ลาสโล เตอเกช
ลาสโล เตอเกช | |
---|---|
เตอเกชเมื่อปี 2007 | |
สมาชิกรัฐสภายุโรป | |
ดำรงตำแหน่ง 11 พฤษภาคม 2007 – 1 กรกฎาคม 2019 | |
เขตเลือกตั้ง | ฮังการี (จากปี 2014) โรมาเนีย (ถึงปี 2014) |
ข้อมูลส่วนบุคคล | |
เกิด | กลุฌ-นาปอกา สาธารณรัฐประชาชนโรมาเนีย | 1 เมษายน ค.ศ. 1952
พรรคการเมือง | โรมาเนีย: พรรคประชาชนฮังการีแห่งทรานซิลเวเนีย, พันธมิตรประชาธิปไตยชาวฮังการี ฮังการี: ฟีแด็ส สหภาพยุโรป: พรรคประชาชนยุโรป, พันธมิตรเสรียุโรป |
คู่สมรส | Edit Joó (หย่าร้าง) |
บุตร |
|
ลาสโล เตอเกช (ฮังการี: Tőkés László, ออกเสียง: [ˈtøːkeːʃ ˈlaːsloː]; เกิด 1 เมษายน 1952) เป็นนักการเมืองและนักบวชชาติพันธุ์ฮังการีจากประเทศโรมาเนีย ในฐานะนักการเมือง เขาดำรงตำแหน่งสมาชิกรัฐสภายุโรประหว่างปี 2007–2019 และรองประธานรัฐสภายุโรประหว่างปี 2010–2012 ในฐานะบาทหลวง เขาดำรงตำแหน่งมุขนายกแห่งสังฆมณฑลปฏิรูปกิรายฮาโกแม็ลเลกในสังกัดคริสตจักรปฏิรูปในโรมาเนีย
เตอเกชเป็นอดีตประธานกิตติมศักดิ์ของพันธมิตรประชาธิปไตยชาวฮังการีในโรมาเนีย และในปัจจุบันเป็นประธานสภาแห่งชาติฮังการีแห่งทรานซิลเวเนียซึ่งเป็นองค์การภาคประชาชนสำหรับชาวฮังการีในทรานซิลเวเนีย รวมถึงยังเป็นสมาชิกของกลุ่มปรองดองประวัติศาสตร์ยุโรป[1] มีความสัมพันธ์ใกล้ชิด (แต่ไม่ได้เป็นสมาชิก) กับพรรคประชาชนฮังการีแห่งทรานซิลเวเนีย และร่วมสนับสนุนมติรัฐสภายุโรป ลงวันที่ 2 เมษายน 2009 ว่าด้วยมโนธรรมยุโรปกับระบบรวบอำนาจเบ็ดเสร็จ[2]
ในสมัยโรมาเนียภายใต้ปกครองของผู้เผด็จการนีกอลาเอ ชาวูเชสกู เตอเกชเป็นหนึ่งในผู้วิจารณ์คนสำคัญของระบอบชาวูเชสกู ขณะยังเป็นบาทหลวงอยู่ในเดฌ เขามีส่วนร่วมในการจัดทำวารสารใต้ดินภาษาฮังการี แอ็ลแล็มโปนโตก ("มุมมองปะทะมุมมอง"; 1981–1982) เขาอยู่ในรายชื่อเฝ้าระวังของตำรวจลับและถูกสั่งย้ายให้ไปอยู่ที่หมู่บ้านซึมเปตรูเดกึมปีเยในชนบท แต่เขาไม่ยอมรับคำสั่งนี้และย้ายมาอาศัยในบ้านของบิดามารดาในกลุฌ-นาปอกาแทนเป็นเวลาสองปี[3] ในปี 1989 ศาลออกคำสั่งเนรเทศเขาในวันที่ 20 ตุลาคม หลังการต่อรองและความพยายามยื่นอุทธรณ์ เขาถูกเลื่อนวันที่เนรเทศไปเป็น 15 ธันวาคม เมื่อเข้าใกล้วันนั้น บรรดาฆราวาสลูกวัดของเตอเกชได้ออกมารวมตัวกันหน้าที่พักของเขา และในวันที่ 15 ธันวาคม ได้มีกลุ่มคนจำนวนมากรวมตัวกันเป็นโซ่มนุษย์รอบที่พักของเขา ทำให้ตำรวจไม่สามารถเข้าไปได้ เขาได้ออกมาร้องขอให้ฝูงชนสลายตัว แต่ฝูงชนไม่ยอม ในขณะที่ภรรยาของเขาซึ่งตั้งครรภ์อยู่ได้ล้มป่วยลง และถึงแม้แพทย์จะเข้ามาแนะนำให้พาเธอไปโรงพยาบาล เธอก็ปฏิเสธ[4] ภายหลัง นายกเทศมนตรีได้เดินทางเดินทางมาประกาศแก่ฝูงชนว่าคำสั่งเนรเทศของบาทหลวงได้ถูกยกเลิกไปแล้ว กระนั้นฝูงชนไม่ปักใจเชื่อและเรียกร้องให้แสดงเอกสารเป็นลายลักษณ์อักษร แต่นายกเทศมนตรีไม่สามารถนำมาแสดงได้ตามคำขอ[5] จากการรวมตัวหน้าที่พักได้ขยายใหญ่เป็นการประท้วง กระทั่งในวันที่ 17 ธันวาคม กองทัพได้เริ่มยิงกระสุนจริงใส่ฝูงชน เป็นผลให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนหนึ่ง[6] การประท้วงดำเนินไปในตีมีชออาราและกลายมาเป็นหนึ่งในเหตุการณ์สำคัญต่อการสิ้นสุดของระบอบเผด็จการของนีกอลาเอ ชาวูเชสกู ในที่สุด
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "About Us – Reconciliation of European Histories Group". Reconciliation of European Histories Group. 21 April 2010. สืบค้นเมื่อ 1 August 2011.
- ↑ "Joint motion for a resolution: European Parliament resolution on European conscience and totalitarianism". Europa.eu. 30 March 2009. สืบค้นเมื่อ 2011-05-10.
- ↑ Deletant, online, p.49‒50
- ↑ Deletant, online, p. 52
- ↑ Deletant, online, p. 52‒53
- ↑ "Martirii revolutiei timisorene". CyberTim Timișoara's Homepage. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 30 March 2012.
บรรณานุกรม
[แก้]- Deletant, Dennis, Romania under communist rule (1999). Center for Romanian Studies in cooperation with the Civic Academy Foundation (Iași, Romania; Portland, Oregon), ISBN 973-98392-8-2.
- Szoczi, Arpad, "Timișoara – The Real Story Behind the Romanian Revolution – 25th Anniversary Edition" (2015). iUniverse, Bloomington, Indiana, ISBN 978-1-4759-5875-1.
- Colson, Charles, and Ellen Vaughn, Being the Body: a new call for the Church to be light in the darkness (2003). W Publishing Group, Nashville, Tennessee, ISBN 0-8499-1752-2.
- (ในภาษาโรมาเนีย) Alex Mihai Stoenescu, Istoria loviturilor de stat din Romania. Vol. 4, part 1 ("The History of Romanian Coups d'État"). Rao publishing house, Bucharest, 2004. An entire chapter is devoted to Tőkés, his background and the December 1989 events.
- (ในภาษาโรมาเนีย) Marius Mioc, "Revoluția fără mistere: Începutul revoluției române: cazul Laszlo Tokes" ("A revolution without mysteries: the beginning of the Romanian Revolution: the case of Laszlo Tokes")
- (ในภาษาโรมาเนีย) List of people killed in Timișoara during Romanian Revolution, published by Marius Mioc in "Revoluția din Timișoara și falsificatorii istoriei". Editura Sedona, Timișoara 1999
- Pinstripes and Reds: An American Ambassador Caught Between the State Department & the Romanian Communists, 1981–1985 Washington, D.C.: Selous Foundation Press, 1987. ISBN 0-944273-01-7