ข้ามไปเนื้อหา

พิสุทธินิยมทางภาษา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
หน้าแรกของพจนานุกรมภาษาฝรั่งเศสฉบับที่ 6 ของบัณฑิตยสถานฝรั่งเศส (Académie française) ตีพิมพ์เมื่อ ค.ศ. 1835 มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อทำให้ภาษาฝรั่งเศสบริสุทธิ์

พิสุทธินิยมทางภาษา หรือ ความพิถีพิถันในภาษา (อังกฤษ: linguistic purism, linguistic protectionism) เป็นคตินิยมที่มุ่งสร้าง "ความบริสุทธิ์" หรือ "ความสะอาด" อันสูงสุดให้แก่ภาษาใดภาษาหนึ่ง โดยนิยาม “ภาษาบริสุทธิ์” หรือ “ภาษาสะอาด” ว่าเป็นภาษาที่ปราศจากคุณสมบัติทางภาษาจากภาษาต่างชาติ ในคตินิยมนี้ จึงมีการอนุรักษ์ภาษาโดยการขจัดสิ่งที่เห็นว่ามาจากภาษาต่างชาติ ซึ่งสามารถอยู่ในทุกระดับของระบบภาษา เช่น ไวยากรณ์ การออกเสียง หรือ คำศัพท์ เป็นต้น แต่ส่วนใหญ่วัตถุประสงค์หลักในการกำจัด มักเป็นคำศัพท์ [1]

พิสุทธินิยมทางภาษา มักมีความเกี่ยวข้องกับชาตินิยม ซึ่งมักเกิดขึ้นควบคู่กับการสถาปนารัฐชาติ

รูปแบบ

[แก้]

นักวิชาการได้เสนอการจำแนกประเภทของพิสุทธินิยมทางภาษาที่ต่างกัน การจำแนกประเภทเหล่านี้ได้ใช้เกณฑ์ที่ต่างกันเป็นจุดเริ่มต้น จึงมีบางส่วนที่เป็นอิสระต่อกัน

จำแนกตามแนวเข้าสู่

[แก้]
  • พิสุทธินิยมเชิงการสร้างลักษณะโบราณ (Archaizing purism): เกิดขึ้นเมื่อสังคมต้องการนำคำโบราณ (archaic words) หรือคำที่เลิกใช้ (obsolete words) กลับมาใช้ในภาษาใหม่ คำเหล่านี้ มักถือว่าเป็นคำที่ใช้ใน "ยุคทอง" ของตนเอง คือช่วงที่วรรณคดีทีความก้าวหน้าพัฒนาที่สุด
ตัวอย่าง: ภาษาไอซ์แลนด์ ซึ่งมีวิวัฒนาการมาจากภาษานอร์สโบราณอันเป็นภาษาของนักรบไวกิ้ง ได้ผ่านการกำจัดคำยืมจากภาษาอื่นซึ่งโดยมากเป็นศัพท์จากภาษาเยอรมัน ละติน ฝรั่งเศส และอังกฤษ เป็นต้น การกำจัดนี้อาศัยการนำคำโบราณหรือคำที่เลิกใช้แล้วที่มีวิวัฒนาการมาจากนอร์สโบราณกลับมาใช้ในภาษาอีก เช่น คำว่า sími ซึ่งเป็นคำโบราณ แปลว่า “เชือก สาย หรือด้ายยาว” ได้ถูกนำกลับมาใช้ใหม่เป็นคำแปลของคำว่า “โทรศัพท์”
  • พิสุทธินิยมเชิงชาติพันธุ์วิทยา (Ethnographic purism): มักมองว่ารูปแบบภาษาที่ใช้ในชนบทคือรูปแบบที่สะอาดที่สุด
ตัวอย่าง: ภาษานอร์ส (Nynorsk) ของนอร์เวย์ ได้มีการนำศัพท์จากชนบทต่าง ๆ มาเป็นศัพท์ของภาษามาตรฐาน
  • พิสุทธินิยมเชิงอภิชน (Elitist purism): รูปแบบนี้มองว่ารูปแบบภาษาที่กลุ่มคนตระกูลสูงใช้เป็นภาษาที่บริสุทธิ์ที่สุด
ตัวอย่าง: ภาษาที่ใช้คำจากภาษาในราชสำนักมาใช้
  • พิสุทธินิยมเชิงการปฏิรูป (Reformist purism): เกิดขึ้นเมื่อสังคมต้องการตัดขาดจากอดีต
ตัวอย่าง: ภาษาตุรกี ซึ่งในช่วงจักรวรรดิออตโตมันเปลี่ยนเป็นประเทศตุรกี ได้มีการกำจัดศัพท์ภาษาฟาร์ซีและอาหรับเพราะตุรกีต้องการตัดขาดจากโลกตะวันออกกลางแล้วหันมาผูกมิตรกับโลกตะวันตก
  • พิสุทธินิยมเชิงความรักปิตุภูมิ (Patriotic purism): มองว่าต้องกำจัดคุณสมบัติทางภาษาต่าง ๆ ที่มีรากศัพท์จากภาษาต่างชาติ
ตัวอย่าง: ภาษาเกาหลีในเกาหลีเหนือ

การจำแนกทางพิสุทธินิยมนี้ ซึ่งมาจากจอร์จ ทอมัส เป็นเพียงแต่การแสดงรูปแบบในอุดมคติ ในทางปฏิบัติ แนวคิดเหล่านี้มักมีการใช้ที่ผสมกัน

จำแนกตามเป้าหมาย

[แก้]
  • พิสุทธินิยมเพื่อประชาธิปไตย (Democratic purism): มุ่งปกป้องความเข้าใจศัพท์หรือมโนทัศน์สมัยใหม่ (modern concepts) โดยผู้ใช้ภาษากลุ่มใหญ่ โดยอาศัยการบังคับให้ใช้ศัพท์ธรรมดาในการแสดงออกทางภาษา เช่น การใช้คำที่พบทั่วไปแทนศัพท์สูง
  • พิสุทธินิยมเพื่อสร้างเอกภาพ (Unificatory purism): มุ่งยกระดับขีดความสามารถในการสร้างเอกภาพให้แก่กลุ่มผู้ใช้ภาษาทั้งมวล โดยอาศัยการลดการใช้ภาษาที่ใช้เฉพาะในบางท้องถิ่นหรือวิชาชีพ ซึ่งอาจสร้างความแตกแยกระหว่างมิติต่าง ๆ ของชีวิต หรืออาจแม้กระทั่งสร้างสิ่งขัดขวางให้กับการติดต่อกันระหว่างบุคคลหรือกลุ่มคนที่มีภูมิลำเนาหรืออาชีพที่ต่างกัน
  • พิสุทธินิยมเพื่อป้องกัน (Defensive purism): มุ่งป้องกันภาษาใดภาษาหนึ่งจากการข่มขู่จากภายนอกต่าง ๆ การข่มขู่เหล่านี้โดยมากเข้าใจกันว่าเป็นการเลื่อนไหลของแนวคิดต่าง ๆ จากต่างประเทศ ซึ่งเป็นแนวคิดที่ผู้พูดภาษากลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง (หรือระบบทางการเมืองของกลุ่มผู้พูด) รังเกียจหรือพยายามกำจัด ไม่ก็อาจเป็นแนวคิดหรือการแสดงออกทางภาษาของต่างประเทศที่จะแทนที่ศัพท์ของภาษาตัวเอง ซึ่งถ้าเกิดขึ้น ก็จะเป็นการลด และ/หรือ การคุกคามความเข้าใจระหว่างการสื่อสารกับคนที่มาจากท้องถิ่นที่ใหญ่กว่าภายในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง หรือการลด และ/หรือ การคุกคามความเข้าใจระหว่างคนต่างรุ่น เช่น ความเข้าใจระหว่างผู้พูดปัจจุบันกับบรรพบุรุษที่ตนนับถือในรูปแบบลายลักษณ์อักษร โดยสามารถเห็นได้ในมรดกทางวรรณคดี "คลาสสิค" บางชนิด (เช่น ผู้พูดอังกฤษปัจจุบันหลายคนไม่สามารถเข้าใจการใช้ภาษาอังกฤษของเชกสเปียร์ [ต้องการอ้างอิง] [ไม่แน่ใจ ]).
  • พิสุทธินิยมเพื่อเกียรติภูมิ (Prestige purism): มุ่งเปลี่ยนบทบาทหน้าที่ของเกียรติภูมิ
  • พิสุทธินิยมเพื่อกำหนดเขต (Delimiting purism): มุ่งกำหนดบทบาทหน้าที่ในบางด้านเพื่อแยกแยะ

อ้างอิง

[แก้]
  1. Linguistic purism - George Thomas - Google Books. Books.google.com. 2010-07-23. สืบค้นเมื่อ 2015-08-11.