ข้ามไปเนื้อหา

อาการกลัวแมงมุม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ในบางครั้ง แม้แต่วัตถุที่คล้ายคลึงกับแมงมุมก็สามารถกระตุ้นอาการตื่นตระหนกในผู้ที่มีอาการนี้ได้ จากภาพการ์ตูนด้านบนคือหนึ่งในตัวละครเรื่อง หนูแจ็คและคุณมัฟเฟท ที่มีอาการกลัวแมงมุม

อาการกลัวแมงมุม หรือ โรคกลัวแมงมุม (อังกฤษ: Arachnophobia หรือ arachnephobia ซึ่งรากศัพท์มาจากภาษากรีกโบราณ: ἀράχνη อาราคเน่ "แมงมุม" และ φόβος โฟบอส "ความกลัว") คือโรคกลัวเฉพาะอย่างชนิดหนึ่ง เป็นอาการกลัวแมงมุมซึ่งรวมไปถึงสัตว์ชนิดอื่นในตระกูลแมง เช่น แมงป่อง ซึ่งอาจถูกจัดรวมกับอาการกลัวแมลง[1]

อาการและอาการแสดง

[แก้]

ผู้ป่วยโรคกลัวแมงมุมมักจะรู้สึกไม่สบายใจในบริเวณใด ๆ ที่พวกเขาเชื่อว่าอาจมีแมงมุมอาศัยอยู่ หรือบริเวณที่มีสิ่งบ่งบอกถึงการมีอยู่ของแมงมุม เช่น ใยแมงมุม ถ้าหากผู้ป่วยพบเห็นแมงมุม พวกเขาจะไม่สามารถเข้าไปในบริเวณใกล้เคียงนั้นจนกว่าจะเอาชนะอาการตื่นตระหนกที่เกี่ยวข้องกับโรคกลัวแมงมุมได้ เมื่ออยู่ในบริเวณที่ใกล้กับแมงมุมหรือใยแมงมุม ผู้ป่วยบางรายถึงกับกรีดร้อง ร้องไห้ ควบคุมอารมณ์ไม่ได้ หายใจลำบาก เหงื่อออก และมีอัตราการเต้นของหัวใจเพิ่มสูงขึ้น ในกรณีร้ายแรง แม้แต่รูปภาพ ของเล่น หรือภาพวาดแมงมุมที่เหมือนจริงก็อาจกระตุ้นให้เกิดความกลัวอย่างรุนแรงได้ ในบางกรณี อาการกลัวแมงมุมยังถูกกระตุ้นได้เพียงแค่นึกคิดถึงแมงมุมเท่านั้น นอกจากนี้ ผู้ป่วยบางรายจะกระทำการตรวจสอบห้องหรือสถานที่ว่ามีแมงมุมหรือไม่ก่อนที่จะเข้าไปยังสถานที่นั้น หากพบเห็นแล้วก็จะจับตาดูความเคลื่อนไหวอย่างละเอียดถี่ถ้วน ในขณะที่มีอาการอื่น ๆ เช่น เบี่ยงเบนความสนใจตัวเองเพื่อที่จะหลีกเลี่ยงการพบเห็นแมงมุม[2]

สาเหตุ

[แก้]

โรคกลัวแมงมุมอาจเป็นรูปแบบที่สุดโต่งของการตอบสนองตามสัญชาตญาณที่ช่วยให้มนุษย์ยุคแรกมีชีวิตรอด[3] หรือเป็นปรากฏการณ์ทางวัฒนธรรมที่พบได้บ่อยที่สุดในสังคมยุโรปส่วนใหญ่[4]

เชิงวิวัฒนาการ

[แก้]

เหตุผลเชิงวิวัฒนาการของโรคกลัวยังคงไม่ปรากฏแน่ชัด มุมมองหนึ่งซึ่งยึดถือกันมากในศาสตร์จิตวิทยาวิวัฒนาการ คือการมีอยู่ของแมงมุมมีพิษนำไปสู่วิวัฒนาการของความกลัวแมงมุม หรือทำให้ความกลัวแมงมุมเกิดขึ้นได้ง่ายเป็นพิเศษ ความรุนแรงของอาการกลัวแมงมุมมีความแตกต่างกันไปเช่นเดียวกับลักษณะอื่น ๆ โดยผู้ที่กลัวรุนแรงจะจัดอยู่ในกลุ่มโรคกลัวแมงมุม เนื่องจากแมงมุมมีขนาดค่อนข้างเล็ก พวกมันจึงไม่เข้าเกณฑ์เป็นภัยคุกคามในอาณาจักรสัตว์ ซึ่งมีขนาดเป็นปัจจัยหนึ่ง แต่แมงมุมอาจมีพิษที่มีผลกระทบทางการแพทย์ และ/หรือมีขน (setae) ที่ทำให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวหนังได้[5] อย่างไรก็ตาม โรคกลัวมักเป็นความกลัวที่ไร้เหตุผลมากกว่าความกลัวที่มีเหตุผล[6]

ในสภาพแวดล้อมยุคดึกดำบรรพ์ ผู้ป่วยโรคกลัวแมงมุมได้เปรียบเล็กน้อยในแง่การอยู่รอดเมื่อเทียบกับคนกลุ่มที่ไม่กลัวแมงมุม เพราะการตรวจดูให้แน่ใจว่าสภาพแวดล้อมของพวกเขาปลอดแมงมุมทำให้พวกเขามีความเสี่ยงที่จะถูกแมงมุมกัดน้อยกว่า[ต้องการอ้างอิง] อย่างไรก็ตาม การกลัวแมงมุมมากกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับสิ่งมีชีวิตอื่นที่อาจเป็นอันตราย[7] ซึ่งอยู่ในสภาพแวดล้อมของการปรับตัวเชิงวิวัฒนาการของโฮโม เซเปียนส์ อาจเป็นข้อด้อยได้เช่นกัน[ต้องการอ้างอิง]

ในหนังสือ The Handbook of the Emotions (1993) นักจิตวิทยา อาร์เน โอห์แมน (Arne Öhman) ศึกษาการจับคู่สิ่งเร้าที่ไม่ได้วางเงื่อนไขกับสิ่งเร้าที่เป็นกลางซึ่งเชื่อมโยงกับการตอบสนองต่อความกลัวที่เกี่ยวข้องกับวิวัฒนาการ (งูและแมงมุม) เทียบกับสิ่งเร้าที่เป็นกลางซึ่งไม่เชื่อมโยงกับการตอบสนองต่อความกลัวที่เกี่ยวข้องกับวิวัฒนาการ (เห็ด ดอกไม้ วัตถุรูปทรงหลายหน้า อาวุธปืน ปลั๊กไฟและเต้ารับไฟ) โดยการทดลองในมนุษย์พบว่าสำหรับโรคกลัวงู (ophidiophobia) และโรคกลัวแมงมุม การจับคู่เดียวเพียงครั้งเดียวก็สามารถทำให้เกิดการตอบสนองที่ถูกวางเงื่อนไขได้ ในขณะที่โรคกลัวเชื้อรา (mycophobia) โรคกลัวดอกไม้ (anthophobia) โรคกลัววัตถุรูปทรงหลายหน้า อาวุธปืน ปลั๊กไฟและเต้ารับไฟจำเป็นต้องมีการจับคู่หลายครั้ง และพฤติกรรมจะยุติลงหากไม่มีการวางเงื่อนไขต่อเนื่อง ในขณะที่การวางเงื่อนไขในโรคกลัวงูและโรคกลัวแมงมุมที่จะคงอยู่ถาวร[8]

จิตแพทย์ แรนโดล์ฟ เอ็ม. เนสเซ่ (Randolph M. Nesse) ตั้งข้อสังเกตว่า ในขณะที่การวางเงื่อนไขการตอบสนองต่อความกลัวที่มีต่อวัตถุอันตรายที่แปลกใหม่ในเชิงวิวัฒนาการ เช่น ปลั๊กไฟและเต้ารับไฟ สามารถเป็นไปได้ แต่การวางเงื่อนไขจะเกิดขึ้นช้ากว่า เนื่องจากสิ่งเร้านั้นไม่เคยเชื่อมโยงกับความกลัวมาก่อน นอกจากนี้ ยังมีข้อสังเกตเพิ่มเติมว่าการเน้นย้ำถึงความเสี่ยงจากการขับรถเร็วและการเมาแล้วขับในการอบรมผู้ขอรับใบอนุญาตขับรถเพียงอย่างเดียวไม่สามารถป้องกันอุบัติเหตุบนท้องถนนได้ และเกือบหนึ่งในสี่ของการเสียชีวิตของผู้คนอายุระหว่าง 15 ถึง 24 ปีในสหรัฐอเมริกา ใน ค.ศ.2014 มีสาเหตุมาจากอุบัติเหตุบนท้องถนน[9] เนสเซ่ จิตแพทย์ ไอแซก มาร์ค (Isaac Marks) และนักชีววิทยาวิวัฒนาการ จอร์จ คริสโตเฟอร์ วิลเลียมส์ (George C. Williams) ได้ตั้งข้อสังเกตว่าผู้ที่มีการตอบสนองบกพร่องอย่างมีแบบแผนต่อการปรับตัวเชิงจิตวิทยาต่าง ๆ (เช่น โรคกลัวแมงมุม โรคกลัวงู โรคกลัวการหกล้ม (basophobia)) มักจะประมาทและมีแนวโน้มที่จะประสบอุบัติเหตุซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้มากกว่า และได้เสนอว่าโรคกลัวดังกล่าวควรจัดอยู่ในประเภท "โรคไร้ซึ่งความกลัว" (hypophobia) เนื่องจากผลของยีนเห็นแก่ตัว (selfish gene) ที่พยายามทำสำเนาแพร่กระจายตนเองให้มากที่สุด[10][11][12][13]

การศึกษาวิจัยใน ค.ศ. 2001 พบว่าผู้คนสามารถค้นหาภาพแมงมุมท่ามกลางภาพดอกไม้และเห็ดได้รวดเร็วกว่าการค้นหาภาพดอกไม้หรือเห็ดท่ามกลางภาพแมงมุม นักวิจัยเสนอว่าเป็นเพราะการตอบสนองต่อแมงมุมอย่างรวดเร็วมีความสัมพันธ์กับวิวัฒนาการของมนุษย์มากกว่า[14]

เชิงวัฒนธรรม

[แก้]

ในอีกมุมมองหนึ่ง อันตรายต่าง ๆ เช่น อันตรายจากแมงมุมนี้ ถูกประเมินสูงเกินจริงและไม่เพียงพอที่จะมีอิทธิพลต่อวิวัฒนาการ[ต้องการอ้างอิง] ในทางกลับกัน การสืบทอดโรคกลัวทางพันธุกรรมจะส่งผลจำกัดและบั่นทอนการอยู่รอดมากกว่าจะเป็นการช่วยเหลือ สำหรับชุมชนบางแห่ง เช่น ในปาปัวนิวกินีและกัมพูชา แมงมุมจะเป็นส่วนผสมในอาหารดั้งเดิมด้วย สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่าอาการกลัวแมงมุมส่วนหนึ่งอาจเป็นลักษณะทางวัฒนธรรมมากกว่าลักษณะทางพันธุกรรม[15][16]

เรื่องราวเกี่ยวกับแมงมุมในสื่อมักมีข้อผิดพลาดและใช้คำศัพท์ที่เร้าอารมณ์ซึ่งอาจมีส่วนทำให้เกิดความกลัวแมงมุมได้[17]

การรักษา

[แก้]

อาการกลัวแมงมุมสามารถรักษาได้โดยใช้เทคนิคทั่วไปที่แนะนำสำหรับการรักษาโรคกลัวเฉพาะอย่าง (specific phobia) แนวทางการรักษาขั้นแรกคือการลดความวิตกกังวลอย่างเป็นระบบ (systematic desensitization) – หรือเรียกอีกอย่างว่าการบำบัดด้วยการเผชิญหน้ากับสิ่งที่กลัว (exposure therapy)[18] ก่อนที่จะดำเนินการลดความวิตกกังวลอย่างเป็นระบบ มักจะต้องฝึกให้ผู้ที่เป็นโรคกลัวแมงมุมใช้เทคนิคการผ่อนคลายซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยสงบลง การลดความวิตกกังวลอย่างเป็นระบบสามารถทำได้โดยใช้สิ่งมีชีวิตจริง (ใช้แมงมุมที่มีชีวิต) หรือโดยให้ผู้ป่วยจินตนาการถึงสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับแมงมุม จากนั้นจำลองการมีปฏิสัมพันธ์กับแมงมุม และในท้ายที่สุดจึงให้มีปฏิสัมพันธ์กับแมงมุมจริง เทคนิคนี้อาจเห็นผลได้หลังจากทำเพียงครั้งเดียว แม้ว่าโดยทั่วไปจะต้องใช้เวลานานกว่านั้นก็ตาม[19]

ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทำให้สามารถใช้แมงมุมเสมือนจริงหรือความเป็นจริงเสมือนในการบำบัดได้ เทคนิคเหล่านี้ได้รับการพิสูจน์แล้วว่ามีประสิทธิผล[20] ทั้งยังมีข้อเสนอแนะว่าการดูคลิปสั้น ๆ จาก ภาพยนตร์ Spider-Man อาจช่วยลดอาการกลัวแมงมุมได้เช่นกัน[21]

ระบาดวิทยา

[แก้]

ประชากรโลกร้อยละ 3.5 ถึง 6.1 เป็นโรคกลัวแมงมุม[22] โดยโรคกลัวแมงมุมเป็นหนึ่งในโรคกลัวเฉพาะอย่างที่พบได้มากที่สุดโรคหนึ่ง[23][24] ขนาดที่บางสถิติพบว่าร้อยละ 50 ของผู้หญิงและร้อยละ 10 ของผู้ชายมีอาการดังกล่าว[25]

อ้างอิง

[แก้]
  1. Heather Hatfield. "The Fear Factor: Phobias". webmd.com
  2. http://www.disabled-world.com/health/neurology/phobias/arachnophobia.php#ixzz1zuUsTTTr
  3. Friedenberg, J.; Silverman, G. (2005). Cognitive Science: An Introduction to the Study of Mind. SAGE. pp. 244–245. ISBN 1-4129-2568-1. สืบค้นเมื่อ 2008-10-11.
  4. Davey, G.C.L. (1994). "The "Disgusting" Spider: The Role of Disease and Illness in the Perpetuation of Fear of Spiders". Society and Animals. 2 (1): 17–25. doi:10.1163/156853094X00045.
  5. Isbister, Geoffrey; White, Julian (April 2004). "Clinical consequences of spider bites: recent advances in our understanding". Toxicon. 43 (5): 477–92. doi:10.1016/j.toxicon.2004.02.002. PMID 15066408. สืบค้นเมื่อ 7 December 2020.
  6. "The Fear Factor: Phobias".
  7. Gerdes, Antje B.M.; Uhl, Gabriele; Alpers, Georg W. (2009). "Spiders are special: fear and disgust evoked by pictures of arthropods" (PDF). Evolution and Human Behavior. 30: 66–73. doi:10.1016/j.evolhumbehav.2008.08.005. เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-10-09.
  8. Öhman, Arne (1993). "Fear and anxiety as emotional phenomena: Clinical phenomenology, evolutionary perspectives, and information-processing mechanisms". ใน Lewis, Michael; Haviland, Jeannette M. (บ.ก.). The Handbook of the Emotions (1st ed.). New York: Guilford Press. pp. 511–536. ISBN 978-0898629880.
  9. Nesse, Randolph (2019). Good Reasons for Bad Feelings: Insights from the Frontier of Evolutionary Psychiatry. Dutton. pp. 75–76. ISBN 978-1101985663.
  10. Nesse, Randolph; Williams, George C. (1994). Why We Get Sick: The New Science of Darwinian Medicine. New York: Vintage Books. pp. 212–214. ISBN 978-0679746744.
  11. Nesse, Randolph M. (2005). "32. Evolutionary Psychology and Mental Health". ใน Buss, David M. (บ.ก.). The Handbook of Evolutionary Psychology (1st ed.). Hoboken, NJ: Wiley. pp. 911–913. ISBN 978-0471264033.
  12. Nesse, Randolph M. (2016) [2005]. "43. Evolutionary Psychology and Mental Health". ใน Buss, David M. (บ.ก.). The Handbook of Evolutionary Psychology, Volume 2: Integrations (2nd ed.). Hoboken, NJ: Wiley. p. 1014. ISBN 978-1118755808.
  13. Nesse, Randolph (2019). Good Reasons for Bad Feelings: Insights from the Frontier of Evolutionary Psychiatry. Dutton. pp. 64–74. ISBN 978-1101985663.
  14. Öhman, A., Flykt, A., & Esteves, F. (2001). "Emotion drives attention: Detecting the snake in the grass". Journal of Experimental Psychology: 130 (3), 466–478.
  15. Wagener, Alexandra L.; Zettle, Robert D. (2011). "Targeting Fear of Spiders With Control-, Acceptance-, and Information-Based Approaches" (PDF). The Psychological Record. 61 (1): 77–91. doi:10.1007/BF03395747. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2011-06-14.
  16. Ohman, A; Mineka, S (2001). "Fears, Phobias, and Preparedness: Toward an Evolved Module of Fear and Fear Learning" (PDF). Psychological Review. 108 (3): 483–522. doi:10.1037/0033-295X.108.3.483. PMID 11488376. เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-10-09.
  17. Mammola, Stefano; และคณะ (2022). "The global spread of misinformation on spiders". Current Biology. 32 (16): R871–R873. doi:10.1016/j.cub.2022.07.026. PMID 35998593. {{cite journal}}: |hdl-access= ต้องการ |hdl= (help)
  18. Sperry, Len (2015). Mental Health and Mental Disorders: An Encyclopedia of Conditions, Treatments, and Well-Being [3 volumes]: An Encyclopedia of Conditions, Treatments, and Well-Being (ภาษาอังกฤษ). ABC-CLIO. p. 430. ISBN 9781440803833.
  19. Ost, L. G. (1989). "One-session treatment for specific phobias". Behaviour Research and Therapy. 27 (1): 1–7. doi:10.1016/0005-7967(89)90113-7. PMID 2914000.
  20. Bouchard, S.; Côté, S.; St-Jacques, J.; Robillard, G.; Renaud, P. (2006). "Effectiveness of virtual reality exposure in the treatment of arachnophobia using 3D games". Technology and Healthcare. 14 (1): 19–27. PMID 16556961.
  21. Gabe Friedman (April 25, 2019). "Israeli Researchers: "Spider Man" movies decrease Spider Phobia". Arutz Sheva. สืบค้นเมื่อ April 25, 2019.
  22. Schmitt, WJ; Müri, RM (2009). "Neurobiologie der Spinnenphobie". Schweizer Archiv für Neurologie. 160 (8): 352–355. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 23 August 2016.
  23. "A Common Phobia". phobias-help.com. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-08-02. สืบค้นเมื่อ 2009-08-02. There are many common phobias, but surprisingly, the most common phobia is arachnophobia.
  24. Fritscher, Lisa (2009-06-03). "Spider Fears or Arachnophobia". Phobias. About.com. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-08-02. สืบค้นเมื่อ 2009-08-02. Arachnophobia, or fear of spiders, is one of the most common specific phobias.
  25. "The 10 Most Common Phobias — Did You Know?". 10 Most Common Phobias. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-08-02. สืบค้นเมื่อ 2009-08-02. Probably the most recognized of the 10 most common phobias, arachnophobia is the fear of spiders. The statistics clearly show that more than 50% of women and 10% of men show signs of this leader on the 10 most common phobias list.