ข้ามไปเนื้อหา

ลิงซิลเวอร์สปริงส์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ลิงซิลเวอร์สปริงส์
หนึ่งในลิงแห่งซิลเวอร์สปริงส์ที่ชื่อโดมิเตียน ในหนึ่งในรูปซึ่งพีตาเผยแพร่สู่หนังสือพิมพ์[1]
วันที่พฤษภาคม พ.ศ. 2524
ที่ตั้งสถาบันวิจัยพฤติกรรมศาสตร์ เมืองซิลเวอร์สปริงส์ ในรัฐแมริแลนด์, สหรัฐ
ผู้รายงานคนแรกเดอะวอชิงตันโพสต์
ผู้เข้าร่วมเอ็ดเวิร์ด ทับ, อเล็กซ์ ปาเชโก (นักเคลื่อนไหว), อินกริด นิวคิร์ก, พีตา
ผลการก้าวหน้าทางงานวิจัยด้านความยืดหยุ่นของสมองและการรักษาโรคหลอดเลือดสมอง; ครั้งแรกที่ตำรวจเข้าบุกค้นห้องทดลองในสหรัฐ; ครั้งแรกที่นักวิจัยชาวสหรัฐถูกฟ้องในข้อหาทารุณกรรมสัตว์; เกิดการริเริ่มกฎหมายคุ้มครองสัตว์ ค.ศ. 1985; รายงานการสร้างกรงขังจากกลุ่มปลดปล่อยสัตว์ (Animal Liberation Front) ในอเมริกาเหนือเป็นครั้งแรก
เสียชีวิตลิงแสม 17 ตัว
ข้อหาเอ็ดเวิร์ด ทับถูกฟ้อง 17 ข้อหาเกี่ยวกับการทารุณกรรมสัตว์และ 6 ข้อหาเกี่ยวกับการเพิกเฉยต่อการรักษาสัตว์
จำนวนถูกพิพากษาลงโทษทับถูกพิพากษาลงโทษใน 6 ข้อหาซึ่งกลับคำพิพากษาในชั้นอุทธรณ์

ลิงแห่งซิลเวอร์สปริงส์ (อังกฤษ: Silver Spring monkeys) คือ ลิงมาคาก 17 ตัวจากประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งถูกเก็บไว้ ณ สถาบันวิจัยพฤติกรรมศาสตร์ที่เมืองซิลเวอร์สปริงส์ ในรัฐแมริแลนด์[2] ตั้งแต่ พ.ศ. 2524 ถึง พ.ศ. 2534 นักเขียนผู้หนึ่งกล่าวถึงพวกมันว่าเป็นสัตว์ทดลองซึ่งโด่งดังที่สุดในประวัติศาสตร์ จากการปะทะกันระหว่างนักวิจัยสัตว์ ผู้สนับสนุนสิทธิสัตว์ นักการเมือง และศาล ในการตัดสินว่าจะใช้พวกมันในงานวิจัย หรือปล่อยพวกมันไปยังศูนย์อนุรักษ์สัตว์ เหล่าลิงเป็นที่รู้จักในวงการวิทยาศาสตร์จากการทดลองด้านความยืดหยุ่นของสมอง (neuroplasticity) หรือความสามารถในการจัดเรียงใหม่ของสมองของไพรเมตซึ่งโตเต็มวัย[3]

เหล่าลิงถูกนักจิตวิทยาชื่อว่า เอ็ดเวิร์ด ทับ (Edward Taub) ใช้เป็นสัตว์ทดลอง เขาได้ตัดปมประสาทรากหลัง ซึ่งเป็นตัวส่งความรู้สึกต่อการสัมผัสจากแขนหรือขาไปยังสมองของของลิงเหล่านั้น จากนั้นจึงใช้อุปกรณ์พยุงแขนเพื่อยึดแขนที่ใช้การได้ หรือแขนที่ถูกทำให้ไรความรู้สึก[4] เพื่อฝึกให้พวกมันใช้แขนซึ่งไม่มีความรู้สึก ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2524 อเล็กซ์ ปาเชโก (Alex Pacheco) จากพีตา (PETA) ได้เริ่มแฝงตัวเข้าทำงานในห้องทดลอง และแจ้งตำรวจด้วยสภาพความเป็นอยู่ของเหล่าลิงที่ไม่ได้มาตรฐาน[5] ในการบุกเข้าจับกุมครั้งแรกของตำรวจ ลิงทั้ง 17 ตัวได้ถูกยึด และทับได้ถูกจับในข้อหาทารุณกรรมสัตว์และการเพิกเฉยต่อการรักษาสัตว์ เขาตกอยู่ภายใต้ 6 ข้อหา โดย 5 ข้อหาถูกยกฟ้องในการพิจารณาคดีครั้งที่สองในศาล ส่วนการพิพากษาครั้งสุดทายถูกยกฟ้องในการอุทธรณ์เมื่อ พ.ศ. 2526 เมื่อศาลตัดสินว่ากฎหมายเกี่ยวกับการทารุณกรรมสัตว์ไม่สามารถนำไปใช้กับห้องทดลองซึ่งได้รับทุนจากรัฐบาลกลางได้[2]

การต่อสู้ในศาลเพื่ออำนาจปกครองเหล่าลิงทำให้เกิด ทั้งการรณรงค์เพื่อให้ปล่อยพวกมันโดยบุคคลผู้มีชื่อเสียงและนักการเมือง การแปรญัตติของการคุ้มครองสวัสดิภาพของสัตว์ใน พ.ศ. 2528 การเปลี่ยนแปลงของพีตาจากเพียงกลุ่มเพื่อนเป็นขบวนการระดับชาติ การสร้างกรงขังของหน่วย North American Animal Liberation Front และยังเป็นคดีเกี่ยวกับงานวิจัยสัตว์คดีแรกที่ได้ไปถึงศาลสูงสุดของสหรัฐ[6] ในกรกฎาคม พ.ศ. 2534 คำร้องของพีตาเพื่ออำนาจปกครองเหล่าลิงถูกศาลสูงสุดปฏิเสธ จากนั้นไม่กี่วันลิงตัวสุดท้ายก็ถูกสังหาร 

หลังเหล่าลิงถูกชำแหละ นักวิจัยได้พบการเรียงตัวของใหม่ของคอร์เทกซ์ (cortical remapping) แสดงเป็นนัยว่าการถูกบังคับให้แขนซึ่งไม่ได้รับประสาทสัมผัสนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงของการเรียงตัวในสมองของพวกมัน[7] นับเป็นหลักฐานของความยืดหยุ่นของสมองซึ่งขัดกับความเชื่อที่ว่าสมองของผู้ใหญ่ไม่สามารถเรียงตัวใหม่เพื่อตอบโต้กับสิ่งแวดล้อมได้[8] หลังถูกขู่ฆ่าและไม่สามารถหาตำแหน่งในงานวิจัยเป็นเวลาถึงห้าปี ทับก็ได้รับข้อเสนอทุนจากมหาลัยอลาบาม่า และได้พัฒนาการรักษารูปแบบใหม่สำหรับผู้พิการจากความเสียหายของสมอง ที่ชื่อว่า constraint-induced movement therapy หรือ CIMT บนฐานของความยืดหยุ่นของสมอง การรักษานี้ได้ช่วยเหลือผู้รอดชีวิตจากโรคหลอดเลือดสมองให้กลับมาใช้แขนหรือขาได้อีกครั้ง หลังเป็นอัมพาตมาหลายปี และยังได้รับการยกย่องจาก American Stroke Association ให้เป็นการปฏิวัติระดับแนวหน้า[9]

ภูมิหลัง

[แก้]

เอ็ดเวิร์ด ทับ

[แก้]

เอ็ดเวิร์ด ทับ (เกิดเมื่อ พ.ศ. 2474) เป็นนักประสาทวิทยาศาสตร์เชิงพฤติกรรมซึ่งขณะนี้ทำงานอยู่ที่ มหาวิทยาลัยของอลาบาม่า ณ เบอร์มิงแฮม (University of Alabama at Birmingham) เขาเริ่มสนใจด้านพฤติกรรมนิยมขณะศึกษาวิชาปรัชญาที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย และได้ศึกษาต่อภายใต้ความดูแลของจิตวิทยาการทดลอง เฟรด เคลเลอร์ และ วิลเลี่ยม เอ็น ชอเอ็นเฟลด์ เขารับทำงานในฐานะผู้ช่วยนักวิจัยในห้องปฏิบัติการด้านประสาทวิทยา เพื่อจะเข้าใจระบบประสาทมากยิ่งขึ้น และได้มีส่วนร่วมในการทดลองการตัดเส้นประสาทรับความรู้สึกในลิง

เส้นประสาทรับความรู้สึก (afferent nerve) คือ เส้นประสาทซึ่งส่งกระแสประสาทจากผิวหนังและอวัยวะรับสัมผัสอื่น ๆ ไปยังไขสันหลังและสมอง การตัดเส้นประสาทรับความรู้สึก (Deafferentation) เป็นการผ่าตัดโดยการเปิดไขสันหลังออกเพื่อตัดเส้นประสาทรับความรู้สึก ทำให้กระแสประสาทส่งไปไม่ถึงสมอง ลิงที่ถูกตัดเส้นประสาทรับความรู้สึกของแขนหรือขา จะไม่สามารถรับรู้หรือสัมผัสได้ว่าแขนหรือขาของตนอยู่ในตำแหน่งไหน  ทับได้พูดต่อศาลในการพิจารณาคดีเมื่อ พ.ศ. 2524 ว่าเป็นอันยากที่จะดูแลเหล่าลิงซึ่งถูกตัดเส้นประสาทรับความรู้สึกเนื่องจากพวกมันเห็นแขนหรือขาที่ถูกตัดเส้นประสาทเป็นดั่งวัตถุแปลกปลอม และมักพยายามกัดมันออก[10] ทับยังคงทำงานกับเหล่าลิงที่ถูกตัดเส้นประสาทที่มหาวิทยาลัยนิวยอร์กจนจบปริญญาเอก เมื่อพ.ศ. 2513[2]  เขาได้ทำการทดลองหลายอย่างเกี่ยวกับการตัดเส้นประสาทด้วยความเชื่อว่ามันเป็นการวิจัยบริสุทธิ์ เขาตัดเส้นประสาทรับความรู้สึกของลิงทั้งตัว เพื่อให้พวกมันไม่สามารถรู้สึกถึงทุกส่วนของร่างกาย โดยการนำตัวอ่อนของลิงออกมาจากมดลูก ก่อนจะตัดเส้นประสาท และใส่ตัวอ่อนกลับเข้าไปยังมดลูก เพื่อให้ลิงเกิดมาโดยไม่รู้สึกถึงร่างกายตนเอง

เมื่อสมัยทับเริ่มงานวิจัยของเขาในห้องทดลองประสาทวิทยา ผู้คนเชื่อว่าลิงจะไม่สามารถใช้แขนหรือขาที่พวกมันไม่มีความรู้สึกได้ นอร์แมน ดอยดจ์เขียนว่า ทับสงสัยว่าที่ลิงไม่ใช่แขนหรือขาที่ไร้ความรู้สึกนั้นเป็นเพียงเพราะพวกมันยังสามารถใช้แขนที่ยังใช้การได้หรือเปล่า เขาทดสอบความคิดของเขาด้วยการตัดเส้นประสาทของแขนข้างหนึ่งและมัดแขนอีกข้างไว้ด้วยผ้าคล้องแขน เขาพบว่าลิงใช้แขนที่ไร้ความรู้สึกเพื่อกินอาหารและขยับตัวไปรอบ ๆ  ต่อมาด้วยความคิดที่ว่าหากลิงไม่ยอมใช้แขนที่ไร้ความรู้สึกเพียงเพราะว่ามันสามารถใช้แขนอีกข้างได้ ดังนั้นการทำให้แขนทั้งสองข้างของลิงไม่มีความรู้สึกจึงเป็นการบังคับให้พวกมันใช้แขนที่ไม่มีความรู้สึกนั้น โดยผลการทดลองของเขาก็ได้สนับสนุนความคิดนี้ ดอยดจ์เขียนว่าทับได้จุดประกายความคิดใหม่ โดยการเดาว่า เหล่าลิงไม่ใช้แขนหรือขาที่ไม่มีความรู้สึกเพียงเพราะพวกมันเรียนรู้ที่จะไม่ใช้ เป็นความคิดที่เขาเรียกว่า "การไม่ใช้จากการเรียนรู้ (learned non-use)"[11]

อเล็กซ์ ปาเชโก

[แก้]

ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2524 อเล็กซ์ ปาเชโก (เกิดเมื่อ พ.ศ. 2501) ซึ่งขณะนั้นเป็นนักศึกษาบัณฑิตศึกษา ณ มหาวิทยาลัยจอร์จวอชิงตัน ได้อาสาเข้าทำงานเป็นผู้ช่วยนักวิจัยในห้องปฏิบัติการของทับ เดอะวอชิงตันโพสต์ เขียนว่าเขาเติบโตมาในประเทศเม็กซิโก เป็นบุตรของแพทย์ และอยากจะเป็นนักบวช เขากล่าวว่าการที่เขาได้มีโอกาสเยี่ยมชมโรงฆ่าสัตว์ในช่วงยุค 70 นั้นได้เปลี่ยนแปลงชีวิตของเขาไปอย่างสิ้นเชิง เขาอ่านหนังสือ การปลดปล่อยสัตว์ (Animal Liberation) ซึ่งเขียนโดย ปีเตอร์ ซิงเกอร์ (พ.ศ. 2524) เลิกกินเนื้อสัตว์ และผันตัวเป็นนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิสัตว์ เขาทำงานบนเรือต่อต้านการล่าวาฬ ทำงานที่ Sea Shepherd Conservation Society และเข้าร่วม Hunt Saboteurs Association ในประเทศอังกฤษ เมื่อเขากลับไปที่สหรัฐเพื่อเรียนรัฐศาสตร์ ณ จอร์จวอชิงตัน เขาร่วมทีมกับ อินกริด นิวคิร์ก ในการก่อตั้งกลุ่มพีตา ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2523 ด้วยความที่เขาอยากมีประสบการณ์ตรงเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นในห้องทดลองการวิจัยสัตว์เขาได้ไล่ดูรายชื่อของห้องทดลองที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลและได้เลือกสมัครตำแหน่งในห้องทดลองที่ใกล้บ้านเขาที่สุด[2] ทับเสนอตำแหน่งที่ไม่มีค่าตอบแทนให้กับอเล็กซ์ และให้เขาทำงานร่วมกับ Georgette Yakalis[5]

เหล่าลิง

[แก้]

ในสถาบันวิจัยพฤติกรรมศาสตร์ ทับได้ทำการทดลองการตัดเส้นประสาทรับความรู้สึกกับลิงแสม  (Macaca fascicularis) เพศผู้จำนวน 16 ตัว และลิงวอก (Macaca mulatta) เพศเมียหนึ่งตัว แต่ละตัวมีความสูงประมาณ 35 ซม โดยทุกตัวเกิดในธรรมชาติ ณ ประเทศฟิลิปปินส์ ลิงแต่ละตัวถูกขังเดี่ยวในกรงเหล็กขนาด 45 x 45 ซม โดยปราศจากที่นอน ชามอาหาร หรือสิ่งกระตุ้นอื่น ๆ ในสภาพแวดล้อม พวกมันอยู่ในห้องขนาด 1.4 ตารางเมตร[12] ปาเชโกอ้างว่าลิง 12 จาก 17 ตัวถูกตัดเส้นประสาทรับความรู้สึกจากแขนข้างใดข้างนึงหรือทั้งสองข้าง ขัดกับ จดหมายข่าวไพรเมตห้องทดลอง ซึ่งกล่าวว่ามีเพียง 10 ตัวเท่านั้นที่ถูกตัด โดยที่ลิงอีก 7 ตัว อยู่ในกลุ่มควบคุม[13]

การบุกและเข้าจับกุมของตำรวจ

[แก้]

การบรรยายถึงลักษณะของห้องทดลองจากปาเชโก

[แก้]

ปาเชโกเขียนว่าเขาพบว่าเหล่าลิงต้องใช้ชีวิตอยู่ในสภาพแวดล้อมที่โสโครก เขาพบศพลิงทั้งที่ถูกแช่แข็งในตู้เย็น และที่ลอยอยู่ในฟอร์มาลดีไฮด์[2] เขาอ้างว่า ห้องผ่าตัดเต็มไปด้วยเอกสารกระจัดกระจายอยู่ ไม่เว้นแม้แต่ใต้โต๊ะผ่าตัด โดยบนพื้นถูกปกคลุมไปด้วยเสื้อผ่าเปื้อน ๆ รองเท้าเก่า ๆ  รวมไปถึงอุจจาระและปัสสาวะหนู แมลงสาบพบได้ทั้งในลิ้นชัก บนพื้น และรอบ ๆ อ่างล้างมือ เขากล่าวว่าลวดกรงถูกปกคลุมไปด้วยความสกปรกและสนิม พื้นกรงนั้นเต็มไปด้วยอุจจาระและปัสสาวะ ลิงทั้ง 17 ตัวมักหยิบเศษอาหารที่ตกไปยังถาดของเสียใต้กรง เขาอ้างว่ากรงไม่ได้รับการทำความสะอาดมาเป็นเวลาหลายเดือน แถมในกรงยังไม่มีจานอาหาร ทำให้อาหารต้องปนกับอุจจาระ เหล่าลิงได้แต่เพียงนั่งบนเส้นลวดของพื้นกรงโดยปราศจากที่รองนั่ง เขาเขียนว่าลิง 12 ตัวถูกตัดเส้นประสาทสัมผัส ในจำนวนนั้นมีนิ้ว 39 นิ้วซึ่งผิดรูปหรือหายไป เขาบรรยายว่าพวกมันมีอาการทางประสาท และมักโจมตีแขนหรือขาที่ถูกตัดเส้นประสาทราวกับว่ามันเป็นวัตถุแปลกปลอม[5]

การตรวจจับและบุกค้นอย่างไม่เป็นทางการ

[แก้]

ปาเชโกตัดสินใจบันทึกสภาพแวดล้อมในห้องทดลอง เขาบอกทับว่าเขาอยากทำงานตอนกลางคืน และถ่ายรูปสภาพความเป็นอยู่ของเหล่าลิง เขานำรูปไปเผยแพร่ต่อกลุ่มเคลื่อนไหวด้านสิทธิสัตว์ในเดือนกรกฎาคม ในกลุ่มนั้น คลีฟแลนด์ อมอรี ได้ให้เงินเขาซื้อกล้องที่ดีกว่าเดิมและเครื่องรับส่งวิทยุพกพา เพื่อให้คนดูต้นทางด้านนอกสามารถติดต่อเขาได้หากมีคนมา ในเดือนสิงหาคมปาเชโกเริ่มเชิญชวนสัตวแพทย์และนักวิทยาศาสตร์เข้ามาดูห้องทดลองเพื่อเป็นพยาน วอชิงตันโพสต์ รายงานว่านักวานรวิทยา กีซา เทเลกี จากมหาวิทยาลัยจอร์จ วอชิงตัน เขียนว่าเขาไม่เคยเห็นห้องทดลองที่ถูกละเลยขนาดนี้มาก่อน นักจิตวิทยา โดนัลด์ บาร์นส์ ซึ่งเคยเป็นนักวิจัยไพรเมต กล่าวว่ามันเป็น "สภาพแวดล้อมที่ย่ำแย่และผิดหลักอนามัยสำหรับไพรเมต" และยังเป็นภัยต่อคน สัตวแพทย์ท้องถิ่น ริชาร์ด วิทซ์แมน เห็นด้วยว่าห้องทดลองอยู่ในสภาพสกปรกมาก ทว่าเขาบอกว่าเหล่าลิงดูจะได้รับอาหารเพียงพอและมี "สุขภาพค่อนข้างดี"[2]

ปาเชโกรายงานสถานการณ์ต่อตำรวจ นำไปสู่การบุกค้นห้องทดลองในวันที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2524 ภายใต้กฎหมายป้องกันการทารุณกรรมสัตว์ของรัฐแมรี่แลนด์ ก่อนการบุกค้น พีตา (PETA) ได้นำข่าวไปบอกต่อสื่อ เป็นผลให้มีนักข่าวและช่างภาพหลายคนไปยังที่เกิดเหตุสร้างความไม่พอใจต่อตำรวจ ต่อมานายตำรวจให้การว่าเหล่าลิงได้ใช้ชีวิตอยู่ในสภาพโสโครก ริชาร์ด สเวน ผ้นำการบุกค้นบอกกับ เดอะวอชิงตันโพสต์ ในพ.ศ. 2534 ว่า "มันโสโครกอย่างที่สุด สกปรกมาก ผมไม่เคยเห็นอะไรแบบนี้มาก่อน ผมได้เข้าบุกค้นมาหลายต่อหลายที่ ผมได้ทำงานเกี่ยวกับการฆาตกรรม สารเสพติด แต่ว่านี่เป็นครั้งแรกที่ผมรู้สึกเป็นห่วงสุขภาพตนเองทันทีเมื่อก้าวเข้าไปในห้อง" ทับถูกแจ้ง 17 ข้อหาเกี่ยวกับการทารุรกรรมสัตว์และการเพิกเฉยต่อการรักษาสัตว์[2]

ตำรวจนำเหล่าลิงจากห้องทดลองไปยังห้องใต้ดินของบ้านหลังหนึ่งซึ่งมี ลอรี เคเนลี สมาชิกองค์การส่งเสริมการมีมนุษยธรรมท้องถิ่นเป็นเจ้าของ ปีเตอร์ คาร์ลสัน เขียนใน เดอะวอชิงตันโพสต์ ว่าพวกลิงได้รับของเล่น ถูกหวีด้วยแปลงสีฟันโดยนักเคลื่อนไหว ถูกดูแล 24 ชั่วโมงต่อวัน และยังได้รับอนุญาตให้ดูละครตอนบ่ายอีกด้วย ทนายความของทับไปยังศาลเพื่อขอเหล่าลิงคืน หลังจากนั้น 10 วัน ผู้พิพากษาได้ทำการอนุญาต ทว่าอยู่ ๆ เหล่าลิงก็หายไป เคเนลี เจ้าของบ้านนั้นไม่อยู่บ้านในขณะนั้น และบอกว่าเธอไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น ริชาร์ด สเวน นายตำรวจผู้นำการบุกค้นได้จับกุมเคเนลีและขังเธอไว้ในคุกท้องถิ่นเป็นเวลาหนึ่งคืน ต่อมาพีตาได้รับข่าวว่าหากไม่มีเหล่าลิงเป็นหลักฐานก็จะไม่สามารถจับกุมทับได้ หลังจากนั้น 5 วัน อยู่ ๆ เหล่าลิงก็กลับมา จากนั้นไม่นานทับก็ได้รับเหล่าลิงคืน[2]

การตอบโต้ของทับ

[แก้]

ทับกล่าวว่าเขาถูกจัดฉาก เขาบอกว่าห้องทดลองของเขาได้รับการทำความสะอาดก่อนที่เขาจะพักร้อน ทว่าปาเชโกกลับไม่ยอมทำความสะอาดกรง ไม่ยอมดูแลเหล่าสัตว์ จึงทำให้เกิดการรายงานผิด ๆ เกี่ยวกับการทารุณกรรม ระหว่างที่ทับพักร้อนในช่วงเดือนสิงหาคมเป็นเวลาสองอาทิตย์ มี 7 วันที่เหล่าสัตว์ควรได้รับอาหาร และที่กรงควรได้รับการทำความสะอาด ทว่าผู้ดูแลทั้งสองคนกลับไม่ได้มาทำงาน ทับประมาณความเป็นไปได้ของการขาดงานถึงเจ็ดครั้งภายในระยะเวลา 2 อาทิตย์ครึ่งของพนักงาน ว่ามีโอกาสเพียง 7 ในล้านล้านเท่านั้น หากคำนวณจากบันทึกการมาทำงาน สามในเจ็ดวันนั้น ปาเชโกได้พาคนเข้าไปดูเหล่าลิง[14] จอห์น คันซ์ นักศึกษาบัณฑิตศึกษาซึ่งเป็นผู้ช่วยวิจัยของทับกล่าวว่า ผู้ดูแลเพียงแค่ใช้โอกาสที่ทับไม่อยู่ในการหยุดงานเท่านั้น[2]

ระหว่างการตัดสินของทับและคันซ์ในศาลเมื่อเดือนตุลาคมและพฤศจิกายน พ.ศ. 2524 ทับกล่าวต่อหน้าศาลว่าเหล่าลิงได้รับการดูแลที่ "อ่อนโยน" และมี "บันทึกสุขภาพที่ดีเยี่ยม" เขาอ้างว่าพวกมันไม่ได้รับการดูแลจากสัตวแพทย์เลยตลอดเวลาสองปีเพราะว่าเขาเองเป็นผู้เชี่ยวชาญในการรักษาลิงที่ถูกตัดเส้นประสาท เพื่อตอบโต้รูปถ่ายของลิงที่มีแผลเปิดและผ้าพันแผลที่กำลังย่อยสลายบนแผล เขาบอกว่าการใช้ขี้ผึ้งทาแผลและผ้าพันแผลเป็นอันตรายต่อลิงมากกว่าการไม่รักษา เนื่องจากลิงไม่มีความรู้สึกเจ็บบนแขนหรือขาที่ถูกตัดเส้นประสาทและมักเรียนรู้ที่จะเพิกเฉย เขากล่าวต่ออีกว่าการทาแผลด้วยขี้ผึ้งหรือปิดด้วยผ้าพันแผลเป็นการเรียกร้องความสนใจส่งผลให้เหล่าสัตว์มักกัดหรือเกาแผล ผ้าพันแผลอาจเป็นสิ่งจำเป็นเมื่อแผลนั้นลุกลามหรือติดเชื้อ และบางทีการปล่อยให้ผ้าพันแผลย่อยสลายไปเองก็ดีกว่าการนำออก ทับยังให้การอีกว่ารูปบางรูปของปาเชโกได้ถูกจัดฉากให้เกินจริง[15] ใน พ.ศ. 2540 นอร์แมน ดอยดจ์ เขียนว่าทับกล่าวว่าเหล่าลิงในรูปนั้นถูกจัดให้อยู่ในท่าที่ไม่ได้อยู่ในขั้นตอนการทดลอง[16] ซึ่งขัดต่อการให้การของปาเชโก ส่วนเรื่องของความสกปรกนั้น ทับกล่าวว่า "ห้องลิงนั้นเป็นล้วนแต่เป็นที่สกปรก" และยังกล่าวว่ามันเป็นเรื่องธรรมดาในห้องทดลอง ที่อุจจาระจะอยู่บนพื้นและที่อาหารจะหล่นไปสู่ถาดรองของเสียใต้กรง เขากล่าวว่าลูกจ้างได้ใช้ไม้กวาดและไม้ถูพื้นเพื่อทำความสะอาดและนำของเสียบนถาดรองไปทิ้งแทบทุกวัน เขาอ้างว่าเหล่าลิงได้รับผลไม้สดสองครั้งต่อสัปดาห์ และเขาไม่เห็นด้วยกับสัตวแพทย์ที่บอกว่าลิงเพศเมียนั้นมีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์[15]

การสืบสวนโดยสถาบันสุขภาพแห่งชาติ

[แก้]

สถาบันสุขภาพแห่งชาติ (สหรัฐ) (NIH) ซึ่งได้ให้เงินสนับสนุนงานวิจัยของทับ ได้ระงับเงินทุนอุดหนุนการวิจัยจำนวน 115,000 เหรียญสหรัฐของเขา[15] สถาบันได้ริเริ่มการสืบสวนด้วยตัวเอง และส่งสำนักงานการป้องกันความเสี่ยงงานวิจัย (Office for the Protection from Research Risks - OPRR) เพื่อไปประเมินห้องทดลองของทับ โดย OPRR พบว่าการดูแลสัตว์ของห้องทดลองไม่ผ่านเกณฑ์ และสรุปว่าห้องทดลองไม่ถูกสุขอนามัยอย่างมาก การสืบสวนโดย OPRR ทำให้ NIH ได้ตัดสินใจถอนเงินสนับสนุนที่เหลือสำหรับการทดลอง จำนวนกว่า 200,000 เหรียญสหรัฐ เพราะมีการละเมิดข้อบังคับในการดูแลสัตว์[17] วิลเลียม รับ และ โจ ฮีลด์ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่จาก NIH เขียนในจดหมายข่าว ประสาทวิทยาศาสตร์ ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2526 ว่าลิงซึ่งถูกตัดเส้นประสาทรับความรู้สึกตั้งแต่เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2524 และเคยผ่านการผ่าตัดแบบเดียวกันมาก่อน ไม่ได้มีแผลอย่างลิงทั้งห้าตัวในห้องทดลองของทับ "บนฐานของข้อสังเกตเหล่านี้" พวกเขาเขียนว่า "ดูเหมือนว่ากระดูกที่หัก บาดแผลที่ฉีกขาด บาดแผลที่ถูกเจาะ การช้ำ และรอยขีดข่วน รวมไปถึงการติดเชื้อ อาการอักเสบทั้งแบบฉับพลันและแบบเรื้อรัง และการตายเฉพาะส่วน นั้นไม่ใช่ผลที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ของการตัดเส้นประสาทรับความรู้สึก"[10] หลังการอุทธรณ์ เมื่อพ.ศ. 2550 ดอยดจ์เขียนว่า สมาคมผู้เชี่ยวชาญจำนวน 67 สมาคมได้แสดงตัวในนามของทับ และ NIH ได้กลับผลตัดสินที่จะไม่สนับสนุนงานวิจัยของเขา[18]

การพิจารณาคดีและการอุทธรณ์ในศาล

[แก้]

การพิจารณาคดีครั้งแรก (ตุลาคม พ.ศ. 2524)

[แก้]

อ้างอิงจากปีเตอร์ คาร์ลสัน ในการพิจารณาคดีครั้งแรกเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2524 ทุกแง่มุมของคดีถูกพิพาทโดยผู้เชี่ยวชาญจากทั้งสองฝ่าย ฝ่ายผู้ยื่นฟ้องบอกว่าห้องทดลองของทับนั้นสกปรกและไม่ถูกสุขอนามัย โดยได้รับการสนับสนุนจากรายงานการตรวจตราของรัฐและพยาน ทางฝ่ายทับผู้เป็นจำเลยกล่าวว่าห้องทดลองไม่ได้สกปรกไปกว่าห้องทดลองอื่น ๆ โดยมีรายงานการตรวจตราจากรัฐและพยานสนับสนุนเช่นกัน สัตวแพทย์จากฝ่ายผู้ยื่นฟ้องกล่าวว่าการที่ทับไม่ยอมพันแผลให้เหล่าลิงนั้นเป็นอันตรายต่อสุขภาพของพวกมัน ขณะที่สัตวแพทย์จากฝ่ายจำเลย ซึ่งในจำนวนนี้มีสองคนที่เคยทำงานกับลิงที่ถูกตัดเส้นประสาทมาก่อนกล่าวว่าการใช้ผ้าพันแผลจะทำให้ลิงโจมตีแขนหรือขานั้น คาร์ลสันเขียนว่าฝ่ายผู้ยื่นฟ้องได้แสดงภาพถ่ายจำนวน 70 ภาพของสภาพที่สกปรกและลิงที่บาดเจ็บ ในขณะที่นักวิจัยซึ่งเคยทำงานในห้องทดลองยืนยันว่าพวกเขาไม่เคยเห็นห้องทดลองในสภาพนั้นมาก่อน ผู้พิพากษาตัดสินว่าทับมีความผิดใน 6 ข้อหาเกี่ยวกับการทารุณกรรมสัตว์และการเพิกเฉยต่อการรักษาสัตว์ต่อลิงจำนวนหกตัว  และตัดสินให้พ้นโทษจากอีก 11 ข้อหา เขาถูกปรับเงินเป็นจำนวน 3,000 เหรียญสหรัฐ ในขณะที่ผู้ช่วยในห้องทดลอง จอห์น คันซ์ นั้นพ้นโทษทั้ง 17 ข้อหา[2]

การพิจารณาคดีครั้งที่สองและการอุทธรณ์ (พ.ศ. 2525 และ พ.ศ. 2526)

[แก้]

ทับได้เข้ารับการพิจารณาคดีครั้งที่สองในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2525 หลังผ่านไปสามสัปดาห์ คณะลูกขุนตัดสินให้เค้าพ้นจากห้าข้อขา และถอนฟ้องข้อหาที่หกเกี่ยวกับการที่ลิงตัวหนึ่งต้องถูกตัดแขนที่ถูกตัดเส้นประสาทเนื่องจากแผลที่ลุกลาม ทับถูกปรับเป็นจำนวนเงิน 500 เหรียญสหรัฐ โดยข้อกล่าวหาที่หกนั้นถูกยกฟ้องเมื่อศาลเห็นว่ากฎหมายเกี่ยวกับการทารุณกรรมสัตว์ของรัฐแมรีแลนด์นั้นไม่สามารถนำไปใช้กับห้องทดลองซึ่งได้รับทุนจากรัฐบาลกลางได้[2]

การต่อสู้เพื่ออำนาจปกครอง

[แก้]

หลังเหล่าลิงถูกส่งกลับไปอยู่ใต้การปกครองของทับ พวกมันได้ถูกย้ายไปอยู่ในสถานที่ของ NIH[19] จากนั้นได้ถูกย้ายไปที่ ศูนย์วิจัยไพรเมตท้องถิ่นทูเลนในเมืองโควิงตัน รัฐลุยเซียนา ซึ่งยังคงอยู่ภายใต้ความดูแลของ NIH สถานที่คุ้มภัยไพรเมตสองที่ได้เสนอรับดูแลเหล่าลิง ทว่า NIH ได้ปฏิเสธที่จะปล่อยตัวพวกมัน[20]

ต่อมาพวกมันถูกย้ายโดย NIH ไปยัง สถาบันเดลต้าไพรเมต ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2529 โดยนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิสัตว์ที่เคยเข้าเยี่ยมและเล่นกับเหล่าลิงบอกว่าพวกเขาไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าเยี่ยมพวกมันได้อีกต่อไป[21]  ในพ.ศ. 2530 ผู้คุมลิงทั้ง 14 ตัวที่เหลือแนะนำว่าให้ทำการการุณยฆาตลิง 8 ตัวจากจำนวนนั้น เพราะว่าพวกมันไม่มีหวังที่จะถูกขัดเกลาทางสังคมได้อีกครั้ง ทว่าคดีความจากการฟ้องร้องโดยพีตาและกลุ่มอื่น ๆ ได้เข้าขัดการการุณยฆาต หลังศาลปฏิเสธที่จะมอบอำนาจการปกครองต่อเหล่าลิงให้กับพีตา ลิงสองตัวถูก NIH เก็บไว้ ณ สถาบันไพรเมตของมหาวิทยาลัยทูเลน และถูกการุณยฆาตในเวลาต่อมา[22]

การทดลองครั้งสุดท้ายและการุณยฆาต

[แก้]
ฮามังคิวลัสแสดงถึงแต่ละส่วนของร่างกายซึ่งถูกควบคุมโดยคอร์เทกซ์รับความรู้สึกและคอร์เทกซ์สั่งการ การทดลองของทับท้าทายกระบวนทัศน์ที่ว่าการทำงานของสมองนั้นถูกกำหนดอยู่ที่ใดที่หนึ่ง

สถาบันสุขภาพแห่งชาติกล่าวไว้ในพ.ศ. 2530 ว่าเหล่าลิงจะไม่ถูกใช้ในการทดลองเชิงรุกรานอีกต่อไป ทว่าความจริงแล้วพวกมันยังถูกทดลองต่อในพ.ศ. 2543 NIH ได้เปิดเผยการทดลองขณะสู้ในคดีความเพื่ออำนาจการดูแลสัตว์ในพ.ศ. 2532 โดยเสนอว่าจะวางยาสลบในทุกขั้นตอน และปิดท้ายด้วยการการุณยฆาต หลังจากนั้นเนื้อเยื่อจะถูกนำมาศึกษาต่อ[20] ศาลอนุญาตให้กลุ่มนักวิจัยจาก NIH ทำการทดลองครั้งสุดท้ายในวันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2533 โดยใช้หนึ่งในลิงซึ่งมีอาการป่วย ภายใต้ฤทธิ์ยาสลบอิเล็กโทรดถูกนำไปวางในสมองเพื่อบันทึกค่าจำนวนนับร้อย จดหมายข่าว ประสาทวิทยาศาสตร์ กล่าวว่าการวัดครั้งนี้แสดงถึง "การเรียงตัวใหม่ของคอร์เทกซ์รับความรู้สึกในแบบที่ไม่เคยเห็นที่ไหนมาก่อน พื้นที่ขนาด 8-10 มม ซึ่งปกติทำหน้าที่รับข้อมูลจากมือนั้นถูกพบว่าเต็มไปด้วยข้อมูลจากใบหน้า" เหล่าลิงที่เหลือถูกทำการวิจัยการวาดแผนที่สมองเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2533 ซึ่งคือสามวันหลังคำร้องขออำนาจปกครองของปีพีตาถูกปฏิเสธ ต่อมาเหล่าลิงจึงถูกการุณยฆาต[23]

บันทึก

[แก้]
  1. Carbone, Larry. What Animals Want: Expertise and Advocacy in Laboratory Animal Welfare Policy. Oxford University Press, 2004, pp. 75–76, see figure 4.2.
  2. 2.00 2.01 2.02 2.03 2.04 2.05 2.06 2.07 2.08 2.09 2.10 Carlson, Peter. "The Strange Case of the Silver Spring Monkeys," The Washington Post magazine, February 24, 1991.
  3. Doidge, Norman. The Brain That Changes Itself. Viking Penguin, 2007, p. 136: Doidge calls them the most famous lab animals in history.
    • Blum, Deborah. The Monkey Wars. Oxford University Press, 1995, p. 106.
  4. Doidge 2007, p. 141-2.
  5. 5.0 5.1 5.2 Pacheco, Alex and Francione, Anna. "The Silver Spring Monkeys" in Singer, Peter. In Defense of Animals. Basil Blackwell, 1985, pp. 135–147.
  6. Carlson 1991. Schwartz, Jeffrey and Begley, Sharon. The Mind and the Brain: Neuroplasticity and the Power of Mental Force. HarperCollins, 2002, p. 161.
    • Newkirk, Ingrid. Free the Animals. Lantern Books, 2000, p. xv, says the case triggered the formation of the first North American ALF cell.
  7. Leary, Warren E. "Renewal of Brain Is Found In Disputed Monkey Tests", The New York Times, June 28, 1991.
  8. Schwartz and Begley 2002, pp. 160, 162.
  9. Schwartz and Begley 2002, p. 160.
  10. 10.0 10.1 Schwartz and Begley 2002, p. 149.
  11. Doidge 2007, pp. 139, 141.
  12. Guillermo, Kathy Snow. Monkey Business. National Press Books, 1993, pp. 13–14, 20.
    • Also see Pacheco, Alex and Francione, Anna. "The Silver Spring Monkeys" in Singer, Peter. In Defense of Animals. New York: Basil Blackwell, 1985, pp. 135–147.
  13. Clarke, A.S. 'Silver Spring' Monkeys at the San Diego Zoo, Laboratory Primate Newsletter, Volume 27, No. 3, July 1988.
  14. Holder, Constance. "Scientist convicted for monkey neglect," Science, December 11, 1981, volume 214, pp. 1218–1220.
  15. 15.0 15.1 15.2 Ettlin, David Michael. "Taub denies allegations of cruelty" เก็บถาวร 2012-11-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, The Baltimore Sun, November 1, 1981.
  16. Doidge 2007, p. 145.
  17. Boffey, Philip M. "Animals in the lab: Protests accelerate, but use is dropping", The New York Times, October 27, 1981.
  18. Hubel, David. "Are we willing to fight for our research?" เก็บถาวร 2018-06-25 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, Annual Review of Neuroscience, vol 14, 1991, accessed December 12, 2010; doi:10.1146/annurev.ne.14.030191.000245
  19. Sideris, Lisa; McCarthy, Charles; and Smith, David H. "Roots of Concern with Nonhuman Animals in Biomedical Ethics", ILAR Journal, volume 40, issue 1, 1999.
  20. 20.0 20.1 Barnard ND et al. NIH research protocol for Silver Spring monkeys: A case of scientific misconduct (Part I), Americans For Medical Advancement, February 24, 2003, and "Part II", August 22, 2004.
    • The Washington Post, February 24, 1991.
  21. Reinhold, Robert. "Fate of monkeys, deformed for science, causes human hurt after six years", The New York Times, May 23, 1987.
  22. Leary, Warren E. " Animal Rights Groups Vow Suit to Save Monkeys", The New York Times, January 18, 1990. "After Justices Act, Lab Monkeys Are Killed", Associated Press, April 13, 1991.
  23. Laboratory Primate Newsletter, Volume 29, Number 2, October 1990.

อ้างอิง

[แก้]