ยูโทเปีย (หนังสือ)
ภาพวาดประกอบการพิมพ์ครั้งแรกของ ยูโทเปีย ค.ศ. 1516 | |
ผู้ประพันธ์ | เซอร์ ทอมัส มอร์ |
---|---|
ชื่อเรื่องต้นฉบับ | Utopia |
ผู้แปล | สมบัติ จันทรวงศ์ แปลจากฉบับภาษาอังกฤษของ Ogden และ Turner |
ประเทศ | อังกฤษ |
ภาษา | ละติน |
ประเภท | นวนิยายปรัชญา-การเมือง |
สำนักพิมพ์ | Erasmus, Leuven |
วันที่พิมพ์ | ค.ศ. 1516 |
ยูโทเปีย (อังกฤษ: Utopia) เป็นชื่อหนังสือของเซอร์ทอมัส มอร์ ในปี ค.ศ. 1516 ซึ่งเขียนเป็นภาษาละติน เป็นงานเขียนร้อยแก้วพรรณนาถึงสังคมบนเกาะในจินตนาการแห่งหนึ่ง เล่าเรื่องเกี่ยวกับศาสนา ความเชื่อ ลักษณะทางสังคมและการปกครองบนเกาะแห่งนั้น ชื่อของเกาะนำมาจากคำภาษากรีกว่า ou (οὐ), "ไม่" และ tópos (τόπος), "สถานที่" กับคำ suffix ว่า -ía (-ία) ได้เป็นคำว่า Outopía (Οὐτοπία; หรือในภาษาละตินว่า Ūtopia) มีความหมายว่า "ดินแดนที่ไม่มีจริง"
น่าสังเกตว่า คำว่า ยูโทเปีย ในภาษาอังกฤษ ออกเสียงเหมือนกันทุกประการกับ Eutopia (กรีก: Εὐτοπία [Eutopía]) มีความหมายว่า "สถานที่ดี"[1] ตัวของมอร์เองเคยเขียนไว้ในคำแนบของหนังสือเขาว่า Wherfore not Utopie, but rather rightely my name is Eutopie, a place of felicitie (ไม่ใช่คำว่า Utopie (ไม่มีจริง) ชื่อที่ถูกต้องของผมคือ Eutopie ดินแดนที่น่าชื่นชมยินดี)[2]
การตีความชื่อนี้ก็คือ ยูโทเปีย เป็นสังคมอันแสนสมบูรณ์แบบ แต่มันก็ไม่มีทางจะไปถึงได้
อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปแล้วว่า สังคมในงานเขียนของมอร์ไม่ใช่ "สังคมสมบูรณ์แบบ" ของเขา ทว่าเขาเพียงแต่สร้างภาพของสังคมที่ตรงกันข้ามกันระหว่างดินแดนในจินตนาการซึ่งมีแนวคิดการปกครองที่ไม่เหมือนใคร กับการเมืองอันยุ่งเหยิงวุ่นวายในยุคสมัยของเขา เพื่อเป็นโครงร่างสำหรับการวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับสภาพสังคมกันต่อไป
การตอบรับ
[แก้]เรื่อง ยูโทเปีย เริ่มขึ้นขณะที่มอร์เป็นทูตอยู่ที่ฟลานเดอร์ ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1515 เขาเริ่มต้นเขียนบทนำและคำอธิบายของสังคมแห่งนั้น ซึ่งต่อมาเป็นเนื้อเรื่องครึ่งหลังของหนังสือ จนเมื่อเขาเดินทางกลับอังกฤษจึงได้เขียน "dialogue of counsel" และเขียนเสร็จทั้งหมดในปี ค.ศ. 1516 ปีเดียวกันนั้น หนังสือได้ตีพิมพ์ที่ Leuven โดยมี Erasmus เป็นบรรณาธิการ มอร์ได้ปรับปรุงเนื้อหาอีกครั้งและพิมพ์ในบาเซิล ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1518 แต่กว่าที่หนังสือจะได้ตีพิมพ์เผยแพร่ในประเทศอังกฤษ ก็ล่วงไปถึง ค.ศ. 1551 สิบหกปีหลังจากการประหารชีวิตมอร์ โดย ราล์ฟ โรบินสัน เป็นผู้แปลเป็นภาษาอังกฤษ แต่ฉบับที่นิยมใช้อ้างอิงกันมากที่สุดคือฉบับที่แปลโดย กิลเบิร์ต เบอร์เน็ต ในปี ค.ศ. 1684
ภาษาไทย
[แก้]ยูโทเปียฉบับภาษาไทยตีพิมพ์มาแล้ว 4 ครั้ง
- ครั้งที่ 1 พ.ศ. 2517 โดยโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษย์ศาสตร์ สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย
- ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2518 โดยโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษย์ศาสตร์ สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย
- ครั้งที่ 3 พ.ศ. 2526 โดยสำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพาณิช
- ครั้งที่ 4 พ.ศ. 2551 โดยสำนักพิมพ์สมมติ
อ้างอิง
[แก้]- ↑ John Wells’s phonetic blog[ลิงก์เสีย]
- ↑ More’s Utopia: The English Translation thereof by Raphe Robynson. second edition, 1556, จาก "Eutopism" เก็บถาวร 2008-10-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- English translation of Utopia by Gilbert Burnet ที่ โครงการกูเตนเบิร์ก
- Free audio recording ที่ LibriVox
- Thomas More and his Utopia ที่ Karl Kautsky