ยุคเฮเซ
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของ |
ประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น |
---|
เฮเซ | |||
---|---|---|---|
8 มกราคม ค.ศ. 1989 – 30 เมษายน ค.ศ. 2019 | |||
สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะ (ค.ศ. 1990) | |||
สถานที่ | ญี่ปุ่น | ||
เมืองหลวง | โตเกียว | ||
พระมหากษัตริย์ | สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะ | ||
นายกรัฐมนตรี | |||
เหตุการณ์สำคัญ | |||
|
ยุคเฮเซ (ญี่ปุ่น: 平成時代; โรมาจิ: Heisei jidai) เป็นชื่อยุคและชื่อรัชศกของประเทศญี่ปุ่นในรัชสมัยของสมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะ ตั้งแต่วันที่ 8 มกราคม ค.ศ. 1989 ถึงวันที่ 30 เมษายน ค.ศ. 2019 ซึ่งเป็นวันที่สละราชสมบัติ รัชศกเฮเซเริ่มต้นเมื่อวันที่ 8 มกราคม ค.ศ. 1989 โดยเริ่มนับจากวันที่สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะขึ้นครองราชย์เป็นจักรพรรดิลำดับที่ 125 ในวันหลังวันสวรรคตของสมเด็จพระจักรพรรดิฮิโระฮิโตะ พระราชบิดา ตามธรรมเนียมของประเทศญี่ปุ่น สมเด็จพระจักรพรรดิฮิโรฮิโตะได้รับการขนานพระนามว่า "จักรพรรดิโชวะ" เมื่อวันที่ 31 มกราคม ค.ศ. 1989
ด้วยเหตุนี้ ปี ค.ศ. 1989 จึงนับเป็นศักราชโชวะปีที่ 64 จนถึงวันที่ 7 มกราคม ค.ศ. 1989 และเป็นศักราชเฮเซปีที่ 1 (ญี่ปุ่น: 平成元年; โรมาจิ: Heisei gannen; gannen มีความหมายว่า "ปีแรก") ตั้งแต่วันที่ 8 มกราคมเป็นต้นไป ยุคเฮเซสิ้นสุดเมื่อวันที่ 30 เมษายน ค.ศ. 2019 (ศักราชเฮเซปีที่ 31) ซึ่งเป็นวันที่มีพระราชพิธีสละราชบัลลังก์ดอกเบญจมาศของสมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะ ยุคถัดจากยุคเฮเซคือยุคเรวะ เริ่มต้นในวันที่ 1 พฤษภาคม ค.ศ. 2019 ในเวลาเที่ยงคืนตามเวลาท้องถิ่นญี่ปุ่น ซึ่งเป็นวันที่สมเด็จพระจักรพรรดินารูฮิโตะขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติ[1]
ประวัติและความหมาย
[แก้]เมื่อวันที่ 7 มกราคม ค.ศ. 1989 เวลา 7.55 น. ตามเวลามาตรฐานญี่ปุ่น โชอิจิ ฟูจิโมริ จางวางใหญ่แห่งสำนักพระราชวังญี่ปุ่นได้ประกาศว่าจักรพรรดิฮิโรฮิโตะเสด็จสวรรคตเมื่อเวลา 6.33 น. ตามเวลามาตรฐานญี่ปุ่นและได้เปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับพระโรคมะเร็งของพระองค์เป็นครั้งแรก ไม่นานหลังจากการสวรรคตของจักรพรรดิ เคโซ โอบูจิ เลขาธิการใหญ่แห่งสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นในขณะนั้น (ภายหลังเป็นนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น) ได้ประกาศการสิ้นสุดของรัชศกโชวะและประกาศชื่อ "เฮเซ" เป็นชื่อรัชศกใหม่ของจักพรรดิพระองค์ใหม่
โอบูจิได้อธิบายความของชื่อ "เฮเซ" ว่ามีที่มาจากการนำตัวอักษรจีนมาจากประโยคที่มีความหมายเป็นมงคลจากบันทึกประวัติศาสตร์และปรัชญาของจีนสองเล่ม คือฉื่อจี้ (史記 Shǐjì) และชูจิง (書経 Shūjīng) ในฉื่อจี้ มีประโยคว่า "内平外成" (nèi píng wài chéng; คัมบุง: 内平かに外成る Uchi tairaka ni soto naru "สันติสุขทั้งในและนอกดินแดน") ปรากฏในส่วนที่สรรเสริญการปกครองด้วยพระอัจฉริยภาพของพระเจ้าชุ่น จักรพรรดิในตำนานของจีน ในชูจิง ปรากฏประโยคว่า "地平天成" (dì píng tiān chéng; คัมบุง: 地平かに天成る Chi tairaka ni ten naru, "สันติสุขทั้งฟ้าดิน") ด้วยการนำความหมายของสองประโยคนี้มารวมเข้าด้วยกัน "เฮเซ" จึงมีความหมายว่า "สันติสุขทุกหนแห่ง" ยุคเฮเซเริ่มต้นทันทีในวันหลังการขึ้นครองราชย์ของสมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะเมื่อวันที่ 7 มกราคม ค.ศ. 1989
ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 2016 สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะทรงมีพระราชดำรัสผ่านทางโทรทัศน์ว่าพระองค์กังวลว่าพระชนมายุที่มากขึ้นของพระองค์จะส่งผลทำให้ไม่สามารถปฏิบัติพระราชกรณียกิจได้เต็มที่ เป็นนัยว่าพระองค์มีพระราชประสงค์จะสละราชย์ [1] สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้ผ่านร่างกฎหมายเมื่อเดือนมิถุนายน ค.ศ. 2017 ให้สามารถสืบทอดราชบัลลังก์แก่เจ้าชายนารูฮิโตะ พระราชโอรสของสมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะ[1] ภายหลังจากการประชุมสมาชิกสภาราชวงศ์ นายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะได้ประกาศว่าจะกำหนดให้วันที่ 30 เมษายน ค.ศ. 2019 เป็นวันสละราชย์ของสมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะ[1] รัชสมัยของเจ้าชายนารูฮิโตะจะเริ่มขึ้นในวันถัดไป [2]
เปลี่ยนปีรัชศก
[แก้]- 7 มกราคม ค.ศ. 1989 : ปีที่ 65 ในรัชสมัยสมเด็จพระจักรพรรดิฮิโระฮิโตะองค์จักรพรรดิเสด็จสวรรคตเป็นอันสิ้นสุดยุครัชศกโชวะหลังจากนั้นไม่นานได้มีการประกาศนามรัชศกใหม่คือ เฮเซ พร้อมกับการขึ้นสืบราชบัลลังก์ของ เจ้าชายอากิฮิโตะ ที่มกุฎราชกุมาร
- 8 มกราคม ค.ศ. 1989 : เริ่มต้นปีรัชศกใหม่คือรัชศกเฮเซอย่างเป็นทางการ
- 30 เมษายน ค.ศ. 2019 : ปีที่ 31 ในรัชสมัยสมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะองค์จักรพรรดิได้สละราชบัลลังก์ให้กับ เจ้าชายนารูฮิโตะ ที่มกุฎราชกุมารเป็นอันสิ้นสุดยุครัชศกเฮเซ
เหตุการณ์ในยุครัชศกเฮเซ
[แก้]- 7 มกราคม ค.ศ. 1989 : ปีที่ 65 ในรัชสมัยสมเด็จพระจักรพรรดิฮิโระฮิโตะองค์จักรพรรดิเสด็จสวรรคตด้วยพระโรคมะเร็งหลังจากนั้นไม่นานเจ้าชายอากิฮิโตะพระราชโอรสที่มกุฎราชกุมารพระชนมายุ 55 พรรษาได้ขึ้นสืบราชบัลลังก์ต่อมา
- 31 มกราคม ค.ศ. 1989 : สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะได้ถวายพระนามใหม่ให้กับอดีตจักรพรรดิฮิโรฮิโตะพระราชบิดาตามนามรัชศกว่า จักรพรรดิโชวะ
- 12 พฤศจิกายน ค.ศ. 1990 : สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะได้ประกอบพระราชพิธีราชาภิเษกอย่างเป็นทางการ ณ พระราชวังหลวงโตเกียว
- 23 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1991 : สมเด็จพระจักรพรรดิได้ประกอบพระราชพิธีสถาปนาเจ้าชายนารูฮิโตะพระราชโอรสองค์ใหญ่ขึ้นเป็นมกุฎราชกุมาร
- 8 สิงหาคม ค.ศ. 2016 : สมเด็จพระจักรพรรดิได้แสดงพระราชประสงค์ที่จะสละราชบัลลังก์ให้กับเจ้าชายนารูฮิโตะองค์มกุฎราชกุมารต่อสาธารณชนเนื่องจากพระชนมายุที่เพิ่มมากขึ้นและพระพลานามัยที่ไม่แข็งแรง
- 30 เมษายน ค.ศ. 2019 : สมเด็จพระจักรพรรดิได้ประกอบพระราชพิธีสละราชบัลลังก์ให้กับเจ้าชายนารูฮิโตะ ณ พระราชวังหลวงโตเกียว เป็นอันสิ้นสุดยุครัชศกเฮเซจากนั้นในวันรุ่งขึ้นเจ้าชายนารูฮิโตะได้ประกอบพิธีขึ้นทรงราชย์ ณ พระราชวังหลวงโตเกียว
ตารางเทียบศักราช
[แก้]เฮเซ | 1 | 2 | 3 | 4 | 5 | 6 | 7 | 8 | 9 | 10 |
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
ค.ศ. | 1989 | 1990 | 1991 | 1992 | 1993 | 1994 | 1995 | 1996 | 1997 | 1998 |
พ.ศ. | 2532 | 2533 | 2534 | 2535 | 2536 | 2537 | 2538 | 2539 | 2540 | 2541 |
เฮเซ | 11 | 12 | 13 | 14 | 15 | 16 | 17 | 18 | 19 | 20 |
ค.ศ. | 1999 | 2000 | 2001 | 2002 | 2003 | 2004 | 2005 | 2006 | 2007 | 2008 |
พ.ศ. | 2542 | 2543 | 2544 | 2545 | 2546 | 2547 | 2548 | 2549 | 2550 | 2551 |
เฮเซ | 21 | 22 | 23 | 24 | 25 | 26 | 27 | 28 | 29 | 30 |
ค.ศ. | 2009 | 2010 | 2011 | 2012 | 2013 | 2014 | 2015 | 2016 | 2017 | 2018 |
พ.ศ. | 2552 | 2553 | 2554 | 2555 | 2556 | 2557 | 2558 | 2559 | 2560 | 2561 |
เฮเซ | 31 | |||||||||
ค.ศ. | 2019 | |||||||||
พ.ศ. | 2562 |
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 1.2 1.3 "Japan's emperor to abdicate on April 30, 2019: gov't source". english.kyodonews.net. Kyodo News. 1 December 2017. สืบค้นเมื่อ 1 December 2017.
- ↑ Kyodo, Jiji (3 December 2017). "Japan's publishers wait in suspense for next era name". The Japan Times Online. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-09-23. สืบค้นเมื่อ 2018-01-31.
ก่อนหน้า | ยุคเฮเซ | ถัดไป | ||
---|---|---|---|---|
โชวะ | ศักราชของญี่ปุ่น (8 มกราคม ค.ศ. 1989 – 30 เมษายน ค.ศ. 2019) |
เรวะ |