ศิลปกรรม
หน้าตา
ศิลปกรรม (อ่านว่า สิน-ละ-ปะ-กำ) มีความหมายตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 ว่า สิ่งที่เป็นศิลปะ, สิ่งที่สร้างสรรค์ขึ้นเป็นศิลปะ ศิลปกรรม มีความหมายตรงกับวลีภาษาอังกฤษว่า "work of art" และคำภาษาอังกฤษว่า "art"
ความหมาย
[แก้]สารานุกรมไทยฉบับราชบัณฑิตยสถานได้กำหนดคุณสมบัติของสิ่งที่นับได้ว่าเป็น "ศิลปกรรม" ไว้ดังนี้
- ศิลปกรรม เป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น ไม่ใช่สิ่งที่มีอยู่เองตามธรรมชาติ เช่นพระอาทิตย์ตกดินที่มีความสวยงามมากไม่นับเป็นศิลปกรรม แต่จิตรกรรมหรือภาพเขียนทิวทัศน์พระอาทิตย์นับเป็นศิลปกรรม
- ศิลปกรรม เป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นให้มีความสวยงาม สิ่งมนุษย์สร้างที่ไม่สวยงาม เช่น กองขยะ ป้ายโฆษณารกตา ฯลฯ ไม่นับเป็นศิลปกรรม การสร้างสรรค์โดยมนุษย์เพื่อความงามหรือสุนทรียภาพที่ถือเป็นศิลปกรรมแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทดังนี้
- ศิลปกรรมประเภทวิจิตรศิลป์ (fine arts) หมายถึงศิลปกรรมที่มนุษย์ทำขึ้นเพื่อความปีติชื่นชมในตัวชิ้นงาน เช่น งานจิตรกรรม ประติมากรรม กวีนิพนธ์และงานดุริยางคศิลป์
- ศิลปกรรมประเภทประโยชน์ศิลป์ (useful art หรือ applied art) หมายถึงศิลปกรรมที่มีประโยชน์ใช้สอยด้วย เช่นงานจักสาน เครื่องปั้นดินเผา เครื่องแก้ว เครื่องเรือนและสิ่งใช้สอยต่างๆ ที่มีการบรรจงสร้างขึ้นโดยประณีต ทั้งที่สร้างด้วยมือ (ศิลปหัตถกรรม)และโดยเครื่องจักร (ศิลปหัตถอุตสาหกรรม)
- ศิลปกรรม เป็นงานประเภททัศนศิลป์ (visual art) เป็นความหมายที่ใช้กันมาในช่วงศตวรรษก่อน ซึ่งมักหมายเฉพาะงานประเภท จิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ ส่วนศิลปะที่เป็นการแสดงจะจัดแยกไว้ต่างหาก เชน การแสดงนาฏศิลป์ ดุริยางคศิลป์ ไม่นิยมรวมไว้ในงานแสดงศิลปกรรม
- ศิลปกรรม เป็นผลงานสร้างสรรค์ทางสุนทรียะเฉพาะที่มีคุณภาพดี เป็นการกำหนดความหมาย "ศิลปกรรม" ให้แคบและเฉพาะมากขึ้น มีการแยกงาน "ศิลป์" ที่ไม่ถึงขั้นออกไปด้วยเกณฑ์ต่างๆ ที่ยังเป็นที่ถกเถียงในหมู่ผู้ทรงคุณวุฒิทางศิลปะ
การจำแนกงานศิลปกรรมแบบอื่น
[แก้]แม้การจำแนกงานศิลปกรรมมีมากมายหลายวิธี แต่ที่นิยมและเป็นที่ยอมรับเป็นดังนี้
- ทัศนศิลป์ (visual art) เป็นศิลปะที่รับรู้ด้วยสายตาทั้ง 2 มิติได้แก่ จิตรกรรมและภาพพิมพ์ และงาน 3 มิติ ได้แก่ประติมากรรม สถาปัตยกรรมและภูมิสถาปัตยกรรม งานศิลปกรรมที่สามารถจับต้องใช้สอยได้มีผู้เรียกว่า "ทัศนะ-ผัสสะศิลป์ (visuo-tactual art)
- โสตศิลป์ (auditory art) เป็นศิลปกรรมที่รับรู้ด้วยการฟัง ได้แก่ งานดุริยางค์ศิลป์ หรือ งานดนตรี ไม่มีภาพ มีแต่เสียงจากเครื่องดนตรีขณะบรรเลงเท่านั้น
- พจนศิลป์ (verbal art) เป็นศิลปกรรมที่สื่อให้รับรู้ด้วยความเข้าใจในถ้อยคำ ได้แก่งานวรรณกรรม ทั้งร้อยแก้ว และ ร้อยกรอง เป็นศิลปกรรมที่สื่อกันเฉพาะในหมู่ผู้รู้ภาษาเดียวกัน
- ศิลปผสม (mixed art) เป็นศิลปกรรมที่ใช้สื่อให้รับรู้หลายอย่างพร้อมกัน ได้แก่ ละคร ที่ใช้ทั้งทัศนศิลป์ในการสร้างฉากและเครื่องแต่งตัว ใช้ท่าทางการร่ายรำ ใช้การพูดจาด้วยพจน์ศิลป์ และใช้ดนตรีหรือ โสตศิลป์ประกอบไปพร้อม ๆ กัน
การจำแนกด้วยเนื้อที่และเวลา
[แก้]ศิลปกรรม สามารถแบ่งประเภทเป็นกลุ่มใหญ่ได้เช่นกัน ได้แก่
- ศิลปกรรมประเภทกินเนื้อที่ ได้แก่งานทัศนศิลป์ทุกสาขา เวลาจัดแสดงต้องใช้เนื้อที่ การจัดเก็บต้องใช้เนื้อที่ มีผู้เรียกศิลปกรรมประเภทนี้ว่า "ปริภูมิศิลป์" (spatail art)
- ศิลปกรรมประเภทกินเวลา ได้แก่งานประเภทโสตศิลป์ พจน์ศิลป์และศิลปผสม ซึ่งเป็นงานศิลปะที่ต้องใช้เวลาในการสื่อหรือแสดงผลงาน
การจำแนกงานศิลปกรรมมีมานานแต่โบราณ และยังคงเป็นที่ถกเถียงกันต่อไป โดยเฉพาะในหมู่ศิลปินและนักปรัชญา เนื่องจากจากงานศิลปกรรมมีความหลากหลาย และมีความก้าวทางสังคมและเทคโนโลยีซึ่งอาจมีศิลปกรรมแบบใหม่ให้พิจารณาจำแนกอีก เช่น ศิลปกรรมที่สร้างโดยคอมพิวเตอร์
อ้างอิง
[แก้]- อัศนีย์ ชูอรุณ ศิลปกรรม สารานุกรมไทยฉบับราชบัณฑิตยสถาน เล่ม 26 พิมพ์ครั้งที่ 1 2549