้าสุทโธทนะ |
พระมารดา | พระมหาปชาบดีโคตมีเถรี |
วรรณะเดิม | กษัตริย์ |
ราชวงศ์ | สักกะ |
สถานีย่อยพระพุทธศาสนา |
นันทา (บาลี: Nandā; สันสกฤต: Nandā नन्दा) หรือปรากฏในนาม สุนทรีนันทา (สันสกฤต: Sundarī Nandā) และ ชนบทกัลยาณี (สันสกฤต: Janapada Kalyani) เป็นพระราชธิดาของพระเจ้าสุทโธทนะ กับพระมหาปชาบดีโคตมีเถรี และเป็นพระขนิษฐาต่างพระชนนีของพระโคตมพุทธเจ้า ศาสดาของศาสนาพุทธ[1][2] เธอได้รับการยกย่องในหมู่เครือญาติว่าเป็นหญิงงาม จนได้รับสมญาว่า รูปนันทา (มีรูปเป็นเครื่องบันเทิง, มีรูปเป็นเครื่องดีใจ) หรือ ชนบทกัลยาณี (หญิงงามในชนบท)[3][4]
พระนันทาเถรีออกบวชเป็นสิกขมานา[5] แม้จะเป็นบรรพชิตแล้วแต่ยังหลงใหลในรูปโฉมและความงามของตน พระนันทาเถรีไม่กล้าที่จะพบพระศาสดาเพราะเกรงว่าพระศาสดาจะตำหนิในความงามของตน จนกระทั่งวันหนึ่งพระนันทาเถรีได้สดับการแสดงธรรมของพระพุทธเจ้า ได้ทำการอสุภกรรมฐานจึงพบว่าร่างกายของมนุษย์เป็นสิ่งไม่เที่ยง และบรรลุอรหันต์มาแต่นั้น[3][4] ได้รับการยกย่องในด้าน "ผู้ยินดีในฌาน"[6]
พระประวัติ
[แก้]พระชนม์ชีพช่วงต้น
[แก้]นันทา เป็นพระราชธิดาของพระเจ้าสุทโธทนะแห่งสักกะ กับพระมหาปชาบดีโคตมีแห่งโกลิยะ มีพระเชษฐาร่วมพระชนกชนนีคือ นันทะ และมีพระเชษฐาต่างพระชนนีคือ สิทธัตถะ[7] ซึ่งประสูติแต่พระนางสิริมหามายา พระเชษฐภคินีของพระมหาปชาบดี นันทาเป็นผู้ที่ได้รับการยกย่องว่ามีความงามมาก จนได้ชื่อว่า รูปนันทา บ้าง อภิรูปนันทา บ้าง และ ชนบทกัลยาณี บ้าง[3][4] แต่เพราะความงามนี้เองทำให้นางเอาแต่เพลิดเพลินยินดีไปกับสิริโฉมทั้งวัน ไม่คิดจะทำการใด ๆ อีก[8]
ใน เถรีคาถา ระบุว่า นันทาจะเสกสมรสกับนันทะ พระเชษฐาของพระองค์เอง ทว่าก่อนพระราชพิธีเสกสมรสจะเริ่มขึ้น พระพุทธเจ้าได้เสด็จกลับกรุงกบิลพัสดุ์เพื่อโปรดพระบิดา เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จเข้าไปในงาน นันทะก็ลุกจากอาสนะในพิธีสยุมพร แสดงเจตจำนงที่จะออกบวชไปกับพระพุทธเจ้า[9][10] นอกจากนี้ยังมีพระราหุลและพระภัททิยะออกบวชไปด้วยในคราวนั้น[4] ขณะที่บางแห่งอธิบายว่า นันทามีความงามเป็นที่เลื่องลือ ทำให้เหล่าเจ้าชายศากยวงศ์ลอบสังหารกันเองเพื่อที่จะเสกสมรสกับนาง[2] ต่อมานันทาจะเข้าพิธีรับหมั้นกับเจ้าชายพระองค์หนึ่ง แต่ในวันรับหมั้น เจ้าชายพระองค์นั้นสิ้นพระชนม์ลงเสียก่อน[11]
ออกผนวช
[แก้]หลังพระเจ้าสุทโธทนะสวรรคต เจ้านายของศากยวงศ์จำนวนมากออกผนวช แม้แต่พระมหาปชาบดีโคตมีเถรี และพระยโสธราเถรี ก็ออกผนวชเป็นภิกษุณีไปแล้ว วันหนึ่งนันทามีดำริว่า "เจ้าพี่ใหญ่ของเราสละสิริราชสมบัติผนวชเป็นพระพุทธเจ้าผู้อัครบุคคลในโลก แม้โอรสของพระองค์ทรงนามว่าราหุลกุมาร ก็ผนวชแล้ว แม้เจ้าพี่ของเรา (คือพระนันทะ) ก็ผนวชแล้ว แม้พระมารดาของเราก็ทรงผนวชแล้ว เมื่อคณะพระญาติมีประมาณเท่านี้ ทรงผนวชแล้ว แม้เราจักทำอะไรในเรือน จักผนวช"[3] และกล่าวอีกว่า "เหลือแต่เราเพียงผู้เดียว ประหนึ่งไร้ญาติขาดมิตร จะมีประโยชน์อะไรกับการดำรงชีวิตในฆราวาสวิสัย สมควรที่เราจะไปบวชตามพระประยูรญาติผู้ใหญ่ของเราจะประเสริฐกว่า"[4] ด้วยเหตุนี้นันทาจึงเข้าไปยังสำนักภิกษุณีเพื่อขอผนวช ซึ่งการผนวชของนางเกิดขึ้นเพราะความรักในเครือญาติเท่านั้นมิใช่เกิดเพราะศรัทธา[12] ครั้นเมื่อบวชเป็นสิกขมานา[5] ก็ยังไม่ละนิสัยของปุถุชน กล่าวคือยังรักสวยรักงาม ยังคงแต่งพระพักตร์และหลงใหลในรูปโฉมโนมพรรณอยู่[2] ทั้งยังหลีกเลี่ยงที่จะพบปะกับพระศาสดา เพราะเกรงว่าจะถูกตำหนิเรื่องความงามของตน หลังได้สดับคำสอนของพระพุทธองค์ว่า "รูปไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา, เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา" ซึ่งพระนันทาเถรีมองว่า "พระศาสดาจะพึงตรัสโทษในรูปแม้ของเราซึ่งน่าดู น่าเลื่อมใสอย่างนี้"[3][4]
บรรลุโสดาปัตติผล
[แก้]วันหนึ่งพระนันทาเถรีเข้าไปสดับธรรมเทศนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า บางแห่งว่าไปฟังธรรมเพราะได้ยินคนอื่นนิยมชมชอบในพระธรรมที่พระพุทธเจ้าแสดง[2][3] บางแห่งว่าเพราะนางไม่ยอมไปรับโอวาทจากพุทธองค์กลับส่งภิกษุณีนางอื่นมาแทน พุทธองค์จึงบังคับให้พระนันทาเถรีมาฟังด้วยตนเอง[4] อย่างไรก็ตามนันทาเถรีได้ฟังธรรมจากพระพุทธเจ้า หากแต่ไม่แสดงตน และประทับอยู่ด้านหลัง[3][4] พระพุทธเจ้าจึงได้แสดงธรรม ด้วยการเนรมิตหญิงงามอายุราว 16 ปี งามเลิศในปฐพี ถือวาลวีชนีถวายงานพัดใกล้พระพุทธองค์ เมื่อพระนันทาเถรีเห็นก็คิดในใจว่า "โอ ผมของหญิงนี้ก็งาม, โอ หน้าผากก็งาม"[3] และกล่าวอีกว่า "รูปโฉมของเรานั้นเทียบไม่ได้ส่วนเสี้ยวที่ 16 ของหญิงนี้เลย ดูนางช่างงามยิ่งนัก ผมก็สวย หน้าผากก็สวย หน้าตาก็สวย ทุกสิ่งทุกอย่างช่างสวยงามพร้อมทั้งหมด"[4] หลังจากนั้นจึงคิดเปรียบหญิงงามนางนั้นว่าว่าเป็นนางพระยาหงส์ทอง แต่ตนเองเป็นเพียงแค่นางกา[10]
หลังจากนั้น พระพุทธองค์ก็เนรมิตให้หญิงนั้นมีอายุ 20 ปี พระนันทาเถรีเห็นเช่นนั้นก็พูดว่า "รูปนี้ไม่เหมือนรูปก่อนหนอ" ก่อนเนรมิตให้หญิงคนนั้นแปรสภาพไปตามช่วงวัยต่าง ๆ ของชีวิต ได้แก่ เป็นหญิงคลอดบุตร เป็นหญิงวัยกลางคน เป็นหญิงชรา เป็นหญิงแก่หง่อม ผมหงอก ฟันหลอ หลังค่อมถือไม้เท้า ระหว่างนั้นพระนันทาเถรีที่เพ่งพิศอย่างตั้งใจ ก็พูดว่า "โอ รูปนี้หายไปแล้ว ๆ" ต่อมาหญิงที่กลายสภาพเป็นคนชรานั้นก็ทิ้งวาลวีชนีและไม้เท้าล้มตายลงท่ามกลางกองอุจจาระและปัสสาวะเพราะป่วยโรค จากนั้นก็กลายสภาพเป็นศพขึ้นอืด มีหนองไหล มีหนอนชอนไชออกจากปากแผล มีฝูงสัตว์มากัดกินซากศพ เหลือเพียงโครงกระดูกสีขาว[2][3][4] เมื่อเห็นเช่นนั้น พระนันทาเถรีจึงกล่าวว่า "หญิงนี้ถึงความแก่ ถึงความเจ็บ ถึงความตาย ในที่นี้เอง, ความแก่ ความเจ็บและความตาย จักมาถึงแก่อัตภาพแม้นี้อย่างนั้นเหมือนกัน"[3] จากนั้นพระพุทธเจ้าได้ตรัสคาถาไว้ว่า[3]
"...นันทา เธอจงดูกายอันกรรมยกขึ้น อันอาดูร ไม่สะอาดเปื่อยเน่า ไหลออกอยู่ข้างบน ไหลออกอยู่ข้างล่าง ที่พาลชนทั้งหลายปรารถนากันนัก
สรีระของเธอนี้ ฉันใด สรีระของหญิงนั่น ก็ฉันนั้น สรีระของหญิงนั่น ฉันใด สรีระของเธอนี้ ก็ฉันนั้น
เธอจงเห็นธาตุทั้งหลายโดยความเป็นของสูญ อย่ากลับมาสู่โลกนี้อีก เธอคลี่คลายความพอใจในภพเสียแล้วจักเป็นบุคคลผู้สงบเที่ยวไป..."
หลังจากนั้นพระนันทาเถรี ก็บรรลุโสดาปัตติผล[3]
บรรลุอรหันต์
[แก้]หลังพระนันทาเถรีบรรลุโสดาปัตติผลแล้ว พระพุทธเจ้าก็แสดงวิปัสสนา แล้วทรงตรัสว่า "ดูก่อนนันทา เธอจงดูอัตภาพร่างกายอันเป็นเมืองแห่งกระดูกนี้ (อฏฺฐีนํนครํ) อันกระสับกระส่าย ไม่สะอาด อันบูดเน่านี้เถิด เธอจงอบรมจิตให้แน่วแน่มั่นคง มีอารมณ์เดียวในอสุภกรรมฐาน จงถอนมานะละทิฏฐิให้ได้แล้วจิตใจของเธอก็จะสงบ จงดูว่ารูปนี้เป็นฉันใด รูปของเธอก็เป็นฉันนั้น รูปของเธอเป็นฉันใดรูปนี้ก็เป็นฉันนั้น รูปอันมีกลิ่นเหม็นบูดเน่านี้ ย่อมเป็นที่เพลิดเพลินอย่างยิ่งของผู้โง่เขลาทั้งหลาย"[4] จากนั้นก็ตรัสพระคาถาเมืองแห่งกระดูก (อฏฺฐีนํนครํ) ดังนี้[3]
อฏฺฐีนํ นครํ กตํ | มํสโลหิตเลปนํ | |
ยตฺถ ชรา จ มจฺจุ จ | มาโน มกฺโข จ โอหิโต |
แปลความได้ว่า สรีระอันกรรมทำให้เป็นนครแห่งกระดูกทั้งหลาย ฉาบด้วยเนื้อและโลหิต เป็นที่ตั้งลงแห่งชรา มรณะ มานะและมักขะ เปรียบสรีระมนุษย์ดั่งโครงไม้ที่พันเกี่ยวด้วยเถาวัลย์ และฉาบด้วยดินเหนียวทรุดโทรมได้ฉันใด ร่างกายของมนุษย์ที่ห่อหุ้มด้วยผิวหนัง กล้ามเนื้อ อวัยวะ และเส้นเลือด ก็ทรุดโทรมได้ฉันนั้น[3] หลังจากนั้นพระนันทาเถรีก็บรรลุอรหันตผลหลังการเพ่งฌาน ด้วยเหตุนี้พระพุทธเจ้าจึงยกย่องเธอให้เป็น "ผู้เป็นเลิศในการเพ่งฌาน"[2][4]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "The Buddha's Sister: Sundari Nanda". American Buddhist Journals. 29 June 2011.
- ↑ 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 2.5 "อภิรูปนันทา บรรลุอรหันต์เพราะละจากความหลงใหลในความงาม". Goodlife Update. สืบค้นเมื่อ 30 Jul 2022.
{{cite web}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์) - ↑ 3.00 3.01 3.02 3.03 3.04 3.05 3.06 3.07 3.08 3.09 3.10 3.11 3.12 3.13 "เรื่องพระนางรูปนันทาเถรี". อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท ชราวรรคที่ ๑๑. สืบค้นเมื่อ 30 Jul 2022.
{{cite web}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์) - ↑ 4.00 4.01 4.02 4.03 4.04 4.05 4.06 4.07 4.08 4.09 4.10 4.11 "พระนันทาเถรี เอตทัคคะในฝ่ายผู้แพ่งด้วยฌาน". 84000. สืบค้นเมื่อ 30 Jul 2022.
{{cite web}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์) - ↑ 5.0 5.1 "คาถาของพระนันทาเถรี". พระไตรปิฎก. สืบค้นเมื่อ 30 Jul 2022.
{{cite web}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์) - ↑ Murcott, Susan (1991). The First Buddhist Women: Translations and Commentaries on the Therigatha (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ พระมหาอธิวัฒน์ ภทฺรกวี (เมษายน–มิถุนายน 2564). การสร้างและปรับเปลี่ยนอัตลักษณ์ผู้หญิงภิกษุณีในอรรถกถาธรรมบท. วารสารวิชาการธรรมทรรศน์ (21:2), หน้า 129
- ↑ พระมหาอธิวัฒน์ ภทฺรกวี (เมษายน–มิถุนายน 2564). การสร้างและปรับเปลี่ยนอัตลักษณ์ผู้หญิงภิกษุณีในอรรถกถาธรรมบท. วารสารวิชาการธรรมทรรศน์ (21:2), หน้า 132
- ↑ Vidanapathirana, Gayan Chanuka. Sundari Nanda Maha Rahath Theraniya. Dayawansha Jayakody.
- ↑ 10.0 10.1 "ประวัติพระนันทาเถรี เอตทัคคะผู้ยินดีในฌาน". ประตูสู่ธรรม. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-09-05. สืบค้นเมื่อ 30 Jul 2022.
- ↑ สมิทธิพล เนตรนิมิตร, ผศ. ดร. (2008). "ภิกษุณีกับการพัฒนาศักยภาพสตรีในพระพุทธศาสนา". มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. สืบค้นเมื่อ 30 Jul 2022.
{{cite web}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์)[ลิงก์เสีย] - ↑ "The Story of Rupananda meeting Buddha". The Buddhist News.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ สุนทรีนันทา