หนูบ้าน
หนูบ้าน | |
---|---|
สถานะการอนุรักษ์ | |
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
อาณาจักร: | Animalia |
ไฟลัม: | Chordata |
ชั้น: | Mammalia |
อันดับ: | Rodentia |
วงศ์: | Muridae |
วงศ์ย่อย: | Murinae |
สกุล: | Rattus |
สปีชีส์: | R. norvegicus |
ชื่อทวินาม | |
Rattus norvegicus (Berkenhout, 1769) | |
แผนที่แสดงการกระจายพันธุ์ของหนูบ้าน ซึ่งกระจายไปทั่วทุกมุมโลก |
หนูบ้าน, หนูนอร์เวย์, หนูสีน้ำตาล หรือ หนูท่อ (ชื่อวิทยาศาสตร์: Rattus norvegicus) เป็นหนูชนิดที่พบเห็นได้บ่อยที่สุด เพราะเป็นหนูชนิดที่กระจายพันธุ์ไปอยู่ทั่วโลก พบได้ทุกสภาพแวดล้อม รวมถึงบ้านเรือนที่อาศัยของมนุษย์
สันนิษฐานว่าหนูบ้านกระจายพันธุ์มาจากประเทศนอร์เวย์ในภูมิภาคสแกนดิเนเวียที่เป็นแหล่งกำเนิดดั้งเดิม ไปทั่วทุกมุมโลกจากการติดไปกับเรือขนส่งสินค้าในยุควิคตอเรีย ซึ่งมันสามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมทุกรูปแบบได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังมีอัตราการสืบพันธุ์ที่สูงและทักษะในการเอาตัวรอดที่เยี่ยมอีกด้วย
หนูบ้านจัดได้ว่าเป็นหนูชนิดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในสกุล Rattus มีน้ำหนักโดยเฉลี่ยเมื่อโตเต็มที่ประมาณ 300-350 กรัม (ในบางตัวอาจหนักได้ถึง 400 กรัม) ขนาดลำตัวและหัวยาวประมาณ 180-250 มิลลิเมตร หางยาวประมาณ 150-220 มิลลิเมตร เท้าหลังยาวประมาณ 35-40 มิลลิเมตร หูยาวประมาณ 17-23 มิลลิเมตร ลักษณะขนหยาบมีสีน้ำตาลปนเทา ท้องสีเทา ส่วนจมูกทู่ ใบหูเล็ก ตาเล็ก หางสั้นมี 2 สี ด้านบนสีดำ ด้านล่างสีจาง มีเกล็ดหยาบ ๆ ที่หาง และด้านบนของเท้าหลังมีสีขาว มีเต้านมรวม 6 คู่ อยู่ที่อก 3 คู่ ท้อง 3 คู่ ถ้าอยู่ในชุมชนของมนุษย์ มักอยู่ตามรูท่อระบายน้ำ ใต้ถุนตึกหรือบ้านเรือน บริเวณลำคลอง กองขยะหรือตลาดสด
สามารถผสมพันธุ์และออกลูกได้ตลอดทั้งปี โดยออกลูกปีละ 4-7 ครอก ลูกหนึ่งครอกมีจำนวน 8–12 ตัว เริ่มเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์เมื่ออายุได้ 3-5 เดือน เมื่อผสมแล้วจะตั้งท้องเพียง 21-22 วัน เป็นสัตว์ที่กินอาหารได้แทบทุกอย่างและกินไม่เลือก รวมถึงมีพฤติกรรมกินซากพวกเดียวกันเองด้วย แม้จะไม่พบบ่อยมากนัก [1] มีอายุขัยโดยเฉลี่ยประมาณ 2 ปี ให้ลูกได้ตลอดทั้งชีวิต 6-10 ครอก[2][3]
จัดเป็นสัตว์ที่สร้างความรำคาญและเป็นพาหะนำโรคระบาดร้ายแรงที่ทำให้ถึงชีวิตมาสู่มนุษย์ได้อย่างมากที่สุดชนิดหนึ่ง เช่น กาฬโรค ที่เคยระบาดอย่างรุนแรงมาแล้วในทวีปยุโรปในยุคกลาง ที่เรียกว่า ความตายสีดำ (Black Death) และโรคอื่น ๆ อีก เช่น โรคฉี่หนู หรือ เลปโตสไปโรซิส
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "ท่องโลกกว้าง: World's Weirdest Animal Sr.3 - Freaky Eats". ไทยพีบีเอส. 24 March 2015. สืบค้นเมื่อ 25 March 2015.[ลิงก์เสีย]
- ↑ "หนู : Rodents". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-01-19. สืบค้นเมื่อ 2011-01-03.
- ↑ หนูถีบจักร (MOUSE)
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Rattus norvegicus ที่วิกิสปีชีส์