มิสไซง่อน
มิสไซง่อน | |
---|---|
โปสเตอร์ต้นฉบับ | |
ดนตรี | คลอดด์-มิเชล โชนเบิร์ก |
คำร้อง | อัลเลง บูบลิล ริชาร์ด มอลต์บี จูเนียร์ |
หนังสือ | คลอดด์-มิเชล โชนเบิร์ก อัลเลง บูบลิล |
อ้างอิงจาก | อุปรากร มาดามบัตเตอร์ฟลาย โดย จาโกโม ปุชชีนี |
งานสร้าง | 1989 West End 1991 Broadway 1992 US tour 1993 Toronto 1994 Stuttgart 1994 Budapest 1996 Scheveningen 2000 Manila 2000 Warszawa 2001 UK tour 2002 US tour 2002 Estonia 2004 Győr 2004 UK tour 2007 Brazil 2009 Norway 2010 Toronto 2011 Utrecht 2011 Budapest 2011 New Zealand 2012 Denmark 2012 Thailand 2013 Malmö 2014 West End revival 2014 Japan |
มิสไซง่อน (อังกฤษ: Miss Saigon) เป็นละครเพลง ซึ่งประพันธ์ดนตรีโดยคลอดด์-มิเชล โชนเบิร์ก (Claude-Michel Schönberg) คำร้องโดยอัลเลง บูบลิล (Alain Boublil) และริชาร์ด มอลต์บี จูเนียร์ (Richard Maltby, Jr.) โดยนำเค้าโครงเรื่องมาจากอุปรากรของจาโกโม ปุชชีนี (Giacomo Puccini) เรื่องมาดามบัตเตอร์ฟลาย (Madame Butterfly) ซึ่งทั้ง "มาดามบัตเตอร์ฟลาย" และ "มิสไซง่อน" ได้ถ่ายทอดเรื่องราวโศกนาฏกรรมความรักของหญิงชาวเอเชียที่ถูกชายชาวอเมริกันทอดทิ้ง ในขณะที่เนื้อเรื่องเดิมของ "มาดามบัตเตอร์ฟลาย" เป็นเรื่องราวความรักของหญิงสาวเกอิชาชาวญี่ปุ่นและนายทหารเรือชาวอเมริกันในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1900 ซึ่งเป็นช่วงที่ญี่ปุ่นเพิ่งเริ่มเปิดประเทศ "มิสไซง่อน" เป็นเรื่องราวความรักของหญิงสาวชาวเวียดนามที่ทำงานในสถานบริการ และนายทหารชาวอเมริกันที่เข้าไปประจำการในเมืองไซง่อน (ปัจจุบันคือ นครโฮจิมินห์) ประเทศเวียดนาม ระหว่างสงครามเวียดนาม ช่วงคริสต์ทศวรรษ 1970
มิสไซง่อนรอบปฐมทัศน์แสดงที่โรงละครเธียร์เตอร์รอยัล ถนนดรูรี่ (Theatre Royal, Drury Lane) กรุงลอนดอน เมื่อวันที่ 20 กันยายน ค.ศ. 1989 และแสดงรอบสุดท้ายเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม ค.ศ. 1999 รวมทั้งหมด 4,264 รอบ[ต้องการอ้างอิง] แต่ยังเปิดการแสดงที่โรงละครบรอดเวย์ (The Broadway Theatre) สหรัฐอเมริกา เมื่อค.ศ. 1991 และเปิดการแสดงตามเมืองใหญ่ ๆ ทั่วโลก มิสไซง่อนได้กลับมาเปิดทำการแสดงอีกครั้งในเดือนพฤษภาคม ณ โรงละครปรินส์เอ็ดวาร์ด กรุงลอนดอน และได้สร้างสถิติใหม่เป็นละครที่สร้างรายได้มากที่สุดจากการเปิดจำหน่ายบัตรในวันแรก โดยทำรายได้ไปมากกว่าสี่ล้านปอนด์หรือกว่าหนึ่งร้อยเก้าสิบล้านบาทภายในวันเดียว[1]
มิสไซง่อน ถือเป็นละครเพลงของโชนเบิร์กและบูบลิลที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดเป็นอันดับสอง รองจากเลมีเซราบล์[ต้องการอ้างอิง] (Les Misérables) ที่เป็นการแสดงในค.ศ. 1980 มิสไซง่อนยังถือเป็นละครบรอดเวย์ที่ดำเนินการแสดงเป็นระยะเวลายาวนานที่สุดเป็นอันดับ 10 ในประวัติศาสตร์ของละครเพลง[ต้องการอ้างอิง]
จุดเริ่มต้น
[แก้]แรงบันดาลใจต่อละครเพลงเรื่องนี้มาจากรูปภาพที่โชนเบิร์กพบในนิตยสารเล่มหนึ่ง เป็นภาพของหญิงชาวเวียดนามและลูกที่เกิดกับทหารอเมริกันที่กำลังจะจากกันเพื่อสภาพชีวิตของลูกที่ดีกว่าในอเมริกา ณ สนามบินทหารแห่งหนึ่งในเวียดนาม โชนเบิร์กได้นำแรงบันดาลใจจากภาพนี้ซึ่งเขาได้อธิบายว่าเป็น ‘การเสียสละอันยิ่งใหญ่’ มาพัฒนาเป็นละครมิสไซง่อนในปัจจุบัน
การเปิดแสดง
[แก้]- เวสต์เอนด์
มิสไซง่อน ทำการแสดงรอบปฐมทัศน์ที่โรงละครเธียร์เตอร์รอยัล ถนนดรูรี่ ในวันที่ 20 กันยายน ค.ศ.1989 และปิดทำการแสดงเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม ค.ศ.1999 หลังจากเปิดทำการแสดงไปแล้วกว่า 4,624 รอบ โดยกำกับการแสดงโดยนิโคลัส ฮายท์เนอร์ (Nicholas Hytner) กำกับศิลป์โดยบอบ เอเวียง (Bob Avian) ออกแบบฉากโดยจอห์น เนเปียร์ (John Napier) ในปีค.ศ.1994 มิสไซง่อนได้ทำลายสถิติเป็นละครที่เปิดทำการแสดงนานที่สุดของโรงละครเธียร์เตอร์รอยัล[2] ลีอา ซาลองกา รับบทเป็นคิมและโด่งดังขึ้นมาจากบทดังกล่าวและได้รับรางวัล ลอเรนซ์ โอลิเวอร์ อวอร์ดและ โทนี อวอร์ดจากบทดังกล่าว และโจนาทาน ไพรซ์ ผู้รับบทเอนจิเนียร์ก็ได้รับรางวัลดังกล่าวด้วยเช่นกัน
- บรอดเวย์
มิสไซง่อนเปิดทำการแสดงใน บรอดเวย์ ประเทศอเมริกาที่โรงละครบรอดเวย์ ในวันที่ 11 เมษายน ค.ศ.1991 และปิดทำการแสดงในวันที่ 28 มกราคม ค.ศ.2001 หลังจากเปิดทำการแสดงไปว่า 4,092 รอบ มิสไซง่อนเป็นละครเพลงที่เปิดแสดงในบรอดเวย์ยาวนานที่สุดเป็นอันดับที่ 12[3]
- เวสต์เอนด์ (ค.ศ.2014)
มิสไซง่อนกลับมาเปิดทำการแสดงอีกครั้งที่โรงละครปรินส์เอ็ดวาร์ดโดยโปรดิวเซอร์ชื่อดังอย่าง คาเมรอน แมคอินทอช (Cameron Mackintosh) และกำกับโดยลอเรนส์ คอนเนอร์ (Laurence Conor) ได้มีการออดิชั่นคัดเลือกนักแสดงในบทของคิมที่กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ ในวันที่ 19-22 พฤศจิกายน ค.ศ.2012 และได้มีการประกาศตัวนักแสดงหลักในวันที่ 21 พฤศจิกายน ค.ศ.2013 มิสไซง่อน ได้เปิดการแสดงอีกครั้งอย่างเป็นทางการในวันที่ 21 พฤษภาคม ค.ศ.2014 และได้จัดรอบพิเศษในโอกาสเฉลิมฉลองครบรอบ 25 ปีของละครเรื่องนี้ในวันที่ 22 กันยายน ค.ศ.2014 โดยหลังจากละครได้จบลง ลีอา ซาลองกา, ไซมอน โบวแมน, โจนาทาน ไพรซ์ และนักแสดงอื่น ๆ อีกมากมายจากการแสดงต้นฉบับออกมาแสดงการแสดงชุดพิเศษร่วมกับนักแสดงชุดปัจจุบัน[4]
โดยในโปรดักชั่นใหม่นี้ได้มีการปรับเปลี่ยนบทละครและบทร้องบางส่วนให้ลงตัวยิ่งขึ้น ที่เห็นได้ชัดคือมีการตัดบทเพลง "Now That I've Seen Her" เพลงหลักของเอเลนออกและแทนที่ด้วย "Maybe" ด้วยบทเพลงนี้จะช่วยทำให้ผู้ชมเข้าใจถึงบทบาทและความคิดของเอเลนมากขึ้นและยังทำให้บทบาททางความคิดของเอเลนอ่อนลงกว่าในบทเพลง "Now That I've Seen Her"[5]
- กรุงเทพมหานคร
มิสไซง่อนฉบับภาษาไทย โดยซีเนริโอร่วมกับคาเมรอน แมคอินทอช (Cameron Mackintosh) ภายใต้การจัดการลิขสิทธิ์ของ Music Theatre International (MTI) ได้เปิดการแสดงขึ้นที่เมืองไทยรัชดาลัย เธียเตอร์ ตั้งแต่วันที่ 26 กันยายน ถึง 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555 จำนวน 57 รอบ อำนวยการสร้างและกำกับการแสดงโดยถกลเกียรติ วีรวรรณ แปลบทละครโดยธานี พูนสุวรรณ กำกับลีลาโดยสุธีศักดิ์ ภักดีเทวา โดย กุลกรณ์พัชร์ โพธิ์ทองนาค และ กานดา วิทยานุถาพยืนยง รับบทเป็นคิม ชลาทิศ ตันติวุฒิ รับบทเป็นเอนจิเนียร์ และ นภัทร อินทร์ใจเอื้อ รับบเป็นคริส โดยในรอบปฐมทัศน์ของไทยนั้นหลังจากการแสดงจบลง ริชาร์ด มอลต์บี จูเนียร์ หนึ่งในผู้สร้างมิสไซง่อนได้กล่าวบนเวทีว่า “ไม่มีการแสดงครั้งไหน ที่สามารถเข้าถึงจิตใจของผมได้เท่าครั้งนี้”
- โปรดักชั่นอื่น ๆ
นับตั้งแต่เปิดทำการแสดงในกรุงลอนดอน มิสไซง่อนได้ถูกนำไปแสดงในเมืองต่าง ๆ มากมายเช่นชตุทท์การ์ท ประเทศเยอรมนี, โตรอนโต ประเทศแคนนาดา โดยที่ได้สร้างโรงละครขึ้นใหม่เพื่อละครเรื่องนี้โดยเฉพาะ, เมืองบันโลด์ ประเทศนอร์เวย์ เป็นเมืองที่มีประชากรเพียง 11,000 คน โดยได้เปิดการแสดงในเวทีกลางแจ้งเป็นเวลา 11 วันและได้ใช้เฮลิคอปเตอร์จริงในการแสดงอีกด้วย จนถึงปัจจุบันมิสไซง่อนได้เปิดแสดงทั่วโลกมากกว่า 25 ประเทศใน 246 เมือง คณะนักแสดงกว่า 27 คณะ และถูกแปลเป็นภาษาอื่นถึง 12 ภาษา
เนื้อเรื่อง
[แก้]- องก์ 1
เดือนเมษายนปีคริสต์ศักราช 1975 ก่อนการสิ้นสุดของสงครามเวียดนาม ใน“ดรีมแลนด์” บาร์แห่งหนึ่งในไซง่อน เป็นวันแรกที่บาร์ของ’คิม’เด็กสาววัย 17 ปี หนึ่งในสาวบริการของ’เอนจิเนียร์’หนุ่มใหญ่ลูกครึ่งฝรั่งเศส-เวียดนามผู้จัดการบาร์ ที่กำลังกวดขันเหล่าหญิงบริการอยู่หลังเวที ให้พร้อมกับโชว์ของคืนนั้น ขณะที่ทั้งหมดกำลังขบขันกับความไร้เดียงสาของคิม เหล่าทหารอเมริกันร่วมดื่มกับหญิงบริการชาวเวียดนาม (“เร่าร้อนในไซง่อน / The heat is on in Saigon”) ‘คริส’หนึ่งในทหารอเมริกันรู้สึกเบื่อและไม่สนใจกับเหล่าหญิงงามในร้านที่กำลังแข่งประกวดชิงตำแหน่งมิสไซง่อน แต่คริสกลับสะดุดตากับความไร้เดียงสาของคิมหนึ่งในหญิงเหล่านั้นและได้เปรยให้’จอห์น’เพื่อนสนิทของเขาฟัง ‘จีจี้’ผู้ได้รับตำแหน่งมิสไซง่อนได้ขอร้องให้ทหารอเมริกันช่วยพาเธอกลับอเมริกาด้วยแต่ถูกปฏิเสธ เหล่าสามงามตัดพ้อถึงความฝันของชีวิตที่ดีกว่า (“ภาพหนังที่ใจใฝ่หา / Movie in my mind”) จอห์นได้คุยกับเอนจิเนียร์เพื่อเปิดห้องพักเป็นของขวัญให้คริสและคิม (“เจรจา / The Transaction”) คิมลังเลที่จะคุยกับคริสด้วยความไร้เดียงสาของเธอ สุดท้ายเธอยอมเต้นรำกับคริส ด้วยความสงสารคริสพยายามให้เงินคิมเพื่อนที่เธอจะได้ไปจากบาร์แห่งนี้ แต่เอนจิเนียร์จับได้และคิดว่าคริสไม่ชอบเธอ คิมจึงรีบตัดบทด้วยการพาคริสไปที่ห้องของเธอ
รุ่งสางของวันต่อมาคริสตื่นมาพบคิมกำลังนอนหลับด้วยความเอ็นดูต่อคิม คริสถามต่อพระเจ้าว่าทำไมเขาถึงมาพบเธอในช่วงเวลาสุดท้ายในเวียดนามเช่นนี้ (“ทำไมต้องเธอ / Why, God, Why?”) เมื่อคิมตื่นขึ้น คริสให้เงินเธอดังเช่นหญิงบริการอื่น ๆ แต่คิมปฏิเสธโดยบอกว่านี่เป็นครั้งแรกของเธอ (“เงินเธออยู่นี่ / This money’s yours”) คริสไม่เชื่อว่านี่เป็นครั้งแรกของเธอ คิมจึงเล่าเรื่องราวชีวิตของเธอให้เขาฟัง คริสเมื่อได้ฟังเรื่องของคิมก็รู้สึกสงสารและเห็นใจ คริสจึงถามคิมว่าอยากมาใช้ชีวิตร่วมกันหรือไม่ แล้วทั้งสองก็ตกหลุมรักกัน (“เดือนกับตะวัน / Sun and Moon”) สายวันนั้นคริสจึงโทรไปบอกจอห์นว่าเขาจะขอลาพักไปอยู่กับคิม แต่จอห์นเตือนคริสว่าเวียดกงกำลังจะเข้ายึดไซง่อนแต่ก็ให้คริสไป (“ลาหยุด / The telephone song”) คริสไปต่อรองกับเอนจิเนียร์เพื่อขอคิม เอนจิเนียร์พยายามขอวีซ่าไปอเมริกากับคริส คริสใช้ปืนขู่เอนจิเนียร์ เอนจิเนียร์จึงยอมให้คิมกับคริส (“ค่าตัวคิม / The deal”)
เหล่าสาวบริการจัดพิธีแต่งงานอย่างง่าย ๆ ให้คิมและคริส (“เจ้าหญิงกับเจ้าชาย / Dju Vui Vai”) จีจี้อวยพรให้กับคิมและยกให้เธอเป็นมิสไซง่อนตัวจริง ‘ถวี’คู่มั่นคลุมถุงชนของคิม เข้ามาพาคิมกลับบ้าน ถวีเป็นทหารเวียดนามเหนือและไม่พอใจที่เห็นคิมอยู่กับคริส (“แกเป็นใคร / Thuy’s arrival”) ทั้งสองเผชิญหน้ากัน คิมบอกถวีว่าคำสัญญาของพ่อที่ว่ายกเธอให้กับเขาไปจบลงไปพร้อมกับการตายของพ่อเธอและเธอไม่ได้มีความรู้สึกให้เขาอีกต่อไป ถวีสาปแช่งทั้งคู่และหนีไป คริสสัญญากับคิมว่าจะพาเธอกลับอเมริกา (“คืนสุดท้ายของโลกใบนี้ / Last night of the world”)
สามปีต่อมามีการเดินเฉลิมฉลองครบรอบ 3 ปีการรวมเวียดนามและการปราชัยของทหารอเมริกันในนครโฮจิมินห์ (ไซง่อนเดิม) (“รุ่งอรุณแห่งชัยชนะ / Morning of the Dargon”) ถวีซึ่งขณะนี้ดำรงตำแหน่งอธิบดีในรัฐบาลคอมมิวนิสต์ของเวียดนามส่งทหารให้ออกตามหาเอนจิเนียร์ เพื่อจะสั่งให้เอนจิเนียร์ตามหาคิมและนำตัวเธอมาพบเขา คิมที่ยังซื่อตรงในความรักต่อคริสได้ซ่อนตัวจจากการจับกุมของทหารคอมมิวนิสต์ ยังหวังว่าคริสจะกลับมาเวียดนามและพาเธอกลับไปอเมริกา ในขณะเดียวกัน’เอเลน’ภรรยาใหม่ชาวอเมริกันของคริสกำลังเฝ้าดูคริสเพ้อถึงชื่อคิมในฝันร้ายของเขา ทั้งเอเลนและคิมต่างยืนยันในความรักของทั้งคู่ต่อคริสจากทั้งสองฝากของโลก (“ฉันเชื่อเสมอ / I still believe”)
อาทิตย์ต่อมา ทหารของถวีได้พบตัวเอนจิเนียร์อยู่ทางเหนือของเวียดนาม เอนจิเนียร์พาถวีไปหาคิม ถวีได้ให้โอกาสคิมที่จะแต่งงานกับเขาอีกครั้งแต่คิมปฏิเสธ ถวีสั่งทหารให้เข้ามาจับกุมคิมและเอนจิเนียร์และขู่จะส่งพวกเขาไปค่ายปรับทัศนคติของรัฐบาลคอมมิวนิสต์ ถวีสั่งให้ทหารและเอนจิเนียร์ออกไปและพยายามคุยกับคิมอีกครั้ง คิมจึงเปิดเผยความลับของเธอ หลังจากที่ถวีพบว่าคิมมีลูกชายชื่อ’แทม’กับคริสจึงพยายามจะฆ่าเขา คิมได้หยิบปืนที่คริสได้ให้ไว้ก่อนจากกันและยิงถวี (“อย่าแตะต้องตัวเขา / You will not touch him”) คิมหนีไปหาเอนจิเนียร์กับแทมและบอกเขาว่าเธอได้ฆ่าถวี เอนจิเนียร์ปฏิเสธที่จะช่วยคิมในตอนแรก แต่หลังจากที่คิมบอกว่าพ่อของแทมคือคริสเอนจิเนียร์คิดว่านี่คือโอกาสที่จะได้ย้ายไปอยู่อเมริกา เอนจิเนียร์บอกคิว่าต่อจากนี้เขาคือลุงของแทม (“ถ้ายังหวังจะได้แก่ตาย / If you want to die in bed”) ทั้งสามออกเดินทางไปยังกรุงเทพทางเรือในฐานะผู้ลี้ภัย (“ชีวิตนี้ยอมพลีได้เพื่อเธอ / I’d give my life for you”)
- องก์ 2
ในกรุงแอตแลนตา รัฐจอร์เจีย จอห์นซึ่งตอนนี้ทำงานให้กับองค์กรช่วยเหลือบุยดอย (มีความหมายว่าเด็กข้างถนน หมายถึงเด็กที่เกิดกับทหารอเมริกันช่วงสงคราม) ให้พบกับพ่อชาวอเมริกัน (“บุยดอย / Bui Doi”) จอห์นได้ข้อมูลมาและบอกคริสว่าคิมยังมีชีวิตอยู่ คริสรู้สึกโล่งใจหลังจากถูกฝันร้ายว่าคิมถูกยิงเสียชีวิตตามหลอกหลอนอยู่นาน จอห์นบอกคริสเรื่องแทมและพยายามให้คริสและเอเลนไปหาคิมและแทมที่กรุงเทพ คริสจึงเล่าเรื่องทุกอย่างทั้งหมดให้เอเลนฟัง และทั้งหมดได้ออกเดินทางมากรุงเทพ ที่กรุงเทพเอนจิเนียร์ทำงานเป็นพนักงานในบาร์แห่งหนึ่งกับคิม (“เซ็งชะมัด / What a waste”) จอห์นตามหาจนพบคิมที่บาร์ เขาบอกเธอว่าคริสอยู่ที่กรุงเทพด้วยเช่นกัน จอห์นพยายามบอกคิมว่าคริสได้แต่งงานแล้วแต่คิมขัดจังหวะบทสนทนาด้วยความดีใจของเธอที่พรั่งพรูออกมา (“วอน / Please”) เธอบอกกับแทมว่าพ่อกลับมาพาทั้งคู่ไปอเมริกาแล้ว จอห์นไม่อาจทำใจที่จะบอกความจริงกับคิมได้แต่สัญญาว่าจะพาคริสมาหาเธอ หลังจากที่จอห์นกลับไปเอนจิเนียร์เข้ามาบอกคิมไม่ให้เชื่อจอห์นและให้เธอไปหาคริสด้วยตัวเธอเองโดยเขาจะไปสืบมาให้ว่าคริสอยู่ที่ไหน คิมตั้งหน้าตั้งตารอเอนจิเนียร์แต่ระหว่างนั้นคิมเห็นวิญญานของถวีมาหลอกหลอน วิญญานของถวีบอกคิมว่าคริสจะหักหลังเธอเหมือนกับที่เขาทำในคืนที่ไซง่อนแตก ทำให้เรื่องราวในคืนนั้นกลับมาตามหลอกหลอนคิม (“ฝันร้ายของคิม (ไซง่อนแตก 1975) / Kim’s nightmare”)
ในความทรงจำของเธอนั้น คิมจำได้ว่าทหารเวียดกงกำลังรุกคืบเข้ายึดไซง่อน ทั้งเมืองเต็มไปด้วยความโกลาหล คริสถูกเรียกตัวให้ไปสถานทูต ก่อนไปเค้าได้มอบปืนของเขาให้กับคิมและบอกให้คิมเก็บข้าวของ เมื่อคริสเดินทางไปถึงสถานทูต ได้มีคำสั่งจากกรุงวอชิงตัน ให้อพยพชาวอเมริกันทั้งหมดออกจากสถานทูตโดยทันที มีคำสั่งให้ปิดประตูสถานทูตและห้ามผู้ใดออกและห้ามผู้ลี้ภัยชาวเวียดนามเข้ามาในสถานทูตอีก คิมตามออกมาหาคริสแต่มีชาวเวียดนามมากมายหน้าสถานทูต คริสตะโกนหาคิมและพยายามจะออกไปด้านนอกเพื่อหาเธอ จอห์นห้ามคริสไว้ ทั้งคู่ขึ้นเครื่องเฮลิคอปเตอร์เที่ยวสุดท้ายออกจากไซง่อน คิมได้แต่เฝ้ามองเฮลิคอปเตอร์บินผ่านไป
กรุงเทพ 1978, คิมหยิบเอาชุดแต่งงานของเธอมาสวมอีกครั้ง (“เดือนกับตะวัน (Reprise) / Sun and Moon (Reprise) ”) เอนจิเนียร์เข้ามาบอกว่าพบที่อยู่คริสแล้ว คิมฝากแทมไว้กับเอนจิเนียร์และออกไปหาคริส คิมไปที่ห้องของคริสแต่กลับพบเอเลน (“ห้อง 317 / Room 317”) เอเลนบอกคิมว่าเธอคือภรรยาของคริส คิมเสียใจมากและไม่เชื่อเอเลน เอเลนถามคิมว่าคริสเป็นพ่อของแทมจริงหรือไม่ คิมยืนยันว่าคริสเป็นพ่อของแทม คิมบอกเอเลนว่าเธอไม่อยากให้ลูกของเธอมีสภาพชีวิตเช่นนี้และขอร้องให้ทั้งคู่พาแทมกลับอเมริกาไปด้วยแต่เอเลนปฏิเสธ เธอบอกว่าแทมควรที่จะได้อยู่กับแม่ที่แท้จริงของเขา คิมโกรธมากยืนยันว่าคริสต้องเป็นผู้บอกสิ่งนี้กับเธอเองและวิ่งออกไป เอเลนเสียใจกับสิ่งที่พึ่งเกิดขึ้นแต่ยังคงรักคริสไม่เปลี่ยน (“เมื่อเห็นหน้าเธอ / Now that I’ve seen her”) คริสกลับมาพร้อมกับจอห์นหลังจากหาคิมไม่พบ เอเลนบอกทั้งคู่ว่าคิมมาที่นี่และเธอต้องเป็นผู้บอกคิมเองทุกอย่าง เธอบอกคริสว่าคิมต้องการให้ทั้งคู่พาแทมกลับไปด้วย เอเลนถามคริสว่าเขาจะเลือกใครระหว่างเธอกับคิม (“เผชิญความจริง / The confrontation”) คริสยืนยันกับเอเลนว่าเขาจะอยู่กับเธอ และจะให้คิมอยู่กับแทมที่กรุงเทพแต่จะส่งเสียค่าเลี้ยงดูให้จากอเมริกา จอห์นเตือนคริสว่าคิมจะไม่มีทางยอมให้แทมอยู่ที่กรุงเทพอย่างแน่นอน
คิมกลับมาที่ห้องของเธอ คิมโกหกเอนจิเนียร์ว่าพวกเขากำลังจะไปอเมริกา เอนจิเนียร์ตื่นเต้นและจินตนาการถึงชีวิตใหม่ของเขาในอเมริกา (“American Dream”) คริส จอห์นและเอเลน เดินทางมาพบเอนจิเนียร์ที่บาร์ เอนจิเนียร์จึงพาพวกเขามาพบคิม
ในห้องของคิม คิมบอกกับแทมว่าพ่อมาหาแล้ว (“บทสรุป / Finale”) เธอบอกแทมต่อว่าเธออาจจะไปกับแทมไม่ได้แต่จะคอยเฝ้าดูอยู่ตลอดเวลา เอนจิเนียร์พาทั้งสามมาที่หน้าห้องของคิม เอนจิเนียร์พาแทมออกไปพบกับพ่อ ขณะเดียวกันคิมหลบเข้าไปหลังผ้าม่านและยิงตัวเอง ทุกคนวิ่งเข้ามาในห้องเพราะเสียงปืนและพบคิมนอนหายใจรวยรินอยู่ คริสเข้าไปอุ้มเธอและถามว่าเธอทำอะไรลงไป คิมขอให้เขากอดเธอเป็นครั้งสุดท้ายและคิมพูดประโยคเดียวกับที่เขาพูดในคืนแรกที่ทั้งสองพบกัน “คืนนั้นพาเราสองมาไกลเพียงใด” ก่อนที่จะสิ้นใจลงในในอ้อมกอดของคริส
ข้อมูลนักแสดง
[แก้]ตัวละคร | เวสต์เอนด์ ต้นฉบับ (1989) |
บรอดเวย์ ต้นฉบับ (1991) |
ฉบับภาษาไทย (BE 2555) |
เวสต์เอนด์ (2014) |
---|---|---|---|---|
รอบการแสดง | กันยายน 1989 - 30 ตุลาคม 1999 (4,264 รอบ) [6] | เมษายน 1991 - มกราคม 2001 (4,092 รอบ) | กันยายน 2555 - พฤศจิกายน 2555 (57 รอบ) | พฤษภาคม 2014 - กุมภาพันธ์ 2016 |
คิม | ลีอา ซาลองกา | กุลกรณ์พัชร์ โพธิ์ทองนาค
กานดา วิทยานุภาพยืนยง |
Eva Noblezada | |
เอนจิเนียร์ | โจนาทาน ไพรซ์ | เบน ชลาทิศ | Jon Jon Briones | |
คริส | ไซมอน โบวแมน | Willy Falk | นภัทร อินทร์ใจเอื้อ | Alistair Brammer |
จอห์น (เพื่อนคริส) | Peter Polycarpou | Hinton Battle | สุวีระ บุญรอด | Hugh Maynard |
เอลเลน (ภรรยาคริส) | แคลร์ มัวร์ | ลิซ แคลแลเวย์ | นภัสสร ภูธรใจ | Tamsin Carroll |
ถวี (คู่หมั้นคิม) | Keith Burns | Barry K. Bernal | เลอวิทย์ สังข์สิทธิ์ | Kwang-Ho Hong |
จีจี้ | Isay Alvarez | Marina Chapa | พริมาภา กรโรจนชวิน | Rachelle Ann Go |
แทม (ลูกชายคิม) | Allen Evangelista Wasseem Hamdan David Platt |
Brian R. Baldomero Philip Lyle Kong |
ภคุโณดม จิตตรีโภชน์ ภูผา อัศวหฤทัย วีรฤทธิ์ มานะประเสริฐศักดิ์ อชิรวิทย์ อารีสมาน |
William Dao Munck Batailkhan Connor Mason Maria Tangonan James Quek Zen Fordyce |
คิม (นักแสดงสำรอง) | Monique Wilson | Kam Cheng | - | Tanya Manalang |
อ้างอิง
[แก้]- ↑ http://www.whatsonstage.com/london-theatre/news/09-2013/miss-saigon-breaks-record-for-biggest-single-day-o_31884.html
- ↑ http://www.arthurlloyd.co.uk/DruryLane.htm
- ↑ http://www.ibdb.com/production.php?id=4639
- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-02-09. สืบค้นเมื่อ 2015-01-24.
- ↑ http://lifestyle.inquirer.net/160815/the-heats-still-on-in-the-new-miss-saigon
- ↑ " "Long Runs-West End" เก็บถาวร 2010-04-02 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน world-theatres.com, retrieved February 23, 2010
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- Miss Saigon ที่เว็บไซต์ Internet Broadway Database
- Official UK website
- Musical Cyberspace: Miss Saigon
- On the Scene: Miss Saigon Celebrates 4,000 Performances
- 00.html Time review, noting changes from West End to Broadway[ลิงก์เสีย]
- Plot summary and character descriptions
- MTI Shows characters, plot and other production information
- New Zealand Premiere Photos เก็บถาวร 2013-02-08 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- New Zealand Premiere Cast เก็บถาวร 2013-02-08 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน