ข้ามไปเนื้อหา

วงศ์นกปักษาสวรรค์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
นกปักษาสวรรค์
นกปักษาสวรรค์โกลดี (Paradisaea decora) ตัวผู้ (บน), ตัวเมีย (ล่าง)
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Aves
อันดับ: Passeriformes
วงศ์: Paradisaeidae
Swainson, 1825[1]
สกุล
15 สกุล 42 ชนิด (ดูในเนื้อหา)

นกปักษาสวรรค์ หรือ นกการเวก[2] หรือ นกวายุภักษ์ (อังกฤษ: Bird-of-paradise)[3] เป็นวงศ์ของนกเกาะคอนวงศ์หนึ่ง ใช้ชื่อวงศ์ว่า Paradisaeidae

เป็นนกที่มีสีสันสวยงามมาก โดยเฉพาะในตัวผู้จะมีขนตามตัวสีสันฉูดฉาดสวยงาม ขนหางเหยียดยาวเป็นเส้นโค้งอ่อนช้อย หรือม้วนเป็นรูปร่างแตกต่างกันออกไปแล้วแต่ชนิด จุดมุ่งหมายเพื่อดึงดูดตัวเมียที่มีความงามด้อยกว่า หรือบางกรณีก็เกิดพึงพอใจในตัวเมียต่างชนิดให้เข้ามาผสมพันธุ์ด้วย ขณะที่ตัวผู้บางชนิดจะเต้นไปบนพื้นดินเพื่อเกี้ยวพาราสีตัวเมีย[4] นกปักษาสวรรค์กินลูกไม้ หรือแมลงบริเวณแหล่งอาศัยเป็นอาหาร

นกปักษาสวรรค์ไม่ได้เป็นนกที่อยู่รวมกันเป็นฝูง หากแต่มักจะอยู่ตามลำพังตัวเดียว แต่ตัวผู้ทุกชนิดจะสนใจแต่เรื่องหาคู่ โดยจะเกี้ยวพาราสีตัวเมียเสมอ ๆ ตัวผู้จะมีพฤติกรรมผสมพันธุ์กับตัวเมียตัวเดิมตลอดช่วงของการเกี้ยวพาราสี หรือจะผสมพันธุ์กับตัวเมียหลายตัว หรืออาจจะเป็นตัวเมียตัวเดิมซ้ำแล้วซ้ำอีกในช่วงเวลาหลายวันหรือหลายสัปดาห์ ขณะที่ตัวเมียจะไม่มีปัญหา เนื่องจากตัวเมียจะเป็นฝ่ายที่เลือกตัวผู้จากลีลาการเต้นเกี้ยวพาราสี โดยจะใช้เวลาหลายชั่วโมงในแต่ละวันเพื่อมองเฟ้นหาตัวผู้ที่เหมาะสม ซึ่งถือเป็นการคัดเลือกทางเพศที่มีมาตั้งแต่อดีต[5] อีกทั้งยังมีการผสมข้ามสายพันธุ์จนได้เป็นนกพันทางอีกด้วย[6]

นกปักษาสวรรค์ กระจายพันธุ์อยู่ในป่าดิบชื้นของนิวกินี, หมู่เกาะโมลุกกะในอินโดนีเซีย และบางส่วนของออสเตรเลีย แบ่งออกได้เป็น 15 สกุล ประมาณ 42 ชนิด โดยกว่าครึ่งอยู่ในนิวกินี [7])

การศึกษาของนักวิทยาศาสตร์พบว่านกปักษาสวรรค์มีวิวัฒนาการเป็นของตัวเองมานานกว่า 24 ล้านปี จนมีความหลากหลายและความงามอย่างในปัจจุบัน วิวัฒนาการดังกล่าวเป็นการเดินทางทางชีววิทยาอันยาวนานกว่าจะแยกออกจากนกในวงศ์ใกล้เคียงกันที่สุด คือ อีกา (Corvidae) ซึ่งเป็นนกที่รู้จักเป็นอย่างดีว่าไม่สวย[8]

ในอดีต ขนของนกปักษาสวรรค์ถือเป็นเครื่องบรรณาการหรือสินค้ามีค่ามานานกว่า 2,000 ปี ขนนกใช้แทนเงินได้ การล่าจึงเกิดขึ้นอาจนับตั้งแต่การเริ่มมีการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ในถิ่นที่อยู่ของนกในวงศ์นี้ และได้กลายมาเป็นที่ต้องการของนักสะสมชาวยุโรป ภายหลังนกปักษาสวรรค์ตัวแรกเดินทางจากดินแดนหมู่เกาะมหาสมุทรแปซิฟิกไปพร้อมกับกองเรือของเฟอร์ดินันท์ แมกเจลเลน และเทียบท่าสเปนเมื่อปี ค.ศ. 1522 มีซากนกปักษาสวรรค์ที่ได้รับมอบเป็นบรรณาการกลับไปด้วย เมื่อชาวพื้นเมืองจับนกได้มักตัดขาทิ้ง ขณะนั้นชาวยุโรปยังไม่มีใครเคยเห็นนกปักษาสวรรค์ที่มีชีวิต จึงเล่าลือกันว่านกชนิดนี้ไม่มีขา คงต้องบินลงมาจากสวรรค์ อันเป็นที่มาของชื่อเรียกสามัญ[3]

ในยุคที่ตลาดค้านกปักษาสวรรค์เฟื่องฟู เพราะความต้องการขนของนกปักษาสวรรค์มาประดับตกแต่งหมวกสตรีชาวยุโรป ตั้งแต่ช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ถึงต้นศตวรรษที่ 20 ที่นิวกินีมียอดส่งออกนกชนิดนี้ถึงปีละ 80,000 ตัวต่อปี จนท้ายที่สุดมีกระแสอนุรักษ์ก็เกิดขึ้น มีการออกมาต่อต้านของสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ รวมทั้งอีกหลายประเทศในยุโรปห้ามซื้อขาย[3]

ต่อมามีการออกกฎหมายห้ามล่า เมื่อจักรวรรดิอังกฤษเป็นเจ้าอาณานิคมของนิวกินีในปี ค.ศ. 1908 ปัจจุบันรัฐบาลนิวกินีเองก็ได้ออกกฎหมายห้ามล่า ห้ามนำนกออกจากเกาะยกเว้นเพื่อการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ หรือเพื่อการเฉลิมฉลองในพิธีกรรมของชาวพื้นเมืองเท่านั้น[3]และนกปักษาสวรรค์ยังได้ปรากฏบนมุมธงชาตินิวกินีและตราแผ่นดินของนิวกินีด้วย[9]

การจำแนก

[แก้]

แบ่งออกได้เป็น 15 สกุล 45 ชนิด[8]

อ้างอิง

[แก้]
  1. 2012: OPINION 2294 (Case 3500) Paradisaea Linnaeus, 1758 and PARADISAEIDAE Swainson, 1825 (Aves) : names conserved. ISSN 0007-5167 Bulletin of zoological nomenclature, 69 (1) : 77-78. (อังกฤษ)
  2. การเวก ๒ น. หน้า 90 ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 ISBN 974-8122-79-4
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 นกปักษาสวรรค์ (Bird of Paradise)
  4. "บทความ ปักษาสวรรค์ ตระกูลนกที่สวยที่สุดในโลก". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-08-18. สืบค้นเมื่อ 2012-11-04.
  5. "ท่องโลกกว้าง: นกปักษาสวรรค์". ไทยพีบีเอส. 4 July 2014. สืบค้นเมื่อ 5 July 2014.[ลิงก์เสีย]
  6. ยกส้าน, สุทัศน์ (22 November 2004). "ปักษาสวรรค์". ผู้จัดการออนไลน์. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2005-01-03. สืบค้นเมื่อ 7 July 2016.
  7. จาก itis.gov
  8. 8.0 8.1 Firth, Clifford B.; Firth, Dawn W. (2009). "Family Paradisaeidae (Birds-of-paradise)". In del Hoyo, Josep; Elliott, Andrew; Christie, David. Handbook of the Birds of the World. Volume 14, Bush-shrikes to Old World Sparrows. Barcelona: Lynx Edicions. pp. 404–459. ISBN 978-84-96553-50-7.
  9. Papua New Guinea

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]