ข้ามไปเนื้อหา

ฟาโรห์ฮอรัส เบิร์ด

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ฮอรัส เบิร์ด หรือที่รู้จักกันในอีกชื่อว่า ฮอรัส-บา อาจเป็นฟาโรห์ที่อาจจะทรงครองราชย์เป็นระยะเวลาสั้นมากระหว่างราชวงศ์ที่หนึ่งและสองแห่งอียิปต์ และไม่ทราบสถานที่ฝังพระบรมศพของพระองค์เช่นกัน

ที่มาของพระนาม

[แก้]

ปรากฏแหล่งข้อมูลเกี่ยวกับพระนามของพระองค์ที่เชื่อถือได้น้อยมาก โดยหลักฐานแรกที่ทำให้ทราบเกี่ยวกับผู้ปกครองพระองค์นี้ อาจจะเป็นเซเรคที่ปรากฏรูปนกที่ไม่ได้ลงรายละเอียด ซึ่งพบโดยฟลินเดอรส์ เพตรีในหลุมฝังพระบรมศพของฟาโรห์กา'อาที่อไบดอส คำจารึกที่อ่านง่ายอีกส่วนหนึ่งที่แสดงรูปเซเรคกับนก ถูกพบในภายหลังบนชิ้นส่วนเรือ PD IV n.108 ในบริเวณพีระมิดแห่งดโจเซอร์ที่ซักกอเราะห์ คำจารึกบนแจกันหินชิสต์ (P.D. IV n.97) จากกลุ่มพีระมิดแห่งดโจเซอร์ อาจจะหมายถึงผู้กปกครองฮอรัส-เบิร์ดอีกด้วย[1]

เนื่องจากสัญลักษณ์อักษรอียิปต์โบราณที่เขียนขึ้นในลักษณะที่ไม่มีแบบแผน การอ่านที่ถูกต้องจึงยังไม่แน่นอน ในขณะที่นักไอยคุปต์วิทยา เช่น โวล์ฟกัง เฮลค์ และปีเตอร์ แคปโลนี เห็นเป็นรูปห่าน โดยที่ทั้งสองอ่านชื่อว่า ซา Sa (ซึ่งจะแปลเป็น "บุตรแห่งฮอรัส") หรือเป็น เกบ(เอบ) Geb(eb) (ซึ่งจะแปลเป็น "ทายาทแห่งฮอรัส" ")[1] ส่วนนักไอยคุปต์วิทยา นาบิล สเวลิม กลับเห็นรูปของนกกระสาปากอาน และอ่านเป็นคำว่า บา Ba (ซึ่งจะแปลเป็น "วิญญาณแห่งฮอรัส")[2]

การระบุตัวตน

[แก้]

ไม่ค่อยทราบข้อมูลเกี่ยวกับผู้ปกครองพระองค์นี้มากนัก และหลักฐานทางโบราณคดีไม่เพียงกี่ชิ้นที่ชี้ให้เห็นถึงการมีอยู่ของผู้ปกครองที่ทรงครองราชย์สั้น ๆ จำนวนหนึ่งพระองค์หรือมากกว่านั้นภายหลังการสวรรคตของฟาโรห์กา'อา และก่อนหน้ารัชสมัยของฟาโรห์โฮเทปเซเคมวี ซึ่งฟาโรห์ฮอรัส-เบิร์ด อาจจะเป็นเพียงผู้ปกครองหนึ่งพระองค์ในช่วงเวลาดังกล่าว

นักไอยคุปต์วิทยา เช่น ยาโรสลาฟ เชร์นี และแคปโลนี คิดเห็นว่าฟาโรห์ฮอรัส-เบิร์ดอาจจะมีความคล้ายคลึงกับฟาโรห์ฮอรัส-บาที่ปรากฏหลักฐานยืนยันเล็กน้อยเช่นเดียวกัน อันที่จริงผู้ปกครองพระองค์นี้เขียนพระนามของพระองค์ด้วยสัญลักษณ์ขาหรือสัญลักษร์ขาและแกะ ซึ่งอ่านว่า "บา" และทั้งสองเห็นว่า นกในเซเรคของพระองค์นั้นเป็นสัญลักษณ์รูปห่านที่มีการถอดเสียงเหมือนกันว่า "บา"[3] ในกรณีนี้ ฟาโรห์ฮอรัส-บา และ ฟาโรห์ฮอรัส "เบิร์ด" อาจจะเป็นบุคคลในประวัติศาสตร์คนเดียวกัน อย่างไรก็ตามทฤษฎีของเชร์นี และแคปโลนีกลับไม่เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไป การค้นพบเชเรคของฟาโรห์ฮอรัส-เบิร์ดในหลุมฝังพระบรมศพของฟาโรห์กา'อานั้นชี้ไปที่ช่องว่างระหว่างรัชสมัยของพระองค์ที่อยู่ระหว่างราชวงศ์ที่หนึ่งและราชวงศ์ที่สองแห่งอียิปต์

ความเป็นไปได้ที่จะมีการสู้รบระหว่างฟาโรห์สเนเฟอร์คา

[แก้]

นักไอยคุปต์วิทยา เช่น โวล์ฟกัง เฮลค์ และปีเตอร์ แคปโลนี เชื่อว่า ฟาโรห์ฮอรัส-เบิร์ด และฟาโรห์สเนเฟอร์คาทรงต่อสู้กันเพื่อชิงพระราชบัลลังก์แห่งอียิปต์ การต่อสู้ถึงจุดสูงสุดด้วยการปล้นสุสานหลวงแห่งอไบดอส ซึ่งทำให้สุสานหลวงดังกล่าวถูกละทิ้งไป การต่อสู้เพื่อชิงพระราชบัลลังก์อาจจะยุติลงโดยฟาโรห์โฮเทปเซเคมวี ซึ่งทรงเป็นผู้สถาปนาราชวงศ์ที่สอง หลักฐานชิ้นหนึ่งที่สนับสนุนทฤษฎีนี้คือพระนามฮอรัสของฟาโรห์โฮเทปเซเคมวี ซึ่งมีความหมายว่า "อำนาจทั้งสองได้คืนดีกัน" และอาจจะเกี่ยวข้องกับการรวมราชอาณาจักรอียิปต์เข้าด้วยกันอีกครั้งหลังจากช่วงเวลาแห่งความขัดแย้ง[4][5][6]

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 Wolfgang Helck: Geschichte des Alten Ägypten. Brill, Leiden 1981, ISBN 9789004064973, page 34-35.
  2. Nabil Swelim: Some Problems on the History of the Third Dynasty. In: Archaeological and Historical Studies, vol. 7. The Archaeological Society of Alexandria, Alexandria 1983
  3. Peter Kaplony: Horus Ba?. In: Mitteilungen des Deutschen Archäologischen Institut Kairo. Volume 20. von Zabern, Mainz 1965, page 3 & 4.
  4. Peter Kaplony: „Er ist ein Liebling der Frauen“ – Ein „neuer“ König und eine neue Theorie zu den Kronprinzen sowie zu den Staatsgöttinnen (Kronengöttinnen) der 1./2. Dynastie. In: Manfred Bietak: Ägypten und Levante. Verlag der Österreichischen Akademie der Wissenschaften, Wien 2006 ISBN 978-3-7001-6668-9; page 126–127.
  5. Dietrich Wildung: Die Rolle ägyptischer Könige im Bewußtsein ihrer Nachwelt. page 36–41.
  6. Wolfgang Helck: Untersuchungen zur Thinitenzeit. (Ägyptologische Abhandlungen, Vol. 45). Harrassowitz, Wiesbaden 1987, ISBN 3-447-02677-4; page 117