ข้ามไปเนื้อหา

ฟริทซ์ อัลแบร์ท ลิพมัน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ฟริทซ์ อัลแบร์ท ลิพมัน
เกิด12 มิถุนายน ค.ศ. 1899(1899-06-12)
เคอนิชส์แบร์ค เยอรมนี
เสียชีวิตกรกฎาคม 24, 1986(1986-07-24) (87 ปี)
โพคิปซี รัฐนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา
สัญชาติเยอรมัน/อเมริกัน
ศิษย์เก่า
มีชื่อเสียงจากค้นพบโคเอนไซม์เอ
รางวัลรางวัลโนเบลสาขาสรีรวิทยาหรือการแพทย์ (ค.ศ. 1953)
เหรียญวิทยาศาสตร์แห่งชาติ (ค.ศ. 1966)
อาชีพทางวิทยาศาสตร์
สาขาชีวเคมี
สถาบันที่ทำงานสถาบันไคเซอร์วิลเฮ็ล์มเพื่อการวิจัยทางการแพทย์

ฟริทซ์ อัลแบร์ท ลิพมัน (เยอรมัน: Fritz Albert Lipmann; 12 มิถุนายน ค.ศ. 1899 – 24 กรกฎาคม ค.ศ. 1986) เป็นนักชีวเคมีชาวเยอรมัน/อเมริกัน เกิดที่เมืองเคอนิชส์แบร์ค (ปัจจุบันคือเมืองคาลีนินกราด ประเทศรัสเซีย) ในครอบครัวชาวยิว เป็นบุตรของเลโอพ็อลท์และแกร์ทรูท (นามสกุลเดิม ลัคมันสกี) ลิพมัน[1] ลิพมันเรียนวิชาแพทย์ที่มหาวิทยาลัยเคอนิชส์แบร์ค มหาวิทยาลัยเบอร์ลิน และมหาวิทยาลัยมิวนิก แล้วเรียนต่อด้านเคมีกับศาสตราจารย์ฮันส์ แมร์ไวน์ ในปี ค.ศ. 1926 ลิพมันทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกที่สถาบันไคเซอร์วิลเฮ็ล์ม และรู้จักกับอ็อทโท ฟริทซ์ ไมเออร์โฮฟ ต่อมาลิพมันและไมเออร์โฮฟเดินทางไปทำงานที่สถาบันไคเซอร์วิลเฮ็ล์มเพื่อการวิจัยทางการแพทย์ที่เมืองไฮเดิลแบร์ค[2]

ในปี ค.ศ. 1939 ลิพมันย้ายไปสหรัฐอเมริกาเพื่อทำงานเป็นผู้ช่วยนักวิจัยในสาขาชีวเคมีของโรงเรียนแพทย์ มหาวิทยาลัยคอร์เนล ต่อมาลิพมันย้ายไปเป็นนักวิจัยที่โรงพยาบาลแมสซาชูเซตส์ ในปี ค.ศ. 1945 ลิพมันค้นพบโคเอนไซม์เอ ซึ่งเป็นโคแฟกเตอร์ที่สำคัญในการสังเคราะห์และออกซิเดชันกรดไขมัน ระหว่างปี ค.ศ. 1949–1957 ลิพมันดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ด้านชีวเคมีที่โรงเรียนแพทย์ฮาร์วาร์ด หลังจากนั้นเขาไปเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยร็อกเกอะเฟลเลอร์ในนครนิวยอร์ก[2]

ในปี ค.ศ. 1953 ลิพมันได้รับรางวัลโนเบลสาขาสรีรวิทยาหรือการแพทย์ร่วมกับฮันส์ อดอล์ฟ เครบส์ จากผลงานการค้นพบโคเอนไซม์เอ[3]

ด้านชีวิตส่วนตัว ลิพมันแต่งงานกับเอลฟรีดา เอ็ม. ฮอลล์ ในปี ค.ศ. 1931 มีบุตรด้วยกัน 1 คน ลิพมันเสียชีวิตที่เมืองโพคิปซีในปี ค.ศ. 1986[1]

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 "Fritz Albert Lipmann - Encyclopedia.com". สืบค้นเมื่อ 21 มีนาคม 2016.
  2. 2.0 2.1 "Fritz Lipmann - Biographical - Nobelprize.org". สืบค้นเมื่อ 21 มีนาคม 2016.
  3. The Nobel Prize in Physiology or Medicine 1953

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]