ข้ามไปเนื้อหา

ลัทธิอำนาจนิยม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

อำนาจนิยม (อังกฤษ: authoritarianism) บ้างเรียก อาญาสิทธิ์ เป็นรูปแบบการจัดระเบียบทางสังคมซึ่งมีลักษณะของการอ่อนน้อมต่ออำนาจหน้าที่ ตามปกติมักตรงข้ามกับปัจเจกนิยมและอิสรนิยม ในทางการเมือง รัฐบาลอำนาจนิยมเป็นรัฐบาลซึ่งอำนาจหน้าที่ทางการเมืองกระจุกตัวอยู่กับนักการเมืองกลุ่มเล็ก

อำนาจนิยม เป็นระบอบการเมืองที่มีฐานอยู่บนอุดมการณ์ทางการเมืองแบบเผด็จการชนิดที่ผู้ปกครองสามารถใช้อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดเหนือรัฐ หรือกลุ่มคนใด ๆ ในการดำรงไว้ซึ่งเป้าหมายสูงสุด คือ การรักษาอำนาจของตน (Kurian, 2011: 103)[1] โดยมักจะไม่คำนึงถึงสิทธิ เสรีภาพของประชาชน ปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นที่เป็นปฏิปักษ์กับผู้นำ ควบคุมสื่อมวลชน ผูกขาดการใช้อำนาจและจำกัดการตรวจสอบ

กล่าวได้ว่า ระบอบอำนาจนิยมเป็นระบอบการเมืองที่ใช้แพร่หลายมากที่สุดเป็นระยะเวลายาวนานที่สุด ในประวัติศาสตร์การปกครองของมนุษยชาติ ทุกวันนี้ “อำนาจนิยม” เป็นคำที่ถูกใช้ถึงบ่อยครั้งที่สุด เมื่อกล่าวถึงระบอบการปกครองที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ลักษณะสำคัญของระบอบอำนาจนิยม คือ การกระทำและการตัดสินใจของผู้ปกครองไม่ถูกจำกัดโดยสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของประชาชน ในขณะที่สิทธิ เสรีภาพของประชาชนมีอยู่อย่างจำกัด กล่าวอีกนัยหนึ่ง สิทธิทางการเมืองของประชาชน หากมีอยู่บ้าง ก็จำกัดเต็มที ด้วยเหตุที่ผู้ปกครองอำนาจนิยมจะสร้างกฎระเบียบ มาตรการที่เข้มงวด เพื่อจำกัดกิจกรรมของบุคคลและกลุ่มบุคคลที่ต้องการมีส่วนร่วมในการจัดสรรสิ่งที่มีคุณค่าในสังคม ในระบอบอำนาจนิยม ประชาชนส่วนใหญ่ในสังคมมักไม่ได้รับอนุญาตให้แสดงออกทางการเมืองใด ๆ ยกเว้น กิจกรรมที่ได้รับการสนับสนุนจากอำนาจรัฐ ฉะนั้น การต่อสู้ทางการเมืองในรูปแบบการชุมนุมประท้วงและเดินขบวนตามจังหวะและโอกาส จึงแทบจะเป็นรูปแบบการมีส่วนร่วมชนิดเดียวที่ทำได้ ในขณะที่เสรีภาพของสื่อมวลชนและประชาชนที่จะวิพากษ์วิจารณ์และตั้งคำถามต่อระบบการเมืองจะถูกตรวจสอบ หากฝ่าฝืนจะมีมาตรการลงโทษ

อำนาจนิยมมีลักษณะของอำนาจที่เข้มข้นและรวมเข้าสู่ศูนย์กลางอย่างมาก ซึ่งรักษาไว้โดยการปราบปรามทางการเมืองและการกีดกันคู่แข่งที่เป็นไปได้ รัฐบาลอำนาจนิยมใช้พรรคการเมืองและองค์การมวลชนเพื่อระดมคนมารอเป้าหมายของรัฐบาล

อย่างไรก็ตาม ในระบอบอำนาจนิยม ประชาชนสามารถดำเนินชีวิตประจำวันในส่วนที่ไม่เกี่ยวข้องกับมิติทางการเมืองได้อย่างปกติ สามารถเลือกประกอบอาชีพ นับถือศาสนา และสังสรรค์หาความสุขได้โดยไม่อยู่ภายใต้การควบคุมโดยตรงจากรัฐบาล แต่กระนั้น ในบางประเทศสิทธิและเสรีภาพในการดำเนินชีวิตอาจถูกควบคุมโดยธรรมเนียมปฏิบัติ บรรทัดฐานหรือความเชื่อทางศาสนาที่เข้มงวด ซึ่งอาจเป็นส่วนหนึ่งหรือคนละส่วนกับอำนาจรัฐในระบบการเมืองก็ได้ ประเทศที่จัดได้ว่าเป็นระบอบอำนาจนิยม เช่น อิหร่าน สหภาพเมียนมาร์ (พม่า--Union of Myanmar) ซาอุดิอาระเบีย และอินโดนีเซีย ภายใต้นายพลซูฮาร์โต เป็นต้น

ข้อมูลที่น่าสนใจ คือ ประสบการณ์ทางการเมืองของประเทศในลาตินอเมริกา นำมาสู่คำเรียกขาน “ระบอบราชการอำนาจนิยม” (bureaucratic authoritarianism) ที่ใช้อธิบายประเทศจำนวนหนึ่งที่เคยเป็นประชาธิปไตย แต่เกิดหักเหจนในที่สุดระบอบประชาธิปไตยต้องล่มสลาย และถูกแทนที่ด้วยแนวร่วมระหว่างคณะทหารกับพลเรือนที่ทำการรัฐประหารยึดกุมสถาบันการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง ชนชั้นนำที่ประกอบด้วย ทหาร ข้าราชการพลเรือน นักเทคนิคระดับสูง (technocrats) ตลอดจนนักธุรกิจชั้นนำดำเนินนโยบายที่เน้นการพัฒนาอุตสาหกรรม แต่ปิดกั้นการมีส่วนร่วมของประชาชนในการกำหนดนโยบาย และการเข้ามาแข่งขันในตลาดการเมือง โดยคณะทหารและระบบราชการดังกล่าว แสดงบทบาททางการเมืองในฐานะที่เป็นสถาบัน ไม่ใช่ตัวบุคคล นักวิชาการลาตินอเมริกาวิเคราะห์ว่า ระบอบราชการอำนาจนิยม เป็นผลจากการพัฒนาอุตสาหกรรมทุนนิยมแบบพึ่งพา ประเทศที่จัดว่าใช้ระบอบราชการอำนาจนิยม เช่น บราซิล อาร์เจนตินา และ ชิลี

ในยุคปัจจุบันที่ปรากฏมากที่สุดคือ “อำนาจนิยมที่มาจากการเลือกตั้ง” (electoral authoritarianisms) หรือระบอบอำนาจนิยมที่มีเปลือกนอกฉาบด้วยผู้นำที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งปรากฏให้เห็นในหลายประเทศแถบตะวันออกกลาง และแอฟริกาเหนือ (Linz, 2000: 34; Badie, 2011: 107)[2][3] ในระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทน กระบวนการอันสำคัญและจำเป็นกระบวนการหนึ่งที่มิอาจขาดหายไปได้เลยก็คือ การเลือกตั้ง (election) เพราะเป็นกระบวนการที่จะทำให้ประชาชนเจ้าของอำนาจได้แสดงออกซึ่งเจตจำนงเสรีของแต่ละบุคคล ทว่าการเลือกตั้งก็อาจมิใช่ตัวบ่งชี้ถึงความเป็นประชาธิปไตยเสมอไป เพราะระบอบอำนาจนิยมในหลายประเทศได้อาศัยกระบวนการเลือกตั้งมาเป็นเครื่องมือในการสร้างความชอบธรรมในการปกครอง และการใช้อำนาจแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดเพื่อประโยชน์ส่วนตนเป็นที่ตั้ง ด้วยการอ้างเสียงสนับสนุนข้างมาก ทำให้เกิดอำนาจนิยมแบบใหม่ที่เรียกว่า อำนาจนิยมที่มาจากการเลือกตั้ง (electoral authoritarianism) ทำให้เกิดข้อถกเถียงว่า การเลือกตั้งมิได้เท่ากับการมีประชาธิปไตยเสมอไป หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ การเลือกตั้งเป็นปัจจัยที่ “จำเป็น” แต่อาจไม่ “เพียงพอ” ที่จะแบ่งระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย ออกจากระบอบการปกครองที่ไม่เป็นประชาธิปไตย

เส้นแบ่งใหม่ที่เกิดขึ้นระหว่างการเลือกตั้งของระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย และระบอบอำนาจนิยมที่แฝงเร้นอยู่ในคราบประชาธิปไตยตัวแทนจอมปลอม (authoritarianism disguised in the form of representative democracy) จึงอยู่ที่มิติด้านคุณภาพของการเลือกตั้งและประสิทธิภาพของกลไกตรวจสอบด้วย กล่าวคือ การเลือกตั้งจะต้องเป็นการเลือกตั้งที่เสรี เที่ยงธรรม และโปร่งใส (free, fair, and transparent election) ที่ปราศจากการแทรกแซงจากปัจจัยภายนอกอื่น ๆ อาทิ การซื้อสิทธิ์ขายเสียง การแทรกแซงของคณะทหาร ไม่มีการครอบงำ หรือจำกัดคู่แข่งทางการเมืองในกระบวนการเลือกตั้ง จึงจะนับได้ว่าเป็นการเลือกตั้งที่เพียงพอและจำเป็นที่จะนำไปสู่ระบอบเสรีประชาธิปไตยได้อย่างแท้จริง (Badie, 2011: 112-114)[4] และเมื่อได้ชัยชนะและมีเสียงข้างมากแล้ว หากใช้กลไกเสียงข้างมากบ่อนทำลายกลไกตรวจสอบ ก็อาจนำไปสู่อำนาจนิยมซึ่งเกิดขึ้นภายใต้เสื้อคลุมประชาธิปไตย นอกจากนั้น ความแตกต่างระหว่างอำนาจนิยมและประชาธิปไตยที่สำคัญไม่แพ้การเลือกตั้ง คือ การมีหลักนิติธรรมที่ไม่เอนเอียง มีรัฐบาลที่ตรวจสอบได้ และมีกระบวนการยุติธรรมที่เป็นอิสระปราศจากการแทรกแซงหรืออคติ

อรรถาธิบาย

[แก้]

แนวคิดเรื่องระบอบอำนาจนิยมเป็นผลจากบริบททางการเมืองหลังทศวรรษ 1960 เป็นต้นมา ที่โลกได้แบ่งระบอบการปกครองต่าง ๆ ออกเป็น 2 ค่ายใหญ่ตามอุดมการณ์ทางการเมือง คือ ระบอบประชาธิปไตย และระบอบที่ไม่เป็นประชาธิปไตย โดยระบอบอำนาจนิยมถูกมองว่าเป็นรูปแบบหนึ่งของระบอบที่ไม่เป็นประชาธิปไตย

ทฤษฎีเกี่ยวกับอำนาจนิยมได้มีการศึกษาอย่างเป็นระบบครั้งแรกโดยฮวน เจ. ลินท์ (Juan J. Linz) ในปี ค.ศ. 1964 ลินท์ ระบุว่าระบอบการปกครองแบบอำนาจนิยมนั้นจะต้องประกอบด้วยคุณสมบัติพื้นฐาน 3 ประการอันได้แก่ 1) พหุนิยมแบบจำกัด 2) การมุ่งไปที่จิตใจมากกว่าอุดมการณ์ 3) ปราศจากการระดมสรรพกำลังทางการเมือง (political mobilization) เพื่อการสนับสนุนในระยะยาว (Badie, 2011: 108)[5]

ความเป็นพหุนิยมแบบจำกัดนั้นเป็นลักษณะประการหนึ่งที่ทำให้อำนาจนิยมอยู่กึ่งกลางระหว่างเผด็จการเบ็ดเสร็จ กับประชาธิปไตย เพราะในขณะที่ระบอบประชาธิปไตยเปิดโอกาสให้มีพหุนิยมแบบเต็มรูปแบบ และเผด็จการเบ็ดเสร็จที่ไม่เปิดโอกาสให้มีพหุนิยมขึ้นในสังคมเลยนั้น ระบอบอำนาจนิยมกลับเปิดโอกาสให้ความแตกต่างหลากหลายบางประการดำรงอยู่ได้ ไม่ว่าจะเป็นการยอมให้มีคู่แข่ง หรือฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง คือ พรรคการเมืองอื่น ๆ หรือภาคประชาสังคมบ้าง แต่กระนั้นสิ่งเหล่านี้ก็มักจะต้องถูกจำกัด และดำเนินกิจกรรมอยู่ได้ก็โดยความยินยอมของผู้นำอำนาจนิยม ภายในขอบเขตที่ถูกกำหนดไว้ เพราะโดยส่วนใหญ่แล้วการยอมให้มีความแตกต่างในสังคมอยู่บ้างนี้ ก็มักจะเป็นเพียงการสร้างความชอบธรรมให้แก่การปกครองโดยคณะทหาร (military junta) หรือผู้นำที่กุมอำนาจอยู่เบื้องหลังนั่นเอง ซึ่งความก้ำกึ่งเหล่านี้นี่เองที่ทำให้ระบอบอำนาจนิยมไม่มีการจัดระบบโครงสร้าง และอุดมการณ์ที่อยู่เบื้องหลังอย่างเป็นระบบและชัดเจน อันเป็นที่มาของลักษณะสำคัญประการที่สองก็คือ การมุ่งควบคุมจิตใจมากกว่าอุดมการณ์ ซึ่งส่งผลให้ระบอบการปกครองนี้ไม่สามารถระดมสรรพกำลังทางการเมือง เพื่อให้ได้รับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจากวัยรุ่นหนุ่มสาว นักวิชาการ และนักศึกษาปัญญาชนในสังคมได้นั่นเอง (Linz, 2000: 159-261)[6]

ตัวอย่างการนำไปใช้ในประเทศไทย

[แก้]

ช่วงเวลาที่ประเทศไทยปกครองด้วยระบอบอำนาจนิยมที่ชัดเจนที่สุดเห็นจะได้แก่ ช่วงปี พ.ศ. 2500-2516 หรือ ในช่วงระบอบสฤษดิ์ และระบอบถนอม-ประภาส นั่นเอง โดยในช่วง พ.ศ. 2502-2506 ที่ได้มีการประกาศธรรมนูญการปกครอง พ.ศ. 2502 ทำให้นายกรัฐมนตรี คือจอมพลสฤษดิ์สามารถใช้อำนาจตามมาตรา 17 ซึ่งบัญญัติข้อความให้อำนาจแก่นายกรัฐมนตรีในกรณีพิเศษไว้อย่างกว้างขวาง แม้กระทั่งสามารถสั่งประหารประชาชนโดยไม่ต้องผ่านกระบวนการยุติธรรม ไม่มีเสรีภาพของสื่อมวลชนในการนำเสนอข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ และที่สำคัญก็คือ ไม่มีพรรคการเมือง และการเลือกตั้ง อำนาจการเมืองทั้งหมดจึงอยู่ในมือของจอมพลสฤษดิ์แต่เพียงผู้เดียว ที่แต่งตั้งตนเองเป็นทั้งผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก และอธิบดีกรมตำรวจ การจัดวางความสัมพันธ์ของส่วนต่าง ๆ ในสังคมในสายตาของจอมพลสฤษดิ์ตั้งอยู่บนความเชื่อที่ว่า รัฐบาลต้องมีอำนาจสูงสุดในการบริหารประเทศ โดยมีเป้าหมายหลักอยู่ที่เสถียรภาพทางการเมืองและความเป็นปึกแผ่นของชาติ ส่วนระบบราชการมีหน้าที่ปฏิบัติตามคำสั่งของรัฐบาลโดยเฉพาะจากตัวผู้นำคือจอมพลสฤษดิ์ ภายใต้ตรรกะนี้ ข้าราชการจึงมีหน้าที่หลักเป็นผู้รับใช้รัฐบาล ไม่ใช่รับใช้ประชาชน แนวคิดของจอมพลสฤษดิ์เป็นการประยุกต์ประเพณีการจัดระเบียบการเมืองการปกครองของไทยแบบพ่อปกครองลูกที่มีพื้นฐานอยู่บนประวัติศาสตร์และจารีตดั้งเดิมในสมัยสุโขทัย แนวคิดดังกล่าวถูกเรียกขานว่า “ระบอบพ่อขุนอุปถัมภ์” (ทักษ์, 2552: 226-227)[7] ซึ่งได้กลายเป็นที่มาของวาทกรรม “ประชาธิปไตยแบบไทย ๆ” ที่ใช้สร้างความชอบธรรมทางการเมืองท่ามกลางความล้มเหลวในการวางรากฐานประชาธิปไตยของสังคมไทยมาหลายทศวรรษ

แม้ว่าในปี พ.ศ. 2511 หลังจากการถึงแก่อนิจกรรมของจอมพลสฤษดิ์ไปกว่า 5 ปี ประเทศไทยได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ คือ รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2511 และตามติดมาด้วยการเลือกตั้งในปีเดียวกัน อันเป็นผลลัพธ์มาจากความพยายามของสหรัฐอเมริกาในการผลักดันให้ไทยเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น โดยกลไกของการเลือกตั้ง เพื่อรับมือกับภัยคอมมิวนิสต์ (Kesboonchoo-Mead, 2012: 215-240)[8] ทว่าการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นนั้น แท้จริงเป็นเพียงฉากหน้าในการสร้างความชอบธรรมให้แก่ระบอบถนอม-ประภาสผู้สืบทอดอำนาจจากจอมพลสฤษดิ์ เพราะพรรคการเมืองที่ได้รับการเลือกตั้งก็ได้แก่พรรคสหประชาไทย ของจอมพลถนอม กิตติขจร อีกทั้งในสภายังมีวุฒิสมาชิกที่มาจากการแต่งตั้งของจอมพลถนอมอีกกว่าครึ่งสภา (จำนวน 91 คน จาก 140 คน) ดังนั้น จอมพลถนอมจึงมีอำนาจล้นเหลือที่มาจากการผูกขาดเสียงสนับสนุนในรัฐสภา

รัฐบาลของจอมพลถนอมในปี พ.ศ. 2511 จึงเป็นเพียงแค่รัฐบาลตัวแทนของระบอบอำนาจนิยมจากการเลือกตั้งที่แม้จะเปิดโอกาสให้มีพรรคการเมือง และการเลือกตั้ง แต่ก็แฝงเร้นไว้ด้วยความพยายามในการรักษาฐานอำนาจทางการเมือง ควบคู่ไปกับการแสร้งทำให้ดูเหมือนว่าเป็นการปกครองในระบอบประชาธิปไตย แต่ด้วยกลไกที่ผิดฝาผิดตัว และบิดเบือนจึงทำให้รัฐบาลของจอมพลถนอมไม่อาจรับมือกับแรงเสียดทานที่ตามมาจากกลไกของระบบรัฐสภา คือ การตรวจสอบ และการอภิปรายซักถามโดยฝ่ายค้าน และสมาชิกรัฐสภาไปได้ ด้วยเหตุนี้หลังจากที่รัฐบาลไม่สามารถผ่านร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีต่อรัฐสภาได้ จอมพลถนอมจึงตัดสินใจสลัดคราบประชาธิปไตย และเปิดเผยตัวตนของระบอบเผด็จการด้วยการยึดอำนาจตัวเองในปี พ.ศ. 2514 ซึ่งการรัฐประหารครั้งนี้ได้นำไปสู่ความขัดแย้งทางการเมืองที่รุนแรงมากขึ้น และนำไปสู่การล่มสลายของระบอบอำนาจนิยม ถนอม-ประภาส ภายหลังจากการเกิดวิกฤติการณ์เดือนตุลาคมในอีก 2 ปีถัดมา ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในนาม “เหตุการณ์ 14 ตุลา พ.ศ. 2516

ภายใต้ระบอบอำนาจนิยม สฤษดิ์ – ถนอม – ประภาส ก่อให้เกิดการสืบทอดค่านิยม และทัศนคติแบบเจ้าคนนายคน การที่คณะรัฐมนตรีในช่วงเวลาดังกล่าวมีที่มาจากข้าราชการประจำและข้าราชการบำนาญจำนวนมาก ทำให้มีการใช้เส้นสายในแวดวงข้าราชการเป็นบันไดไต่เต้าไปสู่ตำแหน่งทางการเมือง เปิดโอกาสให้คณะทหาร กลุ่มธุรกิจและข้าราชการผูกขาดอำนาจและกอบโกยผลประโยชน์เข้ากระเป๋าตัวเองเป็นจำนวนมหาศาล

จนกระทั่ง รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ได้มีการระบุว่าเป็น ลัทธิอำนาจนิยมที่แฝงมากับระบอบประชาธิปไตย หรือ “อำนาจนิยมที่มาจากการเลือกตั้ง” (electoral authoritarianisms) โดยนักวิชาการชื่อเกษียร เตชะพีระ (2547) กล่าวว่า "วัฒนธรรรมการเมืองอำนาจนิยมแบบปฏิปักษ์ปฏิรูปภายใต้ระบอบทักษิณ มี 7 ประการ ได้แก่

  1. การสร้าง “เสียงข้างมาก” และ “ผลประโยชน์ส่วนรวม” เสมือนจริง
  2. ผลประโยชน์ทับซ้อนและมาตรฐานสองหน้า
  3. เสียงที่เห็นต่างและผลประโยชน์ของผู้เห็นต่างถูกเบียดผลักให้กลายเป็น “เสียงส่วนน้อย” และ “ผลประโยชน์ของคนข้างน้อย”
  4. สิทธิเสียงข้างน้อยและของบุคคลถูกบิดพลิ้ว ปัดปฏิเสธ กระทั่งบดขยี้ ด้วยกำลังของรัฐได้อย่างชอบธรรม
  5. วาทกรรมและวิธีการของชาตินิยมเผด็จการฝ่ายขวาต่อต้านคอมมิวนิสต์ในอดีต ถูกหยิบยืมมาเวียนใช้ สืบทอดและพัฒนา
  6. การก่อการร้ายโดยรัฐใช้ได้เหมือนในยุคสงครามเย็น
  7. การเมืองภาคประชาชนกลายเป็นการเมืองประเด็นเดียว [9]

อนึ่ง ปัจจุบัน​ (2563)​ หลังรัฐประหาร​ของ​ พลเอก​ประยุทธ์​ จันทร์โอชา (2557-2562) ได้มีการร่างรัฐธรรมนูญ​ปี​ 2560 ขึ้น​ โดยใช้อำนาจของตัวเองในขณะนั้น​ สร้างรัฐธรรมนูญ​ที่สอดไส้การสืบทอดปกป้องอำนาจของตัวเองและพวกพ้อง ด้วยการแต่งตั้ง​ ส.ว.​ 250 คนโดยที่ภาคประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วม เพื่อโหวตเลือก​พลเอก​ประยุทธ์​ จันทร์โอชาเป็นนายกรัฐมนตรี​ หลังมีการเลือกตั้งในปี​ 2562​ ทั้งที่พรรคพลังประชารัฐพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งไม่ได้รับเสียงส่วนใหญ่ของประเทศ ​ทำให้ประเทศไทยถูกปกครองด้วยระบอบอำนาจนิยม​​ ภายใต้รัฐธรรมนูญ​ซ่อนรูป​

ดูเพิ่ม

[แก้]


อ้างอิง

[แก้]
  1. Kurian, George Thomas (2011). The encyclopedia of political science. Washington: CQ Press.
  2. Linz, Juan (2000). Totalitarian and authoritarian. Boulder: Lynne Rienne.
  3. Badie, Bertrand, Dirk Berg-Schlosser, and Leonardo Morlino (2011). International encyclopedia of political science. Thousand Oaks, Calif.: SAGE Publications.
  4. ibid.
  5. ibid.
  6. Linz, Juan (2000). Totalitarian and authoritarian. Boulder: Lynne Rienne.
  7. ทักษ์ เฉลิมเตียรณ (2552). การเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ. กรุงเทพฯ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์.
  8. Kesboonchoo-Mead, Kullada (2012). “The cold war and Thai democratization”. In Southea and the cold war. New York: Routledge.
  9. เกษียร เตชะพีระ (2547). “วัฒนธรรรมการเมืองอำนาจนิยมแบบเป็นปฏิปักษ์กับการปฏิรูปภายใต้ระบอบทักษิณ” ใน สมชาย หอมลออ (บ.ก.), อุ้มทนายสมชาย นีละไพจิตร: บทสะท้อนวัฒนธรรมอำนาจนิยมในสังคมไทย, กรุงเทพฯ : คณะทำงานปกป้องนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน, หน้า 3-19